วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์คนละฉบับ? ไม่ใช่สอนไม่จำหรือไม่เคยอ่าน



ประวัติศาสตร์คนละฉบับ? ไม่ใช่สอนไม่จำหรือไม่เคยอ่าน

22 กุมภาพันธ์, 2013 - 12:23 | โดย Pandit Chanroch...




มีข่าวว่าอดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลาคม 2516 ระดมกำลังตั้งกลุ่มกระทิงแดงและรวมตัวที่กองบัญชาการ 103 เมื่อวันที่ 20 ก.พ.56 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความทรงจำอันพร่าเลือนของคนเหล่านี้จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว

ผมได้เคยเขียน "ชีวประวัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และ 2519 ที่เชื่อมโยงไปถึงการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ว่า

“...การปฏิวัติในเดือนตุลาคม 2516 ยังผลให้เป็นการปลดปล่อยพลังเศรษฐกิจสังคมที่ก่อตัวใน ยุคการพัฒนาให้ทันสมัย พลังที่เกิดขึ้นใหม่นี้แสดงออกมาเป็นรูปธรรม ผ่านการรวมกลุ่มทางสังคม ทั้งในส่วนของขบวนการนักศึกษาและขบวนการชาวนา กรรมกร ขณะเดียวกัน ในส่วนของนักการเมืองก็มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ปัญหาการร่างรัฐธรรมนูญ14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นปัญหาดุลยภาพของสังคม (เสน่ห์ จามริก 2541: 20-23)

ภายหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 เมื่อคณะรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์เข้าดำรงตำ แหน่ง รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 1 ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติในยุคจอมพลถนอม กิตติขจรยังไม่หมดสมาชิกภาพ ได้มีเสียงเรียกร้อง จากประชาชนให้สมาชิกชุดนี้ลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ สมาชิกสภาฯ ชุดที่ 1 จึงได้เริ่มทยอยลาออกจนมีสมาชิกลดน้อยไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ในที่สุดได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติ[1]

สมัชชาแห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนในการ วางรากฐานการปกครองแผ่นดิน[2] โดยสมัชชาแห่งชาติจะประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือก สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวนหนึ่งขึ้นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยทรงพระราชดำริว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติควรมีคุณสมบัติกว้างๆ คือควรประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นตัวแทน กลุ่มผลประโยชน์ อาชีพ วิชาความรู้ตลอดจนทรรศนะและความคิดทางการเมืองให้มาก และกว้างขวางที่สุด สมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีจำนวนถึง 2,347 คน[3]

เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลเพียงแต่เป็นผู้คัดเลือกรายชื่อส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ทางสำนักพระ ราชวังเป็นผู้เลือก ทั้งนี้พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์แถลงว่า ประกาศพระ บรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ได้ทรงศึกษาระบบของประเทศต่างๆ และทรงหาทางที่จะให้ได้ผลในประเทศไทย ด้วยพระองค์เอง จากนั้นจึงได้ทรงดำเนินการอย่างเงียบๆ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในวันที่ 15 ตุลาคม 2516 และเก็บเป็นความลับ และทรงรับสั่งให้หลายๆหน่วยงานรวบรวมราย ชื่อผู้นำในกลุ่มต่างๆ โดยไม่ทรงเปิดเผยว่าจะทรงนำรายชื่อไปทำอะไร

นายนิสสัย เวชชาชีวะ รองโฆษกประจำทำเนียบนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าแม้จะมีการแต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ยังไม่ได้สลายตัว ทั้งนี้นายชมพู อรรถจินดา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งข้อสงสัยว่าการตั้งสมัชชาแห่งชาติอาศัยกฎหมายอะไรรองรับ ซึ่งรัฐบาลชี้แจงว่าตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 มาตรา 6 ระบุว่าการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะทรงใช้วิธีใด ก็แล้วแต่พระบรมราชวินิจฉัย และการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติก็เป็นวิธีหนึ่งเพื่อจะได้มา ซึ่งสภานิติบัญญัติ[4] (สมพร ใช้บางยาง 2519: 13-14)

ศูนย์ประสานงานสมัชชาแห่งชาติจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติได้รายงานตัวระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2516 ซึ่งเริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพื่อให้ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น ใช้วิธีแจกบัตรอวยพรปีใหม่ (ส.ค.ส.), บางคนใช้วิธีขอเลขหมายประจำตัวของสมาชิกท่านอื่นเพื่อจะได้ลงคะแนนสนับสนุนซึ่งกันและกัน (รัฐสภาสาร, 22:1 ธันวาคม 2516), บางกลุ่มก็มีการนัดหมายชุมนุมแลกเปลี่ยนความเห็นตามที่ ต่างๆเพื่อสนับสนุนคนหรือกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคชุมนุมกันที่โรงแรม พาร์เลียเมนต์, กลุ่มภาคอีสานมีมติให้เลือกตัวแทนจากจังหวัดในภาคอีสานจังหวัดใหญ่ จังหวัดละ 2 คน ส่วนจังหวัดเล็กจังหวัดละ 1 คน, กลุ่มที่คึกคักที่สุดกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่วัดสามพระยา จำนวนถึง 400 คน ทั้งยังมีผู้ที่ไปร่วมชุมนุมที่ไม่ใช่กำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ไปเพื่อเสียงสนับสนุนอีกกว่า 100 คน และมีการพาไปเลี้ยงอาหาร แจกของชำร่วย เป็นต้น (สมพร ใช้บางยาง 2519: 27-29)


ในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2516 ประธานที่ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ คือ
 พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, พระยามานวราชเสวี รองประธานคนที่ 1 และนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองประธานที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติคนที่ 2[5] เป็นการเปิดประชุม และเพื่อชี้แจงวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นจะเปิดให้มีการลงคะแนน ในวันที่ 19 ธันวาคม และตรวจนับคะแนนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยนับคะแนน[6]

แม้ว่าตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 จะกำหนดคุณสมบัติของ สมาชิกสภานิติบัญญัติไว้เพียงเป็นผู้มีอายุครบ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลับไม่ราบรื่นนัก เช่น มีผู้ซักถามว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี จะมีสิทธิได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ ซึ่งพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ชี้แจงในเบื้องต้นว่าไม่มีสิทธิได้รับเลือก และในส่วนของข้าราชการ ตุลาการว่ามีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่ องค์ประธานสมัชชา แห่งชาติทรงชี้แจงว่าไม่สมควรที่ตุลาการจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพราะตามหลักการ แล้วควรแยกอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัติออกจากกัน แต่ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งรวม 64 คน ได้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่อง สิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยลงมติกันว่าสมควรมีสิทธิได้รับเลือก เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยเสียง 60 ต่อ 4 เสียง ด้วยเหตุผลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้คนทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนในการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ในที่สุดก่อนจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ องค์ประธานสมัชชาแห่งชาติ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงชี้แจงว่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์หรือ ข้าราชการตุลาการ มีสิทธิที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่กรณีที่ผู้ที่มี อายุต่ำกว่า 35 ปี บริบูรณ์จะมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้หรือไม่นั้น เป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สมพร ใช้บางยาง, 2519, น.26)

เมื่อทราบผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 มีผู้ได้รับเลือกตามคะแนนสูงสุด 299 คนแรก ปรากฏว่ามีผู้ที่คุณสมบัติไม่ครบตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ถึง 3 ท่าน คือ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช, นายขรรค์ชัย บุนปานและนายสุทธิชัย หยุ่น โดยทั้ง 3 คนมีอายุไม่ครบ 35 ปีบริบูรณ์ จึงมีการถกเถียงกันว่าควรจะดำเนินการอย่างไร อาจถึงขั้นต้องแก้ไข ธรรมนูญการปกครองฯ ซึ่งคงไม่เหมาะสมเพราะเป็นการแก้ไขที่มีขั้นตอนยุ่งยากและเป็นไปเพื่อ คนไม่กี่คน แต่ที่ประชุมฯ มีข้อสรุปว่าให้เลื่อนผู้มีคะแนนเสียงรองลงไป 3 คนขึ้นมาแทนทั้ง 3 คนนี้ (สมพร ใช้บางยาง 2519: 30)

จนในที่สุดก็สามารถคัดรายชื่อผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและคะแนนสูงสุด 299 คนแรก เพื่อขอพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[7] ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ยกเว้นนักแสดงและศิลปิน
ถึงแม้ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีที่มาที่หลากหลายทั้งอาชีพและการศึกษาและมีนักการเมืองในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ก็ได้มีการรวมตัวกันหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักกฎหมายหรือ กลุ่มเวียงใต้ ซึ่งนำโดย คุณหญิงแร่ม พรหมโมบล บุณยประสพ[8] (เดลินิวส์, 12 เมษายน 2517), กลุ่มชาวปักษ์ใต้, กลุ่มผู้หญิง, กลุ่มทหาร, กลุ่มนักวิชาการ (สมพร ใช้บางยาง 2519: 206) และโดยเฉพาะกลุ่มดุสิต 99[9] นับเป็นกลุ่มที่มี “อิทธิพล” มากที่สุดในสภานิติบัญญัติ นอกจากจะเป็นเพราะจำนวนสมาชิกแล้ว ยังรวมไปถึงคุณวุฒิ สถานภาพของสมาชิกกลุ่มที่ ประกอบด้วย ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง, ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ, ข้าราชการชั้นพิเศษ, นักวิชาการ, นายธนาคารและนักธุรกิจ ซึ่งต่างมีเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน (ประชาชาติ, 1:22, 18 เม.ย. 2517 และ 1:23, 25 เม.ย. 2517)

