วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

คดีล้มประชุมอาเซียนปี52 13แกนนำแดง ได้ประกันตัวแล้ว หลังนอนคุก 4 วัน

“ลูก-เมียกี้ร์-อริสมันต์” พร้อมคนเสื้อแดงกว่า 100 คน แห่เยี่ยม-รอรับ 13 แกนนำ นปช.หลังได้ประกันตัว

หลังจากเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา  ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งมีพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 ปี ไม่รอลงอาญา (อ่านรายละเอียด) ได้แก่
  • 1.นายนิสิต สินธุไพร 
  • 2.นายสำเริง ประจำเรือ 
  • 3.นายนพพร นามเชียงใต้ 
  • 4.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 
  • 5.นายสมญศฆ์ พรมมา 
  • 6.นายสิงห์ทอง บัวชุม 
  • 7.นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อย หรือเกิดดี 
  • 8.นายวรชัย เหมะ 
  • 9.นายพายัพ ปั้นเกตุ 
  • 10.นายธรชัย ศักมังกร 
  • 11.นายศักดา นพสิทธิ์ 
  • 12.นายวัลลภ ยังตรง 
  • 13.นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 
  • 14.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ 
  • 15.พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์  
             โดยนายสุรชัย และพ.ต.ต.เสงี่ยม ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวแต่อย่างใด ขณะที่ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ และ “มังกรดำ” ศาลยกฟ้อง ส่วนนางศิริวรรณ์ นิมิตรศิลปะ นั้น ให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตั้งแต่แรก

โดยทั้ง 13 คนศาลไม่ให้ประกันตัวจนต้องไปนอนอยู่เรือนจำพิเศษพัทยา ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่าวันนี้(9 มี.ค.)ในช่วงเช้า นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ภรรยานายอริสมันต์ เปิดเผยว่า ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวไปที่ศาลอุทรณ์ ซึ่งในส่วนของสามีศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวในหลักทรัพย์วงเงิน 2 ล้านบาท ส่วนคนอื่นๆ วงเงิน 8 แสนบาท
จนกระทั่งเวลาประมาณ  19.00 น. ศาลจังหวัดพัทยาได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวอริสมันต์พร้อมพวก
นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการปล่อยตัว พร้อมแกนนำเสื่อแดงจำนวน 13 คน ว่า วันนี้เรา 13 คน ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ทุกคนก็เดินทางกลับบ้าน เพื่อพักผ่อน ดีใจที่เห็นพี่น้องประชาชนมาให้กำลังใจขณะที่ออกมา ด้วยความอบอุ่น ก็รู้สึกมีกำลังใจ อย่างไรก็ตาม ตอนที่อยู่ข้างในทุกคนกำลังใจดี และเราได้รับการปฏิบัติด้วยดีจากคนที่อยู่ด้วยกันข้างในและเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ เรายังได้ความรู้จากสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคือเราได้รู้จักปล่อยวาง
เมื่อถามว่าหลังจากนี้ทางคดีจะเอาอย่างไรต่อนายสิงห์ทอง กล่าวว่า ก็อยู่ในขั้นอุทธรณ์ เดิมโทษคือ 6 ปี แต่เราให้ความร่วมมือ เลยลดเหลือ 4 ปี ซึ่งเมื่อยื่นอุทธรณ์แล้วคาดว่าการดำเนินการต่างๆ คงใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เราทุกคนเคารพกฎหมาย เคารพการตัดสินของศาล ก็หวังว่าเราจะได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ ขณะนี้ เราคงจะกลับบ้านไปพักผ่อนกันก่อน แล้วค่อยว่ากันอีกทีว่าจะเอาอย่างไรต่อ เพราะคงจะต้องให้ทีมทนายได้ประชุมปรึกษาหารือกันก่อนด้วย

