วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดสิทธิทั่วโลก เสนอไทยยกเลิกกฎอัยการศึก-แก้ไข ม.112



25 ก.พ. 2558 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นำเสนอรายงานประจำปี 2557-2558 สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่า  เหล่าผู้นำในแต่ละประเทศมีความล้มเหลวในการปกป้องพลเรือนจากภัยสงคราม ลามถึงเรื่องปัญหาผู้ประสบภัยจากสงคราม ทั้งยังมีการบังคับให้พลเรือนเป็นบุคคลศูนย์หาย ในหลายประเทศมีการปราบปรามเอ็นจีโอที่ออกมาเรียกร้อง โดยรัฐใช้ความรุนแรงเข้าควบคุม ยกอย่างกรณีในประเทศฮ่องกงที่ผู้ประท้วงชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองนำโดยนักศึกษา แต่ทางรัฐบาลกลับมีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามข่มขู่คุกคามเหล่านักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบ ทั้งยังนี้มีรายงานเรื่องที่หลายประเทศใช้วิธีการทรมานพลเรือนเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับคำสารภาพหรือข้อมูล ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักโทษทางความคิดไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือความเชื่อทางศาสนา มีทั้งหมด 62 ประเทศ โดย 18 ประเทศที่มีอาชญากรรมสงครามที่ทำให้พลเรือนเป็นเหยื่อ ใน 119 ประเทศที่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มี 28 ประเทศที่ระบุว่าการขอทำแท้งคืออาชญากรรมส่งผลให้เหล่าสตรีที่ถูกข่มขืนอาจเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางการแพทย์ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และ 78 ประเทศ ที่ระบุเรื่องของการเป็นเพศทางเลือกหรือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ปริญญายังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของฝั่งเอเชียแปซิฟิก พบว่า ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเรื่องของการออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทั้งของตนเองและสังคม เช่น เมียนม่าร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฯลฯ โดยนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการตรวจสอบรัฐบาล แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องอย่างสันติวิธี โดนรัฐใช้ความรุนแรงเข้าทำการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งในจีน เกาหลีเหนือ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้ ปากีสถาน และประเทศไทย ด้านของสื่อก็ได้รับการข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวาง รวมทั้งถูกสังหาร ทั้งในประเทศจีน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน อินเดีย ฯลฯ  ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากปฏิบัติการที่โหดร้าย โดนทรมานจากการตรวจสอบเพื่อซัดทอดข้อกล่าวหา และการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ เช่น ในอัฟกานิสถานที่มีรายงานตัวเลขจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่มีผู้ขอลี้ภัยจากสงครามถึง 2 ล้านคน และยังมีอีกนับ 6 แสนคน ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และในเมียนมาร์ที่ยังคงมีความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธ์ทั้งในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น โดยกองกำลังติดอาวุธปลดแอกตนเองและจากรัฐบาลเมียนมาร์
ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ยังกล่าวเสริมอีกว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงมีปัญหาเรื่องของสิทธิสตรีและเด็ก โดยการละเมิดบังคับให้สมรสหรือสังหารเพื่อศักดิ์ศรี และการออกกฎหมายทำแท้งเป็นอาชญากรรม แม้ว่าผู้หญิงจะโดนข่มขืน และประเด็นในเรื่องของเพศสภาพ มีหลายประเทศในโซนเอเชียแปซิฟิกที่คุกคามขุมขังเพียงเพราะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ด้านความอดทนอดกลั้นในด้านศาสนาและชาติพันธ์ที่แตกต่างกันมีการหมิ่นศาสนาและความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ในส่วนของหลายประเทศบรรษัทไม่มีการเคารพเรื่องของสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้พลเรือนต้องรับผลกระทบทางด้านสุขภาพ หรือต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเอง และระบบนิเวศน์ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายจากการเข้าไปทำเหมืองเป็นต้น
ทั้งนี้ปริญญาเปิดเผยการสรุปภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอันครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การทรมานภายใต้บริบทการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ 2) สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง 3) กฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา 4) หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) 5) การทรมานและความรับผิด
