วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชาวบ้านบอก กสม. ดาวดินเข้ามา ทำให้เสียงเรามีความหมาย ไม่ใช่ปลุกระดม


ชาวบ้านที่เคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน เข้าให้ข้อมูลกับ กรรมการสิทธิฯ ระบุ ดาวดินไม่ได้เข้ามาปลุกระดม แต่เข้ามาให้เสียงชาวบ้านมีความหมาย ด้านแม่บาส LLTD ยันไม่มีใครอยู่เบื้องหลังลูก ด้านกสม. เตรียมประสานเรื่องการสอบตั๋วทนายของโรม LLTD และการสัมภาษณ์เข้าเรียนของ น้อย ดาวดิน
3 ก.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจiLaw รายงานว่า  เวลา 10.00 น. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ จัดประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงการจับกุมนักศึกษา จำนวน 14 คน โดยเชิญผู้ร่วมประชุม คือ ทีมทนายความของกลุ่มนักศึกษา ผู้แทนจากสภาทนายความ ชาวบ้านที่กลุ่มดาวดินเคยทำงานด้วย ผู้ปกครองของนักศึกษา และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ ของรัฐและทุน เช่น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านผู้ที่ได้รับกระทบจากเหมืองทอง อ.วังสะพุง จ.เลย, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดลัอมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม จ. ขอนแก่น ให้ข้อมูลเกี่ยวการทำกิจกรรมของนักศึกษา "กลุ่มดาวดิน" (กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม) ว่า เป็นกลุ่มที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านย้ำว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินไม่ใช่การปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน
ที่มาภาพจกา iLaw
ชาวบ้านกล่าวว่า ที่ผ่านมา เสียงของคนในพื้นที่ไม่มีความหมาย ซ้ำยังมีทหารและข้าราชการเข้ามาพบชาวบ้านบ่อยมากให้ยุติการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกังวลใจว่าการทำกิจกรรมในด้านสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าทำลายความมั่น คงของชาติ แต่ขอให้มองด้วยว่ากลุ่มนายทุนได้มาทำลายการดำรงชีวิตของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง และการกล่าวว่ากลุ่มเล็กๆ ควรเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้ชาวบ้านรู้สึกเสียใจและรู้สึกว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความหมายในสังคมเลย
ด้านผู้ปกครองของ รัฐพล ศุภโสภณ หรือบาส ยืนยันต่อกสม.ว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับพ่อไผ่ ดาวดิน และยืนยันว่าการจับกุมพวกเขาทั้ง 14 คน เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และผู้ปกครองและชาวบ้านยังถูกคุกคาม เช่น มีเจ้าหน้าที่ติดตาม ถ่ายรูป และเข้าไปพูดคุยอยู่ตลอด ซึ่งสร้างความไม่สบายใจเป็นอย่างมาก
ด้าน นพ.นิรันดร์ จะหาทางช่วยเหลือ ซึ่งปัญหาที่จะเร่งดำเนินการแก้ไข เช่น กรณี รังสิมันต์ โรม นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เตรียมจะสอบตั๋วทนายในปีนี้ แต่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ และทางสภาทนายความก็ไม่อนุมัติให้การมีการจัดสอบในเรือนจำ ซึ่ง นพ.นิรันดร์ จะติดต่อประสานกับ นายกสภาทนายความว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีกรณี 2 นักศึกษา ม.ขอนแก่น คือ 'อภิวัฒน์-ศุภชัย' หลังลาออกแล้วมาสอบใหม่ แต่ไปสัมภาษณ์ไม่ได้ นพ.นิรันดร์ จึงเตรียมส่งหนังสือเวียนให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยหาทางแก้ไข
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการพูดคุยมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบมาสังเกตการณ์ ซึ่ง นพ.นิรันดร์ ระบุว่าพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของกรรมการสิทธิฯ

จาตุรนต์ ชี้กรณี 14 น.ศ. แสดงว่ายังเข้าใจคำว่า "ปรองดอง" ไม่ตรงกัน ระบุไม่ควรปิดกั้นความเห็น


