วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง ป.ป.ช. ส่งศาล รธน.วินิจฉัยให้ผลการลงประชามติเป็นโมฆะ


<--break- />
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งว่า ตนเองจะไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. กรณีร้องเรียนเอาผิดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 10 ส.ค. นี้ เวลา 11.00 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี 
โดย ศรีสุวรรณ  กล่าวว่า จากกระบวนการจัดทำประชามติที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่า กกต. ได้กระทำการหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้ง เป็นเหตุให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม หลายประการ อาทิ การไม่แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถแสดงเจตจำนงในการใช้สิทธิได้อย่างอิสระ แตกต่างจากการลงประชามติเมื่อปี 2550 โดยชัดแจ้ง การเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยไม่เอาผิดกับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนในลักษณะชี้นำการลงประชามติ เช่น นายกรัฐมนตรี ชี้นำว่าตนเองจะรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ข้อ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้าน กลับถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย การรีบเร่งแถลงผลของประชามติทั้งๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการลงประชามติไปโดยไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม เช่น มีบางหน่วยเลือกตั้งมีคะแนนการลงประชามติมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ แต่ กกต.กลับนิ่งเฉยที่จะดำเนินการไต่สวนให้ชัดแจ้งเสียก่อน แต่กลับเร่งรีบออกมาแถลงข่าวก่อนที่จะรอให้เกิดความชัดเจนในผลของประชามติเสียก่อน การจัดทำอุปกรณ์การลงประชามติ เช่น หีบบัตรไม่มั่นคงแข็งแรง ขัดต่อประกาศของ กกต. และขัดต่อกฎหมายประชามติแต่ก็มิได้ไต่สวน สอบสวนเอาผิดผู้กระทำการฝ่าฝืน การจัดทำบัตรประชามติเพียงใบเดียว แต่มี 2 ข้อคำถาม เป็นเหตุทำให้ผู้มีสิทธิลงประชามติสับสน จนนำไปสู่การกระทำความผิดกฎหมายประชามติจำนวนมาก
ศรีสุวรรณกล่าวว่า ด้วยเหตุต่างๆ ดังกล่าวทำให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้ผลของประชามติที่ออกมาผิดพลาด คลาดเคลื่อน อันมีผลมาจากการกระทำและหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.โดยตรง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำประเด็นดังกล่าวไปร้องเรียนกล่าวโทษคณะกรรมการ กกต.ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวน เอาผิด และเสนอให้ศาลอาญาฯเอาผิด และหรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผลการลงประชามติเป็นโมฆะ 
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ์ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Srisuwan Janya ระบุว่า เช้านี้พี่ๆ ทหารมาเยี่ยมเยือนอีกแล้ว 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฏิเสธข่าวลือหน้ามืดเป็นลม ยันพรุ่งนี้วันเกิดเปิดบ้าน


มีข่าวในเครือเนชั่นระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน้ามืดเป็นลมหลังร่วมงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล ต้องหามส่ง รพ.พระมงกุฎเกล้า ล่าสุด 'วาสนา นาน่วม'  ทวิตว่า พล.อ.ประวิตร ยืนยันแข็งแรงดีไม่ได้เป็นอะไร ไม่มีหน้ามืดเข้าโรงพยาบาล ส่วนพรุ่งนี้เป็นวันเกิด นัดเปิดบ้านเหมือนเดิม
10 ส.ค. 2559 หลังมีข่าวเผยแพร่ในสื่อเครือเนชั่น ทั้งคมชัดลึก และกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่าเมื่อคืนวานนี้ (9 ส.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นลมหลังร่วมงานสโมสรสันนิบาต ที่ทำเนียบรัฐบาลและเดินทางกลับบ้านพักกระทั่งได้เกิดอาการหน้ามืดและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าเป็นการด่วนเพื่อเข้ารักษาตัวเนื่อง และมีความเครียดจากการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2559 นั้น
อย่างไรก็ตาม ในทวิตเตอร์ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคง เผยแพร่ภาพ พล.อ.ประวิตร เดินทางมาทำงานปกติ และวาสนายังทวิตระบุว่า "บิ๊กป้อมยันแข็งแรงดีไม่ได้เป็นอะไร ไม่มีหน้ามืดเข้า รพ.เช่นที่มีข่าวลือ ยันเกิดมาไม่เคยเป็นลม พรุ่งนี้วันเกิดเปิดบ้าน"
โดยในวันที่ 11 ส.ค. จะเป็นวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 72 ปีโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีกำหนดนำ ผบ.เหล่าทัพเข้าอวยพรวันเกิดที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

