วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คดีรินดาโพสต์ประยุทธ์โอนหมื่นล้าน ไม่เข้า ม.116 ศาลอาญาชี้อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม

รินดา ซ้ายสุด (ภาพจาก แฟ้มภาพประชาไท)

ศาลทหารจำหน่ายคดีโพสต์ข่าวลือหมิ่นประมาทประยุทธ์ โอนหมื่นล้าน หลังศาลอาญามีความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล ในคดีรินดา ไม่เข้า ม.116 เป็นเพียงคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาโดยการโฆษณา ตาม ม.328 เท่านั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
17 พ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.45 น. ตุลาการศาลทหารกรุงเทพออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 2/2559 ของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มี.ค. 2559  จากกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ลงวันที่ 29 ก.พ. 2559 และสำนวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อให้ศาลอาญาดำเนินการตาม ม.10 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542  ซึ่งมีสาระสำคัญคือ
“กรณีตามคำฟ้องของอัยการศาลทหารกรุงเทพโจทก์นั้น ข้อความที่จำเลยพิมพ์ลงในเว็บไซต์  www.facebook.com ผ่านชื่อ “รินดา พรศิริพิทักษ์” ไม่มีลักษณะของข้อความที่จะทำให้ปรากฎต่อประชาชนเพื่อให้เกิดการปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่เป็นความผิดที่มีลักษณะใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณา อันเป็นฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328”
ศาลอาญาเห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาไม่ใช่ความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ข้อ 1 (2) จึงทำให้ความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตกใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.384 และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14  ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ต้องต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557
ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลอาญา จึงมีความความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจราณาของศาลยุติธรรม และให้ส่งความเห็นนี้ไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อดำเนินการต่อไป ตาม ม.10 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2552  จึงเป็นกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญาเห็นพ้องกัน ความเห็นดังกล่าวถือเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ศาลทหารจึงจำหน่ายคีดออกจากศาลระบบความ ทำให้คดีในศาลทหารสิ้นสุดไป
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 รินดาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านพักใน จ.ปทุมธานี ไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ก่อนถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร ศาลทหารได้อนุญาตฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด 1แสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีความมั่นคงแม้ว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ได้คัดค้านการประกัน ทำให้รินดาต้องถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นเวลา 3 วัน ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่สองในวันที่ 13 ก.ค. 2558  พร้อมวางหลักทรัพย์เดิม ซึ่งในครั้งนี้ศาลทหารจึงได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

EU เยี่ยม กต. สนช .กรธ. ปชป. รวมทั้งเพื่อไทย หารือประเด็นสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนเข้าเยี่ยมรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สนช. กรธ. พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยหารือประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย
17 พ.ค. 2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วาเนอร์ แลนเกน (Warner Langen) สมาชิกสภายุโรป (อียู) ซึ่งเป็นประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของอียู ได้นำสมาชิกสภาอียู รวม 8 คน เข้าพบ ปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค. 2559 โดยมีกำหนดการพบปะทุกภาคส่วน อาทิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน
เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ  โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการพบปะหารือว่า กลุ่มสมาชิกสภาอียู เลือกเยือนประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – อียู แสดงให้เห็นว่าไทยกับอียูยังมีปฏิสัมพันธ์กันปกติ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศคู่การค้าของอียูเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และมีนักท่องเที่ยวจากประเทศในอียูเดินทางมาไทย  5  ล้านคนต่อปี สำหรับการพบปะหารือครอบคลุมในหลายมิติ และภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-อียู และอาเซียน-อียู เพื่อยกระดับความร่วมมือเป็นแบบยุทธศาสตร์ โดยจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – อียู ในเดือนตุลาคมนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการพบปะครั้งนี้ อียูได้รับทราบพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของไทย อาทิ การดำเนินการปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทย โดยกระทรวง ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยต่อการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยู และได้แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าล่าสุด ตามที่รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับประมง การตรวจเรือ การลงทะเบียน เพื่อออกเอกสารประจำเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสถานการณ์และสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดย อียูได้เล่าว่า อียูกำลังเผชิญกับกลุ่มผู้อพยพ และเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งภัยก่อการร้ายระหว่างประเทศ
เสข กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ สมาชิกสภาอียูได้พบกับ สนช. และกรธ. ซึ่งได้หารือถึงภาพรวมสถานการณ์การเมืองไทย โดยอียู ย้ำว่า การเยือนครั้งนี้ตระหนักถึงพัฒนาการของประเทศไทย พร้อมกับย้ำถึงข้อมติของอียูต่อไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ว่า ประเทศไทยยังเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนของอียู เชื่อว่า ระหว่างนี้ไทยกำลังเตรียมการเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า ทางอียูได้สอบถามประเด็นเรื่องนำประชาชนขึ้นศาลทหารหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่ได้คุยรายละเอียดเรื่องนี้ อียูได้แจ้งท่าทีเดิมและหลักการค่านิยมของอียู โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันในการพบปะกันว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งปี 2560 ตามโรดแมปที่ได้ประกาศไว้ ต่อข้อถามว่า สมาชิกสภาอียูห่วงกังวลเรื่องใช้มาตรา 44 หรือไม่ นายเสข กล่าวว่า ในการหารือไม่ได้ลงรายละเอียดเรื่องนี้ เมื่อถามถึงได้มีการพูดถึงถึงกระบวนการยูพีอาร์ ที่เจนีวา หรือไม่ นายเสข กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้แจ้งให้สมาชิกสภาอียูทราบว่า รัฐสมาชิกยูพีอาร์ได้ชื่นชมไทยเกี่ยวกับการดำเนินการต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมีความคืบหน้า และไทยก็รับข้อเสนอแนะของรัฐสมาชิกยูพีอาร์ที่มีต่อไทยทันที 181 ข้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ทันที และจะมีการรายงานความคืบหน้าตามไปภายหลังด้วย

พบ 'ยิ่งลักษณ์-แกนนำเพื่อไทย' หารือประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย

ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ภาพและรายงานด้วยว่า  วันนี้ เมื่อเวลา 15.00น. คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป นำโดย เวอร์เนอร์ ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมด้วย มาร์ค ทาราเบลล่า รองประธาน และ เพียร์ อันโตนิโอ แปนซีรี คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน เข้าพบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย

เยี่ยมประชาธิปัตย์ด้วย

ขณะที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Abhisit Vejjajiva' ด้วยว่า สมาชิกสภายุโรป เข้าเยี่ยมคารวะ ที่พรรคประชาธิปัตย์  

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกปรับทัศนคติ เปิดช่องนักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน. เชื่อคลี่คลาย


ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกเรียกคนปรับทัศนคติ เปิดช่องให้นักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน. เชื่อคลี่คลาย บอกผู้ต้องหาบึ้มราชประสงค์โวยสื่อ แค่สร้างเรื่อง-รอยแผลอาจทำเอง การันตีเลขาฯปปง.ใหม่เชี่ยวชาญงานยุติธรรม แถมยังเคยเป็นหัวหน้าทีถอดยศทักษิณ

18 พ.ค. 2559 จากกรณีวานนี้ (17 พ.ค.59) คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุถึงการทำงานของ คสช.ครบรอบ 2 ปี ว่า เราไม่ได้มีการเตรียมการอะไรเพราะมีการดำเนินการอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งเราดูแลทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้ประชาชนต้องอยู่ด้วยความสงบและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข ซึ่งพวกที่ก่อกวน คสช.จะไม่ปล่อยไว้ เราดูแลทุกเรื่องอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการปรับทัศนคติจะไม่เรียกแล้ว เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้เน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ เพราะเราดูแลสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เราไม่ห่วงกลุ่มใดเป็นพิเศษ เพราะเราติดตามทุกกลุ่มที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย

ประวิตรหนุนแนวคิด ผบ.ทบ.เลิกเรียกคนปรับทัศนคติ เชื่อคลี่คลาย

ล่าสุดวันนี้ (18 พ.ค. 59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี พล.อ.ธีรชัย มีแนวคิดยกเลิกเรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง ว่า ปรับมาหลายครั้งก็ไม่มีอะไร ก็จะเรียกมาว่าทำผิดอะไรบ้าง ส่วนจะผิดหรือไม่ผิดต้องว่าไปตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า แสดงว่าจะมีการยกเลิก พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พูดไปหลายครั้งแล้ว และผบ.ทบ.พูดไปแล้ว ก็ว่าไปตามที่ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์
เมื่อถามว่า การยกเลิกเรียกปรับทัศนคติ และเปิดให้นักการเมืองสามารถซักถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า คิดว่าจะคลี่คลาย ไม่เช่นนั้นจะทำไปทำไม ขณะนี้ก็คลี่คลายไปแล้ว มีแต่นักข่าวเท่านั้นที่ทำให้ไม่คลี่คลาย เพราะถามให้เป็นเรื่องอยู่เรื่อย

เปิดช่องให้นักการเมืองวิจารณ์ร่างรธน.

นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นเจ้าภาพเตรียมจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ที่สโมสรทหารบก วันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) เพื่อให้นักการเมืองและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามใครเลยแม้กระทั่งคนที่ลงนามกับคสช. ไว้ว่าจะไม่วิจารณ์การเมือง ซึ่งตอนนี้ก็ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับตัวแทนต่าง ๆ ในสิ่งที่สงสัย เมื่อบอกว่าไม่มีช่องทางแสดงความเห็น เราก็จะเปิดช่องให้ เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ และไม่มีคสช.ไปเกี่ยวข้องเลย
ส่วนกรณีที่แกนนำคนเสื้อแดง ระบุ การทำประชามติจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นถึงร้อยละ 80 นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า  คิดไปเองทั้งนั้น  เมื่อวานได้เห็นคนไทยแสดงความรักกันในงานพฤษภาทมิฬ ตนก็ดีใจแล้ว และชื่นใจที่ได้เห็นคนไทยปรองดอง แบบนี้ตนนอนหลับฝันดีแล้ว
ต่อข้อถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ มีแนวคิดจะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่มาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องอนาคต หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาหารัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป ซึ่งความกังวลว่าจะยืดระยะเวลาโรดแมปออกไปอีก ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด แต่อาจเป็นไปได้ที่จะเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ มาปรับใช้ แต่ทุกอย่างจะต้องเข้าคณะกรรมการหารือถึงแนวทางที่ชัดเจน  ส่วนเรื่องการเลือกตั้งขอยังไม่พูด ขอให้ผ่านประชามติไปให้ได้ก่อน

บอกผู้ต้องหาบึ้มราชประสงค์โวยสื่อ แค่สร้างเรื่อง-รอยแผลอาจทำเอง

ต่อกรณีผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์แสดงอาการขัดขืนขณะถูกนำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.) และระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น  พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เจ้าหน้าที่จะไปทำเช่นนั้นได้อย่างไร
 
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อถามว่า แต่นายอาเด็มได้เปิดเสื้อเพื่อแสดงให้เห็นร่องรอยว่าถูกทำร้ายร่างกาย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เขาทำเองหรือไม่ ตนดูอยู่ยืนยันว่าไม่มีการเปิดเสื้ออะไร เมื่อถามย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมาย ตนไม่ทราบ และไปสั่งให้ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของศาลดำเนินการ ตนไม่เกี่ยว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเปลี่ยนเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี มณฑลทหารบกที่ 11  (มทบ.11) ไปเรือนจำอื่นหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา ขอยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน
 

การันตีเลขาฯปปง.ใหม่เชี่ยวชาญงานยุติธรรม แถมยังเคยเป็นหัวหน้าทีถอดยศทักษิณ

สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอําพันธ์กุล จเรตำรวจแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คนใหม่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)ว่า เป็นไปตามขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องผ่านความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องการให้พล.ต.อ.ชัยยะ ดํารงตําแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านงานยุติธรรม และยังเคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับถอดยศ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับรองผู้บังคับการและสารวัตรที่มีความล่าช้า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหลังจากมีคำสั่งแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเข้าปฏิบัติงานตามหน้าที่ต่อไป

NDM แจกความเห็นแย้ง ร่างรธน.ให้ 'ครู ก.-มีชัย' ระบุเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจกับปชช.


มีชัยย้ำทำประชามติร่างรธน.ต้องไม่ปิดหูปิดตาประชาชน แนะครู ก.แจงร่างรธน.ต่อประชาชนให้ละเอียดที่สุด  ระบุร่างรธน.คิดบนฐานสิ่งที่ต้อการให้เกิดกับประเทศ อธิบายบทเฉพาะกาล มี 2 ส่วน การเปลี่ยนผ่าน ที่มา ส.ว. ยกโพลล์บอกนายกมาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี
18 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 9.05 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM' ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ วันนี้ตัวแทนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้มาแจกเอกสารความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้ ในโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรระบวนการ (ครู ก) จัดโดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุด้วยว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากพี่ๆ ครู ทั้งนี้ยังได้พบ มีชัย ฤชุพันธุ์ จึงได้แจกเอกสารให้ด้วย โดยตัวแทนของเรากล่าวว่าความเห็นแย้งจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจกับประชาชน มีชัยพยักหน้าและรับเอกสารพร้อมกล่าวว่า "ทำไมถึงเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ"

มีชัยแนะครู ก.แจงร่างรธน.ต่อประชาชนให้ละเอียดที่สุด

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า โครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ หรือ ครู ก. เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว มีผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนชุมชน ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนกระทรวงศึกษา เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)  ตัวแทนจาก 77 จังหวัด จังหวัดละ 5 คน พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ร่วมสังเกตการณ์ อาทิ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมอบรม
โดย มีชัย ประธาน กรธ.กล่าวเปิดงานและบรรยายถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดให้ชี้แจงกับวิทยากรโดยแยกเป็นครู ก. ครู ข.และครู ค. ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจและรับทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ โดยทุกคนที่เข้าร่วมอบรมถือเป็นต้นลำธาร ซึ่งกรธ.ตั้งใจจะชี้แจงเนื้อหาเท่าที่มีในรัฐธรรมนูญให้รับทราบ เพื่อจะได้นำสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดไปยังครู ข.และครู ค.ได้
“เราฝากอนาคตของประเทศไว้กับครู ก. ครู ข.และครู ค.เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนได้รับทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีอะไรบ้างหรือดีอย่างไร การจัดอบรมเสวนาครั้งนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะต้องรบกวนทุกคนช่วยสดับตรับฟัง เพื่อนำไปใช้ แต่ไม่ได้ให้นำไปจูงใจหรือบอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้บอกข้อมูลในร่างรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วนหรือในสิ่งที่เขาสนใจ เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินใจได้เอง และหากเรายิ่งบอกได้กว้างมากเท่าใด การตัดสินใจของประชาชนจะอยู่บนพื้นฐานความคิดของเขาเอง โดยไม่ได้ถูกใครจูงใจให้มองเห็นในทางที่ผิด” ประธานกรธ. กล่าว
มีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกรอบหรือขื่อแปของบ้านเมืองที่จำเป็นต้องมี แม้ปัจจุบันจะมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่เขียนไว้อย่างย่นย่อเพื่อให้พอใช้ในระหว่างนี้ที่สถานการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อใดที่บ้านเมืองจะเดินไปสู่ปกติ ต้องมีรัฐธรรมนูญถาวร ซึ่งในรัฐธรรมนูญถาวรจะบอกรายละเอียดทั้งหมดที่จำเป็นต่อการบริหารประเทศ จำเป็นต่อความเป็นรัฐ จำเป็นต่อความเป็นเอกราช และความเป็นประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญจึงจะบอกหมดตั้งแต่ว่าบ้านเมืองจะปกครองรูปแบบใด มีสถาบันใด สิ่งใดที่รัฐต้องไม่รุกล้ำสิทธิของประชาชน สิ่งใดที่รัฐต้องเอาใจใส่เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การกำหนดองคาพยพทางการเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล วิธีการได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และองค์กรอิสระที่จะทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ

แจงร่างรธน.คิดบนฐานสิ่งที่ต้อการให้เกิดกับประเทศ

ประธานกรธ. กล่าวว่า ก่อนที่กรธ.จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญ ได้คิดและตั้งเป้าหมาย แนวทางที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ 1.สิทธิของประชาชน ชุมชน สังคม ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังและเกิดผลในทางปฏิบัติให้มากที่สุด 2.สิทธิของประชาชน รัฐต้องเป็นคนให้ ในส่วนที่เป็นความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของประชาชน  3.กลไกการใช้สิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงและจับต้องได้  ไม่ใช่เพียงการไปลงคะแนน 3 วินาทีเท่านั้น เราสร้างกลไกเพื่อให้คะแนนของทุกคนมีส่วนได้ถูกนับ เพื่อไปคำนวนหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)
“4.การขจัดการทุจริต เราตระหนักกันดีว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเงินงบประมาณลงไปในพื้นที่ มีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างไร รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการแปรญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ห้ามส.ส.แปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณนั้น เขียนมาตั้งแต่ปี 2540 และ 2550 แต่ไม่ได้มีบทบัญญัติแซงชั่นอะไรไว้เลย ซึ่งวิวัฒนการแปรญัตติเอางบใส่มือส.ส. มีมากขึ้นและร่วมมือทุกกระบวนการ เราจึงกำหนดว่าถ้าพบว่ามีการกระทำแบบนั้น คนที่แปรญัตติต้องพ้นจากตำแหน่ง สภาฯที่อนุมัติทั้ง ๆ ที่รู้ จะต้องหมดไปทั้งสภา เจ้าหน้าที่กระทรวง ทบวง กรม ที่อนุมัติทั้งที่รู้ก็ต้องถูกลงโทษ ขณะที่ครม.ที่อนุมัติงบทั้งที่รู้ก็ต้องไปทั้งคณะเช่นกัน และเขียนไว้อีกว่าการติดตามทวงเงินคืนมีอายุความ 20 ปี เพราะเราคงจับในขณะที่เขาเป็นรัฐบาลไม่ได้ ต้องรอ 2 รัฐบาลแล้วค่อยมาจับ หวังว่ามันจะเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้เขาทำ” ประธานกรธ. กล่าว
มีชัย กล่าวว่า กรธ.ยังกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะเข้าสู่การเมืองไว้เข้มขึ้น วางหลักว่ารัฐต้องมีหน้าที่จัดให้ทุกคนได้รับการศึกษาตามความถนัดไปจนสุดความสามารถของเขา เราขยับการศึกษาฟรีลงมารองรับตั้งแต่อายุ 2 ขวบก่อนเข้าอนุบาลก่อนเข้าประถมศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งตอนท้ายมีกองทุนของรัฐรองรับคนที่ขาดแคลนไว้ด้วย ขณะที่องค์กรอิสระ กรธ.พยายามที่จะทำให้เป็นที่เชื่อถือด้วยการเพิ่มคุณสมบัติและประสบการณ์ให้สูงขึ้น มีกลไกคัดเลือกตัวบุคคลให้ปลอดการเมือง รวมทั้งยังกำหนดให้ประเทศมียุทธศาสตร์และการปฏิรูป โดยมุ่งหวัง 3 ประการ คือ 1. ทำให้ประเทศมีความสุขสงบ 2. ทำให้สังคมและคนมีความสุขสงบ และ 3. ทำให้ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกำหนดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ไว้

บทเฉพาะกาล มี 2 ส่วน การเปลี่ยนผ่าน ที่มา ส.ว.

มีชัย กล่าวถึงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีสองส่วน โดยส่วนแรกคือการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะต้องมีเครื่องมือรองรับไว้ และอีกส่วนหนึ่งคือที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญในบทถาวร ส.ว.จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่าที่สมัครกันมาแล้วคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศตามสาขาที่ได้รับเลือกมา เพื่อจะได้ส.ว.หลากหลายอาชีพ ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี เราต้องการให้ประชาชนรู้ว่าเวลาเลือกตั้งจะเห็นใครเป็นเงาที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงสร้างกลไกว่าก่อนเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคต้องประกาศชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
“เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว คนที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคเสนอจะมาจากพรรคใดก็ได้ จึงกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้ส.ว รุ่นแรก 250 คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่มาจากการสรรหา แต่ใน 50 คนจะต้องสรรหาและแต่งตั้งจากคนที่ชาวบ้านเลือกเพื่อเป็นต้นแบบของการเลือกตั้งแบบนี้ในวันข้างหน้า และประชาชนจะได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง และเพื่อแก้ปัญหาว่าถ้าเขาเลือกนายกฯแล้วตกลงไม่ได้ จึงมีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าถ้าเลือกนายกฯกันไม่ได้ให้มาบอกประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อขอยกเว้น และถ้าได้คะแนนเสียงตามกำหนดก็ยกเว้น แล้วส.ส. ก็กลับไปเลือกนายกฯกันเอง” ประธานกรธ. กล่าว
มีชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พูดกันมากว่ารัฐธรรมนูญเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็บอกว่าพรรคการเมืองเป็นคนตัดสิน ก็อย่าเอาคนนอก ให้เอาคนในพรรคของตัวเอง แต่มีข้อต้องตระหนักว่าในวันที่พรรคการเมืองประกาศชื่อนั้น ยังไม่มีการเลือกตั้งแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าชื่อที่ประกาศไปนั้นจะได้รับการเลือกตั้ง เพราะถ้าบังคับว่าต้องมาจากส.ส. แล้วปรากฎว่าคนที่ประกาศไว้ไม่ได้รับการเลือกตั้งแล้วจะทำอย่างไร กรณธ.จึงไม่บีบบังคับว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.

ยกโพลล์บอกนายกมาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี

“ผลโพลล์ประชาชนบอกว่านายกฯ มาจากไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดี มีความสามารถ เป้าหมายของเราคือเปิดช่องไว้เพื่อไม่ให้เกิดทางตัน ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้ง ถามว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่เพราะส่วนใหญ่จะใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เสมอ แต่ตามรัฐธรรมนูญนี้พรรคบางพรรคอาจไม่ได้รับเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อเลยก็ได้ ถ้าคะแนนนิยมดี และได้คะแนนจากส.ส.แบบแบ่งเขตเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว เราขอยืนยันทำเพื่อประโยชน์ของพรรคทุกพรรค ไม่ใช่เพื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะท่านก็บอกอยู่แล้วว่าท่านจะไม่เข้ามาเป็น รัฐธรรมนูญมีเจตนาเรื่องความปรองดอง ดูได้จากกลไกที่ใส่ไว้ที่เปิดโอกาสให้ปรึกษาหารือกัน หากเป็นไปตามที่กรธ.วางแนวทางไว้ เชื่อว่าบ้านเมืองจะรุดหน้า ไม่แพ้ใครในโลก” ประธานกรธ. กล่าว

ย้ำทำประชามติร่างรธน.ต้องไม่ปิดหูปิดตาประชาชน

มีชัย ให้สัมภาษณ์ด้วย ว่า วิทยากรที่คัดเลือกมามาอบรมครู ก ในวันนี้ ส่วนใหญ่วิทยากรอยู่ในระดับสูงมีความรู้พื้นฐาน แต่ก็ต้องมีกลไกในการติดตามการทำงาน และให้กำลังใจของครู ก เวลาที่ลงพื้นที่ชี้แจงด้วย การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เพราะการจะทำประชามติจะต้องบอกให้รู้ ซึ่งการให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราจะปิดหูปิดตาประชาชนได้อย่างไร แต่เราก็ไม่ได้มีอะไรห้าม เพียงแค่กังวลว่าอย่าไปบิดเบือนเท่านั้น เพราะถ้าไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ไปบอกแบบแผ่นเสียงตกร่อง ว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย
“ผมไม่กังวลกระแสคัดค้านที่ออกมาจากทุกฝ่าย หากเขาวิจารณ์โดยสุจริตใจ เพราะผมยืนยันว่า กรธ.ก็ทำด้วยความสุจริตใจ ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่กังวลถ้าเขาไม่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งหมด แล้วไปฟังคนอื่นมาวิจารณ์ต่อก็แย่  บ้านเมืองควรเปิดหูเปิดตา” มีชัย กล่าว

พ่อ หฤษฎ์ ขอยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัวชั่วคราวลูกชาย และณัฏฐิกา


พ่อ หฤษฎ์ เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหา 112 ขอลูกชาย และณัฏฐิกา พร้อมขอยูเอ็นเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน
18 พ.ค. 2559 กฤช มหาทน บิดาของหฤษฎ์ มหาทน ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กรณีทำเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งโดนตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เดินทางพร้อมทีมนักกฎหมาย จากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน(สนส.) เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมขอให้ผู้แทนสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมให้มีการประกันตัว หฤษฎ์ และณัฎฐิกา วรธัยวิชญ์ ผู้ซึ่งถูกกล่าวในคดีเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หฤษฎ์ และณัฏฐิกา เป็นสองในกลุ่มแอดมินเฟซบุ๊ก 8 คนที่ ตกเป็นผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในข้อหายุยงปลุกปั่น และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งในจำนวนนี้ 6 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่หฤษฎ์ และณัฎฐิกาถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่ากระทำความผิดหมิ่นสถาบันพรมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงถูกฝากขังต่อไป โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองคน ถูกฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตามหมายจับของศาลทหาร ในฐานความผิดตาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้ว
กฤช ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพันธะผูกพันกับประชาคมโลกในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นการดำเนินคดีกับพลเรือนจึงไม่ควรใช้ศาลทหารดำเนินการตามกระบวนการ ผู้ถูกกล่าวหาควรได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อสู้คดี และระหว่างการดำเนินการจับกุมควรมีกระบวนการที่เป็นธรรม
กฤช กล่าวด้วยว่า ลูกชายไม่ได้มีเจตนาหลบหนี อีกทั้งพยานหลักฐานได้มาจากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด จึงไม่มีความสามารถจะเข้าไปยุ่งเหยิงหรือก่ออันตรายต่อพยานหลักฐานได้
“มาวันนี้เพื่อขอความเป็นธรรม จะไปยื่นต่อองค์การสหประชาชาติให้ท่านมีความเมตตา และให้ท่านยึดหลักความชอบธรรมและสิทธิมนุษยชนตามที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้กับนานาประเทศ” กฤช กล่าว