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก 'ความคืบหน้าการปรองดอง กับกรณี 14 นักศึกษา ชี้ถึงขั้นนี้แล้วไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็น แต่ควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้น
3 ก.ค. 2558 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ลงเฟซบุ๊ก 'ความคืบหน้าการปรองดอง กับกรณี 14 นักศึกษา ชี้ถึงขั้นนี้แล้วไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็น แต่ควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้น
โดยมีข้อเสนอถึงกระบวนการปรองดองที่มีเสนาธิทหารบกเป็นประธานว่า หากจะทำให้เกิดกระบวนการปรองดองขึ้นได้มีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ปรองดอง’ และ ‘กระบวนการปรองดอง’ ให้ตรงกันหรือใกล้เคียงกันเสียก่อน ที่ผ่านมามักมีการอธิบายจากภาครัฐแบบง่ายๆว่า ‘ปรองดอง’ คือทำยังไงก็ได้ให้คนที่ทะเลาะกันเลิกทะเลาะกัน
ส่วน ‘กระบวนการปรองดอง’ ก็มักมีการยกตัวอย่างว่าคือการจัดประชุมหารือ แข่งกีฬาและจัดกิจกรรมบันเทิงรวมกันสัก 4,000-5,000 ครั้งแล้ว ในขณะที่ผู้ทำงานปรองดองที่ไม่ใช่ภาครัฐกลับเห็นต่างอย่างมากคือเห็นว่า ยังไม่ตรงประเด็น จึงจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกมาก
ผู้ที่รับผิดชอบในศูนย์ปรองดองมีความตั้งใจทำงาน แต่ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันและจะต้องรีบแก้ คือ การที่ศูนย์ปรองดองและผู้รับผิดชอบบางคนถูกใช้ให้ไปหาทางทำให้ผู้ที่มักแสดงความเห็นต่างกับภาครัฐแสดงความเห็นให้น้อยลง ซึ่งขัดแย้งต่อหน้าที่ในการปรองดองที่ต้องประสานหลายๆฝ่ายให้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยความไว้วางใจและอย่างเท่าเทียมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง การใช้คนและองค์กรอย่างผิดฝาผิดตัวเช่นนี้นี้จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดอง
ทางที่ดีแล้ว มาถึงขั้นนี้ไม่ควรใช้มาตรการใดๆ ไปจำกัดการแสดงความเห็นแตกต่าง แต่ควรส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นมากขึ้นด้วยซ้ำ
หากต้องการให้เกิดการปรองดองขึ้นในสังคมไทยจริง จำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา รีบทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของความขัดแย้งก่อนการรัฐประหาร  ศึกษาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ รวมทั้งศึกษาว่า สิ่งที่แม่น้ำ 5 สายกำลังทำกันอยู่นี้ จะนำประเทศชาติไปสู่สภาวะอย่างไรแน่ จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารได้หรือไม่
ถ้าไม่มีการศึกษาทำความเข้าใจปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันให้ดี ในอนาคตเราอาจจะต้องประสบปัญหาอย่างเดิมหรือหนักกว่าเดิมก็ได้
พร้อมทั้งกล่าวโยงถึงกรณีนักศึกษา 14 คนว่า  ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษามาบ้างคิดว่า เยาวชนในโลกปัจจุบันควรได้รับการส่งเสริมให้รู้จักคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงออกและสนใจทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนมหาวิทยาลัยก็ควรมีเสรีภาพทางวิชาการจึงจะสามารถผลิตความรู้และคนที่มีคุณภาพได้ นักศึกษา 14 คนเป็นตัวอย่างของการกล้าคิดกล้าแสดงออกในสิ่งที่เห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อสังคม นอกจากนี้ยังได้แสดงถึงความยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อสิ่งที่นักศึกษาเหล่านี้ได้รับกลับกลายเป็นการถูกจับกุมคุมขัง ตั้งข้อหาร้ายแรงที่มีบทลงโทษสูงถึงขนาดจำคุกรวมกันถึง 10 ปี ทั้งยังต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ขัดกันกับทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับการศึกษาของเยาวชน
ในฐานะที่เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยข้อหาร้ายแรงเพียง เพราะการพูดเสนอให้มีการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี ผมเข้าใจดีว่า นักศึกษาที่ถูกคุมขังรวมทั้งญาติมิตรและประชาชนผู้สนใจจะรู้สึกว่า นักศึกษาเหล่านี้กำลังได้รับความไม่เป็นธรรมอย่างไร ยิ่งถ้ามีการบีบคั้นกลั่นแกล้งในเรือนจำ  ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมก็จะยิ่งมีมากขึ้น
“การถูกกล่าวหาว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลังหรือบงการอยู่ จากประสบการณ์ของผม การที่นักศึกษาที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวถึงขั้นยอมลำบากตามอุดมการณ์เพื่อบ้านเมืองจะถูกจูงจมูกจากใครเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆเลย  แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผม เรื่องจริงเป็นอย่างไรควรจะมีการตรวจสอบและพิสูจน์กันให้ชัดเจนต่อไป ไม่ใช่กล่าวหากันลอยๆ เพราะหากมีแต่การกล่าวหากันลอยๆ ก็จะกลายเป็นการพูดที่ทำให้เกิดความเกลียดชังเสียเปล่าๆ”
“การที่ผมเป็นผู้ที่ได้รับการขอให้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรองดองและกำลังจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมอยู่ กรณีนักศึกษา 14 คนกำลังจะมีผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการปรองดองไม่น้อยทีเดียว” นายจาตุรนต์กล่าวและว่า มีการศึกษาจำนวนมากพบว่า การที่ความขัดแย้งในสังคมทับถมมากขึ้นเรื่อยๆจนต้องมาหาทางปรองดองกันอยู่นี้ มีสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การใช้กฎหมายโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ขณะนี้ทางการเสนอว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ ขณะเดียวกันก็มีการปฏิเสธว่า การใช้มาตรา 44 นิรโทษนักศึกษา 14 คน ไม่สามารถทำได้ ทั้งๆที่นักศึกษาและผู้สนับสนุนทั้งหลายก็ไม่ได้เสนอให้มีการนิรโทษแต่อย่างใด ควรจะมีการพิจารณาว่า  อย่างไรเป็นไปตามหลักนิติธรรม และอย่างไรไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
คำว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ นั้นฟังดู ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิด แต่ ‘กฎหมาย’ ที่ว่านั้น จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม คือ มีที่มาที่ชอบธรรมและมีเนื้อหาที่เป็นธรรมด้วย   ต้องไม่ลืมว่า ในระบบปัจจุบัน คสช.และบุคคล คือกฎหมาย จะสั่งอะไรก็เป็นกฎหมายไปหมด การที่เยาวชนนักศึกษาต้องขึ้นศาลทหารจะบอกว่า เป็นไปตามกฎหมายก็ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายปรกติ  หากเกิดจากคำสั่งคสช.  ดังนั้นคำว่า ‘กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย’ จึงไม่แน่เสมอไปว่า จะสอดคล้องกับหลักนิติธรรม นอกจากนั้นการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ ก็ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย
สำหรับการเสนอให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษนักศึกษาซึ่งทางการก็ได้ปฏิเสธไปแล้วนั้น   ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่ความประสงค์ของนักศึกษาหรือผู้สนับสนุนนักศึกษาแต่อย่างใดเลย หากทำไปก็จะเกิดการตีความที่สับสนวุ่นวายเสียเปล่าๆ
ความจริงการจะปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ทำ ‘กฎหมายให้เป็นกฎหมาย’ ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม คำสั่งอะไรที่ไม่ชอบธรรมก็แก้เสีย ไม่ตั้งข้อหาที่ร้ายแรงเกินกว่าเหตุ ไม่ใช้เวลาสอบสวนให้นานเกินความจำเป็น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องขอฝากขังให้ยืดเยื้อต่อไป ทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องนิรโทษใครแต่อย่างใดเลย
การใช้กฎหมายอย่างสอดคล้องกับหลักนิติธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งและไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง

ผบ.ทบ.กำชับทหารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่


ผบ.ทบ.กำชับผู้บังคับหน่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล ป้องกันการบิดเบือนข้อมูลสร้างความเข้าใจผิด ด้าน รมว.มหาดไทย ย้ำรัฐบาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับกลุ่มนักศึกษา
 
3 ก.ค. 2558 พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผย ผลการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ประจำเดือนกรกฎาคม ว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก  ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชน  จึงกำชับให้ผู้บังคับหน่วยกำกับดูแลงานตามนโยบายเหล่านั้น ให้เดินหน้าตามวัตถุประสงค์ และกรอบระยะเวลาที่กำหนด
 
“โดยเฉพาะเรื่องการสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาล ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ดำรงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการ และมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดี บิดเบือนข้อมูลและสร้างความเข้าใจผิด” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว
 
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า  ผู้บัญชาการทหารบกยังสั่งการให้ทุกหน่วยศึกษาในสาระสำคัญ ทำความเข้าใจนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2558-2564 และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงต่อไป รวมทั้ง เตรียมความพร้อมของกองทัพบก ในเรื่องการฝึกตามวงรอบ การฝึกการเรียนการสอนภายในหน่วย (Unit school) รวมทั้ง การจัดการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับการฝึกต่างๆ เพื่อปรับมาตรฐานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
“ผู้บัญชาการทหารบกขอให้ทุกหน่วยปฏิบัติงานให้เกิดผลที่ดีที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2558 เพื่อพัฒนากองทัพบกให้มีความก้าวหน้า ทำงานทันต่อเวลา ตอบสนองต่อภารกิจที่รัฐบาลและคสช.ที่สำคัญให้ระลึกเสมอว่างานที่ได้ปฏิบัตินั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม” รองโฆษกกองทัพบก กล่าว
 
 
รมว.มหาดไทย ย้ำรัฐบาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับกลุ่มนักศึกษา
 
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง ข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลพิจารณาปล่อยตัว 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกควบคุมตัว ว่า เราถือว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ หากเคลื่อนไหวโดยไม่มีอะไรแอบแฝง แต่เมื่อสืบสวนแล้วพบว่าเคลื่อนไหวจากการจัดตั้ง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
 
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีการอนุญาตให้ประกันตัว เพื่อปล่อยตัวออกมาได้ ไม่ได้กักไว้ แต่กลุ่มนักศึกษาเลือกที่จะไม่ประกันตัวออกมา ดังนั้น ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
 
“อยากสร้างความเข้าใจว่า เรื่องนี้มีปัญหากันอยู่เดิม รัฐบาล คสช.เข้ามาหยุดสถานการณ์และภาวะที่เดินไม่ได้ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจึงไม่ใช่คู่กรณีกับเรื่องนี้ เรื่องของเรื่องคือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในประเทศ และไม่สามารถหาทางออกได้ เมื่อเราเข้ามาหยุดสถานการณ์ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เลือกตั้งกัน ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง วอน คสช. หยุดการข่มขู่คุกคามคณาจารย์


3 ก.ค.2558 เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรื่อง หยุดการข่มขู่คุกคามคณาจารย์ โดยระบุว่า การลงนามในแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์ฯ ฉบับที่ 1 ได้ส่งผลให้คณาจารย์จำนวนหนึ่งถูกข่มขู่คุกคามจากทหาร สันติบาล และตำรวจทั้งในรูปของการเรียกตัวไปพบ การเข้าพบเป็นรายบุคคลและหมู่คณะ และการโทรศัพท์ ให้ระงับการสนับสนุนกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา และการเคลื่อนไหวในลักษณะอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับว่าเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายคณาจารย์ฯ จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. รัฐบาลและ คสช. ยุติการข่มขู่คุกคามคณาจารย์ไม่ว่าด้วยวิธีการใดในทันที หากรัฐบาลและ คสช. ประสงค์จะพบปะหารือกับคณาจารย์ที่ลงนามในแถลงการณ์ก็ให้แจ้งความจำนงมายังเครือข่ายคณาจารย์ฯ เพื่อเครือข่ายคณาจารย์ฯ จะได้พิจารณาการพบปะหารือในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป
2. หากรัฐบาลและ คสช. ยังไม่ยุติพฤติกรรมดังกล่าว เครือข่ายคณาจารย์ฯ จะพิจารณาเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อสอบถามเหตุผลและเรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมดังกล่าวต่อไป

