วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

สัมภาษณ์สุรีรัตน์ ตรีมรรคา: แช่แข็งหลักประกันสุขภาพ ถอยหลังระบบสาธารณสุข?

ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงและยังไม่ได้ข้อยุติจนถึงขณะนี้ ก็คือ เรื่องของจำนวนเงินที่จะจ่ายเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพในปีงบประมาณ 2558
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า สำนักงบประมาณเสนอต่อ คสช.ให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2558 ไว้เท่าเดิมคือ 2,895 บาทต่อหัว ในขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขอเพิ่มเป็น 3,060 บาทต่อหัว ตามภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการ และค่าแรงของผู้ให้บริการ โดยระบุว่าการคงค่าเหมาจ่ายต่อหัวจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพขาดงบประมาณ รวมแล้วกว่า 23,184 ล้านบาท
เสียงคัดค้านการคงค่าเหมาจ่ายต่อหัว หรือการ ‘แช่แข็ง’ งบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพมีมาจากหลายฝ่าย และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านการแช่แข็งดังกล่าว ประชาไท สัมภาษณ์ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของไทย รวมไปถึงประเด็นร้อนเรื่องการแช่แข็งงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นี้ และโอกาสที่ระบบหลักประสุขภาพของไทยจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาและผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2558

ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของไทยมีปัญหาอะไรบ้าง
ปัญหาหลักตอนนี้เป็นการขาดแคลนหมอ พยาบาล และบุคลากร ที่ขาดแคลนเพราะการบริหารจัดการ บุคลากรไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลในตัวเมืองในจังหวัด และไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน การกระจายหมอและบุคลากรอื่นๆ ไปในโรงพยาบาลในอำเภอมีน้อยมาก แต่ระบบโครงสร้าง อาคาร โรงพยาบาล หน่วยบริการปฐมภูมิของเรา มีไปถึงระดับตำบล แต่ไม่ค่อยมีคนให้บริการ
สาเหตุที่บุคลากรไปกระจุกตัวในเมือง เป็นเพราะเรื่องเงินหรือเปล่า
ก็เป็นไปได้ เพราะเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ หมอไปอยู่เขตเมืองก็มีโอกาสได้ทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้เจอผู้ป่วยทุกประเภท แล้วยังสามารถแบ่งเวลาไปเรียนก็ได้ แบ่งเวลาไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ ครอบครัวก็ได้ ลูกก็ได้ มันเลยไม่มีแรงจูงใจมากพอ
แต่ตอนที่เราทำหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วิธีคิดของเราก็คือ จะต้องใช้วิธีการบริหารงบประมาณที่จะไปทำให้เกิดการขยายตัวหรือการกระจายตัวของบุคลากร เราใช้งบประมาณตามจำนวนประชากรไหลไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอที่มีประชากรมากจะได้งบประมาณมากในการดูแล ซึ่งตรงนั้นจะสามารถใช้เงินในการจ้าง เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษ ค่าล่วงเวลาให้กับหมอหรือบุคลากรได้ และหวังว่าจะดึงหมอบางส่วนไว้ได้
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังมีพอมีหมอ มีบุคลากรที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน แต่ก็มีปัญหาแทรกขึ้นมาตอนนี้ว่า โรงพยาบาลชุมชนมีหมออยู่ส่วนหนึ่ง แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ยอมรักษาอะไรที่เป็นการผ่าตัดเบื้องต้น เช่น ผ่าท้อง ทำคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง ส่งต่ออย่างเดียว ก็เลยไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองอีก ก็นั่งรอผ่าตัดตามคิวตามเวลาราชการ นี่ยังเป็นปัญหาที่มีอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ
ที่ผ่านมามีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ไหม
เรื่องการขาดแคลนมองได้ 2 มุม มุมหนึ่งมีบุคลากรที่จะใช้ห้องผ่าตัด เครื่องไม้เครื่องมือก็มีการจัดหาได้ เพราะการตั้งงบประมาณคิดเรื่องการเติมอุปกรณ์ เติมวัสดุลงไปอยู่แล้ว แต่เรื่องการสร้างตึกใหม่โรงพยาบาลใหม่ ไม่ได้อยู่ในการตั้งงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพ จะเป็นการตั้งงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข
ตอนนี้โรงพยาบาลชุมชนใหม่หลายแห่ง ห้องผ่าตัดไม่ได้ใช้งาน บางที่เอาไปทำห้องประชุม เรื่องวัสดุอุปกรณ์ส่วนหนึ่งอาจจะไม่เพียงพอ แต่ตอนนี้ไม่ได้ถูกใช้ เพราะไม่มีบุคลากรที่จะใช้ ไม่มีหมอดมยา ไม่มีหมอช่วยเรื่องการผ่าตัด ก็เลยไม่ผ่าตัดอะไรเลยสักอย่าง ก็ส่งต่ออย่างเดียว อีกแบบหนึ่งคือไม่มีหมอเลยที่จะมาใช้อุปกรณ์
ปัญหาของระบบประกันสุขภาพเป็นอย่างไร มีปัญหาที่ตรงไหนบ้าง
ตอนนี้ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่รัฐเป็นเจ้าภาพใหญ่อยู่ 3 ระบบ คือ รัฐจ่ายจากภาษี จากงบประมาณให้ประชาชนเข้าไปในประกันสังคม จ่ายให้ข้าราชการ และคนที่อยู่ในระบบบัตรทองทั้งหมด
อีกส่วนหนึ่งก็คือ ระบบประกันสุขภาพที่ขายโดยภาคเอกชน บริษัทประกันภัยภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราส่วนเติบโตขึ้น เพราะความเชื่อในสังคมไทยว่า ถ้าอยากได้บริการที่ดี รวดเร็ว เราต้องซื้อประกันเอกชน ซึ่งมีราคาแพงและอาจจะเริ่มมีปัญหาเหมือนในอเมริกาว่า บริษัทประกันคิดกำไรสูงสุด ไม่ค่อยให้เคลมอะไรได้ง่ายๆ แต่ตอนอธิบาย โฆษณาดูดี
ประเทศไทยใช้เงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพโดยรัฐ โดยเอกชนซื้อประกันสุขภาพเอง อยู่ที่ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของบ้านเราตอนนี้ ซึ่งไม่ถือว่าสูงมาก
หากตัดส่วนของภาคเอกชนออกไป มาดูส่วนระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ ตอนนี้มีปัญหาใหญ่ๆ อะไรบ้าง
ปัญหาตอนนี้คือเรื่องของมาตรฐานกับคุณภาพ คือมันไม่เป็นเป็นมาตรฐานเดียวกัน พอมีระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ 3 ระบบใหญ่ๆ ต่างคนก็ต่างบริหาร ถึงแม้จะเป็นเงินภาษีของเรา แต่ระบบราชการก็ให้กรมบัญชีกลางบริหาร ประกันสังคมก็ให้สำนักงานประกันสังคมบริหาร บัตรทองก็ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ ต่างก็มีกรรมการของตัวเองและมีการออกมติหรือแนวนโยบายที่ต่างกัน
สิ่งที่ต่างกันและส่งผลให้มีการเหลื่อมล้ำกันของระบบก็คือ วิธีการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ ถ้าเป็นข้าราชการจ่ายแบบไม่จำกัด ไม่มีอะไรกำกับ ข้าราชการไปที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเรียกเก็บมาที่กรมบัญชีกลางเท่าไหร่ กรมบัญชีกลางก็จ่ายไปเท่านั้น โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเกินจริงหรือไม่ เราไม่รู้ และไม่สามารถควบคุมได้ เลยทำให้ข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน ใช้เงินปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่ประกันสังคมมี 10 ล้านคน ใช้วิธีเหมาจ่ายรายหัวเหมือนบัตรทอง ประกันสังคมใช้เงินปีละประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ขณะที่บัตรทอง 48 ล้านคน ใช้อยู่ 1 แสน 2 หมื่นล้าน บวกเงินเดือนข้าราชการอยู่ใน 1 แสน 4 หมื่นล้าน
ดังนั้น ความต่างตรงนี้ทำให้การบริการของโรงพยาบาลมีการเลือก มีการจัดว่านี่ห้องประกันสังคม นี่ห้องบัตรทอง โรงพยาบาลเรียกเก็บเต็มที่ของข้าราชการ ก็อาจมีการบิดเบือนระบบ ก็จะมีการเชิญชวนกลุ่มข้าราชการให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักบ้าง เป็นยาบริษัทต่างชาติบ้าง ยาของบริษัทภายในประเทศไม่ค่อยอยากใช้กัน ซึ่งอันนี้จะบวกกำไรค่ายาได้เยอะมาก และเรียกเก็บในราคาที่สูงมาก
เพราะฉะนั้น จะเป็นการใช้จ่ายยาที่ฟุ่มเฟือย และสร้างวิธีคิดที่ผิดๆ ในขณะที่ถูกเปรียบเทียบระหว่างคนที่ใช้บัตรทองกับประกันสังคม ไม่ได้ยาเหมือนกับที่ได้ในระบบราชการ วิธีจ่ายยาแบบนี้คือความไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหมอจะอ้างว่าเพราะคุณจ่ายเงินในราคาที่ต่างกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการให้บริการสุขภาพ คนเป็นโรคเดียวกัน ต้องรักษาด้วยวิธีเดียวกัน ด้วยยาแบบเดียวกัน เพื่อจะได้เป็นมาตรฐาน
มีความเป็นได้หรือไม่ที่ระบบประกันสุขภาพของไทยจะก้าวหน้าเหมือนประเทศในอียู อย่างเยอรมัน หรือฝรั่งเศส ที่รัฐและเอกชนร่วมมือกันทำให้ระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพสูงและเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
เวลาเราเทียบกับกลุ่มประเทศในอียู ความแตกต่างของประเทศไทยกับอังกฤษ กับกลุ่มแสกนดิเนเวีย ที่อังกฤษไม่มีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนเป็นของศาสนาและมูลนิธิ ซึ่งไม่ได้ค้ากำไรเกินควรและไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ขณะที่ประเทศไทยปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจและเข้าตลาดหุ้นได้
พอโครงสร้างพื้นฐานต่างกัน จะมาพูดว่าประเทศไทยเหมือนอียูได้ไหม ก็เพราะประเทศไทยมีลักษณะแบบนี้ คือปล่อยให้ทรัพยากรไหลไปอยู่ที่ภาคเอกชนโดยไม่มีมาตรการควบคุม แถมยังมีนโยบายคู่ขนานว่าด้วยเรื่องทำประเทศไทยให้เป็น ‘เมดิคัล ฮับ’ เป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกันเองในเวลาเดียวกัน
การทำเมดิคัล ฮับ ก็คือการสนับสนุนธุรกิจเอกชน ในขณะที่ก็ดึงดูดบุคลากรทางแพทย์จากรัฐไป แต่ก็ทำระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่เราจะไปเหมือนประเทศในกลุ่มอียูได้ ตราบใดที่รัฐไทยยังไม่สามารถจัดการกับธุรกิจเอกชนที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนได้
สิ่งที่เราต้องทำในตอนนี้ คือ ต้องควบคุมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เพราะพอหมอไปอยู่ที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เขาก็อาจจะไม่อยากมาบริการคนในระบบบัตรทอง หรือประกันสังคมสักเท่าไหร่ แต่เราคงไม่ไปล้มระบบโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้เขาทำ แต่เราต้องดึง ต้องคุมกำเนิดไม่ให้เกิดมากไปกว่านี้ ส่วนที่มีอยู่แล้ว ต้องมีนโยบายหรือทิศทางในการทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแบ่งเตียงมารองรับผู้ป่วยในประเทศไทยทั้งหมด ก็คือรับสำรองเตียง รับการส่งต่อผู้ป่วยด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
คือตอนนี้ไม่มีใครมีอำนาจที่จะไปจัดการราคาต้นทุนของการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องมีราคาต้นทุนที่ชัดเจน มีราคากลาง และการเรียกเก็บระหว่างกันไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะถูกส่งต่อจากระบบไหน ต้องเป็นราคาที่ได้มาตรฐาน ไม่อย่างนั้นเขาจะเรียกเท่ากับราคาของข้าราชการ ข้าราชการ 5 ล้านคนใช้ 6 หมื่นล้านบาท ถ้า 48 ล้านคนก็ต้องใช้มากกว่าแสนล้านบาท ไปเป็นสองแสนล้านบาทซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต้องจัดการ ทำยังไงให้โครงสร้างพื้นฐานกับทรัพยากรที่มีอยู่ตอบสนองต่อระบบหลักประกันสุขภาพได้ ต้องมีคณะกรรมการหรือมีรัฐบาลที่เข้มข้นเข้มแข็งที่จะจัดการกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้เรียกเก็บเงินเกินจริง แล้วก็หาค่ากลางให้ได้ ว่าจริงๆ แล้วค่ากลางของการรักษาพยาบาลคืออะไร
บัตรทองคือระบบที่รองรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ได้ ?
ตอนนี้คนที่ไม่มีบัตรทองมีอยู่กลุ่มเดียว คือคนที่ไม่มีสถานะบุคคล ยังไม่ได้การรับรองสถานะบุคคลว่าเป็นคนสัญชาติไทย นอกนั้นไม่ว่าคนจนคนรวย บัตรทองเป็นตาข่ายรองรับทุกคน ถ้าหลุดออกจากประกันสังคมเมื่อไหร่ก็ตกลงไปในตาข่ายของบัตรทอง ถ้าถูกไล่ออกจากระบบราชการ ก็ตกลงไปอยู่ในบัตรทอง มีกลุ่มเดียวที่รัฐ กระทรวงมหาดไทยยังไม่รับรองว่าเป็นคนไทย ทำเรื่องกันมานานแล้ว คนที่รัฐตกสำรวจก็ยังไม่ทำให้เขามีสัญชาติไทย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย อยู่ในระบบบัตรทองเท่าเทียมและเสมอภาคกัน และนี่เป็นหลักการสำคัญของการทำรัฐสวัสดิการ คือไม่ได้ทำแบบมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสำหรับคนจน แต่ทำสำหรับทุกคนด้วยมาตรฐานเบื้องต้น แต่ถ้าอยากจะนอนห้องพิเศษ อยากจะได้หมอพิเศษ ก็ไปซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม แต่บัตรทองคือมาตรฐานเดียวกัน และต้องใช้มาตรฐานการรักษาเดียวกัน
แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในไทยมานานและจ่ายภาษีให้กับรัฐ จะมีโอกาสได้รับบริการสุขภาพแบบเดียวกันนี้หรือไม่
ตอนนี้ถ้าจะได้รับผลประโยชน์จะต้องซื้อประกันสุขภาพ ในฐานะที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จะซื้อบริการสุขภาพของรัฐหรือเอกชนก็ได้
ตอนนี้รัฐขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติทุกคนที่เข้าเมืองโดยถูกหรือไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่คนที่เข้าเมืองถูกกฎหมายส่วนใหญ่จะไปทำงานในที่ที่มีนายจ้าง และจะเข้าไปอยู่ในกฎหมายประกันสังคมโดยอัตโนมัติ เขาได้รับเงินเดือนก็ต้องจ่ายเข้าประกันสังคม เขาจะได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม
แต่แรงงานข้ามชาติที่อาจจะเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย หรือมาทำงานรับจ้างทั่วไป ทำงานอิสระ ถ้าอยากเข้าสู่การรักษาพยาบาลต้องซื้อประกันสุขภาพ ตอนนี้ราคาอยู่ 1,800-2,200 บาทต่อปี ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับการรักษาพยาบาลโดยทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพ
หลังจาก คสช.เข้ามามีอำนาจ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางของระบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง
เวลาเราพูดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ วิธีคิดที่สำคัญที่สุดคือ เป็นระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ทุกคนโดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แต่พอ คสช.เข้ามา วิธีคิดยังเป็นแบบเดิม แบบอนุรักษ์นิยมที่คิดว่า เราควรจัดสวัสดิการให้คนที่จนและยากลำบากก็พอ ถ้าจะจัดแบบเสมอภาคก็จะใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น มารักษาพยาบาลให้คนจนก็พอ คนที่ไม่จนก็ให้จ่ายเงินรักษาเองเหมือนเดิม ซึ่งอันนี้คือการย้อนกลับไปหลัง 10 ปีที่ผ่านมา คือถอยหลัง
เพราะจริงๆ การจัดสวัสดิการหรือรัฐสวัสดิการ คือการลดความเหลื่อมล้ำทันที คนจนก็ได้รับการรักษาโดยการจ่ายภาษีเท่าที่จ่ายได้ คนรวยก็ได้รับการรักษา ระบบนี้ควรจะยังอยู่ แต่ คสช.คิดกลับด้าน
พอคิดกลับด้าน ก็เริ่มสั่งแช่แข็งงบประมาณสายสวัสดิการสังคมไว้เลย แต่ที่ไม่แช่แข็งและเพิ่มคือเงินเดือนข้าราชการ อ้างว่าเพิ่มให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่มีใครออกมาโวยวายเลย ไม่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจพังไปแค่ไหน การจะแช่แข็งงบประมาณการรักษาพยาบาลเป็นวิธีคิดที่ผิด
พอคิดผิดมันอธิบายยาก บอกเขาว่าเพิ่มเงิน เขาอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ เหมือนสมัยที่เราต่อสู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะมีนักวิชาการออกมาตอบโต้ตลอดเวลาว่า ประเทศไทยจัดสวัสดิการไม่ได้ เราไม่มีเงินมากพอ แต่ไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในอียู ในยุโรป ก็จัดสวัสดิการในสมัยที่มีปัญหาทางด้านการเงิน เพราะต้องการลดช่องว่าง และรัฐจะต้องใช้จ่าย
ที่บอกว่าเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นวาทกรรมทีสังคมไทยได้ยินมาโดยตลอด และคนที่ชี้นำเรื่องนี้ก็คือสำนักงบประมาณ ประเด็นก็คือว่า เอาเข้าจริง เงิน 2-3 ล้านล้านบาทที่จัดงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี เราใช้รักษาพยาบาลอยู่ 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท มันไม่ได้เยอะเลยนะ
ถ้าเราจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร บริหารอย่างดี เงินก็น่าจะเพียงพอ ถ้าเราให้ความสำคัญในเรื่องการจัดสวัสดิการ ถ้าต้องเพิ่มก็ต้องเพิ่ม ต้องไม่มีวิธีคิดว่าต้องให้ประชาชนไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่จะต้องคิดว่าจะมีภาษีสุขภาพไหม แล้วจ่ายตามความสามารถของคนที่จ่ายภาษี ใครจ่ายภาษีได้เยอะก็มีโอกาสจะร่วมภาษีสุขภาพมากขึ้น คนจ่ายภาษีน้อยก็จ่ายภาษีสุขภาพน้อย แต่ทุกคนได้รับบริการที่เหมือนกัน
หรือจะพิจารณาจะภาษี VAT หรือภาษีบริโภคซึ่งประเทศไทยมีเยอะมาก ภาษีแอลกอฮอล์ ภาษียาสูบ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ภาษีน้ำมัน ภาษีเหล่านี้ถ้าระบุให้ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นเพื่อลดการบริโภคลง ขณะเดียวกันก็กันส่วนหนึ่งที่นำภาษีเหล่านี้มาพัฒนาระบบสุขภาพ
การคิดเรื่องระบบภาษีใหม่ทั้งหมดของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องมาพูดกัน อย่าเอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาเป็นตัวประกัน ไม่ใช่เอาเรื่องสุขภาพมาเป็นตัวประกัน ไม่จ่ายเพิ่มเรื่องสุขภาพเพราะว่าเงินไม่พอ แต่ควรจะคุยเรื่องระบบภาษีทั้งหมด ดูทุกกระทรวงว่าจำเป็นขนาดไหน
ตอนนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้น มีระบบอะไรรองรับบ้าง
เรื่องจำนวนผู้สูงอายุเป็นสถานการณ์เดียวกันทั่วโลก คือโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย เพราะฉะนั้นก็จะมีผู้สูงอายุเยอะ
ในประเทศไทย ระบบสุขภาพโครงสร้างพื้นฐานดีอยู่แล้ว พอที่จะช่วยเหลือกันได้ แต่ถ้าจะดูแลผู้สูงอายุ ต้องจัดระบบให้ผู้สูงอายุสามารถมีหลักประกันว่าเมื่อสูงอายุแล้วจะมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพ
ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยมีคนกับคนรวย และมีช่องว่างระหว่างรายได้ไม่เคยต่ำกว่า 15 เท่า พอเป็นแบบนี้และเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ ก็จะมีผู้สูงอายุที่จนทันที ปัจจุบันนี้เรามีผู้สูงอายุอยู่ 12 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่จนอยู่ 5 ล้านคน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐต้องดู ไม่ใช่เรื่องการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว สิ่งที่รัฐต้องรับประกันคือผู้สูงอายุทุกคนจะต้องมีรายได้ประจำเดือน คนรวยไม่ว่ากัน แต่ว่าคนจนควรจะมี ตอนนี้วิธีคิดของรัฐคือให้เป็นเบี้ยยังชีพ มันก็ยังเป็นแค่นโยบายของแต่ละรัฐบาล ต้องคิดใหม่ว่าเราจะดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบหลักประกันทางรายได้ ต้องสร้างระบบบำนาญขึ้นมาเป็นระบบบำนาญพื้นฐานให้ผู้สูงอายุ และควรจะคำนวณตัวเงินโดยทั่วไปทั่วโลกใช้เส้นความยากจน ณ เวลานั้นเส้นความยากจนอยู่ที่เท่าไหร่ รัฐต้องจ่ายเท่ากับเส้นความยากจนให้ผู้สูงอายุทุกคนได้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นข้าราชการ แต่คนที่เป็นข้าราชการอาจจะได้เงินเพิ่มเติมจากการที่เป็นข้าราชการ และที่เข้ากองทุน กบข.ก็อาจจะมีรายได้ส่วนนั้น
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีผลต่อระบบสาธารณสุขไทยหรือไม่อย่างไร
มีผลกระทบแน่นอนใน 2 ด้าน คือ เมดิคัล ฮับในประเทศไทยจะเติบโต และคนรวยในเออีซีทั้งหมดก็อาจจะบินมารักษาในเมืองไทย ซึ่งอาจจะถูกกว่าไปรักษาที่สิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบกับคนที่ยากจนทั้งหมดในเออีซี คนที่ลำบากที่สุดก็จะยังขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเช่นเดิม รวมทั้งคนไทยด้วย
ที่ผ่านมา คนรวยใช้หมอจำนวนมากของเราในประเทศไทย แต่ตอนนี้มีคนรวยจากเออีซีมาร่วมใช้ด้วย และคนที่อยู่ตามแนวชายแดน ถ้าไม่ช่วยกัน โรงพยาบาลตามแนวชายแดนที่ต้องดูแลคนจนของทั้งสองฟากอยู่แล้ว อันนี้อาจจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
รัฐทั้งหมดของเออีซีต้องมาคุยกันในเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพในเออีซี ถ้าทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน คนข้ามแดนไปมา ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็ไปดูแลคนไทยในลาวได้ หรือคนลาวมาในประเทศไทย ก็จะต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพของลาวที่ตามมาจ่ายเงิน เหมือนหลักประกันสุขภาพของอียูเขาตามมาจ่ายเงินให้คนของเขาในประเทศไทย
ในระยะเวลาอันสั้นนี้ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะมีการเพิ่มงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ระบบหลักประกันสุขภาพ
ก็ฝากความหวังไว้กับรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ว่าจะเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เพราะท่านเติบโตมาในสายวิชาการ ล่าสุดท่านเป็นประธานการประชุมในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยก่อนที่ คสช.จะเข้ามา ท่านจะเข้าใจไหมว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ท่านต้องเข้ามาช่วยทำให้ดีขึ้น อย่าไปแช่แข็งมัน และอย่าลืมว่ามีโรงพยาบาลในชนบทอีกมากที่ต้องการบุคลากร ต้องการเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

‘ประยุทธ์’ แถลงนโยบายสภา 12 ก.ย. วาง IT จัดการพวกคะนองปากต่อสถาบันฯ แก้กม.ล้าสมัยไม่เป็นธรรม

นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงนโยบายต่อสภาฯ12 ก.ย. นี้ ยึดหลัก “ทำก่อน ทำจริงจัง และทำทันที จนบังเกิดผลสัมฤทธิ์” เช่น วางITจัดการผู้คะนองปากหรือประสงค์ร้ายสถาบันฯ แก้กม. ล้าสมัยไม่เป็นธรรม ฯลฯ เตรียมลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมหลังแถลงฯ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ สาระสำคัญของนโยบายรัฐบาล คือรัฐบาลยังคงยึดมั่นตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระยะที่ 2 คือมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และที่จะตามมาคือ การจัดตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อออกแบบวางรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม อันมั่นคงแก่ประเทศก่อนจะส่งผ่านไปสู่ระยะที่ 3 คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เงื่อนไขดังกล่าวเป็นพันธกิจที่รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นและดำเนินการต่อไป โดยยึดหลัก “ทำก่อน ทำจริงจัง และทำทันที จนบังเกิดผลสัมฤทธิ์”
“การที่รัฐบาลนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมือง จึงไม่มีนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงหรือหวังคะแนนประชานิยมมาเป็นฐานทางการเมือง ทุกคนจึงไม่ต้องวิตกว่าจะมีการนำประเทศเข้าไปผูกพันจนเสียวินัยการคลัง หรือเกิดภาระอนาคต และด้วยความที่มีเอกภาพทางนโยบาย จึงไม่ต้องวิตกว่าการทำงานในแต่ละกระทรวงจะไม่บูรณาการสอดคล้อง หรือพายเรือคนละที สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นพลังอำนาจหรือเกื้อหนุนให้รัฐบาลทำงานยากในเวลาสั้นได้ราบรื่น และจะไม่ให้การทำงานของรัฐบาลกลายเป็นภาระของประเทศเป็นอันขาด”
มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลไว้ 3 ประการ คือการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับหน้าที่ทั้งสามประการในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลจำแนกเป็น 11 ด้าน โดยนำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วยการเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักสำคัญ ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอพียง มาแนวคิด ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความต้องการของประชาชน ซึ่งแสดงออกมาตลอดและน่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงเวลาการออกแบบการปฏิรูปประเทศเป็นแนวทางการกำหนดนโยบาย
นโยบายทุกด้านต้องสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรการปกครองทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงประเทศ มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำทันที ระยะกลาง ที่จะทำต่อไปหรือต้องรอการใช้บังคับกฎหมาย และระยะยาว ที่จะต้องวางรากฐานเพื่อให้รัฐบาลข้างหน้าเข้ามาพิจารณารับช่วงได้ต่อเนื่อง และประการสำคัญต้องการให้ประชาชนเกิดความชัดเจน รู้ล่วงหน้าว่าประเทศของเราจะก้าวไปทางไหน จะมีอะไรเกิดหรือไม่เกิดในอนาคตอันใกล้เพื่อเตรียมตัวได้ถูกต้อง
1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งยวดที่จะเชิดชูสถาบันไว้ด้วยความจงรักภักดี โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ ดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจ หรือประสงค์ร้าย
2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในกิจการ 5 ด้าน การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้วางใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติทางทหารร่วมกันของอาเซียน เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ
3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ระยะเฉพาะหน้าจะเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติ และระยะต่อไปเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การจัดระเบียบสังคม สร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมภิบาลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปโดยใช้ค่านิยมหลัก 12 ประการตามนโยบาย คสช.
4 การศึกษา และเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รัฐบาลจะนำการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทยมาใช้สร้างสังคมให้เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู
5 การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รัฐบาลจะวางรากฐานพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งให้แก่การให้บริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนโดยเน้นความทั่วถึง ความมีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วน โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบ บูรณาการข้อมูลระหว่างทุกระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน  ระยะต่อไปที่ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่และระยะยาว ที่ต้องวางรากฐานเพื่อความเจริญเติบโตอย่างเนื่อง ในระยะเร่งด่วน เร่งจ่ายงบลงทุนของปีงบประมาณ พ.ศ.2557 สานต่อนโยบายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่คสช.จัดทำไว้ กระตุ้นการลงทุนด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ลดอุปสรรคการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ชักจูงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ที่มีต่อการท่องเที่ยวในโอกาสแรกที่จะทำได้
ระยะต่อไป ประสานนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพร้อมกับการรักษาเสถียรภาพของราคาอย่างเหมาะสม ในระยะยาว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคม ด้านคมนาคมทางบกโดยเริ่มโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ กับเมืองบริวาร พัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้านเกษตรกรรม จะปรับปรุงโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ และสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผลจนถึงการแปรรูป และการส่งออกได้ เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่อีกรายหนึ่ง
7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน เร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ พัฒนาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาค และภูมิภาคอาเซียน
8 การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการวิจัย การพัฒนาต่อยอดและการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัย
9 การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ระยะเฉพาะหน้าเร่งปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ในระยะต่อไปพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดินและแก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ บริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพในทุกมิติทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยปรับปรุงระบบราชการในด้านองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ และกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว เสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ
11 การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระยะเฉพาะหน้าจะเร่งปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักของประเทศและกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในระยะต่อไปจะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ นำมาตรการทางการเงิน ภาษี และการป้องกันการฟอกเงินมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แรงงานทาส การก่อการร้ายสากล ยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ
ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม หลังแถลงนโยบายต่อ สนช.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “หลังแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) เสร็จสิ้นในวันที่ 12 กันยายนนี้ ผมจะเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ยืนยันพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ และจะเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ยังขอให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องการปลูกป่า ซึ่งได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมไปจัดทำแผนดำเนินการแล้ว และให้สานต่อโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อให้คนไทยมีคุณธรรมและศีลธรรม
รอแบ่งงานเป็นทางการ 12 ก.ย.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อ สนช. ในวันที่ 12 ก.ย. นี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงนโยบายและตอบข้อซักถามด้วยตนเอง แต่บางเรื่องอาจให้รัฐมนตรีเป็นผู้ตอบ ร่างนโยบายมี 23 หน้า ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการปฏิรูปและการปกครองรวมทั้งการสร้างความปรองดอง โดยจะถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ใช้เวลาประชุม 1 วัน
ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินยืนยันว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่มีปัญหา ทุกคนทราบวิธีปฏิบัติดีอยู่แล้ว

