วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

'บุรีรัมย์-พะเยา' ทหาร-กกต.-รด.จิตอาสา รุกหนักสาธิตลงประชามติ


ทหาร.บุรีรัมย์นำ 'รด.จิตอาสา' จัดหน่วยสาธิตการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ชวนใช้สิทธิให้มากที่สุดโดยไม่มีการชี้นำใดๆ กกต. พะเยา ลงพื้นที่ ปชส.การออกเสียงลงประชามติ ครบทุกหมู่บ้าน กรรมการ ศส.ปชต. ระบุชาวบ้านส่วนใหญ่ 70-80% ยังไม่ทราบว่ามีการร่าง กม.-การลง ปชต.
15 ก.ค.2559 พ.ท.บุญเสริม แหวนวิเศษ สัสดีอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มอบหมายให้ ส.อ.นิวัฒน์ กล่าวรัมย์ นำ รด.จิตอาสา โรงเรียนภัทรบพิตร จำนวน 12 นาย ในความควบคุมของ ผกท.วิฑูรย์ เสงี่ยมศักดิ์ ออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 59 ร่วมกับ กศน.อำเภอเมืองบุรีรัมย์, อสม.ตำบลบ้านบัว สนับสนุน กกต.จว.บ.ร. และสาธิตขั้นตอนปฏิบัติการลงประชามติ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบัว มีประชาชนที่มีสิทธิ์ลงประชามติฯ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน
 (ที่มาเพจ บก.ควบคุม รด.จิตอาสา จังหวัดบุรีรัมย์)
9 ก.ค. 2559 ธีรวัฒน์  สินธุบุญ ผู้อำนายการการเลือกตั้งประจำ จ.พะเยา กล่าวว่า ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน พื้นที่พะเยารวม 9 อำเภอ 68 ตำบล ได้จัดกิจกรรมโครงการเผยแพร่ ปชส.การออกเสียงลงประชามติ แยกกิจกรรมออกเป็น คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.)  การลงพื้นครบแล้วทุกหมู่บ้าน, ตำบลและอำเภอในพะเยา และลงพื้นที่จุดแรกวันที่ 23 มิ.ย. คือ อ.เชียงคำ  รวม 10 ตำบลๆ ละ 10 คน นอกนั้นตระเวนลงพื้นทุกแห่ง/ทุกตำบลๆ ละ 10 คน ภาพรวม  กกต.จว.ได้จัดกิจกรรม  ปชส. การออกเสียลงประชามติ ครบทุกพื้นที่ในพะเยา  มีผู้เข้าร่วมอบรมฯ จำนวน 680 คน  ล่าสุดหรือโค้งสุดท้ายยังร่วมกับนักศึกษา รด.แต่ละอำเภอตระเวนเดินรณรงค์ ให้ชาวบ้านไปลงประชามติ ภาพรวมด้านความพร้อม 100% ที่จะให้ชาวบ้านในพะเยาทุกอำเภอ ไปลงประชามติอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ส.ค.นี้.ในส่วนประเด็นประชากรล่าสุดกว่า  480,000 คน
ลือ วงศ์ราษฎร์  กรรมการศูนย์ส่งเริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ-พะเยา  เปิดเผยว่าหลังจากได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ให้เข้าร่วมอบรมเป็นคณะกรรมการศูนย์ฯ (ศส.ปชต.) โดยมี ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเชียงคำฯ เป็นผู้ประสานงานหรือเป็นพี่เลี้ยง ในการรณรงค์ให้ชาวบ้านไปลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ และการแจกแผ่นผับในชุมชน-หมู่บ้าน  เป็นไปด้วยความลำบากเพราะไม่ค่อยมีใครอยู่ในบ้านกลางวัน ส่วนใหญ่เพื่อนบ้านออกไปทำไร่ไถนากันหมด  จึงถือโอกาสวันเข้าพรรษาที่ชาวบ้านมาทำบุญร่วมกันแล้วแจกแผ่นพับ ให้ไปลงประชามติเช่น เห็นด้วยกับกฎหมาย คสช. กากบาทด้านซ้ายมือหากไม่เห็นด้วยก็กากบาทด้านขวามือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ 70-80% ยังไม่ทราบว่ามีการร่าง กม.-การลง ปชต.
 