ผลกระทบที่รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 80% ที่เสียชีวิต เป็นพลเรือน ซึ่งผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ในส่วนของปัญหาทางการเมือง ปีที่ผ่านมามีการใช้ความรุนแรงโดยมีกองกำลังติดอาวุธทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.นอกจากนี้สถานการณ์ในเรือนจำและสถานที่กักขังในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลว่าสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอาจเข้าข่ายเป็นการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ โดย มี134 เรื่อง ใน 138 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการทรมานซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง การบังคับให้กลายเป็นบุคคลศูนย์หาย จากรายงานที่มีการร้องเรียนในประเทศไทยมี 89 เรื่องอยู่ที่องค์กรสหประชาชาติ(UN) ว่ามีผู้ถูกบังคับศูนย์หาย โดยมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่ทางรัฐบาลมีคำตอบให้กับUN รายแรกได้รับอิสรภาพ และมีอีก 1 รายยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกหลังรัฐประหาร โดยประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ทางรัฐบาลทหารไทยได้ออกกฎห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ทั้งการสั่งปิดสื่อชุมชนและการห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห้ามจัดสัมมนาวิชาการเป็นเชิงกระทบต่อความมั่นคง ควบคุมพลเรือนโดยพลการแบบไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา จำนวนไม่เกิน 7 วัน ทั้งนี้มีมากกว่า 193 คนถูกบังคับให้ไปรายงานตัว และมีหลายรายที่โดนขึ้นศาลทหารจากการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของ คสช. ทางรัฐบาลทหารไทยยังมีการลงโทษกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารแบบไม่มีการไต่สวนที่เป็นธรรม รวมทั้งออก พ.ร.บ.ศาลทหาร ให้พลเรือนที่เป็นจำเลยคดีความมั่นคงถูกพิจารณาคดีในศาลทหารและไม่สามารยื่นอุทธรณ์ได้ รวมทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บังคับให้พลเรือนต้องรับการพิจารณาคดีในศาลทหาร
ปริญญายังแจงอีกว่า ความล้มเหลวของรัฐไทยในการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มี 42 กรณี ถูกอุ้มหายและขู่ฆ่า ยังไม่รวมกรณีถูกคุกคามและและถูกข่มขู่ รวมถึงการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เช่น ชาวโรฮิงยา และอุยกูร์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยบกพร่องในนโยบายไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ สุดท้ายประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต แม้ในปี 2557 ยังไม่มีการประหารนักโทษ แต่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงดำเนินหน้ารณรงค์ยกเลิกโทษประหารในประเทศไทยต่อไป
ภายในงานแถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
ในด้านวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคง ที่จำกัดเสรีภาพของพลเรือน ทั้งการแสดงออก การชุมนุม การปิดกั้นสื่อ ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ(ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลสามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญา ม. 112 เสนอให้กำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิดและให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมาย ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถอนข้อกล่าวหาบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ยุติการใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งยุติมาตรการที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก และปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
ซาลิต เซ็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ใน 2557 เป็นปีแห่งหายนะสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ตกอยู่ในวังวนความรุนแรง การตอบสนองสงครามระดับโลกต่อความขัดแย้งและการปฏิบัติการโดยไม่ชอบทั้งรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ยังเป็นเรื่องน่าละอายและไม่เป็นผล ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับการทำร้ายและการปราบปรามที่ป่าเถื่อนมากขึ้น ประชาคมนานาชาติยังต้องมีบทบาทที่จำเป็น
"องค์การสหประชาชาติก่อตั้งเมื่อ70ปีก่อน เราจะต้องไม่เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเรากำลังเห็นความรุนแรงในวงกว้าง และเป็นวิกฤตใหญ่หลวงด้านผู้ลี้ภัยที่เป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านั้น ที่ผ่านมามีความล้มเหลวในการค้นหาทางออกเพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุดในยุคของเรา" เลขาธิการแอมเนสตี้ฯ กล่าว
ด้านรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้มีการออก ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างกฎหมายทรมานและสูญหายฯ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
“ทางเจ้าหน้าที่เองก็รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมากที่ต้องรับเรื่องพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่เองที่เป็นผู้ทรมาน ผู้ถูกกล่าวหา และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ ได้มอบหมายไปยังท่านวิษณุ เครืองาม เพื่อจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างดีทีสุด”รองอธิบดีกล่าว
