วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เฟสต์บุ๊ค กลายเป็น เพสต์คุก

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีการนัดไต่สวนแพทย์ผู้ทำการรักษา นาย พ. อายุ 27 ปีจำเลยในคดี 112 ซึ่งมีอาการป่วยทางจิต โดยแพทย์ระบุว่าตรวจจำเลยในปี 57 พบว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และแพทย์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยป่วยทางจิตก่อนกระทำความผิดในปี 55 หรือไม่  
จากนั้นศาลได้นัดพิพากษาคดีในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
นาย พ. ถูกตำรวจหน่วยสืบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และตำรวจภูธรในพื้นที่อุบลราชธานีจำนวนหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวที่บ้านเมื่อวันที่ 16 มี.ค.55 โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขาใช้บัญชีเฟซบุ๊คทั้งหมด 3 บัญชี  โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.57 อัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิด 9 กรรม เขาจึงถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.57 มีการนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ โดยทนายแถลงขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาเนื่องจากต้องการเขียนคำแถลงประกอบคำรับสารภาพว่าจำเลยทำไปด้วยความคึกคะนอง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้สายลับมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขา โดยใช้ชื่อในเฟซบุ้คว่า Tangmo Momay เข้ามาตีสนิท ยั่วยุให้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ และมีการโทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยผู้ต้องหาอ้างว่าได้เห็นบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นถูกถอดเทป และนำมาใช้เป็นหลักฐานของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิ.ย.57 รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 44 ลงวันที่ 1 มิ.ย.57 คำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้นาย พ. เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.57 หลังจากนั้น นายพ.ได้เดินทางเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 คืนด้วย

พิพากษาลับ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ม.112 จำคุก 5 ปีนักธุรกิจเชียงใหม่



วานนี้ (15 ก.ค.57) เวลา 13.30 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2553 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องร้องนายอัศวิน (สงวนนามสกุล) นักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงกลับพิพากษาให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี
ในคดีนี้มีนางสกาวเดือน จริยากรกุล ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในโครงการเอราวัณรีสอร์ตกับจำเลยในช่วงปี 2546 เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในคำฟ้องคดีระบุว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 3 กรรม ได้แก่ ในช่วงระหว่างปี 2543-2546 ได้พูดกล่าวข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความองค์รัชทายาท ต่อนางมยุรา สฤษชสมบัติ, ในช่วงเดือนกันยายนปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางกัลยา ตันมณีวัฒนา และช่วงเดือนตุลาคมปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางอัญชลี นิลเดช
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.56 เนื่องจากศาลเห็นว่ายังมีข้อพิรุธในพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์หลายประการ ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้) แต่พนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คดี
โดยศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค.57 แต่ฝ่ายจำเลยไม่ทราบหมายนัดในวันดังกล่าว เพราะได้มีการส่งหมายไปยังที่อยู่ซึ่งจำเลยไม่ได้อยู่อาศัยแล้ว จึงได้ให้ทนายจำเลยทำคำแถลงชี้แจงต่อศาล ก่อนนัดขอเข้าฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลได้แจ้งกับผู้เข้าฟังการพิจารณาว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ดังนั้นจึงขออ่านคำพิพากษาเป็นการลับ โดยให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณาทั้งหมด
ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุว่าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้พูดถ้อยคำตามที่โจทก์ฟ้องจริง โดยในขณะที่นางสกาวเดือนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงพฤติการณ์แอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของจำเลย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.47 นั้น ยังไม่ปรากฏว่านางสกาวเดือนมีปัญหากับจำเลยเรื่องการซื้อขายที่ดินในโครงการเอราวัณรีสอร์ท จึงเชื่อได้ว่านางสกาวเดือนแจ้งตามความเป็นจริงที่ได้รับคำบอกเล่ามา โดยไม่ได้มีเจตนาจะกลั่นแกล้งจำเลย
ศาลยังเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองคน คือนางกัลยาและนางอัญชลีเบิกความยืนยันตรงกับถ้อยคำที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้ และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่พยานทั้งสองจะเบิกความปรักปรำจำเลย ทั้งหากข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงพยานทั้งสองอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้อีกด้วย


ส่วนพยานฝ่ายจำเลย ทั้งพลตรีพิชัย พิชัยณรงค์ และพลเอกวินัย ทันศรี ศาลเห็นว่าเป็นผู้มีความสนิทสนมกับจำเลย จึงย่อมเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย ทั้งคำเบิกความของพยานทั้งสองเป็นการเบิกความลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ และคำเบิกความของพลเอกวินัยยังขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวน
ในส่วนถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้กล่าวกับนางมยุรา ซึ่งนางมยุราเบิกความว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำเมื่อประมาณปี 2543-2546 ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางมยุราเพิ่งไปให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 25 พ.ค.49 อันเป็นการให้การหลังจากเวลาล่วงเลยไปนาน และในขณะที่นางสกาวเดือนแจ้งความไว้เมื่อปี 2547 ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งเรื่องที่นางมยุราเบิกความไว้ดังกล่าวด้วย คำเบิกความของนางมยุราจึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
ศาลยังเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับนางกัลยา ในเรื่องการปรับปรุงบริเวณสระน้ำ คงเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย นางกัลยาไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งนางกัลยาได้เบิกความว่าเมื่อได้ฟังจำเลยพูดเช่นนั้น รู้สึกว่าเป็นการพูดด้วยอารมณ์เพ้อเจ้อและเป็นการสร้างความสำคัญให้ตัวจำเลยเอง จึงไม่ทำให้นางกัลยารู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับนางอัญชลีนั้น ศาลเห็นว่ามีลักษณะเป็นการแอบอ้างเพื่อข่มขู่ให้นางอัญชลียอมยกบ้านให้จำเลย ทั้งจำเลยยังโทรศัพท์สอบถามนายมานะศักดิ์ เจ้าของบ้านอีกคนหนึ่งในเอราวัณรีสอร์ต ในลักษณะเดียวกันอีก พฤติการณ์ของจำเลยอาจทำให้นางอัญชลีและนายมานะศักดิ์ซึ่งจะต้องเสียผลประโยชน์ในบ้านหลังดังกล่าว เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับนางอัญชลีจึงเป็นข้อความที่เป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์แล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์มาทั้งหมด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทงเดียว ให้จำคุก 5 ปี
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายจำเลยได้ยื่นประกันตัวจำเลยตามหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวมาในชั้นสอบสวนและศาลชั้นต้น แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณาส่งเรื่องให้เป็นดุลยพินิจของศาลฎีกาแทน ทำให้จำเลยต้องถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำกลางเชียงใหม่ก่อนเป็นเวลาราว 3 วัน จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเรื่องการประกันตัวอีกครั้ง
สำหรับนายอัศวิน อายุ 64 ปี เป็นนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิชาวไทยภูเขา นายอัศวินเคยเล่าถึงคดีนี้ว่าเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางธุรกิจ จากกรณีการซื้อขายที่ดินเอราวัณรีสอร์ต อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี 2546 โดยมีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างคู่กรณีในหลายคดี รวมทั้งข้อหามาตรา 112 ซึ่งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

ย้อนรอยการคุกคามนักศึกษา กรณีแปะสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหาร


ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลังทหารยึดอำนาจ มีตัวอย่างผู้ต่อต้านจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมซึ่งหน้า เรียกรายงานตัว ควบคุมตัว  แจ้งข้อกล่าวหา คุมขัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏตามสื่อนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของส่วนที่เราไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเป็นจำนวนเท่าไร ที่สำคัญ การปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุมคุมตัวก็ดูจะแตกต่างกัน ผู้ที่ไม่มีสถานะ ผู้ที่ไม่อยู่ในวงล้อมของนักข่าว ดูจะประสบชะตากรรมที่ยากลำบากอย่างเงียบเชียบ ดังเช่นเรื่องราวของนักศึกษากลุ่มนี้

พวกเขา 4 คนถูกคุมตัวจากความผิดกรณีมีสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหารอยู่ในครอบครอง หลังจากที่สติ๊กเกอร์นี้ระบาดตามเสาไฟและอาคารของมหาวิทยาลัยเขามาสองสามวันก่อนหน้าแล้ว
สติ๊กเกอร์ดังกล่าวมีขนาดราว 6x3 นิ้ว เขียนว่า
“ไม่เอารัฐทหาร ไม่เอารัฐประหาร”
และ
“ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจ” 
เรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ปัจจุบันพวกเขาถูกปล่อยตัวแล้วและยอมเปิดเผยข้อมูลเพื่อเป็นบทบันทึกถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ โดยประชาไทขอสงวนชื่อจริงและชื่อสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูล

นักศึกษาทั้งหมดล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัดและมาแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในเมืองหลวงเช่นเดียวกับลูกหลานคนชนบทจำนวนมาก ที่ผ่านมาพวกเขามีกลุ่มศึกษาและทำกิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทและร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งคราว  จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้น

ช่วงเกิดเหตุเป็นห้วงเวลาหลังรัฐประหารราว 2 สัปดาห์ และปฏิบัติการกวาดจับผู้ต่อต้านนั้นยังค่อนข้างเข้มข้น พวกเขา 3 คนแรกถูกจับกลุมในมหาวิทยาลัยในเวลาประมาณ 21.40 น. หลังเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาและ รปภ.มหาวิทยาลัยออกตรวจตราและไล่นักศึกษาที่ยังนั่งเล่นอยู่ให้กลับบ้านก่อนเวลาเคอร์ฟิว
เมื่อเดินออกมาจากซุ้มที่นั่งไม่ถึง 50 เมตร นักศึกษาคนหนึ่งในนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่มหาวิทยาลัยเข้าควบคุมตัว
“ทหารมารวบตัวมาจากสามทาง เพราะตรงนั้นเป็นสี่แยก เพื่อนคนนั้นยืนเอามือล้วงกระเป๋าสะพายแล้ว ทหารคงผิดสังเกต เพราะล้วงกระเป๋านานเกินไป กลัวมีอาวุธละมั๊ง เลยเข้ารวบตัวเลย ทหารที่เข้ามาชาร์จเพื่อนผม ทีแรกมาคนเดียว ถือปืนอูซี่ ยศน่าจะสิบเอก เข้ามาถึงล็อกคอเลย แล้วผลักและถีบขาข้างหนึ่งกะจะให้ล้มลง แต่ไม่ล้ม เลยเอาท้ายปืนอูซี่กระแทกใส่กลางหลัง เพื่อนก็นอนลง พอดีเราสองคนวิ่งมาทัน ทหารเขาก็เอาของในกระเป๋าเทออกมา เจอสติ๊กเกอร์ในกระเป๋าเพื่อนผม ส่วนผมกับน้องที่วิ่งมาติดๆ ไม่เจออะไร” คนหนึ่งในกลุ่มเล่าให้ฟัง
 

สิ่งที่เจอคือ สติ๊กเกอร์ 16 แผ่น โดยเจ้าตัวแจ้งทหารและตำรวจว่าเก็บได้ในบริเวณมหาวิทยาลัยแต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ อย่างไรก็ตาม ทหารตัดสินใจรวบตัวไปหมดทั้งสามคน โดยบอกว่าอีกสองคนแม้ไม่มีสติ๊กเกอร์ก็ผิดเพราะเป็นเพื่อนกันไม่ห้ามป 
“ตอนนั้นทหารมาเป็นหมู่แล้ว ประมาณ 9 คน มีอาวุธอูซี่ ยกเว้นผู้กองไม่มีอาวุธอะไร จากนั้นเจ้าหน้าที่กองกิจกรรมนักศึกษาก็ตามมา” หนึ่งในนักศึกษาเล่าและเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่กองกิจฯ พูดว่าจับตาดูพวกเขามานานแล้ว
“ผมก็ผิดหวังกับมหาวิทยาลัยนิดหน่อย เพราะเขาน่าจะปกป้องนักศึกษาก่อน เพราะมันเป็นพื้นที่เสรีภาพในการคิดการเขียน” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าว
นักศึกษาที่มีสติ๊กเกอร์ของกลางถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจ แยกจากอีกสองคน และถูกนำตัวไปชี้จุดที่อ้างว่าเก็บสติ๊กเกอร์ได้ รวมทั้งไปค้นห้องพักเพื่อหาของกลางเพิ่มเติม เขาเล่าว่า เมื่อถึงห้องเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย ตำรวจ 3 นายได้ร่วมกันตรวจค้นห้องพัก ซึ่งเขาแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าห้องดังกล่าวเป็นห้องของแฟนสาว เขาจะมาพักอาศัยในช่วงที่ต้องลงมาสอบเท่านั้น
“ระหว่างนั้นทหารก็คุยด้วยเยอะอยู่ เป็นเชิงอบรมว่าทำไปทำไม คนที่มียศร้อยโทจะพูดเพราะหน่อย คุณเอาเอกสารมาจากไหน ใครจ้างคุณมา คุณทำเพราะอะไร คุณคิดยังไงคุณถึงทำ ตอนตรวจค้นห้องพักก็ตรวจบนฝ้าเพดานด้วย ยกเตียง ค้นหนังสือ เขาจ้องหนังสือรวมบทสัมภาษณ์เรื่องประชาชนต้านรัฐประหาร มีการเอาหนังสือมาวางไว้บนเตียงนอนแล้วถ่ายรูป เจอพวกหนังสือลัทธิมาร์กซ์ เลนิน เขาก็ถ่ายรูปไว้”
“ผมอ่านหนังสือพวกนี้อยู่บ้าง ศึกษาเรียนรู้เฉยๆ เอาไว้วิเคราะห์สังคม อีกเล่มคือ ขบวนการล้มเจ้ารัสเซีย เขาเอาหนังสือมาถ่ายรูปก็จะกลับแล้ว แต่ตำรวจเห็นเสื้อนิติราษฎร์ก็บอกทหาร ทหารก็ถ่ายรูป แล้วก็เจอสติ๊กเกอร์ในห้อง ‘แก้ 112 ไม่ใช่ล้มเจ้า’ ก็ถ่ายรูปไว้อีก ตอนนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัยมากเหมือนมีของผิดกฎหมายในครอบครองเลย”  นักศึกษาผู้ถูกคุมตัวเล่า
นอกจากนี้ในกระเป๋าของเขา ทหารยังพบหนังสือตำบลช่อมะกอก ของวัฒน์ วรรลยางกูร
"เขารื้อกระเป๋าผมตอนอยู่ในแล้วเจอ แล้วก็อีกเรื่อง การก่อกำเนิดของลัทธิมาร์กซ์ ผมก็บอกเพิ่งมาอ่าน จนท.กองกิจก็มาชี้ว่า อ่านหนังสือวัฒน์ด้วย พวกอ่านอย่างนี้หัวมันจะออกซ้ายๆ"
หลังจากตรวจค้นห้องพักแล้ว ยังมีการนำกำลังไปตรวจค้นห้องของเพื่อนเขาที่ถูกจับมาด้วยกันด้วย จากนั้นทั้งหมดก็ถูกนำมาตัวมาที่สถานีตำรวจใกล้มหาวิทยาลัยในช่วงกลางดึก มีการทำประวัติและสอบสวนในคืนนั้นราวเที่ยงคืนกว่า ทั้งสามถูกแยกสอบในห้องที่ค่อนข้างมืด ไม่มีหน้าต่างและไม่รู้เวลากลางวันหรือกลางคืน โดยหนึ่งในนั้นเล่าว่าทหารถามถึงการเมืองในมหาวิทยาลัยและและถามถึงอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์บางคน ในขณะที่อีกคนหนึ่งเล่าว่า ทหารและตำรวจมุ่งถาม 3 ข้อหลัก คือ โดนใครจ้างมาและจ้างเท่าไร ทำเพราะอะไร มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร
“เขาถามว่าใครปลุกปั่นมึง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า พวกอาจารย์นี่ตัวดีเลย แล้วก็ถามว่าผมเรียนกับใคร ผมบอกเพิ่งไปรับจ้างแบกอ้อยแล้วกลับมาสอบ ไม่ได้เข้าเรียนมา มาแค่ช่วงสอบ เขาก็เช็ควันสอบว่าจริงไหม”  นักศึกษาคนหนึ่งเล่า
การซักถามเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองนั้นค่อนข้างเข้มข้นและละเอียดลออ สังเกตได้จากมีการซักถามถึงข้อความที่สกรีนบนเสื้อยืดของนักศึกษารายหนึ่งที่ถูกสอบด้วย
“เขาถามว่า อะไรคือ ‘พลังการเปลี่ยนแปลง’ ผมก็บอกไม่รู้ เขาก็บอกแล้วมึงใส่เสื้อนี้ได้ไง” นักศึกษารายนั้นเล่าและอธิบายว่า ข้อความดังกล่าวเป็นบทกวีที่สกรีนบนเสื้อชมรมกิจกรรม เขียนว่า “หลอมรวมคนหนุ่มสาว ให้เหมือนดาวที่พราวแสง พลังการเปลี่ยนแปลง นั่นคือแสงสัจธรรม”
พวกเขาได้นอนไม่กี่ชั่วโมง ก่อน 6 โมงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจปลุกพวกเขามาสอบปากคำอีกครั้ง โดยพยายามชี้แนะว่าให้บอกความจริง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการอ้างว่าเจอสติ๊กเกอร์ที่หน้าตึกเรียนแห่งหนึ่งนั้นไม่มีใครเชื่อ และหากไม่ให้ความร่วมมือก็จะต้อง ‘ถึงมือทหาร’ พร้อมกับบ่นว่าหากเป็นการดำเนินการของตำรวจส่วนเดียวก็คงจะทำสนวนและปล่อยตัวพวกเขาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว
“สติ๊กเกอร์ไม่กี่แผ่นปวดหัวชิ____”  คำสบถของตำรวจที่นักศึกษาจำมาเล่าให้ฟัง 
จนถึงราว 9 โมงเช้า พวกเขาจึงได้กินข้าวกินน้ำ สุดท้ายหนึ่งในผู้ถูกสอบก็ยอมตอบว่านำมาจากเพื่อนคนนักศึกษาคนที่ 4 โดยรับมาจำนวนไม่ถึง 20 แผ่น จากนั้นตำรวจรับปากนำกำลังเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบไปจับกุมและตรวจค้นห้องของนักศึกษาคนที่ 4 และยึดสติ๊กเกอร์ได้อีก 9 แผ่น 
“ตอนนั้นทหารยังไม่มา ตำรวจก็เรียกไปซัก เพื่อนคนสุดท้ายยอมรับว่าเป็นคนผลิตเอง จากร้านถ่ายเอกสาร ทำมาพันใบและแบ่งคนละครึ่งกับผม อ้าววว ผมบอกเอามาไม่ถึง 20 ใบ ตำรวจที่พาไปจับก็เรียกเลยบอก พวกมึงมานี่ มึงเขียนใบสารภาพใหม่ เพราะเขียนไม่ตรงกัน พอเขียนเสร็จทหารมาพอดี ถามคำถามเดิมแล้วก็รอนาย” ตัวเอกของเรื่องเล่า
ประมาณเกือบเที่ยง 4 คนถูกสอบอีกครั้งและโดนขังต่อจนเย็น
“ตอนทหารสอบ ก็ มึง กู ทุกคำ ถามว่าบ้านอยู่ไหน อะไร ยังไง สอบเสร็จประมาณสี่ถึงห้าโมงเย็น แล้วก็รอผู้พันของทหารมาคุยด้วย เขาก็คุยเรื่องประมาณว่าใครจ้างมา “ถ้าให้ความจริง กูจะกักตัวไม่นาน ถ้าไม่ให้ความจริงก็เป็นเดือน เจ็ดวันกูต่อได้”เขาว่าอย่างนั้น” 
“แนวคำถามเป็นเชิงแนวคิดเยอะ รัฐคืออะไร ถามเรื่องอุดมการณ์ เขาชอบถามวน กลับไปกลับมา  1-2 คำถาม ปาเข้าไป 20-30 นาที” นักศึกษาคนหนึ่งเล่า
 

ปิดตาพาตัวไปค่ายชั่วคราว พร้อมคำขู่ เตรียมขุดหลุมรอ

เหล่านักศึกษาเล่าว่า หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนระลอกสุดท้าย พวกเขาถูกนำตัวขึ้นรถตู้เก่าๆ ไม่มีทะเบียนในช่วงค่ำ และถูกข่มขู่ระหว่างทาง
“ออกมาทีแรกก็ยังไม่ปิดตา ทหารบอกว่าหลับไปเลย คิดถึงพ่อแม่ไว้ รู้ไหมจะเอาไปไหน รู้มั้ยว่าผิดคดีอะไร พวกผมก็ไม่ได้ตอบ พอกลับรถหน้า เขาก็ไปซื้อผ้าปิดตามาปิดตาพวกเรา ตอนที่ปิดตาก็จะกล่อมประสาททำให้เราหวาดกลัว มึงกลัวไหม มีการโทรเข้าเครื่องทหารคนหนึ่งแล้วบอกปลายสายว่า เตรียมข้าวไว้ 4 สำรับ ดอกบัว ด้ายสายสิญจน์ ขุดหลุมไว้ด้วย 4 หลุม ตอนนั้นกลัวๆ หวั่นๆ แล้วเขาก็คุยว่ารถตู้คันนี้ทำภารกิจมาเยอะแล้วนะ มึงรู้จัก พคท.ไหม แต่ผมคิดแง่ดีว่าเขาน่าจะทำให้เราหวาดกลัวแล้วถามมากกว่าจะทำอะไรจริงๆ” 
นักศึกษาคนเดิมเล่าว่า เมื่อถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งถูกจัดเป็นค่ายทหารชั่วคราว ทหารต้อนรับเหล่านักศึกษาด้วยถ้อยคำหยาบคาย และบอกว่าพวกเขาพยายาม ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ ซึ่งจะไม่มีใครสามารถทำได้
“แล้วก็มีคำถามประมาณว่ารู้จักการปกครองก่อน 2475 ไหม ผมบอกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วเขาก็บอกว่า ระบอบกษัตริย์นี่แหละ พอปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยก็ล้มลุกคลุกคลาน ปกครองกันไม่ได้ กูก็เลยต้องมาทุบโต๊ะไง แล้วก็ถามว่าพวกมึงอยากเป็นวีรบุรุษเหรอ  14 ตุลา มันเป็นแค่นิทานเรื่องหนึ่งเท่านั้น” 
จากนั้นก็พวกเขาก็แยกย้ายกันไปถูกสอบสวนอีกครั้ง หนึ่งในนั้นเล่าว่า เขายังคงถูกถามคำถามเดิมว่าใครจ้างมา และมีความพยายามปรับทัศนะ
“เขาถามว่า การปฏิวัตินี่มึงคิดยังไง ผมบอกว่า ในด้านหนึ่งมันก็ช่วยหาทางออกให้ประเทศได้ แต่ความจริงอีกด้านผมก็คิดว่า มันทำให้ผมเสียการเรียนรู้ไป ลงมาสอบก็ต้องเลื่อนอีก เสียเงิน เสียเวลา รอสอบหลังการปฏิวัติ ตอนนั้นผมพยายามจะตอบให้ดีที่สุดสำหรับการสอบสวน เขาก็บอกว่า เออ มันก็ต้องเป็นแบบนี้ แล้วเขาก็บอกว่า คิดว่ามาอยู่นี่พวกกูจะคิดถึงลูกคิดถึงเมียไหม แล้วเขาก็เปิดรูปลูกสาวให้ดู” 
ขณะที่อีกคนหนึ่งถูกพาตัวไปสอบในที่ที่ค่อนข้างมืด และถามถึงการอ่านหนังสือลัทธิฝ่ายซ้ายต่างๆ พร้อมกำชับว่า พ่อแม่ส่งให้มาเรียนไม่ใช่ให้มาทำแบบนี้

อย่างไรก็ตาม มีช่วงหนึ่งที่พวกเขาถูกถามว่า รู้จักสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หรือไม่ โดยทหารเชื่อว่า บก.ลายจุดน่าจะมีส่วนในการจ้างให้นักศึกษากลุ่มนี้ติดสติ๊กเกอร์ต้านรัฐประหาร นักศึกษาตอบว่าเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้จักหน้า
“ก่อนปล่อยเข้านอนที่วัด หัวหน้าทหารก็พูดว่าถ้านอนไม่หลับจริงๆ มีเก้าอี้อยู่แล้วก็มีเชือกอยู่นะ ผูกขึ้นไปข้างบนเลยจะได้หลับสบาย” นักศึกษารายหนึ่งเล่า
เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ที่คุมกองร้อยเข้ามาพูดคุยกับนักศึกษา ทั้งหมดยืนยันว่าคนนี้พูดจาด้วยอย่างดี ดูแลค่อนข้างดี แต่กว่าจะปล่อยตัวพวกเขาก็ราวเที่ยง จากนั้นมีการนำตัวมาที่สถานีตำรวจอีกครั้ง เพื่อเซ็นเอกสารเงื่อนไขการปล่อยตัวว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีก
เนื่องจากในช่วงที่ถูกจับเป็นช่วงสอบของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น จึงได้ถามไปว่าตกลงได้ไปสอบไหม
"วันนั้นผมมีสอบตอนบ่าย ปล่อยตอนเที่ยง ก็ยังพอไปทัน แต่สภาพของพวกผมตอนนั้นมันไม่พร้อมที่จะสอบแล้ว สุดท้ายก็เลยตัดสินใจไม่ไปสอบ ก็เสียเวลาไป"
แม้ว่าทุกอย่างจะผ่านไปแล้วและเมื่อมองย้อนกลับไปภายใต้สถานการณ์อันไม่ปกติของบ้านเมือง หลายคนอาจคิดว่าการละเมิดสิทธิลักษณะนี้ไม่รุนแรงนัก แต่สถานการณ์ช่วงนั้นภายใต้กำลังเจ้าหน้าที่อาวุธครบมือและการดำเนินการอันไม่รู้ชะตากรรม ติดต่อสื่อสารกับใครก็ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้สร้างความหวาดหวั่นให้กับนักศึกษาจากชนบทกลุ่มนี้ไม่น้อย
“ช่วงที่กลัวที่สุดคือช่วงปิดตาบนรถตู้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน เหมือนนานมาก เกือบๆ ชั่วโมง ทั้งที่มันใกล้มาก และตอนนอน นอนที่ค่ายชั่วคราวก็นอนไม่หลับเพราะกลัวว่าจะถูกอุ้มไปทำร้าย สื่อสารกับคนข้างนอกไม่ได้ โทรศัพท์โดนยึดหมด”
“ผ่านเรื่องนี้มาแล้ว พออกมาได้แล้วก็ต้องทำตามเงื่อนไข แต่ถามว่ายังจับหนังสือเล่มเดิมไหม ผมยังจับหนังสือเล่มเดิม ผมยังยืนจุดเดิม”  นักศึกษาคนหนึ่งว่า ในขณะที่อีกคนมองว่า “เงื่อนไขนี้มันไม่จริง นิยามการเมืองของเขาอาจหมายถึงการระดมคน ชุมนุม มองเห็นได้ชัด แต่นิยามการเมืองของผมมันอยู่ทุกที่ ใกล้ตัว มันอยู่ในทุกอย่าง”

เนติวิทย์เขียนจดหมายถึงปลัด ศธ. - เตือนอย่าวางยาพิษการศึกษาไทย


เนติวิทย์เขียนถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความไม่เห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาธิการขานรับนโยบายคณะรัฐประหาร รวมทั้งเรื่องบรรจุการร้องเพลงปลุกใจ แก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์ การนำค่านิยมที่พึงประสงค์ของ คสช. มาบรรจุในแผนปฏิรูปการศึกษา "นี่มิใช่การทำให้การศึกษาไทยย้อนหลังไปในสมัยรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมาละหรือ"
15 ก.ค. 2557 - เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสุทธิศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง "ขอให้ท่านทบทวนนโยบายการศึกษา อย่าวางยาพิษให้กับการศึกษาไทยและนักเรียนไทย" โดยแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปฏิรูปการศึกษาไทย โดยไม่เห็นด้วยที่กระทรวงศึกษาธิการขานรับนโยบายของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการร้องเพลงปลุกใจ แก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์ การนำค่านิยมคนไทยที่พึงประสงค์ฉบับคณะรัฐประหารมาปัจจุบันมาบรรจุในแผนปฏิรูปการศึกษาไทย "นี่มิใช่การทำให้การศึกษาไทยย้อนหลังไปในสมัยรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมาละหรือ"
โดยรายละเอียดของจดหมายมีดังนี้
000
จดหมายเปิดผนึก
15 กรกฎาคม พ.ศ.2557
เรียน นางสุทธิศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เรื่อง ขอให้ท่านทบทวนนโยบายการศึกษา อย่าวางยาพิษให้กับการศึกษาไทยและนักเรียนไทย
กระผมมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การปฏิรูประบบการศึกษาไทยในขณะนี้ แม้ว่าในช่วงนี้ผมจะไม่ได้ศึกษาอยู่ที่ประเทศไทยก็ตาม อย่างไรก็ตามผมยังคงสภาพความเป็นนักเรียนและผมเองก็ได้ผ่านประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจหลายอย่างของระบบการศึกษาไทยซึ่งหลายเรื่องจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปทันทีอาทิ การคิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม, ชั่วโมงในห้องเรียน และอำนาจนิยมของครูของฝ่ายบริหาร เป็นต้น ทั้งผมเองและเพื่อนนักเรียนนักศึกษาอีกจำนวนมากก็เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องมิได้นิ่งเฉย เช่นเดียวกับภาคประชาชนอื่นๆ ดังท่านน่าจะจำได้ว่าครั้งหนึ่งผมและเพื่อนเคยไปยื่นข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ สมัยนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีฯ ขณะนั้นท่านพึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดฯไม่ครบเดือน ท่านออกมารับหนังสือแทน อย่างไรก็ตามสีหน้าท่าทางกริยาของท่านก็บ่งบอกชัดเจนว่าท่านเห็นพวกเรานักเรียนนักศึกษาที่มายื่นข้อเสนอเป็นอย่างไร ผมยังจำได้ดี อย่างไรก็ตามผมไม่ขอเอ่ยในที่นี้
ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วว่ากระผมรู้สึกเป็นห่วงยิ่งต่อสถานการณ์ปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้อย่างมาก แม้ว่านักวิชาการ นักการศึกษาบางคนจะเห็นว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีก็ตาม แต่เหตุใดผมถึงรู้สึกเช่นนี้ละหรือก็เพราะเราย่อมทราบจากการเรียนอยู่แล้วว่า รัฐเผด็จการย่อมมิต้องการให้คนคิดคนกล้าแสดงออกต่อต้านพวกเขา พวกเขาจะพยายามทำให้คนยอมรับและอยู่ภายใต้อำนาจของเขา สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยการปกครองยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร กระผมไม่คิดว่าในวันนี้จะเกิดขึ้นอีก แต่ก็ได้เกิดขึ้นอีกแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยถูกปกครองโดยระบอบทหารกระทรวงศึกษาธิการเองซึ่งท่านเป็นรักษาการรัฐมนตรีฯอยู่นั้นก็ออกมาขานรับให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติเช่น การร้อง การฟังเพลงปลุกใจในโรงเรียน เป็นต้น ในระดับนโยบายเช่นแก้ไขวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับความคิดของ คสช, การนำค่านิยมคนไทยที่พึงประสงค์ฉบับคณะรัฐประหารมาปัจจุบันมาบรรจุในแผนปฏิรูปการศึกษาไทย เป็นต้น นี่มิใช่การทำให้การศึกษาไทยย้อนหลังไปในสมัยรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมาละหรือ ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงสมัยแห่งเทคโนโลยี ความเป็นสมัยใหม่รวมถึงหลังสมัยใหม่แล้วด้วยซ้ำ กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเสริมและพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นมิใช่หรือ ใยกลับออกนโยบายเพื่อให้นักเรียนไทยย้อนกลับไปในยุคก่อนสมัยใหม่ ก่อนหน้าประชาธิปไตย ไม่ต้องคิดอ่าน และยัดเยียดพวกเขาให้เชื่อฟังทำตามอย่างเดียวหรือ กระทรวงศึกษาธิการ ถ้าท่านและคนที่อยู่ในกระทรวงฯ เป็นคนมีความคิดความอ่านก็น่าจะถอยออกจากนโยบายที่ผิดพลาดนี้ ไม่ทำตัวเป็นคุณแม่รู้ดีว่า นักเรียนต้องอย่างนี้อย่างนั้นตามท่าน ให้พวกเขาสามารถมีความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเองบ้าง
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าท่านเองก็คงรู้และรู้สึกไม่ค่อยดีกับการขานรับตามนโยบายคณะรัฐประหารอย่างออกหน้าออกตา โดยท่านอาจคิดว่าเป็นข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้านาย แต่โปรดคิดด้วยว่า นโยบายที่ท่านได้ขานรับ ได้ประดิดประดอยเอาใจคณะรัฐประหารนั้นเป็นการทำลายคุณค่าของนักการศึกษาที่ท่านอ้างว่าตัวเองเป็น เป็นการทำลายนักเรียนนักศึกษาในขณะนี้และอนาคต และสิ่งที่ท่านพูดต่อไปเช่น เด็กไทยมีปัญหาเรื่องการคิดตั้งคำถาม การเป็นตัวของตัวเอง เป็นต้น คำพูดเหล่านี้ก็จะกลับมาทำร้ายตัวท่านเอง เพราะท่านไม่มีหลักการทางการศึกษา และสร้างพิษร้ายให้เด็กไทย ในส่วนการเป็นข้าราชการนั้น ถ้าเดินตามลมตามคำสั่งซึ่งมาจากเผด็จการนั้น ศักดิ์ศรีอยู่ที่ไหน คุณค่าในการทำงานของตนเองอยู่ที่ไหน
ขอให้ท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โปรดพิจารณาสิ่งที่ผมได้กล่าวไว้ในที่นี้อย่างตรึกตรองยิ่ง การลาออกจากตำแหน่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับท่าน แม้ตำแหน่งนี้จะสูงค่าสูงส่ง แต่การมีความกล้าหาญทางจริยธรรมทำในสิ่งที่ถูกต้อง รักษาจุดยืนในทางคุณธรรม สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคน ทุกการกระทำการตัดสินใจของท่านมิได้ส่งผลต่อท่านคนเดียวหรือในกระทรวงฯ โปรดตราไว้ แต่รวมถึงคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาไทย รวมถึงคนรุ่นอนาคตด้วย
ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่งยวด
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
สาธารณรัฐอินเดีย

ปัจฉิมลิขิต: ผมมีความเชื่อมั่น และความหวังอย่างมากที่ท่านจะตอบจดหมายของผม มิใช่ว่าท่านต้องลดความสูงส่งของตนมาตอบแต่เป็นมารยาทที่พึงทำอยู่แล้ว ดังก่อนหน้านี้ผมส่งจดหมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ดี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในอดีตก็ดีล้วนตอบจดหมายผมทั้งนั้นจะสั้นจะยาวมีสาระหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ไม่นานนี้ผมเขียนจดหมายถึงหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. แม้เขาจะไม่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับผม แต่เขาไม่ไยดีจะตอบจดหมายเอาเลย โดยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ รวมถึงการมาสู่ชนชั้นปกครองที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน มิได้ทำให้เขาตระหนักหรือว่าเป็นมารยาทอันพึงมี

อดีตแกนนำต้านโรงไฟฟ้าภาคตะวันออก ยิงตัวเองสาหัส


15 ก.ค.2557 มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์เดลินิวส์ว่า อดีตแกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน สุทธิ อัชฌาศัย ยิงตัวเองด้วยอาวุธปืนที่ศีรษะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า วันนี้ ร.ต.ท.อุดม ศรีสงค์ พนักงานสอบสวน สภ.อ.ระยอง รับแจ้งเหตุชายใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายในกระบะได้รับบาดเจ็บที่หน้าบ้านใน ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง จึงพร้อมด้วย พ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ รอง ผกก.สส. รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบรถกระบะโตโยต้า สีเขียว ไม่ทราบทะเบียนจอดอยู่ ภายในพบร่างนายสุทธิ อัชฌาศัย อดีตแกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด .38 เข้าที่ขมับ 1 นัด ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
เดลินิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า มารดาของนายสุทธิให้การต่อเจ้าหน้าที่ โดยกล่าวว่าก่อนเกิดเหตุนายสุทธิมาถามเรื่องกินข้าว ก่อนจะเดินไปขึ้นรถกระบะ จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จึงรีบวิ่งมาดูและพบว่านายสุทธิได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเอง แต่ยังไม่เสียชีวิต จึงแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่

‘สไนเปอร์บนราง BTS’ โผล่ฉากรบสวนลุมฯ เกมดัง ‘Battlefield 4’


‘Battlefield 4’ เกมดังแนวแอคชั่น ปรากฏฉากสวนลุมพินี สมรภูมิที่มีทั้งสวนสาธารณะ ตึกสูง โบสถ์ พร้อมสไนเปอร์บนรางรถไฟฟ้า BTS คล้ายเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค. 53 หน้าวัดปทุมฯ
15 ก.ค. 2557 หลังจากเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา DICE บริษัทไดซ์(DICE) ผู้พัฒนาเกมแบทเทิลฟิลด์ (Battlefield) ได้ประกาศทางหน้าเว็บไซต์ของ Battlefield 4 อย่างเป็นทางการออกมาแล้วว่าจะมีฉากสวนลุมพินีเป็นหนึ่งในสี่ฉากใหม่ที่จะมาพร้อมกับ Battlefield 4 Dragon’s Teeth DLC และจะใช้ชื่อฉากว่า “Lumpini Garden”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมามีผู้เผยแพร่ฉากดังกล่าวผ่านยูทูปโดย user ชื่อ ‘LevelCapGaming’ โดยคลิปที่ชื่อว่า ‘Lumphini Garden Map First Look! - Battlefield 4 Dragon's Teeth Maps’ เป็นคลิปยาว 3.36 นาที โดยจะเห็นตัวฉากดังกล่าวโดยรวมและสภาพแวดล้อม เช่น ตึกสูง สวนสาธารณะ อาคารคล้ายโบสถ์วัด ที่อยู่รายรอบแผนที่ รวมถึงมีสถานีและรางรถไฟฟ้า BTS ที่ให้ผู้เล่นสามารถขึ้นไปส่องสไนเปอร์ซุ่มยิงคนลงมาด้านล่างได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่าฉากในเกมดังนี้คล้ายสวนลุมพินีกับวัดปทุมวนารามผสมกัน รวมทั้งฉากที่มีคนแต่งกายในชุดทหารขึ้นไปซุ่มยิงบนรางรถไฟฟ้า BTS เหมือนภาพที่ปรากฏในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ที่บริเวณหน้าวัดปทุมฯ วันที่ 19 พ.ค. 53  
โดยในเหตุการณ์บริเวณหน้าวัดปทุมฯ นั้นมีผู้เสียชีวิต 6 คน และเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งในการไต่สวนการตายทั้ง 6 คน ว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ และจากกระสุนปืน .223 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ รวมทั้งศาลเชื่วานทั้ง 6 คน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา นอกจากนี้ศาลยังระบุด้วยว่าไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ
สำหรับเกมแบทเทิลฟิลด์นั้นเป็นเกมดังที่เป็นที่รู้จักของผู้นิยมล่นเกมจำนวนมาก เป็นเกมในแนวแอคชั่นที่มาลักษณะให้ผู้เล่นเป็นผู้ยิงศัตรูในสงครามหรือปฏิบัติการรบในสถานที่ต่างๆ
สำหรับฉากสวนลุม ที่ปรากฏในแบทเทิลฟิลด์ 4 นี้ blognone.com รายงานไว้ว่าเป็นเนื้อเรื่องของภาคเสริมตัวนี้จะต่อเนื่องจากภาคหลัก ซึ่งเป็นสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ที่แผ่ขยายอาณาเขตของสงครามมาเรื่อยๆ จนรุกล้ำเข้าเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งงานนี้ประเทศที่โดนผลของสงครามนี้ก็คือ จีน, ฮ่องกง, เกาหลีเหนือ และประเทศไทย
ทั้งนี้เมื่อปลายปี 56 กระทรวงวัฒนธรรมของจีนได้ประกาศให้เกมแบทเทิลฟิลด์ 4 นี้ เป็นเกมผิดกฎหมายและนอกจากห้ามขายเกมแล้ว พร้อมทั้งสั่งห้ามเผยแพร่ข่าว ภาพ ข้อมูลใดๆ ของเกมนี้ รวมถึงสั่งลบข่าวหรือข้อมูลของเกมที่เคยโพสต์ไปแล้วบนเว็บในประเทศจีนภายใน 24 ชั่วโมงหลังคำสั่งออกด้วย เหตุผลในการแบนเกมนี้เกิดจากกระทรวงวัฒนธรรมจีนมองว่าเนื้อหาในเกมที่ให้จีนเป็นผู้ร้าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการรุกรานทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก

ศาลอุบลราชธานีนัดพิพากษาคดี 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 31 ก.ค.นี้


เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีการนัดไต่สวนแพทย์ผู้ทำการรักษา นาย พ. อายุ 27 ปีจำเลยในคดี 112 ซึ่งมีอาการป่วยทางจิต โดยแพทย์ระบุว่าตรวจจำเลยในปี 57 พบว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และแพทย์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยป่วยทางจิตก่อนกระทำความผิดในปี 55 หรือไม่  
จากนั้นศาลได้นัดพิพากษาคดีในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
นาย พ. ถูกตำรวจหน่วยสืบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และตำรวจภูธรในพื้นที่อุบลราชธานีจำนวนหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวที่บ้านเมื่อวันที่ 16 มี.ค.55 โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขาใช้บัญชีเฟซบุ๊คทั้งหมด 3 บัญชี  โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.57 อัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิด 9 กรรม เขาจึงถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.57 มีการนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ โดยทนายแถลงขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาเนื่องจากต้องการเขียนคำแถลงประกอบคำรับสารภาพว่าจำเลยทำไปด้วยความคึกคะนอง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้สายลับมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขา โดยใช้ชื่อในเฟซบุ้คว่า Tangmo Momay เข้ามาตีสนิท ยั่วยุให้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ และมีการโทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยผู้ต้องหาอ้างว่าได้เห็นบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นถูกถอดเทป และนำมาใช้เป็นหลักฐานของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิ.ย.57 รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 44 ลงวันที่ 1 มิ.ย.57 คำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้นาย พ. เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.57 หลังจากนั้น นายพ.ได้เดินทางเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 คืนด้วย