ศาลนัดสอบคำให้การคดี 112 โปรแกรมเมอร์โพสต์เฟซบุ๊ก 25 พ.ค.-อัยการขอพิจารณาลับ

9 มี.ค.2558  ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ กล่าวว่า ในวันนี้นายปิยะ (สงวนนามสกุล) อาชีพโปรแกรมเมอร์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดมาตรา 112 ถูกนำตัวจากเรือนจำมาศาลอาญาเป็นครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน ในเบื้องต้นปิยะให้การปฏิเสธพร้อมแถลงต่อศาลว่าคดีนี้เป็นการฟ้องผิดตัวเนื่องจากในคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องระบุถึงผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อพงศธร บันทอน แต่เขาชื่อปิยะ ไม่ใช่พงศธร ศาลจดในรายงานกระบวนพิจารณาและให้เลื่อนไปนัดพร้อมวันที่ 25 พ.ค. 2558 เวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ ปิยะถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2557 และถูกควบคุมตัวยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2557 จนกระทั่งอัยการส่งฟ้องคดีในวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊คจำนวน 1 ข้อความเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 โดยมีเนื้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3)(5) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ยื่นประกันตัวเนื่องจากครอบครัวไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ
ยิ่งชีพกล่าวด้วยว่าในคดีนี้อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นการกระทำที่ไม่บังควร อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนได้
เมื่อถามว่าคดี 112 ที่ผ่านมาเมื่อมีการพิจารณาลับในศาลอาญา เป็นการยื่นคำร้องขอจากอัยการหรือไม่ ยิ่งชีพกล่าวว่า หากดูจากคดีที่เขาเป็นทนายความและศาลมีคำสั่งให้พิจารณาลับ เช่น คดีของทะเนช จะพบว่าเป็นการพิจารณาลับโดยศาล ไม่เห็นคำร้องของอัยการในสำนวนแต่อย่างใด คดีของคนขายหนังสือกงจักรปีศาจก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาศาลมักจะสั่งพิจารณาลับเมื่อสอบคำให้การจำเลยแล้วพบว่าจำเลยประสงค์สู้คดีในส่วนเนื้อหา แต่กรณีนี้อัยการยื่นคำร้องดังกล่าวมาพร้อมคำฟ้องเลยโดยยังไม่ทันสอบคำให้การจำเลย ทำให้เห็นว่ามีเจตนาอันเข้มแข็งในการพิจารณาลับให้ได้
เมื่อถามว่า คดีนี้สั่งฟ้องในศาลอาญาเนื่องจากกระทำความผิดก่อน คสช.จะมีคำสั่งให้คดี 112 ขึ้นศาลทหาร แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก่อนคำสั่งคสช.เช่นกัน แต่กลับต้องไปขึ้นศาลทหาร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ยิ่งชีพกล่าวว่า เขาตั้งข้อสังเกตว่ามีอยู่ 4 กรณีที่ถูกเลือกแล้วว่าต้องไปศาลทหารแม้ว่าจะกระทำความผิดก่อนคำสั่ง คสช. นั่นคือ คดีของสิรภพ, ทอม ดันดี, ณัฐ และคฑาวุธ คาดว่าเป็นเพราะทั้ง 4 คนเป็นบุคคลหลักที่ผลิตเนื้อหาออกสู่สังคม เช่น เขียนบทความ เขียนบทกวี กล่าวปราศรัย ทำเว็บข่าว จัดรายการวิทยุ ในขณะที่กรณีอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่เป็นเพียงผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปจึงถูกฟ้องในศาลอาญา

