วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประยุทธ์ ชี้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เหลือแค่ทำให้คนไม่ดีกลายเป็นคนดีให้ได้



Thu, 2015-05-28 21:53


นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ ชี้เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ เหลือแค่ทำให้คนไม่ดีกลายเป็นคนดีให้หมด พร้อมเข้าใจว่าขึ้นอยู่กับพื้นฐานการเลี้ยงดู ด้านการปฏิรูปจะสำเร็จได้คนไทยต้องมีส่วนร่วม

28 พ.ย. 2558 เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า เวลา 12.00 น. ณ บริเวณที่พักผู้สื่อข่าว ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้กล่าวระหว่างรับประทานอาหารร่วมกับผู้สื่อข่าวสายการเมือง ประจำทำเนียบรัฐบาลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี มีความอุดมสมบูรณ์ทุกเรื่อง ยกเว้นคนในประเทศบางคนที่ไม่ดี ต้องทำให้คนไทยที่ไม่ดีกลายเป็นคนดีทั้งหมด แต่ต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของแต่ละคนแตกต่างกันไปทั้งการเลี้ยงดู รวมไปถึงสังคมความเป็นอยู่ และปัจจัยอื่นๆ เมื่อเกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา และถูกนำพาด้วยการเมืองทำให้เกิดเป็นความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องใช้อำนาจในการบริหารประเทศไปในทางที่ดีตามระบอบ ประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพเพื่อทำให้สังคมเกิดความมั่นคง และยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปฏิรูปว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการปฏิรูปมาตลอด ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศซึ่งจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่ กับประชาชน ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้รับฟังและพยายามศึกษาข้อมูลจากทุกช่องทางเพื่อนำมา ใช้กับการทำงานเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ให้ประเทศไทยเกิดความสงบเรียบร้อย นำไปสู่การเลือกตั้ง โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย

ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลที่ผ่านมาคือระงับความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 และบริหารราชการโดยใช้วิธีการตามปกติ ส่วนเรื่องเร่งด่วนก็จะพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเตรียมการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปขั้นที่ 2 ตามโรดแมป เป็นการทำงานระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับรัฐบาล เช่น การปฏิรูประบบราชการ การทำงบประมาณเป็นกลุ่มแผนงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยต้องไม่รอให้รัฐบาลแก้ปัญหาฝ่ายเดียวเพื่อให้การปฏิรูป สำเร็จมากขึ้น

ผบ.ทบ.ยื่นฟ้อง ทักษิณ ข้อหาหมิ่นประมาท พ่วง 112




Thu, 2015-05-28 22:55


ผบ.ทบ. ยื่นฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร ฐานหมิ่นประมาทและ ม.112 ด้านบอร์ดพิจารณาถอดยศชี้ ทักษิณเข้าเงื่อนไขถูก "ถอดยศ" เหตุต้องอาญาหนีคดี เตรียมเสนอ ผบ.ตร. ชี้ ภายใน 2 วัน


28 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลอาญา คดีดำเลขที่ 1824/2558 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฐานความผิดคดีหมิ่นประมาท กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 326 และ 328

สำนักข่าวไทยระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเกี่ยวกับการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ามีองคมนตรีอยู่เบื้องหลัง จนเป็นเหตุให้วานนี้ (27 พ.ค.) กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เบื้องต้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีดังกล่าวจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ตามขั้นตอนแล้วจึงต้องเสนอเรื่องให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา โดยทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้สั่งตั้งพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้สำนวนคดียังไม่ได้ส่งไปยังอัยการสูงสุดเนื่องจากทางอัยการเพิ่งจะได้รับสำนวนมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ชี้ "ทักษิณ" เข้าเงื่อนไขถูก "ถอดยศ" เหตุต้องอาญาหนีคดี เตรียมเสนอ ผบ.ตร. ชี้ ภายใน 2 วัน
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ กล่าวถึงการดำเนินการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ว่า กรณีนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้หนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ผผ.20/351 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำข้อเท็จจริงในประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วหลบหนีไป ตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 5 คดี และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้ออกประกาศสืบจับผู้กระทำความผิด ฉบับที่ 489 /2551 ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 มาประกอบการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และ แนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อไป

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ตามคำสั่ง ตร.ที่ 256/2558 ลงวันที่ 1 พ.ค.2558 โดยมีตนเองเป็นประธาน มี พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้ช่วยผบ.ตร. เป็นรองประธาน มีผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผบช.สง.ก.ตร.) ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล (ผบช.สกพ.) ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ( ผบช.กมค.) หรือ ผู้แทน ผบก.กองวินัย เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในการถอดยศตำรวจ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยถอดยศ มีด้วยกัน 7 ข้อ แต่คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเฉพาะในข้อ 1 (6) ที่ระบุว่า ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น โดยที่ประชุมได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่า

“มีเอกสารยืนยันเป็นที่ประจักษ์จากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญา จึงเข้าข่ายเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในการถอดยศ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการถอดยศ เตรียมนำเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาได้ ภายใน 1-2 วันนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนในรายละเอียด รวมทั้งการรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในการพิจารณาให้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่านี้ การพิจารณาเรื่องนี้เป็นการทำงานในรูปคณะกรรมการ เป็นการทำงานทั้งระบบใหญ่ มีทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพิจารณา ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อย่างรอบคอบ มีการอภิปรายในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะเราเข้าใจว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เราดำเนินการตามขั้นตอน ตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง" ที่ปรึกษา (สบ10) กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการได้มีการนำหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความเห็น ว่าควรให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ มาพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า ได้มีการนำหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกามาพิจารณาด้วย เราดูทุกมิติ

“เพราะการพิจารณาครั้งนี้ค่อนข้างละเอียด เนื่องจากถูกท้วงติงมาจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า การพิจารณาของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมา ยังมีบางประเด็นที่ตกหล่น ไม่ครบถ้วน” พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวและว่า สำหรับกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ อาจเข้าเงื่อนไขในการถอดยศข้ออื่น ซึ่งได้มีการพิจารณาไปส่วนหนึ่งแล้วในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งตนไม่ขอพูดถึง แต่ครั้งนี้เราพิจารณาจากคำท้วงติงของหน่วยงานของรัฐอีกหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบ ทั้งนี้ มีการส่งหนังสือท้วงติงมาตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2557 เราก็ทำมาโดยตลอดไม่ได้เพิ่งมาทำ จึงมีการพิจารณาอย่างครบถ้วนทุกด้าน

เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้สรุปความเห็นว่าควรถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า ผลสรุปของคณะกรรมการรอให้ ผบ.ตร. เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ ตนบอกได้เพียงว่าคณะกรรมการได้สรุปความเห็นไปแล้ว ยืนยันว่าการพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว มีทุกมิติ สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด



อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี

มาตรา 326 บัญญัติว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 บัญญัติว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจาย เสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวร้องด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท

เพื่อไทยยกเลิกประชุมที่ร้อยเอ็ด หลังฝ่ายความมั่นคงคุมเข้ม


พรรคเพื่อไทยยกเลิกประชุมที่ร้อยเอ็ด หลังเดินสายเหนือ-อีสานหลายจังหวัด เหตุฝ่ายความมั่นคงคุมเข้มถึงโรงแรม ยันจัดคุยชี้แจงคดี ไม่ได้ชุมนุมทางการเมือง
28 พ.ค. 2558 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ทีมงานฝ่ายกฎหมาย นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เดินสายทำความเข้าใจแนวทางการชี้แจงของอดีต ส.ส.ที่จะถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ที่จ.เชียงใหม่และจ.อุดรธานีนั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยที่จ.อุดรธานี ได้เชิญทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง เข้ารับฟังด้วยเพื่อยืนยันว่าการชี้แจงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และขอขอบคุณฝ่ายความมั่นคงของจ.อุดรฯ ที่เข้าใจเป็นอย่างดี

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดิมวันนี้ นัดชี้แจงที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่ทราบว่าผู้ว่าฯ มีคำสั่งห้ามดำเนินการดังกล่าวและส่งฝ่ายทหารตำรวจมาเฝ้าระวังที่โรงแรมตลอดเวลา แม้จะประสานทำความเข้าใจ แต่ก็ลำบาก เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เรียบร้อยใดๆ ขึ้น แม้เราจะเห็นว่ามิใช่การชุมนุมทางการเมืองใดๆ และเพื่อความสบายใจของอดีตส.ส.ในพื้นที่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จึงขอเลื่อนการชี้แจงออกไปก่อน โดยจะหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไปในโอกาสหน้า ส่วนการชี้แจงที่จ.อุบลราชธานีในวันที่ 29 พ.ค. จะต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะมีลักษณะคล้ายกับที่จ.ร้อยเอ็ดหรือไม่ ก็ต้องพิจารณากันอีกที
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุม อดีต ส.ส. ที่ จ.ร้อยเอ็ด ยกเลิกจริง แต่นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ได้เชิญทางแกนนำพรรคมาดูโครงการช่วยเหลือคนพิการ โครงการปรับปรุงรถเข็นช่วยเหลือคนพิการที่บ้านพักของนายนิรันดร์ ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ ก็เดินทางมา
โดยมีอดีตส.ส.ในโซนอีสานมาดูด้วยเหมือนกัน จึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องการต่อสู้คดี มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจด้วย ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ มาที่บ้านนายนิรันดร์ พวกตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟังการชี้แจงการต่อสู้คดี ชูเอกสารให้ดูด้วยจนจบ
“พวกผมได้ถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่าฟังแล้วเห็นว่ามีปัญหาหรือไม่ เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีปัญหา เรียบร้อยดี ผมยืนยันเป็นการต่อสู้คดีถอดถอน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าจะยกเลิกนัดชี้แจงที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย” นายสามารถ กล่าว

ป.ป.ช.ฟัน 'สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล' รวยผิดปกติ



Fri, 2015-05-29 14:56
ป.ป.ช.ลงมติเอกฉันท์ สั่งฟันเฮียตือ ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ ร่ำรวยผิดปกติ กรณีสร้างบ้านใน จ.อ่างทอง ช่วงเป็น รมช. และรมว.ศึกษาธิการ ราคากว่า 16 ล้าน และเจ้าตัวไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ เตรียมยื่นศาลฎีกาฯ ยึดบ้านตกเป็นของแผ่นดิน

29 พ.ค. 2558 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในการประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ พรรคชาติไทยพัฒนา จากการไต่สวนพบว่า นายสมศักดิ์ ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ในปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์เป็นรมช.ศึกษาธิการ ซึ่งมีการก่อสร้างต่อเนื่องจนมาแล้วเสร็จปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ ใช้เงินปลูกสร้างประมาณ 16 ล้านบาทเศษ

ทั้งนี้ จากการเรียกนายสมศักดิ์มาชี้แจงถึงที่มาของเงินจำนวนดังกล่าว พบว่าคำชี้แจงฟังไม่ขึ้น เพราะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ชัดเจน โดยนายสมศักดิ์อ้างว่า เป็นเงินของครอบครัว และเงินที่เหลือจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับไม่พบว่ามีการนำเงินจากที่มาดังกล่าว ไปใช้ก่อสร้างบ้าน และนายสมศักดิ์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนการชี้แจงให้ ป.ป.ช.เชื่อถือได้

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า นายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ยึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นของแผ่นดินต่อไป

ล่าสุด นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ได้ทราบข่าวดังกล่าวแล้ว โดยเตรียมจะแถลงข่าวถึงรายละเอียดคำตัดสินของป.ป.ช. ต่อสื่อมวลชน ในวันจันทร์ ที่ 1 มิ.ย. นี้ ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ในเบื้องต้นจะเกี่ยวกับมติชี้มูลของป.ป.ช.ต่อกรณีดังกล่าวที่ไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะดำเนินการตามเสียงข้างมาก

มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายสมศักดิ์ ได้แจ้งขอยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว โดยระบุ ในฐานะที่เป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้ความเคารพในเสียงของป.ป.ช.ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคดีดังกล่าว แต่เรื่องนี้ยังต้องนำไปสู่กระบวนการทางศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องจึงยังไม่จบ อีกทั้งในวันที่ 1 มิ.ย.เป็นวันวิสาขบูชา จึงยกเลิกการแถลงข่าว

'สมชาย' ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาคดี 'สลายการชุมนุมปี 51'


Fri, 2015-05-29 14:45

ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง "สมชาย-พล.อ.ชวลิต-พล.ต.อ.พัชรวาท-พล.ต.ท.สุชาต" สั่งสลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 ทำให้มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก จำเลยทั้ง 4 ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา จะต่อสู้คดีตามความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานของโจกท์-จำเลย 18 ส.ค. 58


29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เวลา 09.30 น. วันนี้ (29 พ.ค.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมายังศาลฎีกาฯ ตามที่ศาลได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นายสมชาย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 คน โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 4 ฟัง ซึ่งจำเลยทั้ง 4 แถลงต่อศาลให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 เวลา 10.00 น. และให้จำเลยทั้ง 4 ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ส่วนที่นายสมชาย และ พล.อ.ชวลิต ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยต้องมาศาลทุกครั้ง หากไม่สามารถเดินทางมาได้ ให้ยื่นคำร้องเป็นครั้งคราวไป และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 4 เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบถามจำนวนพยานของโจทย์และจำเลย ป.ป.ช.เตรียมพยานได้ 50 ปาก นายสมชาย เตรียมพยานไว้ 60 ปาก พล.อ.ชวลิต เตรียมพยานไว้ 30 ปาก พล.ต.ท.สุชาติ เตรียมพยานไว้ 180 ปาก ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ยังไม่ได้เตรียมพยาน เนื่องจากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งทนายสู้คดีดังกล่าว

นายสมชาย เปิดเผยว่า เบื้องต้นเตรียมพยานไว้ 60 ปาก ส่วนจะเป็นบุคคลใดบ้าง ทนายความเป็นผู้พิจารณา และจะต่อสู้คดีตามความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และช่วงนี้ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมพูดติดตลกว่าไม่มีค่าเครื่องบิน

ส่วน พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจในการต่อสู้คดี ซึ่งได้ให้การตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เตรียมพยานไว้ 180 ปาก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ประจำตามจุดต่าง ๆ ในวันที่มีการสลายการชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสอบคำให้การแล้วเสร็จ จำเลยทั้ง 4 คนได้เดินทางกลับทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวแล้ว ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยตีราคาประกันสำหรับนายสมชาย 9,500,000 บาท , พล.อ.ชวลิต 8 ล้านบาท , พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ตีราคาประกันคนละ 6 ล้านบาท

ทั้งนี้การเดินทางมาศาลฎีกาฯ ของจำเลยทั้ง 4 คนในวันนี้ (29 พ.ค.) ไม่พบว่ามีกลุ่มใด ๆ เดินทางมาให้กำลังใจ มีเพียงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยานายสมชายและบุตร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะ แต่เจ้าหน้าที่ศาลยังคงดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่

ศาลยกคำร้อง 'พลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'ประยุทธ์-คสช.' ข้อหากบฏ


29 พ.ค. 2558 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ กับพวก 15 คน พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เดินทางมายังศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ประกอบด้วย
 
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 
ล่าสุดเมื่อช่วงสายวันนี้ (29 พ.ค.) ศาลได้พิจารณาคดีดำที่ อ. 1805/58 และคดีแดงที่ อ.1760/58 ตามที่ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องไว้แล้วนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักกฎหมายมาตรา 48 ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง

วอนประชาชนเสียสละความสุข เพิ่มเวลารายการ 'เดินหน้าประเทศไทย'


"สรรเสริญ แก้วกำเนิด" รองโฆษกรัฐบาลวอนประชาชนเห็นใจ เพิ่มเวลาออกอากาศรายการ 'เดินหน้าประเทศไทย' จาก 15 นาที เป็น 30 นาทีทุกวัน เหตุบ้านเมืองไม่ปกติ ต้องเสียสละความสุขกันบ้าง
 
29 พ.ค. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีแนวคิดเสนอเพิ่มเวลารายการ “เดินหน้าประเทศไทย”ที่ออกอากาศทุกวัน ในช่วงเวลา 18.00 น. จาก 15 นาที เป็น 30 นาที ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าที่ผ่านมาการสื่อสารข้อมูลในเรื่องสำคัญเพียง 15 นาที ยังไม่สามารถทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ จึงต้องลงพื้นที่เพื่อดูความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเข้าใจดีว่าสังคมต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารด้านอื่นด้วย อาทิ รายการบันเทิง แต่ต้องทำความเข้าใจว่าในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้าปฏิรูป จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่ารัฐบาลได้ดำเนินการใดแล้วบ้าง มีปัญหาอะไร รวมถึงขอความร่วมมือจากสังคมเพื่อให้สังคมเกิดการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศในวันข้างหน้า การเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที คงไม่มากนัก ต้องเสียสละเรื่องความสุขบ้าง 
 
“หากคิดเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว อาจมองว่าเป็นการเพิ่มเวลาเยอะไป ทำให้ต้องดันเวลาออกไป ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจด้วย อาจเป็นไปได้ที่ต้องไปพูดคุยต่อรองกัน แต่ขั้นต้นได้เสนอขอเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว และว่าสำหรับรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" จะมีในทุกวันศุกร์เช่นเดิม แต่จะปรับรูปแบบให้รองนายกรัฐมนตรี 5 คน ไปพูดในรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" แทน โดยวันจันทร์ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง วันพุธ เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ วันพฤหัสบดี เป็นรองนายกฯ ด้านสังคม วันเสาร์ เป็นรองนายกฯ ด้านต่างประเทศ วันอาทิตย์ เป็นรองนายกฯ ด้านกฎหมาย ขณะที่วันอังคารเปิดพื้นที่ให้ทีมโฆษกรัฐบาล เรื่องผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่นั้น ต้องดูฝ่ายที่ประสานติดต่อกับสถานีโทรทัศน์ แต่อยากให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มติเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี56-57 รายละ 4 แสน



Thu, 2015-05-28 01:32


คณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีมติเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี56-57 รายละ 4 แสน ‘วิษณุ’ ยันจะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา

ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงิน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2547 – 2553 และระหว่างปี 2556 – 2557 โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ภายหลังการประชุม วิษณุ กล่าวว่า ตอนแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลระบุว่า จะพยายามสร้างความสามัคคีปรองดอง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมการต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาคนเหล่านี้ โดยการเยียวยา จะแยกเป็น 2 ช่วงเวลา แต่จำเป็นต้องนำช่วงเวลา ระหว่างปี 2556 - 2557 ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะปลอดภัยกว่า ไม่เหมือนช่วงระหว่างปี 2547 – 2553 ที่การพิจารณาไปทางใดทางหนึ่งอาจไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยนัก เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ ชี้ว่านายกฯ และครม.ขณะนั้นมีความผิด ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ จะไปพิจารณาเพื่อทำผิดซ้ำอีกคงไม่ถูก ต้องหยุดเอาไว้ก่อน เพื่อรอให้มีความชัดเจนจาก ป.ป.ช.ก่อน

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงระหว่างปี 2556 – 2557 ได้นำบทเรียนจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้วางหลักเอาไว้มาพิจารณา และเอาหลักเกณฑ์และกฎหมายที่มีมาเป็นฐานรองรับ ประกอบด้วย กฎหมาย 4 ฉบับ และ 1 หลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และพ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2543 รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจ่ายมาแล้วมาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มโน หรือจินตนาการไปว่า เอาไปเลย 7 ล้านบาท สำหรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ในกรณีเสียชีวิตจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 4 แสนบาท กรณีเสียชีวิตและมีบุตรต้องมีการสงเคราะห์บุตรด้วย กรณีได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหล่านี้ ต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน คาดว่าจะใช้วงเงินอยู่ที่หลักร้อยล้านบาท ซึ่งเตรียมจะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

วิษณุ ยังกล่าวถึง กระแสข่าวจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติ ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการประชุม ครม.วันที่ 29 พ.ค. ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ คงต้องถามเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 57 แต่จะดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนนั้น ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จ จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา หรือจะเป็นการประชุม ร่วมคสช. และ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก็ได้ โดยการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะบรรจุการขยายระยะเวลา ให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อีก 30 วัน จากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของส่วนต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลให้การลงมติรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สปช. ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งไม่เกิน 30 วัน จากเดิมที่ สปช. จะโหวตลงมติในวันที่ 6 ส.ค.

“ยืนยันว่า การเยียวยากลุ่มปี 2556-2557 จะไม่ใช้หลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา คาดว่า การเยียวยาในครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในหลักร้อยล้านบาท เพราะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่มาก” วิษณุ กล่าว

ส่วนผู้เสียหายทางการเมืองในปี 2547-2553 นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเยียวยาฯ มีมติยังไม่นำกลุ่มผู้เสียหายชุดนี้มาพิจารณา เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบหลักเกณฑ์การเยียวยา ซึ่งบางรายที่ได้รับการเยียวยาไปแล้ว และพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงรอให้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน

คุก 2 ปี 6 แกนนำพันธมิตร ‘บุกทำเนียบ’ ปี 51 ทนายจำเลยยันสู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์ ศาลให้ประกัน 2 แสนบาท


Thu, 2015-05-28 14:47


"แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง" ศาลสั่งจำคุก 2 ปี สนธิ, จำลอง, พิภพ, สมเกียรติ, สมศักดิ์ และสุริยะใส คดีบุกทำเนียบรัฐบาลปี 2551 ทนายจำเลยยันสู้คดีต่อ ศาลให้ประกัน 2 แสนบาท ไร้เงื่อนไข

28 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล พิภพ ธงไชย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา 6 แกนนำ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมายังศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษา คดีที่อัยการยื่นฟ้องทั้ง 6 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปและร่วมกันทำให้ให้เสียทรัพย์ กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาล เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้ง 6 เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร ชักชวนให้ผู้ชุมนุม กดดันให้ สมัคร สุนทรเวช รัฐบาลในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการวางแผนดาวกระจาย ให้ผู้ชุมนุมบุกรุกไปยังสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้ชุมนุมได้ปีนรั้ว ตัดโซ่คล้องประตู ผลักดันแผงเหล็ก บุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัย และชุมนุม ด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2551

ซึ่งพยานโจทก์เบิกความอีกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในทำเนียบรัฐบาล อาทิ สนามหญ้าระบบสปริงเกอร์ ระบบกล้องวงจรปิด และทรัพย์สินอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ซึ่งพยานโจทก์ เป็นเจ้าพนักงาน เชื่อว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความตามความจริง

และแม้จำเลยทั้ง 6 จะต่อสู้ ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นการบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มผู้ชุมนุม และได้เข้าไปห้ามปรามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมก่อความเสียหายภายในทำเนียบรัฐบาล ศาลเห็นว่า เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเหตุรับฟัง ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ศาลเห็นว่า การบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

แม้จำเลยจะมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ก็มีความผิดตามฟ้อง พิพากษา จำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 3 ปี แต่การนำสืบเป็นประโยชน์ ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 2 ปี

ภายหลัง สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความเปิดเผยว่า จะใช้หลักทรัพย์ เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ วงเงินคนละ 2 แสนบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว และเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท

สำหรับคดีกลุ่มพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล สมศักดิ์ โกศัยสุข และสุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตร ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้ให้เสียทรัพย์กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2551 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 91 , 358 , 362 และ 365 คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ

‘อำนวย ปะติเส’ เชื่อ โค่นยางพาราไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ทำราคายางดีขึ้น



Thu, 2015-05-28 18:38


รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ ระบุราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากผลงานเร่งโค่นยางกว่า 1 ล้านไร่ คาดผลผลิตทั้งปีลดลง 5 แสนตัน พร้อมเตรียมถกมาตราการรับมือรอบ 57/58 ดันบัฟเฟอร์ฟันด์ ส่วนข้อเสนอเกษตรกรเรื่องชดเชยส่วนต่าง กระทรวงไม่เห็นด้วย

28 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันของไทยที่ปรับขึ้นถึง กก.ละ 60 บาทในปัจจุบัน ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ยางที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากมาตรกรเร่งโค่นยางในพื้นที่ป่า เขตอุทยาน รวมทั้งการโค่นยางในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ส.ก.ย.) 1 ล้านไร่ แยกเป็น เขตป่าสงวนอุทยาน รวม 6 แสนไร่ ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานได้ใช้มาตรการเร่งรัดกลุ่มนายทุนให้ดำเนินการอย่างรีบด่วน ในขณะที่ ส.ก.ย. คาดว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้นคาดว่าในปี 2558/59 นี้ ผลผลิตของไทยจะลดลงเหลือ 3.9 ล้านตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 4.4 ล้านตัน นอกจากนี้ยังคาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะไม่ปรับตัวลดลงอีกต่อไป ปริมาณยางสังเคราะห์จะลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ราคายางโดยปกติจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอยู่แล้ว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตตาม ดังนั้นแนวโน้มยางพารายังดี

"ราคายางที่ต่ำมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิต อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยไปกว่าไทย ซึ่งประเทศเหล่านี้ เดิมไม่ค่อยจะตื่นเต้นกับรายางที่ตกต่ำมาก โดยอินโดนีเซีย ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะปลูกในเขตป่าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ มาเลเซียเป็นประเทศที่จัดการกับปัญหาได้ดีเพราะมีพื้นที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ แต่การตกต่ำของราคาครั้งนี้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเช่นเดียวกับเวียดนามที่แม้ผลผลิตจะออกสู่ตลาดไม่มาก ก็หันมาที่จะเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ จากเดิมที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่มทุกครั้ง แม้แต่จีนที่ปลูกได้แต่กรีดได้น้อยก็ต้องการเข้ามาแก้ปัญหานี้" อำนวย กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะลดพื้นที่ปลูกไปมาก แต่การขยายพื้นที่ปลูกของประเทศเพื่อนบ้านยังมีอยู่ ดังนั้นความเสี่ยงของปัญหาราคาตกต่ำยังคงจะเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยางในประเทศไทยได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องใช้มาตรการลดการพึ่งพาการส่งออก แล้วหันมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานว่ามีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตัน จากเดิมที่จะใช้เพียง 300,000 ตัน นั้นคิดว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากการสำรวจตามต่างจังหวัดมีการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสำรวจอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ในหมวดว่าด้วยการแปรรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชุมชนจาก พรบ.เดิมจะต้องขอตั้งงบประมาณในส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการ และห้ามไม่ให้มีการประกวดราคารับจ้างข้ามถิ่น ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมน้อย ผลงานจึงไม่เกิดขึ้น ตาม พรบ.ใหม่นี้ จะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วม วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศได้มากขึ้น

ส่วนการเตรียมรับมือผลผลิตยางปี 57/58 นั้น ในวันที่ 29 พ.ค. จะหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายสภาเกษตรกรฯนั้นต้องการให้รัฐบาลเข้ามาชดเชยส่วนต่างของราคายางในตลาดกับราคาที่กำหนดโดยต้องการให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อที่กก.ละ70บาทแทน แนวทางเดิมที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้คณะกรรมนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่จะใช้วงเงินที่มีอยู่12,000 ล้านบาทในโครงการมูลภัณฑ์กันชน หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ต่อ เนื่องจากจีนมีข้อตกลงใหม่ ที่จะซื้อยางจากไทยถึง 2 แสนตัน โดยพร้อมจะบวกราคาเพิ่มสูงกว่าราคาตลาดทำให้โครงการบัฟเฟอร์ฟันด์จะมีรายได้ จากตรงนี้เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้มาตรการชดเชยส่วนต่างตามที่สภาเกษตรกรเสนอนั้น ต้องใช้งบประมาณถึง 39,000 ล้านบาท ถือว่าสูงมากและรัฐบาลไม่มีงบดำเนินการแล้ว ข้อเสนอของสภาเกษตรกรฯครั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรจึงไม่เห็นด้วย แต่พร้อมจะหารือเพื่อรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ

สำหรับราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 57.89 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันแตะระดับ 60.60 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้น 0.62 บาท/กก. และ 0.05 บาท/กก. โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปี ประกอบกับอุปทานยางยังคงออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและนักลงทุนเทขายทำกำไร เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจบางรายการออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ยังเป็นปัจจัยกดดันราคายางในในระดับหนึ่ง

สนช. เสนอแก้ไขร่าง รธน. ชี้ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด แต่ลดอำนาจเสนอกฎหมาย ยันเห็นด้วยกับนายกฯ คนนอก




Thu, 2015-05-28 20:55


รองประธาน สนช. เผย คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมี 24 ประเด็น ด้านเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ระบุ สนช. เห็นด้วยที่จะมีนายกรัฐมนตรี คนนอกแก้วิกฤตบ้านเมือง แต่ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ว. ให้ทำหน้าที่แทน ส.ส. ช่วงมีนายกรัฐมนตรีรักษาการ และ ส.ว. ควรสรรหาทั้งหมด

28 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมอบรายงานรวบรวมความความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสมาชิก สนช. ซึ่งมีทั้งหมด 24 ประเด็น โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากสัดส่วนของ สนช. เป็นผู้รับมอบ

ขณะที่สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เปิดเผยเพิ่มเติม ว่า จำนวน 24 ประเด็นที่ สนช. ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีหลายประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เช่น ประเด็นเรื่องการกำหนดว่า “พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช. มีความเห็นให้ตัดคำออก เพราะมีลักษณะเชิงอุดมคติ และให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทน ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น สนช. เห็นด้วย แต่ให้ระบุความชัดเจนมากขึ้น เช่น ในกรณีที่ห้วงเวลานั้นไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการที่เกิดเหตุการณ์ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรักษาการ ได้ และเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออก ซึ่งเกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรียุบสภา ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งได้ และในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติใดต่อสภา หากสมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้เข้าชื่อร่วมกันขอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลง มติ ภายใน 48 ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านการพิจารณาและความเห็นชอบจากสภาผู้แทน ราษฎร พร้อมว่า กรณีที่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้เพิ่มขั้นตอนหรือเงื่อนไขการสรรหาจากกลุ่มอาชีพให้ชัดเจน เพิ่มคณะกรรมการสรรหาให้มากขึ้น และควรให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรแต่ละวิชาชีพเข้ามาอีกด้วย และตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ และการถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบ

สมชาย ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของบทเฉพาะกาลเสนอ สนช. เห็นว่าควรบัญญัติเงื่อนไขห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญนี้ ในระยะเวลา 5 ปี ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้บังคับแล้ว โดยนำแนวคิดจากบทเฉพาะของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ และเสนอเห็นควรบัญญัติให้ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 และยังไม่ครบวาระ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้ โดยไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ครอบคลุมถึง ส.ว. ที่เข้ารับหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี2551-2557 โดยเทียบเคียงรัฐธรรมนูญปี2550

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คุยกับ ‘แมน-ตาม’ ไล่ทักษิณตั้งแต่ ม.4 ไปหน้าหอศิลป์ฯแค่ 15 นาที ถูกหาว่ารับเงินทักษิณมาป่วน

สัมภาษณ์ ‘แมน-ตาม’ ผู้ถูกรวบกิจกรรมรำลึก1ปีรัฐประหาร จากที่เคยไล่ทักษิณ ประท้วงสมัคร ค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนล่าสุดถูกหาว่า ‘รับเงินทักษิณมาป่วนคสช.’ ชวนทำความรู้จักตัวตนกิจกรรมที่เขาทำและค่ำคืนวันถูกจับ


         หลังจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นักศึกษาและประชาชน ร่วมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสลายกิจกรรม พร้อมควบคุมตัวกว่า 30 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ข้ามคืน (อ่านรายละเอียด) รวมทั้งที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ออกมาจัดกิจกรรม “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภอ.เมืองขอนแก่น พร้อมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน(อ่านรายละเอียด) นอกจากนี้ในช่วงสายของวันเดียวกันการจัดกิจกรรมเสวนา 1 ปี รัฐประหารของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติ พร้อมเชิญตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ตั้งข้อหา (อ่านรายละเอียด)

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กก็มีการนำรูปของนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมาเผยแพร่ พร้อมระบุชื่อรวมทั้งเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น เพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ นอกจากนี้เพจสนับสนุนรัฐบาลทหารหลายเพจ เช่น ทหารปฏิรูปประเทศ เพจรวมมิตรการเมือง ฯลฯ ยังมีการกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมว่าบุคคลเหล่านั้นรับจ้างมาป่วน เป็นควายแดง รับเงินทักษิณ รวมไปถึงการตัดต่อภาพข้อความที่บุคคลเหล่านั้นถือในกิจกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น 

ภาพที่  ธิวัชร์ ดําแก้ว หรือ ‘ตาม’  ถูกเพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’  เสียบประจาน พร้อม url เฟซบุ๊กส่วนตัว


ปกรณ์ อารีกุล หรือ ‘แมน’ ถูกเพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’  เสียบประจาน พร้อม url เฟซบุ๊กส่วนตัว
แต่ในความเป็นจริงผู้ชุมนุมในวันนั้นหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนผู้ที่เรียนจบแล้ว รวมทั้งไม่ได้มีกลุ่มความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีความหลากหลายอยู่มาก ประชาไทจึงชวนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น โดยเริ่มจาก ปกรณ์ อารีกุล หรือ ‘แมน’ ผู้ที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งประเด็นการศึกษาที่เป็นธรรม ประเด็นการปฏิรูปที่ดิน ประเด็นแรงงาน ฯลฯ และ ธิวัชร์ ดําแก้ว หรือ ‘ตาม’ กรรมการกลุ่ม YPD สองเพื่อนสนิทวัยเบญจเพส ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว โดย ‘แมน’ ออกมาทำกิจกรรมทางสังคมเต็มตัว ขณะที่ ‘ตาม’ เรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง

‘แมน’ และ ‘ตาม’ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2551 โดยแมน อยู่มหาวิทยาลัยบูรพา ขณะที่ ‘ตาม’ เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2551 ทั้งคู่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กินนอนอยู่ในทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากนั้นได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มแรงงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง กลุ่มชาวบ้านเรื่องที่ดินทำกิน และกลุ่มนักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

สำหรับการเมืองก่อนรัฐประหารปี 2557 นั้น ทั้งคู่เคยร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ขณะที่ ‘แมน’ เห็นว่าควรมีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 และควรหยุดการเคลื่อนไหวที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา แต่ ‘ตาม’ เห็นว่ารัฐบาลขณะนั้นควรมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่มากกว่าการยุบสภา จึงเคลื่อนไหวต่อมาอีก อย่างไรก็ตามทั้งคู่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเหมือนกัน

จากนี้ประชาไทจะชวนมาทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของทั้งคู่ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของทั้งคู่ เข้าใจเหตุที่พวกเขาร่วมกิจกรรมดังกล่าว บรรยากาศก่อนเจ้าหน้าที่เข้าสลายกิจกรรม และกระบวนการกักตัวที่ สน.ปทุมวัน รวมทั้งภาพฝันของสังคมในอุดมคติของเขา และมุมมองต่อขบวนการนักศึกษา
00000
ตาม (ซ้าย) แมน (ขวา)

“เด็กใต้ก็โตมากับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ” แมน กล่าว

ตัวตนและการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมก่อนหน้านี้ทั้งคู่คืออะไร?

