สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ธีระพล คุ้มทรัพย์
(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และ 25 ธันวาคม 2556)
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ธีระพล คุ้มทรัพย์
(สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และ 25 ธันวาคม 2556)
ย้อนกลับไปในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 53 กระแสข่าวที่สื่อกระแสหลักและสื่อเลือกข้างต่างโหมประโคมอย่างแทบไม่เว้นแต่ละวันเรื่องการใช้อาวุธสงครามโดยเฉพาะการยิงระเบิดชนิด M79 นั้น สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนและวาดภาพฮาร์ดคอร์ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้อย่างดียิ่ง ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นคือมุ่งเชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้เข้ากับปฏิบัติการชายชุดดำ โดยเฉพาะในเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทำให้คนเสื้อแดงทั้งหมดตกเป็นจำเลยสาธารณะในทันที ถ้อยคำ "ผู้ก่อการร้าย" "เผาบ้านเผาเมือง" ถูกผลิตซ้ำอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง เป็นสูตรสำเร็จให้ฝ่ายตรงข้ามกับนปช.และพรรคเพื่อไทยฉวยใช้มาโจมตีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อกล่าวหายอดนิยม "ล้มเจ้า (ไม่จงรักภักดี)" "ควายแดง (โง่)" และ "รับเงินทักษิณ (จ้างมาชุมนุม)"
ในขณะที่การค้นหาความจริงอย่างเป็นทางการผ่านกระบวนการไต่สวนการตายของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้ในส่วนคดีที่เสร็จสิ้นไปบ้างแล้ว ศาลจะเริ่มทยอยมีคำสั่งลงมาในหลายคดีว่าทิศทางกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่จนทุกวันนี้คำสั่งศาลเช่นว่านั้นก็ยังไม่อาจกลบลบข้อกล่าวหาต่างๆ ข้างต้นได้ อาจเป็นเพราะการไต่สวนการตายนั้นกระทำอย่างเงียบเชียบ ทั้งบางกรณีศาลยังห้ามมิให้สื่อมวลชนจดบันทึกเพื่อการรายงานข่าว (
http://prachatai.com/journal/2013/04/46190) อีกทั้งสื่อมวลชนน้อยรายนักที่จะใส่ใจนำเสนอข่าวซึ่งอาจเป็นคุณต่อฝ่ายคนเสื้อแดง กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่สื่อเลือกข้าง (หรือแม้แต่สื่อที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นกลาง) ย่อมจะละเลยหลักการ ขณะเดียวกันสื่อที่เลือกข้างฝั่งแดงเองก็ยังคงกังวลในการติดตามนำเสนอข่าวในส่วนที่เป็นข้อมูลประเภท “ฮาร์ดคอร์” เพราะเกรงว่า “จะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม” แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วมากว่าสองปีแล้วก็ตาม
ชื่อของ
วัลลภ พิธีพรม ถูกปล่อยออกมาผ่านสื่อต่างๆ ครั้งแรกๆ ในช่วงเวลาแห่งการไล่ล่าชายชุดดำเพื่อเติมเต็มข้อกล่าวหาอันเกี่ยวเนื่องมากจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายคนเสื้อแดง เหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะช่วยหนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า “คนเสื้อแดงยิงกันเอง” ที่มาจากรัฐบาลนายอสิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้ได้ ทางการระบุว่าเขาเป็นมือยิง M79 ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญหลายครั้ง ในที่สุดตำรวจสามารถจับกุมตัววัลลภได้และนำมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นำโดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร ในขณะนั้น ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาการ์ดเสื้อแดง 5 รายต่อสื่อมวลชน
(ประกอบด้วยวัลลภ พิธีพรม สมคิด มากวงศ์ วันชัย ซังข้าว อนันต์ มีรอด และชัชชัย โภคานุภาพ) พร้อมของกลางเป็นอาวุธสงครามและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ทั้งยังได้นำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ณ ที่เกิดเหตุในหลายท้องที่ อีกทั้งตำรวจ ศอฉ. และนักการเมืองฝั่งรัฐบาลขณะนั้น ยังออกมาหน้าสื่อพยายามสืบสาวไปหา “ผู้บงการ” เป็นรายวันในเวลาต่อมา นับเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ถูกหลายฝ่ายนำไปผูกโยงกับ “ชายชุดดำ” ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 (
จับผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 – ระบุทำตามอุดมการณ์)
แม้จะผ่านการแถลงข่าวว่าก่อเหตุมาหลายครั้งหลายท้องที่ แต่จนแล้วจนรอด วัลลภซึ่งถูกขังในทันทีโดยไม่ได้ประกันก็ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 348/2554 เพียงคดีเดียว จากเหตุเมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน 2553 กรณียิง M79 ใส่บริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่นของพ่อเลี้ยงคะแนน สุภา หรือพ่อตาของนายเนวิน ชิดชอบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เป็นที่ประจักษ์ต่อศาลเนื่องจากพยานหลักฐานไร้น้ำหนัก ไม่มีของกลางเป็นอาวุธตามที่ฟ้องมา หลังจากส่งหลายประเด็นไปสืบนอกพื้นที่ในศาลอื่นๆ โดยที่ทำให้วัลลภต้องตระเวนไปยังเรือนจำต่างๆ กว่าสิบแห่งในหลายจังหวัด และเกือบทุกแห่งตีตรวนเขาตลอดเวลาด้วยมาตรการควบคุมพิเศษที่ใช้กับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ นี่คือคนที่สื่อต่างๆ พร้อมใจกันเชื่อว่าเป็นแกนนำในการก่อเหตุรุนแรงทั้งหลาย รุนแรงถึงขั้นกล่าวหาว่าเขาคือหัวหน้าชายชุดดำตัวจริง! อาจเพราะด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกศาลสั่งขังระหว่างรอคำอุทธรณ์จากพนักงานอัยการไปอีกเกือบ 3 เดือนกว่าที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่อุทธรณ์
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 เขายังถูกอายัดตัวไปที่เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ทันทีด้วยคดีตามหมายจับเก่ากรณีที่มีการยิง M79 ใส่สำนักงานสมาคมกู้ภัยอุตรดิตถ์สงเคราะห์ โดยข่าวในขณะนั้นเริ่มทิ้งประเด็นว่าเป็นฝีมือของการ์ดนปช.คนหนึ่ง (http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000064252)
