วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

บทบก.หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เขียนถึงกรณี 'ตั้ง อาชีวะ'

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์วิพากษ์ 'ตั้ง อาชีวะ' แสดงท่าทีเย้ยหยันท้าทายทางการไทย ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่การแสดงออกแบบเด็กๆ ก็ไม่ควรต้องถูกกระทบต่อการลี้ภัย และเรียกร้องทางการนิวซีแลนด์ช่วยเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

12 ม.ค. 2558 หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์เผยแพร่บทบรรณาธิการถึงกรณีของเอกภพ เหลือรา หรือ 'ตั้ง อาชีวะ' ผู้ที่ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งไปพำนักอยู่ที่นิวซีแลนด์เมื่อ 2 ปีก่อน
โดยบทบรรณาธิการนิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุว่าการที่เอกภพ เหลือรา โพสต์รูปภาพหนังสือเดินทางของตัวเองลงในเฟซบุ๊คไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น มันเป็นแค่การเย้ยท้าทายให้ทางการไทยสั่งเพิกถอนเอกสารดังกล่าว แต่การกระทำเลินเล่อเหมือนเด็กๆ ของเขาก็ไม่ความเกี่ยวข้องใดๆ กับการตัดสินอนาคตของเขาในประเทศนิวซีแลนด์ เพราะเรื่องนี้ควรตัดสินจากความถูกต้องตามกระบวนการของการได้มาซึ่งสถานะผู้ลี้ภัยของเขาเท่านั้น โดยจากข้อมูลพื้นฐานถือว่ากรณีนี้น่าสนใจอย่างมาก
บทบก. ระบุว่าเอกภพได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากองค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วและออกจากประเทศผ่านทางกัมพูชา เขาบอกว่าเขาหลบหนีการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งห้ามการกล่าวอาฆาตมาดร้ายและดูหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทำความปิดจะถูกสั่งจำคุกมากที่สุด 15 ปี ก่อนหน้านี้เอกภพได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในปี 2556 ในฐานะผู้เข้าร่วมชุนนุมกับกลุ่มเสื้อแดงและเขาก็หนีออกจากไทยหลังจากที่เผด็จการทหารโค่นล้มรัฐบาลเก่าจากนั้นเอกภพจึงพำนักอยู่ที่นิวซีแลนด์ตามโควต้าของระบบผู้ลี้ภัย
นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุว่ากฎหมายห้ามการวิพากษ์วิจารณ์พระบรมวงศานุวงศ์ถือเป็นประเด็นสำคัญในด้านเสรีภาพสื่อซึ่งการห้ามวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เหมือนกฎหมายที่มาจากช่วงยุคกลาง นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ระบุในบทบก.อีกว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเผด็จการทหารในไทยก็ยังคงใช้กฎหมายนี้เล่นงานคนอื่นมากขึ้น
บทบก.ของหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ระบุอีกว่า ในความจริงแล้วเอกภพเป็นเหยื่อคนหนึ่งของความขัดแย้งในประเทศไทยซึ่งจะไม่หมดลงจนกว่าจะมีประชาธิปไตยหยั่งรากลึกจริงๆ โดยในตอนนี้ยังถือว่าห่างไกลมาก รัฐบาลก่อนหน้านี้ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเอกภพและพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนเป็นผู้มาจากการเลือกตั้งโดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากกลุ่มคนจนและคนในชนบทที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคที่มีเรื่องหลักประกันสุขภาพและกองทุนหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นเช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศก่อนหน้านี้คือไม่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำดั้งเดิมและกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง คนกลุ่มเหล่านี้มีเป้าหมายต้องการสร้างความไม่มั่นคงให้กับประเทศจนทำให้กองทัพหาทางออกอื่นไม่ได้นอกจากจะเข้าแทรกแซงโดยไม่สนใจว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศจะเป็นอย่างไร คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ซึ่งในแผนการสร้างความวุ่นวายเพื่อเรียกร้องรัฐประหารครั้งล่าสุดมีการสร้างความปั่นป่วนทำลายการเลือกตั้งส.ส. เป็นหนึ่งในแผนการด้วย
ทางการไทยอ้างว่าเอกภพใช้ประโยชน์จากสภาพผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกให้เป็นไปเพื่อการเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ อีกทั้งยังอ้างอีกว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ซึ่งทางนิวซีแลนด์เฮอรัลด์เสนอว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ไม่ควรเชื่อสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหารของไทยพูด แต่ควรจะช่วยกดดันให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในไทยโดยเร็ว

ส.ว.ฟิลิปปินส์ผลักดันกฎหมายบรรจุวิชา “บังซาโมโรศึกษา” ในโรงเรียนเพื่อหนุนสันติภาพ




Tue, 2015-01-13 00:16
กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฮวน เอ็กการ์โด “ซอนนี่” อังการา ได้เสนอร่างกฎหมายที่บรรจุ “วิชาบังซาโมโรศึกษา” เข้ามาไว้ในหลักสูตรศึกษาของฟิลิปปินส์เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ
อังการาแถลงเมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาว่า “สันติภาพนั้นมีรากเหง้ามาจากความเข้าใจธรรมชาติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนมินดาเนา ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และคนดั้งเดิม” การพัฒนาความเข้าใจประวัติศาสตร์ สังคมและคุณค่าทางวัฒนธรรมของกันและกัน วางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งการมีเอกภาพในมินดาเนา
ร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา มาตราที่ 2474 จะมีการสอดแทรกความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของบังซาโมโร โดยรวมเอาเนื้อหาวิชาดังกล่าวเข้ามาในหลักสูตรของโรงเรียนทุกระดับ
อังการา กล่าวว่า รากเหง้าของความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนในฟิลิปปินส์ สามารถย้อนกลับไปได้ในช่วงทศวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าอาณานิคมสเปนประสบความสำเร็จในการใช้ศาสนาคริสต์ เป็นเครื่องมือ เพื่อเอาชนะและลดจำนวนชาวมุสลิมให้เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย
“จนถึงตอนนี้ ผู้คนบางส่วนยังคงยึดถือและยึดมั่นประวัติศาสตร์ที่ยังคงก่อเม็ดพันธุ์แห่งอคติอย่างไม่ลดละต่อชาวมุสลิม น่าเสียใจว่าอคติเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่”
เนื้อหาหลักของวิชาบังซาโมโรศึกษานั้น จะรวมเอาการทำความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้งและผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนอื่นประเทศ มีการยกย่อง ชื่นชมความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพของมินดาเนาให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งมีการสนับสนุนการสานเสวนาระหว่างวัฒนธรรมด้วย
“หลักสูตรนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิม คริสเตียน คนดั้งเดิมและชนพื้นเมืองในมินดาเนา ซึ่งร่วมถึงประเด็นอื่นๆ ร่วมกัน” อังการากล่าว
เขาเพิ่มเติมอีกว่า การผลักดันบังซาโมโรศึกษา เกิดขึ้นโดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษา(DepEd) และคณะกรรมการอุดมศึกษา (CHEd) เพื่อริเริ่มและดำรงรักษาโครงการต่างๆ ไว้ นอกจากนี้จะมีการร่วมปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของบังซาโมโร ในการออกแบบ สร้างหลักสูตรหรือวิชาต่างๆ
เขาเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งกระทรวงศึกษาและคณะกรรมการอุดมศึกษาได้อนุญาตให้มีการสอนภาษาอาหรับ เป็นวิชาเลือก
“การศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการสันติภาพในมินดาเนา วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มรากหญ้า ทำให้พวกเขาค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกและความเข้าใจร่วมกันในวัฒนธรรมของชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวคริสเตียนที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเพื่อที่จะกำจัดอคติบางอย่างที่อยู่ในความคิดและจิตใจของผู้คน ผ่านความพยายามดังกล่าว ซึ่งเป็นความหวังของเราว่า สันติภาพระยะยาวจะได้รับการตระหนัก” อังการากล่าว
สำหรับฮวน เอ็กการ์โด ซอนนี่ อังการา หรือ ซอนนี่ อังการา ในปี 2004-2014 เคยเป็นผู้แทนราษฎรจากเขต Lone จังหวัด Aurora ซึ่งมีส่วนผลักดันกฎหมายหลายหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คุณภาพชีวิตและสุขภาพ อีกทั้งเป็นประธานสภาคณะกรรมการอุดมศึกษาและอาชีวะศึกษา ผลักดันมาตรการสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพและการศึกษา
ในปี 2013 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติด้านการปฏิรูปการศึกษา

พล.อ.อ.ประจินจะตรวจสอบราคาบินโลว์คอส-ไม่ได้ห้ามลดราคาตามที่สื่อตีข่าว

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง (แฟ้มภาพ/เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
ตรวจสอบเทปคำแถลง 'พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง' พบไม่ได้ห้ามสายการบินโลว์คอสลดราคาตามที่ตกเป็นข่าว เพียงแต่ รมว.คมนาคม ระบุว่าจะไปตรวจสอบค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของสายการบินควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ภาคขนส่งทางบกเสียหาย ด้านผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ระบุว่าต้นตอข่าวมั่วเกิดจากนักข่าวทีวีรายหนึ่งส่งข่าวทางไลน์ แล้วลอกต่อกันอีกหลายสื่อ
12 ม.ค. 2558 - กรณีที่สือมวลชนหลายแห่งเช่น เสนอข่าวเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ระบุว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และรองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ หรือสายการบินต้นทุนต่ำว่าจะดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ให้ปรับราคาลงมาไม่ต่ำเกินไปจนกระทบกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ เช่น รถ บขส. และรถร่วม บขส. โดย มติชนออนไลน์พาดหัวว่า "พล.อ.อ.ประจิน" ขอสายการบินโลว์คอสต์อย่าลดราคา จนกระทบรถโดยสาร ส่วน กรุงเทพธุรกิจ พาดหัวว่า 'ประจิน'ขอโลว์คอสต์อย่าลดราคาจนกระทบรถโดยสาร กระปุกด็อทคอม "พาดหัวว่า ก.คมนาคม ขอสายการบินโลว์คอสต์ ปรับค่าตั๋ว ชี้ถูกเกิน" ฯลฯ นั้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ในเฟซบุ๊กสเตตัสของ เสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ได้โพสต์ลิ้งค์ข่าวดังกล่าวจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และมีการอภิปรายในเรื่องดังกล่าว และต่อมา อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้สื่อข่าว นสพ.บางกอกโพสต์ ได้โพสต์แย้งและระบุว่าข่าวดังกล่าวมีการรายงานผิดพลาด "เถียร ขอแสดงความเห็นนะ เพราะข่าวนี้นักข่าวกระทรวงคมนาคมที่ฟังสัมภาษณ์ รมต. (รัฐมนตรี) ประจิน ในวงเดียวกันยืนยันว่า รมต.ประจินไม่ได้พูดเช่นนี้ แต่มีนักข่าวทีวีเด็กรุ่นใหม่เขียนข่าวนี้ส่งให้เพื่อนๆ ยิงออนไลน์และลอกต่อกันอีกหลายสื่อ จนเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันต่อ แต่ปรากฎว่าต้นสังกัดสื่อทีวีรายนี้บอกว่าช่องเขาไม่ได่เล่นข่าวนี้ ส่วนออนไลน์ในช่องเดียวกันก็บอกว่าไม่ได้นำเสนอข่าวนี้ แต่สื่ออื่นนำเสนอกันถ้วนหน้า คนที่มาอ่านต่อก็นำไปวิจารณ์ต่อ อย่างนี้ใครต้องรับผิดชอบ มีแบบนี้หลายครั้ง ต้นตอเสนอข่าวคลาดเคลื่อน ยิ่งเคยได้ยินความคิดของนักข่าวรุ่นหลังน่าตกใจมาก เพราะคิดว่าข่าวผิดถ้าส่วนใหญ่ลงผิดเหมือนกันถือว่าถูก สื่อควรจะต้องมีความรับผิดชอบด้วยมิใช่มีแต่หน้าที่มิใช่หรือ" อมรรัตน์ระบุ
อนึ่งในวันนี้ (12 ม.ค.) ตามรายงานใน เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ พล.อ.อ.ประจินต์ ได้ชี้แจงว่า ไม่เคยพูดหรือให้สัมภาษณ์ในประเด็นให้โลว์คอสต์ฯ ขึ้นราคา แต่เป็นการที่นักข่าวนำไปขยายความจนคลาดเคลื่อน เป็นการส่งข่าวไปแล้ววิเคราะห์วิจารณ์กันในทางตรงกันข้ามกับเจตนาของผู้ให้ข่าว ซึ่งต้องขอให้เข้าใจในเจตนาที่ถูกต้องด้วย "ประเด็นนี้ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบเรื่องราคาที่แท้จริงของโลว์คอสต์ฯเพราะไม่อยากให้ลดราคามากเกินไปจนทำให้ธุรกิจเสียหาย โดยหลักในการกำหนดราคาค่าโดยสาร จะต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และต้องมีความจริงใจต่อลูกค้า กรณีโลว์คอสต์ ต้องดูเรื่องราคาที่ประกาศไว้ว่าสามารถซื้อได้จริงในราคานั้นหรือไม่ หรือเป็นราคาเทียม เพราะเมื่อไปถึงเคาน์เตอร์แล้วไม่มีตั๋วราคาที่ประกาศโปรโมทไว้ก็ต้องปรามกัน"
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้ถอดเทปคำแถลงเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ของ พล.อ.อ.ประจินต์ ตามที่เผยแพร่ในYouTube ช่องของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ โดยพบว่า พล.อ.อ.ประจินต์ ระบุว่าจะตรวจสอบค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของสายการบินว่าควรเป็นเท่าไหร่ ไม่ได้ระบุว่าให้สายการบินอย่าลดค่าโดยสาร ตามที่สื่อหลายฉบับนำไปพาดหัวแต่อย่างใด
โดย พล.อ.อ.ประจิน กล่าวตอนหนึ่งว่า
"ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถบัส หรือรถประจำทางมีน้อยลง โดยเฉพาะเส้นทางที่ไปทางด้านภูเก็ต เชียงใหม่ หรืออีสานบางจังหวัดน้อยลง เนื่องจากว่ามีประเด็นของสายการบินโลวคอสนี้ ที่เข้ามาให้บริการในช่วงนี้ แล้วมีการโปรโมชั่นลดราคา เช่น ที่ภูเก็ต มีการโปรโมชั่นของไลออนแอร์ 650 บาทต่อผู้โดยสาร ขณะเดียวกันรถ บขส. ก็ราคา 650 บาท ตรงนี้ก็จะไปช่วยดูว่าค่าใช้จ่ายขั้นต่ำของสายการบินควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ธุรกิจการขนส่งทางบกเสียหาย ส่วนกรณีที่ผู้โดยสารเลือกใช้บริการขนส่งของรถบัสน้อยลงมีหลายสาเหตุนอกจากเส้นทางบินแล้ว เพราะจะมีเรื่องรถตู้ เข้ามาเพิ่มการให้บริการ หรือใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ตรงนี้เราจะพัฒนาการบริการรถในลักษณะ Mass-transit ขนส่งมวลชนมากขึ้น และจะทำให้เงื่อนไขการบริการระหว่าง บขส. กับผู้ประกอบการเป็นธรรมมากขึ้น สิ่งที่คุยกันในเวลาคือ การปรับลดเที่ยววิ่งเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่พอ จะลดอย่างไรเดี๋ยวคุยกัน..."
อนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด"

สืบพยานคดี 112 ชายทำลายพระบรมฉายาลักษณ์นัดแรก จนท.ตร.ผู้จับกุม ชี้จำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา

คดี 112 ชายเชียงรายทำลายพระบรมฉายาลักษณ์สืบพยานโจทก์นัดแรก จนท.ตำรวจ สภ.เทิง ผู้จับกุมตัวจำเลยขึ้นเบิกความศาลทหาร ชี้ขณะจับกุมจำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา ไม่เหมือนคนปกติ แต่ยังพูดจาโต้ตอบรู้เรื่อง
12 ม.ค.58 ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์ในคดีระหว่างอัยการศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย กับนายสมัคร (ขอสงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร เหตุจากการที่จำเลยได้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จัดสร้างไว้บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายจำเลยได้ให้การต่อศาลยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยที่ทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบการพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดไปโดยเหตุที่อยู่ในภาวะเป็นจิตเภท จึงขอให้ศาลยกฟ้อง ให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ แต่พนักงานอัยการศาลทหารได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว ด้วยเห็นว่าจำเลยไม่ได้รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมด และแถลงจะขอนำพยานหลักฐานมาสืบ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ในนัดนี้ โจทก์ได้นำดาบตำรวจราชันย์ จันทร์สุข ผู้บังคับการหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเทิง ขึ้นเบิกความ โดยด.ต.ราชันย์เป็นผู้ทำการจับกุมและนำตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวน
ด.ต.ราชันย์เบิกความต่อศาลถึงเหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 เวลา 20.30 น. ที่ต.ปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย ตนได้รับแจ้งเหตุจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสันป่าสัก ตำบลปล้อง ว่ามีบุคคลกำลังพยายามทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบจำเลยกำลังฉีกดึงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ลงมากองกับพื้น และยังจับพานพุ่มเงินทองที่วางสักการะพระบรมฉายาลักษณ์มากองกับพื้น เมื่อนายสมัครยอมรับว่าเป็นคนทำลายจริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ยึดของกลาง และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน
ด.ต.ราชันย์เบิกความด้วยว่าขณะจับกุมจำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา โดยมีกลิ่นเหล้าจากตัวจำเลย แต่ยังสามารถพูดจาโต้ตอบได้รู้เรื่อง ในวันจับกุม ด.ต.ราชันต์ได้ขอให้จำเลยไปตรวจหาสารเสพติดด้วย แต่จำเลยไม่ยอมไป ส่วนสาเหตุที่จะส่งตัวจำเลยไปตรวจหาสารเสพติด เพราะจำเลยมีท่าทางไม่เหมือนคนปกติ จึงต้องการจะส่งไปตรวจให้รู้แน่ว่าจำเลยเมาเหล้าหรือสารเสพติด แต่ไม่ทราบว่าจำเลยมีอาการทางจิตมาก่อนหรือไม่
เมื่อเสร็จสิ้นพยานปากนี้ ศาลได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 8.30 น.
สมัครให้ข้อมูลกับทนายความเพิ่มเติมด้วยว่าทุกวันนี้ ตนยังคงมีอาการหูแว่วอยู่บ่อยครั้งเมื่ออยู่คนเดียว โดยมีอาการเหมือนมีคนมากระซิบ หรือเสียงคนจับกลุ่มพูดกันอยู่ข้างหู ทำให้ยังต้องกินยารักษาอยู่ทุกวัน และปัจจุบันถูกนำตัวไปอยู่ในแดนพยาบาลภายในเรือนจำ

ผู้นำโลกหลายคนถูกวิจารณ์ 'มือถือสากปากถือศีล' หลังร่วมชุมนุมหนุนเสรีสื่อในปารีส

การชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเหยื่อที่ถูกกลุ่มก่อการร้ายโจมตีในฝรั่งเศสในช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีผู้นำหลายคนจากทั่วโลกเข้าร่วมด้วย แต่ตัวแทนส่วนหนึ่งก็ถูกวิจารณ์ "มือถือสากปากถือศีล" เพราะมาจากประเทศที่มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่อหรือมีการปราบปรามผู้ต่อต้านขัดขืน