นอกจากนี้ยังมีนางรอมือละห์ แซเยะ ภรรยานายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ(อันวาร์) อดีตนักข่าวอิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้ทำงานถึง 12 ปี ต้องคดีเมื่อ 2548 เป็นเหยื่อของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกกล่าวหาว่าเป็น อั่งยี่ ซ่องโจร(อ่านรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.org/journal/2013/05/46736)  ภรรยาของอันวาร์ เผยว่า ก่อนที่สามีจะถูกดำเนินคดี ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเชิญตัวอันวาร์ในลักษณะเหมือนเป็นญาติมานั่งทางข้าวที่บ้าน และกล่าวกับครอบครัวอย่างเป็นมิตรว่าจะมีการสอบปากคำเล็กน้อยจากนั้นจะปล่อยตัวกลับมา แต่ในที่สุดสามีตนกลายเป็นจำเลยสั่งคม โดยสื่อทุกสื่อทั้งสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ได้พิพากษาอันวาร์ว่าเป็นผู้ต้องหาผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี ตลอด 11 ปี จนถึงในปี 2552 ศาลอุธรณ์จึงได้สั่งยกฟ้องอันวาร์ แต่เมื่อในปี 2556 ศาลได้เรียกตัวสามีกลับไปเพื่อพิจารณาคดีตามศาลชั้นต้นอีกครั้ง
รอมือละห์ ยังเสริมว่า เมื่อตั้งข้อสังเกตอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ไม่เคารพคำตัดสินของศาล แต่ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ข้อกล่าวที่สามีตนได้รับไม่มีน้ำหนัก แต่หลังจากศาลตัดสินกลับเจ้าหน้าที่มาที่บ้านอีกครั้ง และกล่าวหาว่าสามีตนว่ามีส่วนในการสังหารพระภิกษุในพื้นที่ ทั้งที่อันวาร์ซึ่งอยู่ในเรือนจำไม่สามารถออกจากคุกไปก่อเหตุได้อีก ทั้งยังมีกรณีที่น้องชายตนนั้นถูกเรียกตัวไปจากที่ทำงาน ไม่มีการบอกให้ครอบครัวรับรู้ และได้มาทราบทีหลังว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับไป โดยได้รับคำพูดที่เจ็บปวดจากเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำอะไรผิดทางญาติก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดือดร้อนดิ้นรนตามหา
“เจ้าที่ขาดสามัญสำนึกอย่างรุนแรง ลองถอดชุดทหารแล้วกลายมาเป็นปุถุชน หากญาติพี่น้องลูกเมียหายตัวไปตัวทหารเจ้าหน้าที่จะยังนิ่งเฉยไม่ตามหาใช่หรือไม่ ไม่ว่าใครที่มารับรู้เรื่องราวของอันวาร์ ต้องเกิดคำถามว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน เราจะเชื่อมั่นอะไรได้อีก ไม่ใช่ว่าไม่เคารพศาล แต่หากศาลไม่ตัดสินอันวาร์เมื่อปี 2556 ในปี 2557 อันวาร์ก็ต้องโดนข้อกล่าวหาเรื่องใหม่อีก ไม่ว่าใครที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในแบล็คลิสต์ มันไม่มีความปลอดภัยหลงเหลือ ดังนั้นไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วเลือกที่จะหนีหายไปที่ไหนได้ ไปต่างประเทศก็ได้ ไปมาเลเซียก็ได้ ที่รู้สึกปลอดภัยแล้วอีกหลายปีค่อยกลับมา ความร่วมมือมันไม่เกิด เปิดปากปกป้องสิทธิ์ก็หาว่าต่อต้านไม่ทำตาม ศึกษาหาความรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองและครอบครัวก็ถูกมองว่าไม่รักชาติ และเราจะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้อย่างไร ได้โปรดส่งคืนความสุขความยุติธรรมให้เราเถอะค่ะ” รอมือละห์ กล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติ ดังนี้
กฎหมายด้านความมั่นคงในประเทศ
·        ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพรอดพ้นจากการควบคุมตัวโดยพลการ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การรวมตัวและการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการเดินทาง
·        ยุติการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการและประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนจะได้รับการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนของคณะตุลาการอย่างเป็นอิสระโดยทันที โดยเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวบุคคล
·        ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือนไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยที่มุ่งคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น
·        ฟื้นฟูสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที ปัจจุบันมาตรการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการใช้สิทธิเหล่านี้ กำลังทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว
·        แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติที่อนุญาตให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ การกำหนดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนต่อฐานความผิด และให้ชะลอการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
·        ยุติการเซ็นเซอร์เว็บไซต์โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
·        ถอนข้อกล่าวหาบุคคลใด ๆ ที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่านั้นโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