กลุ่มดุสิต 99 แสดงบทบาทชัดเจนครั้งแรกเมื่อมีการพิจารณาร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ คณะปฏิวัติฉบับที่ 53 อันจะมีผลให้สามารถติดต่อค้าขายกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนจีน และมีนัยของการนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตได้ กลุ่ม 99 ถึงกับประกาศสนับสนุนรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยให้เหตุผลว่าหากรัฐบาลแพ้มติก็จะต้องลาออก

อย่างไรก็ดี กลุ่ม 99 ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ หากต้องการจะเป็น “รัฐบาลที่สอง” ของประเทศไทย ไม่ยอมทิ้งคราบของความเป็นข้าราชการ แม้ว่าจะเข้ามาทำหน้าที่คล้ายตัวแทนประชาชนในรัฐสภา กังวลแต่ “เสถียรภาพของรัฐบาล” เพื่อคอยละแวดระวังผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า อีกทั้งยังทำให้สภาไม่เป็นสภาที่จะถ่วง ดุลอำนาจกับรัฐบาลอีกต่อไป(ประชาชาติ, 1:23, 25 เม.ย. 2517) นายเกษม จาติกวณิช ห้วหน้ากลุ่ม 99 อ้างว่าโดยสถานภาพของกลุ่มแล้วจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อป้องกันตัวเอง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการไม่มีสิทธิป้องกันตัวเองมากนัก สำหรับบทบาทของ กลุ่มดุสิต 99 ในการร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นได้จากการเสนอขอเลื่อนการแต่งตั้งคณะกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ[10] ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นการทำลายค วามราบรื่นและดีงามของการพิจารณากฎหมาย และเป็นครั้งแรกที่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง กรรมาธิการ อันเป็นช่องทางให้มีการหาเสียงแข่งขันเพื่อเป็นกรรมาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มดุสิต 99 มีผู้ได้รับเลือกจำนวน 20 คนจากจำนวนคณะกรรมาธิการ 35 คน (ชาวไทย, 9 เมษายน 2517)[11]

“อิทธิพล” ของกลุ่มดุสิต 99 จะเห็นได้ชัดเมื่อรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ (ชุดที่ 1) ได้กราบถวายบังคมลาออก หลังจากที่นายสัญญาประกาศยอมรับตำแหน่งอีกครั้ง นายแถมสิน รัตนพันธ์ได้แถลงว่ากลุ่ม 99 มีสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 9 ท่าน และทราบรายชื่อ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเปิดเผยรายชื่อถึง 2 วัน ซึ่ง “ทำให้แลเห็นได้เด่นชัดว่า “กลุ่ม 99“ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเพียงไรต่อวิถีทางการเมืองไทยในระยะนี้และระยะต่อๆ ไปในอนาคต” (ชาวไทย, 5 มิถุนายน 2517) นอกจากนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มเสรีธรรม และอ้างว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นแกนนำโดยเชิญข้าราชการผู้มีชื่อเสียงจากกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อจัดตั้งกลุ่มเสรีธรรมซึ่งจะมี ดร.ป๋วยเป็นประธาน (โพธิ์ แซมลำเจียก 2517: 278) แต่ ดร.ป๋วยปฏิเสธข่าวการรับตำแหน่งทางการเมืองมาโดยตลอด

กลุ่มนอกสภานิติบัญญัติที่มีความสำคัญอีกกลุ่มคือ กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช.) แกนนำสำคัญคือนายธีรยุทธ บุญมี นายชัยวัฒน์ สุรวิชัย กลุ่ม ปช.ปช.ถือว่า เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดและสามารถ “เข้าถึงตัว” นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ได้ ทั้งยังสามารถส่งผ่านความเห็นที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล รวมไปถึงการเปลี่ยนตัว รัฐมนตรีบางคนในชุดรัฐบาลสัญญา 2 (ประชาชาติ, 1:28, 30 พฤษภาคม 2517) กลุ่ม ปช.ปช. มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในระยะแรก ถึง 9 ประเด็น ได้แก่ การกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง, การกำหนดให้วุฒิสมาชิกสามารถเป็นรัฐมนตรีได้, การปกครองท้องถิ่นที่อนุญาตให้ราษฎรเลือกตั้งเพียงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้ เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจ, การกำหนดให้ทหารมีหน้าที่ในการปราบจราจล, การให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งและเปิด โอกาสให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกทั้งๆ ที่เป็นข้าราชการ, ไม่กำหนดการปฏิรูปที่ดินไว้ในรัฐธรรมนูญ, ไม่ระบุเสรีภาพในการนับถือลัทธิทางการเมือง และไม่กำหนดว่าการทำสัญญาผูกพันทางการทหารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (ประชาชาติ, 1:15, 28 กุมภาพันธ์ 2517)

นอกจากนี้ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างขบวนการนักศึกษากับนักศึกษาอาชีวะ จนนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ นักเรียนอาชีวะ ซึ่งมีแกนนำคือนายสุชาติ ประไพหอม เป็นเลขาธิการศูนย์ฯ[12], นายพินิจ จินดาศิลป์ และนายธวัชชัย ชุ่มชื่น รองเลขาธิการฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ (ประชาชาติ, 1:47, 10 ตุลาคม 2517) สาเหตุประการหนึ่งคือความรู้สึกว่านักเรียนอาชีวะไม่เสมอภาคกับนิสิตนักศึกษา และประการสำคัญ ศูนย์นักเรียนอาชีวะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากศนท. จึงหันไปพึ่งหน่วยงานของรัฐเพื่อเป็น ที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ ความขักแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีศูนย์นิสิตนักศึกษาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ประเด็น ในระหว่าง ที่สภานิติบัญญัติกำลังพิจารณาในวาระที่ 3 นั้น เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2517 ศนท.จัดอภิปราย คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ท้องสนามหลวงใน 4 ประเด็น ได้แก่ การตัดสิทธิของผู้มีอายุ 18 ปี มิให้ลงคะแนนเลือกตั้ง, การตัดสิทธิของผู้มีอายุ 23 ปี มิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง, การมีสองสภา และการยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาประจำในประเทศไทยโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

จากนั้น ในวันที่ 19 กันยายน 2517 ซึ่งเป็นวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดให้มีการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ศนท.ได้ออกจดหมายเปิดผนึกแจกจ่ายสื่อมวลชนและ สมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่เมื่อนักศึกษานำไปยื่นแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ในระหว่างการ ประชุมได้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติเสนอให้พิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา จึงมีการพิจารณาว่าควรจะทบทวนเรื่องอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่, เรื่องอายุของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอีกหรือไม่ และควรจะแยกเป็น 2 สภาหรือสภาเดียว ถ้ามีสองสภาวุฒิสมาชิกควรมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ผลการลงมติมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 137 ต่อ 50 , 131 ต่อ 45 เสียง และ 124 ต่อ 45 เสียงตามลำดับ (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.135-138)[13] จึงไม่มีการพิจารณาข้อเสนอของนิสิตนักศึกษาที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อทราบผลการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแล้ว กลุ่มนักศึกษาจึงเดินขบวนมาชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเวลา 3 วัน จน ศนท.ต้องเข้าร่วมการประท้วง (ประชาชาติ, 1:46, 3 ตุลาคม 2517 และ 1:48, 17 ตุลาคม 2517)

ในวันที่ 20 กันยายน 2517 กลุ่มนักเรียนอาชีวะนำโดยนายพินิจ จินดาศิลป์ ได้แยกตัวไป ชุมนุมที่สนามหลวงประณามการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าเป็นข้อเรียกร้องของนิสิต นักศึกษาที่หวังเป็นผู้แทนในอนาคต และหากมีการชุมนุมยืดเยื้อถึงวันที่ 5 ตุลาคมซึ่งเป็นวันลงมติ ในวาระที่ 3 ศูนย์นักเรียนอาชีวะก็จะเข้า “จัดการ” กับกลุ่มที่ประท้วงรัฐธรรมนูญ

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีได้พยายามประนีประนอม[14]เพื่อให้เลิกการชุมนุม คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยทำบันทึกลงวันที่ 21 กันยายน 2517 ชี้แจงว่าถ้าหากสภาฯ ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 รัฐบาลก็จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สภาฯ พิจารณาโดยเร็วที่สุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น “สมาชิกสภาฯก็คงเล็งเห็นเจตจำนงของประชาชน และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุดเช่นกัน” และเชื่อว่าไม่กระทบต่อ กำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง ศนท.ก็ประกาศจุดยืนว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้มีการยกร่างใหม่ตามเจตนารมณ์ของ ประชาชน (ประชาชาติ, 1:46, 3 ตุลาคม 2517)

ส่วนหนึ่งที่ศนท.สลายการชุมนุมเพราะประเมินว่าหากการประท้วงบานปลายออกไปก็จะ กลายเป็นช่องทางให้มีการรัฐประหาร หลังจากที่ ศนท.สลายการชุมนุม กลุ่มนักเรียนอาชีวะกว่า 5,000 คน[15]ได้ไปชุมนุมหน้ารัฐสภาประกาศคัดค้านการดำเนินการของศนท.และสนับสนุน ให้สภานิติบัญญัติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ และมีการปาระเบิดพลาสติกเพื่อแสดง “แสนยานุภาพ” และเป็นการ “เตือน” แต่นายสุชาติ ประไพหอมแถลงว่าจะเก็บตัวเงียบในวันที่ 5 ตุลาคม 2517…”



แต่ “...ความล้มเหลวในการจัดสัมพันธภาพทางอำนาจภายใต้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และความระส่ำระส่ายของสังคมไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นับเป็นจุดจบของรัฐธรรมนูญที่มี “ความเป็นประชาธิปไตย” ฉบับหนึ่ง

ภาพสะท้อนความไร้เสถียรภาพทางการเมืองประการหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีช่วงระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้น ดังจะเห็นได้จากภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ด้วยคะแนน 152 ต่อ 111 เสียง รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ จึงพ้นวาระตามความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มาตรา 187 (2)

จากนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยบริหารประเทศระหว่างวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2518- 12 มกราคม พ.ศ. 2519 รัฐบาลถูกสภาผู้แทนราษฎรกดดันจนต้องประกาศยุบสภา

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งและได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2519 แต่ต้องประสบกับวิกฤตการณ์อีกครั้งจนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ อย่างไรก็ดี ม.ร.ว. เสนีย์ ยังคงได้รับความไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ดูลำดับเหตุการณ์ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2541 น.205-398)

คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่[16] ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน คณะปฏิรูปอ้างเหตุผลในการแถลงการณ์ว่า


“...ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธอันร้ายแรงที่ใช้ในราชการสงคราม โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สถานการณ์โดยทั่วไปก็เริ่มเลวลงเป็นลำดับ จนเกิดความระส่ำระส่ายขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏชัดแจ้งว่ารัฐมนตรีบางนาย และนักการเมืองบางกลุ่ม ตลอดจนสื่อสารมวลชนหลายแห่ง มีส่วนสนับสนุนอยู่อย่างแข็งขัน และออกนอกหน้า เหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวมานี้ ย่อมจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถรักษาสถานการณ์บ้านเมืองตามวิถีทางรัฐธรรมนูญไว้ได้ หากปล่อยไว้เช่นนี้ก็นับวันที่ประเทศชาติและประชาชนจะต้องประสบกับความวิบัติยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จนยากที่จะแก้ไข คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและเฉียบพลัน ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของชาติ และมิให้ประเทศไทยต้องตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์

อนึ่ง ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังมีรัฐสภาอยู่ แต่ก็เป็นที่แจ้งประจักษ์แก่ประชาชนแล้วว่านักการเมืองที่อยู่ในพรรคเดียวกันก็แตกแยกกันไม่ยึดถืออุดมคติพรรค และไม่ได้ปฏิบัติตามอาณัติที่ประชาชนได้มอบไว้ให้ ซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่ระบอบประชาธิปไตยจะดำเนินไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญได้…” (แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ใน ไพโรจน์ ชัยนาม, 2520, น. 114-115)


แม้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จะแถลงว่าเป็นการยึดอำนาจโดยไม่มีการเตรียมการมาก่อน (สยามรัฐ, 13 ตุลาคม 2519) แต่เป็นที่ทราบกันภายหลังว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดนี้ได้มีการเตรียมการกันมาก่อนหน้านี้นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยฝ่ายทหารได้ปรึกษากับนายธานินทร์เป็นระยะ ก่อนจะตัดสินใจช่วงชิงก่อรัฐประหารก่อนหน้าคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่ง (ยศ สันตสมบัติ, 2533, น.131-137) หรือระหว่างวิกฤต รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ กันยายน 2519 มีรายงานว่า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ทาบทามให้จอมพลถนอม ร่วมยึดอำนาจแต่ถนอมปฏิเสธ (ไทยนิกร, 2:23, 24 มี.ค. 21) แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าคณะใดเป็นผู้นำกำลังพลมาก่อความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในบรรดาความเคลื่อนไหวที่สำคัญยังรวมถึงการเคลื่อนไหวของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่าทหารหนุ่มซึ่งวัลลภ โรจนวิสุทธิ์ (2521: 20) กล่าวว่าเป็นคณะบุคคลที่ทำให้เกิดการปฏิรูปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยังมีบทบาทต่อเนื่องจนถึงการปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม 2520

ทั้งนี้ในด้านหนึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมิใช่เพียงแค่อุบัติเหตุทางการเมืองหากถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการใช้กำลังเพื่อจัดการความขัดแย้ง และเป็นรอยด่างของสังคมไทยมาจนทุกวันนี้ (สุรชาติ บำรุงสุข, 2541, น.41-43)[17]

ในทางตรงกันข้ามพลตรีประมาณ อดิเรกสาร กลับให้ความเห็นว่า 6 ต.ค.อุบัติเหตุทางการเมือง (ไทยนิกร, 1:8, 9 ธ.ค. 20)[18] …”

ถึงกระนั้น ในกรณีเมษายน 2552 ได้สะท้อนปัญหาในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ตัวละครเปลี่ยนไป ผมได้เขียนในบทนำวิภาษาฉบับที่ 18 (ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ลำดับที่ 18, 1 พฤษภาคม- 15 มิถุนายน 2552) มีความบางตอนที่สื่อให้เห็นปัญหาที่จะนำมาซึ่งการสร้างเงื่อนไขของการปราบปรามด้วยอาวุธสงครามในหนึ่งปีถัดมาว่า

“...ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องปกติพอๆ กับความขัดแย้งในสังคม เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมการเมือง ดังมีข้อถกเถียงกันว่าภายในรัฐหรือสังคมการเมืองเท่านั้นที่ชีวิตของมนุษย์จะงอกงามดีงามได้ เราเชื่อกันว่าความเห็นที่ต่างกันย่อมในไปสู่การถกเถียงหักล้างด้วยเหตุผล และเหตุผลที่ดีกว่าย่อมเหนือกว่าและมีชัยชนะและนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง เหตุผลจึงมิใช่สิ่งที่มีความเป็นกลาง อีกทั้งเหตุผลของมนุษย์ยังสังกัดกับช่วงชั้น วัฒนธรรม ประสบการณ์ ภูมิหลังและการหล่อหลอมทางสังคมที่เขาสังกัดหรือเลือกผูกพัน มากกว่าจะเป็นเหตุผลที่ปราศจากประโยชน์รองรับ บนหรือเหนือความขัดแย้งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประพฤติกรรมของมนุษย์จึงอยู่ระหว่างความถูกต้องและความต้องการของตนเองอยู่เสมอ

ภาพการปะทะกันระหว่างคนสีเสื้อต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเหลืองกับแดง, แดงกับน้ำเงิน , และแดงกับเขียว เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่น่าเสียใจก็คือการที่รัฐสนับสนุนให้มีกองกำลังนอกกฎหมายเข้ามา “จัดการฝ่ายตรงข้าม” แทนรัฐนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อนใจดำที่รัฐจงใจหยิบยื่นให้กับความเห็นต่างทางการเมืองทั้งๆ ที่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการอื่น

ยังต้องกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าสิทธิในการปกป้องถิ่นฐานที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่ จึงเท่ากับคืนสิทธิตามธรรมชาติให้ชาวบ้านต้องปกป้องตนเอง สภาวะของสงครามระหว่างกลุ่มคนจึงเกิดขึ้น การยกระดับผู้ชมมาเป็นผู้กระทำร่วมจึงโน้มเอียงเข้าหารัฐเพราะความรุนแรงเป็นทรัพยากรสุดท้ายที่มนุษย์จะกระทำต่อกันได้ การนิ่งงันของรัฐจึงเป็นการส่งสัญญาณและให้ท้ายกับการใช้ความรุนแรงโดยประชาชนเมื่อไตร่ตรองศึกษาจากประสบการณ์การใช้ความรุนแรงในต่างประเทศนั้น จะเห็นว่าแบบแผนของการใช้ความรุนแรงในระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็น ความเชื่อ ศาสนา และผลประโยชน์ต่างกันนั้นเกิดขึ้นโดยคนธรรมดา และยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงกระตุ้นเร้าของรัฐ กำเนิดของกลุ่มคลั่งที่เดือดแค้นตามแรงปลุกเร้าจึงเกิดโดยอัตโนมัติในแบบรากฝอย (rhizomic) มีหัวหน้ากลุ่มที่ตั้งตนขึ้นมาและปฏิบัติการโดยอิสระจากศูนย์บัญชาการ ทันทีเมื่อจบภารกิจของความรุนแรงแล้วก็ไปดำเนินชีพตามปกติโดยไม่ยี่หระต่อสิ่งที่ตนเองได้กระทำไป

พึงบันทึกไว้ด้วยว่าบรรดาแถวหน้าของกลุ่มกองกำลังเถื่อนโดยรัฐนั้นประสบชะตากรรมที่น่าเวทนาไม่น้อยไปกว่าผู้ถูกกระทำ เช่นดังที่นักวิชาการฝรั่งท่านหนึ่งบันทึกไว้ว่าว่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 บรรดากระทิงแดงนั้นถูกส่งไปรบในแนวหน้าที่มีความรุนแรงมากและพบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง คำกล่าวประเภท “เสร็จศึกฆ่าขุนพล” จึงสะท้อนความเลือดเย็น นิ่งเฉย ของรัฐ



นอกไปจากนี้ความเข้าใจเรื่องความรุนแรง (violence) ในสังคมไทยนั้นกลับถูกเว้นวรรคให้กับความสงบสามัคคี แม้จะมีการศึกษาและสร้างอรรถาธิบายเรื่องความรุนแรงว่ามีทั้งความรุนแรงเชิงกายภาพ (physical violence) กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) ซึ่งแบบแรกเป็นการใช้ความรุนแรงทางกายภาพเข้าจัดการ ในขณะที่แบบหลังเป็นความรุนแรงในระดับที่มองไม่เห็น แต่ปฏิบัติการของมันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ กล่าวอีกความหมายหนึ่ง การหลับตาข้างหนึ่งให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนเองก็เท่ากับสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพนั่นเอง

การ “ยินยอม” ให้กองทัพและกองกำลังเถื่อนปฏิบัติต่อการชุมนุมจึงสะท้อนความเถื่อนดิบในใจของเรา ที่ยอมให้เกิดความรุนแรงในระดับที่ “ทำให้ระบบเหตุผลมืดบอด” จนมองไม่เห็น “ความตาย” ของหลักการและเหตุผลว่าด้วยการจัดการกับความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง

มิพักต้องกล่าวถึงการ “เก็บเสียง” (silencing) ที่แตกต่างไปจากความคิดกระแสหลัก เช่น ผู้ที่ดำเนินการรับแจ้งคนหายจากการปะทะถูกข่มขู่ประนาม เผยชื่อ เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวและที่ทำงาน ในเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลี่ยดชังและประนามด้วยถ้อยคำต่างๆ นาๆ การเก็บเสียงจึงเป็นการใช้ความรุนแรงไปในระดับที่ไม่น้อยกว่าความรุนแรงทางกายภาพ

โฉมหน้าของความรุนแรงเชิงโครงสร้างอาจอัปลักษณ์น่าขยะแขยง ไม่แพ้เรื่องราวความดิบเถื่อนของเด็กๆ ในนวนิยายเรื่อง Lord of the Flies ของ William Golding ที่พรางใบหน้าด้วยสีสันเพื่อปลดปล่อยความป่าเถื่อนภายในออกมา

การขับไสคนที่มีความเห็นต่างให้อยู่ชายขอบหรือกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามนั้นทำได้ง่าย แต่จะคืนดี (reconcile) และการเยียวยาความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องยากและไถ่ถอนได้ยากยิ่ง

เหมือนหนทางข้างหน้าจะยังอีกยาวไกลสำหรับประชาธิปไตยแบบพหุลักษณ์ในสังคมไทย...”

บทนำวิภาษาฉบับนั้นเตือนไว้แล้วว่าหลังเสร็จศึก บรรดาโคกระทิงม้าใช้ทั้งหลายถูกส่งไปแนวหน้าและประสบกับความตายและความสูญเสีย วันนั้น คุณบวร ยสินทร อาจไม่ถูกส่งไปแนวหน้า แต่ก็เผยตัวให้เห็นว่าคนเหล่านี้อาจจะมองประวัติศาสตร์คนละฉบับกับเราจริงๆ

ขอบคุณที่แสดงตัวครับ



ป.ล. อ่านและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่

http://econ.tu.ac.th/archan/rangsun/โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส%20สกว/เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ/เอกสารวิชาการ/607%20ชีวประวัติรัฐธรรมนูญไทย%202475-2520.pdf





[1] แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 หลังจากประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ในส่วนของสภานิติบัญญัติ ก็มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2516 เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องให้ลาออกดังกล่าว ซึ่งสมาชิกแต่ละท่านมีความเห็นแตกต่างกัน บางท่านเห็นว่าควรจะลาออก บางท่านเห็นว่าควรจะอยู่ต่อไป เพื่อพิสูจน์ผลงาน แต่ไม่มีการลงมติแต่อย่างใด สำหรับสมาชิกสายทหารและตำรวจที่มีข่าวว่าจะร่วมกัน ยื่นใบลาออก เมื่อมีการสอบถามสมาชิกส่วนใหญ่กลับไม่ทราบเรื่อง จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคมเริ่มมีสมาชิกยื่นใบลาออกงวดแรก 185 คน รวมทั้ง พล.อ. ศิริ ศิริโยธิน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, และในวันถัดมามีการยื่นใบลาออกในงวดที่สองจำนวน 61 คน , วันที่ 13 ธันวาคม มีผู้ยื่นใบลาออกอีก 13 คน และในวันที่ 14 ธันวาคม มีผู้ยื่นใบลาออกเพิ่มเติมอีก 10 คน ยังคงมีผู้ที่ไม่ได้ยื่นใบลาออกอีก 11 คน (รัฐสภาสาร, 22:1, ธันวาคม 2516) ในบรรยากาศความเคลื่อนไหว ดังกล่าวคงจะต้องมีการ “รอมชอมและกดดันพอสมควร” (เสน่ห์ จามริก, 2529, น.376)


[2] โปรดดูประกาศแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภาสาร, 22:1, ธันวาคม 2516)


[3] การทำบัญชีรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเป็นไปอย่างรีบเร่ง ดังเห็นจากมีรายชื่อซ้ำซ้อน และยากที่จะ ระบุกรณีมีบุคคลที่ชื่อเหมือนกัน จนต้องตรวจสอบจากอายุ ที่อยู่และอาชีพ และมีรายชื่อบางท่านที่ถึงแก่กรรม, บางท่านนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล บางท่านไม่สามารถมารายงานตัวได้ทันจนต้องขยายระยะเวลา การลงทะเบียนถึงก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ในวันที่ 18 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติผู้นั้นไม่ได้มาลงทะเบียนรายงานตัว แต่ก็ถือว่ามีสิทธิที่จะได้รับเลือก ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถ้าหากมีคุณสมบัติครบถ้วน กล่าวคือ มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และมี สัญชาติไทยโดยกำเนิด (รัฐสภาสาร, 22:2, มกราคม 2517)

[4] แต่กระนั้น นายเลียง ไชยกาล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัยยังได้วิจารณ์ว่าสภานิติบัญญัติชุดที่ 2 ยังไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน เพราะไม่เข้าใจว่าสภานิติบัญญัติชุดที่ 2 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร นอกจากอ้าง ว่าเป็นการพระราชทาน และสภาฯ ควรจะมาจากการเลือกตั้งจึงจะถือว่ามีที่มาจากประชาชน (ประชาชาติ, 1:24, 2 พฤษภาคม 2517) นอกจากนี้นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาให้สัมภาษณ์ว่าภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมได้เข้าพบนายสัญญา ธรรมศักดิ์ “เมื่อแรกผมร่วมมือกับกลุ่มอาจารย์เสนอต่ออาจารย์สัญญาว่า ให้มีสมัชชาแห่งชาติไว้พิจารณารัฐธรรมนูญ โดยให้สมัชชานี้มาจากตัวแทนทุกอาชีพด้วยสัดส่วนยุติธรรม แต่ละอาชีพก็ให้มีเลือกตั้งภายในมาเป็นตัวแทน เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่ เมื่อ คนทุกหมู่เหล่าจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของประเทศอย่างแท้จริง อาจารย์สัญญาตอนนั้นก็มีท่าทีว่าจะเห็นด้วย แต่ไม่ทราบว่าทำไมภายหลังจึงออกมาในรูปแบบที่เราเห็นนี้” (ประชาชาติ, 1:48, 17 ตุลาคม 2517)

[5] เนื่องจากสมัชชาแห่งชาติจัดการประชุมที่สนามราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง สมัชชาแห่งชาติ จึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่าสภาสนามม้า สาเหตุที่เลือกสนามม้าเป็นสถานที่ประชุมเนื่องจากมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ช่วยนับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


[6] การนับคะแนนมีความยุ่งยากมาก โดยต้องแบ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็น 74 กลุ่มๆละ 72 คน และแต่ละกลุ่มก็จะมีบัตรวินและบัตรเพลซ จำนวน 16 คน ในการนับคะแนนจะปรากฏเป็นช่วงกลุ่ม โดยคอมพิวเตอร์จะรายงานผลตามลำดับคะแนนของสมาชิก การตรวจนับคะแนนเสร็จสิ้นในเวลา 6.30 น.ของวันที่ 20 ธันวาคม 2516(รัฐสภาสาร, 22:2, มกราคม 2517) ในการลงคะแนนนั้น สมาชิกสมัชชาแห่งชาติแต่ละ ท่าน จะสามารถเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ท่านละ 100 รายชื่อเท่านั้น (สมพร ใช้บางยาง, 2519, น.27)


[7] ในทางปฏิบัติจะต้องกราบบังคมทูลผลการลงคะแนนทั้งหมด เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง (รัฐสภาสาร, 22:1, ธันวาคม 2516)


[8] การรวมตัวของกลุ่มเวียงใต้มีประมาณ 50 คน (ชาวไทย, 9 เมษายน 2517)

[9] กลุ่ม 99 หรือกลุ่มวันพุธ หรือกลุ่มดุสิต 99 ก่อตั้งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2517 โดยมีแกนนำคือนายเกษม จาติกวณิชเป็นหัวหน้า มีกรรมการประกอบด้วย น.ต.กำธน สินธวานนท์ เลขาธิการ, นายแถมสิน รัตนพันธ์ ปฏิคม, คณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เหรัญญิก,ม.ร.ว.นิติวัฒน์ เกษมศรี นายทะเบียน, นายสนอง ตู้จินดา กรรมการ, นายจรูญ เรืองวิเศษ กรรมการ, นายเกษม สุวรรณกุล กรรมการ, คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการ และนายนิสสัย เวชชาชีวะ กรรมการ (ไทยรัฐ, 18 เมษายน 2517) กลุ่ม 99 ยังประกอบด้วยสมาชิกที่มี ชื่อเสียงอีกหลายท่าน ได้แก่ นายไพโรจน์ ชัยนาม, นายอมร จันทรสมบูรณ์ (กองทุนเกษมฯ, 2530, น.73) พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, นายอำนวย วีรวรรณ, นายบัญชา ล่ำซำ, นายบรรหาร ศิลปอาชา, นายเกียรติรัตน์ ศรีวิศาลวาจา, นายประกายเพ็ชร อินทุโสภณ และกลุ่มสารสิน คือนายพงษ์ สารสิน, พล.ต.ต.เภา สารสิน (ลัดดาวัลย์, 2535, น.109 และประชาชาติ, 1:25 เม.ย. 2517) นายเฉลิมชัย วสีนนท์ (ประชาชาติ, 26 กันยายน 2517) กลุ่มยังอ้างว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นสมาชิกของกลุ่ม (ไทยรัฐ, 23 กันยายน 2517) ที่มีถึง 99 คน และประมาณว่าอาจมีสมาชิกระหว่าง 112 คน (เดลินิวส์, 7 มิถุนายน 2517) ถึง 114 คน (ชาวไทย, 5 มิถุนายน 2517) อย่างไรก็ดี มีสมาชิกบางคนเป็น “นกสองหัว” คือสังกัดกลุ่มการเมืองอื่น เช่น กลุ่มกฎหมายหรือกลุ่มเวียงใต้ (เดลินิวส์, 12 เมษายน 2517)


[10] ผู้เสนอคือนายชมพู อรรถจินดา สมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม 99 (ชาวไทย, 4 เมษายน 2517)


[11] ข้อมูลบางกระแสระบุว่ามีสมาชิกกลุ่ม 99 เป็นกรรมาธิการถึง 24 คน (เดลินิวส์, 7 มิถุนายน 2517) แต่ในประชาชาติรายสัปดาห์ระบุว่ามีกรรมาธิการที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 99 ที่เหนียวแน่น 19 คน ส่วนอีก 4 คนค่อนข้าง “เสมอนอก” (ประชาชาติ, 1:22, 18 เมษายน 2517)


[12] นายสุชาติได้ชื่อว่าเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มกระทิงแดง


[13] คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชตภาคย์ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม 99 อภิปรายแสดงความเห็นในทาง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิสิตนักศึกษาโดยกล่าวว่า “ปัจจุบันกฎหมู่มีเสมอ การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมา เรียกร้องก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นมติมหาชน ถ้าปล่อยให้ลงคะแนนอีกครั้ง คราวต่อไปก็ทำได้ แล้วการพิจารณาที่ผ่านมาจะมีประโยชน์อะไร” (ประชาชาติ, 1:46, 3 ตุลาคม 2517)


[14] นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับ รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีมหาดไทย, อธิบดีกรมตำรวจและ น.ต. กำธน สินธวานนท์ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม 99 เพื่อหาทางออก และได้เชิญ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เข้าร่วมหารือ


[15] ในประชาชาติรายสัปดาห์ระบุว่ามีนักเรียนอาชีวะนับหมื่นคนเข้าร่วมชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ประชาชาติ, 1:47, 10 ตุลาคม 2517)


[16] พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519


[17] ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้ถูกจับกุมรวม 3,154 คน เมื่อสอบสวนแล้วมีการปล่อยตัวครั้งแรก 3,080 คน คงเหลือ 74 คน ซึ่งได้รับการประกันตัว 51 คน ควบคุมตัวไว้ 23 คน จนกระทั่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 มีผู้ต้องหาถูกส่งฟ้องศาลจำนวน 18 คน (ดูแถลงการณ์รัฐบาล เรื่องกรณีผู้ถูกจับกุมเนื่องในเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใน ธวัช สุจริตวรกุล, 2521, น.339-341) และต่อมาได้รับนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2521 ซึ่งครอบคลุมผู้ซึ่งเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวทุกคน (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (2540), ศรพรหม วาศสุรางค์ (2535), ธวัช สุจริตวรกุล (2521) เป็นต้น และข้อมูลในอีกกระแสหนึ่งที่ให้ภาพตรงกันข้าม เช่น พลตรีประมาณ อดิเรกสาร (2520) นายหนหวย (2521)


[18] ดู นรนิติ เศรษฐบุตร (2542) ราชครูในการเมืองไทย

ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112"


อภิปราย: "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112"

ในเวที "ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 56 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงหนึ่งมีการเสวนาหัวข้อ "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" โดยวาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ประชาไทได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง [1][2][3])
เสวนา "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" ช่วงแรก อภิปรายโดยวาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก และสาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์ (รับชมแบบ HD)
เสวนา "ศาลกับ "ความยุติธรรม" ในคดีมาตรา 112" ช่วงที่สอง อภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (รับชมแบบ HD)
 
โอกาสนี้ขอนำเสนอวิดีโอการอภิปรายของการเสวนาหัวข้อดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการอภิปรายโดยวาด รวี และสาวตรี สุขศรี โดยวาด รวี ได้ตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของศาล ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากบทความที่เผยแพร่ในนิตยสาร Voice of Taksin (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ขณะที่สาวตรี สุขศรี นักวิชาการจากคณะนิติราษฎร์ อภิปรายในเรื่องคำตัดสินในคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ทั้งเรื่องการผลักภาระการพิสูจน์ให้จำเลย และการตัดสินที่ขัดกับหลักพิสูจน์จนสิ้นสงสัย กระบวนการพิจารณาคดีที่มีการตัดพยานจำเลย และการที่ผู้พิพากษาก้าวล่วงไปในอำนาจนิติบัญญัติโดยกำหนดเหตุแห่งการปล่อยตัวชั่วคราวขึ้นมาเอง นอกเหนือจากที่กำหนดในกฎหมาย (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ช่วงวิดีโอในช่วงที่สอง เป็นการอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่ผู้ต้องหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สมยศ พฤกษาเกามสุข และเอกชัย หงส์กังวาน โต้แย้งไปที่ศาล รัฐธรรมนูญว่ามาตรา 112 ขัดมาตรา 3 ซึ่งเป็นหลักนิติธรรม ขัดมาตรา 25 ประกอบมาตรา 29 ซึ่งกระทบกับเสรีภาพมากจนเกินไป โดยปิยบุตรได้นำคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่านมาอ่านประกอบ และเสนอว่า "คำวินิจฉัยนี้เป็นการเปลือยแก้ผ้าให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้าท่านว่ามีความคิดแบบใด ความสามารถในการใช้และตีความรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพบุคคล จะสิ้นสุดลงทันที ไร้ความสามารถทันที เมื่อเจอกับกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์" (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้เป็นการอภิปรายโดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งได้ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

7 ชนชั้นยุคใหม่ในอังกฤษ


7 ชนชั้นยุคใหม่ในอังกฤษ 

จากการสำรวจของนักสังคมศาสตร์และ BBC

นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษร่วมกับสำนักข่าว BBC ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างราว 160,000 คน ทำให้สามารถแบ่งกลุ่มชนชั้นในยุคสมัยใหม่ โดยอาศัยปัจจัย 'ทุน' สามด้าน คือทุนทางเศรษฐกิจ, ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม ทำให้เห็นความหลากหลายมากกว่าการแบ่งชนชั้นแบบดั้งเดิมที่วัดแค่ด้านทุนทางเศรษฐกิจ
<--break- />
3 เม.ย. 2013 - ไมค์ ซาเวจ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน และฟิโอน่า ดีไวน์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ นำเสนอผลการวิจัย 'การสำรวจเรื่องชนชั้นของสหราชอาณาจักร' (The Great British Class Survey) พบว่าชนชั้นในอังกฤษมีโครงสร้างแบ่งได้เป็น 7 รูปแบบชนชั้น จากชนชั้นนำหรืออีลีท (Elite) ซึ่งอยูู่สูงสุด ไปจนถึงกลุ่มผู้ที่ขาดความมั่นคงในชีวิตหรือพรีคาเรียท (Precariat) ซึ่งอยู่ต่ำสุด
งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2011 จากความช่วยเหลือของ BBC Lab ทำการเก็บข้อมูลโดยให้ผู้อ่าน BBC ทำแบบสอบถาม ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องชนชั้นในหลายแง่มุม
การสำรวจดังกล่าวเป็นการจัดลำดับชนชั้นแบบใหม่ซึ่งไม่ได้มาจากงานที่ทำ แต่มาจากความแตกต่างในด้านเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และทรัพยากรทางสังคม หรือ 'ทุน' ในด้านต่างๆ ที่คนนั้นๆ มีอยู่
แบบสำรวจดังกล่าวสอบถามเรื่องรายได้ ราคาบ้านและเงินออม ซึ่งจัดเป็น 'ทุนทางเศรษฐกิจ' เรื่องความสนใจและกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งถือเป็น 'ทุนทางวัฒนธรรม' เรื่องจำนวนและสถานะของผู้คนที่พวกเขารู้จักซึ่งจัดเป็น 'ทุนทางสังคม'
BBC เปิดเผยว่ามีผู้ทำแบบสอบถามราว 160,000 คน ทำให้การสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจเรื่องชนชั้นที่มีกลุ่มตัวอย่างมากที่สุดในสหราชอาณาจักร

ผลการสำรวจ 7 ชนชั้นยุคใหม่ของอังกฤษ
BBC ระบุว่า ผลสำรวจล่าสุดสามารถแบ่งแบบจำลองชนชั้นได้เป็น 7 แบบได้แก่ ชนชั้นนำ (Elite) ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษสูงสุดจากการที่มี 'ทุน' จากทั้งสามด้านคือด้านเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และทางสังคม การมีทุนสูงในทั้งสามด้านนี้ ทำให้พวกเขาอยู่ห่างจากชนชั้นอื่นๆ
ชนชั้นถัดมาคือ ชนชั้นกลางที่มีสถานะมั่นคง (Established Middle Class) ชนชั้นนี้มีทุนทั้งสามด้านในระดับสูง แต่ไม่สูงเท่ากลุ่มชนชั้นนำ เป็นกลุ่มชนชั้นที่ชอบอยู่เป็นกลุ่ม และมีการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม
ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นกลางเฉพาะด้าน (Technical Middle Class) เป็นชนชั้นใหม่ที่มีจำนวนไม่มาก มีทุนทางเศรษฐกิจสูง แต่มีการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมน้อยกว่า พวกเขามีเส้นสายทางสังคมอยู่ค่อนข้างน้อย จึงมีการเข้าร่วมทางสังคมน้อยกว่า
ถัดมาคือชนชั้นแรงงานผู้มีทุนทรัพย์ (New Affluent Workers) คนกลุ่มนี้มีทุนทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และมีทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมสูงกว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความกระตือรือร้น
ชนชั้นแรงงานบริการยุคใหม่ (Emergent Service Worker) เป็นกลุ่มที่มีทุนทางเศรษฐกิจต่ำ แต่มีทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ 'วัฒนธรรมยุคใหม่' และทุนทางสังคมสูง คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนหนุ่มสาว และมักจะอยู่ในเขตเมือง
ชนชั้นแรงงานดั้งเดิม (Traditional Working Class) กลุ่มนี้มีคะแนนต่ำในเรื่องทุนทุกด้าน แต่ว่าก็ยังไม่ใช่กลุ่มที่จนที่สุด กลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มอื่น
และสุดท้ายคือ ชนชั้นที่ขาดความมั่นคงในชีวิต (Precariat) เป็นกลุ่มชนชั้นที่ยากจนที่สุด มีทุนด้านต่างๆ น้อยที่สุด มีชีวิตประจำวันที่ไม่มั่นคง ไม่มีความแน่นอน

ผลการสำรวจด้านอื่นๆ
ผลสำรวจจาก BBC ระบุอีกว่า การแบ่งแยกชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานแบบเหมารวมในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว โดยมีเพียงร้อยละ 39 เท่านั้นที่อยู่ในหมวดชนชั้นกลางที่มีสถานะมั่นคง และชนชั้นแรงงานดั้งเดิม อีกทั้งชนชั้นแรงงานดั้งเดิมมีจำนวนน้อยลงกว่าในอดีต คนในยุคใหม่มักจะอยู่ในหมวดชนชั้นแรงงานผู้มีทุนทรัพย์ กับชนชั้นแรงงานบริการยุคใหม่ มากกว่า
ผลสำรวจบอกอีกว่า ประชาชนยุคปัจจุบันมีการบริโภควัฒนธรรมในแบบที่ซับซ้อนกว่าเดิม โดยการที่ชนชั้นกลางเฉพาะด้าน มีการเข้าร่วมทางวัฒนธรรมน้อยกว่า ขณะที่ชนชั้นแรงงานบริการยุคใหม่ มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้แล้วความต่างของชนชั้นบนสุดกับชนชั้นล่างสุดก็มีความสำคัญมาก จากการที่ชนชั้นนำกับชนชั้นต่ำสุดที่ขาดความมั่นคงในชีวิตมักจะถูกมองข้ามและมีการเน้นเรื่องชนชั้นกลางกับชนชั้นแรงงานมากกว่า
BBC กล่าวว่า คนมักจะตัดสินเรื่องชนชั้นจากแง่มุมด้านอาชีพและรายได้ซึ่งถือเป็นการวัดจากในแง่ทุนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ขณะที่นักสังคมศาสตร์คิดว่าชนชั้นมีตัวชี้วัดด้านทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมอยู่ด้วย การวิเคราะห์ผลการสำรวจดังกล่าวจึงมีการพิจารณาความสัมพันธ์ของทุนทั้งสามด้านคือ ทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม
โดยกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับการสำรวจเป็นประชาชนสหราชอาณาจักร 161,458 คน มีร้อยละ 86 อาศัยอยู่ในอังกฤษ ร้อยละ 8 ในสก็อตแลนด์ ร้อยละ 3 ในแคว้นเวลส์ และร้อยละ 1 ในไอร์แลนด์เหนือ จากทั้งหมดที่ทำการสำรวจจนครบถ้วนพบว่าเป็นชายร้อยละ 56 (91,458 คน) เป็นหญิงร้อยละ 43 (69,902 คน) อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 35 ปี และร้อยละ 90 (145,521 คน) ระบุว่าตนเป็นคนผิวขาว
BBC เปิดเผยอีกว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากทำให้สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทุนต่างชนิดกันโดยอาศัยเทคนิคการจำแนกแบบ Latent class analysis ได้ และมีข้อมูลที่ละเอียดกว่านี้นำมาเปิดเผยในภายหลัง
งานวิจัยชิ้นนี้มีการตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ และมีการนำเสนอในที่ประชุมสมาคมสังคมศาสตร์อังกฤษ

อัยการฟ้องเพิ่ม 19 พันธมิตรฯ คดีปิดสนามบิน


อัยการฟ้องเพิ่ม 19 พันธมิตรฯ คดีปิดสนามบิน

อัยการฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ ฟ้องเพิ่ม 19 พันธมิตรฯ หลังร่วมกันปิดล้อมสนามบิน เมื่อปี 2551 
(4 เม.ย.56) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.00 น. อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เพิ่มอีก จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมบูรณ์ สุพรรณฝ่าย นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ นายวสันต์ วานิชย์ นายมนตรี ชูชื่น นายมนตรา ชูชื่น นายแมน ฤทธิคุปต์ นายสุนทร รักรงค์ นางสมพร วงค์ป้อ น.ส.ณัฐชา เพชรมั่นคงเจริญ นายยศ เหล่าอัน นางนุภารัก วงษ์เอก นายศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง นายระพินทร์ พุฒิชาติ นายแสงธรรมดา กิติเสถียรพร นายพงศธร ผลพยุง น.ส.เสน่ห์ หงส์ทอง และนายพินิจ สิทธโห ในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
โดยอัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2551 จำเลยกับพวกรวม 114 คน ที่บางส่วนฟ้องไปแล้ว รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ดอนเมือง ลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ออกประกาศวันที่ 29 พ.ย.2551 ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป บริเวณเขตดอนเมืองและพื้นที่อื่นๆ และห้ามใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณพื้นที่ชุมนุมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว (ดอนเมือง) ห้ามใช้อาคาร ห้ามใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และให้ประชาชนที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองออกจากพื้นที่ทันที
แต่จำเลยกับพวกขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางการบิน การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ โดยใช้กำลัง ทั้งนี้แนวร่วมพันธมิตรฯ อีกพวกหนึ่งยังได้บุกเข้าไปในสถานที่ทำการติดตั้งเสาเรดาร์ของ บ.วิทยุการบินฯ แล้วเอาจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของผู้ชุมนุมไปติดตั้งไว้ใกล้ๆ ทำให้สัญญาณเรดาร์ใช้การไม่ได้ การบินหยุดชะงัก และยังขู่เข็ญห้ามไม่ให้เครื่องบินขึ้น-ลงสนามบินดอนเมือง และพวกจำเลยได้ทำร้าย ขู่เข็ญเจ้าพนักงานหลายครั้ง ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ มีอัตราโทษสูง อันเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนจนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.1279./2556 และนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น.

องค์กรรัฐสภาสากล ลงมติชี้ ตัดสิทธิ ส.ส. 'จตุพร' ขัดหลักสิทธิมนุษยชน


องค์กรรัฐสภาสากล ลงมติชี้ ตัดสิทธิ ส.ส. 'จตุพร' ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

 3 เม.ย.56 เว็บไซต์ ประเทศไทย Robert Amsterdam รายงานความคืบหน้ามติขององค์กรรัฐสภาสากล (ไอพียู) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีของการตัดสิทธิ์นายจตุพร พรหมพันธุ์ จากการเป็นส.ส. ในมติที่ TH/183 ระบุว่า การที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ถือ “เป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อสิทธิมนุษยชนโดยตรง” ในขณะเดียวก็ย้ำถึงความกังวลเรื่องการจับกุมนายจตุพรซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การใช้อำนาจฉุกเฉินอันมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่แล้ว รวมถึงข้อหาก่อการร้ายซึ่งมีเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมือง
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ที่นั่งในรัฐสภาของนายจตุพรถูกเพิกถอนในเวลาที่ “มิได้มีการพิสูจน์ว่าเขากระทำความผิดใด” และรายละเอียดคำปราศรัยปรากฏว่า “เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก” ซึ่งการยับยั้งสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาถือเป็น “ข้อจำกัดอันมิสมเหตุสมผล” โดยเฉพาะตามบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองซึ่งรับรองสิทธิของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาในการให้ถูกสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
           ไอพียูกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับหลักสำคัญทางกฎหมายและเหตุผลเบื้องหลัง การถอนประกันและคุมขังนายจตุพร โดยร้องขอสำเนารายละเอียดข้อหาของนายจตุพร ในขณะเดียวกันก็ร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการใหญ่เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยกประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการผู้มีประสิทธิภาพ รวมถึงมองหาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ไอพียู (Inter-Parliamentary Union) เป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในยูเอ็น มีสมาชิกทั้ง 162 ประเทศ และรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกในปี 2010 ในลำดับที่ 122
======
คำแปลบางส่วนของมติไอพียู
1.ไอพียูขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับจดหมายและความร่วมมือ
2.ไอพียูยืนยันว่าจดหมายดังกล่าวมิได้ทำให้ไอพียูคลายความกังวลใจกรณีที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลซึ่งขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลโดยตรง
3.เมื่อพิจารณาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะบัญญัติไว้โดยเฉพาะถึงเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของบุคคลที่ “ถูกคุมขังโดยคำสั่งทางกฎหมาย” ในวันเลือกตั้ง โดยยับยั้งมิให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในมาตรา 25 ที่รับรองสิทธิในการ “เข้าร่วมทำกิจกรรมสาธารณะ” รวมถึงการ “ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง” โดยปราศจากการ “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล”
4.เมื่อพิจารณาในแง่ดังกล่าว การปฏิเสธมิให้ ส.ส.ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อไปใช้สิทธิลง คะแนนเสียงเลือกตั้งตั้งจึงเป็น “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล” โดยเฉพาะในบทบัญญัติของกติกาที่รับรองว่าบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทาง อาญาให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ (มาตรา 14) และ ให้ได้รับ “การปฏิบัติที่แตกต่างจากบุคคลผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้ว” (มาตรา 10 (2)(a) ); ไอพียูระบุว่าการตัดสิทธิ์ของนายจตุพรยังปรากฏว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 102(4) ซึ่งบัญญัติว่าผู้ที่ถูกตัดสินว่าว่ากระทำความผิดทางอาญาเท่านั้น ที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่รวมผู้ถูกกล่าวหาทางอาญา
5.ไม่ต่างจากกรณีที่ความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพรถูกเพิก ถอนในเวลาที่ยังมิได้มีการระบุว่าเขากระทำความผิดใด และในกรณีของคำปราศรัยอันปรากฏว่าเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้ย้ำเตือนถึงความกังวลว่า ศาลสามารถตัดสินกรณีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็น เรื่องส่วนบุคคลระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นโดยอันที่จริงก็มิได้มี ข้อพิพาทใดระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นเลย
6.จากข้อเท็จจริงข้างบน ไอพียูจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อพิจารณาการตัดสิทธิของนายจตุพรอีกครั้งและรับรองว่าบทบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันจะมีความสอดคล้องกับ มาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ทางไอพียูประสงค์ที่จะได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้
7.ทางไอพียูยังคงกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาทางกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่ง อ้างอิงอันเกี่ยวกับข้อหาของนายจตุพร และความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งถอนประกันนายจตุพร ดังนั้นไอพียูจึงประสงค์ที่จะขอสำเนาซึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว และพิจารณาว่า ในกรณีนี้อาจเป็นเป็นประโยชน์ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เพื่อเข้าร่วมการ พิจารณาคดีในศาล และร้องขอให้เลขานุการใหญ่จัดการการนัดหมายที่จำเป็น
8.ความกังวลของไอพียูต่อกรณีที่นายจตุพรถูกสั่งฟ้อง ตัดสินและลงโทษในความผิดหมิ่นประมาท ในกรณีนี้ ความเห็นของผู้ตรวจการพิเศษขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความผิดหมิ่นประมาทมิควรที่จะเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น ไอพียูจึงประสงค์ที่จะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไทยพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสงค์ที่จะได้รับสำเนาเกี่ยวกับการพิจารณาดังกล่าว รวมถึงได้รับแจ้งถึงขั้นตอนการอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว
9.ทางไอพียูพิจารณาว่า คดีในปัจจุบันมีการแตกกิ่งการสาขานอกเหนือจากกรณีของนายจตุพร และยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางรัฐธรรมนูญและระบบระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และศาล ทางไอพียูจึงร้องขอให้เลขาธิการใหญ่เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยก ประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการที่ทรงประสิทธิภาพ รวมถึงค้นหาถึงความเป็นไปได้ว่าทางไอพียูจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้างใน กรณีดังกล่าว
10.ทางไอพียูร้องขอให้เลขาธิการใหญ่ส่งมตินี้ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรงประสิทธิภาพและผู้ให้ข้อมูล
11.ทางไอพียูร้องขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบคดีนี้อย่างต่อเนื่อง และรายงานให้ทางไอพียูทราบต่อไปในระยะเวลาที่เหมาะสม

ยังไม่จบ กสท.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ตอบโจทย์ฯ'


ยังไม่จบ กสท.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ตอบโจทย์ฯ'

หลังผู้บริหารไทยพีบีเอสถูกฟ้อง ม.112 ยกยวงจากการออกอากาศตอบโจทย์ฯ ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ล่าสุด กสท. ตั้งคณะทำงานพิจารณา "ตอบโจทย์ประเทศไทย" กรณีออกอากาศตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” แล้ว
ภายหลังจากที่ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2556 เวลา 21.45-22.30 น. ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง  เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายการดังกล่าว โดยการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการที่มีพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ  เป็นประธาน
คณะทำงานชุดดังกล่าวประกอบด้วย นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว นายวีระ อุไรรัตน์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะทำงานชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่ออกอากาศในบริบทของสังคมไทยทุกมิติ รวมทั้งพิจารณาเนื้อหาว่าขัดกฎหมายฉบับใดบ้าง
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน ทั้งนี้ โดยปกติการแต่งตั้งคณะทำงานแต่ละชุดจะมีระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งละไม่เกินสามเดือน
ก่อนหน้านี้ มีผู้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารไทยพีบีเอส ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการ และนำภาพบันทึกประจำวันมาโพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเนื้อหาระบุว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง ให้ดำเนินคดีกับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสมชัย สุวรรณบรรณ
ในบันทึกประจำวัน ระบุว่า ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีกับ ภิญโญ สุลักษณ์ และสมศักดิ์ ใน "ความผิดทางอาญาและเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรตามมาตรา 37" และ สมชัย "ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157"
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบโดย "ประชาไท" พบว่า มาตราที่ใกล้เคียง คือ มาตรา 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ว่า มาตรา 37 "ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
"ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
"ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้"
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. สำนักข่าว DNN รายงานว่า นายกิตติ นิลผาย อาชีพทนายความ แจ้งตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จำนวน 5 คน ประกอบด้วย สมชัย สุวรรณบรรณ ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  วุฒิ ลีลากุศลวงศ์  มงคล ลีลาธรรม และ พุทธิศักดิ์ งามเดช กรรมการ  ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแพร่ภาพออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ในตอนที่ 4 และตอนที่ 5 โดยนำแผ่นซีดี ที่บันทึกภาพและเสียงรายการดังกล่าว และเอกสารจำนวนหนึ่ง มามอบไว้เป็นหลักฐาน โดยเบื้องต้นตำรวจได้รับเรื่องไว้พร้อมจะลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และจะสั่งการให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้น ก่อนจะส่งให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ปากพล่อย ปฏิญญาฟินแลนด์ รอลงอาญา 2 ปี


รอลงอาญา 2 ปี 'ปราโมทย์' คดีหมิ่น 'ทักษิณ' กรณี 'ปฏิญญาฟินแลนด์'

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนรอลงอาญา 2 ปี "ปราโมทย์ นาครทรรพ" เขียนบทความปฏิญญาฟินแลนด์หมิ่น"ทักษิณ" ศาลระบุเป็นนักวิชาการ-นักประชาธิปไตย เคยสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ที่กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้
 
5 เม.ย. 56 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1747/2549 ที่พรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ ,บริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) , น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ , นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 , 332 , 393
 
โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างวันที่ 17 - 25 พ.ค.49 จำเลยทั้งห้า ร่วมกันตีพิมพ์และเผยแพร่บทความ “ ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ : แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย ? ” ของจำเลยที่ 1 ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ ซึ่งใส่ร้ายโจทก์ทั้งสองเสื่อมเสียชื่อเสียง
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.52 เห็นว่า บทความเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ 5 ตอนที่เผยแพร่ใน นสพ. ผู้จัดการและเผยแพร่ในเว็บไซต์ ที่จำเลยที่ 1 เขียนพาดพิงถึงโจทก์ทำนอง ว่ามีนโยบายที่ต้องการทำลายระบบราชการไทย การสร้างระบบการเมืองพรรคเดียว และล้มล้างสถาบันเบื้องสูง แต่ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 กลับไม่นำสืบว่าโจทก์ทั้งสองกระทำการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ขณะที่ท้ายบทความยังได้ให้ประชาชนต่อต้านโจทก์ทั้งสองที่กำลังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 เม.ย.49 ซึ่งไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 4 เป็น บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน มีหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนตีพิมพ์
 
จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนรู้เห็นและทราบว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นโจทก์ด้วย จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 4 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 เป็นนักวิชาการ นักประชาธิปไตยและจำเลยที่ 4 เป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ที่กระทำผิดเพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน โฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับเป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วย โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 5
 
ต่อมาจำเลยทั้งสอง ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้วจึงพิพากษายืน แต่ในส่วนจำเลยที่ 4 เห็นว่า ยังไม่มีมูลว่ากระทำการที่เป็นความผิด จึงพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

อยากให้กลับมาไทยทำแบบนี้บ้าง


"ทักษิณ" โพสต์ภาพถนนดอกไม้ ชาวเน็ตแห่แชร์แต่เช้า 

อยากให้กลับมาไทยทำแบบนี้บ้าง

5 เมษายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพถ่ายดอกไม้สีสรรสวยงาม ผ่านเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/thaksinofficial ซึ่งเป็นแฟนเพจอย่างเป็นทางการ พร้อมระบุว่าเป็นภาพถ่ายบริเวณทางเข้าหมู่บ้านที่นครดูไบ ซึ่งน้ำที่ใช้รดต้นไม้เหล่านี้มาจากการบำบัดมาก่อน โดยมีข้อความดังนี้


"วันนี้ส่งรูปสวยๆงามๆของดอกไม้ที่อยู่ข้างถนน Sheikh Zayed Road ที่เป็นถนนสายหลักของเมืองดูไบ ตรงบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านที่ผมอยู่มาให้ดูครับ"

"เพียงจะบอกว่าเมืองที่อยู่บนทะเลทรายไม่มีแม่น้ำสักสาย น้ำจืดต้องกลั่นมาจากน้ำทะเล เขายังทำเมืองเขาได้เขียวและมีสีสรรของดอกไม้ น้ำที่ใช้รดต้นไม้ก็มาจากการนำน้ำที่ใช้ตามบ้านตามร้านค้าเอามาบำบัด แล้วก็ส่งไปรดน้ำต้นไม้ทั้งเมืองครับ"

"ที่นี่ปีหนึ่งจะมีฝนอย่างมากก็ไม่เกิน 10วันในหนึ่งปี เมื่อก่อนนี้แทบจะไม่มีเลย แต่พอต้นไม้เริ่มโตก็มีฝนบ้างครับ ฝนตกทีน้ำก็จะขังเพราะเขาไม่มีท่อระบายน้ำครับ"


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนมากต่างแสดงความเห็นตรงกันว่าอยากให้ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วมาทำให้ประเทศไทยมีถนนสวยๆดุจถนนที่นครดูไบเช่นเดียวกัน


"ปลาบู่ขึ้นเสลี่ยง" เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์แล้ว!

"ปลาบู่ขึ้นเสลี่ยง" เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์แล้ว!

วันที่ 4 เมษายน 2556 (go6TV) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เดินทางมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในอันดับที่ 49 หลังจากที่นางผุสดี ตามไท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอลาออก โดยมีเพื่อน ส.ส.ของพรรคมาให้กำลังใจ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ เมษายน

ชวนนท์” ไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมือง แต่ถือเป็น ทายาทการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูล อินทรโกมาลย์สุต” ที่มีปู่คือยศ อินทรโกมาลย์สุต” เป็นอดีตนักการเมืองรุ่นลายคราม คือเป็นอดีตส.ส.นครราชสีมา 4 สมัย ในสังกัดพรรคต่างๆ เช่น กิจสังคม เสรีมนังคศิลา สหประชาไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีสองสมัยคือ รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อปี 2500 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเกษตร และอีกครั้งในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2526 ในตำแหน่งรมช.คมนาคม
      
       ขณะที่บิดา คือ มานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์ ก็เป็นอดีต ส.ส.นครราชสีมาหนึ่งสมัยในสังกัดประชาธิปัตย์ และอดีตส.ส.กทม. ลูกพรรคสมัคร สุนทรเวช ที่พรรคประชากรไทย
      
       แต่แม้ครอบครัวคือ ทั้งปู่และพ่อ จะอยู่ประชาธิปัตย์แค่สมัยเดียว แต่ ชวนนท์” ก็ผูกพันกับพรรคนี้มานานหลายสิบปี ทำให้ ชวนนท์” ตั้งใจตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นต้องเล่นการเมืองตามรอยเท้าปู่และพ่อ และพรรคที่จะขอไปเขียนใบสมัครเป็นสมาชิก ต้องเป็นประชาธิปัตย์พรรคเดียวเท่านั้น
      
       เมื่อวันเวลาของการแจ้งเกิดมาถึง ชวนนท์” อดีตข้าราชการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้จบการศึกษาปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยระดับโลกคือ เยล สหรัฐอเมริกา ที่ได้พบกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2548 หลังมีผู้ใหญ่พาไปรู้จักกับ อภิสิทธิ์ สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่เลือกตั้งกทม.ในปี 48
      
       “ชวนนท์ก็เดินเข้าพรรค ปชป. สมดั่งตั้งใจ สมัครเป็นสมาชิกพรรคในปีนั้น และเตรียมตัวทุกอย่างเพื่อลงเลือกตั้ง
      
       จนเมื่อพรรคอนุมัติให้ลงสมัครส.ส.เขตจตุจักรได้ เพราะเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ สนใจการเมืองจริงจัง และปูมหลังด้านการศึกษา และการทำงานก็พอจะขายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้
      
       แต่ก้าวแรกบนถนนการเมืองของ ชวนนท์” ก็แพ้ไปแบบไม่ต้องลุ้น เพราะกระแสทักษิณฟีเวอร์ปี 48 แรงสุดขีดจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ขนาดส.ส.กทม.หลายคนของปชป. ที่เป็นส.ส.หลายสมัยยังร่วง แล้ว ชวนนท์” จะเหลืออะไร
      
       เมื่อล้มเหลวจากเวทีการเมือง ชวนนท์” ก็ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการอีกครั้งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จนกระทั่งเมื่ออภิสิทธิ์จัดตั้งครม.สำเร็จ แล้วมองหาคนมาทำหน้าที่ เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ และ โฆษกบัวแก้ว
เสียงเล่าขานในปชป.บอกตรงกันว่า อภิสิทธิ์นึกถึงชื่อ อ๊อฟ” ชวนนท์ เป็นคนแรก จึงโทรศัพท์สั่งการให้ ชวนนท์” รีบเขียนใบลาออกก่อนจะชงชื่อเข้าครม. เมื่อ 13 มกราคม 52 เพียงหนึ่งวัน เพื่อแต่งตั้งให้เป็นเลขาฯ รมว.กษิต อย่างเป็นทางการ
       วันนี้ ชวนนท์” ทายาทรุ่นที่ ของอินทรโกมาลย์สุต แจ้งเกิดการเมืองสำเร็จแล้ว โดยได้เป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 49 ย้ายจากปราศรัยหน้าจอทีวี “สายล่อฟ้า”