กกต. จ่อนับคะแนนใหม่ หลังมีคลิปแฉ จนท.หันหลังรีบนับ-เสียงเบา-ไม่โชว์บัตร


10 ส.ค.2559 จากกรณีมีการโพสต์คลิปในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งสร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการนับคะแนนการออกเสียงประชามติในหน่วยออกเสียงหน่วยหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยหันหลังให้กับประชาชนที่มาสังเกตการณ์ และขานนับคะแนนโดยไม่แสดงบัตรลงคะแนนที่มีการกาให้ผู้มาสังเกตการณ์เห็น
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต.กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ตนเห็นคลิปดังกล่าวและมีการตรวจสอบจากภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว สันนิษฐานว่าภาพในคลิบดังกล่าวน่าจะเป็นหน่วยออกเสียงที่ 16 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยดูจากตัวหนังสือที่ปรากฏและองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นสีเก้าอี้ของ กปน. เป็นต้น เบื้องต้นทาง ผอ.กต.จ.พิษณุโลกได้รับทราบและดำเนินการตรวจสอบอยู่ และเชื่อว่าสามารถตรวจหาจากรายชื่อกปน. เพื่อยืนยันว่าตรงกับในคลิปดังกล่าวได้
สมชัย กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ว่าหากเป็นหน่วยออกเสียงดังกล่าวจริง จะเป็น 1 หน่วยใน 15 หน่วยที่อยู่ติด ๆ ภายในบริเวณม.นเรศวร จากภาพที่เห็นจะพบว่าเจ้าหน้าที่นับคะแนนนับโดยหันหลังให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ นับอย่างเร็วขานเสียงเบาโดยไม่แสดงบัตรที่กาแล้วให้เห็น อาจจะเกิดจากมีเหตุความวุ่นวายขึ้นในหน่วยแล้วเจ้าหน้าที่ต้องการนับให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่นับคะแนนในหน่วยดังกล่าวอาจเป็นนักศึกษาใน ม.นเรศวรที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ อีกทั้งทราบว่าผลคะแนนของหน่วยดังกล่าว เสียงรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่รับและเสียงรับคำถามพ่วงน้อยกว่าไม่รับ ขณะที่เสียงโดยรวมทั้ง 15 หน่วย เสียงไม่รับทั้งสองคำถามมากกว่าเสียงที่รับอย่างไรก็ตาม ถือเป็นการทำผิดแนวการปฏิบัติ
สมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากสั่งการให้ ผอ.กต.จังหวัด ตรวจสอบแล้ว วันที่ 10 ส.ค. นี้ตนจะนำคลิปดังกล่าวไปฉายในที่ประชุม กกต. เพื่อหารือถึงวิธีการดำเนินการต่อไป โดยตนจะเสนอว่าสมควรที่จะต้องมีการนับใหม่ในหน่วยดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนและพร้อมที่จะไปกำกับการนับใหม่ด้วยตนเอง แม้ว่าขณะนี้ได้พ้นช่วงเวลาการร้องคัดค้านผลแล้วและไม่ปรากฏว่ามีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเข้าชื่อ 50 ชื่อเพื่อร้องคัดค้านตามกฎหมายแม้แต่หน่วยเดียวทั้งประเทศ แต่เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้องแม้จะไม่ระบุชื่อก็ควรจะดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ ส่วนหากมีการนับคะแนนในหน่วยดังกล่าวใหม่จะกระทบต่อเงื่อนเวลาการประกาศผลออกเสียงประชามติอย่างเป็นทางการทำให้ต้องชะลอไปก่อนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กกต. ส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการนับใหม่ในหน่วยดังกล่าวก็ควรจะทำ แต่หากจำนวนคะแนนไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลของการออกเสียงโดยรวมก็สามารถรายงานผลอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลได้เลย
มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ตามระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ข้อ 92 (2) บัญญัติว่า หลังจากอ่านผลที่กาในบัตรแล้ว ต้องชูบัตรออกเสียงโดยเปิดเผยให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ออกเสียงได้เห็นด้วย แล้วส่งให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงคนถัดไป

กกต.แถลงผลประชามติ รับ 16.82 ล้าน ไม่รับ 10.60 ล้าน - ชายแดนใต้บัตรเสียสูงสุด


ที่มาของภาพประกอบ: บ้านราษฎร์
กกต.แถลงผลประชามติอย่างเป็นทางการ ผู้มาออกเสียง 29.75 ล้าน หรือ 59.40% ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 16.82 ล้าน หรือ 61.35% ไม่เห็นชอบ 10.60 ล้าน หรือ 38.65% ประเด็นที่ 2 คำถามพ่วง เห็นชอบ 15.13 ล้าน หรือ 58.07% ไม่เห็นชอบ 10.92 ล้าน หรือ 41.93%
ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเชียงราย ใช้สิทธิสูงสุด ส่วนชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และระนอง เห็นชอบสูงสุด ขณะที่ชายแดนใต้บัตรเสียสูงสุด ปัตตานีบัตรเสีย 7.43% สมชัย  ศรีสุทธิยากร ระบุ ต้องศึกษาต่อไปว่าเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจด้านภาษาหรือไม่
10 ส.ค. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้งแถลงผลประชามติอย่างเป็นทางการวันนี้ โดยในรายงานของบีบีซีไทย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวน 50,071, 589 คน มีประชาชนมาออกเสียง 29,746,077 คิดเป็นร้อยละ 59.40 มีบัตรเสีย 936,209 ใบ หรือร้อยละ 3.15 สำหรับคะแนนในคำถามแรก คือการรับร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้เห็นชอบจำนวน 16,820,402 หรือร้อยละ 61.35 ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน หรือ ร้อยละ 38.65 คำถามประเด็นที่สอง ประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เห็นชอบ 15,132, 050 หรือร้อยละ 58.07 ไม่เห็นชอบ 10,926, 648 หรือร้อยละ 41.93
ส่วนเรื่องร้องคัดค้านการออกเสียงประชามติ ปรากฏว่าไม่มีสำนวนเรื่องร้องคัดค้านการออกเสียงภายในระยะเวลาตามาตรา 49 แห่ง พรบ.ประชามติ ประกอบข้อ 117 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์ว่าด้วยการลงประชามติ คือไม่มีผู้ที่มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 50 คน มายื่นคัดค้านภายใน 24 ชม. นับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง เมื่อพ้นระยะเวลาตามมาตรา 49 และกกต. ได้นับผลคะแนนทุกหน่วยทั้งประเทศและไม่มีการคัดค้าน จึงมีมติประกาศผลการออกเสียง และจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงอย่างเป็นทางการ และจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว รวมไปถึงการเตรียมสรุปบทเรียน และเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายในปีหน้า
ทั้งนี้ ประธาน กกต. ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ และการออกเสียงครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรงเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหารสามเหล่าทัพที่ช่วยดูแลความเรียบร้อย
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่าผลการออกเสียงประชามติ จำนวนผู้มาใช้สิทธิอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนบัตรเสีย มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างสูง อันดับที่สูงสุดคือปัตตานี บัตรเสียราวร้อยละ 7.43 ซึ่งต้องศึกษากันต่อไปว่าเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจด้านภาษาหรือไม่ ส่วนจังหวัดที่บัตรเสียน้อยที่สุดคือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใกล้ชิดข้อมูลข่าวสาร
สำหรับจังหวัดที่คนออกมาลงคะแนนมากที่สุดคือ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และเชียงราย อยู่ในภาคเหนือทั้งหมด ถือว่าคนภาคเหนือมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง
ส่วนอันดับที่ลงคะแนนเห็นชอบประเด็นแรกสูงสุดคือจังหวัดภาคใต้ทั้งหมด ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และระนอง และจังหวัดที่ลงคะแนนเห็นชอบประเด็นที่สองสูงสุดคือ ชุมพร นคร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง เป็นจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดเช่นกัน
นายสมชัยกล่าวด้วยว่ากรณีฉีกบัตรนั้น เกิดขึ้นใน 34 จังหวัด และพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีเจตนา มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่มีการจงใจฉีกบัตรเลือกตั้ง และยืนยันว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต. ไม่เปิดกว้างให้กับการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่จริง

"ใครจะพูดอะไรก็พูดไป" ประยุทธ์ ตอบกรณี‘ไพบูลย์’ เตรียมหนุนเป็นนายกฯ ต่อ


พลเอกประยุทธ์ ปัดตอบคำถาม กรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน เตรียมตั้งพรรคการเมือง พร้อมหนุนนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ระบุ "ผมไม่ได้ยิน ก็แล้วแต่เขา ใครจะพูดอะไรก็พูดไป"

จากการกรณีที่เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.2559) ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ได้ออกมาแถลงข่าว ที่รัฐสภา หลังจากทราบผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนจะไม่ลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่จะเตรียมการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแทน โดยได้มีการพูดคุยหารือกับเพื่อน ร่วมอุดมการณ์ไว้หลายคนแล้ว สำหรับเหตุผลที่ไม่ต้องการลงชิงตำแหน่ง ส.ว. นั้นเป็นเพราะ ตนเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเสนอให้ ส.ว. สามารถเลือกผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อสังสัยว่าตนอยากเป็น ส.ว. หรือไม่ จึงขอประกาศไม่รับตำแหน่ง ส.ว.
ทั้งนี้ในการแถลงข่าว ไพบูลย์กล่าวอีกว่า คำถามพ่วงที่ประชาชนโหวตเห็นชอบกว่า 10 ล้านเสียง คงมีอุดมการณ์เดียวกับที่ตนเคยเสนอคือ สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ เพราะถ้าไม่เห็นชอบก็คงไม่โหวตคำถามพ่วงให้ผ่านมากขนาดนี้ ดังนั้นเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากยังให้ความเห็นชอบ คสช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธ มองว่ามีนายทหารคนอื่นที่เหมาะสมอีกหรือไม่ ไพบูลย์กล่าวว่า หากพรรคที่ตั้งขึ้นได้เสียง ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมอยู่คนเดียว ตามที่ประชาชนเห็นชอบคำถามพ่วง
ต่อกรณีดังกล่าว วันนี้ (10 ส.ค. 2559) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับทหารและพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า “ท่านก็ตั้งไปสิ ผมไม่ได้ยิน” เมื่อถามว่า มีการอ้างชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเสนอให้เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมไม่ได้ยิน ก็แล้วแต่เขา ใครจะพูดอะไรก็พูดไป” เมื่อถามย้ำว่า จะไม่เอาด้วยใช่หรือไม่ นายกฯ ทำท่าโบกมือ พร้อมกล่าวว่า “ผมไม่ได้พูดอะไร อยากจะพูดก็พูดไป” อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า “ไม่รู้ ไม่รู้”
ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้ทดลองนั่ง ขับและชมการจัดแสดงยานยนต์ไฟฟ้าที่หน้าตึกสันติไมตรี  ซึ่งจะเป็นรถแห่งอนาคตที่บริษัทต่าง ๆ นำมาจัดแสดง มีทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์  ใช้ไฟฟ้าเก็บประจุในเเบตเตอร์รี่ เป็นตัวขับเคลื่อนแทนน้ำมัน
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีวาระที่น่าสนใจ โดยรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ซึ่งอยู่ในแผนลดการใช้พลังงานระยะยาวของประเทศ และพิจารณาการเตรียมขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว จาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์