ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคุกรุ่นแม้จะผ่านรัฐประหารมา 1 ปีแล้ว อาจทำให้เราไม่คิดถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกละเมิดโดยคนบางกลุ่ม บทเรียนจากห้องเรียนสาธารณะจะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังโดนละเมิดสิทธิชุมชนในเรื่องใดบ้าง
วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ห้องพันธุมดิษยมนฑล ตึก KUHOME มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี จัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะภายใต้หัวข้อสิทธิชุมชนในวันที่ไร้สิทธิ มีการพูดถึงประเด็นชุมชน พลังงาน ป่าไม้ที่ดิน และเหมืองแร่ของไทย โดย เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มก. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน สุรินทร์ อ้นพรหม อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก. ดำเนินรายการโดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มก.
เดชรัต สุขกำเนิด: สิทธิชุมชนกับการมีส่วนร่วม
เริ่มจากสิทธิชุมชน ในอดีตเรามีสิทธิชุมชนกันบ้างแล้ว รัฐได้ให้สิทธิการมีส่วนร่วมแก่ชาวบ้านในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาประเด็นสิทธิชุมชนในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับข้อมูลจากรัฐที่จะตัดสินใจในส่วนที่มีผลกระทบต่อตนเอง มีการถือปฏิบัติตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แต่ก็มีตกหล่นบ้าง ส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับการพัฒนาชัดเจนคือการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในนโยบาย เดิมมีมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และมาตรา67 ซึ่งภายหลังมีการใช้ฟ้องร้องในกรณีของมาบตาพุด ที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีเหมืองแร่ก็ใช้มาตรา 67 ส่วนประเด็นป่าชุมชนและประมงพื้นบ้านอาจไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้โดยตรง แต่ในแง่ของสิทธิชุมชนพี่น้องประมงก็นำไปขยายการต่อสู้จนนำมาสู่การประกาศพื้นที่อนุรักษ์และกำหนดข้อบัญญัติท้องถิ่น และกรณีท่าศาลาก็มาเคลื่อนไหวในประเด็นอนุมัติ EIA ด้วย จนในที่สุดบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการได้ยกเลิกไป ฉะนั้นเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เคยมีมาในอดีต แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้น เมื่อ 22 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ก็กังวลกันว่าสิทธิชุมชนที่เคยมีจะยังคงอยู่หรือหายไปหรือจะอยู่อย่างไร ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เราอาจจะคุ้นเคยกับมาตรา 44 แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ก็มีมาตรา 4 ด้วยที่บอกไว้ว่าสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่มีอยู่แต่เดิมตามระบอบปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังคงอยู่ตามเดิม แต่ในทางปฏิบัติเกิดประเด็นที่ว่ามีการใช้หรือไม่ใช้มากน้อยเพียงใด ขออนุญาตไม่ประเมินในประเด็นอื่นๆ แต่ขอประเมินในประเด็นพลังงานและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
เราจะพบว่าการยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่มีมาแต่เดิมอาจจะเป็นไปในลักษณะไม่แน่นอน บางกรณีอาจเปิดให้มีพื้นที่การมีส่วนร่วมพูดคุย บางกรณีอาจจะเป็นการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ หรือหากมีกรณีที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยหรือแข็งขืนที่แตกต่างจากการตัดสินใจของรัฐ ก็อาจจะใช้กฎอัยการศึกแบบในอดีตหรือมาตรา 44 บ้างเช่นกัน
ในส่วนของพลังงานต้องพูดตามข้อเท็จจริงที่ว่าพี่น้องที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน ในช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองได้ร่วมกลุ่มทางการเมืองในนามของเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) คือกลุ่มที่เรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง และให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และสิ่งที่ต้องปฏิรูปคือเรื่องของพลังงาน เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เครือข่าย คปท.ได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอความคิดต่างๆ ซึ่ง คสช.คงทราบอยู่ก่อนแล้ว
ในเรื่องพลังงานนี้เอง ในช่วงที่ คสช.ยังไม่มีรัฐบาล พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นผู้ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจจัดเวทีให้มีการพูดเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งไม่ได้คุยเฉพาะเรื่องน้ำมัน แต่เป็นเรื่องของพลังงานไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่เรื่องที่เป็นจุดสนใจคือพลังงานน้ำมันและ ปตท. บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แต่ก็ไม่มีข้อสรุปจากเวทีดังกล่าว เมื่อไม่มีข้อสรุปจากฝั่งของภาครัฐที่ประกอบไปด้วยกระทรวงพลังงาน ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จึงมีการรณรงค์เรื่องการปฏิรูปพลังงานและโฆษณาต่อไป แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่ก็เป็นสิทธิที่เขาจะประชาสัมพันธ์ต่อสังคม ตราบใดที่ข้อมูลและเนื้อหาเหล่านั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน
แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นภาครัฐชี้แจงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ ก็อยากที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยกันบ้าง ก็เลยออกมาเป็นรูปแบบ ‘ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน’ สุดท้ายก็มีคนทั้งจากปักษ์ใต้และในส่วนกรุงเทพฯ ก็ถูกจับกุมเพราะขัดกับกฎอัยการศึก แม้จะเป็นแค่การเดินแต่เพียงอย่างเดียว หรือแจกใบปลิวก็ยังถูกจับกุม กลายมาเป็นคำถามที่ว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ การเสนอความคิดเห็นต่อภาครัฐอาจจะไม่สมบูรณ์แบบที่มีในมาตรา 4
สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือแล้วดุลยพินิจอะไรที่ใช้บอกว่าอะไรทำไม่ได้ สังคมไทยต้องตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงชี้แจงเรื่องที่เห็นต่างจากภาครัฐให้กับประชาชนไม่ได้ จากจุดนั้นนำมาสู่จุดที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดเวที แม้จะไม่มีข้อสรุปก็ตาม แต่ก็มีการผลักดันมาสู่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ถูกคัดค้านจากฝั่งประชาชน จนรัฐบาลต้องยอมถอย ทางนายกรัฐมนตรีสั่งให้ตั้งคณะกรรมการทั้งสองฝ่าย มาพูดคุยว่าจะทำอย่างไร เพื่อจะได้ยกร่างกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อแก้ไขกฎหมายใหม่ แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานดังกล่าว รัฐบาลได้เสนอ พ.ร.บ ปิโตรเลียมฉบับแก้ไขใหม่ขึ้นมาโดยไม่มีการพูดคุย เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี และ สนช. ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยแน่ใจว่าเกณฑ์ในการพิจารณาและตัดสินใจยังมีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่หรือไม่
ประเด็นไฟฟ้า อย่างเรื่องถ่านหิน การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงแค่ครั้งเดียว เกิดเพียงแค่เวทีเดียว ผมเสนอไปว่าอย่างน้อยที่สุดขอให้มีเวทีพูดคุยภาคละ 1 ครั้ง ผลลัพธ์บอกว่าไม่ได้ ต้องเร่งรีบ แต่ความเป็นจริงแล้วปัจจุบันเรามีกำลังผลิตสำรองเหลือมากกว่าความต้องการสูงสุดถึง 27% และเมื่อหลายปีก่อนที่เราคาดการณ์ว่าจะใช้พลังงานเท่านี้ในปีนี้ แต่ความจริงเราใช้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 1,500-1,700 เมกะวัตต์ แสดงว่าเรายังมีพลังงานไฟฟ้าเหลืออยู่ แต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถเปิดรับฟังได้อย่างทั่วถึง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในแผนมีหลายข้อ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 27% แต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 40% ในปี 2568 ซึ่งหมายถึงว่าเรามีโรงงานไฟฟ้ามากกว่าที่ต้องการถึง 40% ซึ่งเราอาจจะไม่ต้องเป็นห่วง หากเป็นผู้ผลิตคนอื่นๆ ที่จะต้องแบกภาระต้นทุนในเรื่องนี้ไป แต่ในกรณีไฟฟ้า เมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นก็จะกลายเป็นการผลักภาระมาที่ประชาชน ก็กลายเป็นคำถามว่าทำไมจะต้องรีบสร้าง? ในเมื่อเรามีกำลังการผลิตสำรองเหลือ และสามารถที่จะยืดขยายการสร้างออกไปได้
สุดท้ายที่น่าเป็นห่วงคือในขณะที่เรามีพลังงานหมุนเวียนเยอะมาก ล่าสุดจากข่าวในกรุงเทพธุรกิจบอกว่าปีนี้จะมีพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9,200 เมกะวัตต์ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่มีกำลังการผลิต800 เมกะวัตต์ ปีนี้พลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบหรือหมายความว่าขายได้ถึง 9,200 เมกะวัตต์ แต่ต่อไปจากนี้จะลดลงในปีต่อไป เพราะระบบสายส่งเต็ม ไม่ได้หมายความว่าผลิตพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ แต่เป็นเพราะสายส่งเต็ม ซึ่งเป็นโจทย์ที่อยากนำมาคุยว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าโดยเร็วจริงไหม ในเมื่อกำลังผลิตคงเหลือ และควรจะเป็นพลังงานถ่านหินจริงหรือไม่ ในเมื่อมีพลังงานหมุนเวียนอย่างอื่น ช่วงเวลาที่เรายังมีกำลังการผลิตพลังงานเหลืออยู่ ซึ่งคำตอบก็คือไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ในที่สุดมันวนกลับมาที่คำถามว่าสิทธิชุมชนที่เหลืออยู่มีมากน้อยแค่ไหนภายใต้ช่วงเวลานี้ สุดท้ายเรื่องของการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด ในที่สุดก็มีการให้ bypass กระบวนการ EIA โดยรัฐบาลอนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติรายงาน EIA ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งบางโรงงานบางส่วนอาจเข้าข่ายโครงการที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงด้วย เรามีความกังวลในเรื่องนี้ ข้อเรียกร้องในเบื้องต้นของเราคืออยากให้ยึดหลักการของมาตรา 4 ไว้ก่อน โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาล คสช.
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: เหมืองแร่ทองคำ
หัวข้อที่จะพูดคุยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการ 5 ประการของนักศึกษา 14 คนที่เสียสละชีวิตเข้าไปอยู่ในคุก และคาดหวังว่าจะมีการพูดเกี่ยวกับหลัก 5 ประการในหลายเวที และหลายมหาวิทยาลัย
วันนี้ตื่นมาแต่เช้าด้วยข่าวที่หดหู่ว่ารัฐบาลจะ Bypass EIA ตอนรัฐประหารใหม่ๆ ก็จะ Fast track โครงการเมกะโปรเจคต์ เช่นโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เพื่อทำให้ EIA ผ่านเร็วหรือไม่ต้องทำเลย แต่พอมาวันนี้กลับใช้มาตรา 44 ไปบังคับจัด zoning หลายจังหวัดให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ บังคับซื้อที่ดิน เวณคืนที่ดิน และบังคับไม่ต้องทำ EIA
อยากอธิบายขั้นตอนของการทำ EIA เพื่อการทำความเข้าใจว่า ทั้ง EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) และ EHIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้้นจากการพัฒนาโครงการ) มีความสำคัญและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
EIA แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ EIA ของโครงการเอกชน และEIA ของโครงการรัฐ หลังจากปี 2550 มี EHIA เพิ่มมาด้วย คือต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพด้วย ขั้นตอนการทำ EIA ต้องผ่านโดยบริษัทเจ้าของโครงการไปว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำ EIA พอจัดทำเสร็จก็ต้องส่งให้สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา และประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เห็นว่าบกพร่องก็ต้องนำกลับไปแก้ วนใหม่อยู่อย่างนี้หลายรอบ ส่วน EHIA จะมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเพิ่มเติมอีก ความหมายก็คือขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาเยอะ เช่นโครงการของเอกชนจะใช้เวลา 105 วันเป็นอย่างน้อย แต่ข่าวเมื่อเช้าคือจะต้อง Bypass EIA ให้ได้ ไม่ให้เกิน 105 วัน พูดง่ายๆ คือให้ผ่านตั้งแต่รอบแรก ถึงแม้ว่าเนื้อหาใน EIA จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ต้องให้ผ่าน โดยปกติแล้วขั้นตอนเหล่านี้ต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแทบทุกขั้นตอน เพื่อที่ชาวบ้านจะได้เข้าไปเห็นว่านักวิชาการเขียนอะไรบ้างใน EIA ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกตัดทอนจากการทำ Fast track ของรัฐบาล
ต่อเนื่องเรื่องของ EIA อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นว่าในสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อทำโครงการน้ำ หลังเกิดปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 นักวิชาการ เอ็นจีโอ ชาวบ้านออกมาคัดค้านเยอะมาก บอกว่าขั้นตอนไม่ถูกต้องและกลับหัวกลับหาง เราก็โจมตีว่าโครงการนี้ไม่ชอบมาพากลและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม พอมาถึงโครงการ 2 ล้านล้านบาทเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลของยิ่งลักษณ์มองเห็นการโจมตีครั้งนี้จึงเขียนกฎหมายพระราชกำหนดให้ขั้นตอน EIA ไปอยู่ขั้นตอนแรกเพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นว่าในรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ แต่ในรัฐบาลชุดนี้ Bypass EIA บังคับทันที เขาจะไม่เปิดโอกาสให้เราพูด เราเขียนเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกระบวนการ EIA ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การพัฒนาจะใช้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แต่ตอนนี้ไม่เห็น ทุกอย่างถูกปิดโอกาสหมด
ส่วนใหญ่ผมจะอยู่ในพื้นที่อีสาน ผมอยากจะพูดถึงเหมืองแร่ทองคำที่เลย ซึ่งนักศึกษากลุ่มดาวดินเข้าไปทำงานในพื้นที่นี้ และค้นพบประเด็นสำคัญๆ และถูกโจมตี ภายหลังจากการปล่อยตัวนักศึกษาออกมา บรรยากาศในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเปิดมากขึ้น แต่ในพื้นที่ของเหมืองแร่ทองคำที่ จ.เลย กลับตรงกันข้าม ตัวแทน คสช.ในระดับจังหวัดเลยปลุกระดมกำลังผู้ใหญ่บ้านเพราะกลัวว่ากลุ่มดาวดินจะกลับลงไปในพื้นที่
