วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิจารณาจากถ้อยแถลงสุเทพ: รัฐบาล คสช. ต้องปฏิรูปแบบไหน-ถึงจะพอใจและให้เลือกตั้ง

การแถลงข่าวเปิดตัวมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2558

แม้น้ำเสียงในการแถลงของสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ยังให้โอกาส คสช. จนกว่าจะปฏิรูปแล้วเสร็จ แต่ก็ต้องเป็นการปฏิรูปที่ กปปส. เคยเสนอไว้ นั่นคือ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" 6 ประเด็น รวมทั้งข้อเสนอกำจัดระบอบทักษิณ 
3 ก.ค. 2558 - จากการแถลงข่าวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) แม้น้ำเสียงในการแถลง ยังคงให้โอกาสรัฐบาล คสช. ทำงานจนกว่าจะปฏิรูปแล้วเสร็จ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเป็นการปฏิรูปตามแนวทางที่ กปปส. เคยเสนอไว้ จึงจะถือเป็นการปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากมิเช่นนั้น ทางกลุ่มของเขาก็เห็นว่าจะให้เวลากับรัฐบาลในการปฏิรูปไปจนลุล่วงตามข้อเสนอ โดยปราศจากกรอบเวลา
ระหว่างนี้ หากมีอะไรที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยที่ทาง “มวลมหาประชาชน” เห็นว่าควรท้วงติง ก็จะมีการออกมาแสดงความเห็น “อย่างสุภาพเรียบร้อย” และจะไม่มีการยึดสถานที่สำคัญๆ
ลองมาพิจารณากันดูว่า การปฏิรูปตามแนวทางที่กลุ่มของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเห็นว่ารอได้อย่างไม่มีเงื่อนเวลา คืออะไรกันบ้าง
ข้อเสนอ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" 6 ด้าน และการสึกมาทวงปฏิรูปของสุเทพ เทือกสุบรรณ
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และผู้สนับสนุน ขณะเดินขบวน 9 สาย ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

ข้อเสนอของสุเทพ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ป็นประมุขอย่างแท้จริง" สู่ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"
นับตั้งแต่ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 31 ต.ค. 2556 นั้น ในเวลาต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งลาออกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นแกนนำการชุมนุมต้านนิรโทษกรรมในเวลานั้น ได้เริ่มยกระดับข้อเสนอปฏิรูปการเมือง โดยในการนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุเทพกล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่าจะหยุดเคลื่อนไหวต่อเมื่อระบอบทักษิณหมดสิ้นไป "จะได้สร้างประเทศไทยสำหรับลูกหลาน เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่ปกครองด้วย 'ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง' ไม่ให้พวกทรราชย์ นายทุนสามานอาศัยคราบประชาธิปไตยมากดขี่ เราจะต้องร่วมกัน สร้างเกราะ สร้างกติกา ไม่ให้ประเทศไทย เป็นประเทศของนักทุจริต คอรัปชั่นอีกต่อไปแล้ว เราจะต้องร่วมกัน กำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้เสียงของประชาชน อธิปไตยของประชาชนเป็นจริง และทุกคนต้องฟังประชาชน" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยก่อนที่สุเทพจะประกาศบนเวทีใหญ่ถึงเป้าหมาย ก่อนหน้านั้น 1 วัน ในวันที่ 23 พ.ย. สุเทพได้กล่าวบนเวทีชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ซึ่งเป็นแนวร่วมหนึ่งของการชุมนุม โดยสุเทพระบุข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากพ้นแผ่นดินไทย และ 2.เปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามสุเทพกล่าวผิดไปว่า "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ถือว่าสุเทพในเวลานั้นกล่าวถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่ต้องกำจัดระบอบทักษิณ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่ปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์เป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น” โดยที่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะปฏิรูปด้านใดบ้าง

