30 พ.ค. 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดฟังคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับ กิตติภพ และ วิเศษ (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และความผิดในการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน
ทั้งนี้ในการอ่านคำพิพากษา ศาลได้อ่านเฉพาะเรื่องการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสอง แต่ไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ แต่อย่างใด ในเบื้องต้น จึงยังไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาในส่วนดังกล่าว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า เหตุในกรณีนี้ กลุ่มจำเลยสี่คนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี จำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกควบคุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.59 กิตติภพ จำเลยที่ 2 และ วิเศษ จำเลยที่ 3 ซึ่งเคยให้การปฏิเสธข้อหา ได้ยื่นขอกลับคำให้การต่อศาล เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ศาลจึงได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ ขณะที่ อัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 และ นพฤทธิ์ จำเลยที่ 4 ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้ามาใหม่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนคดีของ อัษฎาภรณ์และ นพฤทธิ์ ที่ยังต่อสู้คดี พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชรมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 โดยคำฟ้องในคดีใหม่นี้เขียนในลักษณะเดียวกันกับคำฟ้องในคดีเดิม แต่ไม่ได้มีการฟ้องในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146 เหมือนในคดีแรก โดยศาลได้นัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีใหม่นี้ในวันที่ 6 มิ.ย.59
กรณีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ นพฤทธิ์ อายุ 28 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นพฤทธิ์ ระบุว่าเขารู้จักกับ วิเศษ จำเลยอีกคนในคดีนี้ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยอีกสองคนมาก่อน แต่วิเศษได้มาชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58 แต่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างตามข้อกล่าวหา ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ โดยญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต
ก่อนหน้านี้ ในนัดสอบคำให้การครั้งแรก นพฤทธิ์และทนายความได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุว่าชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์