16 มิ.ย.2557 เครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกแถลงการณ์เรื่อง
“สนับสนุนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ปกป้องสิทธิของผู้บริโภค” กรณีเทเลนอร์เปิดเผยข้อมูลว่ามีคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พ.ค. โดยระบุขอบคุณสิ่งที่เทเลนอร์และดีแทคทำ ชี้เป็นการรับผิดชอบกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 10 ล้านรายในประเทศไทยที่บริษัทดูแล ชี้เทเลนอร์ควรภูมิใจและยืนยันในหลักการของสิ่งที่ได้ทำไป ขณะที่ กทค.รวมถึงกสทช.ต้องกลับมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ยืนยันสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในทุกช่องทางที่กทค.และ กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมาย
"เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าได้ การปฏิรูปประเทศไม่สามารถทำได้โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงลำพัง สังคมที่เป็นสุขและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยประชาชนและองค์กรธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลช่วยขับเคลื่อน การทุจริตคอรัปชันในทุกส่วนของสังคมลดลงได้ ถ้าเราเพิ่มความโปร่งใสและความตรวจสอบเอาผิดได้ในส่วนที่เรารับผิดชอบ นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เทเลนอร์และดีแทคได้ทำและเราขอขอบคุณ" เครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุ
รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้
แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต
“สนับสนุนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ปกป้องสิทธิของผู้บริโภค”
เป็นความคาดหวังของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมทุกคนที่จะได้รับการประกันว่า บริการที่พวกเขาใช้ติดต่อหากันทั้งเรื่องธุรกิจและชีวิตส่วนตัวนั้นสามารถเชื่อถือและพึ่งพาได้ กล่าวคือ สะดวกรวดเร็ว ใช้ได้ในทันทีที่ต้องการ ไม่ติดขัด และปลอดภัย ผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมแข่งขันและสร้างสรรค์บริการต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นบนพื้นฐานความคาดหวังเหล่านี้ของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็มีพันธะในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการให้ความร่วมมือกับผู้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเท่าที่ทำได้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
แม้การปิดกั้นหรือแทรกแซงการสื่อสารจะเป็นมาตรการที่ละเมิดสิทธิ แต่ก็อาจยกเว้นให้ผู้บังคับใช้กฎหมายกระทำได้ ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ชอบธรรมซึ่งสอดคล้องกับประโยชน์ในทางกฎหมายที่สำคัญและมีความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการอื่นบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันได้อีกแล้ว และจะต้องผ่านการวินิจฉัยของหน่วยงานตุลาการ มีขอบเขตและกรอบเวลาที่ชัดเจน ได้สัดส่วนกับจุดประสงค์ ทำด้วยความโปร่งใส ติดตามตรวจสอบได้ มีกลไกเอาผิดและเยียวยา
การปิดกั้นเฟซบุ๊กเมื่อ 28 พ.ค. 2557 เป็นการใช้อำนาจเกินสัดส่วนและไม่รับผิดชอบ
การเข้าถึงเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมไม่ได้ในระหว่างเวลาประมาณ 15.30 น. ถึง 16.30 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ เห็นได้จากเสียงบ่นร้องทุกข์ที่ปรากฏในทุกสื่อ ข้อมูลปรากฏภายหลังว่า สาเหตุที่เข้าถึงไม่ได้ เนื่องจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นตามคำร้องขอจากทางการ
แม้รัฐอาจอ้างเหตุผลว่ามีเนื้อหาบางส่วนในสื่อสังคมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่การปิดกั้นการเข้าถึงทั้งเว็บไซต์เป็นมาตรการที่เกินสัดส่วน กระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้มีธุรกิจจำนวนมากเปิดร้านบนเฟซบุ๊ก ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ ผู้คนจำนวนมากติดต่อครอบครัวผ่านเฟซบุ๊กและไลน์ ชั้นเรียนใช้กลุ่มบนเฟซบุ๊กในการเรียนการสอน สื่อสังคมยังเป็นช่องทางติดต่อกับหน่วยงานรัฐและการบรรเทาสาธารณภัย
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังชี้แจงว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัญหาทางเทคนิค แต่ภายหลังมีผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายหนึ่งแถลงยอมรับว่ามีการร้องขอจากทางการของไทยให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กในวันดังกล่าวจริง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการพยายามใช้อำนาจของรัฐโดยไม่ต้องการมีความรับผิด
เทเลนอร์ทำถูกต้องแล้ว หยุดลงโทษการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ผู้ประกอบการดังกล่าวคือบริษัทเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อทางการค้า “ดีแทค” การแถลงนั้นเป็นไปหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม Telecommunications Industry Dialogue ที่เทเลนอร์เป็นสมาชิก ซึ่งระบุว่าองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องสื่อสารถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของตัวเอง ให้ผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความรับผิด โดยหลักการนี้อ้างอิงกับหลักปฏิบัติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม หลังพยายามคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้บริโภคเท่าที่ตัดสินใจว่าพอจะทำได้ภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร นั่นคือได้ดำเนินการปิดกั้นตามคำร้องขอของทางการแล้ว จากนั้นจึงเปิดเผยว่ามีการร้องขอจริง เทเลนอร์กลับถูกประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งมีภาระหน้าที่ในคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมด้วย กล่าวหาว่า “ไร้มารยาท” โดยประธานกทค.ไม่ได้ปฏิเสธคำยืนยันเรื่องการร้องขอ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าจะพิจารณามาตรการ “ลงโทษ” การประกอบธุรกิจของบริษัทในลักษณะดังกล่าว
เครือข่ายพลเมืองเน็ตตระหนักว่าปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการประกอบกิจการด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นกิจการโทรคมนาคม กระจายเสียง สิ่งพิมพ์ และอื่นๆ เนื่องจากกลไกคุ้มครององค์กรธุรกิจที่ประกอบกิจการอย่างชอบธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และคุ้มครองผู้บริโภค ที่เคยมีในภาวะปกติ หายไปหรือไม่ทำงาน อีกทั้งกฎอัยการศึกยังให้อำนาจที่ไม่ต้องมีความรับผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ
สิ่งที่เทเลนอร์ได้ทำเป็นการรับผิดชอบกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 10 ล้านรายในประเทศไทยที่บริษัทดูแล เทเลนอร์ควรภูมิใจและยืนยันในหลักการของสิ่งที่ได้ทำไป กทค.รวมถึงกสทช.ต้องกลับมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ยืนยันสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในทุกช่องทางที่กทค.และกสทช.มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมาย ซึ่งทางหนึ่งก็คือการคุ้มครององค์กรธุรกิจที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ไม่ใช่การลงโทษ
ปฏิรูปประเทศด้วยความโปร่งใส ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าได้ การปฏิรูปประเทศไม่สามารถทำได้โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงลำพัง สังคมที่เป็นสุขและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยประชาชนและองค์กรธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลช่วยขับเคลื่อน การทุจริตคอรัปชันในทุกส่วนของสังคมลดลงได้ ถ้าเราเพิ่มความโปร่งใสและความตรวจสอบเอาผิดได้ในส่วนที่เรารับผิดชอบ นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เทเลนอร์และดีแทคได้ทำและเราขอขอบคุณ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
16 มิถุนายน 2557