นักข่าวตุรกีถูกจับฐานเอี่ยวเผยแพร่-ครอบครองแผนรัฐประหารของกองทัพ

อัยการตุรกีสั่งค้นที่พักและจับกุมตัว เมห์เม็ต บารานสุ นักข่าวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยอ้างข้อกล่าวหามีเอกสารลับของทางการไว้ในครอบครองรวมถึงการเผยแพร่ต่อ ซึ่งเอกสารลับดังกล่าวคือแผนการ "ค้อนยักษ์" ที่เคยมีสื่อรายงานว่าเป็นการวางแผนรัฐประหารโดยกองทัพตุรกีเมื่อราวสิบปีมาแล้ว
10 มี.ค. 2558 เมห์เม็ต บารานสุ นักข่าวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตุรกีอย่างเปิดเผยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยข้อหามีเอกสารเกี่ยวกับแผนการก่อรัฐประหารของกองทัพตุรกีไว้ในครอบครองรวมถึงข้อหาเผยแพร่เอกสารดังกล่าวซึ่งถือเป็นความลับของราชการ
หลังจากตำรวจตุรกีเข้าค้นบ้านของบารานสุเป็นเวลา 12 ชั่วโมงตามคำร้องของอัยการแผ่นดินทางการตุรกี บารานสุก็ถูกจับกุม โดยอาห์เม็ต เอมเร ไบรัก ทนายความของบารานสุบอกว่าทางการยังกล่าวหาบารานสุว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรที่มีเป้าหมายก่ออาชญากรรมและทำลายเอกสารทางราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง แม้จะมีการระบุตัวเขาเป็นสมาชิกอยู่เพียงคนเดียวก็ตาม
ไบรักกล่าวอีกว่าบารานสุเคยทำงานให้กับสื่อทาราฟเดลีในปี 2553 ซึ่งตัวบารานสุเองไม่มีอำนาจใดๆ ในการกำหนดพาดหัวข่าวรายวัน ทำให้ไบรักมองว่าผู้ที่เป็นบรรณาธิการบริหารหรือหัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยมากกว่า แต่ทางการกลับจ้องเล่นงานบารานสุโดยมีการค้นบ้านและจับกุมตัวเขาหลายครั้งแล้วทำให้ประเมินได้ว่าน่าจะเป็นการเจาะจงล่าตัวผู้วิจารณ์รัฐบาลอย่างบารานสุมากกว่า
แผนการรัฐประหารตุรกีที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงแผนการ "ค้อนยักษ์" (Balyoz Harekatı) ซึ่งกองทัพตุรกีวางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2546 แผนการนี้ถูกเปิดโปงโดยหนังสือพิมพ์เสรีนิยมทาราฟ ซึ่งระบุถึงเอกสารแผนการค้อนยักษ์ว่า กองทัพมีแผนวางระเบิดศาสนสถาน 2 แห่ง ในกรุงอิสตันบูลและกล่าวหาว่าประเทศกรีซยิงเครื่องบินของตนตกในทะเลอีเจียน เพื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายปูทางไปสู่ความชอบธรรมในการรัฐประหาร
อย่างไรก็ตามฝ่ายกองทัพตุรกีโต้แย้งว่าแผนการดังกล่าวเป็นแค่การจำลองอนาคตเพื่อฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อผิดพลาดและกระบวนการที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินคดีนี้

ประยุทธ์ เผย รถไฟความเร็วสูง-ระยะสั้น กทม.-หัวหิน กทม.-พัทยา อาจให้เอกชน ร่วมลงทุน

ประยุทธ์ เผย รถไฟความเร็วสูง 2 สาย อยู่ระหว่างการเจรจากับ ซี.พี. ไทยเบฟฯ และบีทีเอส ย้ำจะเร่งดำเนินการให้ทันในรัฐบาลนี้ ด้านประจิน เผยแนวคิดรัฐบาล ทำรถไฟความเร็วสูงระยะสั้น ดีกว่าระยะยาว เพราะคืนทุนเร็วกว่า<--break- />
10 มี.ค. 2558 เมื่อวานนี้(9 มี.ค. 2558) หลังจาก พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในการเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์ที่สอง (Eastbound TBM Launching Ceremony)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระ ได้กล่าวถึงการเดินหน้าพิจารณาศึกษารูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ระหว่างกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา
โดยมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากที่มีแนวคิดจะให้เอกชนไทยที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ซี.พี. หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ไทยเบฟฯ และบริษัท บีทีเอสฯ โดยมี 2 เส้นทางที่จะเร่งดำเนินการให้ทันในรัฐบาลนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน
ซึ่งแนวคิดคือ ทางเอกชนจะไปกู้เงินก้อนใหญ่มาก่อสร้างให้ โดยอาจจะร่วมกันหลายบริษัทเป็นลักษณะโฮลดิ้ง อาจจะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศบ้าง ในประเทศบ้าง ก็แล้วแต่เอกชนจะดำเนินการ จากนั้นจะเข้ามาร่วมกับภาครัฐบาล และมาเจรจาว่าจะลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น 70:30  หรือ 50:50 หรือรับสัมปทาน แบ่งปันผลประโยชน์ จะมาคุยในรายละเอียดกันต่อ
"เงินก่อสร้างเป็นแสนล้านบาท ไม่ใช่เงิน 5 บาท 10 บาท เขากำลังตัดสินใจกันอยู่ เพื่อหาข้อเสนอให้เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสม เขาก็ไม่ทำ ก็จบ ปีนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน" นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ
ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มซีพี และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้เข้ามาขอข้อมูล ขณะเดียวกัน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) ได้ส่งหนังสือขอประสานมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างนัดหารือ โดยกระทรวงคมนาคมกำลังรวบรวมแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา เพื่อนำเสนอครม.ขออนุมัติในหลักการเดือน พ.ค. นี้
นอกจากนี้จะบรรจุโครงการเพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนน, ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน, ลดงบประมาณซ่อมบำรุงถนนและลดระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ส่วนรูปแบบการร่วมลงทุน PPP ซึ่งทำได้ทั้งการเจรจากับผู้สนใจ เหมือนโครงการรถไฟไทย-จีน หรือเปิดประมูลแข่งขัน แต่เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส โดยจะประมูลเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินก่อน เพราะมีปัญหาการเดินทางโดยรถยนต์ไม่สะดวก โดยค่าก่อสร้างเบื้องต้นหากความเร็วระหว่าง 200-250 กม./ชม.นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 350 ล้านบาท/กม. บวกความยากหรือง่ายของการก่อสร้างและขึ้นกับสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางผ่าน โดยจะนำข้อมูลที่มีประโยชน์ของผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ,กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มาใช้ร่วมด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และทำให้โครงการมีความคุ้มทุน ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลเห็นว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงยิ่งระยะทางยาว ยิ่งใช้เงินมาก และคืนทุนยาก เพราะเมื่อลงทุนสูงจะกำหนดค่าโดยสารสูงผู้โดยสารจะน้อย และหากเน้นเส้นทางที่จะมีผู้โดยสารมาก แบ่งสัดส่วนการลงทุนและการหารายได้ให้เหมาะสม จากการเดินรถประมาณ 40% และการบริการที่สถานี,พัฒนาชุมชนใหม่ที่ต่อเนื่องกับสถานีอีก 60% จะคืนทุนได้หลังปีที่ 10 ไปแล้ว