เราได้โอกาสพูดคุยกับวัลลภ พิธีพรม หรือ “ป้อม” ในวันที่เขาอายุ 29 ปีและถูกปล่อยตัวมาได้เกือบหนึ่งปีแล้ว(ก่อนหน้านี้เขาระแวงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเนื่องจากมีประสบการณ์เลวร้ายกับการตกเป็นข่าว) และได้รับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในฐานะนักโทษคดีการเมืองมาเป็นเงินจำนวน 1 ล้าน 7 แสนบาท เขากลับมาประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ติดจานดาวเทียม และขายเสื้อผ้ามือสองเหมือนเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้าจะถูกจับกุม ส่วนเนื้อคดีเขาเล่าคร่าวๆ ว่าทุกคดีไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีอาวุธของกลาง เรานัดกับวัลลภที่บ้านหลังใหม่ที่เพิ่งใช้เงินเยียวยาซื้อมาในย่านชานเมืองเชียงใหม่เพื่อรื้อฟื้นทบทวนเรื่องราวและเปิดอกคุยกับชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่ง เดิมเพียงหวังจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ในช่วงครบรอบหนึ่งปีอิสรภาพของเขา แต่ไม่มีจังหวะเบียดกระแสข่าวที่กำลังกระพือโหมประเด็นการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในขณะนั้น
ในวันนั้น (19 พฤศจิกายน 2556) เขายังพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ว่า ".. ผมมีหน้าที่แค่ดูแลประชาชนไม่ให้ใครมาทำร้ายได้แค่นั้นเอง ผมไม่ได้สนใจว่าเขาจะนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วตัวผมเองมีคดีอยู่ผมก็ไม่ได้หวังอยู่แล้วว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรม ไม่ได้อานิสงส์ คดีผมยกฟ้องไปแล้ว"
จนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมานี้ ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเขาตลอดชีวิตตามคดีหมายเลขแดงที่ 2205/2556 จากกรณีเหตุลอบยิงอาวุธสงคราม M79 ใส่สำนักงานสมาคมกู้ภัยอุตรดิตถ์สงเคราะห์ บริเวณศาลหลวงปู่ไต้ฮงกง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.53 เป็นผลให้ประตูกระจก ผนังปูน และหลังคา รวมทั้งป้ายชื่อมูลนิธิแตกเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด (
http://prachatai.com/journal/2013/12/50569) และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เนื่องจาก “เป็นเรื่องร้ายแรง .. เกรงว่าจะหลบหนี” อันเป็นเหตุผลที่ใครก็ตามที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคดีที่มีคนเสื้อแดงตกเป็นจำเลยย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดี
บทสนทนานี้จึงถูกนำมาอ่านใหม่อีกครั้ง แต่โอกาสที่จะได้คุยกันเพิ่มเติมนั้นหดเหลือน้อยนิดยิ่งนักเนื่องจากการพบปะถามตอบครั้งล่าสุดนี้ (25 ธันวาคม 2556 เรียบเรียงไว้ในตอนท้ายของตอนที่สองของบทสัมภาษณ์ชุดนี้) เราต้องคุยกับเขาผ่านลูกกรงและกระจกในห้องเยี่ยมญาติ
ถาม : หลังได้รับอิสรภาพ ชีวิตเป็นอย่างไร ครอบครัว อาชีพ ความเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า
วัลลภ : ผมถูกขัง 738 วัน ตอนอยู่ข้างในก็ท้อ ไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร นึกออกไหมครับ จะได้ปล่อยตัวไหม คดีจะสิ้นสุดเมื่อไร จะติดกี่ปี ผมห่วงเรื่องแถลงข่าวที่มีการรับสารภาพไป ยกฟ้องแล้วแทนที่จะให้โอกาสผมออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับเอาผมไปขังไว้ให้เสียเวลาตั้งหลายเดือน (
ศาลยกฟ้อง! ‘วัลลภ’ ผู้ต้องหายิง M79 เชียงใหม่ปี 53 ,
ผู้ต้องหายิง M79 เชียงใหม่ยังถูกขังหลังศาลยกฟ้อง) ผมเชื่อว่าคงมีนักโทษไม่กี่คนหรอกที่ปล่อยตัวตอนตีหนึ่ง หัวสมองของผมคิดเพียงแต่ว่าปล่อยตัวเวลานี้จะกลับบ้านยังไง แต่เมื่อเดินออกนอกประตูเรือนจำ ผมก็ได้พบกับภาพที่น่าจดจำครั้งแรกในรอบ 2 ปีกว่าๆ ผมได้พบกับญาติ และคนเสื้อแดงจำนวนมาก ส่วนครอบครัว แยกย้ายกันไปแล้ว ต่างคนต่างมีใหม่ ตอนนี้ผมมีลูก 3 คน คนโต 11 ขวบ คนกลาง 8 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ ครอบครัวมันแตกแยกกันหมดแล้ว ก็กลายเป็นเหมือนเด็กกำพร้าไป สองคนอยู่กับย่าเขา อีกหนึ่งคนก็อยู่กับแม่เขาที่อุตรดิตถ์ ทุกคนที่เคยถูกขังคุกมาจะทราบดีว่า ไม่มีใครจะรอคอยคนที่อยู่ข้างในได้ ไม่เป็นไร เมื่อมีการต่อสู้ก็ต้องมีการสูญเสีย เป็นของคู่กันทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ตอนที่ผมติดคุกใหม่ๆ ลูกสาวผมไปโรงเรียนก็โดนเพื่อนล้อว่ามีพ่อขี้คุกทุกวัน จนไม่อยากไปโรงเรียน
ก่อนจะมีคดีผมก็รับติดจานดาวเทียมอยู่แล้ว เปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสอง อาชีพที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ รับเหมาก่อสร้าง รับเหมาต่อเติม หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมทุกคนต้องลำบากกัน ผมก็เลยไปรวบรวมพี่น้องนักสู้เสื้อแดงมาทำงานด้วยกัน เหนื่อยมากๆ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนที่มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกัน ตอนนี้มีทั้งหมด 9 คน เรื่องรายได้ถ้าเทียบระหว่างก่อนกับหลังเกิดเหตุการณ์ ในปัจจุบันลำบากกว่าแน่นอน เพราะเมื่อก่อนผมหาได้เท่าไรก็ใช้กันแค่ภายในครอบครัว แต่ตอนนี้ต้องเอามาหาร 9 ตามจำนวนคน
หลังสลายการชุมนุม ผมตามเอาการ์ดที่ไม่มีงานทำมาช่วยกันทำงานขายเสื้อผ้าอยู่ที่ตลาดร่มเกล้า ทุกคนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง หาได้เท่าไรก็กินกันเท่านั้น จนผมมาถูกจับกุม ทุกคนก็แยกย้ายกันไป เท่าที่รู้มามีหลายๆ คนที่ยังลำบากมากๆ ในตอนนี้ คนไหนที่ผมสามารถติดต่อได้ผมก็ให้การช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ และก็มีหลายๆ คนที่ผมพามาทำงานด้วยกันที่เชียงใหม่ในเวลานี้ด้วย
ผมพยายามจะยืนอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ ต้องหาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองให้ได้ ใครลำบากผมสามารถเอามาดูแลได้ แต่ถ้าสบายแล้วจะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่
ถาม : เงินเยียวยาเป็นอย่างไร คุ้มไหม