แอมเนสตี้ฯ ออกรายงาน 100 วันใต้กฎอัยการศึก 'การปราบปราม' ยังไม่จบ



11 ก.ย. 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "ประเทศไทย: การปราบปรามอย่างรุนแรงไม่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 100 วันหลังการยึดอำนาจของทหาร"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยในรายงานฉบับใหม่ว่า มีการควบคุมตัวโดยพลการหลายร้อยกรณี รายงานการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างกว้างขวาง และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหาร ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในประเทศไทย และไม่มีแนวโน้มลดลงเลย
รายงาน  “การปรับทัศนคติ: 100 วันภายใต้กฎอัยการศึก” (Attitude adjustment –100 days under Martial Law) เป็นการตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนับแต่กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และมีการยึดอำนาจในอีกสองวันต่อมา
ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett)  ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “สามเดือนนับแต่รัฐประหาร ผลจากการตรวจสอบของเราต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและร้ายแรงของรัฐบาลทหาร ทำให้เห็นภาพการปฏิบัติเช่นนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”    
“ทางการไทยควรยุติแบบแผนวิธีการการปราบปรามที่เป็นปัญหาเช่นนี้ ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน เคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเปิดให้มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างเสรี ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของอนาคตของประเทศ”

การควบคุมตัวโดยพลการ
ในความพยายาม “ปรับทัศนคติ” และการปราบปรามผู้เห็นต่าง รัฐบาลทหารหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จับกุมและควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนอย่างเป็นระบบ ผู้ตกเป็นเป้าหมายจำนวนมากเคยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลชุดที่แล้ว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ
              
แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวัน แต่เป็นการควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือการไต่สวนจากศาล ถูกห้ามไม่ให้พบกับทนายความ และในบางกรณียังถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทุกวันนี้พวกเขายังมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะก่อนได้รับการปล่อยตัวต้องลงนามในคำสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วม “เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง”
   
ทหารและตำรวจได้ควบคุมตัวหรือขู่จะควบคุมตัวญาติของผู้ที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัวต่อกองทัพ หลายคนถูกฟ้องคดีเนื่องจากขัดขืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวต่อกองทัพ และหลายคนถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง
              
“การควบคุมตัวโดยพลการอย่างกว้างขวาง เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย เป็นการคุกคามทางการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นความพยายามปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“การควบคุมตัวบุคคลและการสั่งให้มารายงานตัวต้องยุติลง เช่นเดียวกับมาตรการจำกัดสิทธิอื่น ๆ ที่มีต่อบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว รวมทั้งยุติการฟ้องคดีต่อผู้ที่ปฏิเสธไม่มารายงานตัว”

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีบุคคลหลายคนถูกทรมาน รวมทั้งในช่วงที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายและการทำให้ขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการจำลองสถานการณ์ว่ามีการประหารชีวิต การทรมานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในประเทศไทย และมักเกิดขึ้นแพร่หลายในสถานที่ควบคุมตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
กริชสุดา คุณะเสน นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 บอกว่า เธอถูกทหารทุบตีอย่างทารุณซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังมีการนำถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจในระหว่างการสอบปากคำ
“ถ้าดิฉันตอบคำถามช้า หรือไม่พูด หรือไม่ตอบคำถามตรงไปตรงมา.....พวกเขาก็จะต่อยเข้าที่หน้า ที่ท้อง และที่ลำตัว.....ที่เลวร้ายสุดที่เจอมาคือพวกเขาเอาถุงพลาสติกคลุมศีรษะดิฉัน ผูกถุงที่ตรงปลายและเอาถุงผ้าคลุมศีรษะอีกชั้นทำให้ดิฉันขาดอากาศหายใจจนหมดสติ และมีการเอาน้ำมาราดเพื่อให้ฟื้นคืนสติ......ดิฉันรู้เลยว่าความกลัวตายอยู่ตลอดเวลาเป็นอย่างไร” เธอกล่าว
“คสช. ต้องประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และต้องมีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีความผิดเช่นนี้เกิดขึ้นโดยพลัน อย่างไม่ลำเอียง อย่างเป็นอิสระและอย่างละเอียดถี่ถ้วน และให้นำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบมาฟ้องคดีตามกฎหมาย” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
คสช.ยังได้ใช้มาตรการอย่างกว้างขวางเพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการอภิปรายในที่สาธารณะ และเป็นเหตุให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเองอย่างกว้างขวาง
              
ทางการสั่งปิดหรือปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายร้อยแห่ง มีการตั้งคณะกรรมการเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบสื่อ มีการขู่ว่าจะถูกคุมขังหากมีการโพสต์ข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทหาร
              
ทั้งยังมีการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลเกินกว่าห้าคน นับแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิที่จะชุมนุมอย่างสงบ
              
มีบุคคลจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวห้ามการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ นับแต่การทำรัฐประหาร มีประชาชนสี่คนถูกฟ้องคดีและตัดสินลงโทษตามกฎหมายนี้ และยังมีอีก 10 คนที่ถูกตั้งข้อหา
              
“กลายเป็นแนวปฏิบัติตามมาตรฐานของรัฐบาลทหารไปแล้วที่จะปราบปรามแม้แต่การแสดงความเห็นต่างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อยืด ซึ่งถูกมองว่าอาจ “สร้างความแตกแยก” หรือการอ่านหนังสือบางเล่ม และแม้แต่การกินแซนด์วิชในที่สาธารณะเพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อระบอบทหาร” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
              
“ทางการไทยต้องยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเหล่านี้ ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่ถูกเอาผิดเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังทุกคนภายใต้ข้อหาเหล่านี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการทำงานที่สำคัญขององค์กรสิทธิและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
              
ทางการสั่งห้ามไม่ให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมใดๆ แม้จะกระทำโดยสงบ ในขณะเดียวกันยังคงมีการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทและการฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวและนักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับช่วงก่อนรัฐประหาร


การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมกำลังถูกคุกคามเช่นกัน เนื่องจากมีพลเรือนประมาณ 60 คนที่จะต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นศาลชั้นเดียวที่ไม่มีการอุทธรณ์
              
คสช.สั่งการให้ฟ้องคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร สำหรับบุคคลที่ละเมิดคำสั่งของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่วนการตั้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

ข้อเสนอแนะ
รายงาน “การปรับทัศนคติ” – 100 วันภายใต้กฎอัยการศึก” ได้เสนอข้อเสนอแนะหลายประการต่อทางการไทย ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชนและประกันว่าประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
              
“ประเทศไทยมีพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งไม่อาจเพิกเฉยได้โดยอ้าง “ความมั่นคงของประเทศ” การจำกัดเสรีภาพที่เป็นอยู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกินไป” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
              
“สมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศควรใช้โอกาสต่างๆ ที่เป็นไปได้ รวมทั้งการประชุมที่ดำเนินอยู่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลทหารของไทยเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน และประกันให้เกิดการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหากต้องการบรรลุเป้าหมายความปรองดองแห่งชาติตามที่ประกาศไว้”
 
AttachmentSize
AI Thailand Attitude Adjustment - Press Version - Thai.pdf459.44 KB

เพจโอ๊คปล่อยมิวสิค "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ประวัติทักษิณ ชินวัตร


ตั้งแต่กลางดึกคืนวานนี้ ในเฟซบุ๊คเพจ "พานทองแท้" บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการเผยแพร่มิวสิควิดีโอ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ความยาว 2.14 นาที ย่อประวัติทักษิณตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยรับราชการตำรวจ ออกมาทำธุรกิจจนถึงส่งดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่วงโคจร
11 ก.ย. 2557 - ตั้งแต่กลางดึกคืนวานนี้ (10 ก.ย.) ในเฟซบุ๊คเพจ "Oak Panthongtae Shinawatra" ของ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการเผยแพร่มิวสิควิดีโอประกอบการ์ตูน "ตาดูดาว เท้าติดดิน"
สำหรับมิวสิควิดีโอดังกล่าวมีความยาว 2.14 นาที มีตัวละครหลักคือทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยรับราชการตำรวจ ทำธุรกิจจนถึงส่งดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่วงโคจร
โดยเพลงมีเนื้อร้องว่า “เคยมองไปบนฟ้า เห็นดวงดาราเรียงรายเป็นล้าน บอกใจไม่หยุดฝัน แม้ว่าเส้นทางจะยากจะหิน ใจมันจะโบยบิน สองเท้าย่ำดินเดินลุยต่อไป พากเพียรสู่จุดหมาย คว้าดาวแสนไกลไว้เป็นของเรา"
"อดทน เจ็บเก็บไว้ แพ้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าใจต้องการ หยัดยืนจนวันนั้น วันแห่งชัยชนะ ตาดูดาว เท้าติดดิน ทุกอย่างเป็นจริงด้วยพยายาม ตาดูดาว เท้าติดดิน นี่แหละทักษิณ ผู้ไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา"
ทั้งนี้มีการเผยแพร่ข่าวมิวสิควิดีโอนี้ในสถานีโทรทัศน์เช่น Voice TV และช่อง 3 ด้วย
ภาพปกหนังสือ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" พิมพ์ครั้งที่ 13 โดยสำนักพิมพ์มติชน
สำหรับ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" เป็นหนังสือชีวประวัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่งโดยผู้ใช้นามปากกาว่า "วัลยา" เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ ก่อนนำมารวมเล่มในปี พ.ศ. 2542
ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ในเฟซบุ๊คเพจของพานทองแท้ ชินวัตร มีการโพสต์ข้อความว่า "อีก 2 วัน ทุกคนจะหายคิดถึง https://www.youtube.com/user/thaksinstory"  ตามมาด้วยการโพสต์การ์ตูน "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ดังกล่าว

อัยการส่งฟ้องคดี112 นักศึกษามหานคร


11 ก.ย.2557 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้อัยการส่งฟ้องคดีที่นายอัครเดช (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยในความผิดดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์  และศาลนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ อัครเดช ถูกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112, มาตรา 33 (ริบของกลาง) และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
อัครเดช อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 4 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่ห้องพักเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.57 ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน พ่อของเขายื่นประกันตัวรวม 4 ครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันด้วยเหตุว่าเกรงจะหลบหนี
เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้นามแฝง “น้าดมก็รักในหลวงนะ” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความในวันที่ 15 มี.ค.57 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเขากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสารพร้อมนำหลักฐานเชื่อมโยงมายังตัวอัครเดชมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย
นายสุรพล (สงวนนามสกุล) พ่อของจำเลยเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ก่อนหน้าจะถูกจับกุมลูกชายทะเลาะกับคนในเฟซบุ๊กที่มีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน และโพสต์ข้อความตั้งคำถามไปเพียงแต่มีการพาดพิงอันเนื่องมาจากบทสนทนาทางการเมือง