วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ไทยสอบกรณี ‘อาเดม’ อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน



อ่านแถลงการณ์ต้นฉบับที่นี่
19 พ.ค. 2559 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch-HRW) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนโดยทันทีและอย่างเป็นธรรม กรณีที่ อาเดม คาราดัก ผู้ต้องหาคดีระเบิดแยกราชประสงค์ระบุว่ามีการซ้อมทรมาน เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ต่อหน้าช่างภาพซึ่งมารอหน้าศาลทหาร กรุงเทพ อาเดมระบุว่าทางการไทยทรมานเขาขณะที่ถูกคุมขัง และเปิดเสื้อให้ดูรอยช้ำตามร่างกาย
ทั้งนี้ เขาถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราว ใน มทบ. 11 นับตั้งแต่เขาถูกจับเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558
"ทางการไทยมีพันธกิจภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการสืบสวนอย่างเป็นธรรมในกรณีที่อาเดมอ้างว่าเขาถูกซ้อมทรมาน" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวและว่า ความเลวร้ายของการระเบิดในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ข้อแก้ตัวของเจ้าหน้าที่ในการซ้อมทรมานและการเปิดเผยการกระทำทารุณต่อผู้ต้องสงสัยเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ย้ำถึงความกังวลต่อการละเมิดต่อพลเรือนที่ถูกจับกุมโดยทหารและสอบปากคำในระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร โดยระบุว่าฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เคยทำหนังสือถึงรัฐบาลไทย เมื่อเดือน พ.ย. 2558 แสดงความกังวลกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวที่ มทบ.11 ของ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลย้ายพลเรือนที่ถูกคุมขังใน มทบ.11 ทั้งหมดไปยังสถานซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ควบคุมตัวพลเรือนแทน
"ความล้มเหลวของรัฐบาลในการสืบสวนกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานเป็นแสงที่ฉายให้เห็นการละเมิดของทหาร" อดัมส์กล่าว

ประยุทธ์ระบุถึงเวลาเหมาะให้ฝ่ายการเมืองแสดงความเห็นทุกเรื่อง ยันไม่มีใครกดดัน

 นายกรัฐมนตรี สหพันธรัฐรัสเซีย เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ (ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบฯ )

วิษณุ เผยรัฐบาลเตรียมแก้รธน.ชั่วคราว หากร่างใหม่ไม่ผ่านประชามติ ชี้กกต.เปิดเวทีให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นเป็นเรื่องดี อภิสิทธิ์ข้องใจปมข้อห้ามรณรงค์โหวต กกต.สมชัย ยัน กม.ประชามติยึดกฎหมายเดิม แต่เพิ่มความผิดทางเน็ต ชี้ใส่เสื้อติดป้ายฯ หากไม่สู่หากไม่ปลุกระดม ทำได้  ด้านนปช.ขอแก้กม.ประชามติ เปิดแสดงความเห็น จ่อเปิด 'ศูนย์จับโกงประชามติ' 
19 พ.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาเปิดให้ตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง มาแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (19 พ.ค. 59) ว่า เป็นเรื่องที่คิดไว้นานแล้ว แต่รอเวลาที่เหมาะสม จึงค่อยดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องพูดล่วงหน้า ไม่ได้บิดบัง ซ้อนเร้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะเปิดโอกาสให้พูดได้ในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง ความขัดแย้ง คดีความ เพื่อที่จะได้รู้แนวคิดของแต่ละคน รับฟังไว้และแก้ปัญหา แต่ต้องฟังความเห็นของคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย เพราะคนที่เดือดร้อนและมีคดีความมีไม่กี่คน แต่มาทำให้คนทั้งประเทศสับสน เอาคนมาบิดเบือนเนื้อหา ค้านกับกฎหมาย ซึ่งทำไม่ได้ จะต้องใช้กฎหมายตัดสิน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ไม่ได้มีใครกดดัน แต่ต้องการให้พูดออกมา และให้คนฟังไปแยกแยะเอง จะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร และส่วนตัวไม่เคยสั่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ
“อย่ามาบอกว่า ผมให้ออกกฎหมายให้ยาก เพื่อไม่ให้ผ่าน ผมจะทำทำไม จะต้องเห็นใจคนร่าง ที่เขาต้องการร่างให้ออกมาดี แต่ถ้าคนไทยรับไม่ได้ ก็ต้องทบทวนและร่างใหม่ ถ้าผ่านก็นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าถามว่า จะเลือกตั้งได้หรือไม่ ผมตอบไม่ได้ เพราะยังไปไม่ถึงก็เริ่มมีการต่อต้านแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประธานกกต. ชี้ความสุจริตของประชามติขึ้นอยู่กับผู้ออกเสียงเป็นไปอย่างอิสระ 

ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวในสัมมนาดังกล่าวว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นไปด้วยความสุจริตหรือไม่ อยู่ที่การลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ที่ต้องเป็นไปอย่างอิสระ ปราศจากการชี้นำ ต้องมาจากความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า เป็นไปได้ยากที่จะให้ประชาชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง และเวทีครั้งนี้พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสอบถามข้อสงสัย เพื่อจะได้นำไปเผยแพร่ได้อย่างถูกต้อง
“ยืนยันว่ากกต.มีความพร้อมจัดทำประชามติด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติอย่างเต็มที่ เพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ กกต.ตระหนักถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม จึงจะจัดเวทีในรูปแบบนี้อีกหลายครั้ง” ประธานกกต. กล่าว
ศุภชัย กล่าวว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติผ่านความเห็นชอบสนช.และประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว กกต.เตรียมความพร้อมทั้งระเบียบและประกาศการออกเสียงประชามติ และสำรวจข้อมูลทั้งหมดพบว่าในประเทศไทย มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ กว่า 50,500,000 คน มีหน่วยออกเสียงประชามติ จำนวน 98,303 หน่วย เจ้าพนักงาน 791,449 คน และได้เตรียมการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยชุดแรกจะส่งให้สนช. กรธ. ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้จัดพิมพ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป

กรธ.ยันฟังประชาชนมาโดยตลอด

จากนั้น เป็นการชี้แจงของ ประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า กรธ.ใช้เวลา 6 เดือนในการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และรับฟังประชาชนมาโดยตลอด ร่างรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง ร่างนี้รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสิทธิของประชาชนมีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ และในหลายด้านบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการให้กับประชาชน ประชาชนไม่ต้องร้องขอ นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูปในเรื่องที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
ด้าน อุดม รัฐอมฤต กรธ. กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรธ. ต้องอาศัยการรวบรวมความคิดและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากฉบับปี 2550 เล็กน้อย แต่หลักการของรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ไม่ได้เขียนรายละเอียดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ส่วนการปกครองประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยืนยันการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีรูปแบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว เน้นให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย และเน้นการตรวจสอบนักการเมืองและผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐ ถ้าทุจริตจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และหากศาลตัดสิน ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ขณะที่การปฏิรูปประเทศ เน้นให้ประเทศต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ กล้าณรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. พร้อมด้วย เสรี สุวรรณภานนท์ และ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท.ร่วมกันชี้แจงที่มาของคำถามพ่วงประชามติว่า มาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดให้สปท.เสนอคำถามพ่วงประชามติมายังสนช. และสนช.มีมติเห็นชอบเลือกคำถามพ่วงประชามติได้

วิษณุ เผยรัฐบาลเตรียมแก้รธน.ชั่วคราว หากร่างใหม่ไม่ผ่านประชามติ

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ประเทศไทยเคยจัดการออกเสียงประชามติเมื่อปี 2550 ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการออกเสียงประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และขณะนี้ถึงเวลาการออกเสียงประชามติครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อไปประเทศไทยอาจจะชินกับการออกเสียงประชามติ เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสำคัญ ซึ่งเรื่องเช่นนี้หากจัดให้ชินก็จะเข้าใจและอาจไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย
วิษณุ กล่าวว่า การออกเสียงประชามติครั้งนี้ รัฐบาลมีบทบาท 3 ประการ หรือ 3 ร. คือ 1.การรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศระหว่างนี้ ยอมรับในความเห็นต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งมีโอกาสที่ความเห็นต่างจะเปลี่ยนไปสู่ความขัดแย้ง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ใช้ความแตกต่างเป็นไปอย่างสร้างสรรค์  2.การร่วมมือกับกกต.ทุกด้านเพื่อจัดให้ออกเสียงประชามติ และ3.ดำเนินการให้เป็นตามโรดแมปที่คสช.กำหนดที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คือ การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.
“หากร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบ แต่คำถามพ่วงประชามติไม่ได้รับความเห็นชอบ รัฐบาลก็นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วันคือเดือนกันยายน จะช้ากว่านี้ไม่ได้ เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ประกาศใช้ จากนั้น กรธ.ต้องใช้เวลา 2 เดือนร่างฎหมายลูกเพื่อประโยชน์แก่การเลือกตั้ง 4 ฉบับ คือ กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับกกต. กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายที่เกี่ยวกับการสรรหาส.ว. ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ทำให้เสร็จในเวลานี้ เพราะกรธ.ยังมีภารกิจการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรธ.ร่างกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จจะส่งให้สนช.พิจารณาภายใน  2 เดือน แต่หากสนช.แก้ไขกฎหมายลูกก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ใช้เวลาอีก 1 เดือน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป เมื่อกฎหมายลูกประกาศใช้ ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งทุกอย่างกำหนดเวลาไว้แล้ว แต่หากรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงประชามติผ่านด้วย ต้องใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญ และรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้รัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้วหรือไม่ จึงนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รัฐบาลต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ โดยมีความคิดว่าจะเตรียมดำเนินการก่อนวันที่ 7 สิงหาคม แต่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน คาดว่าใช้เวลา 15 วันในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 1-2 เดือน ซึ่งไม่ใช่การรื้อร่างทั้งหมด อาจนำส่วนดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 2558 และ 2559 มาปรับปรุงใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นใช้เวลาไม่นาน แต่พิธีกรรมการนำรัฐธรรมนูญมาเขียนในสมุดไทยนั้นใช้เวลานาน ยืนยัน ไม่มีความเป็นห่วง ขณะนี้ได้ดำเนินการล่วงหน้าไปบางส่วนแล้ว

วิษณุชี้กกต.เปิดเวทีให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นเป็นเรื่องดี

วิษณุ  กล่าวถึงการจัดเวทีแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วยว่า น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดี แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องดีมาก เพียงขอไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และหากการแสดงความเห็นครั้งนี้เป็นไปด้วยดี จะเป็นแนวทางในการจัดงานครั้งต่อไป
“กกต.บอกไว้แล้วว่าจะจัดอีกกว่า 10 ครั้ง แต่หากแนวทางนี้ไม่สร้างสรรค์ก็ต้องพิจารณากันต่อไป ส่วนการพูดคุยวันนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นที่แต่ละฝ่ายสงสัย ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบเนื้อหาสาระที่จะพูดคุย ขึ้นอยู่กับตัวแทนพรรคการเมืองว่าจะมีข้อซักถามอย่างไรบ้าง” นายวิษณุ กล่าว
 
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรี ว่า รับทราบแล้ว และมองว่าข้อเสนอแนะขององค์กรระหว่างประเทศไม่ได้แทรกแซงไทย แต่ทุกอย่างต้องทำบนพื้นฐานของอารยประเทศและกัลยาณมิตร ซึ่งเท่าที่ดูไม่ได้มีใครวิจารณ์อะไรที่เสียหาย ซึ่งประเทศไทยชี้แจงได้ทุกประเด็น
 
 

อภิสิทธิ์ข้องใจปมข้อห้ามรณรงค์โหวต

ขณะที่เวทีสัมนาดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้สอบถามข้อสงสัย ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นสอบถามเป็นคนแรก ว่า การทำประชามติครั้งนี้ แตกต่างจากการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา และต่างกับหลายประเทศที่มีการทำประชามติ   การทำประชามติเป็นกระบวนการทางการเมือง และประชาชนควรได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรี แต่ขณะนี้คำบางคำ เช่น  ชี้นำ  กลายเป็นสิ่งต้องห้าม และหากมองว่าการชี้นำเป็นเรื่องผิด ถือเป็นการดูถูกประชาชน
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า จึงต้องการถามความชัดเจนจาก กกต.และให้ตีความความหมายของ คำว่า หยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ รวมไปถึงการที่ประชาชนสวมใส่เสื้อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และหากประชามติไม่ผ่าน ต้องวางทางเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไร และสุดท้าย หากต้องการให้พรรคการเมืองขยายผลการชี้แจงในวันนี้ ต้องให้ คสช. แก้ไขคำสั่ง ให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมพรรคได้  ขอย้ำว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใด สร้างความวุ่นวาย หรือปลุกระดม

กกต.สมชัย ยัน กม.ประชามติยึดกฎหมายเดิม แต่เพิ่มความผิดทางเน็ต

จากนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยืนยันว่า การร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้น ยึดกฎหมายเดิม มีเพียง 2 เรื่องที่เปลี่ยนแปลง คือ บัญญัติการกระทำความผิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอดีตไม่มีอินเตอร์เน็ท และเพิ่มโทษกลุ่มบุคคล 5 คนขึ้นไปที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย แต่ ประชาชนยังมีสิทธิเต็มที่ ไม่ได้ถูกจำกัดแต่อย่างใด
หลังจากนั้น สมชัยได้ตอบคำถาม อภิสิทธิ์ ที่ขอให้อธิบายความหมายของคำว่าหยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ รวมถึงการสวมเสื้อรับ และ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าทำได้หรือไม่ ว่า มาตรา 61 ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มี 7 วงเล็บ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาระเดียวกับกฎหมายการทำประชามติในอดีต ไม่มีความแตกต่าง แต่มาตรา 61(2) ได้เพิ่มคำว่าสื่ออิเล็กอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไป และหากไปดูประกาศของกกต.ก็จะเห็นตัวอย่าง 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้เอาไว้  ซึ่งหัวใจสำคัญที่กกต.คำนึงถึง คือ ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการบิดเบือนเนื้อหา ถือว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องในอนาคต หรือ คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าหากรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ ส่วนคำหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เปรียบเทียบ มาตรฐานชนชั้นกลาง เช่น กู มึง พูดได้ ไม่ถือหยาบคาย แต่หากพูดปลุกระดม กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ทำไม่ได้
ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคำถามว่า มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังคงไม่มีความชัดเจน จึงอยากให้ชี้แจงมากกว่านี้ ซึ่ง สมชัย ได้ตอบคำถามของ ปลอดประสพ ว่า บทบัญญัติในมาตรา 61 นั้น เขียนอย่างครอบคลุมแล้ว ไม่สามารถเขียนได้ละเอียดกว่านี้ เพราะเป็นภาษากฎหมาย

ใส่เสื้อติดป้ายฯ หากไม่สู่หากไม่ปลุกระดม ทำได้ 

“การชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้ายรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ หากไม่นำไปสู่ปลุกระดม ส่วนการขายเสื้อ ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในตอนนี้ กกต.ยังไม่ชี้ว่าผิด หรือไม่ แต่ถ้าไปสู่การปลุกระดม ข่มขู่ จะถือว่าผิดทันที เช่นเดียวกับการใส่เสื้อ Yes No ก็สามารถทำได้” สมชัย กล่าว

นปช.ขอแก้กม.ประชามติ เปิดแสดงความเห็น จ่อเปิดศูนย์จับโกงประชามติ

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวก่อนร่วมฟังคำชี้แจงและแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติว่า วาระสำคัญที่จะพูดคืออุปสรรคและความไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มที่รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าขณะนี้มีพื้นที่ให้แสดงออกเฉพาะฝ่ายที่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น สิ่งสำคัญในวันนี้คือนปช.ต้องการความมั่นใจว่าในวันที่ 7 สิ.ค. ผู้ที่มีอำนาจจะไม่ล้มประชามติเสียเอง
“นปช.จะทำหน้าที่เชิญชวนประชาชนมาใช้สิทธิ์ในวันที่ 7 สิ.ค. อย่างพร้อมเพรียง และในวันที่ 5 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ เวลา 10:00 น. นปช.จะเปิด “ศูนย์จับโกงประชามติ” ที่อิมพิเรียล ลาดพร้าว โดยได้แจ้งให้ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันจับตาการทำประชามติอย่างใกล้ชิด
ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำ นปช. ว่า วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งฝ่ายรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะนำเวทีวันนี้ไปอ้างไม่ได้ว่าเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพราะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนควรเปิดกว้างในทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ หากปรับแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ยังปิดปากประชาชนที่เห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญ และแม้ว่าตนไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 แต่ถ้าหากเป็นไปได้ อยากให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจนี้ปรับแก้กฎหมายประชามติ

ทหารงัด ม.44 เรียกนายกอบต.น้ำพุ เข้าพบ อ้างปลุกปั่นชาวบ้าน หลังร้องโรงงานขยะปล่อยสารเคมี


เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.20 น. ไพฑูรย์ ปัตตนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) น้ำพุ และ ธนู งามยิ่งยวด ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.เจษฎา เปรมนิรันดร ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุม/ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 ที่ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี หลังทหารอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 (ม.44) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 ให้เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามมีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม หรือมาให้ถ้อยคำได้ โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
ธนู  ซึ่งเดินทางมาตามคำสั่งมาตรา 44 กล่าวว่า ได้มีมาตรา 44 เรียกให้ตนเข้าพบ พล.ต.เจษฎา เนื่องจากกล่าวหาว่า ตนได้ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกแยก กรณีร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนที่โรงงานรีไซเคิลขยะปล่อยน้ำสารเคมีปนเปื้อนใต้ดิน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องออกมาร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็มาถูกทหารใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้มาพบ ซึ่งในวันที่ 8 มิ.ย.59 ที่จะถึงนี้ ตนจะนำรายชื่อชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องน้ำใต้ดินเสีย และมีการร้องเรียนมานานกว่า 16 ปีแล้ว ยื่นร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาที่ จ.ราชบุรี ด้วย
ด้าน ไพฑูรย์ อบต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า เราเป็นผู้นำก็ต้องดูแลประชาชน มีเรื่องร้องเรียนก็ต้องมาหาเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจึงไม่อยู่นิ่ง แต่อยู่ดีๆ ก็โดนมาตรา 44 ก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อบ้านเมืองในตอนนี้ แล้วก็ได้มีหนังสือโดยใช้มาตรา 44 ก็น้อยใจเนื่องจากตนทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตนไม่ได้บิดเบือน และเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน ซึ่งวันนี้ก็ยินดีที่จะมาพบ และยินดีที่มาชี้แจง และได้เตรียมเอกสารมาครบ
โดยผู้จัดการออนไลน์ ยังรานยงานด้วยว่า การมารายงานตัวของ ไพฑูรย์ และธนู ในครั้งนี้ ทางหน่วยงานทหารไม่ยินยอมให้สื่อเข้ารับฟัง และนายธนู ถือเป็นชาวบ้านรายแรกที่ถูกใช้มาตรา 44 เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาถึง 16 ปี ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ปัญหาเรื่องของน้ำเสียก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และลุกลามลงไปยังน้ำใต้ดิน แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่นำน้ำไปตรวจหาสารปนเปื้อน และแจ้งผลมาว่า ห้ามชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค และน้ำใต้ดินที่เสียก็กำลังขยายผลกว้างออกไปเรื่อยๆ แต่จนถึงตอนนี้ หน่วยงานภาครัฐก็ยังคงเดินหน้าตรวจสอบผลของน้ำ แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านจึงต้องออกมาร้องเรียน ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารต้องนำมาตรา 44 มาใช้ 