เราค้นพบความจริงว่าเหมืองทองที่ทุ่งคำ จังหวัดเลยมีระบบสัญญาพิเศษที่ต่างไปจากเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร ตามขั้นตอนของกฎหมายแร่ โดยขั้นตอนแรกของการทำเหมืองแร่ จะต้องทำเรื่องขออาชญาบัตรสำรวจแร่ก่อน ถ้าค้นพบแร่แล้วจึงค่อยทำเรื่องขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ต่อไป โดยทำเป็นขั้นตอนไป แต่เหมืองทองที่จังหวัดเลย นอกจากขั้นตอนที่ว่านี้แล้ว ยังมีสัญญาครอบอยู่อีกชั้นหนึ่งคือสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยแปลงที่ 4 สัญญาครอบไว้อีกชั้นหนึ่งจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2530 ประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ หากเหมืองทองแห่งนี้ถูกเพิกถอนประทานบัตรเช่นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนถึงเหตุให้มีการเพิกถอนประทานบัตร เหมืองทองที่พิจิตรจะสามารถเพิกถอนประทานบัตรได้ แต่เหมืองทองของจังหวัดเลยไม่สามารถเพิกถอนประทานบัตรได้ เพราะสัญญาครอบไว้ รัฐบาลจะต้องเอื้อประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ให้ถึงที่สุดเพื่อให้เกิดการทำเหมืองต่อไปจนสิ้นสุด แม้ว่าในกฎหมายแร่บอกไว้ว่าห้ามให้ประทานบัตรหรือสัมปทานหากพื้นที่นั้นเป็นต้นน้ำ เรากลับพบว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยไปทับกับป่าต้นน้ำ แต่รัฐบาลกลับเปิดโอกาสให้ขอประทานบัตรได้
เรื่อง Mining Zone เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กฎหมายแร่ที่ใช้ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติแร่ 2510 กำลังจะถูกแก้ไขใหม่ทั้งหมด มีการยื่นเรื่องจะแก้ไขมา 4 ครั้งแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ผ่านสักครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ถึงขั้นถอนร่างกฎหมายแร่ออกจากชั้นกฤษฎีกา เพราะโต้แย้งข้อถกเถียงที่ภาคประชาชนนำเสนอไม่ได้ ร่างกฎหมายนี้ก็ไม่ผ่านในสมัยรัฐบาลของยิ่งลักษณ์เช่นกัน แต่กลับผ่านในสมัยรัฐบาล คสช. ทั้งที่มีเนื้อหาสาระเดียวกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจและแก้ไขในชั้นกฤษฎีกา ประกอบกับการผลักดันของ คสช.เรื่อง Mining Zone สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ออกข่าวทันทีว่าจะเปิดประมูลแหล่งแร่ทองคำ 31 จังหวัด ให้แก่เอกชนจำนวน 1,000,000 กว่าไร่ ถามว่าให้กับเอกชนทันที นี่คืออะไร?
ในพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้่ล่างที่ประสบปัญหาการสะสมตะกอนของตะกั่วในท้องน้ำ ซึ่งตอนนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ฟื้นฟูลำห้วยและวิถีชุมชนคลิตี้ แต่พื้นที่ตรงนั้นยังมีตะกั่วอยู่ แนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ฟื้นฟูลำน้ำนี้กำลังถูกบิดเบือนจากหน่วยงานราชการว่าการฟื้นฟูลำน้ำนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุด เพราะมีสารตะกั่วตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการอพยพชาวบ้านจะง่ายกว่า เพื่อประโยชน์ของ Mining Zone นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่กับชาวบ้านคลิตี้บนและล่าง
อีกพื้นที่หนึ่งที่กลุ่มดาวดินลงไปทำงานกับชาวบ้านคือพื้นที่สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบ้านนามูล-ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับปิโตรเลียม ซึ่งเมื่อก่อนปิโตรเลียมเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายแร่ แต่ถูกยกออกเป็นกิจการปิโตรเลียมเฉพาะในปี 2514 ซึ่งเปิดให้ขอสัมปทานแปลงใหญ่เป็นจำนวนแสนไร่ได้ แต่กฎหมายแร่จะทำแบบปิโตรเลียมไม่ได้
ประเด็นที่ต้องพูดถึง ปตท.เป็นหลักเพราะกิจการปิโตรเลียม และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอื่นๆ ให้สิทธิผูกขาดแก่ ปตท.ในการขุดเจาะ พอปิโตรเลียมออกมาจากปากท่อนับจากปากปล่องไปก็จะทำท่อขนส่งออกไปซึ่งเป็นสิทธิผูกขาดของ ปตท. โดย ปตท.มีอำนาจผูกขาดในการซื้อขายปิโตรเลียมในไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยสามารถกำหนดราคาอย่างไรก็ได้ ถามว่าทำไม ปตท.จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอพิโก้ที่บ้านนามูล-ดูนสาด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสัมปทาน อาจตอบได้ว่าเพราะรู้แล้วว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตที่มีก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากพอสมควรที่จะผลิตจำหน่าย ปตท.จึงเตรียมการที่จะทำท่อขนส่งก๊าซเพื่อเตรียมไปจำหน่ายต่อ ซึ่งเป็นอำนาจขอ งปตท. เราจึงเห็นว่ารองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่นเข้าไปคุมปฏิบัติการขนส่งอุปกรณ์ปิโตรเลียม คุ้มกันให้กับบริษัทอพิโกและให้ชาวบ้านนั่งอยู่ข้างทาง ห้ามต่อต้านคัดค้าน คำถามก็คือว่าทำไมภารกิจหน้าที่จึงตกเป็นของรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัดขอนแก่น ทั้งที่ไม่สมควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับภารกิจ เพราะว่าเลขาของ กอ.รมนคนหนึ่งเป็นกรรมการอิสระของบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ไหนคุณบอกจะปฏิรูปประเทศ ทำไมไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปฏิรูปประเทศ คุณใช้เวลาของทหารในพื้นที่ไปรับจ้างบริษัททำไม นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านและนักศึกษากำลังพูดออกมาว่ารัฐประหารครั้งนี้มีประโยชน์แอบแฝง และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน จนทำให้สิทธิชุมชนที่เราพูดถึงกันถูกทำลายลงไป
สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ: สิทธิชุมชนกับการจัดการประมงในประเทศไทย
เพื่อให้เข้าใจเรื่องฐานทรัพยากรประมง ต้องขอเวลาชี้ให้เห็นว่าด้วยทรัพยากรของประมงทำให้เกิดปัญหาอย่างไร และที่ผ่านมาทำไมจึงเกิดปัญหาสะสม ชุมชนถูกละเมิดสิทธิอย่างไรบ้าง
ในส่วนของทรัพยากรประมง เป็นทรัพยากรที่อยู่ในท้องทะเลและใช้ร่วมกันด้วยระบบจัดการที่มีอยู่แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครมีทุนมากก็ออกไปจับได้มาก ใครมีทุนน้อยก็ออกไปจับได้น้อย ตัวเลขประมาณการคร่าวๆ ว่าประมงขนาดใหญ่มีทั้งหมด 20% ของชาวประมง แต่จับสัตว์น้ำ 80% ของทั้งหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับประมงพื้นบ้านหรือประมงขนาดเล็กที่มีจำนวนถึง 80% แต่จับสัตว์น้ำเพียง 20% ของทรัพยากรทั้งหมด
การใช้ทรัพยากรของคนหนึ่งจะส่งผลกระทบต่ออีกคน ถ้าอีกคนใช้มากก็จะไปกระทบต่ออีกคนหนึ่ง ทรัพยากรประมงยังเป็นทรัพยากรที่คนไม่เห็นคุณค่าของการเก็บสะสมไว้ในอนาคต เพราะเขาเชื่อว่าปลาจะไม่ว่ายกลับมาหาเราถ้าเราไม่จับวันนี้ แม้จะเป็นปลาตัวเล็กก็ตาม โดยเรามักเห็นประโยชน์ซึ่งหน้ามากกว่าประโยชน์ในอนาคต นี่คือวิธีคิดของประมงขนาดใหญ่ เห็นได้จากสัตว์ที่จับขึ้นมา เช่นปลาข้าวสารที่เป็นลูกของปลากะตัก ลูกปลาทูใน 1 กิโลกรัมจะมีลูกปลาทูอยู่ 1,000 ตัว แต่ถ้ารอ 6 เดือน ปลาทู 1 กิโลกรัมจะมีเพียง 12 ตัว แปลว่าเรากินมูลค่าอนาคตไปแล้ว หรือลูกปูม้าที่เรานำมาทำปูม้าสามรส ฉะนั้นการประมงจะเน้นไปที่การมุ่งจับในวันนี้ก่อนโดยไม่คำนึงถึงอนาคต และการที่ทรัพยากรเหล่านี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ รัฐมีบทบาทแค่บริหารจัดการแบบรวมศูนย์ การที่ไม่มีสำนึกของความเป็นเจ้าของทำให้มีแต่คนใช้ แต่ไม่มีคนดูแล ทุกคนอ้างสิทธิและเสรีภาพในการใช้ทรัพยากร หากเห็นว่ามีโอกาสลงทุนก็จะทำทันที รัฐบริหารจัดการด้วยความรู้สึกที่ว่าทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทำเพราะความรู้สึกแบบเป็นเจ้าข้าวเจ้าของซึ่งจะมีความรู้สึกต่างกัน การที่ไม่มีใครรู้สึกเป็นเจ้าของถึงที่สุดแล้วการใช้ทรัพยากรจะถูกทำลายไปโดยผู้ใช้ทรัพยากร ก็เลยมีวิธีการจับสัตว์น้ำที่เป็นแบบการทำลายล้างขึ้นมา
เครื่องมือที่เป็นปัญหาจนโดนใบเหลืองจาก EU ก็คืออวนลากที่จับสัตว์น้ำขึ้นมาเกินศักยภาพการผลิตอาหารของท้องทะเล โดยเราจะเห็นได้ว่า สัดส่วนทั้งหมดของสัตว์น้ำในทะเลที่เราจับได้ เป็นอาหารสัตว์ถึง 70% แต่เป็นอาหารคนเพียง 30% ในปัจจุบันเรามีชื่อเสียงเรื่องการส่งอาหารสัตว์ไปทั่วโลกมากกว่าที่จะส่งอาหารคน นี่เป็นประเด็นที่เราจะทำลายทรัพยากรในอนาคตของเราอย่างมหาศาล นี่เป็นวิถีของการทำประมงที่เราต้องตั้งคำถามว่ายังควรจะมีอยู่ในสังคมไทยไหม นอกจากเรื่องของการทำลายพันธุ์สัตวน้ำ ประเด็นการลากอวนยังเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นทะเล ปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์
จริงๆ แล้วตัวเครื่องมือซึ่งก็คืออวนนั้นไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาคือการจับสัตว์น้ำอย่างมหาศาลทำให้เป็นปัญหา ที่ผ่านมาตั้งแต่การประมงไทยพัฒนามาในปี 2503 การทำประมงน้ำจืดจะเป็นหลัก แต่เมื่อมีอวนลากเข้ามา ประมงทะเลจึงถูกใช้มากขึ้นเพื่อผลิตอาหารให้แก่คน รัฐบาลตั้งธงมากโดยเน้นนโยบายแบบส่งออกมากกว่าความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศ และเน้นไปที่อุตสาหกรรมมากกว่า
อำนาจการจัดการรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลางที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เน้นไปที่รัฐบาลส่วนกลางมากกว่า อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นอยู่ที่กรมประมง และการออกแบบการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่กลับใช้ระบบเดียวกันทั้งประเทศซึ่งกลายเป็นปัญหาด้านการจัดการ
อีกทั้งกฎหมายไม่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นที่มีการตรวจสอบอุปกรณ์และผลผลิตที่จับมาว่าเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งกฎหมายที่ไม่ทันกับการใช้ทรัพยากรในประเทศ กฎหมายประมงที่ประเทศเราใช้คือปี 2490 ก่อนที่จะโดนใบเหลืองจาก EU
ประเด็นชุมชุนที่ปราศจากสิทธิในการดูแลปกป้องพื้นที่ของตัวเองซึ่งถูกละเมิด สาเหตุคือผู้ที่ละเมิดกฎหมายมักอ้างว่าเจ้าของพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ในการปกป้องความเสียหายที่เกิดในพื้นที่ของตัวเอง เนื่องจากกฎหมายลูกที่เป็นลำดับรองจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุเอาไว้ ที่ชาวบ้านทำเพราะมีจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ วิธีการที่ใช้คือการทำประมงแบบพื้นบ้านที่เลือกวิธีการนี้ไม่ใช่ต้องการที่จะแบ่งเปอร์เซนต์กับเถ้าแก่เท่านั้น เหตุที่เลือกคือทำเพื่อวิถีของลูกหลานในอนาคต หากไม่ทำอาชีพจะหายไปพร้อมกับประสบการณ์ของเขา เคยมีหลายพื้นที่ที่ทรัพยากรเสื่อมสลาย และพวกเขาถูกย้ายให้ไปทำงานในโรงงาน สิ่งเดียวที่จะทำได้คือการออกมาฟื้นฟูชายฝั่งของตนเอง ไม่เช่นนั้นเขาจะต้องเป็นลูกจ้างของโรงงานในอนาคตยันลูกหลาน สิ่งที่เขาทำคือการลุกขึ้นมาทั้งชุมชนเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและป้องกันโดยการสร้างกติการ่วม โดยบังคับใช้ ฟื้นฟู และรณรงค์ไปสู่สาธารณะและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน นี่คือความพยายามของพี่น้องที่ผ่านมา แม้ข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ก็ต้องจัดการภายในให้ได้ก่อน
ประเด็นใบเหลืองจาก EU ก่อนหน้านี้เราใช้พระราชบัญญัติประมง พ.ศ.2490 พอมีใบเหลืองออกมาจึงต้องมีการออก พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราได้ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยแล้ว แต่เนื้อหาที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร มีช่องโหว่อย่างไร รัฐบาลไม่ได้สนใจ ล่าสุด เรากำลังร่าง พ.ร.บ. อีกฉบับเพื่อแทนที่ พ.ร.บ.ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติไป
ไทยเราให้ความสำคัญกับการส่งออกเป็นหลัก เราให้ความสำคัญต่อการที่จะไม่มีตลาดในยุโรป ซึ่งถามว่าผิดไหมก็คงจะไม่ผิด แต่ถามว่ากระบวนการของประชาชนที่เรียกร้องมา 10 ปี ผลักดันอะไรต่างๆ ไปได้ช้ามาก แต่ทำไมเวลามีแรงกดดันจากภายนอกกลับผ่านได้อย่างรวดเร็ว ให้ดูลึกๆ แล้วชาวบ้านถูกละเมิดเรื่องการบริหารจัดการจากรัฐมายาวนาน และตอนนี้พระราชบัญญัติถูกแก้ไปในทิศทางที่ต้องตอบโจทย์ EU มากขึ้น เราจะต้องช่วยกันตรวจสอบเนื้อหาที่ปรับเปลี่ยนไปว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อการจัดการทรัพยากรของเราอย่างไร
อีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่เรือเข้ามาจอดที่ชายฝั่งเยอะมาก และมีกระแสออกมาว่าอาหารทะเลจะแพงขึ้นและขาดตลาด ถามว่าระบบอาหารทะเลบ้านเราเปราะบางขนาดนั้นเลยหรือ เรือที่เข้ามาจอดส่วนหนึ่ง ยังมีเรืออีกหลายลำที่ลอยอยู่ในทะเลและยังไม่ได้เข้ามาจอด ทำไมถึงกล้ามาบอกคนทั้งประเทศว่าอาหารทะเลจะขาดแคลน เราจะเห็นได้ว่าการการกุมสภาพ Supply chain ของบ้านเรามันเปราะบางมาก อยู่ในกำมือของคนไม่กี่คนที่จะบอก ตอนแรกก็คิดว่ามีเรือ 30,000 กว่าลำ ก็ต้องมีอาหารมาส่งกรุงเทพฯอยู่แล้ว ก็ตอบอย่างมั่นใจว่าไม่ขาดแคลน เพราะเรือที่จอดเป็นเรือขนาดใหญ่ และในเรือขนาดใหญ่ก็มีเรือที่ผิดอยู่แค่ 4,000 กว่าลำ เรือที่ถูกต้องกลับมาติดกรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion) ทะเบียนเรือถูกต้องทุกอย่างเดี๋ยวเขาก็วิ่งออกไปปรากฏว่าสิ่งที่ผูกขาด ไม่ได้ผูกขาดที่เรือใหญ่แต่ผูกขาดที่แพปลาด้วย กลายเป็นว่าเรือที่ต่ำกว่า 30 ตันกรอสไม่สามารถจะเข้าเทียบท่าได้ที่มหาชัย เพราะว่ามหาชัยถูกสั่งปิด ด้วยคนที่มีอำนาจธุรกิจประมงที่เขาคุมอยู่ อย่างในพื้นที่แหลมผักเบี้ยที่โครงการทำงานอยู่ เราบอกว่าไม่ติด GMS (Greater Mekong Subregion) แต่ทำไมไม่ออกเรือ เขาบอกว่าไม่สามารถออกเรือได้เพราะแพรปลาที่มหาชัยปิด กลายเป็นถูกบังคับให้จอดโดยปริยาย จึงกลับคำถามว่าทำไมระบบอาหารบ้านเราจึงเปราะบาง และอยู่ในกำมือของใครเพียงไม่กี่คน ทำให้กลับมามองว่าเราจะปลดล็อคในเรื่องพวกนี้อย่างไร การที่มีใบเหลืองจาก EU ถือเป็นโอกาสอันดีในเชิงการรณรงค์ให้คนได้เห็นว่าประมงมีเรื่องราวอย่างไร ปลาทุกตัวมีเบื้องหลังเบื้องหน้าอย่างไร
สุรินทร์ อ้นพรหม: ป่าไม้ที่ดิน
ประเด็นเรื่องป่าไม้ที่ดินเป็นเรื่องที่ฮอตฮิตใน 1 ปีที่ผ่านมา จะขอเล่าถึงพัฒนาการของป่าไม้เมืองไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าการจัดการป่าไม้ของเมืองไทย ประชาชนและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าถูกละเมิดและละเลยอย่างไร ตอนท้ายจะชี้ให้เห็นตัวละครที่เข้ามาปฏิบัติการร่วมกันที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและชุมชนที่อยู่ในป่า เพื่อเป็นการทำความเข้าใจจะแบ่งพัฒนาการของการจัดการป่า ออกเป็น 4 ยุคอย่างหยาบๆ
ยุคแรกคือการสถาปนาอำนาจรัฐในพื้นที่ป่า เนื่องจากป่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐสยาม ในปี 2493 มีการตั้งกรมป่าไม้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมศูนย์อำนาจ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการทำไม้ อย่างเช่นการทำไม้สักในภาคเหนือ มีการออกกฎหมาย 5 ฉบับเพื่อให้อำนาจแก่กรมป่าไม้ในการตัดสินใจเรื่องการทำไม้ แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแต่อย่างใด
ยุคที่สองคือยุคแห่งการอนุรักษ์อยู่ในช่วงปี 2528 คณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติเชื่อว่าการที่สังคมจะพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องมีเนื้อที่ป่าไม้ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด จึงกำหนดว่าประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ป่าไม้40% แต่ผมไม่เจอเอกสารทางวิชาการใดๆ ที่ระบุเรื่องนี้เอาไว้ ในช่วงปี 2529-2530 มีกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้น โดยมีการรวมตัวเพื่อค้านสัมปทานการเปิดป่า ซึ่งเป็นช่วงของการละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชนที่อยู่ในป่าเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการอพยพชุมชนที่อยู่ในป่าออกไป วิธีการควบคุมโดยการจัดระเบียบให้ชุมชนที่อยู่ในป่าอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม รัฐบาลได้จัดตั้งหมู่บ้านให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม เกิดโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) โดยเริ่มต้นที่ภาคอีสาน เป็นโครงการที่ใช้การข่มขู่และความรุนแรงจากภาครัฐโดยมีพันธมิตรของกรมป่าไม้คือกองทัพ เพื่อร่วมอพยพชาวบ้าน แต่คณะรัฐมนตรีในปี 2535 ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการนี้ไป
ต่อมาในช่วงนี้ได้มีการประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์ และเขตสงวนเป็นจำนวนมาก แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นโดยใช้แผนที่แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้พื้นที่ของชุมชนติดอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้รัฐยังเอื้อให้เกิดการให้สัมปทานแก่เอกชน โดยให้เอกชนเข้าไปปลูกป่าตรงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านในป่า ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเช่นกรณีเหตุการณ์ที่ห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชน แต่เอกชนกลับเข้าไปใช้พื้นที่เกินกว่าสัมปทานที่ได้รับ ซึ่งไปทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและต้นน้ำในชุมชน เหตุการณ์นี้ทำให้แกนนำชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้และเรียกร้องให้มีการจัดการเรื่องสิทธิชุมชนเสียชีวิต
ยุคต่อมาคือช่วงตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมามีการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน โดยมีปัจจัยมาจากปี 2540 ที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งระบุเรื่องสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนระดับท้องถิ่นลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิได้ แต่ในช่วงนี้ก็มีการต่อสู้ของ 2 ฝั่ง คือกลุ่มนักอนุรักษ์สายเขียวเข้มที่ไม่ต้องการให้มีการตัดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน และมองว่าป่าที่ดีจะต้องเป็นป่าที่ปราศจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ กับนักสิทธิชุมชนที่ต้องการเรียกร้องให้เกิด พ.ร.บ.ป่าชุมชน
สุดท้ายคือยุคหลังพระราชบัญญัติป่าชุมชน หลังปี 2549 รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 2549 นี้ได้พยายามที่จะคลอดกฎหมายป่าชุมชนออกมาบังคับใช้ แต่ก็ผิดหลักการและมีการคัดค้านจากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งและไปร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญจนท้ายที่สุดพระราชบัญญัตินี้ได้ตกไป
หลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ตกลงไปคนที่อยู่ในขบวนการป่าชุมชนจึงเริ่มกลับไปในพื้นที่ของตนเองเพื่อจัดการพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบกฎหมาย โดยใช้ระบบการทำงานร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในเวลาต่อมาป่าชุมชนจึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูป่าไม้ แต่ก็ไม่ตรงกับที่ชุมชนเรียกร้องมาก่อน โดยอันนี้จะเป็นการป้องกันรักษาป่าไม้ไม่ใช่การใช้ประโยชน์จากป่าไม้
ทั้ง 4 ยุคที่ผ่านมาเราจะเห็นตัวละครต่างๆ ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนที่อยู่ในเขตป่าซึ่งตัวละครแรกคือกองทัพ ที่มักเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวละครที่สองคือกรมป่าไม้เสมอ ร่วมกับนักอนุรักษ์สายเขียวเข้มที่มีฐานความคิดที่ว่าห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับป่าและสัตว์ ในช่วงหลังปี 2540 ทั้งสามกลุ่มนี้หากเข้ามาทำงานร่วมกันเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ปราศจากสิทธิชุมชนขึ้นมาทันที
ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ออกมาทำ CSR ซึ่งมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่อาจะเข้าไปละเมิดสิทธิชุมชนของท้องถิ่นได้ และบทสรุปเรื่องสิทธิชุมชนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาก็ยังวนเวียนอยู่เหมือนเดิมและไม่ไปไหน องค์ประกอบของเรื่องอาจจะแตกต่างกัน แต่เนื้อหาของการละเมิดสิทธิชุมชนก็ยังเป็นเหมือนเดิม