Wed, 2015-04-08 12:35
รองนายกฯด้านกฎหมาย ชี้แจงคณะทูตานุทูต ปม.ใช้ ม.44 ยันไม่ใหม่ ใช้มาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์-ถนอม เทียบมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี 1958 ชี้คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสามารถต่อรองไม่ต้องรับความผิดได้ โดยการเข้ารับการอบรม
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย พร้อมด้วยพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตภ์วินัย รมช.ต่างประเทศ และนายพิริยะ เข็มพล รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวง เข้าร่วมบรรยายเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ให้คณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย สื่อมวลชนต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศได้รับทราบ
วิษณุกล่าวว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์ไม่ปกติ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาควบคุมและดูแลสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ในการปฎิรูปประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ในปัจจุบันการใช้มาตรา 44 เป็นเพียงการนำกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาในกรณีฉุกเฉิน และสามารถใช้ได้ในระยะยาว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาด้วยความระมัดระวังและใช้เท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
วิษณุ ระบุว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และได้เคยใช้อำนาจดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อยืดวาระผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในอนาคตจะใช้อำนาจตาม ม.44 อีก ในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นปัญหากรมการบินพลเรือน ปัญหาการเกษตร หรือการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากการใช้อำนาจปกติจะใช้เวลามากและไม่ทันการณ์ ดังนั้น มาตรา 44 จึงเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยช่องทางปกติ ไม่ใช่อาวุธในการกำจัดฝ่ายใด แต่เป็นการควบคุมสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงยังมีรายงานว่า มีผู้สร้างสถานการณ์ไม่ปกติ 5 กลุ่ม คือ ผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองในอดีต กลุ่มทุนทางเศรษฐกิจ หรือผู้มีอิทธิพลที่เสียประโยชน์จากการจัดระเบียบสังคม กลุ่มที่สร้างสถานการณ์ขัดขวางการดำเนินการตามโรดแมป กลุ่มที่สร้างสถานการณ์ความไม่สงบ และกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สังคม
วิษณุ กล่าวอีกว่า อำนาจที่คล้ายคลึงกับมาตรา 44 นี้ เคยมีมาแล้วในรัฐธรรมนูญในอดีตในช่วง 5 รัฐบาล ครั้งแรกในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อมาเป็นรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นการนำหลักการมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี 1958 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีฝรั่งเศสในการออกคำสั่ง หรือกระทำการใดๆที่จำเป็น เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้เหตุผลที่เลือกใช้อำนาจตามมาตรา 44 เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ รวมถึงกองทัพยังต้องการมีอำนาจพิเศษ ที่มีความชัดเจนกว่าในกฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องประกาศใช้โดยอ้างเขตพื้นที่เป็นหลัก ขณะที่ถ้าหากประกาศคำสั่ง คสช. จะอ้างฐานความผิดเป็นหลัก
วิษณุ กล่าวว่า นอกจากนั้น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสามารถต่อรองไม่ต้องรับความผิดได้ โดยการเข้ารับการอบรม เพื่อไม่ต้องถูกฟ้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในกฎหมายอื่น ซึ่งความแตกต่างในการใช้กฎอัยการศึก กับคำสั่งตามมาตรา 44 คือ 1.ประเทศไม่ได้อยู่ใต้กฎอัยการศึกอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีในเรื่องการท่องเที่ยว และลดความรุนแรงในสายตาประชาคมโลก 2.เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดต่อฐานความผิด 4 กลุ่มเท่านั้น 3.เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียก จับกุม ค้น ยึด เข้าในเคหะสถาน ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง และกักตัวผู้ต้องหาได้ 7 วันเท่านั้น 4.การชุมนุมทางการเมืองเป็นไปได้ หากมาขออนุญาตจากคสช. 5.ความผิดของผู้ฝ่าฝืนประกาศ คสช. สามารถยกเลิกได้ด้วยการเข้ารับการอบรม 6.คำสั่งมีความรุนแรงน้อยกว่ากฎอัยการศึก และมีวิธีการไต่สวนที่นำมาจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา และ 7.ผู้กระทำผิดตามฐานความผิด 4 ประเภท จะได้รับการไต่สวนโดยศาลทหาร ซึ่งสามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ และบางคดีอาจยกฟ้องได้ ทั้งนี นายวิษณุ ระบุว่า คสช. จะไม่ออกคำสั่งเพิ่มได้แล้ว ยกเว้นจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อีก การจับกุมผู้กระทำผิดประกาศ คสช. จึงเป็นความผิดตามฐานคำสั่ง เดิม เช่นการห้ามการชุมนุม
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวว่า เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง เกิดการปลุกระดม ให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กฎหมายในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้เท่าที่จำเป็น และมีการปฏิบัติตามหลักสากล คำนึงถึงหลักสิทธมนุษยชน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้ยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว และได้อาศัยมาตรา 44 ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และปราบปรามการกระทำผิดใน 4 เรื่อง คือ 1.ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113-118 3.ความผิดว่าด้วยอาวุธสงคราม และ 4.ความผิดต่อการฝ่าฝืนคำสั่งประกาศคสช.
อย่างไรก็ตามหากทั้ง 4 เรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นตัวบั่นทอนการพัฒนาประเทศและขัดขวางความปรองดองของคนในชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวสาร และการงดการชุมนุมทางการเมือง
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลและคสช.มีช่องทางในการเสนอความคิดเห็นทางการเมืองอยู่แล้ว และขอยืนว่าทั้งการใช้กฎอัยการศึก หรือคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การใช้มาตรา 44 เป็นเพียงเครื่องมือเสริมพิเศษในการดูแลชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนเท่านั้น โดยประชาชนทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีผลกับคนที่ประสงค์ร้ายและจงใจก่อเหตุความไม่สงบในประเทศไทยเท่านั้น