21 ต.ค.2557 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามคดีเกี่ยวกับเสรีภาพ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ มีนัดสอบคำให้การผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 2 ราย รายแรกเป็นชายไม่เปิดเผยชื่อ อีกรายคือ นายคฑาวุธ (สงวนนามสกุล) ดีเจรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต โดยศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ และนัดสอบคำให้การนายคฑาวุธในวันที่ 18 พ.ย. สอบคำให้การชายไม่เปิดเผยชื่อในวันที่ 24 พ.ย.
ทั้งนี้ ในวันนี้มีผู้สังเกตการณ์คดีทั้งจากองค์กรข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (อียู) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส) และไอลอว์
ยิ่งชีพกล่าวว่า ระหว่างรอฟังการพิจารณาคดีในช่วงสายวันนี้ เจ้าหน้าที่ของศาลทหารได้เข้ามาแจ้งกับผู้สังเกตการณ์คดีว่าศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยเป็นอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อมีการสอบถามถึงเหตุผลเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบคำถามได้จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่มาชี้แจง จากนั้นมีการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดเข้าห้องพิจารณาคดีได้เพื่อฟังคำสั่งศาล ในห้องพิจารณา อัยการทหารได้แถลงว่า เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หากข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นที่ล่วงรู้ไปภายนอกจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หลังสิ้นสุดการแถลงของอัยการ ศาลได้มีคำสั่งให้การพิจารณาคดีของทั้ง 2 คดีนี้เป็นไปโดยปิดลับ ญาติผู้ต้องหาและผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดจึงต้องออกจากห้องพิจารณาคดี
เจ้าหน้าที่จากไอลอว์ระบุด้วยว่า คำสั่งพิจารณาคดีลับนี้ได้รับการบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย แต่เมื่อทนายจำเลยขอคัดสำเนารายงานดังกล่าว ศาลกลับไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าได้อ่านคำสั่งให้ฟังแล้ว
สำหรับคดีของชายผู้ไม่เปิดเผยชื่อ ทนายจำเลยได้ร้องขอต่อศาลให้เลื่อนสอบคำให้การ และศาลนัดใหม่เป็นวันที่ 24 พ.ย. ขณะที่คดีของคฑาวุธ ทนายได้ขอเลื่อนสอบคำให้การเช่นกันและศาลให้เลื่อนเป็นวันที่ 18 พ.ย.
ยิ่งชีพกล่าวอีกว่า วันเดียวกัน ทนายความของนายคฑาวุธได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 6 โดยใช้เงินสด 800,000 บาท พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนมาไต่สวนเกี่ยวกับพฤติการณ์จำเลยด้วย แต่ศาลสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่า
“คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลต้องถามโจทก์ก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่
โจทก์คัดค้านเนื่องจากเป็นความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
พิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูง จำเลยอาจหลบหนี ประกอบกับโจทก์คัดค้านจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”
ทั้งนี้ ชายไม่เปิดเผยชื่อ ถูกทหารบุกจับกุมที่บ้านพักตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2557 และถูกคุมขังในเรือนจำมาจนปัจจุบัน ส่วนคฑาวุธเป็นนักจัดรายการวิทยุ ใช้ชื่อว่า "คฑาวุธ นายแน่มาก" เป็นรายการวิเคราะห์การเมืองเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เขาถูกเรียกเข้ารางานตัวตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 44/2557 หลังคุมตัวครบ 7 วัน เขาถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าคลิปเสียงรายการตอนหนึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดดังกล่าว จึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนปัจจุบันเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคดี 112 ส่วนใหญ่มีการพิจารณาโดยเปิดเผย แต่เบื้องต้นมีอยู่ 2 คดีที่ผู้พิพากษาสั่งพิจารณาคดีลับ คดีแรกคือ คดีของนายบัณฑิต อานียา นักเขียนสูงวัย มีการพิจารณาในศาลชั้นต้นเมื่อปี 2548 อีกคดีหนึ่งคือ คดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ซึ่งกรณีนี้จำเลยได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าคำสั่งพิจารณาคดีลับขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคดีพิจารณาในศาลยุติธรรมปกติ ไม่ใช่ศาลทหาร