รำลึก 6 ปี 19 พฤษภา 53 วัดปทุมวนาราม-แยกราชประสงค์


กิจกรรมรำลึก 6 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมแยกศาลาแดง-ราชดำริ-ราชประสงค์ ทำบุญที่วัดปทุมวนาราม-วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พะเยาว์ อัคฮาด นำผูกผ้าดำวัดปทุมวนาราม-แยกเฉลิมเผ่า ก่อนสมทบผู้ชุมนุมรำลึกที่แยกราชประสงค์ โดยไร้เจ้าหน้าที่ขัดขวาง แต่ยังมีการเฝ้าเก็บหากมีการชูป้ายผ้า
คลิปกิจกรรมรำลึก 6 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ที่แยกราชประสงค์
19 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุม จัดพิธีจัดทำบุญรำลึกครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์จำนวน 9 รูป โดยมี อีโว ซีเบอร์ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักสิทธิมนุษยชน แทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมงาน
พะเยาว์กล่าวถึงคดีความว่า แม้คดีความจะถูกยกคำร้องไปแล้ว แต่การไต่สวนสาเหตุการตายชี้ชัดแล้วว่า คดี 6 ศพ วัดปทุมนั้นเกิดจากทหาร ขณะนี้กำลังปรึกษากับทนายความว่าจะยื่นฟ้องคดีอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายอย่างไรได้บ้าง คาดว่าภายในปีนี้จะยื่นฟ้องได้
สำหรับ กมนเกด นั้นเป็นพยาบาลอาสาที่เป็น 1 ในผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 จากการเข้าสลายการชุมนุมของ ศอฉ. ซึ่งภายหลังศาลมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม โดยสรุปว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ขณะที่แกนนำ นปช. และญาติผู้สูญเสียเดือนเมษายน -พฤษภาคม 53 เดินทางมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชน ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (ศาลาพระเทพสุเมธี) โดยในเวลา 10.00 น. แกนนำนปช.และญาติผู้สูญเสียเดือนเมษายน - พฤษภาคม 53 เดินทางไป ป.ป.ช. เพื่อยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ ทบทวนมติ ป.ป.ช.เดิม กรณีให้ข้อกล่าวหากรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวกสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ตกไป ด้วย
ในช่วงเย็น เวลาประมาณ 17.15 น. ที่บริเวณหน้าวัดปทุมวนามราม พะเยาว์ อัคฮาด พันศักดิ์ ศรีเทพ พร้อมด้วยนักกิจกรรมคนอื่นๆ และประชาชน ราว 10 กว่าคน เริ่มกิจกรรมผูกผ้าดำที่หน้าวัดปทุม สี่แยกเฉลิมเผ่า และเดินไปสบทบกับมวลชนจำนวนหนึ่งที่รวมตัวรำลึกเหตุการณ์อยู่ที่สี่แยกราชประสงค์
เวลาประมาณ 17.30 น. มีผู้ชุมนุมราวสองร้อยคนมาชุมนุมที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเวที นปช. เมื่อปี 2553 โดยประชาชนร่วมกันผูกผ้าดำ และร้องเพลงเพื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีคนลงไปทำท่านอนตายที่พื้น ขณะที่คนอื่นๆ ตะโกนว่า "ที่นี่มีคนตาย" นอกจากนี้ยังร่วมกันจุดเทียนร้อเพลงนักสู้ธุลีดิน และในเวลา 19.00 น. ร่วมกันร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ร่วมกันยืนสงบนิ่งรำลึก 6 ปีสลายการชุมนุม จากนั้นประชาชนจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่มย่อยๆ ทักทายหลังจากไม่ได้พบปะกันนาน ก่อนจะทยอยเดินทางกลับ
อนึ่งเมื่อเวลาประมาณ 18.00 ขบวนเฉลิมฉลองแชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของทีมเลสเตอร์ ซิตี ได้เคลื่อนผ่านมายังบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ระหว่างนั้นประชาชนที่รวมตัวรำลึกกันตรงป้ายสี่แยกราชประสงค์ก็ตะโกนว่า  "ที่นี่มีคนตาย" พร้อมหันป้ายผ้าที่เขียนว่า "มีการสังหารหมู่ที่นี่" โดยนักฟุตบอลบนรถก็โบกมือยิ้มรับเพราะนึกว่าเป็นแฟนบอล อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวงานเพิ่มเติมว่า ป้ายผ้าที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษดังกล่าวถูกกางออกได้เพียง 2 นาทีก็ถูกปลดลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบห้ามการกางป้ายผ้า
ภาพขณะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเก็บป้าย