แมน : ผมกับตามรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา พอมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรม

ตาม : ตอนแรกจะเรียนมหาวิทยาลัยบูรพาทั้งคู่ โดยไม่คิดว่าจะติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมจะไปเปิดร้านกาแฟกับแมนที่ม.บูรพา แต่เมื่อติดธรรมศาสตร์ จึงเลือกเรียนที่นี่ แมนจะเข้าทำกิจกรรมก่อนผม เพราะตอนเข้าธรรมศาสตร์เทอมแรกยังอกหักกับมหาวิทยาลัยนี้อยู่ จากที่รู้สึกว่าไม่มีใครสนใจทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างที่คิดไว้เลย เพราะมีภาพฝันว่าเข้ามาจะได้ทำกิจกรรมทางการเมือง จึงไปปลูกผักเลี้ยงหมู ทำปุ๋ยอยู่ที่โรงขยะหลังมหาวิทยาลัย ฝั่งสะพานสูง จนแมนได้ไปทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แมน : ผมเรียน พัฒนาชุมชน ม.บูรพา ซึ่งเป็นภาควิชาที่ค่อนข้างให้เราออกไปเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน เมื่อมีกิจกรรมที่องค์กรเอ็นจีโอจัด อาจารย์ก็ชวนไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้น เมื่อไปร่วมก็ได้รู้จักกับบรรดานักกิจกรรม จึงได้ชวน ‘ตาม’ ไปร่วมด้วย ในปีที่ผมเข้ามาเรียนปี 1 นั้น เป็นปี 2551 ที่พันธมิตรฯ กำลังก่อหวอดเตรียมเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลสมัคร ขณะนั้น
ตาม : วันที่เราจะขึ้นมาเรียนเปิดเทอมปี 1 เป็นวันที่เขาเริ่มรวมตัวที่สนามหลวง เพื่อเคลื่อนขบวนมาสะพานสะพานมัฆวานฯ

แมน : ด้วยความที่เราเป็นเด็กใต้ก็โตมากับนายหัวชวน กับคำว่า “ลูกแม่ถ้วน ชวนหลีกภัย” (พูดพร้อมกัน) มันเป็นสิ่งแวดล้อมที่โตมา แต่ด้วยความสนใจทางการเมืองตั้งแต่เด็ก ทำให้เราอาจจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมค่ายอาสาต่างๆ ทำให้เราถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลาตั้งแต่มัธยม คือมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปัตย์ต้องถูกเสมอ

ตาม : หลักกว่านั้นคือตอน ม.3 ผม ไปรื้อบ้านตัวเองเจอหนังสือของ สุพจน์ ด่านตระกูล จึงได้เอามาอ่านกับแมน จำได้เป็นหนังสือ เรื่อง POTATO  เรื่องเหตุเกิดที่ศิริราช พอเราเริ่มอ่านแล้วทำไมเริ่มคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ

แมน : จังหวะช่วง ม.ปลาย ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือ เรียนรู้ความคิดประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่กระแสหลัก กระแสที่ตรวจสอบกระแสหลัก ส่งผลให้มีการวิพากษ์ภายในตัวเองทั้งคู่
ตาม : ผมก็ไปเจอหนังสือที่บ้าน จากการที่พ่อเคยเป็นนักกิจกรรมรุ่นหลังปี 19 ที่บ้านตอนอ่านสมัย ม.5 คือ “วิวัฒนาการของสังคม” ของ เดชา รัตตโยธิน

แมน : เมื่อมาเรียนก็ทำให้มีความคาดหวังบวกกับพื้นฐานทัศนคติ ความคิดทางการเมืองที่คิดว่ามันมีการเห็นต่างได้ หรือว่าความคิดแบบต่างๆ สำหรับคนที่หลากหลายนั้นมันมีอยู่จริง และไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิดที่คนคิดไม่เหมือนกัน
ตาม : แต่เราก็มาเจอกับสถานการณ์ที่คิดว่ารุ่นอื่นจะไม่เจอเหมือนรุ่นผม คือรุ่นผมปี 51 ที่เกิดบาดแผลจากปี 49 มาแล้ว ที่นักกิจกรรมทางสังคมแตกความคิดกันหลากหลายความคิด ทำให้เราเติบโตจากการได้ฟังคนทุกด้านทะเราะกัน จึงรู้สึกว่ารุ่นนี้มันเป็นอะไรที่เติบโตมากับความขัดแย้งหนักๆ เพราะปี 1 ก็ปี 51 พอปี 2 ก็ปี 52 แล้ว พอปี 3 หนักเข้าไปอีกเพราะปี 53

ตอนปี 51 ทำไมถึงได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ?

ตาม : สำหรับผมเองก็คือตั้งแต่ ม.4 ซึ่งตอนนั้นปี 48 และตอนนั้น สนธิ ลิ้มทองกุล ไปพูดที่ มอ.หาดใหญ่ ผมเลิกเรียนเสร็จก็ได้ฟังสนธิ พูดที่นั้น จึงทำให้ติดตามสมัยนั้นที่มีการไล่ทักษิณ บวกกับส่วนตัวที่ได้ศึกษาจึงไม่ชอบวิธีการบริหารแบบทักษิณ หรือต่อๆ ก็ไม่ได้นึกจะชอบ เหมือนที่โดนกล่าวหา(รับเงินทักษิณในโซเชียลเน็ตเวิร์ก)

แสดงว่ามองเห็นปัญหาการบริหารในแบบรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนปี 49 และมาถึงปี 51 ที่เป็นรัฐบาลสมัคร ด้วยใช่ไหม?

ตาม : ใช่ครับ ตอน ม.5 ซึ่งมีการรัฐประหาร 49 ซึ่งคนรุ่นพวกเราที่เกิดปี 2533 นั้น ก็จะทัน แต่ยังไม่รู้เรื่องต่อเหตุการณ์ปี 35 ยังไม่รู้ประสีประสาว่ารัฐประหารคืออะไร เราก็เริ่มศึกษา ตอนนั้นรู้สึกว่าเริ่มได้รับความคิดที่เป็นความใหม่ เหมือนกับไม่ใช่กระแสเดียวแล้ว ในตอนปี 49 ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จักพี่ๆที่เป็นนักกิจกรรม ทำให้ได้แค่อาจจากหนังสือ แล้วรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือ “ฟ้าเดียวกัน” เรารู้ว่าเขาด่าทักษิณมาโดยตลอด เขาวิจารณ์นโยบาย แต่ภายหลังมีการต้านรัฐประหาร เราจึงได้เรียนรู้ว่ามันมีอะไรที่อ่านยากๆ ที่เรายังไม่เข้าใจอีก

“เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น” แมน กล่าว


ภาพแมนและตามขณะร่วมชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับกลุ่มพัธมิตรฯ ปี 51

หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มทีการทำกิจกรรมทางสังคม กับกลุ่มนักศึกษา แรงงาน และชาวบ้านได้อย่างไร?

แมน : พอเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่ หนึ่ง เราก็ไม่ชอบทักษิณ เราไม่เคยชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ใช่ในความรู้สึกแบบที่คนเกลียดทักษิณว่าเลว แต่เรารู้สึกว่าวิธีการบริหารแบบทักษิณมันไม่ได้ เมื่อเกิดพันธมิตรฯ วันที่ยึดทำเนียบ ผมกับตาม ก็อยู่ตรงนั้น ซึ่งขณะที่ไปถึงเขายึดกันเสร็จแล้ว แต่การยึดทำเนียบ ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนเป็นการยึดทั้งรัฐบาล คือตอนนี้ถ้านักศึกษายึดทั้งรัฐบาลได้มันคงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เมื่อไปและเข้าไปอยู่ในม็อบก็ด้วยความรู้สึกที่อยากเห็นของจริง อยากไปดูว่ามันเป็นอย่างไร ไปอยู่หลังจาก 7 ตุลา แต่เหตุการณ์ 7 ตุลา นั้น เราไม่ได้อยู่ เพราะเป็นช่วงสอบ

ตาม : วันที่ 7 ตุลา 51 นั้นเป็นวันสุดท้ายของการสอบ และเมื่อสอบเสร็จเราก็ย้ายไปกินนอนอยู่ที่ทำเนียบ 1 เดือนเต็มๆ สำหรับผม แต่แมนจะมากกว่า

แมน : เพราะว่าหลังจากนั้นผมก็ดรอปเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าดรอปเพราะพันธมิตรฯ แต่ด้วยเหตุผลอย่าอื่น ประเด็นคือผมกับตามก็คุยกันว่า วันแรกที่พันธมิตรยึดสุวรรณภูมินั้นเรารู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นด้วย และรู้สึกว่าตอนนั้นเรื่องที่เราอยากรู้มันเหมือนกับรู้หมดแล้ว จึงคิดว่าออกดีกว่า เป็นความรู้สึกเบื่อม็อบ ยังจำวันที่ได้เลยว่าเป็นวันที่ 28 พ.ย. เพราะว่าหลังจากนั้นก็มีการประกาศการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ซึ่งประกาศครั้งสุดท้ายมาหลายครั้งแล้ว

“ความรู้สึกที่ผมออกมาจากม็อบตอนนั้นเพราะต้องไปเรียน บวกกับมันเกิดคำถามว่าอะไรคือชัยชนะของม็อบ สมติว่าถ้าผมโตขึ้นจากม็อบๆหนึ่งแล้วจุดไหนคือทางลงหรือข้อเรียกร้องหรืออะไรที่ดีต่อสังคม จึงเริ่มตั้งคำถาม” ตาม กล่าว

ภาพแมนและตาม (คนที่ 2-3จากขวา) ขณะร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจน 25 พค. 2555 

แล้วกิจกรรมทางสังคมที่เราไปร่วมมามีอะไรบ้าง?

ตาม : หลังจากปี 1 ที่เข้าไปอยู่ที่ทำเนียบ หลังจากนั้นถึงได้มาสัมผัสกับภาคประชาชนจริงๆ

แมน : ได้รู้จักกับผู้ที่ร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ฯ จึงรู้ว่ามีคนที่ทำงาน

ตาม : รวมทั้งชุดความเชื่อชุดหนึ่งที่เราไม่ต้องสังกัดกลุ่มความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่เขามองอะไรที่เป็นหลัก เช่น เรื่องการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน เขามองเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องความไม่เท่าเทียม ผมก็เลยขยับไปเรียนรู้อีกขั้น

แมน : ผมรู้สึกอกหักจากปี 51 จากพันธมิตร จึงพยายามหาที่ที่ทางที่หากเราอยากทำให้สังคมดีขึ้น เราต้องใช้ชีวิตแบบไหน ทำอะไรแบบไหน ดังนั้นการได้เจอกับพี่ๆ ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งข้อดีคือมันมีทั้งเอ็นจีโอที่เป็นฝั่งเหลืองฝั่งแดง ผมกับตามได้ไปแจกใบปลิวร่วมกับคนงานตั้งแต่ปี 51 ที่รังสิต ในขณะเดียวกันรุ่งขึ้นก็มีงานปีใหม่ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เราก็ไปร่วมด้วย

คือเอาเป็นประเด็นร่วม แต่ไม่ว่ากลุ่มแรงงานจะสังกัดฝั่งการเมืองไหน แต่ว่ามีเป้าหมายคือให้สังคมดีขึ้น เมื่อสักครู่แมนบอกว่า “อยากให้สังคมดีขึ้น” สิ่งที่เรียกว่าสังคมดีขึ้นของทั้ง 2 คนนี้เป็นอย่างไร?

ตาม : อันดับแรกตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่ชอบหนีโรงเรียน ชอบไปส่องพระ เมื่อได้เห็นโลกกลางคืนเรารู้สึกว่ามันมีอะไรแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็น เช่น คนนอนอยู่ตามสะพานลอย หรือมีแม้กระทั่งเด็กมาขอเงินไปดมกาว ซึ่งหากผมอยู่บ้านพ่อแม่คงไม่ปล่อยให้ผมไปเจออะไรแบบนั้น ถ้าผมไม่หนีออกมา และเราตั้งคำถามว่าแล้วสังคมที่ดีคืออะไร เริ่มทำความเข้าใจว่าจริงๆ สิทธิทางการเมืองเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจมันเหลื่อมล้ำ มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้น มันไม่ได้จนเพราะว่านโยบายรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลเดียวหรอก

“เมื่อได้เจอกับพี่ๆ ที่เคลื่อนไหวเอ็นจีโอ เราได้สัมผัสกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียม ที่ดินหรือเงินหรือทุนที่ไม่ได้รับ เราจึงได้เริ่มขยับสเต็ปขึ้นมาอีกสเต็ป แล้วก็เริ่มหาแนวทางของตัวเอง ผมกับแมนก็ไม่ได้มีแนวทางแบบเดียวกัน และเชื่อว่าคนในโลกนี้ถ้าหากถามสังคมที่ดีงามคืออะไร นิยามพันล้านคนก็เป็นพันล้านนิยามเหมือนกัน” ตาม กล่าว

เมื่อขึ้นปี 2 ก็ได้ไปรู้จักกับกลุ่ม YPD ที่มีแนวคิดแบบซ้ายกลาง เป็นแบบปฏิรูปไม่ได้สังคมนิยมยึดอำนาจรัฐเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ จึงเริ่มศึกษาแนวคิดนี้เลย ซึ่งเวลาที่เข้ามาใหม่ๆนั้นมีการพูดถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย พูดถึงรัฐสวัสดิการ จึงได้ศึกษาหาความรู้จึงชอบและตอนปี 2 ได้ไปร่วมงานที่ต่างประเทศจากนั้นกลับมาก็สนใจมากยิ่งขึ้น บวกกับมีกลุ่มศึกษาจึงได้ร่วมเข้าศึกษา ทำให้ปริญญาโทมาเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองเนื่องจากสนใจเรื่องสังคมนิยมในยุโรป เป็นโมเดลอาจจะทำได้ในประเทศไทยหรือไม่ไม่รู้ แต่โลกทัศน์ของผมคือมีประชาธิปไตยและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย

ทั้งคู่นั้นเคลื่อนประเด็นแรงงาน เรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อยากให้เล่าว่าเป็นมาอย่างไร?

ตาม : ความต่างระหว่างผมกับแมนนั้นคือ เมื่อออกจากม็อบพันธมิตรฯ แล้ว แมนจะเดินทาง ส่วนผมไม่เดินทาง การเดินทางคือดรอปเรียนแล้วไปทำค่ายอาสา

แมน : หลังจากดรอปเรียนได้ไปทุกที่ทีมีปัญหาทาสังคม มีค่ายกิจกรรม

ตาม : พอผมกลับไปเรียนก็อ่านหนังสือ เพราะรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่รู้อะไร ส่วนทีไม่ไปเดินทางเพราะว่าผมไม่กล้าดรอปเรียน แต่ก็ไม่ได้เรียน 100% เพราะได้ไปร่วมกับแมนบ้างในบางครั้ง รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนกันตลอด

การที่ได้ไปเดินทางนั้นได้พบกับอะไรบ้าง?

แมน : พอเดินทางก็ได้คำตอบ แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด คำถามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ได้คือวิธีการที่จะตอบคำถามบางคำถาม ต่อให้เรามีคำตอบ แต่ถ้าคนอื่นไม่มีคำตอบหรือว่าเราไม่ฟังคำตอบคนอื่นนั้น คำถามมันก็จะตอบไม่ได้ ปัญหามันก็จะแก้ไม่ได้ จึงคิดว่าต้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นการหักล้างคำทำนายของพี่ๆหลายคนว่าเมื่อดรอปแล้วจะเรียนไม่จบแน่

ระหว่างเดินทางก็ไปพบกับพี่ๆนักกิจกรรม สหพันธ์นิสิตนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งตอนนนั้นมีม็อบแรงงานที่สระบุรี สนนท.ก็ทำงานกับแรงงาน ทำให้สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวเองที่ไม่สามารถหาได้ในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อมีม็อบแรงงานก็ไปปฏิบัติการเร็ว เช่น ที่หน้า กบข. (อ่านรายละเอียด : ลูกจ้างเหมาค่าแรง รอยัลปอร์ชเลน ร้อง กบข. ผู้ถือหุ้นใหญ่ ถูกเลิกจ้างและได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมทำให้รู้สึกว่า สนนท. ขณะนั้นเป็นองค์กรนำของนักศึกษา

ตาม : ผมก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะว่าไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็เห็นว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มีการกดปราบนักศึกษา และมีนักศึกษาตั้งขึ้นมาใหม่จนกลายเป็น สนนท. ปี 26 หรือ 28 นี่ และเห็นว่า สนนท. มีบทบาทนำในเหตุการณ์ปี 35 จึงคิดว่าถ้าหากเราจะสนใจเรื่องการเมืองเราต้องไปทำงานใน สนนท.

แมน : ในตอนนั้น สนนท.จัดกิจกรรมอะไรเราก็ไปหมด พอมีสมัชชาก็ไปร่วม ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการ สนนท. และได้เป็นกรรมการพร้อมกัน

ตาม : แมน เป็นกรรมการข้อมูล ส่วนผมเป็นกรรมการภาคกลาง ยังจำได้ว่าตอนสมัชชาบนแพที่กาญจนบุรี พอขากลับจากสมัชชาก็ไปม็อบคนงานไทรอัมพ์ฯ ที่บางพลี (อ่านรายละเอียด : การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ)

แมน : พอมาเป็น สนนท. ก็ได้มารู้จักกับนักศึกษากลุ่มต่างๆ ตอนที่เป็นนั้นผมก็เป็นสโมสรนักศึกษาของคณะที่ ม.บูรพา จึงคิดว่าต้องมีกลุ่มที่ทำงาน จึงร่วมกับเพื่อนๆตั้งกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา ขึ้นมา ทำกิจกรรมที่จะพานักศึกษาเพื่อไปสัมผัสกับความเป็นจริง ปัญหาจริงๆของชาวบ้าน เพื่อที่จะเอาเรื่องนี้เป็นฐานในการวิเคราะห์ว่าจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร

ตาม : YPD สำหรับผมให้เครดิตว่าเป็นองค์กรที่ให้แนวคิด แต่เมื่อถึงขั้นปฏิบัติการมันเกิดจากการที่ผมจัดกลุ่มคุยในคณะ จึงกลายเป็นกลุ่มสะพานสูง ธรรมศาสตร์ ขึ้นมา และรู้จักกับพี่ที่ ม.เกษตร ก็มีกลุ่มเสรีนนทรี เมื่อเคลื่อนไหวร่วมกันก็กลายเป็นเครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ขึ้นมา
แมน : ส่วนที่ ม.รามฯ ก็มีซุ้มลาดยาว ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็นซุ้มเหมราช ซึ่งพี่บอย ธัชพงศ์ แกดํา (ที่อยู่ในซุ้มนี้ และถูกจับในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย) ก็เคยร่วมกันตั้งแต่ปี 51 ที่ทำเนียบเช่นกัน

แมนและตาม(คนที่2และ3จากซ้าย) จัดกิจกรรมหน้าสภาฯแก้ผ้า ร้องเลื่อนพิจารณา 'ร่าง พ.ร.บ.ม.นอกระบบ' (ที่มาภาพและอ่านรายละเอียด)

ทำไมถึงทำเรื่องการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ?

แมน : พอแต่ละคนไปทำกลุ่มกิจกรรมของตัวเอง และได้มาเจอกันก็คุยกันจึงคิดว่าน่าจะเปลี่ยนจากวงสังสรรค์ที่คุยกัน น่าจะพาน้องพาเพื่อนมาเจอกัน เพื่อเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นกลุ่มนักศึกษาเป็นช่วงที่มีการจัดเสวนาหรือทำงานทางความคิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีกลุ่มที่ลงพื้นที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการจัดเสวนามีปัญหา แต่คิดว่าน่าจะมีบรรยากาศของการแอ็คชั่นด้วย รวมทั้งผมได้ไปฝึกงานร่วมกับกลุ่มเพื่อนประชาชน(FOP) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มแรงงาน เกษตรกร ชาวนา เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงให้แต่ละกลุ่มมาทำงานกัน

มีการร่วมจัดขบวนล้อการเมืองในวันกรรมกรสากล ความพิเศษคือพวกเรามีอิสระทางความคิดเพราะการล้อการเมืองนั้นเราล้อทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งล้อในเชิงนโยบายและผลงาน
พอมีเรื่อง ม.นอกระบบ จากที่กลุ่มต่างๆค่อนข้างมีรูปธรรมในการเคลื่อนไหว มีทักษะในการเคลื่อนไหวจึงเข้าไปช่วยจัดการกับประเด็นคัดค้าน ม.นอกระบบ

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมันไปขัดกับภาพฝันอุดมคติของทั้งคู่อย่างไร?

“การศึกษานั้นผมมองว่ามันเป็นสิทธิที่ประชาชนเข้าถึงให้โดยที่รัฐจัดให้ เราเชื่อว่าคนเป็นทรัพยากรของประเทศที่สำคัญที่สุด หากประเทศไหนให้คนเข้าถึงการศึกษาเราก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจึงเป็นการกันคนส่วนหนึ่งไม่ให้เข้าถึงการศึกษา แต่ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงว่าใครก็ตามไม่ว่าเขาจะยากจนขนาดไหน ถ้าเขาอยากเรียนเรียนได้ต้องได้เรียน” แมน กล่าว

มันมีโมเดลแบบในสแกนดิเนเวียที่ตามศึกษาด้วยใช่หรือไม่ กับระบบการศึกษาที่เป็นธรรม?

ตาม : พอเราจับประเด็นเรื่อง ม.นอกระบบ ผมก็ไปดูประเทศอื่นๆ เขาดูอย่างไร แนวคิดผมก็คือทั้งระบบ หมายถึงการศึกษาตั้งแต่เด็กๆ ก็เห็นบางประเทศขนาดมีลูกเขายังจ้างให้มีลูก ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของประชากร แต่ผมว่าการที่คนถ้ายังเชื่อตามวิทยาศาสตร์อยู่นั้นมนุษย์ทุกอย่างมันโตและพัฒนาได้หมดแต่สมองมันแค่ 5 ขวบ คราวนี้การได้รับการศึกษาที่จุดสตาร์ทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม

จึงมองว่าในกลุ่มแรงงานนั้นมีศูนย์เด็กเล็กไหม เพื่อสร้างเด็กให้มีพัฒนาการให้เท่ากับลูกคนรวย แต่ไม่ได้บอกว่าให้เท่าทุกอย่าง แต่สิ่งที่ควรจะได้นั้นควรมีมาตรฐานเท่ากัน จากที่ได้ไปสัมผัสกลุ่มแรงงานจะพบปัญหาค่าแรงไม่พอ ทำให้ต้องควง 2 กะ แล้วถ้ามีลูกขึ้นมาอีกใครจะเป็นคนดูแลลูก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐก็ควรมีงบประมาณดูศูนย์เด็กเล็ก

ดังนั้นผมจึงมองทั้งระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี รวมทั้งมองที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยที่รัฐควรให้งบสนับสนุน จึงร่วมกับกลุ่มที่คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพราะในสังคมนี้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมันยกระดับชีวิตคนด้วย เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ยากจนที่เรียนมาถึง ม.6 แล้ว อีกนิดหนึ่งเขาจะได้เรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้นถ้าเขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน จึงได้เป็นพันธมิตรเคลื่อนไหวเรื่องคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกัน

“ถ้าเราให้ทุกคนสตาร์ทจากจุดเดียวกันก็คิดว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนได้รับ แต่ถ้าให้บ้านที่รวยสตาร์ทได้ไกลกว่า ขณะที่บ้านคนจนสตาร์ทได้ถอยหลังกว่า มันก็จะผลิตซ้ำความยากจนเหมือนเดิม” ตาม กล่าว

เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ตั้งแต่ช่วงสายที่กลุ่ม YPD จัด และช่วงเย็นถึงค่ำที่หน้าหอศิลป์ฯ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมทั้ง 2 คนถึงไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น?

ตาม : ผมเป็นกรรมการ YPD ได้คุยกันภายในกลุ่มว่า 1 ปี ไม่ไหวแล้วรัฐประหาร ถ้าเรามองไปทุกเรื่องแม้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องว่าใครจะมาได้อำนาจ แต่ชาวบ้านโดนอะไรบ้าง ม.นอกระบบ หันไปมอง สนช.ก็ผ่านทีละ 4 มหาวิทยาลัย โดยมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั่งพิจารณาใน สนช. ด้วย เรื่องสิทธิเสรีภาพจะจัดหรือพูดอะไรก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ตระหนักมา 1 ปีแล้ว ซึ่งยอมรับว่าผมยังช้ากว่าแมน จริงๆก็ไม่ใช่เป็นการให้โอกาส คสช.หรอก เพราะตั้งแต่วันรัฐประหารวันแรกผมก็ออกแถลงการณ์ของ YPD คัดค้านรัฐประหาร เพราะมองว่าการรัฐประหารมันจะเป็นการสร้างปัญหาระยะยาว โดยหลักการเราก็ค้านรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเท่าที่แมนเคลื่อนไหว แต่เมื่อเวลามันครบ 1 ปีแล้ว เราหันมองย้อนกลับไปจึงคิดว่าไม่ได้ 1 ปีที่ผ่านมาสิทธิชุมชนของชาวบ้านก็ถูกไล่รื้อโดยแผนแม่บทป่าไม้ของกระทรวงทรัพย์ฯ สิทธิเสรีภาพในการพูดก็ไม่มี เป็นต้น

จึงอยากจัดเสวนาและเชิญคนรุ่นพวกผม มาคุยกันทุกฝั่งฝ่าย ก็แอบน้อยใจเพราะตอนเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา ในขณะที่แมนนั้นหยุดแล้ว แต่ผมยังรู้สึกเอนเอียงอยู่ ในใจผมคิดว่า “มึงจะไม่รับผิดชอบเลยหรอ มึงจะยุบสภาหนีอย่างงี้หรอ” ผม รู้สึกอย่างนี้ผมก็พูดตรงๆ แต่มันไม่ถึงกับต้องมารัฐประหาร จึงคิดว่ามันไม่ได้ เพราะเราต้องการทำให้ประชาธิปไตยมันดีขึ้น แต่เรากลับเอาอะไรที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยมาจัดการกับปัญหามันก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา

ตอนนั้นมีโมเดลไหมว่าถ้าไม่รัฐประหาร จะทำอย่างไร รัฐบาลรับผิดชอบ?

ตาม : จริงๆผมเป็นคนโลกสวยมาก ผมคิดว่าเดี๋ยวยิ่งลักษณ์จะต้องลาออก แล้วก็แถลงอะไรสักอย่างว่าจะหยุดพักทางการเมือง ให้ตรวจสอบคดี คิดว่าเมื่อคนกดดันมากๆ ก็เป็นอย่างนั้น

คือมองว่าถ้าเขายังอยู่ในอำนาจ กระบวนการในการรับผิดชอบและการดำเนินคดีมันจะดำเนินการไม่ได้ใช่ไหม?

มองว่ากระบวนการรับผิดชอบทางการเมืองมันจะไม่เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับการตีปิงปองตบไปตบมา แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการการรัฐประหาร ผมเคลื่อนไหวเพราะผมอยากกดดันเขา ซึ่งตอนนั้นผมกับแมนก็จะเถียงกันตลอด ไม่ใช่ว่าความเห็นเราจะตรงกัน แต่สิ่งที่เราตรงกันคือรัฐประหารนั้นมันไม่ได้แก้ไขอะไร มันกลับสร้างปัญหา เพราะเราก็เห็นแล้วว่าปี 2549 สร้างอะไร” ตาม กล่าว

ตาม : โมเดลในหัวผมที่คิดมาตลอดก็คือจริงๆ ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยจะพัฒนามาก เสื้อเหลืองก็จะไม่โดนด่า เสื้อแดงก็ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นมันมาจากรัฐประหาร ความชอบธรรมในการล้มทักษิณจะสูงมาก การเปลี่ยนแปลงจากปริมาณมวลชนที่มาชุมนุมจะกลายเป็นคุณภาพจากการที่ขอมีส่วนเรียกร้อง โมเดลของผม ผมคิดว่าจริงๆ ปัญหาหลักที่อยู่แกนกลางซึ่งไม่ว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยพูด ประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยพูด หรือทหารเข้ามาก็ไม่เคยทำก็คือทำไมอำนาจของประชาชนในพรรคการเมืองถึงไม่มี และทำไมการที่ประชาชนตั้งพรรคการเมืองของตัวเองถึงไม่โต อันนี้มันอยู่ในใจผมมาก เพราะผมเคยไปเห็นประเทศในยุโรป เขาก็แบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม พรรคฝ่ายขวากับพรรคฝ่ายซ้าย ผมกลับมาดูในเมืองไทยพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อ Democrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน

ปัญหาของผมมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง พวกผู้มีอำนาจไม่ค่อยพูด เรื่องพวกนี้ และ สอง คือคนอย่างเราๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนพูดแต่ทำไมมันไม่เกิดขึ้นจริง จึงเป็นคำถามอยู่ในใจตลอด

“พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร และประชาธิปัตย์มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์อะไร ชื่อDemocrat แต่อนุรักษ์นิยม มันก็เกิดความสับสน กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำทั้งคู่ ชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นบล็อกรวมกัน” ตาม กล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม YPD ในช่วงสายวันที่ 22 พ.ค.เป็นอย่างไร?

ตาม : เขาเชิญตัว ขึ้นรถตำรวจไป สน.ชนะสงคราม โดยที่เจ้าหน้าที่เขาไม่ให้อยู่ตรงนั้น(อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) แรกเริ่มคือ ผมจะจัดเสวนา ซึ่งจัดให้ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แต่เช้าวันนั้นมูลนิธิ14 ตุลา เจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าเจ้าหน้าที่โทรมาบอกผมว่าทหารมาขอร้องให้ปิดมูลนิธิ ไม่ให้เปิดและจัดเสวนา ผมก็เลยยืนยันว่าเราจะจัด จึงไปนั่งคุยกันที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พอไปถึงตำรวจและนักข่าวก็มา จึงเจรจาก่อน และระหว่างที่เจรจาจึงได้บอกให้เลขา YPD อ่านแถลงการณ์ พออ่านจบผมก็เริ่มต้นชวนพูดเสวนาโดยผมเริ่มพูดเป็นคนแรก แต่พูดยังไม่ถึงนาที เจ้าหน้าที่ก็มาจูงแขนไปทั้งหมดเลย ขึ้นรถไป สน.ชนะสงคราม

ไปทำอะไรบ้าง?

ตาม : ตอนแรกเขาก็บอกว่าทำไม่ได้นะ มันผิดกฎหมาย เราก็พยายามถามว่าผิดก็หมายอะไร เจ้าหน้าที่ก็อ้างถึงประกาศ คสช. ที่ไม่ให้จัดกิจกรรมอะไรแบบนี้ ถ้าจัดก็ต้องมาขออนุญาตก่อน มีการสอบสวน แต่ไม่มีการตั้งคดี โดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวมันสุ่มเสียง ผมก็เลยบอกไปว่าถ้าพี่ให้จัดกิจกรรมข้างใน(ห้องประชุมตามที่ว่างไว้) ที่มันก็ปิดและไม่สร้างความเดือดร้อน แต่เมื่อที่มันปิดก็ต้องออกมาข้างนอก จึงถามกลับไปว่าแล้วพี่ไปปิดทำไม เพราะผมก็แค่จะพูดว่าที่ผ่านมา 1 ปี รัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง เพราะรัฐบาลก็ยังแถลงผลงานได้ แล้วทำไมผมจะแถลงสิ่งที่ผมเห็นมาในรอบ 1 ปี ไม่ได้ แค่จะทำแค่นั้น ถ้าพี่(เจ้าหน้าที่)ไม่มีปิดผม ผมก็คิดว่าไม่มีคนมาฟังหรอก ก็มีแค่พวกนักศึกษาที่สนใจเท่านั้นล่ะที่มาฟัง แต่เมื่อให้เราออกมาข้างหน้าอนุสรณ์สถาน พออกมาข้างหน้าก็พาเราไป สน.อีก

สุดท้ายเมื่อพอไป สน.แล้วก็มีการสอบสวน และขอจดชื่อที่อยู่และดูบัตรประชาชน และปล่อยตัว

แล้วไปที่หน้าหอศิลป์ฯ ได้อย่างไร?

ตาม : หลังจากนั้นกินข้าวเสร็จ ทราบเรื่องว่ามีการจัดกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ จึงเห็นว่าเป็นทางกลับบ้านพอดี จึงมากันหมด พอไปถึงก็เห็นว่าตำรวจมาเยอะมาก ซึ่งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์มีคนแค่ประมาณ 20 คน แค่คล้องแขนแล้วดูนาฬิกา 3 นาที แต่จุดมันเริ่มจากแต่เริ่มคล้องแขน ซึ่งผมนั่งอยู่ด้วยนั้น ก็มีน้องคนหนึ่งโดนจับตัวไป

พื้นที่หน้าหอศิลป์ฯ ตอนนั้นตำรวจกั้นรั้วโดยรอบ มีพื้นที่เพียง 3-4 เมตร ที่ให้เราได้ทำกิจกรรม เราก็อยู่นอกรั้ว แต่ตำรวจข้ามรั้วมาดึงเอาผู้ที่ทำกิจกรรมไป 1 คน แต่ด้วยความที่คล้องแขน พอถูกจับไป 1 คนมันก็ต้องลุกขึ้นทำให้รั้วพัง           

“ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.” แมน กล่าว

แล้วแมนมาหน้าหอศิลป์ฯวันนั้นได้อย่างไร?

แมน : วันที่ 22 พ.ค.นั้นทั้งวันผมทำงานตามปกติ และได้คุยกับเพื่อนๆ ด้วยว่า หลังจากนั้นไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์ฯ เพราะผมไม่ได้เห็นด้วยกับการเข้ามาคืนความสุขอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพราะผมพูดอยู่บ่อยๆว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ตราบใดที่เราใส่ใจที่กระบวนการแก้ปัญหา แม้เป้าหมายหรือคำตอบมันจะช้าหน่อย แต่ว่ามันเป็นต้นทุนที่ถูก แล้วมันช้าได้มันรอได้ ผมยืนยันว่ามันต้องมีเลือกตั้ง 2 ก.พ.นะ แต่มันอาจจะไม่ดีที่สุด อาจไม่จบก็ได้ แต่ว่าต้นทุนที่สังคมจะเสียไปน้อยกว่า พอเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.ปีที่แล้วจึงแสดงออกตลอดเวลาว่าไม่เห็นด้วย และคิดว่าอยู่ในจุดยืนที่จะไม่ร่วมกับการปฏิรูปประเทศแบบนี้

ช่วงปลายปีที่แล้วผมก็ถูกปรับทัศนคติไปแล้วครั้งหนึ่ง เพราะว่าจัดงานทอล์คโชว์ เกี่ยวกับปัญหาที่ดิน (อ่านรายละเอียด : ทหารคุมตัว ผู้จัดทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต หลังยืนแถลงข่าวเงียบ) เราพยายามที่จะทำให้ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้ จึงพยายามจะจัดงานดังกล่าว ตอนนั้นเขาก็ไม่ให้จัดด้วยเหตุผลที่ไม่สบายใจกับแขกรับเชิญบางคน แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่ยอมถอดแขกรับเชิญคนนั้น เขาก็เลยไม่ให้จัด จึงแถลงข่าวว่า คสช.ไม่ให้จัด ก็เลยถูกปรับทัศนคติ

ภาพยืนแถลงข่าวเงียบเมื่อวันที่ 16 พ.ย.57 ภาพโดย Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
หลังจากนั้นในเชิงของการเคลื่อนไหว เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำงานเชิงเนื้อหาข้อมูล เนื่องจากแม้เราไม่เอา คสช. แต่ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งยังแฮปปี้กับการคืนความสุข มันอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะยิ่งไปสร้างการปะทะ จึงทำแนวนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงปัจจุบัน พยายามทำงานกับคนที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันตลอด

ดังนั้นวันที่ 22 พ.ค.นั้น ผมจึงไปด้วยความรู้สึกว่าไปถ่ายรูป แล้วก็น้องๆจัดกันก็รู้จักตามเวทีต่างๆ ทั้งค่ายอาสา กิจกรรม ซึ่งก็ไม่ได้รู้จักเฉพาะมุมที่เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น

แสดงว่าผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นมีคนที่หลากหลายทางความคิดใช่ไหม?

แมน : ใช่ และตอนที่ผมไปถึงหน้าหอศิลป์ฯ เริ่มมีการดันกันแล้ว ผมก็วิ่งลงจากตุ๊กตุ๊กเพื่อมาถ่าย สุดท้ายการดันกันนั้นมาจบตรงที่ผู้ชุมนุมเริ่มตกถนนและชนตอหม้อบีทีเอส

ตาม : ตอนนั้นก็พยายามเจรจาว่าเจ้าหน้าที่ถอยหน่อยไหม แล้วจะให้น้องถอย เพราะตอนนั้นเป็นกิจกรรมที่น้องเขาคิดและไม่มีแกนนำ คนที่คอยประสานงานนั้นถูกจับไปแล้ว ตอนนั้นจึงคิดกันเฉพาะหน้า ซึ่งผมกับเพื่อนเป็นรุ่นพี่ที่เคยทำงานกิจกรรมแบบนี้มาแล้ว จึงบอกว่าเดี๋ยวมันจะเกิดการปะทะ ซึ่งหลังจากนั้นภาพมันก็ตัด ผมจำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ จำได้เพียงว่าเมื่อมีการล้อมนักศึกษาที่นั่งคุยกันแล้วก็เกิดความวุ่นวายมาก

แมน : ก่อนที่จะล้อมเป็นบรรยากาศที่เริ่มนิ่ง ตำรวจก็เข้าไปในแนวรั้ว นักศึกษาก็อยู่ข้างนอก ผมก็ไม่รู้สึกว่าหากจะมีการจับกุมผมจะต้องถูกจับเลย เพราะผมไม่ได้ลงไปนั่ง เป็นเหมือนประชาชนที่ยกมือถือมาถ่ายรูป ขณะนั้นคิดว่าน้องน่าจะหมดแรงจึงเดินไปซื้อน้ำมาแพ็คหนึ่งและเดินเข้าไปให้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อาจรู้สึกว่าคนนี้เป็นคนส่งน้ำ แต่ส่งน้ำแล้วก็เดินออกมา

ระหว่างนั้นก็อัพรูป (ขึ้นเฟซบุ๊ก)ไปเรื่อยๆ มีนักข่าวเห็นเขาก็โทรมาถามว่าอยู่ที่หอศิลป์ฯหรือเปล่าจะขอสัมภาษณ์บรรยากาศสดๆว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ขณะนั้นผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ได้ จึงเดินไปหาพี่บอล (ภาคีไนย์) หนึ่งในผู้ที่ถูกจับในเหตุการณ์นี้เช่นกัน ขณะนั้นพี่บอลก็โวยกลับมาว่าจะให้สัมภาษณ์ได้อย่างไร เพราะกำลังวุ่นอยู่ เพราะขณะนั้นนั่งทำกิจกรรมอยู่ด้วย

ช็อตต่อมาน้องก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และต่อด้วยเพลงเพื่อมวลชน ผมก็เข้าไปถ่ายวิดีโอ ตำรวจก็ค่อยๆล้อมเข้ามา จากนั้นมีช่วงที่น้องเขาหยุดร้อง ผมก็ตะโกนว่าร้องต่อๆ เรายืนยันว่าเรามาอย่างสงบ จนพอเริ่มสุดเสียงผมก็เริ่มร้องต่อด้วย

แนวที่ตำรวจล้อมขณะนั้น ผมก็ยืนสุดขอบคนสุดท้ายที่นั่ง ถ้าเขาดันมาขณะนั้นแล้วผมเดินผมก็จะเหยียบน้อง ตอนนั้นก็เลยแข็งตัวเอง แต่ก็ล้มไป เมื่อล้มโดยสัญชาติญาณของเขาก็จะจับคนในวง ตอนนั้นเขาก็ข้ามผมไป บางคนก็เหยียบผมบ้าง เราก็เอามือมาปิดหัว แต่ขณะนั้นได้ยินเสียงตำรวจพูดอยู่ว่า “ระวังเหยียบ เหยียบแล้วบาดเจ็บเดี๋ยวตาย” อะไรประมาณนี้ ตอนนั้นผมหรี่ตามมองก็เห็นรองเท้าคอมแบทข้ามไปเรื่อยๆ ช็อตที่รู้สึกว่าดีใจเพราะว่ามีคนดึงขึ้นมา ขณะนั้นก็คิดว่านึกว่าเป็นเพื่อนๆกันที่มาพยุงขึ้น แต่พอลืมตามาไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่คิดว่าเป็นทหารด้วย เพราะขณะนั้นเขาไม่ได้ใส่เครื่องแบบ

นอกเครื่องแบบก็ดึงผมเข้าไปในแนวรั้ว และพาผมเข้าไปในหอศิลป์ฯ ตอนนั้นผมก็จะกลับบ้าน แต่เขาไม่ให้กลับบอกว่าให้คุยกันก่อน จากนั้นก็ถูกนำตัวเข้าไปในรถตู้ สน.ปทุมวันฯ ซึ่งมีผู้ที่ถูกจับมาก่อนหน้ารออยู่แล้ว

ผมคิดว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าจะมีการปิดหอศิลป์ฯ คนที่ปิดคือเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในแง่ที่เขาทำหน้าที่จับเพราะได้รับคำสั่งมาก็ยังโอเคที่แต่งเครื่องแบบ เราอยู่ในกิจกรรมเคลื่อนไหวก็เข้าใจว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่ที่มันเกินกว่าเหตุ

โดย แมนและตาม ได้สรุปประเด็นที่มองว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอยู่ 5 ประเด็น ดังนี้


  • ประเด็นที่ 1 การจับกุมนี้มันไม่ใช่การเชิญอย่างปกติ แต่มันเป็นการเข้าชาร์จ ฉุดกระชากลาก
  • ประเด็นที่ 2 คนที่มาชาร์จ ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกจับกุมด้วยตำรวจหญิง แต่ว่าผู้ชายหลายคนถูกชาร์จโดยนอกเครื่องแบบ ซึ่งเราเห็นว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะในเหตุการณ์ถ้ามีคนนอกมาผสมโรงด้วย ในที่สุดแล้วเวลาที่เราบอกว่ามีการทำร้ายร่างกายจากคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ ตำรวจก็อ้างได้ว่าไม่ใช่ตำรวจ
  • ประเด็นที่ 3 แม้แต่การควบคุมฝูงชน ตำรวจไม่ควรทำอย่างนี้ เพราะเราก็เห็นชัดๆ ว่าคนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ แต่วิ่งผ่านแนวตำรวจมาชาร์จผู้ชุมนุมได้มันผิดปกติ
  • ประเด็นที่ 4 ช่วงหลังที่มีการควบคุมตัวอีกชุดมันไม่ใช่ความพยายามของนักศึกษาที่จะเข้าไปยังแนวของตำรวจ แต่เป็นการนั่งนิ่งๆ อยู่นอกแนวที่ตำรวจกั้นแล้ว ตำรวจเป็นฝ่ายเข้ามาเคลียร์ และเป็นช่วงเวลาที่มืดแล้ว ซึ่งเป็นยามวิกาลการควบคุมฝูงชนยามวิกาลนั้นผิดหลัก
  • ประเด็นที่ 5 การสั่งการ เป็นการสั่งการที่เหมือนกับการเคลียร์ให้นิ่ง ซึ่งอาจจะเป็นการเคลียร์ในความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ แต่ว่าสำหรับประชาชนมันไม่เหมือนกัน ทั้งที่ช็อตหลังร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธามันไม่มีอะไรแล้ว ถ้าร้องเพลงจบแล้ก็อาจจะกลับกันแล้ว       หรืออาจจะไปเยี่ยมเพื่อนที่ สน.ปทุมวัน พอเจ้าหน้าที่ตัดสินใจแบบนั้น ตัวเลข 37 คนก็เลยออกมา
ช่วงนั้นไม่มีการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่หรือ?

แมน : เจ้าหน้าที่เขาเจรจาให้หยุด และเชิญไปที่ สน.ปทุมวันทั้งหมด ส่วนผู้ชุมนุมต้องการให้มีการปล่อยเพื่อนออกมาก่อน บนหลักการที่ว่าถ้าจะมีการจับกุมใครสักคนต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตอนนี้ไม่มีกฎอัยการศึกแล้ว ถ้าจะบอกว่าเป็นการแสดงออกที่ขัดคำสั่งของคสช. ก็ต้องบอกว่าขัดอย่างไร แต่ไม่มีการแจ้งว่าขัดอย่างไร ทำให้การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อถึง สน.ปทุมวัน มีการคุมตัวตั้งแต่ 19.00-24.00 น. ก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา


ภาพแมนขณะถูกคุมตัวที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58

แล้วมีภาพของคนที่เจ็บป่วยในระหว่างที่มีการควบคุมตัวนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร?

แมน : พอถูกคุมตัวไปแล้ว สิ่งที่เห็นก็คือมีน้องที่เจ็บเพราะถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างจับกุม พอไปถึง สน.ปทุมวัน ก็มีน้องนัชชชา กองอุดม ก็นั่งอยู่ที่พื้นและอาเจียนอยู่ตลอดเวลานั่นคือภาพที่ผมเห็น คนที่ไปก่อนก็พยายามจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอให้มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือเรียกหมอ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้และเขาตัดสินใจไม่ได้ เขาบอกว่าต้องให้นายมาตัดสินใจ จนกระทั่งน้องนอนอยู่บนพื้นในห้องสอบสวนเป็นเวลาน่าจะเกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยรับไปโรงพยาบาล

เรื่องเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักการเคารพในสิทธิมนุษยชน เพราะ หนึ่ง น้องเขาไม่ใช่ผู้ต้องหา เรายังไม่ถูกแจ้งข้อหาเลย แล้วทำไมไม่มีการที่รักษาพยาบาล โรม เลือดไหลออกจากหูในระหว่างการจับกุม น้องผู้หญิงอีกคนก็มีแผลถลอก เจ้าหน้าที่ไม่มีความพยายามที่จะปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความพยายามที่จะทำข้อมูลส่วนตัว เราไปถึงผมกับตามก็เป็นคนเรียนจบแล้ว ซึ่งในเหตุการณ์ตอนนั้นเราพยายามจำกัดตัวเองไม่ให้เข้าไปมีบทบาทนำนักศึกษา พูดกับเพื่อนๆ ที่ถูกจับซึ่งเรียนจบกันแล้วว่าเราจะไม่ไม่นำ แต่ให้น้องตัดสินใจกันเอง ไม่ว่าน้องจะตัดสินอย่างไรเราก็พร้อมที่จะทำตาม

มีการแบ่งห้องคุมตัว 3 ห้อง ห้องที่ผมอยู่นั้นมี 21 คนในตอนแรก ตอนแรกไม่มีการสอบและไม่มีการสอบตลอดทั้งคืน เราก็ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่จะทำประวัติหรือเอาชื่ออะไรจากเราก็ขอให้แจ้งข้อกล่าวหาว่าเราทำผิดในเรื่องอะไร เพราะเรารู้สึกว่าเข้าหน้าที่ทำผิดที่พาเรามาอยู่ที่นี่ ก็ไม่มีการแจ้ง ในระหว่างนั้นก็เป็นแค่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำประวัติ แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้ง ซึ่งเขาก็เคารพในสิทธิของเราว่าไม่ทำก็ไม่ทำ

ถึงช่วงดึกก็มีข้อเสนอมาจากทหารว่าอยากให้เราเซ็นต์ในใบว่าเรามาเคลื่อนไหวและจะไม่ทำแบบนี้อีก เราก็ปฏิเสธ เพราะข้อเสนอของเราคือปล่อยตัวพวกเราโดยไม่มีเงื่อนไข และให้กลุ่มดาวดินที่ ม.ขอนแก่น ได้รับการประกันตัว เพราะกลุ่มนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

และมีข้อเสนอด้วยว่าขอทำประวัติ ขอสอบ ซึ่งคนที่เขาต้องการจริงๆนั้นมีแค่ 9 คน ส่วนที่เหลือก็จะปล่อย เราก็บอกเขาไปว่าแล้ว 9 คนนั้นผิดอะไร ถ้าผิดเพราะว่าวันนี้มาเคลื่อนไหวและละเมิดมาตรา 44 ถ้าเช่นนั้นทุกคนก็ผิดด้วย จึงมีการประสานงานกันว่าทั้ง 3 ห้อง ยอมที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 37 คน


แล้วสุดท้ายถูกปล่อยตัวได้อย่างไร?

ตาม : ตอนปล่อยตัวออกมาตอนนั้นพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ตอน 6 โมงเช้า

แมน : ไม่มีการตั้งข้อหา หรือ ณ จนถึงวันนี้(25 พ.ค.58) ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือตามไปที่บ้าน มีเพียงการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และให้เขียนกำกับว่าจะไม่เคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการเซ็นชื่อรับรอง

หลังจากนั้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการนำรูปนักศึกษา ผู้ที่ร่วมกิจกรรมในวันนั้น ไปเสียบประจาน บอกว่าเป็นควายแดงบ้าง รับเงินทักษิณมาป่วนบ้าง รวมไปถึงตัดต่อภาพว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม” แมน ฝากถึงผู้ที่ไล่ล่าแม่มดอยู่

ตาม : ผมน้อยใจนะ(หัวเราะ) ไปเคลื่อนไหวหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทำไมต้องผลักผมไปเป็นอีกฝ่ายด้วย แต่ว่าผมก็ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับเขาอยู่แล้วนะ

ผมว่าวุฒิภาวะทางสังคมของเราคนไทยมันอาจจะชีวัดได้จากประเด็นเหล่านี้ หลายคนเขาอาจจะเชียร์ทหารในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ผมก็โอเคในหลักการของคุณ แต่หลักการของผมผมก็มี ผมแค่จะไปนั่งดูนาฬิกาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่านี่ปีหนึ่งแล้วนะ เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เหมือนที่คุณเห็นด้วย คือความเห็นด้วยกับความไม่เห็นด้วยมันก็คือความเห็นเหมือนกัน ซึ่งทุกคนก็ควรจะมี แล้วสิ่งที่เราทำ ตอนนี้มันไม่มีกฎอัยการศึกแล้วนะ มันไม่รู้จะผิดข้อไหน แล้วผมก็ไม่ได้ไปปิดถนน ไม่ใช่การชุมนุม เพราะผมก็เห็นคนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด กับคนแค่ 30 คนดูนาฬิกา แล้วอยู่นอกรั้วที่ตำรวจกั้นโซนไว้ด้วย ผมว่ามันไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น


ตาม สาธิตท่าที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันนั้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นปฏิบัติการทางข่าวสารมากกว่า เป็นการจุดเพื่อทำลายเครดิตของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว และเป็นการป้องปราม เป็นปฏิบัติการ ปจว. ถ้าเขาจะอยู่ในอำนาจนานๆ เขาก็ต้องสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายต่อต้าน

แต่สิ่งที่ผมกังวล ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วถ้ามันดำรงอยู่ก็เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีความรุนแรงก็ไม่มี แต่ถ้าเกิดมีการปฏิบัติการแบบนี้(เสียบประจาน) มันเท่ากับการยุยงปลุกปั่นนะ ถ้าวันดีคืนดี เขาเห็นหน้าผมและเห็นผมเดินอยู่ตามถนนเห็นผมแล้วเข้ามาทำร้าย ใครจะรับผิดชอบ

“ผมนี่เสื้อแดงยังบอกว่าผมเป็นเสื้อเหลืองเลย เสื้อเหลืองก็จะบอกว่าผมเป็นเสื้อแดง แต่เรามีความคิดอิสระของเรา ประเด็นนี้เราเอา ประเด็นนี้เราไม่เอา โลกนี้มันต้องเลือกอย่างเดียวเป็นเซตเหมือน KFC หรือไง ผมอยากกินไก่ อยากกินนักเกตผมก็ซื้อแยก อยากเลือกแบบบุ๊ฟเฟ่ ไม่ใช่ต้องสเตอริโอไทป์ ผมเป็นมนุษย์ที่มีความคิดอิสระ มีวิจารญาณของผม” ตาม กล่าว

ตาม : ที่มันยิ่งกว่านั้นพอไปอ่านความคิดเห็นที่เขาเสียบประจาน เช่น “จำหน้าพวกนี้ไว้นะ ไปสมัครงานที่ไหนอย่าไปรับ มันไม่มีความคิด” รู้ซึ้งเลย

แมน : ถ้าคลิป(บทสัมภาษณ์)นี้ได้มีโอกาสให้แอดมินเพจหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา ก็น่าจะเห็นตั้งแต่ต้นว่าเราเป็นใครมาจากไหน โอเคที่บางช่วงบางตอนที่เราไปร่วมการรำลึกเห็นการผู้เสียชีวิตที่ราชประสงค์ก็เพราะเรารู้สึกว่าไม่น่าจะสูญเสียอะไรแบบนี้ โอเคผมอาจเป็นเหลืองหรือแดงเป็นเรื่องที่ใครๆก็มองได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องเรียกร้องให้เกิดการทำความเข้าใจก็คือพวกผมยินดีที่จะตอบทุกคำถาม เวลาคุณถามว่าไปเคลื่อนไหวทำไม? ต้องการอะไร? วันนี้ไม่มีความสุขหรอ? ก็คุยกัน ตอนนี้ใน inbox (ทางเฟซบุ๊ก)ก็เริ่มมีตั้งคำถามเข้ามาบ้าง ผมก็เริ่มตอบด้วยประโยคเริ่มต้นว่า “ขอบคุณที่ทักมานะครับ” แล้วก็พยายามอธิบาย

โอเคพี่ๆเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามได้ เราก็มีสิทธิที่จะตอบ จริงๆแล้วถ้าการเคลื่อนไหวที่หอศิลป์ฯวันนั้นยอมให้ทำทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โอเคถ้าเขาเห็นว่าเราผิดก็แจ้งข้อกล่าวหาเราเราก็พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการที่บ้านเมืองเป็นอยู่ เราไม่ได้บอกว่าเราไม่ผิด เราไม่ได้บอกว่าเราอยู่เหนือกฎหมาย นี่คือสิ่งที่อยากจะสื่อสารกับคนที่อาจจะเห็นไม่ตรงกับเรา ผมคิดว่าผมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ เพียงแต่อย่าเริ่มต้นประโยคพูดคุยด้วยการด่ากันเป็นควาย รับเงิน หรือว่าไม่อะไรทำหรืออย่างไร? แบบนั้นก็ได้ถ้าเป็นความรู้สึกอารม เราก็ไปห้ามใครเขาไม่ได้ แต่ก็ควรถามเราบ้าง

ตาม : ผมจะโทษคนที่ปลุกปั่น คุณไม่ควรทำอะไรแบบนี้ เพราะคุณไม่รู้ว่าผลของมันนั้นคนตายขึ้นมาจะทำอย่างไร คุณก็ไม่ได้รับผิดชอบ ดังนั้นการปลุกปั่นยุยงจึงเป็นสิ่งที่ต้องประณาม จะเห็นได้ว่าผมกับแมนก็ไม่ได้ความคิดที่จะตรงกันไปทุกเรื่อง แล้วผมเชื่อว่าคนมีพัฒนาการทางความคิด เราค่อยๆใช้เวลาพูดจาหารือกัน ทำความเข้าใจกัน ดีกว่ามองแบบเหมารวม แล้วก็บอกว่าคนพวกนี้ต้องเป็นแบบนี้ ถ้ามันต้านรัฐประหารมันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันต้องตาย มันต้องรับเงิน นี่ไม่ใช่เหตุใช่ผลแล้ว

แมน : ผมเสนอให้พี่ๆ ที่ตามมาจากเพจที่เสียบประจานนั้นให้ไปดูประวัติของทุกคน คือบางคนมีด้านที่อีกด้านหนึ่งที่คุณอาจจะไม่รู้ พวกผมวันๆไม่ได้จะนั่งคิดว่าจะต่อต้าน คสช. อย่างไงนะ หลายคนเองก็เคยออกไปร่วมกับพี่ๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณก็ว่าได้ ออกไปชุมนุมประท้วงมาตลอด หลายคนประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ หนักกว่าคนที่มาด่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะใช้คำว่าขอความเป็นธรรม

ตาม : ขอความเป็นธรรมให้น้องๆด้วย พวกผมไม่เป็นไรก็โตระดับหนึ่ง แต่ผมชอบที่จะเห็นคนแสดงออกทางความคิด ผมคิดว่าน้องเขาเริ่มที่จะคิด และการไปบอกว่าคนพวกนี้คิดแบบนี้ผิด คุณมีสิทธิอะไรมาพูดอย่างนั้น

แมน : มุมที่น่ารักที่สุดสำหรับผมในค่ำคืนนั้น น้องโรม รังสิมันต์ เอาหนังสือเข้าไปอ่านอยู่ให้ห้องสอบสวน อ่านหนังสือเตรียมสอบ ผมว่ามันน่ารักดี นี่ล่ะมันคือนักศึกษา

“สิ่งที่ผมว่าน่ารักก็คือพี่ๆหลายคนโดนจับวันนั้น เขาก็เคลื่อนไหวกับอีกฝั่งทางการเมือง หรือพูดง่ายๆคือฝั่งที่ต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์ กับฝั่งที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ เคยทะเราะกัน ด่ากัน แต่วันนั้นเขาถูกจับด้วยกันแล้วเขาก็ช่วยกัน เขาอยู่ด้วยกัน คิดกัน ช่วยกัน ถ้าเกลียดกันจริงๆ ผมว่ามี 9 คนที่เจ้าหน้าที่ต้องการดำเนินคดี ที่เหลือก็ปล่อยตัว ผมว่าถ้าเกลียดกันจริงๆ เขาคงเลือกให้ 9 คน โดดเดี่ยวโดนจับไป แล้วที่เหลือโดนปล่อยก็ได้ คิดว่านี่เป็นสปิริตที่เห็นได้ยากและมีค่า” ตาม กล่าว

แมน : ในมุมของผลเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เป็นการทำกิจกรรมปกติ แต่ว่าอย่าทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นปีศาจในสังคม

ตาม : ความไม่สงบนี่มันไม่ได้เกิดจากเราหรอก ความไม่สงบมันเกิดจากการที่คุณให้สิทธิคนบางกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน อันนั้นเป็นเชื้อไฟของความขัดแย้ง มันไม่ใช่การแสดงออกทางเสรีภาพที่จะทำให้สังคมขัดแย้ง แต่เมื่อไหร่ที่คุณให้อะไรกับคนในสังคมไม่เท่ากัน เช่น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรืออำนาจทางการเมือง วันนั้นล่ะเขาจะลุกขึ้นมาต่อต้าน

ทั้งคู่ผ่านกระบวนการกิจกรรมนักศึกษามาตั้งแต่เรียน และขณะนี้มีการพูดถึงวาทกรรมว่าด้วย “พลังของนักศึกษา” ในมุมมองของทั้งคู่คิดว่ามันจะเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ ไม่ว่าเปลี่ยนไปในทางที่สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น มีประชาธิปไตยมากขึ้น?
ตาม : ผมจะมองในเชิงความจริงที่ดำรงอยู่และมองเห็นได้ เรื่องจริงที่สุดคือนักศึกษามันเป็นวัยที่ไม่ต้องทำการผลิต ไม่ต้องทำงาน ว่างงาน และไม่มีภาระที่จะรับผิดชอบ มีหน้าที่ให้เรียนหนังสือ แต่การที่จะให้เรียนหนังสือผมว่าเป็นการบอนไซกลไกการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของสังคม แต่ด้วยความที่เขาเป็นวัยที่แสวงหา ผมว่าในประวัติศาสตร์โลกนี้คนแก่หรือที่เปลี่ยนแปลงสังคม มันมีแต่วัยนี้ทั้งนั้น และการไปบอนไซเขามันมีแต่ทำให้สังคมไม่ไปข้างหน้า ผมก็เลยมองว่ามันเป็นสัจจะธรรมของโลกที่ยังไงคนรุ่นนี้ในวัยนี้จะเป็นกำลังสำคัญ เพียงแต่ขออย่าให้ผู้ใหญ่ในสังคมอย่าไปบอนไซไปทำลายเด็ก ทำลายจินตนาการ ไปทำลายเสรีภาพของเด็ก ผมเชื่อว่าสังคมไหนที่เด็กถูกทำอย่างนั้นจากผู้ใหญ่ ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่ประเทศชาติจะมีอนาคต

แมน : ช่วง 2-3 ปีมานี้มักถูกถามเรื่องคนรุ่นใหม่ ผมก็ต้องบอกว่าผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ พลังของนักศึกษา และเล็กหรือใหญ่มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่มันยังมีปฏิบัติการ การกระทำหรือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ วันนี้ผมไปจังหวัดไหนที่มีมหาวิทยาลัยผมก็ยังมีข้าวฟรีกินสังสรรค์ คนพวกนั้นและน้องของเพื่อนก็ยังมีอยู่ ผมเชื่อว่าคนใน 37 คนจากหอศิลป์ฯ เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่เขาพร้อมที่เดินไปข้างหน้าได้ แม้ว่าคนที่เดินไปด้วยกันจะไม่เห็นด้วยกันทั้งหมด และในสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังมีคนที่กำลังล่าแม่มดน้องๆ ก็อยากให้ลองคุยกับเขาดีๆ ผมเชื่อว่า 37 คนนี้จะแลกเปลี่ยนและคุยกันอย่างมีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาเราถูกเบ้าหลอมมาแบบนี้ที่ให้ยอมรับความต่างได้

ตาม : แต่ในเงื่อนไขที่ว่าคนที่กำลังล่าแม่มดอยู่นี่ต้องคุยกับเราด้วย อย่าเปิดฉากมาด้วยการลดทอนความเป็นมนุษย์เรา ไม่ว่าจะด่าเป็นควายบ้าง เป็นสลิ่มบ้าง ฉันมันเป็นคนนะ มาคุยกัน อยากรู้อยากฟังเหตุผลทำไมไม่มีความสุขหรอ คสช.มาเป็นรัฐบาลมาแล้วมึงขี้ไม่ออกหรอ อย่างนี่มาคุยแล้วรับฟังกันก็พร้อมจะคุย