วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สรุปร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุด 'บล็อคไปให้ไพศาล'


ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2550
ในงานเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จะวิเคราะห์จากร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 โดยสาระสำคัญในร่างมีดังนี้


บล็อคเว็บด้วยอำนาจใหม่ ใหญ่กว่าเดิม

สิ่งที่จะมีความสำคัญและเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในร่างฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 20 คือการกำหนดให้มี "คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” มาทำหน้าที่เกี่ยวกับการบล็อคเว็บไซต์ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการห้าคน โดยมีสองคนที่เป็นผู้แทนภาคเอกชน ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อคเว็บ

โดยขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็กำลังจัดทำร่างประกาศกระทรวงเกี่ยวกับการบล็อคเว็บไซต์ กำหนดให้กระทรวงฯ สร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถบล็อคหรือลบข้อมูลนั้นได้เอง โดยให้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการบล็อคหรือลบข้อมูลของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ ตามความยินยอม

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังขยายขอบเขตของการบล็อคเว็บ ที่เดิมจำกัดเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สามารถบล็อคเว็บที่อาจมีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงบล็อคเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ได้
 

วิจารณ์-ตรวจสอบบนออนไลน์ทำได้ยาก เหลือพื้นที่แค่คลิปหมาแมวหรรษา

ร่างกฎหมายนี้แก้ไขใจความสำคัญในมาตรา 14 (1) และ (2) เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ด้วยการเพิ่มฐานความผิดให้กว้างกว่าเดิม หากมีผู้โพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อ “การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ให้มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท การเพิ่มฐานความผิดเช่นนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการแสดงความเห็นเชิงตรวจสอบวิจารณ์นโยบายสาธารณะได้

ส่วนมาตราที่เป็นปัญหา อย่างมาตรา 14(1) ตามร่างปัจจุบัน ที่เคยถูกนำมาใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสื่อและภาคประชาชน ในร่างฉบับใหม่ก็เพิ่มองค์ประกอบขึ้นมาว่า การกระทำที่เป็นความผิด ต้องทำโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ซึ่งในเชิงภาษากฎหมาย ยังไม่ชัดเจนมากนักว่าจะแก้ปัญหาคดีหมิ่นประมาทออนไลน์แบบเดิมๆ ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเพิ่มมาตรา 16/2 ในกรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ด้วย ซึ่งผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์ ต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์
 

รัฐไทยหวัง สังคมรีพอร์ต ช่วยตรวจสอบ 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันกำหนดความผิดของผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความผิดกฎหมายปรากฏอยู่ ตามร่างใหม่เอาผิดผู้ให้บริการที่ “ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ” ให้มีเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ให้มีโทษเช่นเดียวกับผู้โพสต์ข้อความ

แต่ที่ผ่านมา มีข้อที่พิสูจน์ได้ยากว่า จะพิจารณาอย่างไรว่าผู้ให้บริการมีส่วน "ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ" ร่างแก้ไขฉบับนี้จึงกำหนดมาตรการ “การแจ้งเตือนและการระงับการแพร่หลาย” (Notice and Takedown) ซึ่งกำหนดเอาไว้ในร่างประกาศกฎกระทรวงให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องจัดหามาตรการแจ้งเตือน เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถแจ้งรายงานไปยังผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการต้องระงับข้อมูลภายใน 3 วัน
 

ผู้ให้บริการอาจมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลนานขึ้น

ตามกฎหมายปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน ข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์ ไว้ไม่เกิน 90 วัน หรือในกรณีจำเป็นเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ตามร่างแก้ไขใหม่ มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีจำเป็นอาจสั่งให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ปี และมาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดที่เจ้าหน้าที่ต้องการเอาไว้ก่อนได้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
 

ทำพ.ร.บ.คอมให้เป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับออนไลน์

โดยภาพรวมแล้ว การปรับแก้ร่างกฎหมายครั้งนี้ มีความพยายามปรับให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สามารถครอบคลุมถึงกฎหมายอื่นๆ เช่น การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะตรวจคอมพิวเตอร์หรือยึดอายัดคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้จำกัดความผิดเพราะตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย (มาตรา 18 และ 19)
 

เวทีคู่ขนาน 

นอกจากเวทีของ สนช.ที่รัฐสภาแล้ว ในวันที่ 23 พ.ย. นี้ยังมีเวทีคู่ขนานที่ร่วมจัดโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thainetizen Network) และ สมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ในชื่อ "เกาะขอบสนามสนช. วิเคราะห์ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ" ที่ Growth Cafe and Co ชั้น 2 ลิโด สยามสแควร์ งานนี้จะมีรูปแบบไม่เป็นทางการ ถ่ายทอดสดจากเวทีรัฐสภา พร้อมวิเคราะห์สดควบคู่กันไป โดยที่เปิดให้ผู้ชมสามารถปรึกษา ตั้งคำถาม ในประเด็นที่ไม่เข้าใจ และร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้ด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดงานสัมมนาจากอาคารรัฐสภา ได้ทางเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต Thai Netizen Network และถ่ายทอดสดงานเกาะขอบสนามสนช. จากร้าน Growth Café ทางเฟซบุ๊ก iLaw และทวิตเตอร์ iLawclub

ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่งและลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ....
3. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....
4. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. ....
5. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....
6. (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พ.ศ. ....

วัฒนา ชี้ รบ.หมดทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หันมา 'แจกเงิน' ประชานิยมสิ้นคิด


วัฒนา อัดมาตรการแจกเงิน 1,500-3,000 บาท 5.4 ล้านคน ชี้รัฐบาลหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงินซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดแต่ได้ผลน้อยที่สุด แต่เป็น 'ประชานิยมสิ้นคิด'
23 พ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวาน (22 พ.ย. 59) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ คือ       เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 
ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ย. 59) วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 'Watana Muangsook' ในหัวข้อ "แจกเงิน" ประชานิยมสิ้นคิด โดย วัฒนา ระบุว่า มติ ครม. ที่ให้เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500-3,000 บาท จำนวน 5.4 ล้านคน เริ่มจ่ายตั้งแต่ 1-30 ธ.ค. 2559 คือนโยบายหว่านเงิน (helicopter money) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เท่ากับรัฐบาลนี้ยอมรับว่าผู้มีรายได้น้อยหรือรากหญ้ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่รัฐบาลหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงินซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดแต่ได้ผลน้อยที่สุด เพราะเมื่อใช้แล้วจบลงในคราวเดียว
วัฒนา กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้เคยสร้างวาทกรรมกล่าวหารัฐบาลเพื่อไทยที่ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวว่าเป็นประชานิยม อ้างว่าการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดทำให้รัฐขาดทุน ทั้งที่เป็นนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับราคาที่เหมาะสมและไม่ทำให้เสียวินัยเพราะไม่ได้เป็นการให้เปล่าเหมือนการแจกเงิน ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องตามมามากมาย การดำเนินนโยบายที่ถูกต้องทำให้เศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชนและเพื่อไทยดีมาตลอด เศรษฐกิจของประเทศจึงไม่เคยเข้าตาจนถึงขนาดต้องใช้มาตรการแจกเงินเหมือนที่รัฐบาลนี้และบางพรรคต้องนำมาใช้ แต่นายกยิ่งลักษณ์กลับถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
 
"การทำให้คนจนได้รับประโยชน์เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เพราะเศรษฐกิจไม่มีสีและฝักฝ่ายทางการเมือง แต่รัฐบาลต้องใช้สติปัญญาคิดหามาตรการทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง จะเกิดการลงทุนและการจ้างงานทำให้คนยากจนมีรายได้อย่างต่อเนื่องซึ่งดีกว่าการแจกเงิน ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อก็จะกลับคืนมาเอง ยอมรับได้หรือยังว่าการบริหารประเทศมีความสลับซับซ้อนที่ต้องใช้สติปัญญา ไม่ใช่เพียงใช้วาทกรรมไปวันๆ แบบที่เป็น ก็ขนาดผู้คนทั้งโลกเห็นว่าเป็นการแจกเงิน นรม. ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่แต่เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จริงควรบอกว่าการรับจำนำข้าวเป็นประชานิยมส่วนการแจกเงินเป็นประชารัฐ จะได้ดูมีสติปัญญามากขึ้น" วัฒนา โพสต์
 
สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้สรุปสาระสำคัญไว้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสัญญาณชะลอตัว  แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง  แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรมีความเสี่ยงด้านรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภค  ซึ่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559  ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว ดังนั้น  เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดตามโครงการ ฯ กค. จึงเห็นควรให้มีมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรด้วย
 
กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขและวิธีดำเนินการสำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร ดังนี้ คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ เป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันที่ 15 ส.ค. 2559 และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในปี 2558 โดยมีการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นจากกรมสรรพากร  และกรมการปกครองแล้ว ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วไม่ปรากฎชื่อให้นำเอกสารหลักฐานที่ธนาคารผู้รับลงทะเบียนให้ไว้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารที่ตนไปลงทะเบียนภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2559 จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรจำนวน 5.4 ล้านคน
สำหรับเกณฑ์การช่วยเหลือนั้น ใช้เส้นทางความยากจนที่คำนวณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเกณฑ์ โดยกำหนดอัตราเงินช่วยเหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิ์และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ดังนี้ ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท / ปี อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 3,000 บาท / คน ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 3.1 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้ 9,300 ล้านบาท ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาท / ปี ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท /ปี  อัตราเงินช่วยเหลือ (ให้เพียงครั้งเดียว) 1,500  บาท / คน  ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคน ประมาณการวงเงินที่ใช้  3,450 ล้านบาท    ประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิ์ 5.4 ล้านคน และวงเงินที่ใช้ 12,750 ล้านบาท
วิธีการโอนเงิน ให้ ธ.ก.ส. ธ.ออมสิน และ ธ. กรุงไทย  ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรที่ลงทะเบียนตามโครงการฯ ไว้กับธนาคาร โดยจำแนกเป็น 2 กรณี ดังนี้ กรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าของธนาคาร : ให้ธนาคารโอนเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์โดยตรง โดยให้ผู้มีสิทธิ์สามารถตรวจสอบเงินในบัญชีของตนภายใน 7 วัน  นับแต่วันที่ธนาคารแจ้งการโอนเงินหากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้สิทธิ์มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี  ธนาคารจะทำการโอนเงินเข้าในบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด  กรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร :  ให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการฯ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีหลังจากเปิดบัญชีภายใน 7 วัน  หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิกับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ ทั้งนี้  ให้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การโอนเงินข้างต้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์  ตามมาตรการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วย  กรอบระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 1 - 30 ธ.ค. 2559

คลิปประยุทธ์ร่วมออกกำลังกายกับข้าราชการในทำเนียบ ทั้งแอโรบิค-เซตวอลเลย์บอล


พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกับข้อราชการทำเนียบรัฐบาล เต้นแอโรบิค พร้อมโชว์เซตและอันเดอร์ลูกวอลเลย์บอล หลังมีนโยบายให้ขรก.ทั่วประเทศออกกำลังกาย
23 พ.ย. 2559 หลังจากวานนี้ (22 พ.ย.59) การประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี รายงานผลการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรม ทางกาย โดยผลการประชุมดังกล่าวระบุว่าในเด็กและผู้สูงอายุของคนไทยมีกิจกรรมเหนือยนิ่ง อาทิการนั่งเล่น iPad หรือดูทีวีในวันหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงกำหนดว่าในวันพุธที่ 30 พ.ย. นี้เป็นต้นไป ทุกๆวันพุธของทำเนียบรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ในช่วงเวลา 15:00 น. ถึง 16:30 น. ให้เป็นช่วงเวลาการออกกำลังกายของข้าราชการ โดยในส่วนของทำเนียบรัฐบาลจะใช้บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เป็นที่ออกกำลังกายโดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าหากสัปดาห์ใดที่นายกฯ มีเวลาว่างก็จะมาร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยในช่วงเวลาดังกล่าวขอให้ข้าราชการทุกคนนะเปลี่ยนเสื้อผ้าเพราะชุดพร้อมออกกำลังกาย มาออกกำลังกายร่วมกันเพื่อเป็นการขยับเขยื้อนร่างกาย โดยไม่ต้องลงทุนซื้อหาชุดออกกำลังกายใหม่ ทั้งนี้การออกกำลังกายจะช่วยให้ข้าราชการมีความตื่นตัวในการทำงานและเมื่อออกกำลังกายร่วมกันเสร็จแล้ว สามารถไปประกอบกิจวัตร ประจำวันเช่นการรับส่งลูกได้ต่อไปตามปกติ
ล่าสุดวันนี้ (23 พ.ย.59) พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกับข้าราชการออกกำลังกาย ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนอกจากเต้นแอโรบิคแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังนำลูกวอลเลย์บอล มาเซตและอันเดอร์ด้วย