‘สิทธิลูกจ้าง’ กับการใช้ ‘อินเตอร์เน็ต’ ในที่ทำงาน

คนทำงานออฟฟิศผวา แชตแล้วถูกเลิกจ้างได้ทันทีหรือ?
สืบเนื่องมาจากกระแสข่าวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา มีการนำคำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2557 [1] มาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการแชตในเวลาทำงานแล้วถูกไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งถือว่าสร้างความสะเทือนให้กับแวดวงคนทำงานพอสมควร และทางข่าวต่อเนื่องจากนั้นก็มีการประโคมข่าวว่ามีการเลิกจ้างด้วยข้อหาแชตในเวลางานไปแล้วกว่า 30 ราย แต่ภายหลังทางเลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้ออกมาระบุกับว่าจากการสอบถามสมาชิกนายจ้างกว่า 500 บริษัทนั้น พบว่ามีการเลิกจ้างในลักษณะนี้เพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นพนักงานทดลองงาน ทำงานด้านบัญชี และที่ถูกเลิกจ้าง เพราะแชตและเล่นอินเทอร์เน็ตในเวลางานนานกว่า 1 ชั่วโมง บางวันแชตทั้งวัน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ส่งงานไม่ทันตามกำหนด และก่อนหน้านี้นายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจา และออกหนังสือเตือนแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงให้ออกจากงาน [2]
ข่าวคราวเหล่านี้ทำให้เหมือนกับว่าว่าลูกจ้างที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในเวลางานเป็นประจำกำลังถูกต้อนให้จนมุม  แต่ความเห็นของนักกฎหมายและนักสิทธิแรงงานหลายท่านออกมาระบุว่าการนำเสนอข่าวไปในทางลักษณะที่ว่า กลับเป็นการสร้างความเกรงกลัวทำให้ลูกจ้างไม่กล้าใช้เวลางานมาแชตเรื่องส่วนตัว และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างและฉวยโอกาสเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ หากลูกจ้างไม่มีศึกษากฎข้อบังคับของสถานที่ทำงานและข้อกฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วสำหรับการแชตในที่ทำงานนั้น หากมีความผิดตามกฎข้อบังคับและพบเป็นครั้งแรกนายจ้างจะต้องมีการตักเตือนก่อน หากเกิดขึ้นซ้ำหรือเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบร้ายแรงกับบริษัททำให้บริษัทเสียหาย นายจ้างถึงที่จะมีสิทธิเลิกจ้างได้
ทั้งนี้ตามการพิจารณาตามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 บัญญัติพฤติกรรม 6 ข้อของลูกจ้าง ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในกรณียกเลิกสัญญาจ้าง ดังนี้
1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
สรุปได้ว่า สำหรับกรณีพนักงานที่แชตเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบและข้อบังคับในที่ทำงานและไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงรวมทั้งไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากนายจ้างมาก่อน ก็อย่าพึ่งตื่นตระหนกแต่ควรทำความเข้าใจข้อบังคับของบริษัทและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกเอาเปรียบจาก “ความไม่รู้” ได้
คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในสถานประกอบการของไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ พ.ศ. 2557 พบว่าทั่วประเทศมีสถานประกอบการประมาณ 2.2 ล้านแห่ง เมื่อพิจารณาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ สำหรับขนาดของสถานประกอบการนั้น สวนใหญ่มีขนาดเล็ก ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ภาพรวมการมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในสถานประกอบการของประเทศไทยมีไม่สูงมากนัก และมีแนวโน้มของการใช้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ร้อยละของสถานประกอบการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในปี 2554 - 2557 ของประเทศไทย
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
โดยมีจำนวนคอมพิวเตอร์ประมาณ 2.5 ล้านเครื่อง หรือเฉลี่ยประมาณ 4.4 เครื่องต่อกิจการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และมีบุคลากรที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานเป็นประจำประมาณ 2.3 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 4.2 คนต่อกิจการ
จำนวนคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์เฉลี่ยต่อกิจการจำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
โดยมีบุคลากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการปฏิบัติงานเป็นประจำ (เฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 4.1 คนต่อกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับ ดังนี้ (1) ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าร้อยละ 81.2 (2) รับส่งข้อมูลทางอีเมล์ร้อยละ 76.4 และ (3) ค้นหาข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 30
ร้อยละของสถานประกอบการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
และเมื่อพิจารณาตามกิจกรรมเศรษฐกิจ พบว่าสถานประกอบการที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตสูงที่สุด รองลงมาเป็นกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสาร และธุรกิจการค้า/ธุรกิจการบริการ ส่วนการผลิตมีการใช้น้อยที่สุด

ข้าราชการออกกฎเข้มนานแล้ว มีระเบียบงดออนไลน์ 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555
แม้ระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับข้าราชการไทย ตัวอย่างเช่นการนำโปรแกรมไลน์มาใช้สื่อสารในหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ หน่วยงานด้านการปกครอง และบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ แต่กระนั้นการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลของข้าราชการก็กำลังถูกจับตา โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมากรมการปกครอง (ปค.) มีหนังสือด่วนที่สุดกำหนดแนวทางการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการ โดยให้บุคลากรใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามข้าราชการใช้ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออีเมล์ ที่เข้าข่ายความผิดอาญา และให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ หากมีการกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย
โดยกรมการปกครองระบุว่าสาเหตุของการออกหนังสือฉบับดังกล่าวเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2558 มีข้าราชการกรมการปกครองรายหนึ่งได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของทางราชการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทำดังที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นอีก กรมการปกครองจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้กำชับข้าราชการกรมการปกครองไม่ให้นำเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นหรือเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ ได้
ทั้งนี้หนังสือของกรมการปกครองดังกล่าวไม่ได้ห้ามหรือจำกัดสิทธิของข้าราชการกรมการปกครองที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารตามปกติ เพียงแต่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปละเมิดบุคคลอื่นหรือทำผิดกฎหมายเท่านั้น
ความจริงแล้วระเบียบเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตของข้าราชการนั้น เป็นข่าวคึกโครมมาตั้งแน่ปี 2555  แล้วโดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น มีหนังสือลงวันที่ 6 ก.ย.2555 เรื่อง มาตรการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยระบุว่าด้วยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ปีงบประมาณ 2555 พบว่า โดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุด 10 อันดับแรก ปรากฏว่าเป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงจากเว็บไซต์ของต่างประเทศในลักษณะออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อีกทั้งระบุว่าการใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ (Bandwidth) จำนวนมาก
ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรการการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต โดยระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานบางเว็บไซต์ และงดการใช้งานเว็บออนไลน์ ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 มาแล้ว
“คน-อินเตอร์เน็ต-ที่ทำงาน” ปัญหาระดับนานาชาติ
ผลกระทบจากการใช้อินเตอร์เน็ตในเวลางานเป็นปัญหาในหลายประเทศมามากกว่าสิบกว่าปีแล้ว ที่ส่งผลกระทบต่อเวลาทำงานและต่อตัวพนักงานเอง ตัวอย่างก็มีอาทิเช่น
กรกฎาคม 2002 รัฐบาลมาเลเซียออกมาขู่พนักงานของรัฐที่ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าชมเว็บโป๊ในสถานที่ทำงานว่าจะโดนไล่ออกทันทีหากถูกจับได้ ส่วนกลุ่มสหภาพแรงงานได้ออกมาคัดค้านโดยระบุว่าเป็นการกระทำที่เข้มงวดเกินไปและควรให้โอกาสพนักงานเหล่านั้นได้รับโอกาสในการชี้แจงเพื่อป้องกันตนเอง
กันยายน 2002 ผลการสำรวจกิจการธุรกิจ 212 แห่งในอังกฤษระหว่างเดือนมิถุนายน 2002 พบจำนวนโทษทางวินัยร้ายแรงจากการกระทำผิดนโยบายการใช้อินเตอร์เน็ตและอีเมล์ของบริษัทนั้นมีมากกว่าการกระทำผิดแบบอื่นๆ เช่น ไม่ซื่อสัตย์ต่อบริษัท หรือละเมิดกฎเกณฑ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย เสียอีก  ในการสำรวจครั้งนั้นพบจำนวนความผิดทางวินัยร้ายแรงของบริษัทที่ร่วมในการสำรวจนั้นมีมากกว่า 358 คดีที่เกี่ยวกับการใช้อีเมล์และอินเตอร์เน็ต ส่วนความผิดเกี่ยวข้องกับความไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรหรือละเมิดกฎความปลอดภัยมีเพียง 326 คดีเท่านั้น โดยความผิด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) การใช้งานอินเตอร์เน็ตบริษัทเพื่อกิจส่วนบุคคล (2) การส่งภาพโป๊ทางอีเมล์บริษัท และ (3) การเข้าถึงเว็บโป๊ นอกจากนี้พบว่าพนักงานประมาณร้อยละ 10 ที่ถูกไล่ออกนั้นมีความผิดในการใช้อีเมล์รับส่งภาพโป๊มากกว่าความผิดการส่งข้อมูลทำลายบริษัทเสียอีก
กันยายน 2008 มีผลสำรวจชิ้นหนึ่งระบุว่าว่าอินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ให้พนักงานหลุดจากโลกแห่งความเป็นจริง ได้ทั้งที่ยังนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน และผู้คนที่ผ่านไปมาก็ไม่สังเกตเห็น ในออสเตรเลียพนักงานที่ติดอินเตอร์เน็ตใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรับส่งอีเมล์ โดย 1 ใน 3 เป็นอีเมล์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน พนักงานหลายคนทำธุรกรรมทางการเงินหรือซื้อของออนไลน์ ขณะที่หลายคนนิยมเข้าเว็บไซต์ประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ  มีการชี้ว่าพนักงานที่เกียจคร้านในยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์กับพนักงานที่หมดเวลาไปกับโลกไซเบอร์มีเหตุผลเดียวกัน บางคนต้องการโกงเจ้านาย บางคนต้องการพักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ผลการสำรวจของบริษัทจ่ายค่าสินไหมออนไลน์แห่งหนึ่งพบว่าพนักงานในสหรัฐฯ 6 ใน 10 คน ยอมรับ ว่าปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ระหว่างการทำงาน ร้อยละ 34 ระบุว่า การใช้อินเตอร์เน็ตในเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลางานมากที่สุด เหตุผลมีหลาก หลายกันไป เช่น เบื่อทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ได้ค่าจ้างต่ำเกินไป หรืองานไม่น่าสนใจ
ธันวาคม 2009 สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียระบุว่าพนักงานออฟฟิศบอกว่าโดยเฉลี่ยเข้าไปในเว็บเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานถึง เกือบร้อยละ 12.5 รายงานครั้งนี้ได้จากการตอบแบบสอบถามของพนักงานเกือบ 4,000 รายในเมืองหลักของอินเดีย พบว่าร้อยละ 84 ของผู้ตอบแบบ สอบถามที่อาศัยอยู่ในเมืองหลักของอินเดียเป็นกลุ่มที่เข้าขั้นมีสัญญาณส่อว่าเสพติดอินเตอร์เน็ตเนื่องจากใช้เวลาออนไลน์ในปริมาณมากกว่าปกติและไม่พอใจเมื่อถูกขัดจังหวะ
เมษายน 2010 ผู้ตรวจสอบวินัยและความประพฤติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) เผยผลสรุปการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SEC รวม 33 เรื่องใน 5 ปี ซึ่งระบุผู้บริหารฝ่ายบัญชีรวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโสรวม 17 ราย เล่นอินเตอร์เน็ตและเข้าเว็บโป๊ เพื่อดาวน์โหลดภาพปลุกใจในเวลางาน และเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดล้วนได้รับเงินเดือนสูงกว่าเจ้าหน้าที่ในระดับ ปฏิบัติการ โดยผู้กระทำผิดที่มีรายได้ต่อเดือนสูงสุดคิดเป็นเงินถึง 222,418 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ผลการตรวจสอบนี้ระบุว่าการกระทำผิดวินัยด้วยการเข้าเว็บโป๊ของเจ้าหน้าที่ SEC มีสถิติเพิ่มขึ้นนั้นอาจเกี่ยวพันกับความเครียดในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ
ฯลฯ
ภาคอุตสาหกรรมนายจ้างจับตากิจกรรมสหภาพ
สำหรับคนทำงานภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพนักงานในไลน์ผลิตนั้น ปัญหาเรื่องการแชตหรือเล่นโซเชียลมีเดียในเวลาทำงานแทบจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากข้อกำหนดและระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม มักจะไม่อนุญาตให้มีการนำโทรศัพท์มือถือ แทบเลต หรือคอมพิวเตอร์ที่มีการต่ออินเตอร์เน็ตเข้าไปในไลน์การผลิตอยู่แล้ว
แต่กระนั้นคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนักสหภาพแรงงานที่ทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ซึ่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกับนายจ้างบ้าง มักจะถูกจับผิดในเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการสื่อสารด้านประเด็นความขัดแย้งกับนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการร้องเรียน ยื่นข้อเรียกร้อง รวมถึงการประท้วงต่างๆ พบว่าในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมานั้น นายจ้างมักจะใช้การฟ้องร้องคนงานด้วยข้อกล่าวหาการทำให้สถานประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียหรือการหมิ่นประมาท
กรณีตัวอย่างก็มีเช่น เมื่อปี 2553 สมาชิกสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี ได้ส่งอีเมลถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทและได้สำเนาเรียนสหภาพแรงงานและบุคคลต่างๆ เพื่อร้องเรียนว่ามีผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งได้เรียกไปพบและแจ้งให้ยุติการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ และผู้บริหารท่านนั้นยังได้สาปแช่งบุตรซึ่งกำลังป่วยอยู่ให้ตายไป หลังอีเมลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปผู้บริหารท่านนั้นจึงฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
หรือกรณีในการประท้วงของสหภาพแรงงานภาคยานยนต์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเมื่อปี 2556 ได้มีการเผารถจำลองเป็นสัญลักษณ์และได้มีการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียรวมทั้งสื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่ ซึ่งนายจ้างก็ได้ฟ้องร้องแกนนำสหภาพแรงงานคนหนึ่งว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
และกรณีเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งหนึ่งได้ออกคำสั่งให้ประธานสหภาพแรงงานของบริษัทหยุดงานชั่วคราวและขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้าง โดยบริษัทระบุว่าตรวจพบว่าประธานสหภาพแรงงานท่านนี้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในนามเฟซบุ๊กของสหภาพแรงงานมีข้อความที่กล่าวถึงผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลในลักษณะดูหมิ่นใส่ความอันจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งบริษัทระบุว่ากรณีนี้เป็นการกระทำการที่มุ่งยุยงส่งเสริมให้แตกแยกความสามัคคี ทำให้เป็นผลเสียต่อการทำงาน และการบริหารงานบุคคล บริษัทจึงขออนุญาตศาลแรงงานลงโทษทางวินัยด้วยการเลิกจ้าง

