วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สปช. ถาม นายกฯอยู่ต่อ 2 ปี ได้ไหม ประยุทธ์ ตอบขึ้นอยู่กับประชาชน




Fri, 2015-06-05 00:06


สปช. ‘ไพบูลย์-เตือนใจ-นิรันดร์’ อ้างโพล ชี้ประชาชนอยากให้ปฏิรูปก่อน 2 ปี ค่อยเลือกตั้ง จะทำประชามติเรื่องนี้ได้หรือไม่ ‘บิ๊กตู่’ ชี้เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ ถ้าอยากให้อยู่จริงไปหาทางมา

4 มิ.ย. 2558 ระหว่างการสัมมนาชี้แจงผลงานรัฐบาล ครบ1 ปีได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมสัมมนาถามนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้แก่ ไพบูลย์ นิติตะวัน, เตือนใจ สินธุวณิก และนิรันดร์ พันธกิจ ตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันว่านายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจเพื่ออยู่ปฏิรูปประเทศออกไปให้แล้วเสร็จอย่างน้อยอีก 2 ปีได้หรือไม่ เพราะเกรงว่าหากกลับสู่การเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปจะเสร็จปัญหาความขัดแย้งจะกลับมาอีกครั้ง

ไพบูลย์ กล่าวว่าจากผลสำรวจของสำนักโพล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนการเลือก ตั้ง เพราะเกรงว่าประเทศจะกลับไปสู่จุดวิกฤติอีกครั้ง อีกทั้งยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปอีกมากที่ยังไม่ดำเนินการ จึงขอถามว่าเป็นไปได้หรือไม่หากประชาชนจำนวนหนึ่งจะเข้าชื่อเสนอให้รัฐบาลทำ ประชามติว่าจะให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปอีก2ปีเพื่อปฏิรูปให้เสร็จแล้วค่อยเลือกตั้งได้หรือไม่

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบว่า สิ่งที่เสนอมาถือเป็นคำชื่นชมตนและคณะรัฐมนตรี แต่ตนถูกต่างประเทศกดดันเป็นอย่างมาก เพราะเวลาไปประชุมต่างประเทศ แม้นานาชาติล้วนยอมรับตนทั้งหมด แต่ทุกคนก็มักจะย้อนถามว่าประเทศไทยจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ตนก็ตอบว่า ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ และผ่านประชามติ จากนั้นก็กลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ

เมื่อผู้นำประเทศต่างๆ ให้ตนสัญญาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้จะเกิดขึ้นต่อในรัฐบาลหน้า ตนก็ตอบไม่ได้เพราะรู้อยู่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหน้าก็มีอยู่ 2-3 ฝ่าย สมมุติว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติและมีการเลือกตั้ง แล้วมีฝ่ายหนึ่งได้เป็น อีกฝ่ายไม่ได้เป็น เหตุการณ์จะสงบหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไปทำ

ทั้งนี้ ตนตอบตรงคำถามไม่ได้ ว่าจะรับปาก และใช้มาตรา44 อยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะไม่ใช่จะเอามาตรา44 ไปทำอะไรก็ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ

"ถ้าท่านบอกประชาชนต้องการ ในห้องนี้ต้องการผมไหม ท่านยอมรับนายกรัฐมนตรีที่เสียงดังแบบนี้ กริยามารยาทแบบนี้ พูดไม่เพราะ เป็นตัวของตัวเอง เป็นทหาร ยึดอำนาจ ท่านรับผมได้หรือเปล่า สื่อฯรับได้ไหม นั่นแหล่ะคือเสียงที่บอกว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ จะทำได้หรือไม่ได้ นั่นจากประชาชนทั้งสิ้น และทุกอย่างอยู่ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในกรณีดังกล่าว โดยผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ เคยกังวลว่าเรื่องการสานต่อการปฏิรูปของรัฐบาลใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนพูดคำว่าส่งต่อ ไม่ได้หมายความว่ากลัวตรงนั้น แต่ต้องการให้คิดว่าตรงนั้นจะแก้อย่างไร แต่จะแก้อย่างไร เป็นเรื่องของเขา

เมื่อ ถามว่า ล่าสุดมีข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเห็นด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผมเฉยๆ ถ้าให้ผมอยู่ผมก็ทำ อยู่ด้วยความชอบธรรมนะ ไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจ ถ้าทุกคนอยากให้ผมอยู่ ผมก็อยู่ ผมก็ทำให้ แต่ต้องช่วยปกป้องผมจากภายนอกประเทศ รวมถึงภายในประเทศด้วย ที่กล่าวหาว่าผมอยากสืบทอดอำนาจ ซึ่งผมไม่ต้องการอำนาจ เพราะผมไม่ได้ผลประโยชน์ ผมต้องการทำประเทศชาติให้ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไร ผมไม่รู้ มันเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ถ้าการปฏิรูปยังไม่สำเร็จตามที่วางไว้นั้นมีโอกาสที่จะยืดโรดแม็ปออกไปให้ สำเร็จหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พูดไปแล้ว และก็เพิ่งได้ยินข้อเสนอนี้และมีคนเขียนว่ากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ต้องการให้อยู่ต่อ 2 ปีเพื่อปฏิรูป

“ผมถามว่า อู๊ย! ดีใจหรืออยากอยู่ ถ้าอยากอยู่ไปเข้าช่องทางมา แต่ข้อเสนอแนะนี้จะเป็นแนวทางที่ดีหรือไม่ ผมไม่รู้ ผมจะไปพิจารณาเองได้อย่างไร ดีหรือไม่ดี เพราะผมใช้อำนาจอยู่ในตอนนี้ แล้วจะให้บอกว่าอยู่ต่อแล้วจะดี ตรงนี้ผมพูดได้ไหม วันนี้ใครต้องการให้ผมปฏิรูป ประชาชนก็ต้องไปหาทางมา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ปปช. เผย 'ยิ่งลักษณ์' ยังไม่ตอบรับให้ข้อมูลกรณีจ่ายเงินเยียวยาชุมนุม 53



Fri, 2015-06-05 14:02

ประธาน ป.ป.ช.เผย “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่ตอบกลับจะมารับทราบข้อกล่าวหาคดีจ่ายเงินเยียวยาชุมนุมปี 53 เตรียมนำกรณีจ่ายเยียวยาของรัฐบาลปัจจุบันมาเทียบเคียง ระบุ หากขัดกม. ผู้ชดใช้เงินคืนคือคนที่ออกคำสั่งมิชอบ

5 มิ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.มีหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์มาให้ข้อมูลแก้ข้อกล่าวหาในคดีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่า ป.ป.ช.กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ในวันที่ 9-30 มิถุนายน ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งไปยังน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการประสานกลับมาว่าจะมาให้ข้อมูลวันใด แต่หากไม่มาด้วยตนเอง สามารถให้ทนายความมารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแทนได้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา

“คดีนี้ ป.ป.ช.อาจจะหยิบยกกรณีการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ปี 2557 และการชุมนุมในอดีตที่ชดเชยผู้เสียชีวิตรายละ 4 แสนบาทประกอบการพิจารณด้วย เนื่องจากการเยียวยาในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีกฎหมายรองรับ ยืนยันว่าจะทำด้วยความรวดเร็ว ส่วนที่ว่าหากชี้มูลความผิดแล้วจะเรียกคืนความเสียหายจากการเยียวยาอย่างไร เนื่องจากจ่ายเงินให้กับประชาชนไปแล้ว ป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ จะดูเฉพาะเรื่องการดำเนินการของรัฐบาลที่ละเมิดและขัดกับข้อกฎหมายก่อน อย่างไรก็ตาม โดยปกติเมื่อเรียกเก็บค่าเสียหาย จะเก็บกับผู้ที่ออกคำสั่งหรือนโยบายโดยมิชอบ มากกว่าเก็บคืนจากประชาชน” ประธานป.ป.ช. กล่าว

'วินธัย' แจงห้ามแถลง 1 ปีสิทธิมนุษยชนหลัง รปห. เพราะไม่ส่งเนื้อหาให้ คสช. พิจารณา



Fri, 2015-06-05 14:43

         พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุ ระงับแถลง 1 ปีสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร เพราะเหตุผู้จัดงานไม่แจ้ง คสช.พิจารณาเนื้อหา

         5 มิ.ย. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอ้างคำสั่งตรงจาก คสช. เข้าระงับการแถลงรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน 1 ปี หลังรัฐประหารที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยไม่มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าทางผู้จัดงานไม่ได้มีการประสานเพื่อขอจัดงานมายัง คสช. ตามข้อตกลง ถ้ามีการขอมาทาง คสช.จะได้พิจารณาถึงประเด็นที่จะนำเสนอว่าขัดกับเงื่อนไขที่วางไว้หรือไม่ เช่น เนื้อหาต้องตรงครบถ้วนตรงไปตรงมาไม่เป็นการหมิ่นประมาทว่าร้ายบุคคลใดหรือไม่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคมซึ่ง คสช.จะพิจารณาตามเหตุผล ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้ห้ามให้จัดเพียงแต่ต้องแจ้งถึงรายละเอียดของการจัดงานก่อน

       อย่างไรก็ตาม พ.อ.วินธัย กล่าวว่าที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีการรายงานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านทั้งมีข้อมูลที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง และในหลายคดีทางศูนย์ทนายความฯ ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือผู้กระทำผิดมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ถูกกระทำในหลายกรณีเสียอีก

นิยายภาพสิงคโปร์ที่ถูกกล่าวหา 'บั่นทอนชื่อเสียงรัฐ' ขายดีจนหมดเกลี้ยง



Fri, 2015-06-05 14:33


'ศิลปะของชาร์ลี ชาน ฮกเฉ' นิยายภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ถูกสภาศิลปะแห่งชาติสั่งระงับให้ทุนอ้างว่าเป็นผลงานที่สร้างความเสื่อมเสียต่อรัฐบาล แต่กลับส่งผลให้นิยายภาพเรื่องนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนเกลี้ยงโกดัง

5 มิ.ย. 2558 สภาศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์ (NAC) ระบุว่ามีการสั่งระงับให้ทุนจัดพิมพ์นิยายภาพชื่อ "ศิลปะของชาร์ลี ชานฮกเฉ" (The Art Of Charlie Chan Hock Chye) ออกจากชั้นโดยอ้างว่ามีเนื้อหาสร้างความเสื่อมเสียต่ออำนาจหรือความชอบธรรมของรัฐบาลสิงคโปร์และละเมิดแนวทางปฏิบัติของการให้ทุน

อย่างไรก็ตามหลังจาก NAC ประกาศระงับหนังสือนิยายภาพเรื่องนี้ก็ยิ่งทำให้ประชาชนสนใจและมียอดขายเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ร้านคิโนะคุนิยะในสิงคโปร์ขายหมดสต็อก 500 เล่ม และในสาขาอื่นๆ 1,000 เล่ม รวมถึงอีก 270 เล่มในงานเปิดตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังขายจนหมดในร้านหนังสืออื่นๆ จนบริษัท เอพิแกรมบุ๊ค ผู้จัดพิมพ์หนังสือนิยายภาพเรื่องนี้เปิดเผยว่าสายส่งของพวกเขาไม่เหลือในโกดังแม้แต่เล่มเดียว มีเหลืออยู่แต่ในสำนักงาน 2 เล่ม ซึ่งเอ็ดมุนด์ วี ผู้ก่อตั้งเอพิแกรมบุ๊คส์กล่าวว่าจะมีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่ 2

"นี่มันขายได้มากกว่าสามเท่าของหนังสือที่ประสบความสำเร็จอย่างมากที่เปิดตัวในสาขาใหญ่ของร้านเราเสียอีก" เคนนี ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าของร้านคิโนะคุนิยะกล่าว

NAC ประกาศถอนทุนจัดพิมพ์จำนวน 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์โดยอ้างว่านิยายภาพเรื่องนี้มี "เนื้อหาอ่อนไหว" และมีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์สิงคโปร์มาเล่าใหม่ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียต่อรัฐบาลและสถาบันสาธารณะซึ่งถือเป็นการละเมิดแนวทางปฏิบัติของการให้ทุน

เรื่อง "ศิลปะของชาร์ลีชานฮกเฉ" เป็นนิยายภาพเกี่ยวกับนักวาดการ์ตูนชื่อชาร์ลี ชาน ในช่วงยุคสร้างชาติของประวัติศาสตร์สิงคโปร์สมัยใหม่ที่มีตัวละครอย่างลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ และหลิมชินเสียง นักการเมืองฝ่ายค้าน โดยมีการอ้างอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างเหตุการณ์จลาจลคนงานรถประจำทางฮกหลีในปี 2498 และปฏิบัติการจับกุมผู้คนโดยอ้างว่ามีการสมคบคิดลัทธิมาร์กซิสต์ในปี 2530

ถึงแม้ว่าทางสำนักพิมพ์จะต้องคืนเงินทุนจำนวน 6,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่เบิกจ่ายมาก่อนหน้านี้รวมถึงนำสติกเกอร์ตราสัญลักษณ์ของ NAC ออก แต่ก็ทำให้หนังสือขายดีมากซึ่งวีกล่าวว่าน่าจะเป็นเพราะผู้คนต้องการแสดงความไม่พอใจที่มีการระงับการให้ทุน อีกทั้งซอนนี ลิว ผู้เขียนนิยายภาพเรื่องนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

อย่างไรก็ตามตัวลิวเองบอกว่าเขาหวังว่าความสนใจในนิยายของเขาจะขยายออกไปมากกว่าสนใจเพราะประเด็นถกเถียงในเรื่องการถูกระงับให้ทุน ลิวบอกว่าถ้าผู้คนชอบผลงานของเขาที่คุณภาพผลงานจะถือเป็นความสำเร็จในระยะยาวมากกว่า

สมาคมพิทักษ์ รธน. ค้าน 'ประยุทธ์' นั่งนายกต่อ เตือน 'เดี๋ยวจบไม่สวย'



Fri, 2015-06-05 13:53

5 มิ.ย. 2558 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ค้านนายกรัฐมนตรี “อยู่ต่อ” อย่าเดินรอยตาม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เดี๋ยวจบไม่สวย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แถลงการณ์
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ค้านนายกรัฐมนตรี “อยู่ต่อ” อย่าเดินรอยตาม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เดี๋ยวจบไม่สวย

        ตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “ถ้าทุกคนอยากให้ผมอยู่ ผมก็อยู่” โดยแสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่ในอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมต่อไปอีก 2 ปีนั้น ถือว่าเป็นการตระบัดสัตย์โดยชัดแจ้ง เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557 เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “ไม่อยู่ ไม่มีคำว่าถ้า” แต่เมื่อเวลาผ่านไปความหอมหวนแห่งอำนาจ กลับทำให้คนๆเดียวกันสามารถเปลี่ยนแนวความคิดเพียงแค่ระยะเวลาไม่นาน

        ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีอย่าได้เหลิงไปกับกลุ่มพวกเชลียร์ต่าง ๆ ในแม่น้ำ 5 สายที่ชอบหยอดคำหวานอาบยาพิษ เพียงเพื่อให้ตนเองจะได้เกาะพ่วงอยู่ในอำนาจโดยไม่ชอบธรรม ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อไปเท่านั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก และอาจจะนำไปสู่การบั่นทองทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของชาติได้

          ประวัติศาสตร์ชาติไทยเพียง 20 กว่าปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่ควรลืมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ทำให้คนไทยต้องสูญเสียเลือดเนื้อและน้ำตามาแล้วกับกรณี “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะหลงในคำเยินยอจนลืมหลักการของชายชาติทหาร และอย่าเพ้อไปว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและพวกจะบริหารราชการแผ่นดินจนประสบผลสำเร็จไม่ เพราะประชาชนคนที่ทุกข์ยาก คนที่ถูกรังแก คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน ข้าวยังยาก หมากยังแพง น้ำมันยังสูงกว่าตลาดโลก ต้นยางพาราของคนจนยังถูกไล่ตัดฟัน ยางพารา-ปาล์มยังถูก น้ำเน่าเสียที่ลำโดมอุบลฯ ภูเขาหัวโล้นเพราะปลูกข้าวโพดส่งให้นายทุนขุนศึกไม่แก้ไข ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้คงไม่มีลิ่วล้อคอยชงให้รับรู้ จึงทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีกล้าที่จะพูดว่า“ถ้าทุกคนอยากให้ผมอยู่ ผมก็อยู่” ซึ่งสมาคมฯขอเป็นคนหนึ่งที่คัดค้าน “ไม่ขอให้ท่านอยู่ต่อ” เพราะอยากให้ท่านนายกฯลงจากอำนาจ ลงจากหลังเสือ ตามโรดแมปอย่างสง่างามเท่านั้น

ประกาศมา ณ วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2558
นายศรีสุวรรณ จรรยา 
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย