วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

'เลวร้ายยิ่งกว่าเผด็จการ' มองรัฐบาลทหารอียิปต์ล้มเสรีภาพใต้ท็อปบู๊ต

หลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว อียิปต์ก็ตกอยู่ภายใต้ความพยายามทำให้ประเทศเป็นเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการผ่านร่างกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ในขณะที่เพิ่มอำนาจและลดการตรวจสอบตนเอง เปิดทางให้มีการทุจริตมากขึ้น

29 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า รัฐบาลอียิปต์ที่นำโดยอัลเดล ฟัตตาร์ อัลซีซี ผู้ก่อรัฐประหารโค่นล้มผู้นำโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในปี 2556 เป็นรัฐบาลที่ออกกฎหมายในเชิงอำนาจนิยมมากที่สุดในรอบ 60 ปีเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ
เดอะการ์เดียนรายงานโดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 4 สถาบัน ระบุว่าอาดลี มานซูร์ รักษาการประธานาธิบดีช่วงหลังการรัฐประหารและอัลซีซีฉวยโอกาสช่วงที่ประเทศปราศจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งออกกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ที่มีลักษณะเผด็จการ ลดทอนเสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างมาก
นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการออกกฎหมายของรัฐบาลชุดหลังรัฐประหาร 2556 ของอียิปต์ก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับผู้นำเผด็จการในประเทศก่อนหน้านี้ ที่พอเทียบเคียงได้คือช่วงที่อียิปต์อยู่ใต้การปกครองของ 'คณะมนตรีปฏิวัติ' (Revolutionary Command Council) หลังจากมีการโค่นล้มระบอบกษัตริย์อียิปต์ในปี 2495
อัมร์ ชาลากานี รองศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโรกล่าวว่า ลักษณะการออกกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ จำนวน ความเร็ว และการออกกฎหมายควบคุมที่กินวงกว้าง โดยในยุคหลังอัลซีซี มีการออกกฎหมายห้ามการชุมนุมประท้วง ขยายอำนาจพิจารณาคดี นอกจากนี้การออกกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภา มีแค่การตรวจสอบแต่ในนามจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการที่อัลซีซีมีอิทธิพลอยู่เท่านั้น
เดิมทีมีการวางโร้ดแมปว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในช่วงปลายปี 2556 แต่ก็ถูกเลื่อนมาเป็นช่วงเดือนหลังจาก ก.ค. 2557 อย่างไรก็ตาม อียิปต์ยังจะไม่มีการจัดตั้งรัฐสภาจนกว่าจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งถูกบังคับใช้ แต่แม้ว่ากฎหมายอื่นๆ จะถูกผ่านร่างบังคับใช้เร็วมาก กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาฉบับดังกล่าวยังคงไม่ออกมาง่ายๆ ทำให้อียิปต์จะไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2558
ทางด้านอัมร์ อับดุลราห์มัน ผู้อำนวยการฝ่ายเสรีภาพพลเมืองขององค์กรริเริ่มเพื่อเสรีภาพส่วนบุคคลของชาวอียิปต์ กล่าวว่า ผู้นำเผด็จการก่อนหน้านี้อย่างอันวาร์ ซาดัต และฮอสนี มูบารัค ยังไม่ได้อาศัยโอกาสจากช่วงไม่มีสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมายมากขนาดนี้ นอกจากเรื่องการเมืองแล้วอัลซีซียังผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและด้านเศรษฐกิจโดยไม่มีการหารือแลกเปลี่ยนกันในระดับชาติด้วย
เดอะการ์เดียนยังได้เรียบเรียงตารางเวลาการออกกฎหมายสนับสนุนเผด็จการหรือมีลักษณะฉ้อฉลของทางการอียิปต์ โดยระบุไว้ดังนี้
ในเดือน ก.ย. 2556 มีกฎหมายลดขั้นตอนการประกวดราคาโดยอนุญาตให้รัฐบาลอียิปต์หลังการรัฐประหารในตอนนั้นติดต่อจัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ผ่านการประกวดราคา อีกหลายเดือนถัดมากองทัพอียิปต์ก็ได้รับงบประมาณรับเหมาก่อสร้างมูลค่าราว 1 ล้านดอลลาร์ ในเดือนเดียวกันยังมีการออกกฎหมายอนุญาตขยายเวลาการกักขังผู้ต้องหาก่อนการไต่สวนสำหรับคดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ซึ่งมีการนำมาใช้กับผู้ต่อต้านทางการเมือง
ในเดือน พ.ย. 2556 มีกฎหมายสั่งห้ามการชุมนุมซึ่งมีการใช้จับกุมประชาชนหลายพันคน ต่อมาในเดือน เม.ย. 2557 ก็มีกฎหมายการลงทุนโดยสั่งห้ามไม่ให้บุคคลที่สามอุทธรณ์เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการปิดขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2557 อียิปต์ก็ออกกฎหมายการเลือกตั้งระบบใหม่ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชนชั้นอำนาจเก่า ป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองเสรีนิยม และดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อคนร่ำรวยที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้น ในเดือนเดียวกันยังมีกฎหมายที่เกื้อหนุนให้อัลซีซีสามารถแทรกแซงมหาวิทยาลัยได้แบบเดียวกับยุคสมัยมูบารัค
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายในเชิงบังคับและกดดันกับกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน มีการขยายอำนาจตุลาการของกองทัพออกไปในหลายภาคส่วน ซึ่งในกฎหมายหลายตัวก็มีการกล่าวอ้างว่าเพื่อใช้ปราบปราม 'ผู้ก่อการร้าย' จนกระทั่งในเดือน ธ.ค. 2557 ก็มีกฎหมายขยายความหมายของคำว่า 'ผู้ก่อการร้าย' มารองรับคำกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายตัวล่าสุดนี้เป็นกฎหมายที่เลวร้ายที่สุด

อันวาร์และภรรยาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาชายแดนใต้

รอมือละห์ แซเยะ และมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอแนวทางแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยชี้ว่ารัฐต้องเร่งสร้างความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกกระบวนการยุติธรรม รับฟังผู้เห็นต่าง ต้องไม่มองเป็นศัตรู และเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อใช้แนวทางการเมืองนำการทหารแก้ปัญหา
หมายหตุ: เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูาฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ อันวาร์ อดีตบรรณาธิการสำนักสื่อบุหงารายา ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในภาคใต้ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ทั้งสองเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี มีรายละเอียดดังนี้
000
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี
เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านแม่ทัพภาคที่ 4
ดิฉัน นางสาวรอมือละห์ แซเยะ และนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและจากระบบกระบวนการยุติธรรม ขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการนำเสนอความคิดเห็นบางประการเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง แม้ว่าเราจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆในสังคมแต่ก็เชื่อว่า เสียงของคนตัวเล็กๆเพียงสองคนนี้จะไม่ใช่คนที่โดดเดี่ยวจากสังคมรอบตัว และเป็นเสียงที่สะท้อนความเห็นของคนไม่น้อยในพื้นที่ที่ยังไม่กล้าแสดงออก
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดชาย คดีกระทำการอั้งยี่ซ่องโจร ถูกศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ให้ต้องโทษจำคุก 12 ปีด้วยหลักฐานที่มาจากการซัดทอดและจากฐานความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงมือก่อเหตุใดๆ ซึ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อยอาจถือได้ว่ามูฮัมหมัดอัณวัรเป็นนักโทษเพราะความคิดทางการเมือง รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูฮาหมัดอัณวัร ทำงานภาคประชาสังคมด้วยการช่วยเหลือเยาวชนและครอบครัวนักโทษคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งรวมทั้งขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการสันติภาพ มูฮาหมัดอัณวัรเอง เมื่อยังไม่ได้เข้าสู่เรือนจำก็ไม่เคยหลบหนีการดำเนินคดี ทั้งในเวลาก่อนและหลังถูกจับกุมตลอดจนถึงช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดี มูฮาหมัดอัณวัรทำงานเป็นสื่อสารมวลชนในพื้นที่ เราทั้งสองคนแม้จะมีความเห็นบางเรื่องแตกต่างจากรัฐแต่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในวิถีทางสันติมาโดยตลอด และเรายังเชื่อมั่นว่ามูฮาหมัดอัณวัรเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินเอาผิดคนในสิ่งที่ไม่สมควรต้องเอาผิดและถือว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสันติตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งความเป็นเหยื่อกล่าวได้ว่ามีทั้งในทางตรงและในทางทัศนคติ อย่างไรก็ตาม การถูกจำขังไม่ได้ทำให้เกิดความย่อท้อในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของสังคม จดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นการนำเสนอความเห็นเพื่อขอให้มีการปรับปรุงการบริหารประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง เป็นเสียงเรียกร้องจากคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงและอยากเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างยั่งยืน
การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. และท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการดังที่ท่านได้อธิบายต่อประชาชนนั้น บัดนี้ได้ผ่านพ้นมาจนใกล้จะครบแปดเดือน แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังมองไม่เห็นชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถึงแม้ว่าจะมีข่าวการยืนยันว่าได้มีการดำเนินการพูดคุยกับผู้เห็นต่างรอบใหม่ต่อจากที่เคยเริ่มไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ก็ตาม ความไม่เชื่อมั่นและความเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายให้กับคนในพื้นที่ ส่วนของภาคประชาชนที่เคยคึกคักและมีการพูดคุยเพื่อสร้างฉันทามติสำหรับการหาหนทางออกจากความขัดแย้ง อันเป็นการขานรับกับการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่พูดคุยในระดับบนได้เกิดอาการชะงักงันไม่กล้าแสดงออกอีกต่อไป ขณะที่นโยบายในการพูดคุยยังไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้า สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอและเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ก็คือปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นที่รุนแรง การทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และการแก้แค้นกันไปมาซึ่งแม้จะไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนในหลายกรณี ในขณะที่คดีอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคดีกลับคืบหน้าน้อยมาก ทำให้เกิดภาพว่ามีบางส่วนของกลไกรัฐที่อยู่เหนือกฎหมาย บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาได้รับผลกระทบจากความหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลและทหารและการติดตามเอาผิดตลอดจนการใส่ร้ายในโซเชียลมีเดียที่เห็นได้ชัดว่ามาจากคนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เหล่านี้ล้วนกลายเป็นความเคลื่อนไหวหลักที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในพื้นที่และไม่ช่วยทำให้เกิดความหวังต่อการสร้างสันติภาพดังที่รัฐบาลของท่านประกาศกับประชาชนว่าพยายามจะให้เกิด

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงและยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ควรจะยึดแนวทางสันติวิธี มาตรการทางการทหารควรเป็นเพียงส่วนสนับสนุนงานด้านการเมืองและควรจะต้องใช้อย่างจำกัดและเพื่อความสงบ การจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นพ้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่องตลอดจนขอให้กลับไปดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้หลักการการเมืองนำการทหารเช่นที่ผ่านมา
1. รัฐบาลควรเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทั้งภายในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มใด ทั้งจะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างสันติภาพโดยสนับสนุนให้มีเงื่อนไขและบรรยากาศที่สามารถที่จะตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปเช่นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายใต้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล ควรส่งเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายกระทำโดยไม่เลือกปฏิบัติไร้ซึ่งอคติและทัศนคติเชิงลบต่อประชาชนที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และศาสนา เพราะการกระทำที่เลือกปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังที่มีรายงานข่าวเรื่องของการทำร้ายและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยหลังจากการจับกุมในพื้นที่เนืองๆ สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐ ส่งผลกระทบทำให้ความพยายามที่จะคลี่คลายความขัดแย้งพบอุปสรรค นอกจากนี้รัฐบาลควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีร่วม เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ควรศึกษารายละเอียดของสนธิสัญญาฉบับต่างๆเหล่านี้ก่อนที่จะกำหนดนโยบายหรือส่งกองกำลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยพลการอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้นและหาทางคลี่คลายได้ยากยิ่งขึ้น
2. ขอเสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ที่เห็นต่างอย่างจริงจัง รัฐต้องไม่มองผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐทางการเมืองในพื้นที่ปาตานีด้วยสายตาที่หวาดระแวงเสมือนเป็นศัตรูกับรัฐ หรือว่ากำลังท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ควรตั้งแง่หรือจับตาเฝ้าดูพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่แสดงความเห็นแตกต่างจากรัฐว่าเป็นผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะการแสดงออกด้วยวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ และการแสดงออกทางการเมืองเช่นนี้เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธีที่เท่ากับเป็นการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงไปในตัว จึงควรจะได้รับการสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อเปิดหนทางให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างสันติอย่างแท้จริง
3. ความไม่ต่อเนื่องของคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศส่งผลให้มีการกำหนดนโยบายที่แตกต่าง การบริหารงานในเรื่องสำคัญเช่นการแก้ไขปัญหาภาคใต้ขาดช่วงและขาดความเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนเนื่องจากทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของประเทศและไม่ใช่ผู้ที่ได้สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อจะทำหน้าที่บริหารประเทศแต่อย่างใด ดังนั้นการคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการใช้หนทางการเมืองนำการทหารอย่างแท้จริงจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น
การตอบสนองข้อเสนอเหล่านี้จะสร้างกำลังใจ ความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน เป็นของขวัญสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะเวียนมาถึง เปิดหนทางสู่การสร้างสันติภาพภายใต้การนำของรัฐบาลในปี 2558 ให้เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
โปรดรับไว้พิจารณา
ด้วยความเคารพและใฝ่หาสันติภาพ
รอมือละห์ แซเยะ
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
29 ธันวาคม 2557

2 จำเลยคดีเจ้าสาวหมาป่ารับสารภาพ ศาลนัดพิพากษา 23 ก.พ.ปีหน้า


คนร่วมฟังคดีกว่า 50 รวมเจ้าหน้าที่ยูเอ็นและอียู จนต้องนั่งพื้นห้องพิจารณาคดี 2 จำเลยรับสารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะพฤติการณ์ประกอบการพิจารณา ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 23 ก.พ.2558 เวลา 13.30 น.
29 ธ.ค.2557 ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในคดีที่ภรณ์ทิพย์ และปติวัฒน์ ตกเป็นจำเลยในคดี 112 จากกรณีละครเจ้าสาวหมาป่า วันนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังคดีกว่า 50 คนจนต้องนั่งกับพื้นห้องพิจารณาคดี ในจำนวนนี้มีตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) สหภาพยุโรป และแอมนาสตี้ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลสั่งสืบเสาะพฤติการณ์ประกอบการพิจารณา ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 23 ก.พ.2558 เวลา 13.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองได้พบญาติพี่น้องและพากันร้องไห้
ด้านภาวิณี ชุมศรี ทนายจำเลยกล่าวว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ระบุขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน อายุยังน้อย และอยู่ระหว่างศึกษา การลงโทษด้วยการจำคุกนอกจากจะสร้างความเสียหายแล้วยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จำเลยจึงขอให้ศาลให้โอกาสในการปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษาอีกครั้ง
คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3528/2557 คำฟ้องระบุว่าในวันที่ 13 ต.ค.2556 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งมีบทละครอันเป็นมีข้อความอันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยในคำฟ้องได้หยิบยกข้อความมาทั้งสิ้น 9 ข้อความที่ระบุว่าเข้าข่ายความผิด และระบุด้วยว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ หากจำเลยการยื่นคำร้องขอประกันตัวขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
ปติวัฒน์ถูกจับเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2557 ขณะที่ภรณ์ทิพย์ถูกจับเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ทั้งคู่ถูกฝากขังยังเรือนจำตั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน ทนายความยื่นประกันตัวและคัดค้านการฝากขังหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ปติวัฒน์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่ภรณ์ทิพย์อายุ 26 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาเมื่อปีที่แล้ว ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2556เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ต่อมาวันที่ 2 พ.ย. 2556 เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน ได้สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงดังกล่าวที่สถานีตำรวจรวม 13 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ถูกจับตาและติดตามจาก คสช. โดยก่อนหน้านี้มีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพื่อสอบถามถึงเรื่องดังกล่าวหลายคน