โปรดเกล้าฯ กฎหมายทวงหนี้ใหม่ ห้ามข่มขู่ ทําให้เสียชื่อเสียง ดูหมิ่น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยในมาตรา 11 มีเนื้อหาการห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
  • (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
  • (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
  • (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2) ซึ่งระบุว่า ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จําเป็นและตามความเหมาะสม
  • (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจํานองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
  • (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้
  • (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนดความใน (5) มิให้นํามาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล
มาตรา 12 ระบุห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทําให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้
  • (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทําให้เข้าใจว่าเป็นการกระทําของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ
  • (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทําโดยทนายความสํานักงานทนายความ หรือสํานักงานกฎหมาย
  • (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทําให้เชื่อว่าจะถูกดําเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน
  • (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดําเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต
  • และ มาตรา 13 ได้ระบุ ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้
  • (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
  • (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชําระหนี้ได้

        สำหรับมาตราอื่นๆ เกี่ยวกับ การกํากับดูแลและตรวจสอบ บทกําหนดโทษ ทั้งโทษทางปกครองและโทษอาญา อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

เริ่มสืบพยานคดี บก.ลายจุด โพสต์กระทบความมั่นคง-กระด้างกระเดื่อง

ศาลนัดสืบ พ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุขอดีต อดีตรองผบ. ปอท. หัวหน้าชุดจับกุม บก.ลายจุด ในข้อหาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและโพสต์ข้อความกระทบความมั่นคงฯ
10 มี.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ กรุงเทพฯ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คือพ.ต.อ.ปรัชญา ประสานสุข ในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งในขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และเป็นผู้กล่าวหานายสมบัติในคดีนี้
พยานเบิกความว่าระหว่างวันที่ 30 พ.ค. ถึง 4 มิ.ย. 2557 ระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พยานได้รับคำสั่งฉบับที่ 65/2557 จากกระทรวง ICT ให้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้านสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายเข้าสู่สังคมออนไลน์ หลังจากนั้นพยานได้ติดตามพฤติกรรมการโพสต์ข้อความของนายสมบัติ
โดยในวันที่ 30 พ.ค. นายสมบัติ มีการโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ 4 ข้อความ มีลักษณะต่อต้านการรัฐประหาร และเขียนต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์
วันที่ 31 พ.ค. นายสมบัติ โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์อีก 3 ข้อความ เชิญชวนให้มีการต่อต้านการรัฐประหารอีกและวันที่ 3 มิ.ย. อีก 1 ข้อความ และวันที่ 4 มิ.ย. โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ มีลักษณะเชิญชวนให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งข้อความทั้งหมดไม่ใช่การติชมโดยสุจริตทำให้ประชาชนต่อต้านการปกครองประเทศของ คสช. และท้าทายเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นการสร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ซึ่งพยานสืบทราบโดยได้ IP address ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าเป็นบ้านของประชาชนรายหนึ่ง จากนั้นได้ประสานกองทัพภาคที่ 1 ขอกำลังทหารเพื่อเข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าวตามอำนาจกฎอัยการศึก และเข้าตรวจค้นในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 20.30 น. โดยพยานเป็นหัวหน้าชุดนำกำลังตำรวจ 20 นาย เข้าตรวจค้น โดยเจ้าของบ้านได้ออกมาเปิดประตูและพาพยานเข้าตรวจค้นบ้านและพบห้องที่ล๊อคอยู่ทางเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจมีคนที่มีอาวุธอยู่ในห้องจึงทำลายเข้าไปพบนายสมบัติ และพบคอมพิวเตอร์ของนายสมบัติอยู่และเปิดเฟซบุ๊กที่พิมพ์ข้อความสุดท้ายว่า "ผมโดนจับแล้ว" ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางไว้
โดยจะมีการถามค้านพ.ต.อ.ปรัชญาต่อในวันศุกร์ที่ 30 มี.ค. นี้เนื่องจากการสืบในวันนี้ยังไม่สิ้นสุด และในวันศุกร์นี้ (13 มี.ค.) จะมีการสืบพยานร.อ.เมธาสิทธิ์ ผู้กล่าวหาที่ 2