องค์กรสิทธิ ตปท. จี้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักศึกษา-เคารพกติการะหว่างประเทศ


โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชี้การควบคุมตัวนักศึกษา 14 คน และการข่มขู่ คุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการละเมิดสิทธิรุนแรง เรียกร้องให้เขียนจดหมายถึงทางการไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษา-เคารพกติการะหว่างประเทศ
 
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมาโครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OMCT) ออกข้อเรียกร้องเร่งด่วน (Urgent Appeal) เกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการข่มขู่ คุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้เขียนจดหมายถึงทางการไทยให้ปล่อยตัวนักศึกษาเคารพกติการะหว่างประเทศ
 
ประเทศไทย: การควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และการข่มขู่และคุกคามทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กรณี น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ
 
การรณรงค์เร่งด่วน – โครงการ The Observatory
URGENT APPEAL - THE OBSERVATORY
THA 002 / 0715 / OBS 055
การคุกคาม / การควบคุมตัวโดยพลการ /
การคุกคามกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทย
2 กรกฎาคม 2558
 
โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) เป็นโครงการร่วมของสมาคมต่อต้านการทรมานโลก (World Organization Against Torture - OMCT) และ สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights - FIDH) ขอให้ท่านกรุณาปฏิบัติการเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยดังต่อไปนี้
 
ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์
 
โครงการ Observatory ได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่ามีการควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ [i] ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม นายวสันต์ เสกสิทธิ์ นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายรัฐพล ศุภโสภณ นายศุภชัย ภูคลองพลอย นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชา พิทังกร นายปกรณ์ อารีกุล นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายพรชัย ยวนยี และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว และการข่มขู่และคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริทนายความสิทธิมนุษยชนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [ii] น.ส. ศิริกาญจน์ยังเป็นหนึ่งในคณะทนายซึ่งเป็นตัวแทนของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว14 คน           
   
ตามข้อมูลที่ได้รับ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนักเคลื่อนไหวทั้ง 14 คนตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ พวกเขาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (‘ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง') หากศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง นักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดปี นอกจากนั้น ยังอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558  
         
เวลาเที่ยงคืนครึ่งของวันที่ 27 มิถุนายน 2558 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ฝากขังนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนเป็นเวลา 12 วัน (สามารถขยายระยะเวลาการฝากขังได้ไม่เกิน 48 วันโดยต้องมีการขอต่อศาลทุก 12 วัน) ชายทั้ง 13 คนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 7 กรกฎาคม ศาลทหารกรุงเทพจะพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาการฝากขังหรือปล่อยตัวไป  
           
น.ส.ศิริกาญจน์และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ อีกเจ็ดคนที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่และให้ความช่วยเหลือนักศึกษาทั้ง 14 คนในฐานะทนายความ ณ สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังและศาลทหารกรุงเทพ   
           
ภายหลังการพิจารณาคดีเสร็จไม่นาน เจ้าพนักงานตำรวจกว่าสิบนายที่บริเวณศาลทหารกรุงเทพรวมทั้ง พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ของ น.ส.ศิริกาญจน์ เพื่อค้นหาโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน เมื่อ น.ส.ศิริกาญจน์ปฏิเสธไม่ให้ค้นรถเนื่องจากตำรวจไม่มีหมายศาล และยังมีกฎหมายคุ้มครองเป็นพิเศษต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความและการรักษาความลับของลูกความ แต่ตำรวจได้ทำการล็อกล้อรถของ น.ส.ศิริกาญจน์โดยพลการ และยังนำกระดาษขนาด A4 และใช้กระดาษกาวปิดผนึกบริเวณที่จับประตูรถทั้งสี่ด้าน และนำแผงเหล็กมากั้นรอบคันรถ กลุ่มทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเกรงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของ ๆ ลูกความรวมทั้งคอมพิวเตอร์และแฟ้มเอกสารของทนายความออกจากในรถ พวกเขาจึงตัดสินใจพักค้างคืนในบริเวณนั้นเพื่อเฝ้ารถ
 
เวลา 12.45 น.ของวันเดียวกัน น.ส.ศิริกาญจน์ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเอาผิดกับเจ้าพนักงานในฐานะ 'ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ' ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่มีการยึดรถยนต์ของเธอไว้อย่างผิดกฎหมาย ยังไม่ทันที่ตำรวจจะรับแจ้งความ ตำรวจอีกทีมหนึ่งได้มาถึงบริเวณที่จอดรถตอน 15.30 น.พร้อมกับหมายค้นจากศาลและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำการตรวจค้นรถ  
            
เมื่อมีการแสดงหมายค้น น.ส.ศิริกาญจน์จึงยินยอมเปิดรถยนต์ สิ่งของที่พบในรถประกอบด้วยแฟ้มเอกสารของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของทนายความ และสิ่งของที่เป็นสมบัติของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวรวมทั้งโทรศัพท์มือถือห้าเครื่องที่เป็นของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอาไว้ ระหว่างที่การตรวจค้นยังไม่สิ้นสุด ตำรวจนายหนึ่งได้นำโทรศัพท์มือถือห้าเครื่องออกไปจากที่เกิดเหตุ อีก 15 นาทีต่อมา ตำรวจได้นำโทรศัพท์มือถือทั้งห้าเครื่องกลับมาและนำบรรจุในซองพร้อมกับปิดผนึก จากนั้นมีการนำซองหลักฐานไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ     
       
ประมาณ 18.00 น. น.ส.ศิริกาญจน์กลับไปที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามที่กรุงเทพ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับพล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 และเจ้าหน้าที่ตำรวจรายอื่น ๆ ในข้อหา “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” น.ส.ศิริกาญจน์ และเจ้าหน้าที่คนอื่นของสำนักงานได้รับเชิญให้เข้าไปในห้องของสารวัตรสอบสวน และได้รับแจ้งว่าตำรวจมีอำนาจในการค้นรถ และบอกว่าถ้าน.ส.ศิริกาญจน์จะแจ้งความ ตำรวจก็จะแจ้งความกลับเช่นกัน แม้จะถูกคุกคามเช่นนี้ ในเวลา 23.00 น. น.ส.ศิริกาญจน์ตัดสินใจที่จะแจ้งความในข้อหา ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ และตำรวจยอมรับการแจ้งความในที่สุด 
             
ในวันที่ 28 มิ.ย. พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่าพบหลักฐานสำคัญในรถของ น.ส.ศิริกาญจน์ และตำรวจอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับเธอหรือไม่ เป็นการให้สัมภาษณ์ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานยังไม่ได้เปิดซองเพื่อตรวจโทรศัพท์มือถือที่ยึดมา เนื่องจากมีกำหนดการตรวจหลักฐานในวันที่ 29 มิ.ย.2558 และต้องรอให้ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมเป็นพยานระหว่างการเปิดซองที่มีโทรศัพท์ทั้งห้าเครื่อง   
            
สุดท้ายในวันที่ 29 มิ.ย. ตำรวจได้ไปพบพ่อแม่ของ น.ส.ศิริกาญจน์ที่บ้าน และขอให้แม่ดูภาพถ่ายหลายใบของ น.ส.ศิริกาญจน์ และสอบถามประวัติความเป็นมาของลูกสาว   
        
โครงการ Observatory ขอประณามอย่างยิ่งต่อการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน รวมทั้งการคุกคามและข่มขู่ต่อ น.ส.ศิริกาญจน์ ซึ่งมีเป้าหมายเพียงเพื่อแทรกแซงการทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ชอบธรรม
 
โครงการ Observatory เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คน ให้ยุติการข่มขู่และคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์ และให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
 
ปฏิบัติการของท่าน :
กรุณาเขียนจดหมายถึงทางการไทย เพื่อร้องขอให้พวกเขา:
 
1. ปล่อยตัวนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามกระบวนการยุติธรรมต่อพวกเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทย
 
2. ประกันให้มีการคุ้มครองความมั่นคงทางร่างกายและจิตใจไม่ว่าในสภาพการณ์ใด ๆ ของนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหว 14 คนและ น.ส.ศิริกาญจน์ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทย
 
3. ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งคุ้มครองความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ และคุ้มครองไม่ให้มีการแทรกแซงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ
 