วัลลภ : 1ล้าน 7แสน กับสองปีกว่าในคุก ซื้อบ้านกับเอาไปใช้หนี้ที่กู้เอามาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวสามแสนก็หมดแล้ว ดอกเบี้ยวันละพัน ผมไม่ได้เป็นเสื้อแดงเพราะเงิน ไม่มีใครรู้ว่าติดคุกแล้วจะได้เงิน ไม่มีใครรู้ว่าตายแล้วจะได้เงิน อันนี้ถือว่าเป็นกำไรชีวิตถ้าได้มา แต่ถ้าไม่ได้มาก็ไม่มีผลอะไรอยู่แล้ว เพราะจริงๆ แล้วทำทุกสิ่งทุกอย่างลงไปด้วยอุดมการณ์ทั้งนั้น คือเราไม่อยากเห็นใครมาทำร้ายประชาชน ตัวผมเองผมไม่เคยคิดแล้วก็ไม่เคยรู้ว่าติดคุกแล้วจะมีเงินส่วนนี้มา ไม่เคยหวังว่าในขณะที่ติดคุกอยู่จะต้องมีใครมาดูแลมาช่วยเหลือ
ถาม : ช่วยเล่าถึงช่วงที่ถูกจับกุม ทำไมจึงสารภาพ
วัลลภ : ผมถูกจับแล้วถูกส่งตัวมาสอบปากคำที่เชียงใหม่คืนนั้นเลย เพราะเขากลัวว่าผมจะโทรบอกคนโน้นคนนี้ให้หนีอะไรอย่างนี้ เขาเลยเอาผมมากันไว้ที่เชียงใหม่ก่อน ผมถูกเก็บตัวไว้ในเซฟเฮ้าส์ 3 วัน 3 คืน ผมได้พยายามร้องขอเพื่อติดต่อญาติหรือทนายความ เพราะข้อหาที่ตำรวจแจ้งมานั้นมันเหมือนกับว่าผมเป็นผู้ก่อการร้ายซะอย่างนั้น แต่ผมก็ไม่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นผมจึงถูกสอบปากคำติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด ไม่ได้พักผ่อน จนผ่านไปถึง 4 วัน 4 คืน ประมาณตี 5 ของวันที่ 4 ทางเจ้าหน้าที่ได้เอาเอกสารมาให้ผมเซ็น 4 ปึกใหญ่ๆ เขาบอกว่า ให้เซ็นเอกสารบันทึกการจับกุม และใบริบของกลาง ถ้าเซ็นเสร็จแล้วจะให้ผมพักผ่อน แล้วตอนเช้าจะให้ใช้โทรศัพท์ติดต่อญาติ ทั้งหมดมัน 4 คืนที่ไม่ได้นอน วันที่เซ็นเอกสารคือไม่ไหวแล้ว ไม่ได้กินไม่ได้นอน อยู่ในอาการที่เพลียสุดๆ แล้ว เขาเอาเอกสารมา ตัวผมเองก็หมดสภาพในการอ่านแล้ว เอกสารมันเยอะ ไม่ทันได้อ่านที่เซ็นไป และอีกอย่างก็ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาเอกสารอย่างอื่นมาให้เซ็น และผมก็เซ็นตรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ให้ผมเซ็น แต่เมื่อเซ็นเอกสารหมดแล้ว พอวันที่จับพวกที่กรุงเทพได้ตอนเช้าเขาก็เอาผมนั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปแถลงข่าวที่กรุงเทพบ่ายเลย แถลงข่าวเสร็จก็ถูกนำตัวกลับทันที พอถึงเชียงใหม่ ผมจึงทวงถามเรื่องการติดต่อญาติ แต่ก็ถูกปฏิเสธ และทางเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ก่อนแล้วจะให้ติดต่อ เมื่อไปถึงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ผมจึงไม่ยอมให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น ผมถูกสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่อีก 2 วัน เป็นช่วงหน้าหนาว แอร์มันอยู่บนหัว เปิดแอร์เป่ามาที่ตัวผม แล้วก็ให้ผมรับสารภาพ แล้วก็เอากระดาษมาให้ผมดู ให้ผมเซ็นรับสารภาพว่ารู้จักกับคนนี้ คนนั้นเป็นคนสั่งการ ผมก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ
วัลลภ : ไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์ผม วันที่แถลงข่าวมีการต่อรองระหว่างผมกับตำรวจว่า ขอพบทนายกับขอพบญาติก่อน เขาก็บีบให้เรารับสารภาพ ผมก็กลัวว่าถ้าเรารับสารภาพไปมันจะมีผลต่อคนอื่นไหม มีผลต่อ นปช. หรืออะไรไหม ผมเลยบอกไปว่าไม่เกี่ยวอะไรกับใคร ไม่เกี่ยวข้องกับนปช. ไม่ได้เป็นเสื้อแดง ทำไปด้วยอุดมการณ์ส่วนตัว อาวุธจัดหาซื้อเอง คือจริงๆ แล้วมันต้องรับสารภาพแบบนี้เพื่อป้องกันคนอื่นที่เขาอยู่ข้างหลังด้วย ไม่อย่างนั้นคงโดนพรรคประชาธิปัตย์เล่นงานแน่ๆ แต่หลังจากที่รับสารภาพไปแล้วเขาก็ไม่ได้ให้พบญาติ ให้เซ็นเอกสาร แล้วก็พาตัวกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง เอามาขังไว้ในเซฟเฮ้าส์อีกทั้งหมด 11 วัน ถึงจะเอาเข้าเรือนจำ รวมแล้ว 14 วันหลังจากที่ถูกจับ
ถาม : เขาบอกว่าได้อาวุธมาจากสี่คนนี้หรือ (ให้ดูภาพถ่ายจากการแถลงข่าว)
วัลลภ : จริงๆ แล้วผมบอกเขาแล้วว่า อาวุธนี่มันไม่ใช่ของพวกผม ให้เอาลงไป เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เอาวางไว้นี่แหละ จะถ่ายแค่หน้า จริงๆ แล้วไม่เกี่ยว ไม่มี ในสำนวนก็ไม่มีฟ้องมาว่ามีอาวุธ แต่ฟ้องว่าพกพา ยิงลูกระเบิด แต่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีของกลาง อีกสี่คนที่โดนคดีครอบครองวัตถุระเบิดก็ออกมาหมดแล้ว
ถาม : วันที่แถลงข่าวมีทำแผนออกข่าวโทรทัศน์ด้วย
วัลลภ : ใช่ครับ มันเป็นการ.. เขาเรียกว่าไงอ่ะ คือตัวผมเองผมบอกว่าไม่ได้ทำ แต่ทางตำรวจเขาบอกว่า “ถ่ายๆ ไปเหอะ จะได้กลับ” ผมก็พูดกับพี่ๆ นักข่าวว่า “ถ้าพี่ถ่ายไว้เนี่ย ผมพูดไว้เลยว่าผมไม่ได้ทำ แต่ทางตำรวจเขาให้ทำ” แล้วให้เขาจัดท่าให้ด้วย ให้ตำรวจบอกว่าจะต้องเล็งไปตรงไหนยังไง
วัลลภ : ผมไม่กินเหล้ากินเบียร์ครับ ผมถูกจับกุมตอนเติมน้ำมันที่ปั๊มแถวสายไหม
ถาม : แล้วสู้คดียังไง
วัลลภ : ในคำฟ้องลงว่าผมรับสารภาพ จริงๆ แล้วผมปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ผมสู้ว่าผมไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และเอกสารทุกใบผมไม่ได้อ่าน เพราะเป็นวันที่สี่แล้วที่ผมไม่ได้นอน ผมถูกจับได้ไงเหรอ ผมไม่เคยรู้ว่าตัวผมมีหมายจับ ยังใช้ชีวิตอยู่ปกติในเมืองไทยทั่วไป เซลไซต์โทรศัพท์ก็ขึ้นทั่วไป เป็นเส้นทางปกติที่ผมวิ่ง เป็นการวิ่งไปเอาเสื้อผ้าที่ตลาดโรงเกลือแล้วก็กลับมาขายที่นี่
ถาม : วันแรกที่ถูกจับ คิดว่าจะมีคนมาช่วยไหม
วัลลภ : ไม่คิดว่าจะมีใครมาช่วยนะ เพราะผมถูกตั้งข้อหาร้ายแรง จากที่ให้ทนายไปดูในครั้งแรกเขาตั้งว่าเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะมีใครเข้ามายุ่ง ตอนที่ติดแรกๆ ไม่มีใครมาเยี่ยม ไม่มีจดหมาย ไม่มีอะไรเลย
ถาม : ระหว่างที่ถูกนำตัวย้ายไปขังในหลายๆ เรือนจำทั่วประเทศ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
วัลลภ : เรือนจำกลางเชียงใหม่ผมถูกขังในแดนความมั่นคงสูง มีเอาไปฝากขังไว้เป็นคืนๆ เพราะว่าถูกดีเอสไอสอบสวนด้วย แล้วก็ถูก (กองบัญชาการตำรวจ) ภาคห้า (สภ.) ภูพิงค์ แม่ปิง กองเมือง ช้างเผือก เพื่อสอบสวน หลังจากนั้นผมก็ถูกย้ายไปเรือนจำต่างๆ ทั้งกลางพิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พะเยา เชียงราย พิเศษพัทยา พิเศษกรุงเทพ ปทุมธานี แล้วก็กลับมาที่กลางเชียงใหม่อีก ถ้าเป็นเรือนจำเล็กๆ อย่างพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จะให้ผมอยู่ในห้องซอยเดี่ยวบ้างหรือซอยรวมบ้าง ห้องขังเดี่ยวเป็นห้องแคบๆ มืดๆ เพราะคดีมันมีอัตราโทษสูงกว่าเรือนจำจะรับได้ เรือนจำจังหวัดส่วนใหญ่รับได้ที่ 15 ปี แต่อัตราโทษของผมมันตลอดชีวิต ผมถูกตีตรวนตั้งแต่ย้ายไปเรือนจำกลางพิษณุโลก ไม่ได้ถอดตรวนเลย ไม่ว่าจะกินข้าว นอน อาบน้ำ ชีวิตประจำวันผมอยู่กับตรวนตลอด เปลี่ยนเสื้อผ้ามันจะมีวิธีถอดของคนคุกเขา มันสามารถถอดออกได้โดยที่ส่วนหนึ่งยังคาขาอยู่ ผมได้ถอดตรวนจริงๆ ตอนไปเรือนจำพะเยา เรือนจำเชียงราย พอไปลงไปเรือนจำพัทยาก็เอาผมไปตีตรวนอีก ปทุมธานีนี่ผมโดนตีตรวนตลอด สรุปแล้วย้ายไปทั้งหมด 11 คุก จำได้ว่าถอดตรวนแค่ที่เชียงใหม่ พะเยาและเชียงราย
