วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์: แนวรบออนไลน์ | กรงในกะลา #4


รัฐที่คิดจะคุมการสื่อสารด้วยการบังคับใช้ single gateway เป็นความคิดที่ไม่อิงกับโลกความเป็นจริง จึงโดนท้าทายโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย การต่อสู้แย่งชิงเสรีภาพและความมั่นคงในโลกออนไลน์จึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ติดตามใน “พลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์: แนวรบออนไลน์” ผลงานของ วรพล สัมมานนท์ พร้อมบทสัมภาษณ์พิเศษกลุ่มนิรนาม “พลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์” ผ่านแสกน QR Code ท้ายคลิป
ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"
รับชมคลิปจากงาน "กรงในกะลา" ที่ https://goo.gl/UkDElt

กมธ. มีมติเซ็ตซีโร่ กกต. ด้านสมชัย ยังหวัง 9 มิ.ย. สนช. จะให้ กกต.อยู่ต่อครบวาระ


กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มีมติเซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด เพราะต้องการคนใหม่มาทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ ขณะที่สมชัย หวังว่า สนช. จะแปรญัตติให้ กกต. เดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ ด้านมีชัยไม่แสดงความเห็นใดๆ
1 มิ.ย. 2560 ตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับประเด็นคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า กรรมาธิการมีความเห็นด้วยเสียงข้างมากให้เซ็ตซีโร่ กกต. ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นกลไกใหม่ และเป็นการปฏิรูปองค์กร กกต. เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่เขียนให้อำนาจ กกต. มากขึ้น รวมทั้งการที่ไม่มีกกต. จังหวัด จึงต้องการให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ภายใต้กฎหมายใหม่
ตวง กล่าวว่า ในเรื่องวาระกกต. ยังมีมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้อีกหลายคน ดังนั้นในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 เรื่องนี้ คงจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว และขึ้นอยู่กับที่ประชุมในการพิจารณา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หาก สนช. รับในมติดังกล่าวจะส่งผลถึงอนาคต กกต.ชุดปัจจุบันต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ครบ 7 คน ซึ่งความเห็นนี้จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาอีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย.
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ทำให้กระทบต่อคณะกรรมการ กกต.ชุดปัจจุบัน 2 คน คือประวิตร รัตนเพียร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี และสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่จะต้องพิสูจน์ว่าเคยทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่น้อยกว่า 20 ปี อีกทั้งต้องทำการสรรหา กกต.เพิ่มเติมให้ครบ 7 คน
ในขณะที่ กกต.อีก 2 คนจะหมดวาระลง เนื่องจากอายุครบ 70 ปี คือ บุญส่ง น้อยโสภณ ในปีหน้า ส่วนศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. จะหมดวาระเดือน ก.พ. 2562 ขณะที่ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ได้ถูกตั้งกรรมการสอบเรื่องจริยธรรม ดังนั้นจึงทำให้มีข้อห่วงใยว่าจะทำให้ กกต. ที่จะต้องรับบทบาทสำคัญในศึกเลือกตั้ง ปี 2561 สั่นคลอน จึงเป็นที่มาของความเห็นในการแปรญัตติร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ในชั้นกรรมาธิการ ทั้งโละสรรหาใหม่ทั้งชุด หรือให้ กกต.ชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ
ทั้งนี้มีรายงานจากที่ประชุมกรรมาธิการว่า ได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ที่สุดแล้วกรรมาธิการมีความเห็นให้เซ็ตซีโร่ กกต.ใหม่ทั้งหมด และเตรียมแถลงรายละเอียดในวันพรุ่งนี้

สมชัย เชื่อ 9 มิ.ย. สนช.จะยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ กกต.ปัจจุบันอยู่จนครบวาระ

ในวันเดียวกันนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งกล่าวตอนหนึ่ง ในการจัด เสวนา "เดินหน้าเลือกตั้งกับ กกต." ที่โรงแรมธารามันตรา ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ซึ่งจะชี้ชัดเรื่องคุณสมบัติของ กกต. ทำให้ขณะนี้มีภาพ 3 ภาพ 
สมชัย กล่าวว่า 1. ภาพเลวร้ายที่สุด คือ สนช. ยืนตามร่างของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (กรธ.) หมายความว่า จะมี กกต. ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประวิช รัตนเพียร จะไปเป็นคนแรก เพราะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน และพ้นจากตำแหน่งทางการการเมืองไม่ถึง 10 ปี ส่วนตนต้องยื่นหลักฐานการทำงานภาคประชาสังคมให้ครบ 20 ปี ซึ่งได้เตรียมหลักฐานไว้ 21 ปี 9 เดือน หากกรรมการสรรหาไม่รับฟัง ก็จะพ้นจากตำแหน่งทันทีในวันรุ่งขึ้น
สมชัย กล่าวว่า หลังจากนั้น กกต.จะเหลือ 3 คน และในเดือน ก.ค.61 บุญส่งจะหมดวาระ อายุครบ 70 ปี และเดือน ก.พ.62 ศุภชัยจะหมดวาระลง อายุครบ 70 ปีเช่นกัน ก็จะเหลือธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านพรรคการเมือง เพียงคนเดียว แต่ถ้าธีรวัฒน์ มีอุบัติเหตุ เนื่องจากขณะนี้กำลังตรวจสอบด้านจริยธรรม หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเดือน ก.พ.62 การเลือกตั้งจะอยู่ในมือ กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน
สมชัย กล่าวว่า ภาพที่ 2 ภาพดีสุด คือ วันที่ 9 มิ.ย. สนช.ยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเดิม ให้ กกต.อยู่ต่อจนครบวาระ ก็ทำงานไป 3 ปีครึ่ง และภาพที่ 3 ภาพที่เป็นไปได้ จากการประเมินส่วนตัว เชื่อว่า สนช.น่าจะยึดหลักให้ กกต.ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ เพราะถ้าใช้หลักการดังกล่าว จะเป็นต้นแบบกับองค์กรอิสระอื่นๆ

มีชัยปัดแสดงความเห็น กรณี สนช. อาจแปรญัตติให้ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อได้

ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจมีการแปรญัตติปรับแก้ร่างกฎหมายในวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ กกต.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้จนครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด ว่า กรธ. คงไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน

รัฐประหาร 3 ปีกับ 4 คำถามจาก ปชช. ที่รอคำตอบจากประยุทธ์และ คสช.


ขอประชาชนถามบ้าง 4 คำถามจากประชาชนและนักกิจกรรมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำถามที่ 5 คือจะกล้าตอบคำถามประชาชนหรือเปล่า
เมื่อพลเอกประยุทธ์ ตั้งคำถาม 4 ข้อเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ประชาชนช่วยกันตอบคือ
1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร
3.การเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่
4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่
น่าจะตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกเสียจากโยนหินถามทางเพื่ออยู่ในอำนาจต่อและเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
มีผู้คนตอบคำถาม 4 ข้อนี้ไปมากเกินพอแล้ว ‘ประชาไท’ จึงเชิญชวนให้ถามกลับพลเอกประยุทธ์ และ คสช. 4 ข้อบ้าง ซึ่งไม่รู้ว่าจะกล้าตอบหรือไม่
…….
ขบวนการอีสานใหม่
1.หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืออะไร
2.รู้หรือไม่ว่าการรัฐประหารคือการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
3.เมื่อรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนไปบริหารประเทศ แล้วเกิดความเสียหายกับประเทศ เช่น ทางเศรษฐกิจ ใครเป็นคนรับผิดชอบ การใช้จ่ายเงินภาษีเพื่อพวกพ้อง คสช. เองใครรับผิดชอบ
4.หากในอนาคตเกิดการรัฐประหารอีก เป็นการกระทำผิดข้อหากบฏหรือไม่ บทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับการทำลายประชาธิปไตยและดูถูกประชาชนคืออะไร
…….
ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับและนักเขียนบท
1.นานแล้วเหมือนกันนะครับ เห็นคุณต้องตอบคำถามแทบทุกเรื่อง ในโอกาสนี้ผมเลยขอฝากคำถามไปให้คนอื่นๆ นอกจากคุณด้วยได้มั้ยครับ (อ้าว ฮ่วย เปลืองไปหนึ่งคำถาม)
2.คุณคิดว่าความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีถ่ายทอดผ่านทางสายเลือดโดยอัตโนมัติหรือไม่
3.คุณเคยห้ามลูกไม่ให้ตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้สำเร็จหรือไม่
4.ตามหลักความเชื่อของศาสนาบางศาสนาและหลักฐานทางประวัติศาสตร์และชีววิทยา ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเราทุกคนล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสืบเชื้อสายมาจากต้นกำเนิดเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น จึงอยากเรียนถามคุณว่า พวกเราเป็นบุตรหรือธิดาของคุณใช่หรือไม่
…….
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
1.รัฐบาล คสช. เรียกตัวเองว่ามีธรรมาภิบาลได้อย่างไรในเมื่อหลักการตรวจสอบได้ หลักการความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วมยังไม่สามารถทำได้
2.อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้วและกติกาโครงสร้างการเมืองได้ถูกวางไว้แล้ว โดยองค์อิสระต่างๆ จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลใหม่ ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนยึดโยงกับประชาชน เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าองค์กรที่จะคุมให้รัฐบาลมีธรรมมาภิบาล มีธรรมาภิบาลจริง
"เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง"
3.คสช. พูดราวกับว่ายุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปที่ตนเองวางไว้เป็นสิ่งที่ดี แต่กังวลว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ปฏิบัติตาม คำถามที่น่าสนใจคือ หากแผนการปฏิรูปฯ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้วางไว้นำพาประเทศไปสู่ความล้มเหลว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
4.ดูเหมือน คสช. จะกังวลว่า การเลือกตั้งจะทำให้ได้คนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาปกครอง ทั้งที่มีกติกาอยู่แล้วในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมไม่เดือดร้อนที่ระบอบเผด็จการเลือกบุคคลที่ไม่เหมาะสมเข้าไปมีอำนาจหน้าที่โดยที่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชนเลย
…….
ศรีไพร นนทรีย์ นักสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
1.การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหหมาย เป็นการทำถูกหลักธรรมาภิบาลเช่นนั้นหรือ?
2.3ปี ของการยึดอำนาจของ คสช. ทำให้เศรษฐกิจแย่ ของแพง ค่าแรงต่ำ คนว่างงานมีเพิ่มมากขึ้น ขึ้นภาษี มีการละเมิดสิทธิมากขึ้น คิดว่านี่คือผลงานความภาคภูมิใจของ คสช. เช่นนั้นหรือ
3.เมื่อไหร่จะคืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยการให้สิทธิเลือกตั้ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรมาจากประชาชนจริงๆ
4.สิ่งที่คนงานอย่างพวกเราเห็นตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ส่งคนของตนเข้าแทรกแซงทุกปัญหา อย่างปัญหาของคนงานก็เช่นกัน เวลาเกิดการพิพาทแรงงาน คนของ คสช. จะเข้ามานั่งร่วมวงประชุมตลอด ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่รู้กฎหมายแรงงานและรู้สิทธิแรงงานใดๆ เลย หรือหลักการเจรจาต่อรองสักนิดก็ไม่รู้ สิ่งเดียวที่คนงานเราได้ยินคือให้คนงานหยุดการเคลื่อนไหว อดทน ให้รอ หลายครั้งที่เราได้ยินคำพูดเชิงขู่ อ้างถึงคำสั่ง คสช. ม.44 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คนงานอย่างเราไม่ได้รับความสุขอย่างที่ คสช. อ้างว่าพยายามจะให้ ไม่ได้หน้าใสอย่างที่ คสช. คิด คำถามสุดท้ายคือเมื่อไหร่ คสช.จะไป ต้องรอให้ผู้คนออกมาขับไล่เช่นนั้นหรือ?
…….
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางเพศ
1.จะดำเนินการกับข้อคลางแคลงใจกับการทุจริตในยุค คสช. อย่างไร
2.ถ้าในอนาคตมีการไต่สวน ตรวจสอบ ทั้งในและต่างประเทศ แล้วพบว่าการทำหน้าที่และการกระทำต่าง ๆ ของท่าน กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิประชาชน การเลือกปฎิบัติ และการกระทำที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ พร้อมจะรับผิดชอบหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไม?
3.เสียงของผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย ทอม ดี้ และคนทุกคนเท่ากันหรือไม่ เสียงของประชาชนทุกคนเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่เท่า เสียงของคนกลุ่มไหนสำคัญกว่า
4.เมื่อไหร่จะเลือกตั้ง
......
แล้วคุณอยากถามอะไร คสช.

เลื่อนไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล 7 นศ. อาจารย์ มข.ใช้ตำแหน่งประกัน “จ่านิว”


ทนายร้องขอถามค้านพยานโจทก์ ต่อศาล เนื่องจากเป็นการไต่สวนโดยที่จำเลยไม่ได้ร่วมรับฟัง ศาลอนุญาตพร้อมให้นัดไต่สวนพยานผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาในวันเดียวกัน ด้านจ่านิว หลังรับทราบข้อกล่าวหา ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
31 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 น.นักศึกษานักกิจกรรมทั้ง 7 ราย ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล เดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ตามที่ศาลนัดหมายซึ่งรวมถึง สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม ‘จ่านิว’ อดีตนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้  เนื่องจากกำหนดนัดครั้งที่ผ่านมา สิรวิชญ์ ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากตนยังไม่ได้รับหมายจากศาล
จากนั้น ศาลได้ให้สิรวิชญ์ดูภาพถ่ายที่ถูกใช้เป็นหลักฐานเอาผิดจำนวน 3 ภาพ  สิรวิชญ์ได้ยอมรับว่า ภาพถ่ายจำนวน 2 ภาพ คือภาพตนเอง ส่วนอีก 1 ภาพ ไม่ยืนยันว่าเป็นตนหรือไม่เพราะใส่หน้ากาก อย่างไรก็ตาม แต่ศาลได้พิจารณาจากภาพทั้งสาม และตัวสิรวิชญ์ที่ปรากฏตัวต่อหน้าศาลแล้ว เชื่อว่าภาพบุคคลที่ใส่หน้ากากดังกล่าวเป็นสิรวิชญ์จริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 10.00 น. มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งมากล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาคดีของศาล บริเวณหน้าที่ทำการของศาล ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจศาล แต่สิรวิชญ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และยื่นคำร้องคัดค้านข้อกล่าวหา
ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ต้องการที่จะถามค้านพยานผู้กล่าวหาทั้ง 3 ปาก ที่ศาลได้ไต่สวนไปโดยที่ไม่มีผู้ถูกกล่าวหาร่วมรับฟังด้วย ศาลจึงให้เลื่อนไปไต่สวนพยานทั้ง 3 ปาก ไปเป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เวลา 09.00 น. เนื่องจากบุคคลทั้งสามไม่อยู่ในห้องพิจารณาในวันนี้  Z31 พฤษภาคม 2560)  โดยในนัดหน้าจะให้ไต่สวนพยานจำเลยรวม 10 ปาก ไปในครั้งเดียวกันเลย

จากนั้น สิรวิชญ์ได้ร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี  ศาลได้อนุญาตให้ประกันโดยใช้ตำแหน่ง ดร.เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นผู้ประกันในวงเงิน 50,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นที่ยื่นประกันตัวไปในนัดที่แล้ว เมื่อ 24 เมษายน 2560

หลังสิ้นสุดการพิจารณา ภานุพงศ์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน 1 ใน 7 ผู้ต้องหากล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือขัดขวางการทำงานของศาล สิ่งที่เราต้องการจะสื่อคือ หลังจากรัฐประหาร กระบวนการยุติธรรม มีการแทรกแซงจากทหารอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร หรือการใช้ ม.44 ในกระบวนการทางกฎหมายต่าง ๆ อีกทั้ง “ไผ่ ดาวดิน” ก็ได้ร่วมเคลื่อนไหวในปัญหาชุมชนและปัญหาทางโครงสร้างทางการเมือง และหลังการรัฐประหาร 2557 ได้ถูกดำเนินคดีที่ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องหลายคดี พวกเราอยากสะท้อนให้เห็นปัญหานี้ รวมถึงอยากสะท้อนให้เห็นว่า ไผ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมขั้นตอนอื่น ๆ ด้วย
สิริวิชญ์หรือนิวได้ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า วันนั้นผมไปรับฟังการพิจารณาคดีของไผ่จรอง เมื่อเห็นนักศึกษาทำกิจกรรม ผมก็เข้าไปยืนดู เมื่อทางผู้จัดกิจกรรมกล่าวเชิญชวนให้ผู้ชมวางดอกไม้ให้กำลังใจ ไผ่ ผมก็เดินเข้าไปวางด้วย ในส่วนของภาพที่เป็นหลักฐานที่จะเอาผิดผมๆ จำไม่ได้ว่าเป็นเหตุการณ์ตอนไหน แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดคนละช่วงเวลากับที่ศาลได้แจ้งข้อหาเอาผิดต่อกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมในเวลาดังกล่าวแน่ๆ

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการรณรงค์ของเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค บริเวณฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จากกรณีที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์รายงานข่าวประวัติ ร.10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย และได้ถูกถอนประกันด้วยเหตุผลที่ยังมีข้อกังขาว่าเป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่ และจากการรณรงค์ดังกล่าวได้มีนักกิจกรรมนักศึกษาถูกตั้งข้อหาละเมิดศาล 7 คน ได้แก่ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มดาวดิน) และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่) และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘นิว’ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM)

ไม่ฟ้องคดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ เหตุติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ-ไม่กระทบความมั่นคง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เผยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) คดีโพสต์ทุจริตราชภักดิ์ ระบุเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
31 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (30พ.ค.60) อัยการศาลจังหวัดพระโขนง มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แจ่ม (นามสมมติ) ในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยน่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 14(2) และ (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550
ความเห็นของอัยการ ระบุว่าข้อความในสเตตัสเฟซบุ๊กของ แจ่ม เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์ การกระทำของผู้ต้องหาจึงเป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก แจ่ม ตกเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ถึงความขัดแย้งภายใน คสช. จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลทหาร ภายหลังอัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนงในข้อหาเดิมอีก จนในที่สุดอัยการได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้
นอกจากคดีนี้แล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ยังมีคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตแล้วถูกดำเนินด้วยข้อหาตามมาตรา 116 อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของ รินดา พรศิริพิทักษ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการนำข้อความในไลน์เรื่องที่ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานที่ศาลอาญารัชดาภิกเษก ว่าการกระทำของนางรินดาเป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 หรือไม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลทหารจะไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาล ส่วนอีกสองคดีเกิดจากการแชร์แผนผังการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ คือ คดีของ ฐนกร (สงวนนามสกุล) และ ธเนตร อนันตวงศ์ ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล