วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กสทช. เผยบล็อกเว็บผิด ก.ม.แล้วกว่า 6.3 พัน URL ยังเหลือเฟซบุ๊ก 131 URL ขีดเส้นตาย 16 พ.ค.นี้


กสทช. เผยสั่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตปิดกั้นเว็บผิดกฎหมายแล้ว 6300 URL จาก 6900 URL ขณะที่เฟซบุ๊กบล็อกผิด พ.ร.บ.คอมฯ ม.112 ม.116 แล้ว 178 URL ยังเหลือ 131 URL ย้ำมีหมายศาลในส่วนนี้แล้ว ขีดเส้นตาย 16 พ.ค.นี้ หากยังไม่ปิดเตรียมเชิญคุย
11 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 พ.ค. 60) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม ร่วมกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (ISP) และ International Internet Gateway (IIG) จัดการประชุมติดตามผลการดำเนินการเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์
ฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ติดตามกรณีมีหมายศาลขอความร่วมมือไปที่ ISP ให้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ ที่ผิดกฎหมายในขณะนี้ ซึ่งขณะนี้ครบกำหนด 7 วันตามที่ กสทช. ได้แจ้งไปแล้ว ซึ่งทางสมาคม ISP ได้ให้ความร่วมมือกับ กสทช. ในการดำเนินการเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ฐากร กล่าวต่อว่า ในส่วนของเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีหมายศาลไปแล้ว ทางกระทรวงดีอีได้ส่งเรื่องมาให้กสทช. และกสทช.ได้ส่งต่อไปที่ผู้ให้บริการ ISP ทั้งหมด ขณะนี้มีเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย กว่า 6900 URL และได้มีการปิดกั้นไปแล้วกว่า 6300 URL โดยที่ยังค้างในระบบที่ต้องเข้ารหัส หรือที่เรียกกันว่า encrypt คือไม่สามารถดำเนินการลบเองได้ ที่สำคัญได้แก่ เฟซบุ๊ก ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถปิดกั้นได้ ตามรายงานของ ISP ข้อมูลปัจจุบัน มี 309 URL ที่ผิดกฎหมาย ได้ดำเนินการทำจดหมายไปถึงเฟซบุ๊กแล้ว ซึ่งแม้ไม่ได้รับการตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เฟซบุ๊กได้มีการปิดกั้นไปแล้ว 178 URL และมีที่ยังสามารถเข้าถึงได้อยู่ 131 URL ซึ่งเป็นเพจในเฟซบุ๊กที่ยังไม่ได้ปิดกั้นแต่มีหมายศาลในส่วนนี้แล้ว
เลขาธิการ กสทช.  กล่าวอีกว่า ทางกสทช. ประชุมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงได้กำหนดระยะเวลาในการปิดกั้นเว็บไซต์จนถึงวัน 16 พ.ค. นี้ โดย กสทช. กระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานทางด้านความมั่นคง จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบผู้ให้บริการ ISP ที่ให้บริการอยู่ว่า เว็บไซต์ต่างๆ ที่ได้มีหมายศาลไปแล้วว่ายังมีค้างอยู๋ในระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ายังค้างในระบบก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากยังมีเว็บไซต์ต่างๆ ที่ค้างอยู่ในระบบก็จะเชิญคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊ก ก็จะเชิญเฟซบุ๊กจากสาขาประเทศไทยมารับทราบ และจะดำเนินการปิดกั้นและตรวจสอบให้สอดคล้องกับหมายศาล ให้เป็นไปตามความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ทั้งนี้จะดำเนินการไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้งานของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเว็บไซต์ที่ กสทช. และ ISP ดำเนินการและกำลังดำเนินการปิดกั้น ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่า มีเนื้อหาที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 โดยแบ่งประเภทเป็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยุยงปลุกปั่น ขัดศีลธรรมอันดี สร้างความแตกแยก และอื่นๆ

ไม่บรรจุพยาบาลเพิ่ม 'วิษณุ' แจงเป็นผลจากปฏิรูปราชการตั้งแต่ รบ.ทักษิณ ตรึงอัตรากำลังได้ 4 แสน


กรณีพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขู่ลาออก หลัง ครม.ไม่อนุมัติบรรจุเข้ารับราชการ 'วิษณุ' แจงเป็นผลที่น่าพอใจจากการปฏิรูประบบราชการ ตั้งแต่ รบ.ทักษิณ ที่สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ 4 แสน  ด้าน สธ.ถกด่วน
11 พ.ค. 2560 จากกระแสความไม่พอใจของกลุ่มพยายบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ถึงขั้นขู่ลาออก หลังเมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ผุดแคมเปญชวนพยาบาล ค้าน ครม.ไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพใหม่กว่าหมื่นอัตรา )
ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.60) เวลา 11.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราการพลเรือน (ก.พ.) จะชี้แจงหรืออาจจะชี้แจงไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบหลายครั้ง
"ได้ผ่อนให้ไปจำนวนมากแล้วหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข จะเอาอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งบางคนอาจสมประโยชน์ และที่ไม่สมประโยชน์ เป็นเรื่องของทางกระทรวงสาธารณสุข แต่สิ่งที่ก.พ. ออกคำชี้แจงไปถือว่าชัดเจนแล้ว อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน" วิษณุ กล่าว
ต่อกรณีคำถามถึงเหตุผลที่ไม่เปิดบรรจุพยาบาลวิชาชีพ เนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าจะตอบว่าไม่จริง ไม่เกี่ยวกับการประหยัดมันก็ไม่ใช่ เพราะต้องประหยัด แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ ยังมีอีกหลายเหตุ เพราะถ้าเอาตามอัตราที่แต่ละกระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้บรรจุ ก็ต้องเพิ่มอัตรากำลังอีกเป็นแสนคน
"ในขณะที่วันนี้ข้าราชการทั่วประเทศ ตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ทำปฏิรูประบบราชการในปี 2544-2545 สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ประมาณ 4 แสนคน ถือว่าน่าพอใจ หากจะเอาตามที่แต่ละกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มคนก็จะเพิ่มไปอีกประมาณ 1 แสนคน" วิษณุ แจกแจง
 
สำหรับคำถามว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ เมื่อเครือข่ายพยายาลวิชาชีพกลุ่มนี้ขู่ลาออก (30ก.ย.2560) หากไม่ได้รับการบรรจุนั้น วิษณุ กล่าวว่า ขอให้ฟังคำชี้แจงของ ก.พ.มีอะไร ก็ให้ทางกระทรวงสาธารณสุข เจรจาบอกความจำเป็น แต่อัตราที่ก.พ.ให้ไปก็เป็นจำนวนหมื่นอัตราแล้ว
 

สธ.ถกด่วน

ขณะที่ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ได้เรียกหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่ปรึกษาฯ, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข , รองปลัดฯและผู้แทนสภาการพยาบาล ประชุมด่วน โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีอัตราตำแหน่งข้าราชการที่ว่างอยู่เกือบ 10,000 ตำแหน่ง แต่ตำแหน่งดังกล่าวมีบุคคลที่จะเข้ารับการบรรจุอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถขยับบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆที่ว่างได้ เพราะในส่วนของตำแหน่งระดับบนๆ ที่จะต้องขยับยังไม่มีการขยับ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีคำตอบในเรื่องนี้

ปชช.โวยรัฐบาล คสช.จ้องแก้ ก.ม.บัตรทอง ลดสิทธิผู้ป่วย


เครือข่ายนักสื่อสารชุมชน เผยประชาชนกำลังจับตาร่างแก้ไข ก.ม.บัตรทองร่างแรกที่คาดว่าจะเผยแพร่กลางเดือน พ.ค.นี้ หลังจากปิดลับมานาน  ยันจะค้านอย่างถึงที่สุดหากลดเก้าอี้บอร์ดบัตรทองที่เป็นตัวแทนประชาชน

11 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ประสาร ประดิษฐโสภณ เครือข่ายนักสื่อสารชุมชน กล่าวว่า ในฐานะของภาคประชาชนที่เข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาสิทธิบัตรทองมาตลอด รวมทั้งการทำหน้าที่ของการเป็นสื่อวิทยุชุมชนด้วยการสื่อสารข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรทองให้ประชาชนได้รับทราบ ขณะนี้ภาคประชาชนและผู้ป่วยมีความกังวลเป็นอย่างมากกับการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่อง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขตั้งคณะกรรมการแก้ไขตั้งแต่ 9 ม.ค.60 แล้ว แต่ที่ผ่านมามีรายงานให้ประชาชนรู้น้อยมาก เหมือนต้องการงุบงิบทำ ล่าสุด พวกเราเพิ่งได้ทราบจากที่มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
ประสาร กล่าวว่า ประเด็นที่กังวลกันมากคือ แม้ว่ารัฐบาล คสช. ทั้ง รมว.สธ. นายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาลจะออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่มีการยกเลิกบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท แต่เท่าที่ดูประเด็นที่จะมีการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง เห็นว่าไม่ยกเลิกก็จริง แต่กำลังแก้ไขกฎหมายเพื่อลดสิทธิของประชาชนแทน
ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและผู้ให้บริการที่จะขอเพิ่มตัวแทนของ รพ.เข้าไปในบอร์ดบัตรทองมาตลอด ทั้งนี้ประชาชนเรียกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า บอร์ดบัตรทอง แต่สื่อมักเรียกว่าบอร์ด สปสช. แต่พวกเราเห็นว่านี่ไม่ใช่บอร์ดของ สปสช. แต่เป็นบอร์ดบัตรทองของประชาชน สปสช.เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างพวกเรา แต่ตอนนี้ก็มีสัญญาณชัดเจนว่า คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายชุดนี้ได้เสนอให้เพิ่มผู้แทน รพ.แต่ละระดับและแต่ละสังกัดเข้าไปในบอร์ด สปสช.อีก 7 คน และให้ปลัด สธ.เป็นรองประธานบอร์ด แบบนี้เท่ากับว่าจะเปลี่ยนบอร์ดบัตรทองที่เป็นตัวแทนประชาชนเป็นบอร์ดของโรงพยาบาลไป ประเด็นนี้น่ากลัวมาก ถ้าปล่อยให้แก้แบบนี้จริง สิทธิประชาชนถูกลิดรอนแน่นอน
“ผมนี่สิทธิบัตรทองเต็มขั้น ในฐานะสื่อเคยดูการถ่ายทอดสดประชุมบอร์ดบัตรทองหลายครั้ง แค่สัดส่วนบอร์ดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การจะเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อผู้ป่วยยังยากเลย จะถูกขัดขวางจากคนที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทุกครั้ง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า เขาเป็นตัวแทนใคร ก็ทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มนั้น แต่นี่กำลังจะแก้ไขให้บอร์ดที่มีหน้าที่ต้องเป็นตัวแทนประชาชน มาเป็นบอร์ดตัวแทน รพ. ตัวแทนผู้ให้บริการ แบบนี้สิทธิประชาชนถูกลดแน่นอน บัตรทองได้กลายเป็นระบบอนาถาแน่ เพราะจะมีข้ออ้างว่า เงินไม่พอ คนทำงานไม่พอ ทั้งที่เรื่องพวกนี้ต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงิน ไม่ใช่มาลดสิทธิประชาชน เพราะ 30 บาทคือการลงทุน ไม่ใช่ภาระ” ประสาร กล่าว
ประสาร กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนกำลังจับตาร่างแก้ไขกฎหมายบัตรทองร่างแรกที่คาดว่าจะเผยแพร่ได้ 16 หรือ 17 พ.ค.นี้ หลังจากปิดลับมานาน เพราะต้องใช้ร่างนี้สำหรับประชาพิจารณ์ แต่ภาคประชาชนจะคัดค้านอย่างถึงที่สุดกับการเปลี่ยนบอร์ดบัตรทองที่เป็นตัวแทนประชาชนไปเป็นบอร์ดของผู้ให้ รพ. ข้อเสนอให้เพิ่มตัวแทน รพ.เข้าไปในบอร์ดจะทำให้เจตนารมณ์ของบอร์ดบัตรทองที่ควรทำหน้าที่เพื่อประชาชนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
“ทุกวันนี้บอร์ดบัตรทอง 30 คน มีตัวแทนประชาชนแค่ 5 กับองค์กรปกครองท้องถิ่น 4 คนที่จะถูกปรับให้เหลือ 3 คน เพราะ อปท. ถูกยุบไป 1 ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ให้บริการ ไม่เคยทำหน้าที่แทนประชาชนเลย แทนที่จะแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจประชาชน กลับไปเพิ่มอำนาจรัฐมากขึ้น แล้วแบบนี้จะเชื่อใจได้อย่างไร ปากบอกไม่ล้ม 30 บาท แต่ตอนนี้ก็เห็นชัดเจนว่า จะลดสิทธิของประชาชนในระบบ 30 บาทแทน” ประสาร กล่าว  

ศาลไม่ให้ประกัน 'ทนายประเวศ' ชี้เป็นการกระทำที่ร้ายเเรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ทนายความขอไต่สวน พนง.สอบสวน ปอท. ผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง 'ทนายประเวศ' ขณะที่ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัว ให้เหตุผลเป็นการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนของประชาชน
11 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ค.60) เวลา 14.00น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดไต่สวนการฝากขัง ประเวศ ประภานุกูล ทนายความ ซึ่งเขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 กรรม, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 3 กรรม, และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้านทนายความขอไต่สวนพยาน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ในฐานะพยานถึงสาเหตุที่ขอฝากขังประเวศ ในครั้งที่ 2
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ทนายความของประเวศ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมหลักประกันเป็นตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยของเพื่อนประเวศ ตีเป็นหลักทรัพย์ 680,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัว ประเวศ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชน โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อันอาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรประกอบกับ พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจึงไม่อนุญาต
ศูนย์ทนายความฯ ยังรายงานด้วยว่า นอจากประเวศแล้ววันเดียวกันยังมีผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมควบคุมตัวเข้ามทบ.11 อีก 5 คน จากเหตุที่พวกถูกดำเนินคดีจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) เรื่องหมุดคณะราษฎร โดยทั้ง 6 คนถูกแยกกันดำเนินคดีคนละคดีจากการแชร์โพสต์เดียวกัน
สำหรับรายละเอียดการไต่สวนพยานต่อการขอฝากขังประเวศ ในครั้งที่ 2 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานกระบวนการอย่างละเอียดไว้ดังนี้
พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ให้การว่าเหตุที่ขอฝากขังเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนีและเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงว่าหากได้รับการปล่อยตัวจะเข้าไปแก้ไขหรือลบบัญชีเฟซบุ๊กจะทำให้ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่หรืออาจจะมีการโพสต์รุนแรงขึ้นเป็นการกระทำความผิดซ้ำได้ นอกจากนั้นยังมีพยานต้องสอบสวนอีก 6 ปาก
ทนายความถาม พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ว่า มีการสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ค้านการประกันหรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่า หากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี จะเป็นระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ค้านการประกันตัวผู้ต้องหาประกอบกับพิจารณาเป็นพฤติการณ์เฉพาะแต่ละคดีเเละหากเป็นคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะมีนโยบายให้มีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด
ในส่วนของพยานที่จะมีการสอบปากคำอีก 6 ปากนั้น จะเป็นพยานอาจารย์รัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าจะมีการสอบพยานคนใดบ้าง
นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ทำการบันทึกถ้อยคำในโพสต์เฟซบุ๊กของ ประเวศ ไว้แล้วทั้ง 13 ข้อความที่นำมาใช้ในการดำเนินคดีกับ ประเวศ
ทนายความจึงถามพยานว่าผู้ต้องหาจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักฐานที่มีการบันทึกไว้แล้วไม่ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่จะมีการเข้าไปแก้ไขในเฟซบุ๊กได้ ทนายความจึงถามต่อว่าการที่นายประเวศซึ่งเป็นผู้ต้องหาจะถูกขังอยู่หรือไม่ก็สามารถแก้ไขได้หากมีการมอบบัญชีผู้ใช้ (username) และรหัสบัญชีไว้แก่บุคคลใช่หรือไม่พยานตอบว่าสามารถทำได้
ทนายความจึงถามพยานต่อไปอีกว่าแล้วตั้งแต่ ประเวศ ถูกจับกุมจนถึงวันสุดท้ายที่พยานเข้าไปตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของ ประเวศ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ พยานตอบว่าจนถึงเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.60) เฟซบุ๊กของ ประเวศ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ
ทนายความได้ถามอีกว่านอกจากการมีบัญชีผู้ใช้และรหัสแล้วยังต้องมีคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวในการยืนยันตัวตนหากมีการเข้าใช้งานจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรตอบว่าไม่ต้อง สามารถเข้าใช้ได้หากมีชื่อบัญชีและรหัสเข้าใช้งาน  ส่วนของกลางที่เจ้าหน้าที่ทหารยึดได้ได้ส่งมอบให้แก่พยานหมดแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์และการจราจรของข้อมูลรวมถึงลายนิ้วมือเป็นงานในส่วนของหน่วยงานราชการ  ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งของกลางให้แก่กองพิสูจน์หลักฐานแล้วแต่พยานไม่ได้ทำสำเนาข้อมูลเอาไว้ และเนื่องจากงานของกองพิสูจน์หลักฐานมีเป็นจำนวนมากการตรวจสอบจึงใช้เวลาเกินกว่า 30 วันแน่นอน
ทนายความถามต่อว่าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือศาลไม่ฝากขังก็ไม่รบกวนการสอบปากคำพยานใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สัณเพ็ชรตอบว่าสามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้แต่เกรงว่า ประเวศ จะหลบหนีเป็นอุปสรรคต่อการนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาล
ขณะที่ ประเวศ แถลงต่อศาลว่าหากได้รับการปล่อยตัวสัญญาว่าจะไม่หลบหนีและไม่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และหากได้รับหมายเรียกหรือได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนก็จะยินยอมไปพบเจ้าหน้าที่
ประเวศ ให้เหตุผลในการคัดค้านว่า ตนถูกทหารหลายนายเข้าจับกุมจากบ้านพักไปที่มทบ.11 ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. โดยไม่ได้มีการแจ้งหมายจับของศาลแต่อย่างใดและได้ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและทรัพย์สินอย่างอื่นไปด้วย ระหว่างการควบคุมตัวที่ค่ายทหารตนไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิและไม่สามารถแจ้งญาติหรือบุคคลอื่นว่าตนเองถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารได้ เป็นเวลา 4วัน จนได้พบพนักงานสอบสวนในวันที่ 3พ.ค. จึงได้รับแจ้งข้อกล่าวหาและทราบว่ามีหมายจับ ตนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่ต้น
นอกจากนั้น ประเวศ ไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ เพราะพนักงานสอบสวนได้ถามคำให้การเสร็จสิ้นแล้วและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฮาร์ดดิส และแฟลชไดรฟ์ซึ่งเป็นของกลางในคดีพนักงานสอบสวนก็ได้ยึดไปแล้วผู้ต้องหาจึงไม่สามารถไปยุ่งเหยิงได้อีก
ประเวศยังมีอาชีพเป็นทนายความมีภาระต้องขึ้นว่าความในศาลและเป็นตัวแทนให้แก่ลูกความในติดต่อราชการต่างๆ เป็นประจำ และมีคดีที่ต้องรับผิดดชอบเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทบต่อคดีที่ตนรับผิดชอบและลูกความจะได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และตนยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและหากจะติดตามตัวก็สามารถทำได้และหากพนักงานสอบสวนมีการเรียกก็ยินยอมที่จะไปพบโดยไม่มีเจตนาหลบหนีแต่อย่างใด
ประเวศชี้เเจงต่อไปว่า ตนยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่าได้กระทำความผิดจริง หากมีการขังระหว่างการสอบสวนย่อมเป็นการคุมขังเกินจำเป็น ทั้งยังกระทบสิทธิในการต่อสู้คดี และรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐภาคีที่จะต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” หากศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายประเวศก็จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายและได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากลจะเป็นผลดีต่อประเทศ
คดีนี้ ประเวศ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เช้าวันที่ 29 เม.ย. 2560 โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมเพราะเหตุใด ก่อนจะพาตัวไปที่ มทบ.11 เขาถูกสอบปากคำ และซักถามประวัติส่วนตัว ซึ่ง ประเวศ ให้ความร่วมมือ และยอมลงชื่อในเอกสาร เพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างนั้นเขาขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

'ไก่อู' มั่นใจคนส่วนใหญ่ทราบดี อะไรคือปัญหา หลังนักการเมืองอัด 3 ปี รบ.สอบตก


ปมนักการเมือง ปชป.-พท. อัด รบ.3 ปีที่ผ่านมา สอบไม่ผ่าน โฆษกประจำสำนักนายกฯ โต้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทราบดีว่า อะไรคือปัญหาและอุปสรรค และความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร แนะนักการเมืองพิสูจน์ให้ ปชช.เห็นว่าจะไม่สร้างปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล11 พ.ค. 2560  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยบางคน วิจารณ์รัฐบาลว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสอบไม่ผ่าน และยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จนั้น ถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลที่จะวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลคงไม่สามารถไปบังคับได้ ส่วนการให้คะแนนก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนักการเมือง แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทราบดีว่า อะไรคือปัญหาและอุปสรรค และความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร  
“รัฐบาลเดินหน้าตาม Roadmap ที่ได้ประกาศไว้ คือ การหยุดยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปี 57 และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถดำเนินการได้จนเป็นที่ยอมรับ กระทั่งจัดให้มีการวางกฎกติกาของบ้านเมือง เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.หลายฉบับ ที่จะช่วยขจัดปัญหาเรื้อรังในทุกด้าน เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง ทั้งการปราบปรามการทุจริตทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนและประมงผิดกฎหมาย การปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs และกลุ่ม Start up การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านประชารัฐ การจัดสรรที่ดินทำดิน การเก็บภาษีที่ดินและมรดก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลปกติทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะคำนึงถึงแต่ฐานเสียงของตนและติดกับดักของความขัดแย้ง” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจที่ประชาชนยังอาจรู้สึกว่าไม่พอใจมากนัก ทั้ง ๆ ที่ผลการประเมินหลายด้านของต่างประเทศดีขึ้นตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 57 ที่มีการอุดหนุนจากภาครัฐมากเกินไป จนเกิดความต้องการเทียม เช่น โครงการรับจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก ทำให้ผู้ผลิตประสบปัญหาจากราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และยังเป็นช่องทางของการทุจริตสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่จากนี้ไปทุกอย่างจะดีขึ้นเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไกตลาด และการใช้ศักยภาพของผู้ผลิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริง 
ทั้งนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนติดตามการแถลงผลงาน 3 ปีของรัฐบาล ในห้วงประมาณเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม นี้ เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาอาจมีการบิดเบือนข้อมูลโดยผู้ไม่หวังดี และข่าวสารต่าง ๆ ที่ถูกต้อง อาจไปไม่ถึงประชาชน เพราะคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่อาจมีทั้งข้อมูลจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
ส่วนประเด็นเรื่องการรวบอำนาจนั้น พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ผู้ที่วิจารณ์คงไม่เข้าใจเจตนาที่แท้จริง โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ขัดข้องกับการกระจายอำนาจและคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางอย่างต้องย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร เช่น การจัดการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตในระดับปฏิบัติ และการบริหารงานขาดเอกภาพ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน จึงอยากให้คำนึงถึงความเป็นจริงด้วย
"ขอเรียนย้ำว่าเป้าหมายของรัฐบาลคือ การยุติความขัดแย้งและวางรากฐานการปฏิรูปประเทศ สร้างความปรองดองในอนาคต ซึ่งบางเรื่องได้เริ่มดำเนินการแล้ว ดังนั้น หากนักการเมืองและพรรคการเมืองมีความตั้งใจจริงที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนี้ ก็จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าตนทำได้จริง และไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศเหมือนเช่นที่ผ่านมา" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

จับ อดิศักดิ์ สกุลเงิน ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายที่ 7 โดน ม.112 เหตุแชร์ภาพพระอิริยาบถส่วนพระองค์

จับชายวัย 53 คอการเมืองนักรบไซเบอร์  พนักงานสอบสวนระบุเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาจริง แต่ขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจอ้างเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ค้านประกันตัว พร้อมเปิดข้อมูลโดยสังเขป 7 ผู้ต้องขังคดี 112 จากคดีแชร์/ โพสต์เฟซบุ๊กในสัปดาห์ที่ผ่านมา
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2560) จากข่าวว่าได้มีการจับตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่ออดิศักดิ์ สกุลเงิน ในข้อหา หมิ่นสถาบันกษัตริย์ ม.112 จึงได้สอบถามไปที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภาวิณี ได้ยืนยันว่าได้มีการจับกุมตัวนายเอกฤทธิ์ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) ผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยใช้นามแฝงว่า อดิศักดิ์ สกุลเงิน โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัวมาขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญารัชดา จากการถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3),(5) โดยผู้ต้องหาได้กระทำการโพสต์และแชร์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถส่วนพระองค์ พร้อมเขียนข้อความประกอบ ลงในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อดิศักดิ์ สกุลเงิน ” ซึ่งผู้ต้องหารับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กจริง และเป็นผู้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายเมื่อตามวันเวลาที่เกิดเหตุ รวมทั้งพบข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหา ยืนยันการใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก อดิศักดิ์ สกุลเงิน

ภาวิณีกล่าวว่า ในชั้นจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ได้ขอให้มีการอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 และไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว
(เพิ่มเติม) จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า  ร.ต.จักรกฤษ สุขระบิล พร้อมพวก ได้นำตัวนายเอกฤทธิ์ ซึ่งถูกควบคุมไว้ที่ พัน ร.มทบ.11 มาส่งมอบให้ กก.3 บก.ปอท. รับตัวไว้ดำเนินคดี จากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับศาลอาญาที่ 1136/2560 ลงวันที่ 9 พ.ค.60
เหตุผลในการยื่นคำร้องขอฝากขัง พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและควบคุมผู้ต้องหามาโดยตลอด จะครบ 48 ชั่วโมง ในวันที่ 13 พ.ค.60 หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากจะต้องสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 ปาก, รอผลการตรวจสอบการใช้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์, ตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือของผู้ต้องหา และผลการตรวจสอบลายพิมพ์มือ จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-22 พ.ค.60
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว


เบื้องต้น 7 ผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางเมืองบนเฟซบุ๊กมีข้อมูลพอสังเขปดังนี้

ศรันย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อายุ 54 ปี ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112  ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3),(5) มีพฤติการณ์คือ แชร์ข้อความวันที่ 23 เม.ย. 60 จากเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul (โพสต์เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร) และแสดงความเห็นในหน้า wall เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา ผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว ศรันย์ได้ยื่นขอประกันตัวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการของตัวเองและเพื่อนนักวิชาการจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว
ประเวศ อายุ 57 ปี ทนายความ คดีดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล มาตรา 112 ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112,116 ตามประมวลกฎหมายอาญา  และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) มีพฤติการณ์คือ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสาธารณรัฐและข้อความอื่นๆ ในเฟซบุ๊ก“ประเวศ ประภานุกูล” จำนวน 10 ข้อความ ให้การปฏิเสธทั้ง 10 กรรม ประเวศเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เคยมีประวัติการให้ความช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตฟ้องเรียกร้องความเป็นธรรมจากการที่ที่บริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิตเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าเกินอัตรา และนอกจากนั้นประเวศยังเป็นทนายความในคดีคนเสื้อแดงและคดี 112 ที่จังหวัดอุบล
ชัชวาลย์ บัณฑิตหนุ่มคณะนิติศาสตร์ อายุ 24 ปี ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา   และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3),(5) มีพฤติการณ์คือ แชร์ข้อความวันที่ 23 เม.ย. 60 จากเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul (โพสต์เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร)  และแสดงความเห็นในหน้า wall เฟซบุ๊ก “Khonit Nakorn” ผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว ครอบครัวได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 800,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว
ดนัย อายุ 34 ปี ชาวเชียงใหม่ ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112,116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) จนถึงปัจจุบัน ครอบครัวของดนัยยังไม่ได้ลงมาเยี่ยม หรือยื่นขอประกันตัวแต่อย่างไร
วรรณชัย ลูกจ้างบริษัท  อายุ 42 ปี ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3),(5) มีพฤติการณ์คือ แชร์ข้อความวันที่ 14 เม.ย. 60, 18 เม.ย. 60, 20 เม.ย. 60 จากเพจ Somsak Jeamteerasakul ไปที่ wall เฟซบุ๊กของเขา  ผู้ต้องหายอมรับสารภาพทั้ง 3 กรรม ทางครอบครัวและเพื่อนของวรรณชัยได้รวบรวมหลักทรัพย์ทั้งหมดกว่าสองล้านบาทมาประกัน แต่ศาลไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว
ปณีต ครูผู้ช่วยสอนในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง อายุ 26 ปี ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมฯ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ครอบครัวของปณีตได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการยื่นขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตให้มีการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หากได้รับการประกันตัว
เอกฤทธิ์ อายุ 53 ปี ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3),(5) มีพฤติการณ์คือ แชร์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถส่วนพระองค์ วันที่ 6 เม.ย. 60 พร้อมเขียนข้อความประกอบ ลงในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อดิศักดิ์ สกุลเงิน“ เอกฤทธิ์ ยืนยันว่าตัวเองอยู่คนเดียวไม่มีญาติ และยังไม่ได้เตรียมการยื่นขอประกันตัว