อัยการทหารขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องไม่ฟ้อง 3 ผู้ต้องหาเปิดศูนย์ปราบโกงเป็น 11 ส.ค. ชาวบ้านสูงวัยจากหนองบัวลำพูยืนยันสู้คดี เชื่อไม่ได้ทำสิ่งผิด บางคนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แกนนำอีสานระบุ ชาวอีสานโดนคดีจากเปิดศูนย์แล้วอย่างน้อย 14 ราย
21 ก.ค.2559 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จังหวัดอุดรธานี อัยการทหารนัดผู้ต้องหา 3 รายคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กรณีเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.หนองบัวลำภู ฟังผลการพิจารณาสั่งคดี
ทนายความจำเลยแจงว่า อัยการทหารขอเลื่อนฟังผลการพิจารณาสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 11 ส.ค.2559 เวลา 8.30 น.เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนคดีไม่แล้วเสร็จ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า จำเลยทั้ง 3 รายได้แก่ นายสนิท สมงาม, นายสุวาจิตร คำป้อง และนางจิตตรา จันปุย ซึ่งเป็น 3 คนที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี จากทั้งหมดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 15 คน เหตุเกิดจากกรณีที่กลุ่มสตรีศรีหนองบัวเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ที่ศาลาวัดในวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามคนที่มีรูปถ่ายกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ตามที่ทหารเข้าแจ้งความ รวม 15 รายซึ่งมีบางคนไม่อยู่ในภาพหรือในที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหา 12 คน รับว่าอยู่ร่วมในกิจกรรมจริง ตำรวจจึงส่งตัวเข้า ‘อบรม’ หรือปรับทัศนคติที่กองร้อยอาสารักษาดินแดงที่ 1 จ.หนองบัวลำภู โดยเซ็นเงื่อนไขว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก และถือว่าเป็นอันยกเลิกคดี ขณะที่อีก 3 คนให้การปฏิเสธเนื่องจากไม่ปรากฏในภาพถ่าย และไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ หลังเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนก็เรียกให้เข้าพบกะทันหันอีกในวันที่ 6 ก.ค. และนำตัวส่งอัยการศาล มทบ.24 โดยแจ้งผู้ต้องหาว่า ทหารเร่งรัดมา
ประชาไทสัมภาษณ์ผู้ต้องหาสูงวัยทั้ง 3 รายที่มาศาลทหารจังหวัดอุดรธานีในวันนี้
จิตตรา จันปุย
จิตตรา จันปุย วัย 61 ปี คนเสื้อแดงชาวหนองบัวลำภู อาชีพค้าขายในตลาดนัด เล่าเหตุการณ์ว่าเธอได้ร่วมอยู่ในกิจกรรมดังกล่าวจริง แต่เธอคิดว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ผิดกฎหมาย เนื่องจากจัดโดยเจตนาบริสุทธิ์์เพราะต้องการาณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เยอะๆ และเป็นการตรวจสอบเพื่อให้กระบวนการทำประชามติ 7 สิหาคมมีความโปร่งใส ถือเป็นการช่วยเหลือรัฐบาล
เมื่อถามเธอว่า ทราบหรือไม่ว่าข้อหาที่เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีมีโทษหนักแค่ไหน เธอบอกว่าไม่ทราบ ไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด
สนิท สมงาม คนเสื้อแดงชาวหนองบัวลำภู วัย 73 ปี อาชีพทำนา เล่าเหตุการณ์ว่า เขาไม่ได้อยู่ในกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากถูกเรียกตัวปรับทัศนคติก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีโดยถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่เบื้องหลังการจัดกิจกรรม
“ผมไม่ได้จัด แต่มวลชนจะจัด ผมบอกมวลชนว่าผมเปิดไม่ได้แล้วนะ ถูกเอาไปปรับทัศนคติแล้ว ทีนี้พวกคุณผู้หญิงก็บอกว่า ถ้าคุณไม่เปิด พวกฉันจะเปิด เขาเลยดำเนินการเปิดศูนย์ปราบโกงวันที่ 19 มิถุนายนได้ แต่ก็ยังโดนดำเนินคดี ข้อหาเป็นแกนนำหรือยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาหาว่าผมอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ไม่เข้าไปอยู่ที่นั่นหรือร่วมอะไร” สนิทกล่าว
สุวาจิตร คำป้อม อดีตผู้ใหญ่บ้านและหมอดินอาสา บ.นามะเฟือง ตำบลนามะเฟือง. อ. เมือง วัย 68 ปี อาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง
"บอกไม่ให้เปิดก็ไม่เปิด ในเมื่อขอกันแล้วก็จะไม่เปิด” สุวาจิตรกล่าว
สนิท สมงามสุวาจิตร คำป้อง
สุวาจิตรกล่าวว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ได้มีการประกาศเปิดศูนย์ปราบโกงขึ้นที่ ต. โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ตัวเขาก็ไม่ได้ไปร่วม วันนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ ร.ต.ท.ถาวร แสงพา ไปหาที่บ้าน และตำรวจคนดังกล่าวยังได้ต่อโทรศัพท์ให้เขาได้คุยกับ พ.ต.ท.อำนาจ ฉิมมา ซึ่งเมื่อได้คุยกันเขาก็ยืนยันว่าจะไม่ไปเข้าร่วม และเมื่อถูกสอบถามว่ามีใครเข้าร่วมบ้างก็ไได้บอกไปว่าไม่รู้ รุ่งขึ้น วันที่ 20 มิ.ย. ทาง ร.ต.ท. ถาวรได้นำหมายเรียกมาให้เขาไปพบที่ สภ.อ.เมืองเพื่อทำการสอบสวนแต่เช้า เขาไปตามหมายเรียกและนั่งรอทั้งวันก็ไม่ได้มีการสอบปากคำแต่อย่างใด จนถึงตอนเย็นจึงได้รับอนุญาตให้กับบ้าน ต่อมาวันที่ 21 มิ.ย. ร.ต.ท. ถาวร ได้นำหมายมาให้เพื่อให้เขากลับมาที่ สภ.อ. เมืองอีกครั้งจากนั้นจึงได้รับแจ้งข้อกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. มีการกระทำอันถือว่าเป็นการมั่วสุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
เมื่อถามว่าจะสู้คดีหรือไม่ สุวาจิตรวัย 68 ปี ยืนยันว่าจะต่อสู้คดี เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำผิด
“ในวันเกิดเหตุก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่กับเราตลอด แล้วก็ไม่รู้ว่าเอาข้อหามาให้เราได้อย่างไร กิจกรรมพ่อก็ไม่ได้ไปทำกับเขา”สุวาจิตกล่าว
ศักดิ์ระพี พรหมณ์ชาติ
ผู้สื่อข่าวสอบถาม ศักดิ์ระพี พรหมณ์ชาติ เลขาธิการ นปช. ภาคอีสาน 20 จังหวัด ซึ่งติดตามคดีจัดตั้งศูนย์ปราบโกงทั้งหมดในภาคอีสานว่ามีคดีจำนวนเท่าไร ศักดิ์ระพี ตอบว่า ปัจจุบันได้มีการแจ้งข้อหาแล้ว ที่จังหวัดสกลนคร 5 คน นครพนม 1 คน อุดรธานี 4 คน หนองบัวลำภู 3 คน สุรินทร์ 1 คน รวมเป็น 14 คน นอกจากนี้จากกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมามีคนเสื้อแดงในภาคอีสานถูกเรียกรายงานตัวทั้งสิ้นประมาณ 600 คน
ศักดิ์ระพี เป็น 1 ในผู้ต้องหาทั้งจากคดีเปิดศูนย์ปราบโกงจังหวัดสกลนคร และที่ กทม. กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุเขาอยู่ที่สถานี Peace TV ที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว กรุงเทพฯ แต่กลับโดนแจ้งข้อหาที่สกลนครด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนคนเสื้อแดงในพื้นที่ทำให้รู้ว่าเขาเป็นคนนำเสื้อและอุปกรณ์การทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงมาให้ จึงแจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนที่จังหวัดสกลนครด้วย
ศักดิ์ระพีกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ต้องให้เครดิตตำรวจในหลายพื้นที่ที่ไม่เอาเรื่องและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ก็เข้าใจได้ว่าหลายจังหวัดที่ดำเนินคดีกับชาวบ้านเป็นเพราะเกรงกลัวอำนาจรัฐ เพราะไม่อยากเดือดร้อนต้องถูกโยกย้าย