12 ม.ค. 2558 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 ม.ค.) มีการชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับนิตยสารชาร์ลี เอบโด ที่ถูกคนร้ายบุกโจมตีจนมีผู้เสียชีวิต 12 คน รวมถึงผู้สูญเสียจากกรณีบุกจับคนในร้านค้าชาวยิวเป็นตัวประกันโดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างน้อย 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้นำจาก 50 ประเทศเข้าร่วมการชุมนุมด้วย
อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจำนวนมากวิจารณ์ผู้นำที่เข้าร่วมชุมนุมบางส่วนว่าเป็นการแสดงออกอย่าง "มือถือสากปากถือศีล" เนื่องจากแม้ว่าพวกเขาจะแสดงออกในเชิงสนับสนุนเสรีภาพสื่อในการชุมนุมที่ฝรั่งเศส แต่ในประเทศของพวกเขาเองกลับมีการจำกัดเสรีภาพสื่อ เช่น มาร์ค ลินช์ ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันกล่าวว่าผู้นำบางคนที่ร่วมชุมนุมมีการจับกุมหรือทารุณกรรมนักข่าวและผู้ต่อต้านตนเอง
ทางด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าพวกเขารู้สึกไม่พอใจที่เห็นเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากบางประเทศที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อและข้อมูลข่าวสารไปปรากฏตัวในการชุมนุมที่ฝรั่งเศสด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีของตุรกี รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย อียิปต์ อัลจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประธานาธิบดีประเทศกาบอง ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนอยู่ในระดับท้ายตารางของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน
ยกตัวอย่างเช่นประเทศอียิปต์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 159 จาก 180 อันดับ เป็นประเทศที่เพิ่งเกิดรัฐประหารและมีการลิดรอนเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างหนักโดยมีการดำเนินคดีในศาลกับนักข่าวอัลจาซีรา 3 คนด้วยข้ออ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย ประเทศตุรกีอยู่ในอันดับที่ 154 มีสถิติเป็นประเทศที่จับกุมนักข่าวสูงสุดในปี 2555-2556 และในปี 2557 ก็ยังจับกุมนักข่าวอีกหลายคน
นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างรัสเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 148 พวกเขามักจะตั้งเป้าหมายเป็นบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมผู้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขณะที่สำนักข่าวอิสระต้องพยายามเอาตัวรอดอย่างมาก ส่วนประเทศอัลจีเรียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 121 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเมื่อปี 2554 นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนักข่าวจำนวนหนึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งปีที่แล้ว
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออย่างมากนับตั้งแต่ปี 2554 มีนักกิจกรรมสายสันติวิธีและผู้วิจารณ์รัฐบาลถูกจับกุมไปแล้วมากกว่า 100 คน ส่วนในประเทศกาบองมีนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนรายหนึ่งที่ชื่อโจนาส มูวเลนดา ต้องหลบหนีออกจากประเทศเนื่องจากถูกขู่ฆ่า
ทั้งนี้ยังมีตัวแทนจากประเทศอื่นๆ ที่ไปปรากฏตัวโดยที่ถูกมองว่า "มือถือสากปากถือศีล" คนอื่นๆ เช่น ผู้นำฮังการีซึ่งเคยมีเสนอให้มีการเก็บภาษีอินเทอร์เน็ต ตัวแทนจากอิสราเอล นาฟตาลี เบนเนตต์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ก็เคยกล่าวผ่านสื่อว่า "ผมเคยสังหารชาวอาหรับมามาก แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร" ในทวิตเตอร์มีผู้ไม่พอใจจำนวนมากเมื่อทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการซาอุดิอาระเบียหลายคนเข้าร่วมการชุมนุมที่ฝรั่งเศสทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันพวกเขาเพิ่งสั่งลงโทษบล็อกเกอร์รายหนึ่งข้อหาละเมิดศาสนา
สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ระบุว่าการชุมนุมในกรุงปารีสของเหล่าผู้นำอาจจะเป็นการย้ำเตือนว่าคนเราสามารถแสดงออกในเชิงสนับสนุนเสรีภาพสื่อกันได้ง่ายๆ เมื่อมันเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ และคำวิจารณ์เรื่อง "มือถือสากปากถือศีล" อาจนำมาใช้กับผู้นำสหรัฐฯ ได้ด้วยเนื่องจากทางการสหรัฐฯ เคยสั่งจำคุกอดีตทหารเชลซี แมนนิ่ง 35 ปีจากการที่เขานำข้อมูลลับของรัฐบาลเผยแพร่ในวิกิลีกส์ อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางไปร่วมการชุมนุมครั้งนี้เลย มีเพียงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฝรั่งเศสเท่านั้นที่เป็นตัวแทนเข้าร่วม

พล.อ.ประยุทธ์ ถ่ายรูปกับเด็กๆ ซึ่งมาขอบคุณนโยบายป้องกันควันบุหรี่


เลขาธิการคุรุสภานำศิลปินและนักเรียนเข้าพบเพื่อมอบ "ดอกกล้วยไม้" สัญลักษณ์วันครูให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเข้าประชุม ครม. ขณะเดียวกันมีคณะครูพานักเรียนอนุบาลเด่นหล้ามาขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีนโยบายป้องกันเด็กและเยาวชนจากควันสูบบุหรี่
13 ม.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานวันนี้ (13 ม.ค.) ว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานการประชุม ได้พบกับ นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา นำคณะนักเรียน นักศึกษาพร้อมศิลปินดาราเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำวันครูมามอบให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เนื่องในวันครู ที่จะถึงในวันที่ 16 มกราคม ที่หน้าตึกบัญชาการ 1 นอกจากนี้ยังมีคณะผู้แทนจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จากโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ นครปฐม เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบโปสการ์ดให้กำลังใจ และขอบคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ได้มีนโยบายในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และยาเสพติด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ร่วมร้องเพลง “วันพรุ่งนี้” ร่วมกับเด็กๆ ด้วย พร้อมกล่าวขอบคุณที่ให้กำลังใจ และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบเข็มกลัดตราสัญลักษณ์ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการจัดแพคเกจท่องเที่ยว 14 กลุ่ม อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งให้สื่อมวลชนร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

ปิดเพจ ‘UNHCRThailand’ แล้ว หลังถูกถล่มจี้ประเด็น ‘ตั้ง อาชีวะ’ ประกาศเควสท์ถัดไปกดดันพ้นไทย


หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนเข้าไปจี้ถามประเด็นการให้สถานะผู้ลี้ภัย เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailand’ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย  รวมทั้งประกาศตัดเงินบริจาค จะถึงขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ที่เข้ารับการขอบริจาค (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้ (13 ม.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้แล้ว
หลังจากมีข่าวการปิดตัวของเพจ UNHCRThailand เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์ประกาศความสำเร็จว่า “อย่าดูถูกคนไทย” พร้อมชักชวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก กดดัน UNHCR ให้ออกไปจากผืนแผ่นดินไทย ด้วย
โดยก่อนหน้านั้นเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์เชิญชวนให้ ยกเลิกการบริจาคเงินเข้า UNHCR ด้วย พร้อมเผยแพร่ช่องทางการยุติการบริจาคดังกล่าวด้วย
จากการตรวจสอบยังพบเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อ ‘Unhcr Thailand’ มีผู้กดถูกใจประมาณ 200 กว่าบัญชี โดยไม่มีการโพสต์เนื้อหาอะไรในเพจ แต่พบผู้เข้าไปโพสต์ด่าทอองค์กร UNHCR ด้วย
สำหรับการดำเนินงานของ UNHCR ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ ระบุถึง ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ว่า รัฐบาลไทยได้เชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าร่วมดำเนินงานในประเทศในปี พ.ศ. 2518 เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคนจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เหตุการณ์นั้นถูกเรียกกันว่า วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1,300,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี
ในวันนี้มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วราว 95,000 คนและผู้ขอลี้ภัยอีกราว 9,000 คนในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่ากะเหรี่ยงแดง พวกเขาพักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวนเก้าแห่งในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการในค่ายทุกแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความคุ้มครองและโครงการดำเนินงานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและได้รับการรักษาความปลอดภัยพอสมควรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว