วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

จับ ‘ดาวดิน’ เข้าห้องขังทันที หลังชูป้าย คัดค้านรัฐประหาร ที่ขอนแก่น


"ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม" เจ้าหน้าที่บอกก่อนจับกุม นักศึกษากลุ่มดาวดิน หลังชูป้ายผ้า คัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น
22 พ.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยการถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” และได้พูดถึงปัญหาสำคัญประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการรัฐประหารคือ ประเด็นปัญหาด้านทรัพยากร เช่น เหมืองแร่ทองคำ การจัดการน้ำ ปิโตรเลียม การไล่รื้อที่ดินจากแผนแม่บทป่าไม้และที่ดิน โดยระบุว่า การกระทำทั้งหลายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และไม่สนในประเด็นเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิชุมชน
“จริงๆ แล้วการรัฐประหารเป็นการตัดตอนประชาธิปไตย ตัดอำนาจประชาชน ซึ่งประชาชนทุกคนควรมีสิทธิมีเสียงในประเทศตัวเอง แต่อำนาจกลับถูกคนแค่กลุ่มเดียวมายึดเอาไป ส่วนเหตุผลที่เลือกชูประเด็นเรื่องทรัพยากรก็เพราะว่ากลุ่มของพวกเราก็ทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงเห็นปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นว่าได้มีหน่วยงานรัฐและทหารมาอำนวยความสะดวกให้กลุ่มนายทุน รวมถึงการใช้อำนาจในการกดขี่ไม่ให้ชาวบ้านสามารถออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านของตัวเองได้ พวกเราจึงต้องการออกมาแสดงจุดยืนในการต้อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อต้านอำนาจที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อต้านรัฐทหาร ต่อต้านเผด็จการและต่อต้าน คสช. อีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เพราะว่า ที่แห่งนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ที่โดน คสช. ขโมยไปจากประชาชนคนไทย และเรายังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ถูกต้องการวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล เป็นสิทธิและเสรีภาพของทุกคน ถ้า คสช. คิดว่าผิด ประเทศนี้ก็เป็นประเทศของเผด็จการไปแล้ว” นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หนึ่งในนักศึกษาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกล่าว
ต่อมาเวลา 13.27 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้เข้าจับกุมนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ทั้งหมด 7 คน คือ จตุภัทร บุญภัทรรักษา อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์  พายุ บุญโสภณ  ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์  สุวิชชา ฑิพังกร ศุภชัย ภูครองพลอย และ วสันต์ เสธสิทธิ โดยในระหว่างเข้าจับกุ่มเจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่า "ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม"
ขณะเดียวกัน เพจดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน รายงานว่า เวลา 13.40 น. นักศึกษาทั้ง 7 คน และผู้ติดตามจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหมด 13 คน ได้มาถึงมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23) โดย นศ.ทั้ง 7 คน ถูกนำตัวเข้าห้องขังทันที
อัทเดพรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัว จากเดิมที่ทราบชื่อทั้งหมด 7 คน คือกลุ่มนักศึกษาดาวดินที่ออกไปชูป้ายผ้า ล่าสุดทราบว่าในจำนวน 13 คน ที่อยู่ที่ค่ายศรีพัชรินทร มีนักศึกษากลุ่มดาวดินอีก 3 คนคือ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ขวัญหทัย ปทุมถาวรสกุล และจิรัขญา หาญณรงค์ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความฯคือ ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ ธีระยุทธ สินธุโคตร และจิรวิชญ์ ฉิมมานุกูล ซึ่งติดตามไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ ถูกควบคุมตัวด้วย
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 13 คน ถูกนำตัวมาที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นแล้ว

ปล่อยนักกิจกรรม YPD จัดเสวนา 1 ปีรัฐประหารแล้ว-ไม่ตั้งข้อหา


22 พ.ค. 2558 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม นำตัวกรรมการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (Young People for Social-Democracy Movement,Thailand (YPD.)) และวิทยากรงานเสวนา หัวข้อ "22-22 : สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา" ซึ่ง YPD จัดขึ้นในวาระครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร รวม 11 คน ไปที่ สน.ชนะสงคราม

ธัชพงศ์ แกดำ กรรมการศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ให้สัมภาษณ์ประชาไทเมื่อเวลา 14.13 น. ว่า ล่าสุด ตร.ปล่อยตัวแล้ว หลังควบคุมตัวอยู่ราว 30 นาทีโดยไม่มีการตั้งข้อหาแต่อย่างใด
ธัชพงศ์ระบุว่า เดิม ทางกลุ่มได้ประสานงานกับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เพื่อขอจัดงานเสวนา "22-22 : สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา" ในวาระครบรอบ 1 ปี รัฐประหารในช่วงบ่ายวันนี้ไว้แล้ว ต่อมา เมื่อช่วงสายวันนี้ เจ้าหน้าที่อนุสรณ์สถานฯ โทรแจ้งว่า ทหารขอให้ปิดสำนักงาน พวกตนจึงย้ายมาจัดที่หน้าฟุตบาทแทน ซึ่งหลังทางกลุ่มฯ อ่านแถลงการณ์ "1 ปี รัฐ(ประ)(ท)หารอันอัปยศ" และเริ่มเกริ่นได้เพียงเล็กน้อย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไป สน.ชนะสงคราม โดยแจ้งว่า มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ขัดมาตรา 44 อย่างไรก็ตาม หลังเดินทางไป สน. มีการสอบถามชื่อ ก่อนจะปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือลงบันทึกประจำวัน
ธัชพงศ์ กล่าวยืนยันว่า จะจัดงานต่อไป โดยอาจเป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น เผยแพร่ทางยูทูบ พร้อมระบุว่า จำเป็นต้องพูดให้สังคมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ทั้งเรื่องสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านโดนไล่ที่ และการศึกษาที่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบพร้อมๆ กันหลายแห่ง ทั้งที่ในภาวะปกติแล้วเรื่องแบบนี้จะทำไม่ได้

แถลงการณ์
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย
(Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD.)
1 ปี รัฐ(ประ)(ท)หารอันอัปยศ


หนึ่งปีมาแล้วศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง“คัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อแสดงจุดยืน “ ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยขอเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว เพราะการรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำลายสังคมประชาธิปไตยในระยะยาว ทั้งนี้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)และเพื่อนเครือข่ายนักศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศได้เฝ้าระวังและจับตา ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้อำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ทางศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.) จึงขอประณามพฤติกรรมการใช้อำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนื้

1. แต่งตั้งทหารและบริวารพวกพ้องมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆและกระทำการโดยไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน จากข้อเท็จจริงที่มีการแต่งตั้งข้าราชการทหารจำนวนมากเป็นรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตนแต่งตั้ง มาเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีการตั้งคนในครอบครัวเป็นผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานด้านนิติบัญญัติทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฎิรูปแห่งชาติ ซ้ำร้ายเหล่าผู้ปล้นอำนาจเหล่านี้ยังไม่เคยแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะชนเลยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

2.สภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐประหารออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน จากข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
-กรณีร่างพระราชบัญญัติการประมง ที่ชาวประมงขนาดเล็กเสียผลประโยชน์ เนื่องการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของชาวประมงพื้นบ้านก็น้อยเกินไป
-กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ ทั้งที่เครือข่ายได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้ออกมาคัดค้าน
-กรณีศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ยืนหนังสือพร้อมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่
-กรณีเครือข่ายประกันสังคมเพื่อคนทำงาน 14 องค์กร เรียกร้องชะลอลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม
-กรณีร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะเนื่องจากเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นต้น

3.ลิดรอน เสรีภาพ อิสรภาพ การแสดงออกของประชาชน สื่อมวลชน และ ละเมิดสิทธิชุมชน ปรากฎมีการใช้คำสั่งห้ามจัดการเสวนาทางวิชาการ การพูดในที่สาธารณะมากมาย รวมทั้งมีการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการเรียกประชาชนไปปรับทัศนคติ ดำเนินการจับกุม และดำเนินคดีในศาลทหาร ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557โดยอ้างการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมด้วยคำสั่งที่66/2557 ที่กล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดสิทธิการทำมาหากินของชาวบ้านคนยากคนจนไปทั่วทั้งประเทศ เกิดการเข้าตัดฟันและทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านคนจน มากกว่าจะปราบปรามนายทุนซึ่งเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าตัวจริง

4.แปรรูประบบการศึกษาอย่างน่าไม่อายโดยปรากฎข้อเท็จจริงคือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายท่านที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแปรรูปนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นนั่งผู้พิจารณาอยู่ด้วย

5.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างภายใต้อำนาจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหลายมาตราในร่างที่เป็นข้อกังขา ว่าจะลดทอนอำนาจของประชาชน ยุบรวมองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

การขับเคลื่อนและรักษาระบอบประชาธิปไตย ยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตย สร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยนั้นแน่นอนว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากคณะผู้ปกครองคณะใดคณะหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่านหนึ่ง หากแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน ที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ทุกกลุ่มที่ร่วมกันเข้ามาปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจของตนเอง และใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์

“เราจะสร้างสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เลย หากขาด สิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความยุติธรรม และความสมานฉันท์ ที่สำคัญพวกเราเชื่อมั่นว่า ความสงบสุขของสังคมมิได้เกิดจาก การไม่มีการต่อต้าน หากแต่ความสงบสุขของสังคมเกิดจาก ความเท่าเทียม ความยุติธรรมทั้งทางอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง”
เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.)
22 พฤษภาคม 2558

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลง 1 ปีรัฐประหาร ร้องเร่งคืนอำนาจประชาชน


22 พ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร ระบุตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาการดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลกระทบด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้
1.การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
2. การดำเนินการผลักดันประชาชนออกจากพื้นที่ป่า หลังจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2257 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการเข้าไปจัดทรัพยากรป่าไม้และที่ดินโดยละเลยต่อบริบทพัฒนาการการใช้พื้นที่
3. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจมากกว่ากฎอัยการศึกเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนได้
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจมาตรา 44 ในเรื่องต่างๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงยังรับรองคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำให้ปราศจากความรับผิดใดๆ ทางกฎหมายและไม่สามารถเยียวยาความเสียหายซึ่งอาจขึ้นจากคำสั่งหรือการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ คสช. 1.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2.ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และ 3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว
-
รายละเอียด มีดังนี้
แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร
เผยแพร่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองจากประชาชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นวิธีการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้บริหารประเทศผ่านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 122 ฉบับ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 184 ฉบับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 17 ฉบับ และมีร่างกฎหมายซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว 112 ฉบับ แม้ คสช.จะแต่งตั้ง สนช.ให้ออกกฎหมาย แต่คสช.ยังคงอำนาจนิติบัญญัติและบริหารไว้โดยเด็ดขาด ดังปรากฏตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งขาดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล ปราศจากความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ส่วนอำนาจตุลาการ คสช.ได้ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจดำเนินคดีเหนือพลเรือน ถือเป็นการทำลายระบบนิติรัฐอย่างรุนแรงที่สุด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจหลังรัฐประหารพบว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาการดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติส่งผลกระทบด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

1. การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจในการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพทั้งการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวหรือเชิญตัวบุคคลไปปรับทัศนคติ กว่า 700 คน การห้ามชุมนุมทางการเมืองโดยมีจับกุมผู้ชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกว่า 166 คน การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกกักตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน รวมถึงกำหนดให้การดำเนินคดีพลเรือนในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและคำสั่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติในศาลทหาร

การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และประชาชนบางส่วนเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศเนื่องจากหากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารแล้วนั้นย่อมไม่มีหลักประกันในด้านความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาในการตัดสินคดีและความผิดซึ่งกระทำระหว่างประกาศกฎอัยการศึกยังคงไม่ได้รับสิทธิอุทธรณ์อันเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)

2. การดำเนินการผลักดันประชาชนออกจากพื้นที่ป่า
หลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2257 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และการดำเนินนโยบายตามแผนแม่บท แก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดการณ์ในเบื้องต้นว่ามีมากกว่า 100 ชุมชน และประชาชนหลายพันครัวเรือนได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ โดยเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการเข้าไปจัดทรัพยากรป่าไม้และที่ดินโดยละเลยต่อบริบทพัฒนาการการใช้พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พิพาทมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่รัฐใช้วิธีผ่อนผันให้ชาวบ้านทำกินหรืออยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่สนใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา

3. การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2557(ฉบับชั่วคราว)
แม้ว่าปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกแล้วเจ้าหน้าที่ทหารยังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากกว่ากฎอัยการศึกเนื่องจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนได้ ส่งผลให้คดีความผิดซึ่งต้องขึ้นศาลทหารนั้น สามารถมีเจ้าหน้าที่ทหารในการดำเนินการตั้งแต่จับกุมคุมขัง สอบสวน ส่งฟ้องและพิพากษาคดี ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงเนื่องจากขัดต่อความเป็นอิสระและเป็นกลาง

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะใช้อำนาจมาตรา 44 ในเรื่องต่างๆมากยิ่งขึ้นทั้งเรื่องทางบริหารและนิติบัญญัติ รวมถึงการโยกย้ายข้าราชการ ผู้บริหารในองค์การอิสระ การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษฯลฯ ซึ่งถือเป็นอำนาจเด็ดขาดผ่านการกลั่นกรองจากบุคคลเพียงคนเดียว รวมถึงยังรับรองคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำให้ปราศจากความรับผิดใดๆทางกฎหมายและไม่สามารถเยียวยาความเสียหายซึ่งอาจขึ้นจากคำสั่งหรือการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่านอกจากที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว การปกครองประเทศซึ่งขาดการมีส่วนร่วมและขาดการรับฟังความคิดเห็น โดยการจำกัดเสรีภาพของประชาชน และควบคุมกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชาชนทุกฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
2.ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

'พลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'คสช.' ข้อหา 'กบฏ' ศาลนัดฟังรับฟ้องหรือไม่ 29 พ.ค.


พลเมืองโต้กลับฟ้อง "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" กับพวก คสช.รวม 5 คน ข้อหากบฏตาม ม. 113 จากกรณีทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 29 พ.ค.
 
22 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ กับพวก 15 คน พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เดินทางมายังศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ประกอบด้วยพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย /พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง /พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว / พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ศาลรับคำร้องไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้
 
ทั้งนี้กลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีความพยายามนัดรวมตัวที่รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีลาดพร้าว เพื่อเดินเท้ามายังศาลอาญาในวันนี้ แต่ตำรวจไม่ยินยอมได้เข้าเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ขึ้นรถตู้เดินทางมาส่งที่ศาลอาญาแทน โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวหรือแจ้งข้อหาแต่อย่างใด

ตร.รวบ น.ศ.กว่า 20 คน หลังทำกิจกรรม 1 ปีรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ


ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไป สน.ปทุมวัน 23 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บขณะถูกลากตัวออกไป และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบชกและเตะด้วย
22 พ.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการนัดรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อทำกิจกรรมรำลึก ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” โดยเป็นการนัดรวมกันใส่เสื้อสีขาว เพื่อออกมาแสดงพลังเงียบ ในเวลา 18.00 น.
ในเวลา 16.25 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าหอศิลปฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลัง พร้อมเอารั้วมากั้นพื้นที่ด้านหน้า

16.25 น.
ทั้งนี้ก่อนจะถึงเวลานัดรวมตัว เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอ้างตัวว่าเป็น จนท. ทหารเข้ามาขอเชิญตัว ณัชชชา กองอุดม จากหน้าร้าน Book Moby หอศิลปฯ ไปควบคุมตัวไปที่ สน. ปทุมวัน แต่เธอปฏิเสธการควบคุมตัว เนื่องจากว่าตัวเองยังไม่ได้ก่อเหตุอะไร หลังจากนั้นได้มีชุด เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง มาประกบตัวบริเวณหอศิลปฯชั้น 4  เพื่อขอเข้าพูดคุยด้วย  ณัชชชา ได้เดินเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง ขอความเห็นใจว่าอย่าได้ทำการจับกุมตัว แต่ถ้าจับกุมตัว ก็ขอให้ปล่อยตัวเธอก่อนเวลา19.00น. เนื่องจากว่าเธอได้นัดคนรักทานอาหารในเวลานั้น
ต่อมาในเวลา 18.20 น. ที่หอศิลป์ ณัชชชา กองอุดม นศ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวไปสน. ก่อนหน้านี้ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบแจ้งให้ไปคุยที่โรงพักแต่ณัชชชาปฏิเสธการควบคุมตัวเนื่องจากยังไม่ได้ทำอะไร มีการเจรจาอยู่พักหนึ่ง ณัชชชายังคงปฏิเสธแล้วเดินลงมาชั้นล่าง จากนั้นจึงถูกรวบตัวอุ้มขึ้นรถ เจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำไปส่งที่สถานีตำรวจ

ณัชชชาถูกอุ้มไป สน.ปทุมวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 19.10 น. มีนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรม ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวไปทั้งหมด 9 คน
ทั้งนี้ยังมีนักศึกษานั่งล้อมกันเป็นวงกลม ประมาณ 20 คน  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 100 คน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีก ไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอให้นักศึกษายุติการทำกิจกรรม แต่ทางด้านตัวแทนนักศึกษาได้ยื่นข้อเสนอว่าจะยุติกิจกรรมก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ยอมปล่อยเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้า ทั้งที่ถูกจับกุมบริเวณหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ และนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ถูกจับกุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่นด้วย
ล่าสุด เพจกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) รายงานว่า เกิดสถานการณ์ชุลมุน และมีนักศึกษาถูกรวบตัวไปอีกหลายราย