ริเริ่มข้อเสนอปฏิรูป 6 ข้อ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2556
จนกระทั่งอีก 2 วันต่อมา ในวันที่ 26 พ.ย. 2556 สุเทพ ได้ปราศรัยที่กระทรวงการคลัง โดยเขาย้ำถึงเงื่อนไขทางการเมืองว่า “จะต้องขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยให้จงได้” แล้วจะสร้าง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง" โดยสุเทพเสนอว่า ถ้าขจัดระบอบทักษิณซึ่งเขาระบุว่า “ที่เป็นพิษเป็นภัย” แล้วจะทำอะไร คำตอบคือต้องร่วมกันคิด เปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยเขาเสนอการปฏิรูป 6 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง ต้องให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้คนชั่วเข้ามา
สอง เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้ทุจริต คอร์รัปชั่นจนชาติวิบัติเสียหาย ต้องขจัดคอร์รัปชั่นให้ได้ โดยเสนอให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ
สาม มีบทบัญญัติให้ประชาชนมีอำนาจในการเมืองการปกครอง เช่น ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ถ้ากระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจถอดถอน ส.ส. ได้ โดยต้องมีกระบวนการรับรองอำนาจประชาชนเอาไว้ และกระบวนการถอดถอนใช้เวลาไม่ยืดยาวต้องเห็นผลภายในระะเวลา 5 เดือนถึง 6 เดือน
สี่ ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้โครงสร้างตำรวจอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด
ห้า ออกแบบกติกาให้ข้าราชการอยู่ในระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์
หก นโยบายด้านการศึกษา สังคม สาธารณสุข คมนาคมขนส่ง ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม โดยถือว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ต้องทำ รวมทั้งนโยบายเรื่องของคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ
สุเทพย้ำว่าจะใช้กลไก "สภาประชาชน" เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปที่ว่ามา โดยเขากล่าวด้วยว่า "ที่กล่าวมานั้น เพื่อตอบคนที่คนตั้งข้อรังเกียจคนที่จะร่วมต่อสู้ ถ้าจะขจัดระบอบทักษิณออกไป เราจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร"
"แล้วถามว่าใครจะเป็นคนทำถ้าระบอบทักษิณหมดไป ผมตอบเลย คนทำคือประชาชน ถ้าเราขจัดระบอบทักษิณหมดไป อยู่ที่เราจัดตั้งสภาประชาชนมาจากคนทุกสาขาอาชีพ แล้วสภาประชาชนจะเลือกคนดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สร้างดรีมทีม คณะรัฐมนตรีในฝัน มีรัฐบาลประชาชน" สุเทพอธิบาย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ทั้งนี้แกนนำได้ยกระดับขบวนผู้ชุมนุมไปสู่ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 มีการเปิดตัวแกนนำระหว่างชุมนุมยืดเยื้อที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ กปปส. เขากล่าวติดตลกหลังจากแนะนำชื่อขบวนใหม่ว่า "ชื่อยาวหน่อย แต่ความหมายชัดเจน ชื่อย่อๆ ว่า กปปส." และกล่าวด้วยว่า "จะเป็นองค์กรกำหนดแนวทางตัดสินใจต่อสู้กับระบอบทักษิณ จัดการให้ระบอบนี้พ้นจากประเทศไทยให้ได้"
"เมื่อเราจัดการระบอบทักษิณเสร็จเรียบร้อย เราจะได้เริ่มเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยด้วยมือของประชาชน ให้ประเทศเราได้ก้าวไปข้างหน้า อย่างประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มีทุนสามานย์ ไม่มีทุจริต ไม่มีข้าราชการขี้ข้า เป็นรัฐบาลโดยประชาชนแท้จริงเท่านั้น" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ย้ำ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" หลังยิ่งลักษณ์ยุบสภา พร้อมชูข้อเสนอปฏิรูป 6 ข้อ
ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. 2556 สุเทพ ระบุว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง โดยเป็นครั้งแรกที่เขาเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง "เราต้องการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศไทย ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงไปเลือกตั้งกับเขา"
สุเทพมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยเขากล่าวว่า ถ้าต้องการให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ แสดงออกถึงความต้องการของประชาชน เลือกคนดีไปทำหน้าที่แทนตัวเองจริงๆ จะต้องมีการดำเนินการประกอบด้วย หนึ่ง แก้กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดว่าการซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งคนซื้อ คนขาย ผิดกฎหมายทั้งนั้น นักการเมืองที่ซื้อเสียงนอกจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว ต้องมีโทษจำคุก สอง ปฏิรูปพรรคการเมือง มีกฎหมายพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้คนๆ เดียวชี้ขาดในพรรคการเมือง สาม มีการหยั่งเสียงประชาชนในเขตเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้สมัครของพรรค แทนการกำหนดโดยแกนนำพรรค สี่ ต้องแก้กฎหมายการเงินของพรรค เพื่อไม่ให้มีเศรษฐีมาซื้อพรรคการเมือง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยสุเทพและแกนนำ กปปส. ยังย้ำแนวทาง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ในการประชุมการปฏิรูปของ กปปส. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ข้อเสนอการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของสุเทพ ยังถูกย้ำอีกครั้งในการปราศรัยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเขาได้เรียบเรียงและจัดประเด็นการปฏิรูปออกเป็น 6 เรื่อง ได้แก่
หนึ่ง กระบวนการเลือกตั้ง ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่มาของ ส.ส. และรัฐบาล ดีๆ โดยกระบวนการเลือกตั้ง ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และจะให้สภาประชาชนไปช่วยกันคิด
สอง การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น แก้กฎหมายเกี่ยวกับการคอรัปชั่นทั้งกระบวนการ ให้คนไทยเป็นโจทก์ฟ้องคดีทุจริตได้ โดยไม่ต้องรอตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ คดีต้องไม่มีวันหมดอายุความ
สาม ระบอบประชาธิปไตย อำนาจต้องไม่อยู่ในมือนักการเมือง แต่ต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชน เช่น ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการและนักการเมืองมากขึ้น กฎหมายที่เขียนไว้ให้ประชาชนลงชื่อถอดถอนนักการเมืองนั้น และแก้กฎหมายกำหนดให้กระบวนการถอดถอนนักการเมืองให้จบได้ภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปี
สี่ ข้อเสนอกระจายอำนาจ โดยสุเทพใช้คำว่า "คืนอำนาจให้ประชาชน" โดยระบุว่าอำนาจปกครองบ้านเมืองหลายอย่างที่รวบไว้ที่รัฐบาลกลาง กรุงเทพฯ คณะรัฐมนตรี ต้องคืนให้ประชาชนต่างจังหวัด ให้ประชาชนทุกจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีความรับผิดชอบ และพัฒนาจังหวัด งบประมาณจังหวัดก็ไม่ต้องรวมในส่วนกลาง
ห้า แก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม การดูแลคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ ให้มีโอกาสประกอบอาชีพ ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับการศึกษา และต้องยกเลิกนโยบายประชานิยมเด็ดขาด
หก ปรับโครงสร้างตำรวจ ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
โดยสุเทพกำหนดระยะเวลาการปฏิรูปไว้ 1 ปี ไม่เกินปีครึ่ง แล้วจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. ในเวลานั้น ลาออกจากรักษาการ เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลางเป็นคณะรัฐมนตรี เพื่อตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย "ปีเดียว ไม่เกินปีครึ่ง กลับไปเลือกตั้งเหมือน่เดิม" สุเทพย้ำ

หลังประกาศกฎอัยการศึก ย้ำปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ 1 วันก่อนรัฐประหาร
โดยการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งยืดเยื้อมานับตั้งแต่หลังยุบสภา เพื่อต่อต้านการเลือกตั้ง 2 ก.พ. กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กระทั่งในเดือนพฤษภาคม สุเทพยังคงย้ำแนวทางปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ในระหว่างนำมวลชน กปปส. ถวายสัตยาธิษฐานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ท้องสนามหลวง เนื่องในฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยตอนหนึ่งสุเทพนำกล่าวว่า
"พวกข้าพเจ้ามวลมหาประชาชนจะร่วมกันต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะร่วมกันขจัดระบอบทักษิณและทรราช เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยตั้งใจมั่นแน่วแน่ไม่ท้อถอย ไม่ลดละ จนกว่าขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป และปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง ด้วยสัตยาธิษฐานนี้แม้การต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะใช้เวลาเพียงใด พวกข้าพเจ้าจะไม่ยกเลิกไม่ย่อท้อ จนการลุล่วงเป็นที่เรียบร้อย..."
ต่อมาหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ได้ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และเสนอให้มีการเจรจาของฝ่ายการเมืองหลายฝ่ายที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 โดยมีการเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนฝ่ายวุฒิสมาชิก ตัวแทนฝ่ายพรรคเพื่อไทย ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนฝ่าย กปปส. และตัวแทนฝ่าย นปช.
ในที่ประชุมสุเทพระบุถึงข้อเสนอต่อที่ประชุมให้มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม 100% ไม่มีฝ่ายการเมืองในรัฐบาลชุดที่จะตั้งขึ้นมา และให้รีบปฏิรูปประเทศ
"หนึ่ง ต้องมีนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็มมาแก้ไขปัญหาของประชาชน เช่น ปัญหาของชาวนา เป็นต้น และจะต้องแก้ไขปัญหาอื่นของประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม 100%"
"ข้อสอง ผมเสนอว่าเมื่อได้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีฝ่ายการเมือง ไม่มีนักการเมืองอยู่เลยแม้แต่คนเดียว"
"ข้อสาม นายกรัฐมนตรี และ ครม. ต้องรีบปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน ผมเรียนต่อที่ประชุมว่า อย่าเอาข้อกฎหมายมาโต้เถียงกับผม อย่าเอารัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาโต้เถียงกับผม ผมพูดในภาพรวม ว่าถ้าทุกคนเห็นด้วยก็มาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้นายกรัฐมนตรี ได้คณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นนักการเมืองแล้วรีบปฏิรูปประเทศไทย" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การบ้านสำคัญไปให้ทุกฝ่ายไปหารือ ได้แก่ หนึ่ง การทำประชามติ จะเลือกตั้งก่อน หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สอง การตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยยึดกรอบกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ สาม การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยวุฒิสภา สี่ ให้ กปปส. กับ นปช. ยุติการชุมนุม โดยให้ทุกฝ่ายกลับมาให้หารือกันอีกครั้งในเวลา 14.00 น. วันที่ 22 พ.ค. 2557
อย่างไรก็ตาม ไม่ทันที่ผลการเจรจาจะบรรลุผล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศยึดอำนาจ ทำรัฐประหารกลางที่ประชุม ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนกระทั่งเวลาผ่านไป หลังจากสุเทพไปบวชที่ จ.สุราษฎร์ธานี นานนับปี และสึกออกมาทวงความคืบหน้าการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
"เราต้องการเห็นรัฐบาลนี้ปฏิรูปให้สำเร็จ ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่" และถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำไปในแนวทางที่ถูกต้อง ก็จะแสดงความเห็นอย่างเรียบร้อย สุเทพย้ำ

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญงดประชุม 3-4 ส.ค. เพื่อให้ กมธ. ไปประชุม สปช.


กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ งดการประชุมวันที่ 3 และ 4 ส.ค. เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ควบสมาชิกสภาปฏิรูปเข้าร่วมประชุม สปช. และจะกลับมาประชุมอีกครั้ง 5-7 ส.ค. คาดจะทวน รธน. ครบทุกมาตรา 14 ส.ค.
4 ส.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันที่ 3 ส.ค. และ 4 ส.ค. ไม่มีการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปต้องเข้าร่วมประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ และจะประชุมอีกครั้งวันที่ 5 ถึง 7 ส.ค. เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ตั้งแต่มาตรา 86 - 285
ส่วนสัปดาห์ต่อไป จะนำประเด็นที่มีข้อท้วงติงเรื่องที่มา ส.ว. และที่มาจำนวนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดอง มาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 10-11 ส.ค. จากนั้นจะทบทวนเป็นรายมาตรารอบสุดท้ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ส.ค. นี้
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอให้มีการปฏิรูปฯ ให้เสร็จสิ้นก่อนจัดการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกสภาปฏิรูปฯ หลายคนเห็นด้วย รวมถึงประเด็นที่นำมาเปิดเผยว่า มีความพยายามให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเลือกตั้งเร็วขึ้น ว่า ทั้ง 2 ประเด็นเป็นเรื่องเก่าที่นำมาพูดใหม่ จึงขอให้กลับไปดูรายละเอียดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมีกรอบให้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น จึงอยากให้ปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้

เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้ สนช. ล้ม 7 รายชื่อ กสม.


4 ส.ค. 2558 เครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแถลงการณ์ได้อ้างถึงหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในตอนหนึ่งระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” บุคคลผู้เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด
ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาเองไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ”
พร้อมแสดงความห่วงใยต่อ ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในสายตานานาประเทศ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการ สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส
แถลงการณ์
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4 สิงหาคม 2558

           ตามที่คณะกรรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันประกอบด้วย นายดิเรก  อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเพ็ง เพ็งนิติ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และนายเฉลิมชัย วสีนนท์ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ได้เลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจำนวน 7 คน ได้แก่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นายบวร ยสินทร นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ นายวัส ติงสมิตร รองศาสตราจารย์ศุภชัย  ถนอมทรัพย์ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กร และบุคคลข้างท้ายนี้  เห็นว่าการสรรหาบุคคลเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามหลักการปารีส และเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
  • 1. โดยหลักการปารีสระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับไม่มีบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด
  • 2. กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ ได้บุคคลซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์
  • 3. จากประสบการณ์การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่สองได้แสดงให้เป็นที่ ประจักษ์แจ้งว่าการเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์จะส่งผลเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนประมาณค่ามิได้ และจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกลดระดับจากเกรด A เป็นเกรด B โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ดังนั้น ผลการสรรหาครั้งนี้จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของนานาชาติต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มที่จะบังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปอีก

             ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรร่วมจึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส โดยให้มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนด้อยโอกาส และตัวแทนสื่อมวลชน เป็นคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายตามหลักการปารีส และกำหนดให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล
รายชื่อองค์กรและบุคคลร่วมลงนาม
  • 1.       สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส)
  • 2.       มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
  • 3.       คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)
  • 4.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • 5.       ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
  • 6.       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)
  • 7.       เครือข่ายประชาชนสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม
  • 8.       มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
  • 9.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) องค์กรสาธารณะประโยชน์ ๗
  • 10.   เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)
  • 11.   เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี
  • 12.   ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  • 13.   มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  • 14.   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  • 15.   สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
  • 16.   มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  • 17.   คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 18.   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  • 19.   สมาคมผู้บริโภคสงขลา
  • 20.   เครือข่างองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
  • 21.   เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้
  • 22.   กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
  • 23.   มูลนิธิเพื่อนหญิง
  • 24.   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
  • 25.   มูลนิธิพัฒนาอีสาน
  • 26.   นายประกาศ  เรืองดิษฐ์
  • 27.   นายสุมิตรชัย หัตถสาร
  • 28.   นายสุรชัย ตรงงาม
  • 29.   นางสาวกาญจนา  แถลงกิจ 
  • 30.   นายประยงค์ ดอกลำไย
  • 31.   นางสาวราณี  หัสสรังสี
  • 32.   เพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
  • 33.   นายชาญยุทธ  เทพา  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

เลิศรัตน์ เชื่อ สปช. จะไม่คว่ำร่าง รธน. พร้อมเผยถ้าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องถามประชาชน


โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มั่นใจ สปช. ไม่คว่ำร่าง รธน. ตามกระแสข่าว ย้ำ กมธ. แก้ไขร่างเป็นอย่างดี พร้อมเห็นว่าข้อเสนอที่ให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ต้องผ่านการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน
4 ส.ค. 2558 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่า สมาชิก สปช.จะใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ และมีอิสระในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นว่า จะไม่มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการได้ยกร่างฯ อย่างดีแล้ว และมีการปรับแก้ไข โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ
ส่วนข้อเสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เห็นว่าต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ให้ความเห็นชอบ
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (4 ส.ค.) งดประชุม เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช.เข้าร่วมประชุม สปช.ส่วนความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาประเด็นที่ยังค้าง 2-3 ประเด็นให้แล้วเสร็จ และจะเชิญผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมารับทราบการปรับแก้ไข ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการสรุปเรียงมาตรา เพื่อจัดพิมพ์ส่ง สปช.วันที่ 22 ส.ค. นี้
ขณะเดียวกัน เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่ถึง 21 คน จากจำนวนทั้งหมด 36 คน มาจาก สปช. และได้มีการประสานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลาอีกทั้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ กว่าร้อยละ 50 มาจาก สปช. ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรรมาธิการยกร่างฯ บัญญัติทุกมาตราอย่างมีเหตุและผลที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกต สปช. บางคนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะประเด็นที่มานายกฯ ที่สามารถให้คนนอกเข้าทำหน้าที่ได้นั้น ตนเห็นว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมที่แสดงออกอยู่แล้วว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ต้น การตั้งประเด็นใด ๆ ถือเป็นข้ออ้างมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่สื่อมวลชนนำข้อคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่า สปช. จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

โควทปลอมแต่กระสุนจริง : อธิบดีDSIยันไม่เคยพูด ‘กระสุนยาง’ พร้อมเปิดคำสั่งศาลชี้ชัดกระสุนจริงสังหาร

(URL :https://www.facebook.com/cheeryingluck/photos/a.211041105592928.57507.210602172303488/1018704568159907/) ในลักษณะดังกล่าวอีก จนมีผู้กดถูกใน 2,900 ไลค์ และแชร์กว่า 259 แชร์
โพสต์เจ้าปัญหาจากเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ 
รายงานกระแสแชร์โควทอธิบดีDSI ปมทหารใช้กระสุนยางสลายแดง53 ตรวจสอบไม่พบที่มา ด้านเจ้าตัวยันไม่เคยพูด พร้อมย้อนดูยอดใช้กระสุนรวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด และเปิด 11 คำสั่งศาลชี้ชัดกระสุนจริงจาก จนท.สังหาร
หลังจากกรณีการแชร์ข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงสัปดาห์ก่อน โดยอ้างว่า สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารกรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 53 นั้นใช้ ‘กระสุนยาง’ โดยข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่มีการระบุที่มาแต่อย่างใด
ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวอธิบดีดีเอสไออย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ ซึงมีผู้กดถูกใจเพจถึงกว่า 2.6 แสนไลค์ โพสต์ข้อความและภาพ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.58 เวลา 7.59 น. 
จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ข่าวสดออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า สุวณา ออกมาให้ข่าวถึงความคืบหน้าของคดีสลายการชุมนุมปี 53 ว่า คณะพนักงานสอบสวนได้หารือกันในส่วนของสำนวนการสอบสวนคดี 99 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เพื่อดูความสมบูรณ์ของสำนวน และเตรียมเสนอความเห็นให้อัยการสั่งฟ้องภายในเดือน ส.ค. นี้
โดยจากรายงานข่าวของทั้งข่าวสดฯและผู้จัดการฯ ไม่พบว่า สุวณา ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้เพียงกระสุนยาง ตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กแต่อย่างไร มีเพียงรายงานข่าวตอนท้ายที่ระบุว่า
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ..จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทั้งที่บริเวณแยกคอกวัว บริเวณ ถ.ราชปรารภ บริเวณ ถ.พระราม 4 และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนเรียกเข้ามาให้ปากคำนั้นยืนยันว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันและเวลาดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และยืนยันด้วยว่าใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติของการสอบสวน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งสรุปสำนวนคดีนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย (คลิกอ่านรายละเอียด)
อธิบดีDSI ยันไม่เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นทหารไม่ใช้กระสุนจริง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ ได้รายงานถึงคำชี้แจงของ สุวณา ต่อกรณีดังกล่าวด้วยว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือยืนยัน เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดเพราะเป็นเรื่องในสำนวนการสอบสวน 
"ที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์เพียงว่าเป็นการทำงาน ในรูปแบบคณะพนักงานอบสวนระหว่างตำรวจกองบัญชาตำรวจนครบาล และดีเอสไอ ไม่เคยระบุถึงเนื้อหาในสำนวนการสอบสวนว่าบุคคลต่างๆให้การว่าอย่างไร"อธิบดีดีเอสไอกล่าว
สวุณา กล่าวว่า ในเนื้อหาที่ปรากฎในข่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของตนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นรายงานข่าวเรื่องการสอบสวน โดยได้สอบถามกับรองอธิบดีดีเอสไอที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการให้ข่าวเช่นกัน
ญาติกังวล ขอป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลมาประกอบ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี สุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้แทนรับหนังสือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าว นั้นหลังเหตุการณ์ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว การดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการกับผู้สั่งการและผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดยังไม่มีคืบหน้าเท่าที่ควร อีกทั้งกรรมการป.ป.ช.บางรายได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงทำให้ญาติผู้เสียชีวิตเกรงว่าจะไม่ได้ความเป็นธรรม
พร้อมทั้ง ขอให้ป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลและรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมาประกอบการพิจารณาและสอบพยานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งขอให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย (อ่านรายละเอียด)
ยอดใช้กระสุน ปี 53 รวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด
ขณะที่หากย้อนกลับไปถึงยอดการใช้กระสุนในการสลายการชุมนุมปี 53 นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงาน เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 โดยอ้างถึงวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้โพสต์ภาพพร้อมเขียนข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam (เมื่อ ก.ย.55) ว่า “กระสุนศอฉ.53....รายงานที่ คอป.อาจยังไม่เคยเห็น...ทบ.สรุปรายงานยอดกระสุนที่ใช้สลายม็อบแดง 191,949 นัดแม้จะพยายามหามาคืนให้มากที่สุดแล้วก็ตาม เผย “พล.อ.ประยุทธ์” (จันทร์โอชา ผบ.ทบ.) เร่งสรุป ให้ตัวเลขน่าพอใจและยอมรับได้ แต่อ้างใช้กระสุนซุ่มยิง sniper หลายแบบ แต่ที่เป็น sniper จริงๆของหน่วยรบพิเศษ รวมใช้ 500 นัด แต่ปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 4,842 นัด....ทบ.เพิ่งสรุปยอดกระสุนที่ใช้ไปในตอน ศอฉ.สลายเสื้อแดง 2553 ได้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 2 ปี ทบ.แจ้งให้หน่วยที่เบิกจ่ายไปส่งคืน ครั้งแรก ตัวเลขกระสุนสูงปรี๊ด จนไม่กล้าสรุป ทบ.ให้เวลาหน่วยไปหากระสุนมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด จนมีการส่งคืนครั้งที่ 2 แล้วสรุปออกมาว่า มีการเบิกจ่ายกระสุนไป 9 ชนิด รวม 778,750 นัด และมีการส่งยอดคืน จำนวน 586,801 นัด สรุปใช้ไปจำนวน 191,949 นัด แม้ตัวเลขรวมจะมากกว่ารายงานของ คอป. แต่ยอดกระสุนสไนเปอร์จริงๆ รวม 500 นัด ..โดยรายงานนี้จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หลังกลับจากเยือนอินโดนีเซีย”
‘อภิสิทธิ์’ รับกับ BBC ยันใช้กระสุนจริงเป็นสิ่งจำเป็น
ที่มาของภาพ: คัดลอกจาก BBC World News
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 55 รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม (อ่านรายละเอียด)
เปิดคำสั่งศาล กรณีระบุตายจากการปฏิบัติหน้าที่ จนท.
กระบวนการไต่สวนการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งเริ่มกระบวนการมาได้กว่า 5 ปีแล้วนั้น มีหลายกรณีที่ศาลมีคำสั่งระบุถึงสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ตายมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
“พัน คำกอง” 
คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา
ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"
“ชาญณรงค์ พลศรีลา”
คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ภาพเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงถูกถ่ายและเผยแพร่โดยช่างภาพต่างประเทศ นิค นอสติทช์
ศาลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต” 
คำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่
"ด.ช.อีซา"
ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เข้าช่องท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ 
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 20 ธ.ค.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“ผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
คำสั่งศาลระบุด้วยว่า แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้
“พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ”
ทหารสังกัด ร.พัน. 2 พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ ทหาร กับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553
ศาลมีคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
"เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกระโหลกศรีษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต”
“ฟาบิโอ โปเลนกี”
ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”
“6 ศพวัดปทุมฯ”
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”
ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า
1.     เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร
2.     ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน
3.     การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ
4.     กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53
ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
"วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"
ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง
ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1  ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
“ถวิล คำมูล”
ถวิล คำมูล ศพแรก 19 พ.ค.53 บริเวณศาลาแดง ข้างตึก สก. รพ.จุฬาลงกรณ์
ศาลศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ”
“ชายไม่ทราบชื่อ”
ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ”
“นรินทร์ ศรีชมภู”
ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 25 มี.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”
“เกรียงไกร คำน้อย”
โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยถูกยิงข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. 53 และเสียชีวิตวันต่อมา
ศาลมีคำสั่งเมื่อ 4 ก.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)
เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