วิกฤตทางการเมือง
·        ให้มีการทบทวนถึงวิธีการที่ใช้เพื่อควบคุมฝูงชนระหว่างการเดินขบวนประท้วง และประกันว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติตามหลักสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง อย่างเช่น จรรยาบรรณของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการใช้กำลังเป็นวิธีการสุดท้าย และให้ใช้เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
·        ให้ประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยทันที อย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และในระหว่างการสอบสวน ให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว
·        ให้ประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเต็มที่
·        การปราบปรามต่อผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติลงโดยทันที และต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ การใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ มาตรการอื่นใดที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง และการขัดขวางไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ
·        ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก ทางหน่วยงานเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการประท้วงอย่างสงบ ทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และควรตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยโดยใช้ฐานความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และให้ดำเนินการผ่านศาลพลเรือน และดูแลให้กระบวนการยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยความเป็นธรรมระหว่างประเทศ
การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย
·        กำหนดข้อบัญญัติตามกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดด้านการทรมานอย่างชัดเจนตามนิยามที่กำหนดในอนุสัญญา
·        ให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้ายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ทางการ ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
·        ประกันการเยียวยาและชดเชยอย่างรอบด้านแก่เหยื่อและครอบครัวที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย
การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
·        ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลของความเป็นธรรม ไม่ให้สั่งลงโทษประหารชีวิต
·        ให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง หรือให้ยกเลิกไป
·        ในการนำมาตรการฉุกเฉินมาใช้นั้น ให้ใช้ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก้ไขข้อบัญญัติในพรก.ฉุกเฉินฯที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในสภาพการณ์ทั่วไป
·        ประกันว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และตามค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และมีการอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวทุกแห่ง
·        ให้หาทางสืบหาและแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีลไพจิตรและบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ
·        ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สัตยาบัน
ผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง
·        ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement)และประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนกรณีที่มีความเสี่ยงว่าต้องกลับไปเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศพม่าหรือลาว
·        ให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่ามีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับขับไล่เช่นนี้อีกในอนาคต
·        ให้เคารพต่อพันธกรณีที่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงอย่างจริงจัง และให้ได้รับการติดต่อกับ UNHCR และประกันว่าบุคคลที่หลบหนีจากภัยคุกคามจะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ
·        ให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในสภาพที่แออัดเป็นเวลานาน
·        ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol)
·        ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนงานพลัดถิ่น เพื่อประกันว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมจากการทำงาน มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ มีโอกาสได้พักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ และมีการจำกัดชั่วโมงทำงานอย่างชอบด้วยเหตุผล
·        ให้ยุติการละเมิดใด ๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ
โทษประหารชีวิต
·     ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
·     เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
·     ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

สมาคมนักเขียนสากล PEN ร้องปล่อย 2 นักแสดง 'เจ้าสาวหมาป่า'

PEN American Center


สมาคมนักเขียนสากล PEN เรียกร้องปล่อยตัวสองนักแสดงเจ้าสาวหมาป่า ชี้การจำคุกละเมิดกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ห่วงนักเขียน นักวิชาการ นักกิจกรรมในไทยเสี่ยงถูกคุกคาม-คุมขังจากการแสดงความเห็นอย่างสันติ
26 ก.พ. 2558 สมาคมนักเขียนสากล (PEN) ออกแถลงการณ์กรณีภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ สองนักแสดงเจ้าสาวหมาป่า ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยสมาคมนักเขียนสากล (PEN) ชี้ว่า การตัดสินจำคุกทั้งสองคนถือเป็นการละเมิดมาตรา 9 (สิทธิในกระบวนการยุติธรรม) และมาตรา 19 (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี
ทั้งนี้ PEN ยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
1. ปล่อยตัวนักแสดงทั้งสองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการแสดงของพวกเขาถือเป็นการแสดงออกโดยสันติ ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 19 ของ ICCPR
2. ย้ำถึงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเขียน นักวิชาการ และนักกิจกรรมในประเทศไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสันติ
3. เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา 112 เพื่อให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกตามกติกาสากลที่ไทยมีพันธะผูกพัน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ศาลอาญาพิพากษาจำคุก ปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) และภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) คนละ 5 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

 
ที่มา:
Thailand: Student activists sentenced for insulting the monarchy in a play

‘อานนท์ นำภา’ โดนอีก 5 กระทง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เตรียมรับทราบข้อกล่าวหาสัปดาห์หน้า

26 ก.พ.2558 นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิฯ โพสต์แจ้งในเฟซบุ๊กว่า พนักงานสอบสวนโทรแจ้งเขาว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ผู้สื่อข่าวสอบถามอานนท์ เขากล่าวว่า วันนี้เขาว่าความอยู่ต่างจังหวัด พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน โทรมาแจ้งว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกล่าวหาเขาเพิ่มอีก 5 กระทง ในความผิดมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาคาดว่าจะสามารถเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนได้ในสัปดาห์หน้า
“ผมไม่ได้กังวลใจอะไร ทหารคงใช้กฎหมายในการจัดการเพื่อหยุดความเคลื่อนไหว ก็คงต้องสู้กันไปตามระบบ ตามกระบวนการ ยืนยันว่าจะสู้คดีแบบฮิปสเตอร์ให้ถึงที่สุด” อานนท์กล่าว
มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ก.พ.พนักงานสอบสวนเรียกอานนท์เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม หลังจากเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.เรื่องการชุมนุมจากกรณีจัดกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลักเมื่อ 14 ก.พ. ในการให้ปากคำเพิ่มเติมนั้นในเวลาราว 4 ชั่วโมง โดยพนักงานสอบสวนนำข้อความในเฟซบุ๊กของ “อานนท์ นำภา” ปริ๊นท์ออกมา 20 หน้า A4  มีประมาณ 30 ข้อความ เป็นข้อความระหว่างวันที่ 9-14 ก.พ.และสอบถามว่าเป็นเฟซบุ๊กของอานนท์หรือไม่ แต่ละข้อความมีความหมายอย่างไร
สำหรับ พ.ท.บุรินทร์ เป็นทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. มีบทบาทในการจับกุมผู้ชุมนุมหรือนักกิจกรรมที่ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกหลายรายในช่วงหลังรัฐประหาร บางส่วนได้รับการปล่อยตัว บางส่วนถูกแจ้งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ยังเป็นผู้แจ้งความกับกองปราบฯ ในมาตรา 112 หลายกรณี เช่นกรณีของนายโอภาส, นางสาวจารุวรรณ เป็นต้น ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างสืบพยานในศาลทหาร และมี พ.ท.บุรินทร์ เป็นพยานโจทก์ คือ คดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ไม่มารายงานตัวของนายสิรภพ กรณ์อุรุษ ซึ่งในคดีดังกล่าวมีอานนท์ นำภา เป็นทนายความ 

ครั้งแรกในรอบ 24 ปี: ร่างรัฐธรรมนูญ ม.173 เปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก


ความคืบหน้าร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ถึงหมวดคณะรัฐมนตรี มาตรา 173 ตัดทิ้งข้อความ "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" เปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เทียบ รธน.ฉบับ รสช. และ รธน.ยุคเกรียงศักดิ์-เปรม ขณะที่เมื่อฟอร์มทีม ครม.ได้แล้ว นายกรัฐมนตรีต้องส่งรายชื่อให้วุฒิสภาสอบประวัติ - ก่อนเสนอชื่อ ครม. เพื่อกราบบังคมทูล
26 ก.พ. 2558 - ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 53-58 ระหว่างวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 - วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีระเบียบวาระการประชุมเป็นการพิจารณายกร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญ และมีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ของรัฐสภา (ดูเอกสารประกอบ) โดยในวันดังกล่าวเป็นการพิจารณาร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรายมาตราของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 4 คณะรัฐมนตรี มาตรา 173 - 184 มีรายละเอียดของการยกร่างที่สำคัญได้แก่
มาตรา 173 เปิดช่องนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
โดยที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในมาตรา 173 ระบุว่า
"มาตรา 173 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 พบว่าร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดในมาตรา 173 ได้ตัดข้อความที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งออก โดยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคสอง ระบุว่า "นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 172" โดยนับเป็นการถอยกลับไปใช้บทบัญญัติที่ใกล้เคียงกับที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 2521 และล่าสุดในรัฐธรรมนูญปี 2534 ยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้กำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่รัฐธรรมนูญล่าสุดห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคสอง กำหนดระยะเวลามากกว่านั้น คือระบุว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้"

วุฒิสภาจะประชุมเพื่อสอบประวัติ-ก่อนเสนอชื่อ ครม. เพื่อกราบบังคมทูล
มาตรา 176 ระบุว่า
"มาตรา 176 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีจะต้องนำชื่อผู้ซึ่งจะเป็นรัฐมนตรีส่งให้ประธานวุฒิสภา แล้วให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 132 วรรคสองต่อไป"
สำหรับมาตรา 132 ที่อ้างถึงในมาตรา 176 ระบุว่า
"มาตรา 132 เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และ พฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นในการที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนำความกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ให้วุฒิสภาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการเสนอนั้น มิได้ แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากนายกรัฐมนตรี"
มาตรา 177 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติรัฐมนตรี ระบุว่า
"มาตรา 177 รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 113 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (14) หรือ (15) หรือ (16)
(5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป เว้นแต่ในควำมผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(5/1) ไม่ได้แสดงสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อประธานวุฒิสภา ปกปิด หรือแสดงหลักฐานดังกล่าวอันเป็นเท็จ เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
(6) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี"
มาตรา 113 ตามที่อ้างถึงในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 177 เป็นลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยบางข้อความในมาตรา 113 นำมาใช้เป็นลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นรัฐมนตรีด้วย ระบุว่า
"มาตรา 113 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 111 (1) (2) หรือ (4)
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล"
"...(6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(8) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
(9) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมือง
(10) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(11) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี
(12) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(13) เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
(14) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 259
(15) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา 256 หรือมาตรา 257
(16) ลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา"

คณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อรัชทายาท-ผู้แทนพระองค์ก็ได้
มาตรา 178 ระบุว่า
"มาตรา 178 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อ พระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามวรรคหนึ่งต่อพระรัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ก็ได้”
ครม.ต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ-ความมั่นคง-แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภา
มาตรา 179 ระบุว่า
"มาตรา 179 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในเรื่องใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่
ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อน เพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้"
มาตรา 181 ได้เพิ่มข้อความให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ นโยบาบความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดเพียงให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตนเท่านั้น โดยในมาตรา 181 ที่เพิ่มเติมข้อความระบุว่า
"มาตรา 181 ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และต้องรับผิดชอบต่อ สภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี"