วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทหารบุกบ้าน ‘บุญยืน ศิริธรรม’ อ้างปลุกระดมคนไปชุมนุม ร่ำรวยผิดปกติ

ภาพทหารที่บุกมาบ้านบุญยืน ซึ่งหลานของบุญยืนส่งมาให้เธอ ก่อนที่ทหารจะขอให้ลบภาพทั้งหมด
              ทหาร 8 นายบุกบ้าน บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้บริโภคและปฏิรูปพลังงาน อ้างปลุกระดมคนไปชุมนุม ร่ำรวยผิดปกติ เจ้าตัวชี้เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน พร้อมอัดการข่าวทหารมั่ว
             เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2557 บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้บริโภคและปฏิรูปพลังงาน โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Boonyuen Siritum’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์และมาที่บ้านของตนเอง ที่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ช่วงเช้า(22 ต.ค.) โดยกล่าวหาว่าตนเป็นผู้ปลุกระดมคนไปชุมนุม
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถาม บุญยืน กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุนั้น กลุ่มหมอกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี จะไปยื่นจดหมายคัดค้านการอนุญาตสัมปทานบ่อขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตนก็รับทราบและไปทำงานปกติ โดยออกจากบ้านแต่เช้า ระหว่างทางได้รับโทรศัพท์จากหลานที่บ้านแจ้งว่าทหารโทรหาและกล่าวหาว่าตนปลุกระดมคน ตนจึงให้หลานแจ้งกับทหารว่าไปประชุมที่สำนักงาน กสทช.
             หลังจากนั้นยังไม่ทันได้ประชุมหลานก็โทรมาแจ้งอีกว่าทหารมาเต็มบ้านแล้ว โดยเข้ามา 2 คัน รวม 8 นาย มาในเครื่องแบบ พร้อมอ้างกฎอัยการศึกไม่ต้องใช้หมายค้นและไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ตนจึงขอให้หลานยื่นโทรศัพท์ให้คุยกับทหาร และได้ถามถึงสาเหตุที่มา ทหารจึงแจ้งว่าจะเข้ามาคุยว่าตนปลุกระดมคน ตนจึงบอกว่าข่าวทหารมั่วเกินไปแล้ว ตอนนี้มาประชุมเพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานตรวจสอบคูปองทีวีดิจิตอล การที่ทหารมาแบบนี้ทำให้ญาติพี่น้องก็ตกใจมาก รวมทั้งทหารยังอ้างด้วยว่ามีคนแจ้งเข้ามาว่าบ้านบุญยืนนี้ร่ำรวยผิดปกติ
           “การข่าวทหารเป็นยังไง หาว่าเราระดมคน ใครถูกเราระดม ระดมด้วยวิธีไหน ทหารเขาบอกว่ามาจากองทัพบกราชบุรี บอกว่ามีคำสั่งจากส่วนกลาง อยากจะรู้ว่าส่วนกลางคือใคร” บุญยืน กล่าว นอกจากนี้ ยังวิจารณ์การข่าวของทหารด้วยว่าเป็นแบบนี้จึงทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่สงบ พร้อมกล่าวด้วยว่า “อำนาจอย่าใช้ฟุ่มเฟือย และอำนาจควรจะใช้กับคนเลวไม่ใช่ใช้กับคนดี”
             “เรามีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร ดังนั้นจึงรู้สึกว่านี่เป็นการคุกคาม” บุญยืนกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างความไม่พอใจกับตนเป็นอยางมาก
                    “ถ้าเป็นคนเลวร้ายชาวบ้านจะเลือกไหม เป็น ส.ว.สมุทรสงครามที่ไม่ต้องใช้เงินเลย เป็นแม่กลองโมเดล แล้วคุณมาทำอย่างนี้หรือ ล่าสุด ท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ให้คนโทรมาทาบทามเป็นที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์ด้านการเมือง ไม่ได้ต้องการจะใช้เส้นสาย เป็นคนตรงไปตรงมา งานที่ทำอยู่นั้นมั่นใจว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงเลย” บุญยืน กล่าว
หนังสือเชิญประชุมตรวจสอบคูปองทีวีดิจิตอล ซึ่งบุญยืน โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊ก 
             ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา บุญยืน พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย รวม 8 คน ถูกกักตัวไว้ที่ห้องขังกองปราบปราม ตามอำนาจ กฎอัยการศึก หลังร่วมเดินประชาสัมพันธ์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา

ทหารขับมอเตอร์ไซค์ถ่ายบ้าน ‘สนธิ ลิ้มฯ’ อ้างมาหาผู้นำชุมชน

ภาพเหตุการณ์เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (23 ต.ค. 57)
              จิตตนาถ ลิ้มทองกุล เผยทหาร 4 นายขับมอเตอร์ไซค์ ทำท่าทีลับๆ ล่อๆ  ถ่ายรูปบ้านพักของ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อ้าง “มาหาผู้นำชุมชน” 
             เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2557 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้มีทหารกลุ่มหนึ่งรวม 4 นาย ซ้อนมอเตอร์ไซค์ 2 คัน เข้ามายังบริเวณบ้านพักของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะทำท่าทีลับๆ ล่อๆ โดยหยิบกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายทั้งด้านหน้า และด้านในบริเวณบ้านพัก
           “เมื่อเย็นวันนี้ราวห้าโมงกว่าๆ หลังจากคุยกับคุณสนธิ ผมได้ออกมานั่งหน้าบ้านบริเวนถนน สักพักมีทหาร 4 คนซ้อนมอเตอร์ไซค์สองคันเข้ามาจากทางถนนสุโขทัย ขับตรงมาจอดเทียบข้างหน้าบ้าน จากนั้นทหาร 4 คน ได้ลงมาแล้วล้วงทั้งกล้องถ่ายรูป รวมถึงโทรศัพท์มือถือออกมา ทำทีจะถ่ายออกไปทางเข้าจากปลายซอยทั้งสองด้าน แต่กลับกระหน่ำถ่ายภาพบ้านพักคุณสนธิ ที่ประตูรั้วเป็นหลัก จากนั้นมีการแยกย้ายเดินไปตามแนวรั้วแล้วถ่ายภาพเข้าไปในบริเวณบ้าน
          “เมื่อมีคนงานเปิดประตูรั้วออกมา ทหารก็กรูกันเข้ามาที่ประตู พยายามชะเง้อดูว่าสภาพในบ้านเป็นอย่างไร ผมเห็นว่ามันดูผิดปกติ จึงถ่ายรูปพวกทหารดังกล่าวเก็บไว้ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าถูกถ่ายรูป จึงหยุดการถ่ายรูปทำเป็นเดินสำรวจตามแนวรั้ว ซึ่งก็ไม่ได้ไปไกลกว่าบริเวณรั้วบ้าน” บุตรชายนายสนธิ ระบุ
           ต่อมาเมื่อมีการสอบถามถึงสาเหตุการมาถ่ายภาพที่บ้านพักดังกล่าว และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการอะไรหรือไม่ นายทหารคนหนึ่งก็แสดงท่าทีอึกอัก จากนั้นจึงตอบกลับมาว่า “มาหาผู้นำชุมชน” เมื่อผู้ดูแลบ้านแจ้งกลับไปว่า ผู้นำชุมชนอยู่อีกซอยหนึ่ง ทหารกลุ่มดังกล่าวจึงขึ้นมอเตอร์ไซค์ขี่กลับออกไปทางเดิม
           ด้านผู้ดูแลบ้านยังเปิดเผยด้วยว่า ไม่กี่วันก่อนก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว โดยมีกลุ่มทหารเจาะจงมาจอดรถบริเวณหน้าบ้าน เพื่อถ่ายรูปโดยบอกว่ามาพบผู้นำชุมชน
           “ผมได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกประหลาดในพฤติกรรมทหารในลักษณะนี้ ที่เจาะจงมาถ่ายรูปและพยามเช็กสภาพภายในบ้านคุณสนธิ คิดว่าเขาต้องมีเป้ารู้อยู่แล้วว่าบ้านใคร บ้านคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็ไม่ไกลก็ไม่เห็นไปตรวจสอบ ชุมชนอะไรตรงนี้ก็ไม่มี ซ้ำทางเข้าจากอีกฝั่งถนน ก็มีทหารประจำการประจำอยู่แล้ว และละแวกนั้นก็มีทหารเฝ้าอยู่หมด มันจะเป็นไปได้หรือไม่รู้ไม่ประสานว่าชุมชนที่มาตามหาอยู่ถนนไหน
             “ ผมเล่าเหตุการณ์และเอารูปให้คุณสนธิดูหมดแล้ว ส่วนรูปและคลิปจากวงจรปิด ก็เตรียมไว้แล้ว ซึ่งผมเป็นห่วงความปลอดภัยคุณสนธิมาก เพราะครั้งที่แล้วเมื่อปี 2552 ที่คุณสนธิถูกยิงก็ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เหมือนที่ปัจจุบันประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่แกอยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแอ็กชันอะไร ก็บอกคำเดียวถ้าผมหรือคุณสนธิเป็นอะไรไป ผมถือว่าผู้ใหญ่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรับผิดชอบในสวัสดิภาพของประชาชนอย่างพวกผม เพราะถือว่าท่านเอ็นดูเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องที่ห้องทำงานผมโดนยิงตอนออกกฎอัยการศึกก่อนปฏิวัติใหม่ๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจจะช่วยกันสืบค้นเลย” นายจิตตนาถ กล่าวทิ้งท้าย 

'ยงยุทธ มัยลาภ' แจงบริษัทรับพีอาร์รัฐบาล 114 ล้านรวมยอดมาตั้งแต่ปี 43


Fri, 2014-10-24 16:40

             "ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยกรณี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตั้งทีมสอบข้อมูล บริษัทพีอาร์ ระบุยอดงบ 114 ล้านบาทนั้น เป็นยอดจากการรับงานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นเวลา 14 ปี 64 งาน เผยขายหุ้นไปตั้งแต่ 30 ก.ค. แล้วเพราะเหนื่อย แต่บังเอิญไปได้งานธงฟ้าช่วง มิ.ย. ภรรยาเป็นคนเซ็นสัญญา

               24 ต.ค. 2557 ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูลรายละเอียด กรณีมีการตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของ ร.อ.นพ.ยงยุทธ ได้รับงานประชาสัมพันธ์งานธงฟ้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้งานประชาสัมพันธ์ จากหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก รวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 114 ล้านบาท ว่าบริษัทดังกล่าวเปิดมานานแล้ว มีพนักงานทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ตลอดมา มีทั้งเอกชนและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน และงานทุกงานประมูลงานได้มาจากหน่วยงานต่างๆ โดยสุจริต ซึ่งความจริงยอดงบ 114 ล้านบาทนั้น เป็นยอดจากการรับงานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นเวลากว่า 14 ปี ซึ่งเป็นงานจากรัฐบาลกว่า 64 งาน ไม่ใช่งานเดียวรับงบมา 114 ล้านบาท

          “ผมได้ขายหุ้นของบริษัทไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในราคาที่ถือว่าขาดทุน เพราะรู้สึกเหนื่อยกับการทำงานตรงนี้ ซึ่งก็มีคนสนใจ ที่จะมาซื้อ แต่ในระหว่างที่จะมีการซื้อขายกันนั้น ทีมงานก็ยังคงทำงานกันอยู่ และบังเอิญไปได้งานธงฟ้า เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน พอดีทางภรรยาผมจึงเป็นคนไปเซ็นสัญญา เนื่องจากเจ้าของใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาเริ่มดำเนินการได้ ทั้งนี้ผมยืนยันว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับงานธงฟ้าแต่อย่างใด เพราะช่วงนั้นผมมีงานโรงพยาบาลและงานโฆษกของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ต้องดูแลอยู่” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

           ส่วนรายละเอียดของการสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่จะให้คณะทำงานมาตรวจสอบนั้นตนคงต้องให้ทาง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป ตนคงไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้

           อนึ่งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูลรายละเอียดกรณีมีการตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ รับงานประชา สัมพันธ์งานธงฟ้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้งานประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก รวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และสาเหตุที่ นายกฯ สั่งให้คณะทำงานเก็บข้อมูลเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งนพ.ยงยุทธเป็นถึงโฆษกประจำสำนักนายกฯ ทั้งยังเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดนายกฯ จึงเกรงว่าจะมีผล กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลในช่วงที่กำลังเดินตามโรดแม็ป
 

ศูนย์ทนายความสิทธิชี้อัยการศึกทำกระบวนการยุติธรรมไทยไม่น่าเชื่อถือ


             24 ต.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ "การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ" ระบุการใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

แถลงการณ์

การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ

             จากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมตัวประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วง 10 วันที่ผ่านมา (15 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2557) ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่ 
  • 1. การจับกุมนาย อ. ในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
  • 2. การจับกุมนาย น. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีหมายจับ[1] 
  • 3. การควบคุมตัว เจ้าหนี้นอกระบบที่จังหวัดมหาสารคาม ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด[2] 
  • 4. การควบคุมนาง พ. เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีอาชญากรรม การหายตัวไปของครูญี่ปุ่น[3] และ 5. การบุกค้นบ้านของนาย บ. เพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คน โดยไม่มีหมายค้น[4]

           ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีดังต่อไปนี้

  • 1. การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นประธานแห่งคดี ย่อมมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความช่วยเหลือคดี สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา  แต่การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ฝ่ายทหารปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเข้าช่วยเหลือคดี ปฏิเสธที่จะแจ้งว่าได้ควบคุมตัวบุคคล ณ ที่ใด ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดโอกาสในการเตรียมคดี ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดเจตจำนงอิสระในการให้การ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดลง
  • 2. การควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ขาดกลไกการตรวจสอบ ภายใต้กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจกักตัวบุคคลเพื่อสอบสวนไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ผู้นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร  กรณีการควบคุมตัวเพียงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในรัฐที่เป็นนิติรัฐ การควบคุมตัวต้องผ่านการออกหมายโดยใช้อำนาจของศาลเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถตรวจสอบได้ และไม่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานฝ่ายใดมากเกินไป
  • 3. การใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ อำนาจตามกฎอัยการศึก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น กักตัวบุคคล สอบสวน ออกคำสั่งห้ามกระทำการต่างๆ และประกาศอำนาจศาลทหาร
            กรณีดังกล่าว ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 ที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมว่า ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา มีสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เปิดเผย มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีความสะดวกในการเตรียมการต่อสู้คดี มีทนายความ และมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา
  • 4. การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ตรงกับเจตนารมณ์ เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากภัยสงครามหรือการจลาจล โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม เหนือฝ่ายพลเรือน สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อรักษาอธิปไตยของรัฐ ปราศจากราชศัตรู โดยเร็วที่สุด

        แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หาใช่เรื่องภัยสงครามหรือการจลาจลไม่ แต่เป็นเพียงการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความแตกต่างทางความคิด หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายปกติจัดการได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์

          ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และออกประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย และประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นผลดีต่อประเทศตามวิถีทางอันดีของระบอบประชาธิปไตย

ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

  • [1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413778981
  • [2] http://news.springnewstv.tv/56873/ทหารบุกรวบแก๊งเงินกู้มหาสารคาม-คิดดอกเบี้ยสุดโหด
  • [3] http://thairath.co.th/content/458129
  • [4] http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56169

อัยการยื่นฟ้องแล้วคดีเจ้าสาวหมาป่า–ศาลสอบคำให้การ 2 จำเลยจันทร์หน้า


           24 ต.ค.2557 เวลาประมาณ 16.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของผู้ต้องหา 2 รายคดี 112 จากกรณีละครเจ้าสาวหมาป่า คือ ภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) และปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) แจ้งว่า วันนี้เป็นวันครบฝากขัง 7 ผลัด และอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ศาลไม่มีหมายเรียกนำตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำมาศาลในวันนี้ และมีกำหนดจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองมาศาลเพื่อสอบคำให้การในวันจันทร์ที่ 27 ต.ค.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวทางทนายจะเตรียมยื่นประกันตัวทั้งสองอีกครั้งโดยใช้ตำแหน่งของนักวิชาการ

            ทนายความกล่าวว่า โดยปกติเวลาฟ้องคดี จะต้องนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลด้วยแต่หากผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำ อาจไม่ต้องนำตัวมาก็ได้ และศาลมาสามารถเบิกตัวมาสอบถามคำให้การได้ในภายหลัง กรณีนี้คาดว่าศาลอาจอ่านคำฟ้องให้ผู้ต้องหาฟังทางเทเลคอนเฟอเรนซ์แล้ว


            ทั้งนี้ ปติวัฒน์ถูกจับเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2557 ขณะที่ภรณ์ทิพย์ถูกจับเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ทั้งคู่ถูกฝากขังยังเรือนจำตั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน ทนายความยื่นประกันตัวและคัดค้านการฝากขังหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

             ปติวัฒน์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่ภรณ์ทิพย์อายุ 26 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาเมื่อปีที่แล้ว 

            ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ต่อมาวันที่ 2 พ.ย. 2556 เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน ได้สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงดังกล่าวรวม 13 สถานีตำรวจ ประกอบด้วย 
  • 1.สน.คันนายาว กทม. 
  • 2.สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 
  • 3.สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 
  • 4.สภ.บางบาล จ.อยุธยา 
  • 5.สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา 
  • 6.สภ.เมือง จ.นครปฐม 
  • 7.สภ.เมือง จ.ราชบุรี 
  • 8.สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 
  • 9.สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร 
  • 10.สภ.เมือง จ.พิษณุโลก 
  • 11.สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 
  • 12.สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด 
  • 13.สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา
          ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ถูกจับตาและติดตามจากฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก โดยมีผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายรายถูกสอบถามอย่างหนักเกี่ยวกับความเกี่ยวพันและบุคคลที่รู้จักที่มีส่วนร่วมในการแสดงชุดนี้