ทหาร.บุรีรัมย์นำ 'รด.จิตอาสา' สาธิตลงประชามติ

พล.ต.เดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จ.บุรีรัมย์ เยี่ยมชมการจัดหน่วยสาธิตการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษาวิชาทหาร ตามโครงการ รด.จิตอาสา เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนนักศึกษาวิชาทหารจากสถานศึกษาในจังหวัด มาร่วมสาธิตในครั้งนี้ ที่ลานข้างหอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
 
15 ก.ค.2559 รด.จิตอาสา ร.ร.หนองกี่พิทยาคมร่วมกับ โรงเรียนวัดเย้ยปราสาท จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และสาธิตการออกเสียงประชามติ (ที่มาภาพเพจ บก.ควบคุม รด.จิตอาสา จังหวัดบุรีรัมย์)
 
สำหรับโครงการ รด.จิตอาสา เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกองทัพบก ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ โดยการใช้นักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด.จิตอาสา ในการช่วยประชาสัมพันธ์กระตุ้นและรณรงค์ให้คนออกมา ใช้สิทธิให้มากที่สุดโดยไม่มีการชี้นำใดๆ
 
โดยการอบรม รด.จิตอาสา ที่ผ่านมาได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการออกเสียงเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.2559 ซึ่งเป็นวันที่จะมีการใช้สิทธิออกเสียง นอกจากนี้ยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงหน้าหน่วยออกเสียงอีกด้วย
กิจกรรมปั่นจักรยาน " 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง " เพื่อรณรรงค์ ประชาสัมพันธ์สร้างกระแส ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ออกเสียง ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด และได้เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการ " ออกเสียงประชามติ " ร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้สาธิต ขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 3 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา 
 

รด.จิตอาสารณรงค์ปชช.พังงาลงประชามติ

ชัยรักษ์ คุ้มโต ผู้อำนวยการการเลืองตั้งประจำจังหวัดพังงา นำนักศึกษาวิชาทหาร (รด.จิตอาสา) และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ร่วมเดินรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองพังงา ออกมาใช้สิทธิ์ ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยเน้นการเชิญชวนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพังงา ด้วยการเดินเท้าไปตามถนนสายสำคัญต่างๆ
พร้อมกันนี้ นักศึกษาวิชาทหารอีกส่วนหนึ่งได้เดินแจกแผ่นพับเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ ในวันดังกล่าวด้วย ซึ่งการเดินขบวนรณรงค์ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก บางคนได้ปรบมือให้กำลังใจ พร้อมกล่าวยืนยันว่า จะออกไปใช้สิทธิ์ของพวกตนอย่างแน่นอน
 

ประยุทธ์สั่งคุมเข้มใกล้วันประชามติ คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปโหวต


19 ก.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ติดไว้บริเวณศาลาประจำหมู่บ้านใน จ.กำแพงเพชร ว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำผิดทันที ส่วน มท. ได้สั่งการให้ทางจังหวัดประสานงานกับ กกต. ในฐานะเจ้าของบัญชีรายชื่อเพื่อแจ้งความกับตำรวจ โดยคาดว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีเร็ว ๆ นี้
"ท่านนายกฯ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยากเตือนสติสังคมให้ระมัดระวังการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่หลงเชื่อผู้ที่ไม่หวังดี เพราะหากฝ่าฝืนกฎกติกาก็จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น และยังได้กำชับให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อการออกเสียงประชามติทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอเฝ้าระวังป้องกันและระงับเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงใกล้วันลงประชามติ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่าการปล่อยข่าวสร้างความสับสนทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียให้ระวังการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง www.khonthai.com ว่า หากกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว จะทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ปลอดภัย ถูกแก้ไข หรือถูกลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหายนั้น
"เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการกรอกเลขประชาชนเป็นเพียงการนำเข้าสู่ระบบแสดงผลข้อมูลอัตโนมัติที่ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อมูลใด ๆ ขณะเดียวกัน กรมการปกครองมีฐานข้อมูลพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้วนับตั้งแต่วันที่ทุกคนยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งในปัจจุบันการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ใช้การกรอกเลขบัตรประชาชนในการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่อันตรายแต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปลงประชามติ

ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ของหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆว่า ภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ คือ สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)  คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และให้ทหาร หรือ รด.จิตอาสา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่าจะมีการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม ดังนั้นจะต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารอะไรเมื่อต้องไปใช้สิทธิ์
รองโฆษกคสช. กล่าวว่า ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะสร้างความวุ่นวายในการทำประชามติ ซึ่งคสช.ดูแลทุกเรื่อง ทั้งอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติสามารถทำงานได้  ให้ประชาชนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงดูแลป้องกันไม่ให้มีการกระทำการใดๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำประชามติ โดยใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสาร และพฤติกรรมของทุกกลุ่ม

จับตาทุกกลุ่มป้องกันป่วนประชามติ

“เจ้าหน้าที่ทำงานโดยยึดโยงกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 หากดำเนินการอะไรที่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และหากเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าดำเนินการ แต่หากทุกฝ่ายยึดแนวทางดังกล่าวก็มั่นใจว่า ความไม่เรียบร้อยไม่น่าจะเกิดขึ้น” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบการเคลื่อนไหว หรือ สงสัยว่ากลุ่มบุคคลใดอาจจะก่อความวุ่นวาย ยุยงปลุกปั่น หรือ บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้หลายช่องทาง ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ศูนย์ดำรงธรรม

ตร.เผย มือฉีกบัญชีผู้มีสิทธิลงประชามติ เป็นเด็ก 8 ขวบ ดำเนินคดีต่อ แต่ไม่ต้องรับโทษ


18 ก.ค.2559 กรณีมีมือมืดฉีกบัญชีผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยที่ 5 โรงเรียนวชิรสารศึกษา หมู่ที่ 5 บ้านเหนือ ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เมื่อวันนี้ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า จากการสืบสวนในเบื้องต้น วันเกิดเหตุมีพิธีอุปสมบทวัดหงษ์ทอง ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียน และอาคารหน่วยออกเสียงประชามติ มีทั้งคนเมา เด็ก และเยาวชนมาร่วมงานจำนวนมาก 
ล่าสุด พล.ต.ต.ดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ ผบก.สภ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า คดีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้กำชับให้ทำการสืบสวนคดีให้กระจ่างชัด ปรากฏข้อเท็จจริงโดยเร็ว ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยออกเสียงประชามติหน่วยที่ 5 พบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงนั้นถูกฉีกขาดและนำไปทิ้งไว้ที่ข้างศาลาตั้งกระดานติดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง
      
จากการสืบสวนพบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ฉีกขาดไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง แต่เกิดจากความซุกซนของเด็กหญิง 2 คน อายุเพียง 8 ขวบไปวิ่งเล่นกันที่บริเวณกระดานติดรายชื่อ และจากรูปคดีได้ทำการสืบสวนอย่างครบถ้วนแล้ว ภายใต้บรรยากาศแบบสบายๆ ยิ้มแย้ม เด็กก็เดินเล่นในห้องสอบสวนกันตามปกติ ไม่ตึงเครียด โดยมีผู้ปกครองของเด็ก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมรับฟังการบันทึกถ้อยคำของพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ไม่ได้สร้างความกดดันให้แก่เด็ก และผู้ปกครอง
      
ซึ่งเด็กหญิงทั้งสองที่เป็นผู้ก่อเหตุเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 อายุ 8 ขวบ และเป็นเพื่อนสนิทเรียนอยู่ห้องเดียวกัน โดยจะมาเล่นกันที่บริเวณนี้เป็นประจำทุกวัน ก็ได้ให้การเล่าถึงเหตุการณ์ที่เข้าไปในเขตติดตั้งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ หน่วยที่ 5 ภายในโรงเรียนวชิรสารศึกษา ว่า ก่อนเกิดเหตุภายในวัดมีงานบวชพระ และบ้านของเด็กทั้งสองก็อยู่หลังโรงเรียนไม่ไกลจากกันมากนัก และหลังจากเจ้าหน้าที่ได้นำบัญชีรายชื่อมาติดตั้งเสร็จก็กลับไปในเวลา 11.30 น.ของวันเสาร์ที่ 16 ก.ค.59 เด็กทั้งสองคนได้ขึ้นไปวิ่งเล่นบนอาคารศาลาตามประสาโดยมีเด็กอื่นอยู่ด้วย ทั้งสองคนสะดุดตากระดาษสีชมพูที่ติดบัญชีรายชื่อ โดยไม่ทราบว่าเป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ จากนั้นเด็กหญิงทั้ง 2 คนก็ได้ตรงไปที่แผ่นกระดาน แล้วต่างก็กระโดดเอื้อมมือไปคว้ากระดาษจนฉีกขาดตกลงมาเกลื่อนพื้น ก่อนที่จะช่วยกันเก็บเศษกระดาษไปกองทิ้งไว้ที่ข้างศาลา พอเล่นกันจนเหนื่อยต่างก็กลับบ้านกันไป จนเจ้าหน้าที่มาพบดังกล่าว
หลังเกิดเหตุก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 14 สถานี 11 อำเภอภายในจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดชุดสายตรวจป้องกันและรักษาความสงบเรียนร้อยในพื้นที่ และหน่วยออกเสียงประชามติในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อป้องกันความเสียหายอย่างเข้มงวด
 
ทางคดีนั้น พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แต่ผู้กระทำความผิดยังเป็นเด็กที่ก่อเหตุโดยไม่มีความเจตนา และอายุยังไม่ถึง 10 ขวบตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะมีความผิด แต่เด็กก็ไม่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด โดยทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานบุคคลทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก พยานวัตถุ ภาพจากกล้องวงจรปิด และจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบผลของคดีนี้ต่อไป 

แจ้งข้อกล่าวหา 19 แดงอุดรฯ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ หลังเรียกมาอบรม พร้อมเงื่อนไข


19 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านเสื้อแดง 19 คน ที่เข้าร่วมการเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เดินทางเข้ารับการอบรมเพื่อปรับทัศนคติกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่สถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีหนังสือไปถึงเมื่อเย็นวันที่ 13 ก.ค.59  โดยในหนังสือเชิญอ้างว่าได้รับการประสานมาจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน เพิ่มเติมด้วยว่า วันที่ 14 ก.ค.นั้น ขณะชาวบ้านเริ่มทยอยมาถึง สภ.โนนสะอาด ในเวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกชาวบ้านเข้าไปเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา โดยไม่ได้ให้ชาวบ้านอ่านเอกสารหรืออ่านให้ฟังก่อน รวมทั้งไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแต่อย่างใด  เมื่อเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เข้าไปทักท้วง พ.ต.อ.บรรจบ สีหานาวี ผกก.กลุ่มงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี จึงบอกว่า จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงข้อกล่าวหาหลังเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาครบทุกคน และหลังจากเข้าร่วมอบรม 1 วัน ในครั้งนี้ จะปล่อยตัวกลับ และถือว่าคดีเลิกกัน
ต่อมาเวลาประมาณ  15.40 น. พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 เดินทางมาเปิดการอบรมในครั้งนี้ พร้อมทหารในเครื่องแบบอีก 4 นาย ก่อนเริ่มการอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ชาวบ้านได้รับทราบว่า มีความผิดฐาน “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558”
จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้ถามชาวบ้านว่า ใครเป็นคนชวนเข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้กล่าวในทำนองว่า ชาวบ้านไม่รู้ว่า ถูกหลอกให้เข้าร่วม เช่นเดียวกับถูกหลอกให้ไปเผาศาลากลางเมื่อปี 2553 และยืนยันว่า หลังการอบรมในวันนี้ คดีจะจบ แต่ขอให้ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป โดยขอให้ชาวบ้านอย่าเพิ่งทำอะไร ให้ทำมาหากินเท่านั้น ถ้าถูกข่มขู่คุกคาม หรือเดือดร้อน อยากได้คนช่วยดำนาให้มาบอก จะจัดคนไปช่วย ก่อนจบการอบรมในส่วนของ ผบ.มทบ.24 พล.ต.อำนวย ได้สั่งตำรวจให้เร่งคดีอื่นๆ ให้เสร็จก่อนวันที่ 7 ส.ค. ถ้าติดคุกก็ให้ติดก่อน 7 ส.ค. ซึ่งเป็นวันลงประชามติ
นายอำเภอโนนสะอาดเป็นผู้อบรมคนต่อมา กล่าวขอร้องชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งออกมาทำอะไร เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ปกติ เมืองไทยบอบช้ำมามากแล้ว ไม่อยากให้มีสงครามกลางเมือง ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญควรอ่านเนื้อหาสาระก่อนไม่ใช่ว่าไม่อ่านแล้วไปรณรงค์ หากได้อ่านแล้วอาจจะบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงก็ได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานต่อว่า ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกเรียกมาอบรม ชี้แจงในที่ประชุมว่า ไม่มีใครชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ชาวบ้านต้องการไปฟังเรื่องการลงประชามติเท่านั้นเอง และแกนนำก็ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้ไปลงประชามติ
หลังเสร็จการอบรม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทุกคนลงลายมือชื่อใน “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือจะไม่เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง ระหว่างกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุดรธานี กับ ผู้เห็นต่างทางการเมือง” โดยมีข้อตกลงว่า ทั้ง 19 คน จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วมประชุม หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งของหัวหน้า คสช. รวมทั้งจะไม่ชักชวนคนอื่นใส่เสื้อ หรือติดป้ายเครื่องหมายต่างๆ ที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็น เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมถูกดำเนินคดี และระงับธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า จัดทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีและเข้ารับการอบรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการอบรมว่า เรายืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะการออกไปฟังเรื่องประชามติมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับถูกเรียกมาอบรมและถูกตั้งข้อกล่าวหา 3/58 ซึ่งเราไม่เห็นด้วยเลย รู้สึกว่ามันเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรารู้สึกอึดอัดเพราะประชาชนทำอะไรไม่ได้
พร้อมกันนี้ชาวบ้านคนเดิมยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้าถูกเรียกมาอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกมาสอบปากคำที่ สภ.โนนสะอาดแล้วประมาณ 3 ครั้ง เกี่ยวกับการเข้าร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็มาแจ้งก่อนถูกเรียกมาอบรมแล้วว่า เราอาจจะถูกดำเนินคดี แต่เรายึดมั่นว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด จึงมาอบรมในครั้งนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมถึงกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่เป็นสาเหตุของคดีนี้ ว่า จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านหนองโก ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่เสื้อสีดำที่มีสโลแกนของศูนย์ปราบโกงฯ ว่า “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ฯ เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ  นอกจาก 19 คน ที่เข้ารับการอบรมนี้แล้ว ยังมีแกนนำและครอบครัวผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันอีก 4 คน ซึ่งทั้งสี่ให้การปฏิเสธ และ ผบ.มทบ.24 สั่งให้ตำรวจเร่งรัดคดีให้เสร็จก่อนวันลงประชามติ 7 ส.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของมวลชนเสื้อแดง 19 คนนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะอาศัยเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ซึ่งระบุว่า ผู้กระทำความผิดมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน โดย ผบ.มทบ.24 ยืนยันว่า หลังเข้าร่วมอบรมประมาณครึ่งวันนี้แล้ว คดีจะจบ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป นั่นก็คือ ข้อตกลงว่า มวลชนเสื้อแดงกลุ่มนี้จะไม่รวมตัวกันจัดกิจกรรมใดๆ อีก ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนี้ ก็จะถูกดำเนินคดีทันที
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า แม้ทหารซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ จะทำให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้มวลชนที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าใจว่า ถูกแกนนำหลอกมา ต้องขึ้นศาลทหาร จากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยใช้เงื่อนไขการเข้ารับการอบรมดังที่กล่าวมา แต่การดำเนินคดีที่ลัดขั้นตอน  โดยให้ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่บอกให้อ่าน หรือแจ้งข้อหาให้ทราบก่อน และไม่ได้ถามว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไร แต่ให้เข้าอบรมเลย และแจ้งว่า เมื่ออบรมเพียงครึ่งวันแล้ว ถือว่าคดีเลิกกัน เท่ากับบีบให้ชาวบ้านยอมรับว่าตัวเองผิด และสมัครใจเข้ารับการอบรม ซึ่งง่ายกว่าการไปต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาลทหาร
กรณีที่ทหารใช้เงื่อนไขให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามตินี้ นอกจาก 19 ราย ที่จังหวัดอุดรฯ แล้ว ก่อนหน้านี้ มี 5 ราย ที่จังหวัดแพร่ และ 12 ราย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

เด้ง ผกก.ขาณุวรลักษณ์บุรี เหตุไม่รายงานปมเด็กป.2 ฉีกบัญชีรายชื่อประชามติ-สั่งสอบข้อเท็จจริง


20 ก.ค.2559 พล.ต.ท.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 มีหนังสือคำสั่งให้ พ.ต.อ. อิทธิ ชำนาญหมอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม พร้อมสั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อบกพร่องข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง แล้วให้รายงานผลให้ตำรวจภูธรภาค 6 ทราบโดยเร็วที่สุด
มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีมีคนร้ายฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ หน่วยวัดหงษ์ทอง ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี แต่ ผกก.สภ.ขาณุวรลักษณ์บุรี ไม่มีการรายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยผู้บังคับบัญชาทราบเหตุดังกล่าวจากสื่อมวลชน ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองได้จับกุมเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวชิรสารศึกษา จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 2 คน กรณีฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ที่ปิดประกาศไว้ภายบริเวณโรงเรียน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำแล้วเด็กทั้งสองคนรับสารภาพว่า มูลเหตุจูงใจในการฉีกบัญชีรายชื่อเนื่องจากเห็นว่าสีสวยเลยดึงมาฉีกเล่น จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าทำให้เสียทรัพย์ และดำเนินคดีตามกฏหมาย