วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จาตุรนต์ ฉายแสง: ปรับ ครม.ไม่แก้ปัญหา


ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะเป็นการโยนหินถามทางหรือเกิดจากความคิดที่อยากให้เกิดขึ้นจริงๆก็ไม่ทราบ
แต่การที่ผลโพลล์ปรากฏว่ามีเสียงสนับสนุนอยู่มากนั้นสะท้อนว่าคนจำนวนมากเห็นว่า รัฐบาลทำงานไม่ได้อย่างที่เคยคาดหวังเสียแล้ว จึงอยากให้มีการปรับครม.เสียใหม่
นอกจากนั้นก็อาจจะเกิดจากความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ประกอบด้วยบุคคลในวงที่จำกัด รัฐบาลแห่งชาติย่อมประกอบด้วยคนหลายฝ่ายมากกว่าและคงจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า
แต่ถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จยังอยู่ที่ คสช. การจะไปเชิญคนจากหลายๆฝ่ายมาร่วมรัฐบาลย่อมไม่อาจเป็นไปได้ รัฐบาลแห่งชาติจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้แน่
แต่ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยก็ยังฝากความหวังไว้กับการปรับ ครม.ที่จะมีขึ้น เหตุผลก็คงทำนองเดียกันคือ เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันแก้ปัญหาประเทศไม่ได้หรืออาจพูดได้ว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าแล้ว
การปรับ ครม.ครั้งนี้ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาของประเทศได้
รัฐบาลนี้มีปัญหาอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือปัญหาตัวบุคคลและอีกด้านหนึ่งคือปัญหาระบบ
ส่วนใหญ่ของ ครม.ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ไม่มีจิตสำนึกของการมีหน้าที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและไม่สนใจที่จะรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครม.ชุดนี้อยู่ภายใต้การนำอันเบ็ดเสร็จของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขาดความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงานนโยบายและยังมีบุคลิกไม่ฟังใคร 
โดยเฉพาะเป็นผู้ที่ทนฟังความเห็นต่างไม่ได้ด้วยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้รับข้อมูลความเห็นที่เป็นประโยชน์ การทำงานของครม.จึงไร้ทิศทาง ยิ่งนายกฯพูดให้ความเห็นไปเสียทุกเรื่อง รัฐมนตรีย่อมไม่กล้าพูดหรือทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่นายกฯพูดไว้ จึงไม่มีใครกล้าที่จะริเริ่มเรื่องใดๆ ครั้นจะทำตามที่นายกฯพูดก็พบว่านายกฯพูดอะไรแบบไม่มีข้อมูลและพูดแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดและใช้เพียงจิตสำนึกพื้นๆไปเสียเกือบทุกเรื่อง
แต่ปัญหาตัวบุคคลนี้ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับปัญหาระบบ
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นแค่นายกฯ แต่เป็นหัวหน้า คสช.ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายซึ่งซ้ำเติมปัญหาบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์เองให้หนักหนายิ่งขึ้นไปอีก
จะว่าไปแล้วการที่ ครม.ชุดนี้รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์เองที่ขาดคุณสมบัติคือความรู้ความสามารถและประสบการณ์แต่มาเป็น ครม.กันได้ก็เพราะระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเมื่ออยู่ในระบบนี้จึงมีปัญหาการไม่มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชนและการไม่สนใจฟังความเห็นใครๆตามมาด้วย
นอกจากนี้ การจะไปหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับของสังคมมาร่วมงานก็ย่อมทำได้ยากไปด้วยเพราะเป็นระบบที่ขาดความชอบธรรม
ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ตกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การที่รัฐบาลนี้ปกครองอยู่ได้ด้วยกำลังความรุนแรง ไม่ได้มาจากประชาชนและยังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ละเมิดหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน. รวมทั้งไม่ฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยไปให้สัญญากับเขาไว้ รัฐบาลนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
เมื่อเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงและต้องพึ่งพาต่างประเทศอยู่มากและยิ่งกำลังมีกรณีปัญหาต่างๆที่ต้องอาศัยการเจรจากับต่างประเทศในหลายๆเรื่องด้วยแล้ว ไม่ว่าจะปรับครม.อย่างไร รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆของประเทศได้
ทางออกของประเทศในวันนี้จึงไม่ใช่การปรับ ครม. แต่ต้องรีบคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน
ปัญหาก็มีต่อไปว่าที่แม่น้ำ 5 สายกำลังทำกันอยู่กลับไม่ใช่การจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน  แต่กลายเป็นการสร้างระบบเผด็จการให้สืบทอดต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด. และภายใต้ระบบการปกครองที่พวกเขากำลังสร้างกันอยู่นี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีรัฐบาลที่สามารถแก้ปัญหาประเทศและตอบสนองความต้องการของประชาชนเกิดขึ้นได้
เรื่องของระบบที่สืบทอดอำนาจเผด็จการที่แม่น้ำ 5 สายกำลังลงหลักปักฐานกันอยู่อย่างเอาจริงเอาจังนี้  เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศ 
จนทำให้เรื่องการปรับ ครม.เป็นเรื่องเล็กๆที่ไม่มีสาระอะไรเลย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: อัศวินกระป๋องขี่ม้าขาเป๋



เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวเปรียบเทียบสถานะนายกรัฐมนตรีเผด็จการของตนว่า “ไม่ใช่อัศวินม้าขาว แต่เป็นม้าขาเป๋ เพราะมีปัญหาประเดประดังเข้ามา วิ่งขาจะเปื่อยอยู่แล้ว แต่ทุกคนต้องช่วยสร้างความเข้าใจ อย่าคิดว่าใช้มาตรา 44 ได้หมดทุกเรื่อง”

การแสดงท่าทีในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นในขณะที่มีกระแสข่าวอย่างกว้างขวางว่า จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ ข่าวลือนี้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่คณะ คสช. ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมีมาตราที่ 3 ให้ยกเลิกข้อความเดิมในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เรื่องบุคคลต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งทางเมือง ที่ใช้ว่า เป็นบุคคลที่ “(4)เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” และใช้ข้อความแทน คือ  “(4) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ผลกระทบโดยตรงของการเปลี่ยนข้อความเช่นนี้ คือทำให้บุคคลที่เคยต้องถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง คือกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่พ้นระยะเวลาต้องห้าม 5 ปี สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ หรือที่ตรงกว่านั้นคือ การเปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้นั่นเอง
ปัญหาที่นำมาสู่กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้คือ ความล้มเหลวในการจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในระยะรอบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่เสื่อมทรุด ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญคือการส่งออกก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องปรับลดตัวเลขประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกติดลบ 1.5 % การใช้จ่ายของประชาชนทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ตัวเลขการลงทุนก็มีแนวโน้มลดลง บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ ที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ก็คือ การที่บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จังหวัดนครราชสีมา ปิดกิจการแล้วเลิกจ้างพนักงานรวมกว่า 1,800 คน ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
ในภาวะเช่นนี้เอง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับตามข่าวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2558 นี้จะออกมาแย่ยิ่งกว่าครึ่งปีแรก โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาภัยแล้งในประเทศที่เกิดขึ้นซ้ำเติม ซึ่งจากคำกล่าวของรัฐมนตรีคลังเช่นนี้ หมายความว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้เลย แนวโน้มเช่นนี้ ยังได้รับการยืนยันโดยนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกไทย รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ยิ่งทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มต่ำลง ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ และตัวเลขการใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ความตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ส่งผลต่อรายได้ภาครัฐ เพราะกรมสรรพากรได้ออกมาระบุว่า ยอดการจัดเก็บภาษีในในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายถึงกว่า 56,000 ล้านบาท และถ้าจะอธิบายว่า นี่เป็นจุดต่ำสุด หลังจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้อธิบายดับความฝันเช่นนั้น โดยกล่าวคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจัดเก็บภาษีทั้งปีประมาณน่าจะต่ำกว่าเป้าหมายมากถึง 160,000 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคาดว่าจะลดลงถึง 40,000 ล้านบาท และผลจากการลดลงของราคาน้ำมันที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้จากการนำเข้าน้ำมันหายไปอีก 60,000 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย  10 %
ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งมาจากการใช้จ่ายเงินในภาคเกษตรลดลงอย่างมาก จากการที่รัฐบาล คสช.ยกเลิกนโยบายอุดหนุนการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายด้านข้าวที่ไม่มีทั้งโครงการประกันราคาและจำนำข้าว ทำให้ชาวนาต้องเผชิญกับการตกต่ำของราคาข้าวโดยตรง และยังซ้ำเติมด้วยการที่รัฐบาลประกาศห้ามทำนาเพราะภัยแล้ง ส่วนยางพาราสิ่งเป็นสินค้าหลักในทางเกษตรอีกชนิดก็มีราคาที่ตกต่ำอย่างหนัก โดยไม่เห็นแนวโน้มที่จะดีขึ้น เมื่อรายได้ภาคเกษตรตกต่ำลงก็ส่งผลกระทบให้เกิดการลดลงของการหมุนเวียนของเงิน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนในประเทศจึงตกต่ำอย่างหนัก หนี้สินของประชาชนโดยรวมก็สูงขึ้นอย่างมาก และไม่มีปัจจัยบวกมีมากเพียงพอที่จะทำให้ตัวเลขดีขึ้น
ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวนี้ ทำให้กระแสที่อธิบายกันว่า เป็นเพราะทีมบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่มีฝีมือ จึงบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทำให้นายกรัฐมนตรีต้อง “ขี่ม้าขาเป๋” ดังนั้นถ้ามีการเปลี่ยนม้า หรือปรับเอาคนใหม่ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตผู้นำทีมเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยแสดงฝีมือมาแล้ว และขณะนี้ก็ยังช่วยงานคณะทหารอยู่ และถ้ามีผู้ช่วยที่เข้มแข็ง เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็น่าจะมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นได้ ซึ่งข่าวการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจนั้น กระทบถึงหลายรายชื่อว่าจะถูกปรับออก เช่น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น แต่ไม่มีข่าวว่าจะกระทบถึงรัฐมนตรีฝ่ายทหาร คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการคมนาคม
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัญหาความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มาจากความล้มเหลวของทีมงานรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นปัญหา เพราะต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทหาร ก็เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเผด็จการทหารนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้การเปิดเจรจาทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าตะวันตกนั้นไม่สามารถทำได้ การลงทุนชะงักเพราะนักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจในเสถียรภาพของเผด็จการ การท่องเที่ยวตกต่ำเพราะนักท่องเที่ยวชั้นดีจากโลกตะวันตกจำนวนมาก ไม่ท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศส่วนหนึ่งจึงมาจากปัญหาภาพลักษณ์ทางการเมืองของประเทศที่ล้าหลังสวนกระแส แล้วทำให้การขยับตัวแก้ไขเศรษฐกิจเป็นไปได้ลำบาก
แต่ที่มากกว่านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารภาคเศรษฐกิจเลยตัวจริง คือ นายกรัฐมนตรี หรือถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนคือ นอกจากความสามารถในการพูดได้อย่างยืดยาวไม่มีประเด็นแล้ว ก็ยังไม่ได้เห็นเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความสามารถพิเศษอะไรในการบริหารประเทศ แผนการรูปธรรมที่จะนำการปรับปรุงเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็น โครงการที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชน ให้ประชาชนไทยอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการที่ชัดเจนก็ยังไม่เคยมี
ถ้าปัญหาเป็นเช่นนี้ คงไม่ใช้เป็นเรื่องของม้าขาเป๋เสียแล้ว แต่เป็นเรื่องของจอกกี้ที่ขี่ม้าไม่เป็น เผด็จการทหารจึงไม่ได้เป็นอัศวินม้าขาว แต่เป็นอัศวินกระป๋องที่ทำอะไรไม่ได้ ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะเช่นนี้

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่


ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เริ่มกำเนิดขึ้นมาจากนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ร่วมกับประชาชนชาวบ้านในชนบท และต่อมาได้ร่วมกับนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพฯอีกจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จนเกิดกรณีการจับกุมคุมขังนักศึกษา 14 คน นำไปสู่การเคลื่อนไหวของนักวิชาการและประชาชนให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดจนเป็นผลสำเร็จ
ความคิดที่เป็นธงนำของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คือ หลักการกำปั้น 5 ข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี มีสัญลักษณ์เป็นกำปั้น โดยทั้งห้านิ้วมือสะท้อนหลักการ 5 ข้อ เป็นการสรุปรวบยอดความคิดจากบทเรียนและประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่หนุนช่วยประชาชนที่เดือดร้อนจากโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐและเอกชนตลอดสิบปีมานี้
แนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุหลักการกำปั้นทั้ง 5 ข้อคือ การร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่ม ยุติความขัดแย้งกันเองในหมู่ประชาชน สามัคคีกันไปเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าคือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย ไร้สิทธิมนุษยชน ปราศจากความยุติธรรม กีดกันประชาชนออกไปจากกระบวนการทางการเมือง และใช้ความรุนแรงกับประชาชน
การสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่าภายใต้แนวทาง “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในภาวะการณ์ปัจจุบัน เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่ประชาชนที่ยาวนานนี้ ยังร้าวลึกไปด้วยความทรงจำและเจ็บช้ำในอดีต แต่ก็เป็นภารกิจเดียวที่ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยในวันนี้จะต้องฝ่าฟันไปให้จงได้
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนิสิตนักศึกษาทั้ง 14 คนในช่วงปลายมิถุนายน-ต้นกรกฎาคนที่ผ่านมาก็มี “สัญญาณเริ่มต้น” ของการ “ยกเลิกขั้ว สลายสี” ดังกล่าวอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกนับแต่รัฐประหาร 2557 ที่ได้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมมือประสานกันอย่างเป็นไปเองจากประชาชน 5 กลุ่ม จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ “แม่น้ำ 5 สาย” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่
แม่น้ำสายหนึ่งคือ นักเรียนนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีหัวหอกสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยภูธรร่วมกับนิสิตนักศึกษากรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอันร้อนแรง มีจิตใจเข้มแข็ง ทุ่มเทเสียสละและเอาการเอางานที่สุด
แต่เราไม่สามารถนำพวกเขาไปเปรียบเทียบกับขบวนการนิสิตนักศึกษายุค 2516-19 ได้ด้วยปริบททางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ในเวลานั้น นิสิตนักศึกษาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิสังคมนิยม เคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมเข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจสากลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวคือ การชุมนุมเดินขบวนแสดงกำลังในประเด็นการเมืองต่าง ๆ
ขบวนนิสิตนักศึกษาในวันนี้พัฒนาและเคลื่อนไหวในปริบทที่พวกจารีตนิยมได้เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม โดดเดี่ยวและถูกต่อต้านจากนานาชาติ การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจึงได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรีประชาธิปไตย แต่อุปสรรคสำคัญของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันกลับเป็นความเฉื่อยเนือยและมึนชาของนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่อันเป็นผลจากการครอบงำทางความคิดจากผู้ปกครองมายาวนาน ภารกิจเฉพาะหน้าของนิสิตนักศึกษาที่เป็นกองหน้าในวันนี้จึงเป็นการไปสัมพันธ์กับ “มวลชน” ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือ “มวลชน” ประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมเฉพาะของตน และ “มวลชน” นิสิตนักศึกษาทั่วไป ให้พวกเขาตื่นตัว สนับสนุน และร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
แม่น้ำสายที่สองคือ อาจารย์นักวิชาการ ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะเฉพาะในสังคมไทย พวกเขามี “พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น” ที่เปิดกว้างยิ่งกว่าประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา อาจารย์นักวิชาการก็มีสภาพคล้ายคลึงกับนิสิตนักศึกษาส่วนข้างมากคือ ถูกจำกัดบทบาททางความคิด เกิดความเฉื่อยชาทางการเมือง กระทั่งบางส่วนกลายเป็นผู้สนับสนุนและรับใช้พวกอำนาจนิยมอย่างสุดตัว
แต่รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่กระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการจำนวนมากขึ้นมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของระบอบปกครองไทย และเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างชัดเจน จนกล่าวได้ว่า ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาที่ผ่านมานั้น นิสิตนักศึกษาและอาจารย์นักวิชาการเป็นกองหน้าในการเรียกร้องต่อผู้ปกครองอย่างชัดเจน
แม่น้ำสายที่สามคือ นักคิด นักเขียน กวี นักแปล ศิลปิน สื่อมวลชน ซึ่งจำนวนมากได้แสดงท่าทีปฏิเสธรัฐประหาร 2557 มาก่อนแล้ว และในครั้งนี้ ก็สามารถรวมตัวกันเคลื่อนไหวสนับสนุนนิสิตนักศึกษา ประสานกับอาจารย์นักวิชาการได้อย่างมีพลังเป็นครั้งแรก
แม่น้ำสายที่สี่คือ ประชาชนทั้งรากหญ้าในชนบทและคนชั้นกลางในเมือง มวลชนที่สนับสนุนนักศึกษาแม้จะยังมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นกลุ่มที่ได้สะสมประสบการณ์และบทเรียนในการเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมมายาวนาน ทั้งประชาชนในชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนโดยเคลื่อนไหวร่วมกับนิสิตนักศึกษาภูธรมาก่อน และก็มีมวลชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นอดีตคนเสื้อแดงกลุ่มที่ปฏิเสธนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
แม่น้ำสายที่ห้าคือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนชนบทที่ถูกกระทบจากโครงการทรัพยากรของรัฐและเอกชนมายาวนาน แม้ว่าในระยะ 20 ปีมานี้ องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมันผ่านงบประมาณของรัฐ จนกลายเป็นหางเครื่องสนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้ตกลงไปในเครือข่ายจารีตนิยมและยังคงเคลื่อนไหวหนุนช่วยประชาชนในประเด็นสิทธิและความเป็นธรรม พวกเขาปฏิเสธรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้การละเมิดสิทธิของประชาชนยิ่งเลวร้าย รัฐประหารได้ทำให้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยกลายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของพวกเขาในการหนุนช่วยประชาชนในพื้นที่
ข้อสังเกตคือ ผู้คนที่ประกอบเป็น “แม่น้ำห้าสาย” ดังกล่าว มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2557 ที่แตกต่างกันอย่างมาก กระทั่งเคยขัดแย้งต่อสู้กันเอง มีทั้งอดีตที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย และก็มีอดีตคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย รวมทั้งมวลชนที่มิได้สนใจปัญหาการเมืองระดับประเทศมาก่อน
รัฐประหาร 2557 นับเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ เพราะได้ทำให้ผู้คนเหล่านี้ ทั้งนิสิตนักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ นักคิดนักเขียน นักแปล กวี ศิลปิน สื่อมวลชน ประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีพื้นภูมิหลังทางการเมืองที่เคยแตกต่างและขัดแย้งกัน บัดนี้ ได้ยุติความขัดแย้ง ยอมรับความแตกต่าง ร่วมมือสามัคคี เคลื่อนไหวหนุนช่วยซึ่งกันและกันในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย