วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ตั้ง 12 กก.ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ แทนชุดเดิมที่หมดวาระ


        5 ส.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ จำนวน 12 คนแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ชุดเดิมซึ่งดํารงตําแหน่งครบกําหนดสองปีตามวาระ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558  รายละเอียดดังนี้
         ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ และ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖) อนุมัติให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ รวมจํานวน ๑๒ คน และได้มีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ และลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๖ ตามลําดับ นั้น
          บัดนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ดังกล่าว ได้ดํารงตําแหน่งครบกําหนดสองปีตามวาระแล้ว เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อนุมัติให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ จํานวน ๑๒ คน ดังนี้
  • ๑. นายสมพร มณีรัตนะกูล ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
  • ๒. นายสุพล สิทธิธรรมพิชัย ผู้แทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
  • ๓. นายบูรพา อารัมภีร ผู้แทนสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
  • ๔. นางชาลินี ฮิราโน ผู้แทนสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย
  • ๕. นายจรัญ หอมเทียนทอง ผู้แทนสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
  • ๖. นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย
  • ๗. นายวิรัช อยู่ถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ๘. นางสาวอรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ๙. นายสุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ๑๐. นายเศรษฐา ศิระฉายา ผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ๑๑. นายพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
  • ๑๒. นางมรกต กุลธรรมโยธิน ผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี


            อนึ่ง มาตรา 56 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดให้มีคณะกรรมการลิขสิทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบสองคน โดยมาตรา 60 ระบุว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
  • (1) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ตาม พระราชบัญญัตินี้
  • (2) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา 45 และมาตรา 55
  • (3) ส่งเสริมหรือสนับสนุนสมาคม หรือองค์กรของผู้สร้างสรรค์หรือนักแสดงเกี่ยวกับการดำเนินการ เพื่อจัดเก็บค่าตอบแทนจากบุคคลอื่นที่ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง และการคุ้มครองหรือปกป้องสิทธิหรือประโยชน์อื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้
  • (4) พิจารณาเรื่องอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
       ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา 59 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

สมัชชาคนจน-กป.อพช.อีสาน จี้รัฐบาลทหารยุติการดำเนินคดี ‘บารมี ชัยรัตน์’

บารมี ชัยรัตน์ให้สัมภาษณ์สื่อ วันรับทราบข้อกล่าวหา ที่สน.สำราญราษฎร์

         สมัชชาคนจนเรียกร้องให้ยุติดำเนินคดีนักศึกษานักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ยุติการใช้กำลังและการใช้กฎหมายต่อคนจนที่ปกป้องสิทธิฯ ด้วยแนวทางสันติวิธี พร้อมคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข ด้านกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติ 13 กลุ่ม ออกแถลงการณ์เรียกร้องยุติดำเนินคดี 'บารมี'-คืนพื้นที่แสดงออก-จัดเลือกตั้ง
          5 ส.ค.2558 กรณี บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และ กรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 (“ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ”) จากการมีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมและให้ที่อาศัยกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ระหว่างทำกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย. ที่ผ่านมา
         สมัชชาคนจน เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้อง 1.ให้รัฐบาลทหารยุติการดำเนินคดีใดๆ กับ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน รวมทั้งนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน และคนจนผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข 2. ให้รัฐบาลทหารยุติการใช้กำลังและการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนจนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน, สิทธิชุมชน และอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนด้วยแนวทางสันติวิธี โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และ 3. รัฐบาลทหารต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
ร้องยุติดำเนินคดี-คืนพื้นที่แสดงออก-จัดเลือกตั้ง
         กลุ่มคนทำงานด้านสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติ 13 กลุ่ม ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้ 1. ให้รัฐบาลทหารยุติการจับกุมดำเนินคดีต่อนายบารมี ในข้อกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 นี้ โดยไม่มีเงื่อนไข  2. ให้รัฐบาลเร่งคืนพื้นที่เสรีภาพ การแสดงออกทางการเมือง การเคลื่อนไหวนำเสนอปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยุติการใช้กำลังและกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และ 3. ดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเร็วที่สุด
         กลุ่มคนทำงานด้านสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติ 13 กลุ่ม ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.), เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน,  ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน, เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน, เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน, เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์, เครือข่ายป่าชุมชน จ.สุรินทร์, โครงการทามมูล, กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน, ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชนนครราชสีมา, ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี, เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา


รายละเอียดมีดังนี้ 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
ให้รัฐบาลทหารยุติการดำเนินคดีใดๆ กับ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน
นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน และคนจนผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที
           ภายใต้การยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร “คสช.” มานานกว่า 1 ปี คนจนที่ประสบปัญหาจากนโยบายของรัฐ ได้รับการกดขี่อย่างหนัก พวกเราสูญเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีพื้นที่ส่วนร่วมทางการเมือง ไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายใดๆ ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำมาหากินของเราอย่างรุนแรง การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เคยดำเนินการสมัยรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย ก็หยุดชะงักลงไป รัฐบาลทหารไม่เพียงจะไม่ยอมรับฟังเสียงของคนจนที่ได้รับความเดือดร้อน หากแต่ยังเลือกที่จะใช้กำลังต่อเรา ข่มขู่คุกคาม ขับไล่ ทำลายทรัพย์สิน เรียกตัว กักขัง โดยใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม มาละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน เพียงเพื่อให้บรรลุนโยบายของตน ซึ่งหลายครั้ง นโยบายเหล่านั้นก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
        ไม่เพียงแต่คนจนเท่านั้น นักศึกษาและประชาชนที่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามแนวทางประชาธิปไตย ต่างก็เห็นว่า คณะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการเข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น จึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยสงบ เพื่อประท้วงการรัฐประหารอยู่หลายครั้ง อันนำมาซึ่งการบุกเข้าจับกุมนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่สวนเงินมีมา กรุงเทพฯ และผลสืบเนื่องจากการจับกุมดังกล่าว ขณะนี้ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานของสมัชชาคนจน ได้รับหมายเรียกด้วยข้อหาฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ว่าด้วยการ “ยุยงปลุกปั่น” และต้องเข้ามารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 5 สิงหาคม นี้
        สมัชชาคนจนเห็นว่า การออกหมายเรียกให้เข้ามารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ เป็นการกลั่นแกล้งอย่างไร้เหตุผล เพราะที่ผ่านมานายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานของสมัชชาคนจน ได้ดำเนินการตามแนวทางสันติวิธีเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ที่คนจนมีส่วนร่วม และปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนจนมาโดยตลอด การกล่าวหาด้วยข้อหาดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อคนจนอย่างรุนแรง เพราะได้สร้างความหวาดกลัว ให้ยอมจำนนต่อการกดขี่ข่มเหง โดยไม่กล้ายืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในฐานะพลเมือง ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของรัฐบาลเผด็จการโดยทั่วไป
สมัชชาคนจน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
  • 1. ให้รัฐบาลทหารยุติการจับกุมดำเนินคดีต่อนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน และนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ทั้ง 14 คน ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
  • 2. ให้รัฐบาลทหารยุติการใช้กำลังและการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนจนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน, สิทธิชุมชน และอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนด้วยแนวทางสันติวิธี โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข
  • 3. รัฐบาลทหารต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

“ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”
สมัชชาคนจน
5 สิงหาคม 2558
00000
“ คืนพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ”
…ยุติการดำเนินคดีต่อ นายบารมี ชัยรัตน์…!!

             
            จากคดีข้อกล่าวหาที่มีต่อ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ในการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 " ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ " ซึ่งจะต้องเข้าไปรายงานตัวตามหมายเรียกของสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นั้น
              
            ตลอดระยะเวลาของการยึดอำนาจของทหารที่นำโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พื้นที่ในการแสดงความเห็น พื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง ตามวิถีทางของประชาธิปไตย ได้ถูกลิดรอนและปิดกั้นการแสดงออกอย่างมาก ปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ถูกจำกัดขอบเขตและพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งปัญหาที่ได้รับ บางกรณีถึงขั้นถูกข่มขู่ คุกคาม ขับไล่ โดยอ้างนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลทหาร ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่จะมีการพัฒนาอย่างรุดหน้า คือประเทศเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการแสดงความคิดเห็น การร้องเรียนนำเสนอปัญหา แต่ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. กลับดำเนินการในสิ่งตรงกันข้ามทั้งสิ้น
              
          พวกเราในนามกลุ่ม/เครือข่าย และองค์กร ที่ลงชื่อแนบท้ายในแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ต่อไปนี้
               
  • 1. ให้รัฐบาลทหารยุติการจับกุมดำเนินคดีต่อนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนในข้อกล่าวหาตามกฎหมายอาญา มาตรา116 นี้ โดยไม่มีเงื่อนไข             
  • 2. ให้รัฐบาลจงเร่งคืนพื้นที่เสรีภาพ การแสดงออกทางการเมือง การเคลื่อนไหวนำเสนอปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา และเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยุติการใช้กำลังและกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนจนที่ปกป้องสิทธิชุมชน และอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนด้วยแนวทางสันติวิธีโดยทันที
  • 3. ดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเร็วที่สุด

ด้วยความเคารพ
“ในเสรีภาพ สิทธิชุมชน และความเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์”
5 สิงหาคม 2558

กลุ่ม/เครือข่าย และองค์กร ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์
  • - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.)
  • - เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน
  • - ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน
  • - เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
  • - เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน
  • - เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
  • - เครือข่ายป่าชุมชน จ.สุรินทร์
  • - โครงการทามมูล
  • - กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  • - เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
  • - ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชนนครราชสีมา
  • - ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชี
  • - เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

‘บารมี ชัยรัตน์’ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฐานสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยใหม่


บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก ม.116 ฐานสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ยันไม่เสียใจที่ถูกดำเนินคดีร่วมกับ นักศึกษา นักกิจกรรมทั้ง 14 คน ล่าสุดเจ้าหน้าที่ไม่ฝากขัง
5 ส.ค. 2558 บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และ กรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมแกนนำชาวบ้านจาก สมัชชาคนจน และกลุ่มเพื่อนประมาณ 50 คน รวมทั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อาทิ รังสิมันต์ โรม และชลธิชา แจ้งเร็ว ได้เดินทางมาที่ สน สำราญราษฎร์ เพื่อรับข้อหาตามหมายเรียก จากเจ้าพนักงานเจ้าของคดี โดยคาดว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 24-26 มิ.ย. 2558 น.จากกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ของขบวนประชาธิปไตยใหม่ โดยหมายเรียกได้ออกจาก สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 3  ก.ค. 2558 โดยส่งเป็นจดหมายทางไปรษณีย์มาที่บ้านพัก ผู้กล่าวหาคือ พ.ท.พงศฤทธิ์ ภวังค์คะนันท์ ผบ.พัน.ร.ศสร. โดยต้องไปรายงานตัวกับ พ.ต.ท.มานิตย์ ทองขาว พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.สำราญราษฎร์ ในวันที่ 10 ก.ค. 2558 เวลา 09.00 น.
บารมี ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตาม กฎหมายอาญามาตรา 116 “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญฯ” โดยร่วมกับ 14 นักศึกษา นักกิจกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมและให้ที่อาศัยกับ กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในการรณรงค์ดังกล่าว
ขณะเดียวกัน สมัชชาคนจน ได้แถลงให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีกับ บารมี ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน 14นักศึกษา นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และคนจนผู้ปกป้องสิทธิ นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลทหารยุติการใช้กำลังและ กฎหมายไม่เป็นธรรมต่อคนจน โดยให้ใช้แนวทางสันติวิธี และเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. คืนอำนาจให้กับประชาชนโดยทันทีไม่มีเงื่อนไข


เวลา 10.05 น. บารมี และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าพบเจ้าพนักงานเจ้าของคดี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ถูกแจ้งดำเนินคดี  ทั้งนี้ก่อนเข้ารายงานตัว บารมีกล่าวปราศัยกับผู้มาให้กำลังใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยส่วนตัวแล้วตัวเองเห็นด้วยกับกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่  และไม่รู้สึกเสียใจเมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีร่วมกับคนกลุ่มนี้
"ผมว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม และการกระทำเช่นนี้ก็เป็นสิ่งไม่มีเหตุผล เป็นการละเมิดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว" บารมีกล่าว
ต่อมาเวลา 11.20 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือทำประวัติผู้ต้องหาแล้วเสร็จ ด้าน น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ กล่าวว่า ผู้ต้องหาได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นว่านายบารมีได้มารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงได้ไม่ทำการควบคุมตัวหรือขออำนาจศาลฝากฝากขังและทนายความจะทำบันทึกคำให้การเพิ่มเติมส่งให้พนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันและจะมีการประสานนัดหมายกับ เจ้าพนักงานสอบสวนอีกที
ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นการสอบสวน ได้มีการจัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญให้บารมีที่ด้านหน้าสถานีตำรวจ โดย พตอ.พิพัฒน์ บุญเพชร์ ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ได้เข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญให้นายบารมี ชัยรัตน์ด้วย
ด้านรูเพิร์ต แอ็บบอต (Rupert Abbott) ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีที่นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนและกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ว่าด้วยการขัดขืนอำนาจปกครอง โดยทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้แสดงความกังวลในกรณีนี้ไปกับทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยด้วย เพราะข้อหาดังกล่าวถือเป็นความพยายามอย่างชัดเจนในการขัดขวางการแสดงออกอย่างสงบของผู้ที่มีความเห็นต่าง ซึ่งขัดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นข้อหาดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิกโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งสำนวนคดีดังกล่าวต้องถูกปิดเป็นการถาวร