4. สั่งให้มีการสอบสวนกรณีการคุกคาม น.ส.ศิริกาญจน์โดยทันที อย่างรอบด้าน และอย่างไม่ลำเอียง ทั้งนี้เพื่อจำแนกผู้รับผิดชอบ ให้นำตัวขึ้นศาลและให้นำบทลงโทษทางอาญา ทางแพ่ง และหรือทางปกครองมาใช้ตามความเหมาะสม
 
5. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
 
6. ประกันว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมจะไม่เป็นเหตุนำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา
 
7. ยุติการฟ้องร้องและดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ศาลทหารกับพลเรือน กรณีที่ศาลพลเรือนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
 
8. ปฏิบัติตามข้อบัญญัติในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งมีการรับรองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 โดยเฉพาะข้อ 1 ซึ่งระบุว่า "บุคคลทุกคนมีมิทธิ โดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นที่จะส่งเสริมและต่อสู้เพี่อให้เกิดการคุ้มครอง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ" รวมถึงข้อที่ 12.2 ซึ่งระบุว่า "รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันให้มีการคุ้มครองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก่บุคคลทุกคน โดยลำพังหรือโดยร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้พ้นจากความรุนแรง การข่มขู่ การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติทั้งในทางพฤตินัยหรือนิตินัย การกดดัน หรือการปฏิบัติโดยพลการอื่นใด ที่เป็นผลจากการที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามที่อ้างถึงในปฏิญญานี้" 
 
9. ประกันให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในทุกสถานการณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง
 
 
____________
 
[i] ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นองค์กรรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตย ให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร และให้เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีหลักการสำคัญห้าประการ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี
[ii] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหารปี 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับพลเรือนที่ถูกจับกุมและ/หรือถูกฟ้องคดีโดยทหาร และทำหน้าที่สังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหารและการละเมิดสิทธิซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย แม้จะก่อตั้งมาได้เพียงปีเศษ ๆ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2557
 
 
ที่มา:

‘ปณิธาน’ เผยรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย


3 ก.ค.2558 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง ข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลพิจารณาปล่อยตัว 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกควบคุมตัว ว่า เราถือว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ หากเคลื่อนไหวโดยไม่มีอะไรแอบแฝง แต่เมื่อสืบสวนแล้วพบว่าเคลื่อนไหวจากการจัดตั้ง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทราบว่ามีการอนุญาตให้ประกันตัว เพื่อปล่อยตัวออกมาได้ ไม่ได้กักไว้ แต่กลุ่มนักศึกษาเลือกที่จะไม่ประกันตัวออกมา ดังนั้น ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
“อยากสร้างความเข้าใจว่า เรื่องนี้มีปัญหากันอยู่เดิม รัฐบาล คสช.เข้ามาหยุดสถานการณ์และภาวะที่เดินไม่ได้ คสช.และรัฐบาลปัจจุบันจึงไม่ใช่คู่กรณีกับเรื่องนี้ เรื่องของเรื่องคือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในประเทศ และไม่สามารถหาทางออกได้ เมื่อเราเข้ามาหยุดสถานการณ์ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เลือกตั้งกัน ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
‘ปณิธาน’ เผยรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น
วันเดียวกัน ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนของกลุ่มนักศึกษาว่า อยากให้นักศึกษาและรัฐบาลพูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในส่วนรัฐบาลต้องใช้เวลาในการทำงาน แต่ก็เข้าใจนักศึกษาว่าต้องการประชาธิปไตย แต่ควรทำตามกรอบกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องระวัง รัฐบาลไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น และเวลานี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะมีการจัดกิจกรรมโพสต์อิสรภาพฟรีดอม ที่จะมีขึ้นเย็นวันนี้ (3 ก.ค.) บริเวณสกายวอล์ค สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ มีมาตรการดูแลอย่างไร ปณิธาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปดูในพื้นที่ว่าจะสามารถยืดหยุ่นและพูดคุยกันได้มากน้อยแค่ไหน ฝ่ายรัฐบาลไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้น แต่ทางรัฐบาลเองก็ต้องรักษากฎหมายและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ ซึ่งสิ่งอันไหนยืดหยุ่นได้ก็จะทำ อันไหนที่มีความล่อแหลมและกระทบต่อเสถียรภาพต่อประเทศ ก็คงยอมไม่ได้
“รัฐบาลยืนยันอีกครั้งว่า ตอนนี้มีนโยบายเปิดพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น และอยากฝากไปถึงประชาชนว่ารัฐบาลก็มีความยืดหยุ่น แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายด้วย เพราะหน้าที่หลักของรัฐบาลคือการรักษาความสงบภายในประเทศ” ปณิธาน กล่าว

พลเมืองโต้กลับ จัด #โพสต์อิสรภาพ ร้อง "ปล่อยเพื่อนเรา"




3 ก.ค. 2558 กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่คลิปวิดีโอชื่อ "เพราะเราคือเพื่อนกัน" ชวนร่วมกิจกรรม "โพสต์อิสรภาพ" วันนี้ เวลา 18.00 น. บริเวณสกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อเขียนความในใจ ถึงนักศึกษา นักกิจกรรม กลุ่มดาวดิน และกลุ่มหน้าหอศิลป์ ที่รวมตัวในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" จำนวน 14 ราย ถูกฝากขังที่ศาลทหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา
17.40 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและสกายวอล์คสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ มีการนำรั้วมากั้นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ แต่ยังเปิดทางให้สัญจร ทั้งสกายวอล์คและหน้าหอศิลป์ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบตรึงกำลังตามจุดต่างๆ
เวลาประมาณ 18.00 น. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ น.ศ.รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เริ่มแจกโพสต์อิท พร้อมแจ้งว่าจะทำกิจกรรมถึง 20.00 น.และขอความร่วมมืออย่าเข้าไปในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้น จากนั้นนำร้องเพลง บทเพลงของสามัญชนและแสงดาวแห่งศรัทธา ด้านผู้เข้าร่วมทยอยเขียนและแปะโพสต์อิท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามจุดต่างๆ มีประชาชนจับกลุ่ม บ้างร้อง "เธอได้ยินผู้คนร้องไหม" บ้างจับกลุ่มตะโกนแสดงตัวว่า "เราอยู่เบื้องหลังนักศึกษา" "เราคือเพื่อนกัน" "ปล่อยเพื่อนเรา"

"เข้าไปแปะไม่ได้ มาแปะบนตัวผมได้" จ่านิว สิรวิชญ์ กล่าว

สุณัย ผาสุข จากฮิวแมนไรท์วอทช์ ร่วมสังเกตการณ์

 

สิรวิชญ์ให้สัมภาษณ์สื่อระบุว่า อยากให้ประชาชนทั่วไปและสื่อฯ มาให้กำลังใจนักศึกษา ส่วนที่จะทำกิจกรรมถึง 2 ทุ่มนั้น ไม่ได้คุยหรือต่อรองกับเจ้าหน้าที่ คือจัดเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนนี้ (18.30น.) เจ้าหน้าที่ยังไม่มีทีท่าจะเข้าขัดขวางกิจกรรม
เวลา 19.00น. นิว สิรวิชญ์ ย้ำผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้สลายตัวตอน 2 ทุ่ม ขณะนี้ร้องเพลง "เพื่อมวลชน" ก่อนนำตะโกน "ปล่อยนักศึกษาๆๆ"
19.15 น. นิว สิรวิชญ์บอกอีกครั้งว่า อย่าล้ำเส้นที่ จนท. กั้น ก่อนตะโกน "อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของประชาชนจะยังอยู่ตลอดไปใช่ไหมครับ"
"เบื้องหลังที่แท้จริงอยู่ตรงนี้ใช่ไหมครับ"
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตอบว่า "ใช่"
19.28 น. นิว สิรวิชญ์ ประกาศสลายตัวแล้ว ระบุพบกันใหม่ วันที่ 6 ก.ค.หน้ากำแพงประวัติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ ด้านประชาชนที่เข้าร่วมเริ่มแยกย้ายกลับ

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ระบุ มาให้กำลังใจนักศึกษา


กิจกรรมครั้งถัดไป