ถาม : แล้วแออัดต่างกันไหม
วัลลภ : เรือนจำจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นคดีเล็ก มีนักโทษพันกว่าคน เป็นคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ ถ้าอยู่ในห้องซอยก็จะไม่ได้แออัดกับใครเพราะว่าไม่ได้เจอใคร แต่ถ้าอยู่ในห้องรวมก็ค่อนข้างแออัด ห้องหนึ่งนอนกัน 60-70 คน ผมมีสิทธิพิเศษอยู่แล้วครับพวกใส่ตรวน คนอื่นเขาได้ลงจากห้อง แต่ผมถูกขังอยู่แต่ในห้อง
ถาม : แสดงว่าพวกที่ถูกควบคุมพิเศษนี่หลายอย่างก็สบายว่านักโทษปกติ
วัลลภ : ใช่ครับ พวกแถบแดงควบคุมพิเศษนี่ (หมายถึงชุดออกเยี่ยมหรือออกศาลของนักโทษ ที่จะมีแถบสีที่ปลายแขน บ่งบอกความหนักเบาของโทษ สีแดงเป็นโทษหนักที่สุด : ผู้สัมภาษณ์) สิทธิพิเศษต่างๆ จะเยอะกว่า กินก่อน นอนก่อน อาบน้ำก่อน อะไรพวกนี้ สิทธิทุกสิ่งทุกอย่างจะได้มากกว่าเขา แต่ความรู้สึกมันหดหู่ เวลามีคนออกไปตัดสินทีหนึ่งต่ำๆ เลยก็ 25 ปี ก็จะพากันหดหู่กันหมดทั้งแดน ก็จะเศร้ากันไป ออกไปทีกลับมาตลอดชีวิตงี้ ประหารชีวิตงี้ มันเป็นแดนที่มีโทษสูงอยู่แล้วครับ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครคุยกันเรื่องโทษ ก็ปล่อยใจอิสระไปเลย จะได้คลายเครียดไป เพราะถ้าเรามัวแต่ห่วงเรื่องโทษกันก็จะไม่เป็นอันทำมาหากิน ก็เล่นกีฬาอะไรกันไป แยกออกต่างหากจากนักโทษทั่วไป คดียาขั้นต่ำสองหมื่นเม็ด คดีฆ่า อะไรต่างๆ
ถาม : แล้วเขาอนุญาตให้เยี่ยมไหม
วัลลภ : มันไม่มีคนไปเยี่ยม ไม่ใช่ว่าไม่ได้เยี่ยม พี่เมย์ อียูกับน้องเปิ้ล กริชสุดา คุณะแสน มาดูแลก็เรือนจำที่แปดที่พัทยาแล้ว จากนั้นก็คอยดูแลมาตลอด
ถาม : แล้วเวลาติดต่อทนายล่ะ
วัลลภ : เจอกันที่ศาลอย่างเดียว ไปตอนขึ้นสืบเลย ส่วนใหญ่เจอกันที่ศาล ไม่มีโอกาสได้พบที่ห้องทนาย เพราะแต่ละที่มันไกล ส่วนใหญ่จะได้คุยที่เรือนจำเชียงใหม่อย่างเดียว
ถาม : ความช่วยเหลือระหว่างถูกขังก็เคยเขียนเล่าไว้เองบ้างแล้ว
วัลลภ : จริงๆ แล้ว ผมได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่คนภายนอกยันคนภายใน ตอนอยู่พิเศษกรุงเทพช่วงแรกแดนหนึ่งแรกรับก็ต้องคุมพิเศษเหมือนกัน อ.สุรชัย (แซ่ด่าน) แกไปขอไว้ว่าไม่ต้องย้าย ให้อยู่แดนนี้ด้วยกัน เป็นเสื้อแดงเหมือนกัน ผมก็อยู่ที่นั่นจนย้ายเรือนจำ น่าจะสักเดือนสองเดือน จนย้ายไปปทุมธานี อ.สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ก็ให้ความช่วยเหลือมาตลอด และเป็นคนแนะนำให้เขาเขียนเล่าเรื่องของตัวเองผ่านจดหมายฉบับนี้เพื่อสื่อสารกับคนภายนอก http://prachatai.com/journal/2012/04/39931 พี่สุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นคนที่ไม่เคยห่างเลย ดูแลผมตั้งแต่เรื่องการกินเรื่องการอาบน้ำ แล้วก็ อ.สุรชัยแกจะได้อาหารดีๆ ตลอด แกไม่เคยลืมพี่ลืมน้อง แกเรียกผมตลอดว่าให้เข้ามาเอา ไปนั่งกินข้าวด้วยกัน แรกๆ ก็ไม่อยากจะรบกวนแก แต่หลังๆ แกคะยั้นคะยอว่าต้องเอานะ ต้องกินนะ ของแกเหลือเยอะเกินไปละ อะไรอย่างนี้ ผมก็เลยรับไว้ ก็เอามานั่งกินกันกับพี่สุรภักดิ์ พี่หนุ่ม เรดนนท์นี่ส่วนใหญ่เวลาเดินผ่านห้องเยี่ยมญาติแกก็จะเรียกไปเอาขนมมั่งอะไรมั่ง เวลาผมย้ายไปในแต่ละเรือนจำผมจะไม่มีของไม่มีเครื่องใช้ไม่มีเงิน จนกว่าจะมีคนตามมาเจอแล้วฝากเงินให้ แม้แต่แปรงสีฟันอันเดียวผมก็ไม่มี
ในส่วนของคนภายนอกก็มีบ้างครับ มีหลายๆ คนที่เข้าไปเยี่ยม มีทั้งมวลชนเชียงใหม่ตามไปเยี่ยมหลายครั้ง ไปฝากตังค์ ไปดูแล ไปเยี่ยม
ถาม : รู้สึกว่ามีบทเรียนให้เราระวังตัวขึ้นไหม
วัลลภ : ใช่ครับ หลายสิ่งหลายอย่างมันสอนเราเกี่ยวกับลักษณะการทำงานอะไรอย่างนี้ ที่ผ่านมาอาจจะดูแลคนไม่ทั่วถึงพวกเราเลยสูญเสียกันมากขนาดนี้ ครั้งหน้าถ้ามีอีกเราก็อาจจะดูแลได้ดีกว่านี้มันเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ยากที่จะลืม มีทั้งดีมีทั้งร้าย เราเจอทั้งคนที่ดีและไม่ดีกับเรา แต่ถ้าถามว่าคราวหน้าถ้ามีม็อบอีกจะเข้าร่วมอีกไหม ผมไม่เคยท้อถอยในการเข้าร่วมในการดูแลคน แต่ใครบ้างที่อยากจะกลับไปติดคุกอีก ไม่มีแน่ แต่ไม่มีใครถอยหรอก คนที่เป็นคนเสื้อแดงมาแต่แรกมันไม่ถอยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเหนื่อยอะไรแค่ไหนเขาก็ทำกันได้ แม้แต่ควักเงินส่วนตัวออกเดินทางไปชุมนุมเขาก็ยังทำกันอยู่
“ป้อม” วัลลภ พิธีพรม อายุ 29 ปี
ถาม : เริ่มมาเป็นการ์ดได้อย่างไร
วัลลภ : จังหวัดอุตรดิตถ์มีเสื้อแดงเยอะแต่ไม่มีคนคอยดูแลมวลชน ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในมวลชนเล็กๆ ไปแอบฟังแอบดูเวลาเขาปราศรัยบ่อยๆ เข้า แกนนำจังหวัดเขาเห็นก็เลยเรียกไปสอบถาม แล้วลองให้ทำดู แรกๆ ก็แค่ดูแลคนเล็กๆ น้อยๆ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้าการ์ดจังหวัดในปลายปี 52
ถาม : ดูจากที่เราเคยผ่านทหารเกณฑ์มาด้วยหรือเปล่า (วัลลภเคยสมัครเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารม้า (ม.พัน 7) จ.อุตรดิตถ์ เคยไปประจำการอยู่ชายแดน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก ปลดประจำการก็มาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยท่าเสา ที่บ้านเกิด)
วัลลภ : น่าดูจากหลายๆ อย่าง อุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ที่มีป่าเยอะ เวลาเขาจะตั้งเวทีเขาจะต้องเอาผมไปนั่งวางแผนด้วย ผมไม่รู้ว่าแต่ละจังหวัดนี่เขาคัดเลือกการ์ดกันยังไง แต่หลังจากผมขึ้นเป็นหัวหน้าการ์ด ผมเน้นไปที่คนมีประสบการณ์ อย่างแรกที่เลือกคือเคยผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว คนพวกนี้จะมีความอดทน เขาจะมองออกว่าคนลักษณะไหนที่เป็นภัยกับพวกของเรา รถของมวลชนผู้ชุมนุมมันเยอะ ถ้ามีพวกไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพเข้ามา หรืออาจจะมีการวางระเบิดแสวงเครื่อง ในมุมมองของทหารเก่ามันไม่ได้วางยาก เราต้องมีคนที่เป็นงานในเรื่องนี้มาดูแลด้วย
ถ่ายขณะเป็นทหารเกณฑ์อยู่ ม.พัน 7 (คนยืนขวาสุด)
ถาม : งานการ์ดเสื้อแดงต้องทำอะไรบ้าง
วัลลภ : คำว่าการ์ด จริงๆ แล้วถ้าจะแปลออกมาเป็นไทยๆ เลยก็คือ “ยาม” นี่แหละ คอยดูแลรักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ ถามว่าทำไมจะต้องดูแล ทำไมจะต้องตรวจค้น คือไอ้การที่จะใส่เสื้อแดงแล้วเข้าร่วมชุมนุมน่ะใครก็ทำได้ เราไม่รู้หรอกว่าเสื้อแดงจะต้องมีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้ ใครก็เข้ามาได้ เขาก็ต้องเลยมีการ์ดไว้เพื่อคอยดูแล ถ้าเกิดมีการสร้างสถานการณ์ข้างใน อย่างน้อยคนที่สร้างสถานการณ์มันจะได้ออกไม่ได้ ส่วนที่หลังเวทีต้องมีการ์ดเยอะก็เพราะถ้าเกิดมีใครเข้าไปทำอะไรแกนนำ ถ้ามวลชนไม่มีแกนนำแล้วจะอยู่กันยังไง จึงต้องดูแลทางเข้า ดูแลหลายสิ่งหลายอย่าง เผื่อจะมีการปลอมตัวเข้ามาก่อกวน
ที่อื่นผมไม่มั่นใจนะ แต่จากตัวผมเอง คือ ถ้าเป็นระดับสูงๆ ระดับหัวหน้าการ์ดจังหวัดนี่ควรร่วมวางแผนกับแกนนำเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย รถจอดตรงไหน เวทีตั้งตรงไหน มวลชนนั่งตรงไหน เต๊นท์แกนนำตั้งอยู่ยังไง ทางเข้าทางออกควรจะอยู่ตรงไหน ควรจะมีการ์ดยืนตรงจุดไหนบ้าง คอยบริการประชาชน อะไรอย่างนี้ จะต้องทำได้กระทั่งโบกรถให้จอดเข้าที่ หรือคอยตรวจค้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมน่าสงสัย คอยดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานที่เราจัดขึ้นมา
ถาม : เป็นการ์ดได้เงินเดือนไหม
วัลลภ : ไม่มีครับ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผมต้องควักกระเป๋าตัวเอง ไม่เคยเรียกร้องจากส่วนใด
ถาม : ช่วงปี 52 เราทำอะไรบ้าง
วัลลภ : เมื่อก่อนผมติดตาม อ.สุรชัย (สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์) กับ เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) เพราะแกจะอยู่ด้วยกัน ช่วงต้นปีผมยังขายของหาเงินอยู่ ในวันที่เขายิงกันที่สามเหลี่ยมดินแดง ตัวผมไปรับผ้าอยู่ที่ตลาดโบ๊เบ๊ ผมดูข่าว ข่าวบอกว่าใช้ลูกซ้อมในการยิงขึ้นฟ้า แต่ด้วยความที่เคยเป็นทหารมาก่อนก็เลยรู้ว่าปืนที่ใช้ลูกซ้อมจะต้องมีลักษณะแบบไหน จะต้องมีการติดอะแดปเตอร์ที่ปากกระบอก ปลอกกระสุนไม่เหมือนกัน ผมก็เริ่มรู้แล้วว่าในข่าวไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการบิดเบือน มีการฆ่าประชาชนจริงๆ ก็เลยพลิกตัวเอง จากที่มาร่วมชุมนุมเป็นบางครั้ง กลายเป็นเข้าร่วมชุมนุมทุกครั้งเพื่อที่จะดูแลรักษาความปลอดภัย เพราะในช่วงนั้นอาจจะมีการเอาระเบิดไปวาง หรืออาจจะไปยิงสร้างสถานการณ์ก็เป็นไปได้
ถาม : ความเข้าใจสถานการณ์แบบนี้คือผลที่สั่งสมมาจากความสนใจเรื่องการเมืองมาหลายปี
วัลลภ : ตั้งแต่ปี 49 หลังจากรัฐประหาร ก็เริ่มติดตามข่าวการเมืองมาตลอด ก่อนหน้านั้นผมไม่ได้สนใจการเมือง เพราะในช่วงที่ผมเกิดมันหมดยุครัฐประหารแล้ว ตอนปี 35 ผมก็ยังเด็กยังไม่รู้เรื่อง หลังจากนั้นสถานการณ์บ้านเมืองมีการรัฐประหารผมก็เลยสนใจว่าทำไปเพื่ออะไร ไล่ทำไม ใครเป็นคนทำ ใครวางแผน ระบบปฏิบัติการทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง
ถาม : ส่วนตัวเรามีใครเป็นไอด้อลไหม
วัลลภ : เสธ.แดงคนเดียว (ตอบทันที) ผมคิดว่าแกเป็นนายทหารที่น่าเคารพนับถือ ความคิดของเสธ.แดงนี่ผมเชื่อเลยว่าทุกคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแกจะกลัวแกหมด เพราะแกเป็นนายทหารที่ฉลาดมาก มีประสบการณ์จากสนามรบทั้งในเมืองทั้งในป่า
ถาม : ที่ว่าฝึกอาวุธกับเสธ.แดงนี่จริงไหม (ให้ดูภาพถ่ายจาก http://www.oknation.net/blog/prompzy/2010/11/26/entry-1)
วัลลภ : ไม่นะครับ จริงๆ แล้วผมได้ทำงานร่วมกับแกก็คือในช่วงที่แกเริ่มมาปราศรัยในเขตภาคเหนือแค่นั้นเอง แล้วจากนั้นเขาเรียกว่าเลือดทหารด้วยกันก็เลยตามกันไป คนในรูปนี้ไม่ใช่ผมแน่ๆ ได้ยินว่าเจ้าตัวเคยออกมายืนยันแล้ว
ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/prompzy/2010/11/26/entry-1
อ้างว่าเป็นภาพของวัลลภขณะร่วมฝึกอาวุธกับ พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง
ถาม : เดินสายไปกับแดงสยามตลอดเลยหรือ
วัลลภ : ส่วนใหญ่จะเป็นในภาคเหนือ นับตั้งแต่สุโขทัยขึ้นมา จะไปกับเขาตลอด เริ่มอารักขาตั้งแต่สนามบิน ปิดเส้นทางให้อะไรให้ ไปจนถึงสถานที่ชุมนุม เสร็จปุ๊บก็จะกระจายกำลังไปดูแลพื้นที่การชุมนุม ส่วนตัวผมจะดูแล อ.สุรชัย กับเสธ.แดงเอง สมัยนั้นก็จะมี ดร.สุนัย และแกนนำอีกหลายๆ คน แกนนำส่วนใหญ่จะนั่งอยู่ในเต๊นท์ แต่จะมีเสธ.แดงคนเดียวที่จะนั่งปะปนอยู่กับมวลชน ไม่เข้าไปนั่งในเต๊นท์ ก็เลยต้องดูแลแกเป็นพิเศษ
ถาม : ตอนนั้นได้เข้าร่วมกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 หรือยัง
วัลลภ : ในช่วงแรกๆ ยัง ผมไม่มั่นใจว่าดีเจอ้อม (กัญญาภัคร มณีจักร) ไปเจอผมตอนไหน คงไปถูกใจอะไรผมสักอย่างแล้วเอาผมมาทำงานร่วมกันอยู่กับรักเชียงใหม่ 51 ขึ้นมาก็ปลายปี 52 แล้ว ตั้งแต่ชุมนุมขับไล่ (พล.ต.ท.) สมคิด บุญถนอม ในช่วงนั้นการ์ดของทางภาคเหนือตอนล่างก็จะมีอยู่หลายกลุ่ม จะมีนักรบพระแม่ย่าของสุโขทัย มีนักรบพระองค์ดำของพิษณุโลก แล้วของอุตรดิตถ์ก็จะเป็นทีมผม ไม่ว่าจะเป็นเขายายเที่ยง เขาสอยดาว ก็จะไปด้วยกันหมด ส่วนใหญ่เขาคงคิดว่ามาไกล ในการวางแผนหลายๆ อย่างแกนนำเขาเลยรับฟังเรา
ถาม : พฤษภา 53 อยู่กรุงเทพใช่ไหม ทำอะไรบ้าง
วัลลภ : ใช่ครับ ตั้งแต่เมษาแล้ว เดิมทีตัวผมเองเป็นกู้ภัยอยู่แล้ว แล้วคราวนี้เวลามีแก๊สน้ำตาคนแก่เขาจะรับไม่ไหว มวลชนของรักเชียงใหม่ 51 ส่วนใหญ่เป็นคนแก่ อาจจะมีโรคแทรกซ้อนอย่างโรคหัวใจอะไรอย่างนี้ ก็เลยเกณฑ์คนแก่เอาไปเก็บไว้ก่อน อพยพไปหลบหลังตึกคุรุสภา แล้วเอาคนหนุ่มมาปะทะกับทหารตำรวจ
ถาม : งานกู้ภัยนี่ทำอยู่ก่อนสนใจการเมืองอีกหรือ
วัลลภ : ผมเข้ามาทำกู้ภัยครั้งแรกเพราะมีเหตุการณ์สึนามิเป็นแรงบันดาลใจ จำปีไม่ได้แล้ว เข้ามาเป็นเด็กอาสาธรรมดา ทำมาเรื่อยๆ จนมาเป็นหัวหน้าจุด ปัจจุบันผมสามารถเปิดศูนย์กู้ภัยเองได้ ร่วมกับเทศบาล กู้ภัยของผมค่อนข้างใหญ่ แล้วตัวผมเองก็เป็นกรรมการด้วย ช่วยเหลือประชาชนทั่วไป รถล้ม รถเสีย ก็ช่วยเหลือกันไป
ถาม : เวลาจัดการการปะทะนี่การ์ดเขาทำอย่างไรบ้าง
วัลลภ : ส่วนใหญ่การ์ดจะตรึงก่อน ไม่ให้ฝั่งเจ้าหน้าที่สามารถบุกเข้ามาได้ เราต้องเคลียร์ภายในก่อน ว่ามีคนที่ไม่ไหวไหม มีคนแก่ไหม ก็เคลียร์ออกจากพื้นที่ไปก่อน แล้วส่วนจะปะทะกันยังไงก็ค่อยว่ากัน คือเราไม่สามารถต้านเจ้าหน้าที่ได้อยู่แล้วเพราะเขามีทั้งโล่มีทั้งกระบอง
ถาม : เรามีแผนในการเข้าปะทะไหม มีการจัดแถวอย่างไร
วัลลภ : มีครับ ปกติแล้วการ์ดส่วนใหญ่จะผ่านการอบรมมา จะรู้ลักษณะวิธีการต้าน วิธีทำลายแถวของทหาร สามารถจะเจาะโล่เข้าไปในกลุ่มของทหารได้ สมมติว่าเขาปิดถนนหนึ่งเส้น เราสามารถผ่าทหารออกเป็นสองฝั่งได้ แต่อยู่ที่ว่าในจังหวะที่ปะทะกันนั้นการ์ดของเราเจ็บเยอะขนาดไหน ถ้าการ์ดของเรายังเจ็บน้อยอยู่เราสามารถทำตามแผนได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเจ็บเยอะแล้วก็ต้องถอยให้เขาบุกเข้ามา อยู่ที่หัวหน้าการ์ดแต่ละจังหวัดด้วยว่าสามารถสั่งได้ไหม หรือว่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ช่วงกลางวันวันที่ 10 เมษา ผมอยู่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกตรงข้ามยูเอ็น ทีมผมอยู่บนสะพานมัฆวาน ทีมผมสามารถสลายทหารกลุ่มนั้นได้ ทำให้แตกออกไปเลย แต่ละคนที่อยู่ในทีมส่วนใหญ่จะเป็นของทางเหนือตอนล่างที่เคยผ่านการเป็นทหารกันมา เรื่องแก๊สน้ำตาก็เลยไม่กลัวกันอยู่แล้ว กระป๋องมันร้อน แต่มีวิธีการจับ จะเตะก็ได้ จะหยิบก็ได้ อาจจะเป็นจังหวะด้วยที่ลมไม่ได้มาทางเรา พวกเราสามารถทำให้ทหารตรงนั้นแตก ไม่อย่างนั้นทหารจะบุกเข้ามาฝั่งถนนทางยูเอ็นที่พวกเราอยู่ได้
ถาม : กระสุนนัดแรกยิงช่วงบ่าย
วัลลภ : หลังจากที่แนวทหารตรงนั้นแตก ทหารฝั่งของกระทรวงศึกษาธิการก็มาช่วย ทำให้ต้องแบ่งการ์ดแบ่งมวลชนเราออกไปโดยการใช้สองแถวขวาง ตัวทหารเองกั้นระหว่างสะพานผ่านฟ้ากับฝั่งมัฆวานให้ออกจากกัน แล้วมันก็ใช้กระสุนจริงแต่ยิงขึ้นฟ้ามากกว่าจะยิงตรงๆ เพราะในช่วงกลางวันนักข่าวยังเยอะอยู่
ถาม : เราแยกกระสุนจริงออกจากกระสุนซ้อมได้ยังไง
วัลลภ : ปากกระบอกปืนสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นปืนที่ติดอะแดปเตอร์มาไว้เพื่อยิงกระสุนซ้อม ถ้าใส่กระสุนซ้อมโดยที่ปากกระบอกไม่ได้เปลี่ยนจะต้องเป็นการกระชากแล้วยิงทีละนัด เพราะปลอกลดแสงไม่สามารถถีบลูกเลื่อนให้กลับมาและคัดปลอกออกมาให้ลูกใหม่เข้าไปได้ มันก็เลยต้องกระชากแล้วยิง กระชากแล้วยิง แต่อันนี้เป็นการยิงแบบชุด เมื่อยิงแบบชุดจึงมีอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง ปากลำกล้องของปืนต้องติดอะแดปเตอร์เพื่อบีบให้รูมันเล็กลงแล้วอัดแก๊สให้ลูกเลื่อนทำงาน หรือ สอง ใช้กระสุนจริงในการยิงเลย ส่วนเสียงนั้นในที่โล่งกว้าง กระสุนจริงกับกระสุนซ้อมจะใกล้เคียงกัน แยกยาก แต่แค่มองที่ปืนก็จะรู้กันแล้ว และปลอกกระสุนซ้อมจะเป็นหัวจีบ เมื่อยิงออกไปแล้วหัวจีบจะบานออก กับปลอกกระสุนจริงที่กระเด้งออกมาจะเป็นหัวตัดเลย
ถาม : บทบาทของเราในช่วงการสลายการชุมนุมเป็นอย่างไร
วัลลภ : 11 มีนา 53 ผมลงกรุงเทพพร้อมมวลชนเชียงใหม่ หลังจากนั้นผมออกจากกรุงเทพวันที่ 19 พฤษภา 53 ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลคุ้มครองประชาชน หลัง 10 เมษา ก็จะเป็นการแยกมวลชนกลุ่มหนึ่งไปราชประสงค์ ส่วนตัวผมจะดูแลในส่วนถนนสารสินและถนนเส้นประตูน้ำ ผมมีการ์ดของศรีสะเกษอยู่ในการดูแลประมาณ 70 กว่าคน คอยดูแลประตูสองประตู ช่วงนั้นแยกจากเสธ.แดงแล้ว เพราะเสธ.แดงเองมีภาระต้องดูแลฝั่งลุมพินี ผมต้องวางแผนเอง ดูแลเอง ส่วนตรงผ่านฟ้าก็มีการ์ดสุโขทัยเขาดูแล
ถาม : มีความเห็นยังไงกับกรณีเสธ.แดงถูกยิง
วัลลภ : อันนี้ทหารชัวร์ ฝั่งรัฐบาลในขณะนั้นนะ อย่างแรกถ้าไม่เก็บเสธ.แดงก่อนจะไม่มีทางสลายม็อบได้ เพราะเสธ.แดงแกเป็นคนที่วางแผนดี เป็นคนรอบคอบ เป็นคนที่ทำงานมีแบบแผน ผมเชื่อเลยว่ารัฐบาลชุดนั้นไม่มีใครมีความสามารถเท่าเสธ.แดง เพราะฉะนั้นการเก็บหัวก็จะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ ถ้าคนที่ตายไม่ใช่เสธ.แดง เหตุการณ์สลายการชุมนุมจะไม่เกิดขึ้น เราไม่ต้องสูญเสียกันเป็นร้อย เพราะมันไม่กล้ากันอยู่แล้ว
ถาม : มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทีมเสธ.แดงไม่มีอาวุธ เพราะในภาพวิดีโอตอนเสธ.แดงถูกยิงไม่มีใครชักปืนออกมาเลย ตามสัญชาตญาณของคนมีอาวุธเมื่อมีภัยมา มีแต่คนไปล้อมด้วยมือเปล่า
วัลลภ : ใช่ครับ คือจะพูดถึงชายชุดดำในม็อบมันมีได้หลายอย่าง ตั้งแต่การสร้างสถานการณ์ การสร้างภาพรุนแรง ผมถามว่าทำไปแล้วได้ประโยชน์อะไร คุณออกมาเรียกร้องอะไร ถ้าคุณเป็นเสื้อแดงจริงคุณจะไปทำให้เขารู้ทำไม คนที่ออกมาบอกว่าตัวเองเป็นชุดดำนี่ ผมว่าไม่น่าจะมีตัวตนจริง (อ้างถึงข่าวไทยอีนิวส์
http://thaienews.blogspot.com/2013/11/exclusive1053.html)
ขณะอ่านข่าว “ไทยอีนิวส์” เรื่องสัมภาษณ์ชายชุดดำ
ถาม : คิดว่าเสธ.แดงฮาร์ดคอร์จริงไหม
วัลลภ : จริงไหมนี่ โอเคครับ แกเป็นคนที่ค่อนข้างแรง แต่ทุกคำพูดที่จะได้ยินจากปากแก ทุกครั้งที่เจอกัน แกจะพูดว่าแกเป็นคนที่จงรักภักดีที่สุด ยศแก ตำแหน่งแก ในหลวงพระราชทานให้ เพราะฉะนั้นใครจะมาทำอะไรมาว่าอะไรในหลวงราชินีแกจะไม่ยอม แต่ถ้าพูดถึงแนวการต่อสู้ทางการเมืองนี่ผมว่าแกค่อนข้างรุนแรง
ถาม : หลังเสธ.แดงถูกยิงวันที่ 13 พฤษภา บทบาทเราเปลี่ยนไปหรือเปล่า
วัลลภ : เป็นเรื่องที่เล่าไม่ได้เลย ในช่วงที่เสธ.แดงล้มนะ ตำแหน่งจริงๆ ของพวกผมส่วนใหญ่จะอยู่กันที่ลุมพินีแล้ว เพราะทหารฝั่งลุมพินีมันค่อนข้างเยอะ ก็ไปคอยต้านคอยดูกันอยู่แถวนั้น
ถาม : คิดอย่างไรกับเรื่องปรองดอง กฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้มาตรา 112
วัลลภ : สำหรับเรื่องปรองดองผมอยากให้เกิดขึ้นนะ บ้านเมืองจะได้สงบ อยากให้เก็บเรื่องราวทุกอย่างไว้แค่ความทรงจำ ไม่ต้องเอาคนไปกักขังไว้ให้มันเป็นตราบาป หรือทำให้เกิดความแค้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ผมก็คงต้องเชื่อในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจเพราะคนเสื้อแดงนั้นมีความเป็นประชาธิปไตย และเคารพกฎกติกาของสังคมเสมอ
ถาม : คิดยังไงกับเรื่องความรุนแรง
วัลลภ : มันก็มีกันบ้างนะถ้าพูดถึงการปะทะกันนี่ ฝั่งนู้นเจ็บฝั่งนี้เจ็บ เจ็บนิดเจ็บหน่อย ก็เริ่มจากน้อยๆ กลายเป็นความรุนแรง มันมีกันบ้าง เป็นธรรมดาของระหว่างการปะทะ มันควบคุมไม่ได้หรอก มันต้องมีการใช้อารมณ์กัน คนนี่มันจะมีอยู่สามสี่อย่างที่ห้ามตัวเองไม่เคยได้ หนึ่งหิว สองง่วง สามเหนื่อย ทั้งหิวทั้งง่วงทั้งเหนื่อยทั้งร้อน ไปยืนอยู่กลางแดดแล้วต้องไปยืนประจันหน้ากันนี่ มันจะเกิดอารมณ์ใส่กัน ถึงจะไม่รุนแรงนะ อาจจะเริ่มจากการเอาหินก้อนเล็กๆ ขว้างหัวกันมันก็กลายเป็นโมโหแล้วชกต่อยกันได้ในที่สุด
ถาม : ถามตรงๆ ว่าเคยเห็นชายชุดดำไหม
วัลลภ : ชายชุดดำมีเยอะแยะไป กางเกงยีนเสื้อขายตัวละร้อย เสื้อการ์ดนักรบพระองค์ดำเขาแขวนขายกันเต็มไปหมด
รอยสักที่แขนคงทำให้เขาดู “ร้าย” พอที่จะเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาคนทั่วไปได้
แต่วัลลภเล่าว่า เขาเป็นคนไม่ดื่มสุรายาเมา และนับถือเจ้าแม่กวนอิม
ถาม : แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีรุนแรงคิดว่ามันจะเกิดต่อไปหรือเปล่า
วัลลภ : ถ้าเขาแรงมาผมก็ว่าควรจะแรงไป ไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาทำเราข้างเดียว ผมเชื่อเลยว่าถ้ามีการปฏิวัติเกิดขึ้นมันจะมีการนองเลือดทุกหย่อมหญ้า ประชาชนที่มีอาวุธปืนอยู่ในตัวเขาก็จะออกมาต่อต้านทหาร คือไม่ต้องมีใครเอาอาวุธไปแจกเขา เขามีปืนลูกซองสั้นมีปืนแก๊ปเนี่ย เขาก็เอาออกมาต่อต้านทหาร ออกมาต่อต้านไอ้ระบอบชั่วๆ พวกนี้ออกไป คือประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่รับกันแล้วเรื่องการปฏิวัติ มันทำให้ประเทศไทยล้าหลังไปเยอะ เรานี่เคยนำประเทศเพื่อนบ้านไปไกล ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเขาตีเสมอเราได้แล้ว แล้วก็จะไปไกลกว่าเราแล้ว ประเทศไทยก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นมา
ถาม : คุณจัดบทบาทตัวเองในพื้นที่เชียงใหม่ยังไง มีเสื้อแดงหลายกลุ่มเหลือเกิน
วัลลภ : ผมไม่ได้สนใจนะว่าแกนนำจะมีแนวทางยังไง คืออย่างที่บอก ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มไหน อาจจะเป็นรักเชียงใหม่ 51 เป็น นปช.แดงเชียงใหม่ หรือเป็นอะไรก็ช่าง จริงๆ แล้วแนวทางในการขับเคลื่อนก็คือแนวทางเดียวกัน แต่จังหวะของการพูดให้มวลชนฟังนี่มันอาจจะไม่ตรงกัน อย่างสมมติว่าตอนที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอยู่ แนวทางจริงๆ ก็คือขับไล่รัฐบาลนั้น ... ทุกๆ คนไม่ชอบแนวทางการปฏิวัติทำลายประชาธิปไตยเขาก็เลยออกมาต่อต้านกัน ตัวผมเองอย่างที่บอกก็คือผมไม่ได้สนใจว่าแกนนำจะเป็นใคร ไม่ว่าแกนนำจะเลวขนาดไหนก็ช่าง แค่คุณมีมวลชนอยู่ในมือผมก็จะดูแลมวลชนในส่วนนั้นให้ เพราะผมไม่อยากจะให้มวลชนถูกหลอกเอาไปนู่นไปนี่ หรือเอาไปทำร้ายให้บาดเจ็บอะไรอย่างนี้ มันเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ช่วงหลังๆ มาผมไปยืนคุมเชิง แต่เราไม่ได้เปิดเผยใครว่าตัวเองเป็นการ์ด ไปดูแค่ว่ามีเหตุการณ์อะไรไหม ถ้าไม่มีก็กลับ ถ้ามีก็จะวางแผนต่อต้านกันยังไงก็ว่ากันไป
ถาม : ตอนนี้ยังเหลือคดีที่อุตรดิตถ์อีกหนึ่งคดี ต่อสู้คดีเหมือนกันกับที่เชียงใหม่หรือเปล่า
วัลลภ : เป็นคนละแนวทาง ไม่มีของกลาง ผมสู้เรื่องที่อยู่และรถ ตอนถูกจับกุมก็ไม่มีการซ้อม
ถาม : ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นยังไง
วัลลภ : ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ปกติอยู่อย่างนี้ผมก็คิดว่าไม่น่าจะวางมือได้ จริงๆ แล้วผมก็อยากจะใช้ชีวิตเหมือนกับชาวบ้านทั่วๆ ไป คืออยากอยู่กับลูกกับเมียในบ้านหลังเล็กๆ อยากทำไร่ทำสวนเหมือนชีวิตในช่วงที่อยู่อุตรดิตถ์ ตอนนี้ผมคงรับเหมาก่อสร้าง ติดตั้งจาน ติดตั้งกล้องวงจรปิด แค่หาเลี้ยงชีพกันกับพรรคพวกที่อยู่ด้วยกัน แต่ด้วยความที่ว่าผมไม่สามารถทนดูประชาชนถูกรังแกได้ ผมก็คงวางมือไม่ได้ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ควรไปก็ต้องไป
- - - - - - - - - - - - -
บทสนทนายามค่ำหลังเลิกงานประจำวันของเขาในวันนั้นจบลงเพียงเท่านี้ ขณะที่พูดคุยถามตอบกันตลอดสองชั่วโมงกว่าในวันนั้น ดูวัลลภมั่นใจว่าคดีที่ยังคงค้างอยู่จะยกฟ้อง และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องเสื้อแดง เราจึงไม่ได้ใส่ใจจะพูดคุยกันถึงรายละเอียด แต่แล้วเรื่องก็ไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น ดังข่าวเมื่อไม่นานมานี้ (
http://prachatai.com/journal/2013/12/50569) จังหวะแรกที่ผู้สัมภาษณ์เดินเข้าห้องเยี่ยมเพื่อพบเขา (25 ธันวาคม 2556) จึงได้ย้อนถามเพื่อทบทวนคำพูดของเขาที่ว่า “..ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ควรไปก็ต้องไป” แล้วเหตุการณ์ชุมนุมปะทะที่บริเวณสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานเมื่อไม่นานมานี้เขาได้ไปอย่างที่เคยบอกว่าควรต้องไปหรือเปล่า เขาบอกแต่เพียงว่ายังไม่สะดวกจะคุยเรื่องนั้น แต่สิ่งที่ประจักษ์ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2556 คือวัลลภกลับมาที่อุตรดิตถ์เพื่อฟังคำพิพากษาที่อาจพรากอิสรภาพไปจากเขาตลอดชีวิต จากคดีพยายามฆ่าที่บ้านเกิดของเขาเอง
เหตุคดีโดยสรุป - เช้าวันที่ 10 พฤษภาคม เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิด M79 ใส่สำนักงานกู้ภัยมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุสาเหตุว่ามาจากการแย่งผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล จึงออกหมายจับวัลลภ พิธีพรม และชลทิศ โพธิ์แย้ม เจ้าหน้าที่กู้ภัยและการ์ดนปช. ข้อหาพยายามฆ่าและครอบครองอาวุธสงคราม
(สรุปจาก มติชน http://www.matichon.co.th/webmobile/readnews.phpnewsid=1273584872&grpid=03&catid=00))
เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์
อีกครั้งในชุดนักโทษออกเยี่ยมญาติ วัลลภแค่นเปิดบทสนทนาใหม่ว่า
"ปีนี้คงเป็นปีที่สามที่ผมต้องดูเขาจุดพลุผ่านลูกกรง เว้นปีที่แล้วแค่ปีเดียว"
ถาม : เกิดอะไรขึ้นกับผลคดี ไหนตอนแรกบอกว่ามั่นใจ
วัลลภ : ผมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่เขามีปากเสียงทะเลาะกัน ผมกลับขึ้นมาจากชุมนุมไปร่วมประชุมกับมูลนิธิด้วย ประชุมเสร็จแล้วผมก็กลับลงไปชุมนุมต่อ มาหาว่าผมหนีคดี ผมเป็นคนเข้าไปห้าม เพราะเด็กที่มีเรื่องเคยเป็นลูกน้องผม แต่สุดท้ายผมโดนคดีคนเดียว
ถาม : แล้วตกลงว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องเสื้อแดง
วัลลภ : ไม่เกี่ยวแน่ๆ แรกเริ่มไม่ได้อยากให้คดีนี้เป็นคดีการเมือง ถ้าสู้กันเป็นคดีส่วนตัวนี่ผมมั่นใจอย่างที่เคยบอกไปแล้ว แต่ที่ถูกโยงเป็นการเมืองเพราะสถานะของผมเองเป็นทั้งกู้ภัยเป็นทั้งการ์ดเสื้อแดง แล้วอาวุธก็ดันเป็น M79 เหมือนกันอีก มูลนิธิทุกวันนี้ยังทะเลาะกันอยู่ ยังแบ่งประโยชน์กันไม่ลงตัว แต่ไปดูได้ว่าคนในมูลนิธิบางคนเป็นเสื้อเหลืองแล้วก็หาทางจัดการผม เป็นความขัดแย้งส่วนตัวของคนอื่นที่โยนมาเป็นเรื่องการเมือง
ถาม : ศาลไม่ให้ประกันแล้วจะทำอย่างไรต่อ
วัลลภ : ถ้าไม่ได้ประกันผมต้องถูกย้ายไปเรือนจำกลางพิษณุโลก ก็คงต้องยื่นอุทธรณ์ก่อน ตำรวจไม่ส่งหลักฐานที่เป็นประโยชน์กับผมไปให้อัยการ ตอนนี้กำลังปรึกษาทนายว่าจะเอาเรื่องกับตำรวจ สุดท้ายโดนคดีเพราะเป็นเสื้อแดง เขาพยายามจะโยงเรื่องอาวุธให้ได้ทั้งที่คดีที่เชียงใหม่ก็ยกฟ้อง ไม่มีของกลาง ความรุนแรงที่ฝ่ายผู้มีอำนาจทำกับประชาชนนั้นต้องรุนแรงกว่าที่ประชาชนทำต่อประชาชนด้วยกันเองอยู่แล้ว เพราะจุดเริ่มต้นเกิดจากฝ่ายมีอำนาจปลุกเร้าให้ประชาชนแตกแยกแบ่งฝ่ายจนต้องทำร้ายกันเอง
ถาม : ถึงตอนนี้แล้วคุณคาดหวังอะไรบ้าง
วัลลภ : หวังว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาตามหลักฐานอย่างยุติธรรม ไหนๆ ก็ถูกลากโยงให้เป็นคดีการเมืองแล้ว ก็อยากขอย้ายไปอยู่หลักสี่ (เรือนจำชั่วคราวหลักสี่) เพราะญาติจะดูแลได้สะดวกกว่านี้ หากต้องไปอยู่พิษณุโลกคงจะไม่มีใครไปเยี่ยม ไม่มีคนช่วย ขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยเหลือ หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือในโอกาสนี้ด้วย
ด้วยข้อจำกัดของการพูดคุยผ่านลูกกรงและกระจก รวมทั้งระยะเวลาเยี่ยมที่เรือนจำนั้น เราจึงได้สอบถามเพิ่มเติมจากทนายความ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ของวัลลภ ได้ความว่า ได้ส่งเอกสารหลักฐานคำให้การเพิ่มเติมให้ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์แล้ว แต่ตำรวจไม่ส่งให้อัยการ จึงไม่มีอยู่ในสำนวนที่ศาลพิจารณา มีการดึงเอกสารพยานที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลยออก และศาลไม่ได้รับฟังที่จำเลยต่อสู้เรื่องพิรุธพยานหลักฐานของโจทก์เลย โดยเฉพาะปากภรรยาเก่าของวัลลภ หลังจากยื่นอุทธรณ์แล้วจะยื่นขอประกันอีกครั้ง เชื่อว่าน่าจะมีโอกาสมากขึ้น
ตลอดการสนทนาสั้นๆ ครั้งหลังสุดนี้ ดูวัลลภจะเฉยชาและเหมือนจะปลงกับชะตากรรมที่ถูกโยนให้เป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่ง แม้ว่าเขาจะไม่เคยคิดคาดหวังจะได้รับประโยชน์อะไรจาก พรบ.นิรโทษกรรมที่ดับวูบไปพร้อมก่อวิกฤตใหม่ให้กับรัฐบาลที่เขาสนับสนุนอย่างที่ยังไม่มีวี่แววจะจบสิ้นง่ายๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าวัลลภจะได้ประกันตัวออกมาเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ หรือแม้แต่หากได้ประกันตัว ยังจะมีการเลือกตั้งให้เขาอยู่อีกหรือไม่.
อาคารมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ที่วัลลภถูกฟ้องเป็นคดี M79 อีกคดี
สรุปลำดับการยิงระเบิด M79 ที่วัลลภ พิธีพรมถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยิง
(สรุปจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/today/view/129252)
#1 : 16 มี.ค.53 ยิงธนาคารกรุงเทพ สาขารัชโยธิน จำนวน 1 นัด กระสุนตกใกล้บ้านพักนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#2 : 4 เม.ย. 53 ยิงบริเวณลานจอดรถห้างแม็คโคร ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ต.หนองป่าครั่ง อ.เมืองเชียงใหม่ (ไม่มีการดำเนินคดี)
#3 : 4 เม.ย. 53 ยิงโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ตนานุวัฒน์ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ ด้านหลังห้างแม็คโคร สาขาหางดง (ไม่มีการดำเนินคดี)
#4 : 10 เม.ย.53 ยิงจากสะพานมัฆวาน เพื่อผลักดันทหาร ตำรวจ บริเวณตึกไทยคู่ฟ้า และตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#5 : 28 เม.ย.53 ยิงใส่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาตลิ่งชัน จำนวน 1 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#6 : 8 พ.ค.53 ยิงใส่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนวิภาวดี แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จำนวน 1 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#7 : 10 พ.ค. 53 ยิงใส่สำนักงานกู้ภัยมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ จ.อุตรดิตถ์ (ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต)
#8 : 14 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นใต้สะพานยกระดับประตูน้ำ ไปทางบริเวณหน้าโรงแรมอินทรา แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี จำนวน 4 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#9 : 16 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นหลังสวน (แยกราชประสงค์ตัดถนนวิทยุ) ไปทางสวนลุมพินี (ไม่มีการดำเนินคดี)
#10 : 16 พ.ค.53 ยิงจากฐานที่มั่นถนนอโศก ไปทางทิศที่มีป้ายบอกทางด่วนท่าเรือ จำนวน 60 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#11 : 18-19 พ.ค.53 ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ากระชับพื้นที่ในรอบทิศทางไม่ทราบแน่ชัด ว่าจุดใดบ้าง ประมาณ 120 นัด (ไม่มีการดำเนินคดี)
#12 : 6 ก.ย. 53 ยิงด้านหน้าค่ายกรมรบพิเศษ 5 ค่ายขุนเณร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ไม่มีการดำเนินคดี)
#13 : 12 ก.ย. 53 ยิงอาคารที่ทำการบริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายคะแนน สุภา (ศาลจังหวัดsเชียงใหม่ยกฟ้อง)