ผู้บัญชาการทหารบกนำคณะมอบกระเช้าอวยพรปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์


พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. และ รมช.กลาโหม นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำคณะไปอวยพร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ที่ ร.1 รอ. ด้วย
(ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
29 ธ.ค. 2557 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย เผยภาพ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก นำคณะข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและอวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2558 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 29 ธันวาคม 2557
โดยในวันเดียวกันนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ยังนำคณะปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากทุกเหล่าทัพ เข้าอวยพรและรับพรปีใหม่จา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ด้วย

กสทช. สั่ง ISP ปิดเว็บหมิ่นสถาบันทันที ไม่ต้องขอความเห็นชอบ

เฟซบุ๊กไม่มาร่วมประชุม กสทช. เหตุไม่ว่าง ส่วนผลประชุม สำนักงาน กสทช. สั่ง ISP ทุกรายปิดหน้าเว็บที่มีการนำเสนอหมิ่นสถาบันโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ กสทช.ก่อน ตำรวจสันติบาลลั่น พร้อมดำเนินคดีโดยเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดทันที
29 ธ.ค. 2557 กรณีสำนักงาน กสทช. ระบุว่าจะเชิญตัวแทนเฟซบุ๊ก ประเทศไทย มาหารือเพื่อหาแนวทางป้องกันรวมถึงการดำเนินการกับผู้โพสต์ข้อความ หรือเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นสถาบัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันนี้ ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 14.27 น. ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าว ไทยพีบีเอส รายงานผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุ เฟซบุ๊กไม่มาและไม่ได้ส่งตัวแทนร่วม โดยให้เหตุผลว่าไม่ว่าง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ทวีตข่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @TakornNBTC เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการอินเทอร์เน็ต (ISP) รายใหญ่ และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล (พล.ต.ท. ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล) ในวันนี้ (29 ธ.ค.) ว่า ผลจากการประชุมหารือ สำนักงาน กสทช. ได้สั่งการให้ ISP ทุกราย ดำเนินการตรวจสอบและทำการปิดหน้าเพจที่มีเนื้อที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือมีเนื้อหาที่หมิ่นสถาบัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทันทีโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช. ในกรณีที่มีข้อสงสัยในเนื้อหา ว่าเข้าข่ายที่ต้องปิดหรือไม่ ให้ติดต่อยังผู้ประสานงาน 5 คนที่สำนักงาน กสทช. ได้ให้รายชื่อไว้ หรือรายงานมาที่อีเมล report.nbtc@gmail.com โดยหลังจากที่ทำการปิดเพจแล้วให้ ISP รายงานมายัง สำนักงาน กสทช. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) ทราบทันที
การดำเนินการในเรื่องนี้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในภาพใหญ่ทั้งหมดในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเฟซบุ๊ก การมอนิเตอร์เนื้อหาจะมีจากทั้ง 2 ส่วนคือจากสำนักงาน กสทช. เองและผู้ประกอบการ ISP ในส่วนของการดำเนินคดีหลังจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จะดำเนินการร่วมกันหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป
“สำนักงาน กสทช. ตระหนักว่า อาจมีประชาชนบางส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โพสต์ข้อความหรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือหมิ่นสถาบัน จะขอให้ประชาชนระมัดระวังตรวจสอบเนื้อหาข้อความก่อนทำการโพสต์ หรือแชร์เนื้อหาข้อความใดๆ และหากประชาชนพบเห็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเป็นภัยต่อความมั่นคง ขอให้แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ที่อีเมล report.nbtc@gmail.com ทันที”
ด้านพล.ต.ท. ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า สันติบาลพร้อมในการหาตัวผู้กระทำความผิด และพร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือหมิ่นสถาบัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเด็ดขาดทันที