จะเป็นอย่างไรถ้าโลกนี้ไม่การอุ้มหาย? รวบรวมกิจกรรมรำลึก 2 ปีของถูกบังคับให้หายไปของ สมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมประเทศลาว คนรุ่นใหม่ยัน "2 ปีเราไม่ลืม"
15 ธ.ค. 2557 เมื่อวานนี้ ที่ห้องโถง สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ได้มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย Imagine there’s no abduction” โดยเครือข่ายคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เพื่อรำลึก 2 ปี ที่สมบัด สมพอน ถูกบังคับให้หายตัวไป ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาคือ เปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (เพื่อนร่วมงานสมบัด สมพอน) ประทับจิต นีละไพจิตร ผู้แทนมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (บุตรสาวของสมชาย นีละไพจิตร) และวีดีโอสัมภาษณ์ครอบครัวของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ รวมอยู่ในงานเสวนาด้วย
30 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าพวกเขายังอยู่กับเรา
“ถ้าอีก 30 ปีข้างหน้า เราไม่สูญเสียอ้ายสมบัด เราก็จะไม่สูญเสียเยาวชนที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการพาลาวเดินก้าวต่อไปข้างหน้า” เปรมฤดี ดาวเรือง โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
เปรมฤดี เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงครั้งแรกที่ได้พบกับ สมบัด สมพอน คือเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา และครั้งสุดท้ายที่ได้พบกับสมบัด คือหนึ่งวันก่อนที่เขาจะถูกพาตัวไป การจะจินตนาการถึงอีก 30 ปีข้างหน้า ย่อมต้องกลับมาย้อนมองสิ่งที่ สมบัด ทำตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นที่ สมบัด ให้ความสนใจมากในช่วงหลัง คือเรื่องของคนหนุ่มสาว พลังเยาวชน สันติภาพ แต่ช่วงแรกประเด็นที่สมบัดให้ความสนใจ คือเรื่องกสิกรรมยืนยง ที่พยายามจะทำความเข้าใจว่าการทำกสิกรรมของประเทศลาวเป็นอย่างไร ทว่าพอเวลาผ่านมาในช่วงท้ายประเด็นที่ สมบัด ให้ความสนใจคือเรื่องของคนหนุ่มสาว ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่า สมบัด ได้คิดวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วว่า การจะพัฒนาประเทศลาวให้ยั่งยืนนั้น กลุ่มคนที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนคือ กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว
เปรมฤดี กล่าวต่อไปว่า หากจินตนาการไปถึงอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าถ้าสมบัด ยังอยู่กับเรา สิ่งที่เราจะเห็นคือ ประเทศลาวจะมีเยาวชนที่กลายมาเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศ และนำพาให้ประเทศลาวก้าวเดินไปข้างหน้าได้ อย่างไรก็ตามการที่สมบัด หายตัวไปนั้น กลับให้คนที่ยังอยู่ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า การอุ้มหายในภูมิภาคเอเชีย หรือทั่วโลกนั้นมีความรุนแรงอย่างไร และกลับมาตื่นตัวเพื่อร้องบอกกับสังคมว่า การอุ้มหาย ไม่ใช่เรื่องปกติ ทว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
“อีก 30 ปีข้างหน้าถ้าเขายังอยู่ ประเด็นที่เขาจะทำคือเรื่องคนไม่ดีในสังคมไทย ซึ่งตอนนั้นดิฉันเองก็ยังไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้รู้สึกภูมิใจมากที่ระดับความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เริ่มมีการอภิปรายกันถึงเรื่อง คนไม่ดีก็ควรมีสิทธิ คนไม่ดีก็ควรมีคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชน” ประทับจิต นีละไพจิตร
ประทับจิต เริ่มต้นการเล่าถึงความเสียดายที่ปัจจุบันนี้ไม่ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สมชาย เลยทำให้เกิดคำถามอยู่ในใจว่า ถ้าสมชายยังอยู่กับเราในวันนี้เขาจะมีความคิดเห็นอย่างไรกับการประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วประเทศแบบนี้ เพราะงานสุดท้ายที่สมชายทำก่อนที่เขาจะหายตัวไป คือการล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกการประกาศใช้กฏอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประทับจิตกล่าวต่อไปว่า ถ้าหากจินตนาการถึงช่วงเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า สมชายยังอยู่กับเรา เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของ การบวนการยุติธรรมและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ด้อยโอกาสในสังคม และรวมทั้งเราอาจจะได้เห็นการสร้างหลักประกันที่เสมอกันต่อหน้ากระบวนการยุติธรรมว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ทั้งคนดี และคนไม่ดี ย่อมที่จะสมควรได้รับหลักประกันเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการสร้างความเข้าใจในลักษณะนี้ไม่เป็นแต่เพียงการขับเคลื่อนงานในเชิงโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ทว่าสิ่งที่สมชาย ทำคือความพยายามขับเคลื่อนในเชิงวัฒนธรรมด้วย เพื่อให้เกิดความคิดและความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง
ด้านครอบครัวของพอละจี รักจงเจริญ ได้กล่าวว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย เชื่อว่าโลกใบนี้จะมีแต่สิ่งที่ดี เช่นบิลลี่ ซึ่งเป็นคนที่มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคน ช่วยฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนในชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เขาต้องการให้ชาวบ้านทุกคนมีที่ดินทำกิน เพื่อให้ชาวบ้านมีความสุข ตอนที่บิลลี่ยังอยู่เขาจะคอยช่วยทุกคน แต่ตอนนี้เขาไม่อยู่แล้วชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร บางคนเขาก็กลัว แต่ถ้าบิลลี่ยังอยู่ชาวบ้านก็จะไม่กลัวว่าจะมีใครมาทำลายหรือคิดไม่ดีกับพวกเขา
ทริปโบกรถเพื่อสันติภาพ และความไว้ใจเพื่อนมนุษย์
ก่อนที่จะมาถึงการจัดงานเสวนาครั้งนี้กลุ่มเครื่อข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่รวมตัวกันในนามกลุ่ม
Sombath Somphone & Beyond Project ได้จัดกิจกรรมทริปโบกรถเพื่อสันติภาพเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นโบกรถจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดหนองคาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1.เพื่อเป็นการรณรงค์ไม่ยอมรับการอุ้มหาย ให้กับเพื่อนร่วมทางที่จอดรถรับระหว่างทาง 2.เพื่อเป็นการยืนยันว่าสันติภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ยังมีอยู่จริง
หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างการโบกรถ และการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายว่า การโบกรถไปต่างจังหวัดในสมัยนี้เริ่มมีให้เห็นน้อยลง อาจจะเป็นเพราะหลายสาเหตุ แต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเพราะความเชื่อใจ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนมนุษย์มีน้อยลง ซึ่งหมายถึงสันติภาพก็น้อยลงด้วย การที่พวกเราจัดทริปนี้ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่าสันติภาพยังมีอยู่จริง และไม่ใช่เรื่องไกลตัว ส่วนในแง่ของการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายนั้นคิดว่าการโบกรถก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากในหลายๆ กรณีภาพสุดท้ายที่เราเห็นผู้ที่อุ้มหายไปนั้น ถูกพาขึ้นรถไป เช่น สมบัด สมพอน และ บิลลี่ แต่สุดท้ายการโบกรถครั้งนี้เราก็มาถึงจุดหมายได้ด้วยความปลอดภัย พร้อมกับมิตรภาพใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มทริปโบกรถเพื่อสันติภาพเดินทางไปถึงจังหวัดหนองคายแล้ว ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ “ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย” ที่บริเวณถนนคนเดิน ท่าเสด็จ ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างมาก
ภายหลังจากการรณรงค์เสร็จสิ้นได้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างกลุ่มทริปโบกรถ กับครอบครัวของสมบัด สมพอน ด้วย โดยอึ้ง ชุยหมิง ภรรยาของสมบัด สมพอน ได้ขอบคุณที่กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวให้ความสนใจในประเด็นการอุ้มหาย โดยเฉพาะในกรณีของ สมบัด ซึ่งหลายคนไม่ได้รู้จัก สมบัด เป็นการส่วนตัวแต่กลับให้ความสนใจ และร่วมเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว