วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

'คำนูณ' ยัน กมธ.ยกร่าง รธน. ไม่ขอเลิกกฎอัยการศึก

            "คำนูณ สิทธิสมาน" โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเลื่อนพูดคุยเพื่อรับข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญกับตัวแทนพรรคเพื่อไทยไปต้นเดือนธันวาคม เผย ภูมิใจไทย-พลังชลตอบรับแล้ว ยืนยันไม่ขอ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก
 
           14 พ.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่กำหนดว่าจะพบปะพูดคุยเรื่องข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญกับตัวแทนพรรคเพื่อไทย แต่เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ จึงจะงดการประชุมไปก่อน คาดว่าพูดคุยกันได้ในต้นเดือนธันวาคม และไม่กระทบกับตารางการทำงานของกรรมาธิการ เพราะยังเปิดรับความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งหากกลุ่มใดไม่ตอบรับเข้าร่วม ทางคณะกรรมาธิการอาจจะรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อหรือเอกสาร
 
          “ยังไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดปฏิเสธเข้าร่วม ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังชลมีหนังสือตอบรับ ส่วนพรรคเพื่อไทย มีท่าทีในเชิงบวก แต่อาจติดขัดปัญหาเรื่องประชุมภายในของพรรค ยอมรับว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยากต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่กรรมาธิการจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่เราจะไม่ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองประชุมหารือกัน” โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว
 
          นายคำนูณ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า วันนี้(14 พ.ย.) ได้แต่งตั้งรายชื่อคณะอนุกรรมาธิการด้านเนื้อหา 10 คณะอย่างไม่เป็นทางการ โดยจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งได้ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

อียูห่วงไทยใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดเพิ่มขึ้น

สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ห่วงใยเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ "ห่วงใยเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์จากสหภาพยุโรป
เกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
 
           สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นในอันที่จะส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก สหภาพยุโรปมีความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางที่ผิดที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย สหภาพยุโรปเห็นว่ากฎหมายหมิ่นประมาทไม่ควรถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อตรวจสอบการวิพากษ์วิจารณ์และการอภิปรายในประเด็นสาธารณะต่างๆ เพราะนับเป็นภัยร้ายแรงต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินคดีล่าสุดต่อนายแอนดี้ ฮอลล์ นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน นายอลัน มอริสสัน และ นางสาวชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวสำนักพิมพ์ภูเก็ตหวาน และ นายแอนดรูว์ ดรัมมอนด์ นักข่าวอิสระ ทำให้เห็นได้ว่ากฏหมายหมิ่นประมาทนั้นได้ถูกนำมาใช้ในการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย สหภาพยุโรปใคร่ร้องขอให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อกฏหมายหมิ่นประมาทจะไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการวิเคราะห์และการอภิปรายอย่างมีเหตุผลและเหมาะสมอีกต่อไปในอนาคต

รายงานยูเอ็นเผย 'ไอซิส' ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ-ควบคุมพลเรือนเบ็ดเสร็จ

คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีซีเรียของสหประชาชาติเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มติดอาวุธไอซิสหรือไอเอส ระบุว่ามีการควบคุมพลเรือนอย่างเบ็ดเสร็จ สังหารตัดคอวัยรุ่นอายุ 15 ปี ลงโทษตัดอวัยวะคนในที่สาธารณะ รวมถึงบังคับให้ผู้หญิงเป็นทาสทางเพศ
15 พ.ย. 2557 หน่วยงานสิบสวนขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยรายการเกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS) หรือไอเอส (IS) ระบุว่าไอซิสก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีซีเรียของสหประชาชาติเปิดเผยรายงานฉบับแรกที่เกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มไอซิส เปิดเผยให้เห็นสภาพที่ย่ำแย่ในพื้นที่ๆ ถูกยึดครองโดยกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ การทารุณกรรม การบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามารมณ์ และบังคับให้ตั้งครรภ์
ทางคณะกรรมการยังได้เรียกร้องให้นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นศาลอาญาระหว่างประเทศ
รายงานฉบับดังกล่าวเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ประชาชน 300 คนที่หลบหนีจากพื้นที่ๆ ถูกยึดครองโดยไอซิส อีกทั้งยังมีข้อมูลจากภาพถ่ายและวิดีโอซึ่งเผยแพร่โดยไอซิส รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มไอซิส
ก่อนหน้านี้ไอซิสกล่าวอ้างว่าพวกเขาจัดตั้ง "รัฐอิสลาม" ในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรักและทางภาคตะวันออกของซีเรีย รายงานของยูเอ็นระบุว่าไอซิสพยายามปราบปรามประชาชนให้อยู่ภายใต้การควบคุมรวมถึงใช้อำนาจครอบงำการดำเนินชีวิตในทุกส่วนของประชาชนโดยวิธีการสร้างความหวาดกลัวและการปลูกฝังลัทธิความเชื่อ
รายงานของยูเอ็นระบุถึงการกระทำโหดเหี้ยมของไอซิสเช่นการสังหารหมู่ การสังหารตัดคอชายวัยรุ่นอายุ 15 ปี การลงโทษตัดอวัยวะและเฆี่ยนตีคนในที่สาธารณะใจกลางเมืองรวมถึงเหยื่อที่เป็นเด็ก โดยยังมีการบังคับให้เด็กดูการใช้ความรุนแรงของกลุ่มไอซิส นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้เด็กเป็นทหาร มีการขว้างปาหินใส่ผู้หญิงจนเสียชีวิตจากการต้องสงสัยเรื่องคบชู้ มีการจับผู้หญิงเป็นทาสบำเรอกามารมณ์และบังคับให้มีลูกกับนักรบไอซิส
ในเมืองรัคคาห์มีการให้เด็กรวมตัวกันดูวิดีโอการสังหารหมู่ ซึ่งทางยูเอ็นระบุว่าเป็นการลดทอนความรู้สึกทำให้เด็กรู้สึกต่อความรุนแรงน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มไอซิสยังพยายามควบคุมชีวิตประจำวันโดยกีดกันผู้หญิงออกจากพื้นที่สาธารณะ บังคับให้ผู้หญิงต้องสวมชุดตามที่พวกเขาสั่ง บังคับให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อคนที่พวกเขาอนุญาต และจำกัดสถานที่ทำงาน
ผู้ให้สัมภาษณ์ในรายงานคนหนึ่งที่หลบหนีออกจากเมืองรัคคาห์เปิดเผยว่ามีคนถูกลงโทษในจัตุรัสใจกลางเมืองเพราะลักขโมย ผู้ถูกกล่าวหาถูกจับดึงแขนบนแผ่นไม้กระดานก่อนจะถูกตัดมือออกในเวลาต่อมา ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าขั้นตอนการลงโทษยาวนานมากและมีคนๆ หนึ่งที่ยืนดูอยู่ข้างเขาถึงกับอาเจียนและเป็นลมจากภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้น
ยูเอ็นระบุว่ากลุ่มติดอาวุธละเมิดกฎหมายนานาชาติและอนุสัญญาเจนีวามาตราที่ 3 จากการปฏิบัติต่อพลเรือนและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในการสู้รบ ไอซิสเป็นอาชญากรสงคราม นอกจากนี้การที่ไอซิสปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและปฏิเสธเสรีภาพ รวมถึงการโจมตีพลเรือนในพื้นที่ๆ ยึดครองถือว่าพวกเขาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คาร์ลา เดล โปนติ หนึ่งในคณะกรรมการสืบสวนกล่าวว่าการละเมิดสิทธิและการก่ออาชญากรรมโดยกลุ่มไอซิสต่อชาวซีเรียเป็นสิ่งที่กระทำโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน จากการที่เหล่าผู้นำไอซิสจงใจทำร้ายเป้าหมายที่เป็นบุคคลซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบอันนับเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ทหารไม่อนุมัติพร้อมนำกำลังปิดล้อมพื้นที่จัดงาน 'ทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต ผืนดินไทย ที่ดินใคร'

ทหารระบุไม่สบายใจกับวิทยากรบางราย หากยอมปรับตามคำแนะนำก็มีโอกาสได้จัด รวมทั้งต้องจัดส่งเนื้อหาการพูดของวิทยากรให้พิจารณาก่อน ด้านผู้จัดรับไม่ได้เงื่อนไขนี้
 
 
            15 พ.ย. 2557 จากการนำเสนอข่าวการจัดงาน "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" ถูกทหารกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ได้สั่งให้ชี้แจง รายละเอียดการจัดงาน จนผู้จัดรู้สึกมึนงง เนื่องจากงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมในลักษณะกึ่งบันเทิงที่มีความสนุก ผ่อนคลายด้วยบทเพลงสอดแทรกอยู่ตลอดงาน ไม่ใช่กิจกรรมเสวนาทางการเมือง แต่กลับถูกทหารสั่งให้ชี้แจงเอกสาร การจัดงาน ซึ่งทางผู้จัดได้มีการส่งเอกสารไปเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมานั้น
 
            ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อช่วงสายของวัน ที่ 15 พ.ย. 2557 ได้มีการเปิดเผยจากทางผู้จัดว่า ได้รับการประสานงานจาก พันโทภาสกร กุลรวิวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ว่าทาง คสช. ไม่อนุมัติการจัดงานดังกล่าวในวันที่ 16 พ.ย. 2557 แต่ปฏิเสธที่จะส่งหนังสือที่ คสช.ไม่อนุมัติการจัดงานให้กับทางผู้จัด
 
             นายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในคณะผู้จัดงานกล่าวว่า “ทางทหารบอกแค่ว่า ไม่อนุมัติให้จัดงานในวันที่ 16 พ.ย. นี้ ด้วยเหตุผลว่าไม่สบายใจกับวิทยากรบางราย แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอื่นๆ และหากเราไม่ยินยอมปรับตามคำแนะนำก็จะไม่มีโอกาสได้จัด รวมทั้งต้องจัดส่งเนื้อหาการพูดของวิทยากรให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้จัดไม่อาจปฏิบัติตามได้ และเมื่อเราถามถึงหนังสือตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษร เขาบอกว่าให้ไม่ได้เป็นหนังสือภายใน”
 
             นอกจากนี้นายปกรณ์ชี้แจงว่า "ผู้จัดไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุด ในการแทรกแซงและปิดกันเสรีภาพในการเข้าถึงความรู้ และถึงขั้นใช้กำลังปิดกั้นพื้นที่ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงกับผู้จัดเท่านั้นแต่ประชาชนทั่วไปก็จะเดือดร้อนด้วย ผู้จัดขอยืนยันว่าจะไม่หยุดดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในปัญหาและความจำเป็นในการปฏิรูปที่ดินต่อไปให้ได้โดยเร็วที่สุด"
 
            งาน "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" เป็นการรวม 5 บุคคล จาก 5 วงการมาทอล์คโชว์และแสดงดนตรีในวันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก เพราะมีแขกรับเชิญคนดังจากหลายวง การเช่น อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิต คุณตุล อพาร์ทเมนท์คุณป้า คุณประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่กำลังจัดกิจกรรมเดินก้าวแลกเพื่อปฏิรูปที่ดิน อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และคุณพฤ โอ่โดเชา ชาวปกากญอ โดยคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับเป็นผู้รับผิดชอบในการงานดังกล่าว ความคืบหน้า เรื่องนี้ผู้สื่อขาวจะรายงานให้ทราบต่อไป
 

กรณีถอด 'ณาตยา' ออกจากผัง - ผบ.ทบ.ยืนยันเป็นเพียงการทำความเข้าใจไทยพีบีเอส

บอร์ดนโยบายไทยพีบีเอสยืนยันว่า ณาตยา แวววีรคุปต์ ปฏิบัติตามหลักวิชาชีพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ขอปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นการชั่วคราวเพื่อไม่ให้กระทบรายการ "เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป" - ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ระบุเวทีนำไปสู่ความแตกแยกจึงต้องพูดคุยกัน
15 พ.ย. 2557 - กรณีผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอสมีคำสั่งยุติการทำหน้าที่ของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ พิธีกรรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" หลังมี "นายทหารยศพันเอก" และคณะมาพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เนื่องจากไม่พอใจการตั้งคำถามของผู้ดำเนินรายการนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ย.) สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น สัมภาษณ์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่ได้สั่งให้ยุติการออกอากาศ แต่เมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่าการจัดเวทีในลักษณะดังกล่าวหากมีการนำไปสู่การสร้างความแตกแยกก็มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สื่อทุกสำนักก็ได้ให้ความร่วมมือมาดีโดยตลอด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังคงมีปัญหาบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ พลเอก อุดมเดช ได้ขอให้ผู้บริหารและสื่อมวลชนเข้าใจการทำงานของทหารและให้ความร่วมมือในการสร้างบรรยาการปรองดองสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป
อนึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ซึ่งระบุว่า กรณีขอความร่วมมือกับสื่อนั้นเป็นการประสานงานกันเองของทหารแต่ละพื้นที่ ส่วนกลางไม่ได้เป็นคนส่งรายละเอียดลงไป
บอร์ดนโยบายไทยพีบีเอสยืนยันณาตยาฝีมือระดับสากล
แต่ขอปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อไม่ให้กระทบตัวรายการ
            ด้านคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่า "สืบเนื่องจากกระแสข่าวการแทรกแซงของคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งที่มีต่อรายการ "เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป" ซึ่งเป็นโครการร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และองค์กรร่วมจัดอื่น รวม 12 องค์กร และ 171 เครือข่าย คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีความเห็นต่อกรณีนี้ ดังนี้"
  • 1. คณะกรรมการนโยบายยืนยันการรักษาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการทำรายการตามโครงการเวที 4 ภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ โดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
  • 2. คณะกรรมการนโยบายสนับสนุนคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ท. ในการสื่อสารกับคณะนายทหารที่เข้าพบ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงบทบาทของสื่อสาธารณะและจุดมุ่งหมายของรายการ
  • 3. คณะกรรมการนโยบายมีความเห็นว่า การปฏิบัติงานของนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ เป็นไปตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงสนับสนุนการทำงานของนางสาวณาตยาในบทบาทผู้ดำเนินรายการของโครงการดังกล่าวตลอดมา อย่างไรก็ตาม ได้มีการปรับเปลี่้ยนผู้ดำเนินรายการ เป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการเวที 4 ภาค เสียงประชาชนที่ต้องรับฟังก่อนการปฏิรูป

            อนึ่งสำหรับคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ประกอบไปด้วย ศิริชัย สาครรัตนกุล ประธานกรรมการนโยบาย, ธีรภัทร สงวนกชกร, ปราณี ทินกร, จุมพล พูลภัทรชีวิน, สมศรี หาญอนันทสุข, สมพันธ์ เตชะอธิก, วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์, มาลี บุญศิริพันธ์, สุวรรณา จิตประภัสสร์

สมาคมนักข่าวเตรียมเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช.97 และ 103

สมาคมนักข่าวฯเตรียมเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ คสช.97 และ 103 สัปดาห์หน้า เหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ-ประชาชน จี้ทบทวนการใช้กฎอัยการศึกสร้างบรรยากาศแสดงความคิดเห็นร่วมของทุกฝ่าย ระบุกรณี "ณาตยา" ถือเป็นการคุกคามสื่ออย่างรุนแรง
 
15 พ.ย. 2557 นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การคุกคามและแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนของฝ่ายความมั่นคงว่า ฝ่่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนท่าทีที่แสดงออกต่อสื่อมวลชน ที่มีการคุกคามแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ เพราะประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำสังคมไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง การแแทรกแซงสื่อของฝ่ายความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นการปิดก้ั้นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดบรรยากาศการเแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคมที่ีมีความหลากหลาย โดยกรณีของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการ และบรรณาธิการกลุ่มข่าววาระทางสังคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถือเป็นการคุกคามและแทรกแซงสื่ออย่างรุนแรง แม้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2557 ก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เคยมีอยู่แต่เดิมไว้ในมาตรา 4 จึงขอให้รัฐบาลกำชับไปยังฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่างๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
 
นายมานพ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ณาตยาถือเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรวม การแสดงออกด้วยวาจาของนายทหารที่ส่งผ่านไปยัง น.ส.ณาตยาและผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนเป็นเหตุให้ น.ส.ณาตยาต้องยุติการทำหน้าที่พิธีกรของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นบรรยากาศที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป เพราะสื่อมวลชนเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญที่สุดในการระดมความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน แม้ฝ่ายความมั่นคงจะระบุว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้นายทหารคนดังกล่าวไปดำเนินการใดๆ กับ น.ส.ณาตยาและผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้
 
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยุติการกระทำดัังกล่าว เพื่อสร้างบรรยากาศในการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปสร้างประเทศไปสู่ความสันติสุข เพราะแม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็เป็นความเห็นที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคนต้องรับฟัง
 
อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนภาคสนาม ได้หารือกับเพืี่อนร่วมวิชาชีพว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนทุกแขนงและองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบไปยังสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยการยกเลิกประกาศของ คสช.สามารถดำเนินการได้โดยการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ต่อสภานิติบััญญัติแห่งชาติ หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายของทุกฝ่่ายในประเทศ สามารถดำเนินการได้ในทันที ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสื่อมวลชนภาคสนาม จะรวมตัวเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งผ่านความคิดเห็นไปยังรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงถึงประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ ยังเห็นว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงควรทบทวนการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกโดยเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างมีเสรี เพื่อสร้างความเห็นร่วมกันของคนในประเทศ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการนำประเทศกลับไปสู่ความสันติสุข
 

นายทหารพระธรรมนูญแจ้งจับสาวโพสต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพบนเฟซบุ๊ก


       มติชนออนไลนรายงานเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 พ.ย. 2557 ว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ สังกัดกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2) เข้าพบ พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ เกิดเอี่ยม พงส.ผนพ. กก.1 บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดี กับ น.ส.จารุวรรณ (ประชาไทขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี บ้านเลขที่ 102 หมู่ 15 ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมทั้งนำเอกสารที่เป็นหน้าเฟซบุ๊กพร้อมข้อความที่ น.ส.จารุวรรณ์โพสต์หมิ่นฯ มาเป็นหลักฐาน

        พ.ท.บุรินทร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊คของ น.ส.จารุวรรณ์ มีการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่รีบดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปิดเฟซบุ๊กดังกล่าว ก่อนที่จะสร้างความเสียหายมากกว่านี้

       ด้าน พ.ต.ท.ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้นรับเรื่องดังกล่าวไว้ ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมประสานงานไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าว ทั้งนี้จะเชิญตัวผู้ถูกกล่าวหามาสอบปากคำเพิ่มเติม และจะรายงานเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาต่อ