วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คุณวันเพ็ญ สวีเด็นฝากถึงสลิ่มไทยเลนด์



คุณวันเพ็ญ สวีเด็นฝากถึงสลิ่มไทยเลนด์

นัดพิพากษา คดี 112 จ่าประสิทธิ์ 3 ธ.ค.-จำเลยขอถอนคำให้การเชิงปฏิเสธ


27 ต.ค.2557 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ควบคุมตัว จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่ม นปช. จำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อสอบคำให้การ
โดยวันนี้ศาลได้นัดสอบคำให้การของจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม จำเลยได้ยื่นคำแถลงต่อศาลจำนวน 32 หน้า โดยศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าในคำแถลงบางส่วนมีคำให้การเชิงปฎิเสธ ศาลจึงสอบถาม จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ว่า จะถอนคำให้การเชิงปฎิเสธหรือไม่ ซึ่งจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ขอถอนคำให้การเชิงปฎิเสธทั้งหมด พร้อมสำนึกผิดในการกระทำ ศาลจึงรับประเด็นครอบครัวและกิจกรรมของครอบครัว และให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ สืบเสาะจำเลย ก่อนรายงานมาภายใน 15 วัน ซึ่งคดีนี้ทางจำเลยและโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 เวลา 09:00 น.
คดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีจัดกิจกรรม “หยุดล้มล้างประชาธิปไตย” ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว และมีเนื้อพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง ต่อมา พันโทสัญชัย บูรณะสัมฤทธิ์ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการและคุ้มครองพยาน กองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ได้แจ้งความไว้ ที่ สน.โชคชัย จนกระทั่ง วันที่ 29 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารร่วมจับกุมผู้ต้องหาได้ตามหมายจับศาลอาญา
ก่อนหน้านี้จ่าประสิทธิ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาและเตรียมสู้คดีแต่ต่อมาเมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยไอลอว์ รายงานว่า ทนายความของจ่าประสิทธิให้ข้อมูลว่า จำเลยขอกลับคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ โดยให้เหตุผลว่า 1. จำเลยมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2. จำเลยไม่ต้องการให้เป็นภาระกับศาล เพราะหากสู้คดีก็จะใช้เวลานาน 3. ขณะที่กล่าวคำปราศรัยตามฟ้อง จำเลยหมายถึงนายสุเทพ และไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแม้แต่น้อย คดีนี้เป็นคดีการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ระบุหากปฏิรูปไม่จบในกรอบ 1 ปี - ให้รัฐบาลหน้ารับไม้ต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ถ่ายเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2557

กรณีสังศิต-สุริยะใสตั้งสถาบันปฏิรูปฯ 'พล.อ.ประยุทธ์' ขอให้มาเสนอแนวคิดผ่านช่องทางของรัฐบาล ชี้การปฏิรูปมีถึง 11 ด้านอาจไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจะให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการ ขณะที่ สปช. ลงมติไม่ให้คนนอกร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน.
พล.อ.ประยุทธ์ ขอรัฐบาลชุดใหม่สานต่อหากการปฏิรูป 11 ด้านยังไม่สำเร็จ
28 ต.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 27 ต.ค. เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระบุว่า สภาปฏิรูปของรัฐบาลคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในส่วนที่เกี่ยวข้องที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มเติม เช่น ที่ปรึกษาสภาปฏิรูป และช่องทางการส่งรายละเอียด คือ กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา
สำหรับกรณีของจัดตั้งสภาปฏิรูปของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ต้องการให้เป็นสภากระจก และจะมีการจัดเวทีเสวนานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องดูอีกทีว่ามีปัญหาเรื่องของกฎหมายหรือไม่ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่ต้องการให้เสนอแนวคิดผ่านช่องทางการทำงานของคณะทำงานด้านต่าง ๆ ส่วนกรณีการจัดเวทีคู่ขนานเพื่อรับฟังความคิดเห็นควบคู่กับเวทีรัฐบาล ต้องขอหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อน โดยส่วนตัวไม่ขัดข้องสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ต้องการให้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ทั้งนี้ การปฏิรูปไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หัวข้อการปฏิรูปมีทั้งหมด 11 ข้อ เพราะฉะนั้น ต้องเลือกดำเนินการหัวข้อที่สามารถดำเนินการได้ภายในเวลาที่สั้น ส่วนที่เหลือก็ให้รัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการ
ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิรูป ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกัน พร้อมกล่าวขอร้องให้ทุกคนช่วยกันหาช่องทางเพื่อให้เกิดการปฏิรูปขึ้นมาให้ได้ ทุกคนล้วนเป็นคนไทย และเป็นคนเก่ง เป็นคนรักชาติ รักแผ่นดิน ขอให้หาข้อสรุปที่สร้างความพอใจให้คนทั้งชาติ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนหน้านี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานสถาบันปฏิรูปประเทศไทย และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย ได้แถลงเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

มติ สปช. 175 ต่อ 39 ไม่ให้คนนอกเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เมื่อวันที่ 27 ต.ค. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว โดยที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติชั่วคราวถึงแนวทางการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนจากผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน 20 คน
ทั้งนี้การอภิปรายของสมาชิก สปช. เกือบตลอดทั้งวันมีการถกเถียงกันในประเด็นที่ วิป สปช.ชั่วคราว กำหนดให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีสัดส่วนจาก สปช. 15 คน และจากคนนอก 5 คน
ขณะที่ สมาชิก สปช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัดส่วนคนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการต่างอภิปรายย้ำว่ามีสมาชิกหลายคนต้องการทำหน้าที่ดังกล่าว และแต่ละคนมีความรู้ความสามารถจึงไม่จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามาร่วมด้วย ขณะเดียวกันกรรมาธิการยกร่างควรปลอดจากการเมืองและเป็นอิสระ หากนำคู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมด้วยอาจเกิดปัญหาตามมาอีก และอาจไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ รวมทั้งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวชี้แจงว่า สัดส่วนที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายต้องเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มการเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยควรทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรคคู่ขัดแย้งและกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้ง นปช. และ กปปส. เพื่อให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของคนนอก
ทั้งนี้ การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวางทำให้สมาชิกเสนอขอปิดอภิปรายเพื่อลดความขัดแย้งและได้ลงมติทันที ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้มีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. ตามที่วิป สปช. ชั่วคราวเสนอด้วยคะแนน 175 ต่อ 39 เสียง
หลังการลงมติประธานการประชุมชั่วคราวได้หารือประเด็นการพิจารณาหลักเกณฑ์คัดเลือก สปช. เพื่อเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยการอภิปรายของสมาชิกยังไม่ได้ข้อยุติ ประธานการประชุมจึงให้สมาชิกกลับไปทบทวนและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในวันพรุ่งนี้(28 ต.ค.) เวลา 13.00 น. อีกครั้ง

‘เครื่องมือสุดท้ายที่ถูกทำลาย’ ศาลทหารสั่งห้ามจดบันทึกคดี



เพจไอลอว์รวบรวมข้อมูลคดีทางการเมืองที่ขึ้นศาลทหารและศาลทหารทยอยออกคำสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์คดี ผู้สื่อข่าวจดบันทึกการพิจารณาคดีในห้องพิจารณาที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจากไอลอว์ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์คดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาหลายปี ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า
“ในทางคดีความ การทำแบบนี้ทำให้ไม่เหลือหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (right to fair trial) หลงเหลืออยู่ เพราะการขึ้นศาลทหารก็ได้ทำลายหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ และตัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาไปแล้ว เครื่องมือสุดท้ายที่จะรับประกันสิทธิของจำเลยได้ คือ การเข้าสังเกตการณ์คดีของสาธาณชน
อีกแง่หนึ่ง จำเลยรู้สึกเหมือนถูกบีบให้รับสารภาพ เพราะศาลได้ปิดกั้นการต่อสู้ทุกวิธีทาง ตั้งแต่ไม่ให้ประกันตัว โอนคดีมาขึ้นศาลทหาร พิจารณาลับ และล่าสุดยังห้ามจด ศาลทหารซึ่งตุลาการถูกกังขาเรื่องความเป็นอิสระ และมีอัยการเป็นทหาร ด้วย ควรต้องถูกจับตาการทำงานอย่างใกล้ชิด
หากศาลมีความกังวลเรื่องจะจดบันทึกและนำไปรายงานผิดพลาด ศาลก็ควรเปิดโอกาสให้จำเลยคัดถ่ายเอกสารของคดีได้ทุกชิ้น และให้สาธารณชนเข้าถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เป็นประเด็นสำคัญ หรืออาจะทำเอกสารสรุปประเด็นแจก เหมือนที่ศาลอาญาเคยทำก็ได้”
 สำหรับรายละเอียดที่ไอลอว์รวบรวมการสั่งห้ามจดบันทึกในศาลทหาร มีดังนี้
15 ตุลาคม 2557 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ คดีจาตุรนต์ ฉายแสง ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/600] ก่อนตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลทหารซึ่งเป็นนายทหารเดินมาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)ว่า ขอความร่วมมือไม่ให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณา ให้นั่งฟังอย่างเดียว ขณะที่นักข่าวที่มารอทำข่าวเพียงแต่รออยู่ด้านล่างไม่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี

27 ตุลาคม 2557 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดีเยี่ยมยอด [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/620] ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และคดีชัยนรินทร์ ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/610] ก่อนตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ เจ้าหน้าที่ศาลทหารเดินมาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตนิวซีแลนด์ และเบลเยี่ยม เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในศาลและแจ้งว่าไม่อนุญาตให้จดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นครั้งที่สองที่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้จดบันทึก

ทั้งที่การพิจารณาคดีทางการเมืองที่พลเรือนตกเป็นจำเลยที่ผ่านมากว่า 10 คดี หากไม่ใช่คดีที่พิจารณาเป็นการลับ ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้นักข่าวและผู้สังเกตการณ์คดีสามารถเข้าไปนั่งฟังและจดบันทึกระหว่างการพิจารณาคดีได้มาโดยตลอด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับศาลพลเรือน

ก่อนหน้านี้วันที่ 25 สิงหาคม 2557 ที่ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย ภายในค่ายเม็งรายมหาราช ศาลนัดสอบคำให้การคดี 'เจี๊ยบ แม่ลาว' และจำเลยอีก 2 คน ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/598] มีผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติจากICJ เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี และเกิดความวุ่นวายในการประสานงานเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาภายในพื้นที่ของค่ายทหาร

หลังจากการประสานงานเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งกับผู้สังเกตการณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่าจะไม่อนุญาตให้จดบันทึก เนื่องจากก่อนหน้านี้ในการพิจารณาคดีสราวุทธิ์ ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/608] เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ศาลไม่ได้ห้ามการจดบันทึกและมีกรณีสำนักข่าว BBC เผยแพร่เนื้อหาข่าวผิดพลาด หลังตุลาการทหารขึ้นบัลลังก์ผู้สังเกตการณ์จาก ICJ ซึ่งเป็นคนไทยและได้รับอนุญาตให้เข้าฟัง ลุกขึ้นแถลงต่อศาลขออนุญาตจดบันทึกระหว่างการสังเกตการณ์ แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากกลัวว่าถ้าจดผิดแล้วนำไปเผยแพร่จะมีปัญหา ศาลแจ้งว่าให้คัดถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องไปดูได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกว่า นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดียังมีสารวัตรทหาร (สห.) นั่งประจำอยู่ข้างๆ ผู้สังเกตการณ์คดี คอยดูแลความเรียบร้อยด้วย

ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย นัดสอบคำให้การอีกหนึ่งคดี คือ คดีชาวเชียงราย 4 คน ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน [http://freedom.ilaw.or.th/th/case/597] นอกจากศาลจะไม่อนุญาตให้จดบันทึกแล้ว ยังประกาศห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง อนุญาตให้เฉพาะจำเลย ทนายความ และญาติที่นามสกุลเดียวกับจำเลยเข้าฟังได้ โดยใช้วิธีการตรวจบัตรประชาชนตั้งแต่บริเวณหน้าทางเข้าค่ายเม็งรายมหาราช

วันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ ภายในค่ายกาวิละ ศาลนัดสืบพยานคดี "กิตติ" ปลุกปั่นยั่วยุประชาชนให้ละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ศาลก็ได้แจ้งว่าคดีนี้ไม่อนุญาตให้จดบันทึกอีกเช่นกัน

วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น นัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 26 คนในคดี 'ขอนแก่นโมเดล' ศาลไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีเข้าไปในห้องพิจารณา เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก มีเพียงตัวแทนจาก ICJ คนเดียวเท่านั้นที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ ซึ่งผู้สังเกตการณ์ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่าไม่อนุญาตให้จดบันทึกอีกเช่นกัน

ศาลไม่ให้ประกัน 2 จำเลยคดีเจ้าสาวหมาป่า หลังนักวิชาการมหิดลใช้ตำแหน่งยื่นประกัน

28 ต.ค.2557 ที่ศาลอาญา รัชดา ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ จำเลยคดี 112 กรณีละครเจ้าสาวหมาป่าได้ยื่นประกันจำเลยเป็นครั้งที่ 5 โดยอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล จำนวน 3 คนใช้ตำแหน่งวิชาการในการประกัน

เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งไม่ให่ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
อาจารย์จากสถาบันสิทธิฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนทราบผลการประกันว่า เหตุที่มาประกันตัวจำเลยทั้งสองเพราะมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเลยควรได้รับในการสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ยังเป็นเยาวชน ส่วนการบังคับใช้มาตรานี้ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมหรือไม่ เพียงไร ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจัดการผู้เห็นต่างหรือไม่ การลงโทษในคดีนี้สมเหตุสมผลเพียงไหน ที่สำคัญ การสร้างการถกเถียงนี้ไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างบรรยากาศความกลัวให้ผู้คน เป็นการกล่าวหาโดยไม่แยกแยะ ทั้งนี้อาจารย์บางส่วนยอมรับว่ามีความกังวลใจอยู่บ้างเหมือนกันที่ปรากฏการณ์กล่าวหาลักษณะนี้ในเพจบางเพจ จากการยื่นประกันตัวครั้งนี้ 

ทั้งนี้ สถาบันสิทธิฯ สนใจติดตามและจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพหลากหลายด้าน ทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการศึกษา สันติภาพในภาคใต้ สิทธิในทรัพยากรและที่ดิน และกำลังมีแผนในการจัดเวทีเกี่ยวกับ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับคดีละครเจ้าสาวหมาป่า เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3528/2557 ระบุว่าในวันที่ 13 ต.ค.2556 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งมีบทละครอันเป็นมีข้อความอันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยในคำฟ้องได้หยิบยกข้อความมาทั้งสิ้น 9 ข้อความที่ระบุว่าเข้าข่ายความผิด และระบุด้วยว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ หากจำเลยการยื่นคำร้องขอประกันตัวขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ทั้งนี้ ปติวัฒน์ถูกจับเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2557 ขณะที่ภรณ์ทิพย์ถูกจับเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ทั้งคู่ถูกฝากขังยังเรือนจำตั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน ทนายความยื่นประกันตัวและคัดค้านการฝากขังหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ปติวัฒน์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่ภรณ์ทิพย์อายุ 26 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาเมื่อปีที่แล้ว ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2556เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ต่อมาวันที่ 2 พ.ย. 2556 เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน ได้สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงดังกล่าวรวม 13 สถานีตำรวจ ประกอบด้วย 1.สน.คันนายาว กทม. 2.สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 3.สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 4.สภ.บางบาล จ.อยุธยา 5.สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา 6.สภ.เมือง จ.นครปฐม 7.สภ.เมือง จ.ราชบุรี 8.สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 9.สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร 10.สภ.เมือง จ.พิษณุโลก 11.สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 12.สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด 13.สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ถูกจับตาและติดตามจากฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก โดยมีผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายรายถูกสอบถามอย่างหนักเกี่ยวกับความเกี่ยวพันและบุคคลที่รู้จักที่มีส่วนร่วมในการแสดงชุดนี้