วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แจงกรณีดำเนินคดี ‘พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย’ คดีรุกป่าอุทยาน


สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจงกรณีดำเนินคดี ‘พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย’ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับพวก คดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน
 
12 ก.พ. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินคดีกับ “พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก ซึ่งรวมไปถึง “พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร” รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และภรรยา ใน “คดีรุกป่า” ใจความระบุว่า
 
ด้วยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 15.30 น. ภายใต้การบูรณาการร่วมกันของเจ้าพนักงาน ประกอบด้วย พ.ท.สิริรัฐ หนองแสง โดย ร.ต.จำรูญ ปาธิสุทธิ์ หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อย ประจำ อ.วังน้ำเขียว สังกัดกองพันทหารราบ มทบ.21, นายเสกสรรค์ เที่ยงพลับ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ หัวหน้าเขตจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 2 (สวนห้อม) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ เลขที่ 163 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ หมู่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมี นางติ๋ม อุทัศน์ อายุ 47 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 242 บ้านน้ำซับ หมู่ 11 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รับจ้างดูแลและทำความสะอาดบ้านพักดังกล่าว เป็นผู้ร่วมตรวจสอบและให้ข้อมูลกับเจ้าพนักงาน ผลการตรวจสอบพื้นที่มีรายละเอียดดังนี้
 
1.บ้านพักดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบติดลำรางสาธารณะ มีรั้วรอบพื้นที่ มีทางเข้าติดกับถนนสาธารณะ ภายในมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารที่พักและอาคารอื่นๆ จำนวน 6 หลัง
 
2.จากการสอบถามนางติ๋ม ซึ่งรับจ้างทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ได้ความว่า ที่ดินและบ้านพักดังกล่าวเป็นของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ได้ก่อสร้างเอาไว้เพื่อพักผ่อน และนานๆ จะมาพักครั้งหนึ่ง โดยที่ดินแปลงดังกล่าว พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร และนางชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) เป็นผู้มอบให้ พล.ต.อ.จุมพล ต่อมา นางติ๋ม ได้นำเจ้าหน้าที่ทหาร คือ ร.ต.จำรูญ เข้าตรวจดูภายในบ้านพัก พบภาพถ่ายของ พล.ต.อ.จุมพลและภรรยาตั้งอยู่ภายในบ้านหลายจุด เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการตรวจยึดไว้แล้ว
 
3.จากการตรวจวัดพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดพิกัดจากสัญญาณดาวเทียม (GPS) จำนวน 6 จุด พบว่าพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 1 งาน 75 ตรว. และเมื่อตรวจเปรียบเทียบกับแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ พบว่าบริเวณที่ก่อสร้างบ้านพักตั้งอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน”
 
4.สำหรับความเป็นมาของพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
– พ.ศ.2506 : คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวเป็นป่าไม้ถาวร
– พ.ศ.2515 : มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้พื้นที่วังน้ำเขียว ท้องที่ ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว
– พ.ศ.2521 : มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกำหนดเขตที่ดินในท้องที่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.ปักธงชัย และ อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
– พ.ศ.2524 : มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรีในท้องที่ ต.สะแกราช ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย ต.ครบุรี ต.จระเข้หิน ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.สระตะเคียน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ-ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ ต.บุพราหมณ์ ต.ทุ่มโพธิ์ อ.นาดีจ.ปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน
– พ.ศ.2528 : มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศยกเลิกกฎกระทรวงป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ปี พ.ศ.2515 แต่กำหนดให้เฉพาะพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวในท้องที่ ต.จะเข้หิน อ.ครบุรี และ ต.วังน้ำเขียว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ภายในเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
– พ.ศ.2551 : นางชญานิศฐ์ หรือป้อม พรหมมิจิตร (พิศิษฐวานิช) ปลัด อบต.ไทยสามัคคี เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงเกิดเหตุ และเป็นแฟนกับ พ.ต.ท.พงษ์เดช พรหมมิจิตร รอง ผกก.หน.สภ.วังน้ำเขียว (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)
– พ.ศ.2554 : พ.ต.ท.พงษ์เดชและนางชญานิศฐ์ ร่วมกันขายที่ดินแปลงเกิดเหตุให้ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผบช.ภ.3 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) และเริ่มทำการก่อสร้างบ้านพักและปรับภูมิทัศน์ที่ดินเพื่อพักอาศัย โดย พล.ต.อ.จุมพล ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ เช่น มาพักผ่อนช่วงวันหยุด มีการจัดเลี้ยงช่วงเทศกาลต่างๆ โดยจ้างนางติ๋ม อุทัศน์ คอยดูแล ทำความสะอาด และให้เงินเดือนทุกเดือน ส่วนการถือครองที่ดินตามหลักฐานการเสียบำรุงท้องที่ มีนางชญานิศฐ์เป็นผู้ถือครองแทน
 
5.จากการตรวจสอบพื้นที่และการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นพบว่ามีการกระทำความผิดจริงจึงได้มอบหมายให้ นายผาด บัวบาน พนักงานพิทักษ์ป่า ระดับ ส.2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย, พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร และนางชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) ในความผิดฐาน
 
1) ร่วมกันก่อสร้าง หรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต, ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตราก่อนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น ตามพะราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 55
 
2) ร่วมกันยึดหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า, ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา16 (1), (4)
 
3) ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
 
4) ร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14
 
6.พนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว ตามคดีอาญา เลขที่ 43/2560 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2560 ซึ่งจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตาม

สื่ออ้างแหล่งข่าว ป.ป.ช. ระบุคดีลูก 'พล.อ.ปรีชา' สะดุด ต้องรอแก้ระเบียบก่อน


มติชนออนไลน์รายงานอ้างแหล่งข่าว ป.ป.ช. เผยการสอบบริษัทลูกชาย 'พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา' ชี้ชัดไม่ได้ว่าใครผิด จะต้องไปตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดของบริษัทนั้นก่อน ยอมรับว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้เกิดความล่าช้าและต้องสะดุดลงเล็กน้อย ต้องรอแก้ระเบียบก่อนเดินหน้าต่อ
 
12 ก.พ. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าจากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสวงหาข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบ หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มีนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นคู่สัญญากับภาครัฐหลายแห่ง รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 ด้วย รวมวงเงินกว่า 155 ล้านบาท โดยคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงได้ส่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปตรวจสอบที่ตั้งของ หจก.คอนเทมโพรารีฯ ที่ตั้งอยู่ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลกแล้วพบข้อมูลเบื้องต้นว่าหจก.ดังกล่าวอาจเข้าข่ายไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรับงานในฐานะคู่สัญญากับภาครัฐได้นั้น
 
“เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องของส่วนราชการที่ไปจ้างบริษัทที่ไม่เคยมีผลงาน ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์เพียงพอ ยังไม่สามารถเจาะจงว่าเกี่ยวโยงกับอดีตข้าราชการหรือบุตรได้แต่อย่างใด ชี้ชัดไม่ได้ว่าใครผิด จะต้องไปตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียดของบริษัทนั้นก่อน ยอมรับว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้เกิดความล่าช้าและต้องสะดุดลงเล็กน้อย เนื่องจากเมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่4) พ.ศ. 2559 ประกาศใช้ออกมาแล้ว (ประกาศในราชกิจจาฯเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559) กำหนดว่าการทำงานในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริงอำนาจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการป.ป.ช. แต่เดิมขึ้นอยู่กับเลขาป.ป.ช. ดังนั้นสำนักกฎหมายจึงต้องดำเนินการปรับปรุงระเบียบป.ป.ช.ให้สอดคล้องเสียก่อน ทราบว่าสำนักกฎหมายเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการป.ป.ช.ในสัปดาห์หน้า จากนั้นก็สามารถเดินหน้าแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไปได้ทันที อย่างไรก็ตามขอย้ำว่ากรณีนี้ยังอยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ยังไม่ถึงชั้นของการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด” แหล่งข่าวระบุ

ไอลอว์ แฉ พล.อ.ปรีชา-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ. ขาดประชุมสนช. บ่อยจนอาจสิ้นสมาชิกภาพ


13 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. เว้นแต่ ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา แต่เมื่อขอข้อมูลการยื่นใบลากลับพบว่า "ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ"
ไอลอว์ ระบุด้วยว่า ได้เลือกรอบระยะเวลา 2 รอบ (180 วัน) ของปี 2559 และค้นหาจำนวนการแสดงตนเพื่อลงมติของสมาชิกสนช. จำนวน 8 คน ว่า มารายงานตัวเพื่อลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมดหรือไม่ พบว่า สมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ทำการสำรวจ มาลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติในแต่ละรอบ อันได้แก่ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา, สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ
 
รอบวันที่ 1 ม.ค. 2559 - 31 มี.ค. 2559  มีการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมด คือ 84 ครั้ง พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ มาลงมติ 55 ครั้ง, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ มาลงมติ 81 ครั้ง, ดิสทัต โหตระกิตย์ มาลงมติ 4 ครั้ง,  สุพันธุ์ มงคลสุธี มาลงมติ 57 ครั้ง, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา มาลงมติ 5 ครั้ง 
 
รอบวันที่ 1 เม.ย. 2559 - 29 มิ.ย. 2559 มีการลงมติทั้งหมด 203 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมด คือ 68 ครั้ง พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ไม่มาลงมติเลย, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา มาลงมติ 1 ครั้ง, พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง มาลงมติ 63 ครั้ง และพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ มาลงมติ 1 ครั้ง
 
 
ไอลอว์ ระบุอีกว่าจากการสำรวจทำให้พบจุดร่วมของสมาชิกส่วนใหญ่ที่ขาดประชุมบ่อยๆ ว่า มักจะเป็นสมาชิก สนช. ซึ่งทำงานควบตำแหน่งหรือยังมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำอยู่ด้วย แต่ทว่า สมาชิกเหล่านี้ ยังคงได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดทั้งสองทาง นั้นคือ เงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนจากการเป็นสมาชิกสนช. (ประมาณ 113,560 บาท ต่อเดือน โดยไม่รวมเบี้ยประชุมกรรมาธิการ และอื่นๆ) 
 
ไอลอว์ได้ลองโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอดูบันทึกการลาประชุมของ สมาชิก สนช. แต่ละท่าน โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว แจ้งว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ขอเป็นความลับของทางราชการ พร้อมยืนยันว่า สนช. ทุกท่านยื่นไปลาให้ทางสภาทุกครั้ง 
 
สำหรับ บทลงโทษเกี่ยวกับการขาดประชุมของสมาชิกสนช. นั้น ไอลอว์ ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ถ้าสมาชิก “ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช. สิ้นสุดลง
 
และยังมี กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82. ว่า "สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม ... มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ...”
 
หรือ หมายความว่า “ในรอบระยะเวลา 90 วัน” ถ้าสมาชิก สนช.คนใด “ไม่มาลงมติเกินกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลานั้น จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสนช. อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกมาลงมติไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ได้ลาประชุมไว้แล้ว ก็จะไม่ส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ

นักวิชาการ คนส. วอนยุติคุกคามผู้เห็นต่าง ปม 'ห้องเรียนเพศวิถี' ชายแดนภาคใต้


สารจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กรณี รายการ ก(ล)างเมือง ตอน "ห้องเรียนเพศวิถี" ชี้แดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการเรียกร้องให้มีการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา-ชาติพันธุ์ในบริบทของรัฐไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “เพศวิถี” ก็เป็นความแตกต่างที่สำคัญอีกประการที่ควรต้องคำนึงถึง เช่นกัน หวังสามารถเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้
13 ก.พ. 2560 รายการ ก(ล)างเมือง ตอน "ห้องเรียนเพศวิถี" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นเรื่องเพศในสังคมไทยที่ยังมีปัญหาต้องขบคิดและแก้ไขร่วมกันอีกมาก ทว่าขณะเดียวกันก็มีความน่าวิตกกังวลเพราะการแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อทางสังคม เช่น Facebook มีลักษณะเป็นการใช้คำพูดที่ก่อเกิดความเกลียดชัง (hate speech) และยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงทั้งกับผู้จัดและผู้เข้าร่วมในกิจกรรมที่รายการดังกล่าวนำมาเผยแพร่ บนฐานที่ว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสังคมมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่บนหลักการของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด
ล่าสุดวันนี้ (13 ก.พ.60) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้เผยแพร่ สารจาก คนส. กรณีดังกล่าว โดยระบุว่า  เครือข่ายโดยเฉพาะในส่วนที่อยู่ในพื้นที่และรับรู้เรื่องราวมาแต่ต้น มีความรู้สึกห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางในประเด็นทางศาสนา ซึ่งสามารถถูกพลิกผันเป็นความขัดแย้งและกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ในพื้นที่ด้วยเหตุด้วยผลบนหลักการทางศาสนา ความเป็นมนุษย์ และมิตรไมตรีที่มีต่อกัน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งอาจบานปลายไปสู่ความรุนแรง ดังนี้ 
1) “เพศวิถี” เป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมมุสลิมเนื่องจากเป็นประเด็นที่มีการระบุไว้ในคำสอนของศาสนา กระนั้นคุณค่าประการสำคัญของจริยธรรมในศาสนาอิสลามคือการมีความอดทนอดกลั้น (ซอบัร หรือ Tolerance) ต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง และการตักเตือนกันด้วยความสุภาพและความเมตตา (เราะฮ์มะฮ์ หรือ Compassion) ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเราจึงใคร่ขอให้ยุติการติดตาม ไล่ล่า ข่มขู่และคุกคามผู้ที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับคุณค่าประการสำคัญของจริยธรรมในศาสนาอิสลามดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
 
2) “มนุษย์” มีสิทธิที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกละเมิดโดยมนุษย์ด้วยกัน และต่างมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ แก่นคำสอนของทุกศาสนาต่างให้ความคุ้มครองและยืนหยัดอยู่บนหลักการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น พวกเราจึงขอให้ทุกฝ่ายตระหนักและยึดมั่นในคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์โดยไม่พยายามที่จะมุ่งทำร้ายผู้อื่นที่มีความเห็นหรือการปฏิบัติที่ต่างออกไปจากตน
 
3) การแสดงความคิดเห็นของชาวมุสลิมต่อประเด็น “เพศวิถี” ในกรณีดังกล่าวมีความหลากหลาย และงานทางวิชาการจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า “เพศวิถี” เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในทุกสังคมรวมทั้งในสังคมมุสลิม พวกเราจึงเห็นว่าหากสังคมมุสลิมได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างจริงจังฉันมิตรเกี่ยวกับประเด็น “เพศวิถี” ในทัศนะอิสลามกับกลุ่มศึกษาเรื่อง “เพศวิถี” ก็จะยังประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมให้กับทุกฝ่าย 
 
4) จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยอมรับในความจำเพาะและความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ในบริบทของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “เพศวิถี” เป็นความจำเพาะและความแตกต่างที่สำคัญอีกประการที่ควรต้องคำนึงถึง พวกเราจึงเห็นว่าหากผู้เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นนี้เข้ากับประเด็นหลักในพื้นที่ได้ ก็จะช่วยหนุนเสริมการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องความจำเพาะและความแตกต่างหลายในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
 
"จึงขอส่งสารข้างต้นมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ความอ่อนไหวเปราะบางที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นว่าพวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์นี้ร่วมกันได้ด้วยแนวทางแห่งสันติ มิตรไมตรี และการเคารพซึ่งกันและกัน" เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ระบุตอนท้าย