วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คดี 112 จำคุก 2 ปี 6 เดือน นศ.วิศวะโพสต์เฟซบุ๊ก

             4 พ.ย.2557 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์สมานฉันท์ ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำพิพากษา คดีที่อัครเดช (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ตกเป็นจำเลยในคดี 112
           ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตาม ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา และม.3, 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กระทำผิดหนึ่งกรรม ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามกฎหมายที่โทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน
          "พิเคราะห์พฤติการณ์จำเลยเป็นการหยาบหยามสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชาวไทย กระทำการในลักษณะเป็นการโฆษณา ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ การกระทำของจำเลยเป็นภัยร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ"
           ทั้งนี้ อัครเดชถูกจองจำในเรือนจำมาแล้วราว 5 เดือน โดยวันที่ 18 มิ.ย.57 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สุทธิสารกว่า 10 นาย นำหมายจับไปจับกุมตัวเขาจากบ้านพักในเขตหนองจอก พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นของกลาง ก่อนนำตัวมาสอบสวนที่สน.สุทธิสาร จากนั้นในวันที่ 20 มิ.ย.ตำรวจได้นำตัวไปฝากขังที่ศาล อัครเดชถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่ครอบครัวยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสิ้น 5 ครั้งโดยใช้เงินสด 150,000 – 200,000 บาทแต่ศาลไม่อนุญาต
          เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้นามแฝง “น้าดมก็รักในหลวงนะ” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความในวันที่ 15 มี.ค.57 ซึ่งเป็นการถกเถียงกันระหว่างผู้เห็นต่างในเฟซบุ๊ก จากนั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเขากับเจ้าหน้าที่ ตำรวจ สน.สุทธิสารพร้อมนำหลักฐานเชื่อมโยงมายังตัวอัครเดชมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (1) , (2) , (3) , (4) , (5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และต่อมาให้การรับสารภาพในชั้นศาล ระหว่างกระบวนการ "สมานฉันท์"

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'เดอะไพเรตเบย์' ถูกจับที่หนองคาย

            4 พ.ย.2557 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้อง ศปก.กองกำกับการตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย พล.ต.ต.ชาติชาย เอี่ยมแสง ผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ภาค 4 (ผบก.ตม.4), พ.ต.อ.พัลลภ สุริยกุล ณ อยุธยา ผกก.ตม.หนองคาย, นายภัทรวิทย์ โพธิวัฒน์ ตัวแทนสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย พร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย ได้ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมนายฮานส์ เฟรดดิก เลนนาร์ท นีเย (Mr.Hans Fredrik Lennart Neij) หรือ  TiAMO อายุ 36 ปี สัญชาติสวีเดน ผู้ต้องหาตามหมายจับตำรวจสากล สำนักงานตำรวจกรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ในข้อหา สมรู้ร่วมคิดกับผู้ต้องหาอีก 3 คน ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ และได้หลบหนีการตัดสินคดี
     
          ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่นายฮานส์ เฟรดดิกได้นั่งรถยนต์มาพร้อมกับหญิงสาวชาวลาวคนหนึ่ง เข้าทำพิธีการผ่านแดน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหนองคายที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวพบว่านายฮานส์เป็นบุคคลตามที่ได้ติดประกาศหมายจับไว้ประจำที่ตู้บริการตรวจคนเข้าเมือง จึงได้เรียกตรวจสอบ และนายฮานส์ยังได้สวมเสื้อตัวเดียวกันกับวันที่ออกหมายจับด้วย โดยนายฮานส์ยอมรับว่าเป็นตัวเองจริง และกำลังจะเข้ามาซื้อของใช้ที่จังหวัดหนองคาย
     
         พล.ต.ต.ชาติชาย เอี่ยมแสง ผบก.ตม.4 กล่าวว่า คดีนี้ทางสำนักงานประสานงานฝ่ายกิจการตำรวจและศุลกากรกลุ่มประเทศนอร์ดิก ราชอาณาจักรสวีเดน พร้อมด้วยสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย และสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ขอให้ตรวจคนเข้าเมืองเฝ้าติดตามจับกุมนายฮานส์ เฟรดดิก
     
         พล.ต.ต.ชาติชาย ระบุว่า เนื่องจากนายฮานส์ถูกจับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยพฤติการณ์นั้น นายฮานส์ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คนจัดตั้งเว็บบิตโหลด ชื่อ เดอะไพเรตเบย์ ทำการก๊อบปี้ภาพยนตร์จากทั่วโลกมาลงในเว็บให้บริการประชาชนโหลดฟรี โดยนายฮานส์ และพวกจะได้เงินจากการขายโฆษณา ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1,200,000 โครนสวีเดน หรือประมาณ 5,300,000 บาท หลังถูกจับศาลสวีเดนตัดสินจำคุกนายฮานส์เป็นเวลา 10 เดือน ปรับ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160 ล้านบาท นายฮานส์ได้ประกันตัวออกมา แล้วหนีมาอยู่ในประเทศลาว มีภรรยาชาวลาว และข้ามไปมาในฝั่งไทยประมาณ 27 ครั้ง
     
         พล.ต.ต.ชาติชาย ระบุว่า ก่อนจะมาถูกจับในที่สุด เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งเดอะไพเรตเบย์ถูกจับที่กัมพูชาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ส่วนอีก 1 คนยังหลบหนีอยู่ ซึ่งทางตรวจคนเข้าเมืองได้ประสานกับตำรวจสวีเดนทราบแล้วและกำลังเดินทางมารับตัวนายฮานส์กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศสวีเดน ระหว่างรอการส่งมอบตัวนั้นทางตรวจคนเข้าเมืองได้ยกเลิกวีซ่าในการอยู่ในประเทศไทยของนายฮานส์ และคุมตัวไว้ที่ตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ
     
           ด้านนายภัทรวิทย์ โพธิวัฒน์ ตัวแทนสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย กล่าวว่า ได้ติดตามตัวนายฮานส์และพวกมานานกว่า 3 ปี เพราะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้สร้างและผู้ประกอบธุรกิจภาพยนตร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก คดีนี้เป็นตัวแทนสมาคมในกรุงลอนดอนเป็นฝ่ายแจ้งความไว้ ซึ่งนายฮานส์ และพวกถือเป็นบุคคลอันตรายทางธุรกิจภาพยนตร์
         อนึ่ง เว็บไซต์เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บไซต์แชร์ไฟล์สัญชาติสวีเดน เปิดให้บริการตั้งแต่พฤศจิกายน 2546 และกล่าวอ้างว่าเป็น "เว็บไซต์บิตทอร์เรนต์แทร็กเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 อเล็กซาจัดอันดับให้เดอะไพเรตเบย์เป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับที่ 80 ของโลกและอันดับที่ 14 ของสวีเดน โดยปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่

ใครเป็นใครใน 'กรรมาธิการยกร่าง รธน.' พบหลายคนแนวร่วม 'นกหวีด'



Tue, 2014-11-04 17:35


            สแกนใครเป็นใครใน กมธ.ยกร่าง รธน. พบหลายคนแนวร่วม กปปส. เช่น ชูชัย ไพบูลย์ จรัส สุภัทรา คำนูณ ปรีชา ปกรณ์ บรรเจิด ฯลฯ ขณะที่ "วิษณุ" ยืนยัน มีความรู้ครบทุกด้าน

           หลังจากที่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ได้มีมติเห็นชอบ 20 รายชื่อ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว ต่อมา วันที่ 30 ต.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้เห็นชอบกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สนช. เพิ่มอีก 5 ราย

          ล่าสุดวันนี้ ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาลได้เห็นชอบเสนอรายชื่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ ครม. และ คสช. จำนวน 11 ราย

          โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี ว่า รายชื่อทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้คัดเลือกเอง ซึ่งในส่วนของนายปกรณ์ ปรียากร เป็นอดีตสมาชิกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 รวมถึงเป็นที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี ขณะที่ น.พ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นอดีตนักการเมือง โดยเป็นการดึงนักการเมืองน้ำดีเข้ามาร่วมเพื่อป้องกันการกล่าวหา ว่าผู้ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยมาจากการเลือกตั้ง

          สำหรับนายเจษฎ์ โทณวณิก เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ไฟแรง ส่วนนายสุจิต บุญบงการ เคยเป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายกฤต ไกรจิตติ เคยเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และเคยทำงานด้านมุษยชน ซึ่งการร่างรัฐธรรนูญครั้งนี้ ต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้าร่วมด้วย และยังมีนายวิชัย ทิตตภักดี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้นจำนวนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 ราย ประกอบด้วย

สัดส่วนของ คสช. 6 ราย ดังนี้

  • 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็น ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
  • 2.นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • 3.นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  • 4.นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการสยามประชาภิวัฒน์


บรรเจิด สิงคะเนติ ที่มาภาพ ‘บุญนิยม ทีวี’ สภาปฏิรูป ที่สวนลุมพินี 10 ก ย 56

  • 5.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ,อดีตประธานศาลอุทธรณ์ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายครอบครัว-ทรัพย์สินทางปัญญา และอาจารย์ด้านนิติศาสตร์
  • 6.นายกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัคราชทูตไทยในหลายประเทศ

ศาลเลื่อนไต่สวนการเสียชีวิต 3 กปปส. ไป 8 ธ.ค.นี้


Tue, 2014-11-04 00:08


ศาลเลื่อนไต่สวนการตายและนัดฟังคำสั่งการรวมพิจารณาคดี ‘ธนูศักดิ์-ศรัทธา-จิรพงษ์’ 3 ผู้ชุมนุม กปปส. เสียชีวิตแยกผ่านฟ้าฯ ไป 8 ธ.ค.นี้
         3 พ.ย.2557 เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ หมายเลขดำ ช.5/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต นายธนูศักดิ์ รัตนเดช อายุ 29 ปี และคำร้องหมายเลขดำ ช.6/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต 


นายศรัทธา แซ่ด่าน อายุ 44 ปี และคำร้องหมายเลขดำ ช.7/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต 

            นายจิรพงษ์ ฉุยฉาย อายุ 29 ปี ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุม ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่รวมตัวประท้วงและคัดค้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 57 เวลา 12.10 - 13.30 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ได้เจรจาขอคืนพื้นที่ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอม จนเกิดการปะทะต่อสู้ขัดขวางด้วยอาวุธปืนและระเบิดขว้างชนิดสังหาร เอ็ม 67 ทำให้ 



ส.ต.ต.ศราวุฒิ ชัยปัญญา และ ด.ต.เพียงชัย ภารวัตร ถึงแก่ความตาย ส่วน ด.ต.นฤมิตร พวงจัทร์ บาดเจ็บสาหัส ขณะที่ผู้ตายทั้งสามซึ่งชุมนุมอยู่ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ และสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงแก่ความตาย โดยนายธนูศักดิ์ ถูกระเบิดเข้าที่หน้าอก ช่องท้องฉีกขาด , นายจิรพงษ์ ถูกกระสุนปืนที่หน้าอก และนายศรัทธา ถูกยิงทะลุอก ตับ ปอดฉีกขาด ทั้งนี้เพื่อให้ศาลทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยอัยการยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 6 ส.ค.57 ที่ผ่านมา

          โดยอัยการผู้ร้องบรรยายสรุปว่า ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมล้มล้างความผิดทางการเมืองปี พ.ศ. 2547 สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยวันที่ 13 ม.ค. 2557 เริ่มตั้งเวทีปราศรัยที่สถานีรถไฟสามเสน แล้วย้ายมาที่สะพานชมัยมรุเชฐ โดยเรียกตัวเองว่ากองทัพประชาชนโค่นระบบทักษิณ หรือ กปท. กับกลุ่ม กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ กปปส. ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลาออก และยังคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ. 2557 รวมทั้งจะมีการตั้งสภาประชาชน ตั้งเวทีเรียกร้องให้มีการชุมนุมขับไล่รวม 7 แห่ง เคลื่อนขบวนปิดการจราจรสถานที่ราชการต่างๆ จนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์ ศรส. มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น ผอ.ศรส. และตั้ง พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.2 เป็นหัวหน้าชุดตำรวจควบคุมฝูงชน จำนวน14 กองร้อย เข้าควบคุมฝูงชนที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

             ต่อมาวันที่ 18 ก.พ. 2557 เวลา 12.10-13.30 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เจรจาขอคืนพื้นที่ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมจนเกิดการปะทะต่อสู้ขัดขวาง ทำให้กลุ่มผู้ตายทั้ง 3 คนซึ่งชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้บริษัท เทเวศประกันภัย คือ นายธนูศักดิ์ รัตนเดช ถูกระเบิดเข้าที่หน้าอก ช่องท้องฉีกขาด นายจีรพงษ์ ฉุยฉาย ถูกกระสุนปืนที่หน้าอก นายศรัทธา แซ่ด่าน ถูกยิงทะลุอก ตับ ปอดฉีกขาด ถึงแก่ความตาย ญาติเชื่อว่าการตายของบุคคลทั้งสามเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่

            อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตร่วมการไต่สวนและนำพยานหลักฐานเข้าร่วมการไต่สวน ขณะที่พนักงานอัยการได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของนายสุพจน์ บุญรุ่ง ที่เสียชีวิตบริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ในช่วงเวลาเดียวกันที่ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ได้ยื่นคำร้องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไว้ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะนี้อัยการได้ขอให้โอนสำนวนคดีดังกล่าวมายังศาลอาญา เพื่อพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ดีศาลพิจารณาแล้วจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน โดยนัดพร้อมคู่ความอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อฟังคำสั่งการรวมพิจารณาคดี

          นายชัยวัฒน์ สิทธิสุขสกุล ทีมทนายความญาติผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ในวันนี้เราได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตเข้าร่วมการไต่สวน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาต ขณะที่วันนี้อัยการได้แถลงต่อศาลว่าพยานเอกสารที่จะใช้ในการไต่สวนมีจำนวนมาก ประกอบกับศาลได้อนุญาตให้เราเข้าร่วมการไต่สวน ดังนั้น ในวันนี้ศาลจึงยังไม่ได้ไต่สวนพยาน โดยให้นัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อให้อัยการได้แถลงว่าจะนำพยานเบิกความในส่วนใดบ้างกี่ปากและพยานหลักฐานในส่วนของญาติผู้เสียชีวิตมีอะไรบ้าง