วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554


"ultra royalist" พวกที่ทำตัวเป็นยิ่งกว่ากษัตริย์




Image Detail

บทความ

คำพยากรณ์ของกษัตริย์ถึงกษัตริย์

"ไทยไทย"ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

         หนึ่งในประโยคที่ชอบอ้างถึงกันบ่อยๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็คือ คำพยากรณ์ของกษัตริย์ฟารุกแห่งอียิปต์ที่ว่า "เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 จะเหลือกษัตริย์หรือคิง อยู่เพียงห้าพระองค์เท่านั้น คือ คิงโพแดง คิงโพดำ คิงข้าวหลามตัด คิงดอกจิก และคิงแห่งอังกฤษ"

         แต่กระนั้นในความเป็นจริงเมื่อโลกเคลื่อนที่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นอกจากอังกฤษแล้ว สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศกลับดำรงความเข้มแข็งผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งในยุโรปไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม หรือในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย อย่างนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก 

        ในเอเชียเอง ราชวงศ์ญี่ปุ่นก็สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก กษัตริย์ภูฏานซึ่งเพิ่งผ่านพิธีอภิเษกสมรสก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ
ถ้าจะสังเกตพระจริยวัตรของกษัตริย์ทั้งสองประเทศ ก็ต้องยอมรับว่ามีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

        สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่นเมื่อเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบภัยพิบัติหลังเหตุการณ์สึนามิ ทั้งสองพระองค์น้อมพระวรกายลงไปรับฟังปัญหาของประชาชนของพระองค์อย่างใกล้ชิด จนระดับของพระเศียรต่ำกว่าประชาชนที่นั่งอยู่เสียด้วยซ้ำ

        การวางตัวอย่างเสงี่ยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่จำกัดบทบาทมิให้ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นกลับมาสง่างามได้อีกครั้งหลังจากนำประเทศพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 2 

           กษัตริย์ถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังของจีนเคยตรัสเอาไว้ว่า "ผู้นำนั้นเหมือนเรือ ประชาชนนั้นเหมือนน้ำ น้ำทำให้เรือลอยได้ก็คว่ำเรือได้เช่นกัน"

         การวางตัวให้ต่ำเช่นเดียวกับสายน้ำ จึงน่าจะเป็นวิธีที่จะประคองเรือให้ลอยล่องไปในกระแสคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด  เพราะในประวัติศาสตร์จีนนอกจากชาวต่างชาติอย่างพวกมองโกลและแมนจูแล้ว กลุ่มบุคคลผู้ล้มล้างราชวงศ์ลงไปได้ล้วนแล้วแต่เป็นชาวนาสามัญชนแทบทั้งสิ้น 

         ฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น เดิมเป็นสามัญชนด้อยการศึกษา จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง เดิมเป็นเพียงชาวนายากจนจนต้องบวชเป็นพระเพื่อหนีความอดอยาก
ประวัติศาสตร์โลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันจึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนของอำนาจจากกษัตริย์สู่สามัญชน เป็นประวัติศาสตร์แห่งการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ไปตามยุคสมัยและค่านิยมของสังคมนั้นๆ 

          สถาบันกษัตริย์ที่สามารถปรับตัวได้ดีก็จะธำรงความเข้มแข็งเอาไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ประชาชนมาปกป้อง  ส่วนสถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะถดถอยไปตามกาลเวลาโดยประชาชนไม่ต้องปลุกระดมมาล้มล้างแต่ประการใด นี่เป็นสัจธรรมที่ทั้งฝ่ายปกป้องและฝ่ายจ้องจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์พึงเข้าใจได้ด้วยการอ่านประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางแทนที่จะอ่านความคิดเห็นบนหน้าเฟซบุ๊กแต่เพียงลำพัง

           เมื่อครั้งตั้งราชวงศ์ฮั่นใหม่ๆ หนังสือหนังหายังไม่แพร่หลาย หลูเจียเสนาบดีผู้จงรักภักดีได้เขียนตำราถวายคำแนะนำพระเจ้าฮั่นเกาจู่ว่า "อาณาจักรนั้น แม้พิชิตได้ แต่ปกครองไม่ได้จากหลังม้า"  หลูเจียสรุปความผิดพลาดของราชวงศ์ฉินที่ต้องล่มสลายลงไปว่า เกิดจากการใช้กฎหมายที่มีโทษหนักเกินไป อีกทั้งยังมีกองทัพที่เข้มแข็งมากไป ยิ่งใช้มาตรการรุนแรงเพียงใด การต่อต้านก็จะยิ่งหนักมากขึ้นเพียงนั้น

          การปกครองบ้านเมืองที่ดีจึงควรดำเนินไปบนทางสายกลาง ประชาชนก็จะอยู่เย็นเป็นสุข สามพันปีล่วงผ่านความข้อนี้ยังคงน่าขบคิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหวนคิดถึงสังคมไทย  ในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าหวั่นวิตก

          นอกจากข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี ข้อกล่าวหาว่าล้มเจ้าหรือไม่เอาเจ้าแล้ว ข้อกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดูจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างกว้างขวางจนทำให้มีสถิติคดีดังกล่าวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

          ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 ได้มีการจุดประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นจากปัญญาชนนักคิดนักเขียนหลายฝ่าย แน่นอน ประเด็นที่อ่อนไหวขนาดนี้ ย่อมมีทั้งคนที่คัดค้านและคนที่สนับสนุน

          ประเด็นดังกล่าวทำให้สังคมไทยที่แตกแยกอยู่แล้ว ยิ่งร้าวลึกมากขึ้น เพราะแค่ลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย มิใช่ยกเลิกกฎหมาย ก็อาจถูกผลักให้ไปอยู่ฝ่ายล้มเจ้าโดยไม่ต้องฟังเหตุฟังผลใดๆ อีกต่อไป  ซึ่งถ้าจะใช้ตรรกะเพียงเท่านี้เพื่อแบ่งฝ่ายผู้คนในสังคมแล้ว ฝ่ายล้มเจ้าก็คงต้องมีชื่อของ คุณอานันท์ ปันยารชุน รวมเข้าไปด้วยอีกหนึ่งคนเป็นแน่แท้  เพราะคุณอานันท์ได้ตอบโจทย์อย่างชัดเจนว่า สมควรให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้

           คําถามคือ เมื่อคนพูดเรื่องนี้ชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ยังจะมีใครกล้ากล่าวหาคุณอานันท์ว่าอยู่ในฝ่ายล้มเจ้าหรือไม่ ทั้งๆ ประเด็นที่คุณอานันท์พูดก็มิได้แตกต่างจากข้อเสนอของนักเขียนหนุ่มสาวทั้งหลาย  คุณอานันท์จึงยกภาษิตโบราณขึ้นมาเปิดประเด็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากพวกที่เรียกว่า เป็นคาทอลิกยิ่งกว่าสันตะปาปา หรือที่ฝรั่งอังกฤษเรียกว่า "more Catholic than the Pope"

          และถ้าจะเทียบเคียงกับปัจจุบันก็น่าจะเรียกได้ว่า พวกที่เป็นกษัตริย์เสียยิ่งกว่ากษัตริย์ หรือ "more royalist than the king" ซึ่ง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้เรียกขานคนกลุ่มนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "ultra royalist" หรือพวกที่ทำตัวเป็นยิ่งกว่ากษัตริย์ 

         ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า The King can do wrong. และเสริมว่ากษัตริย์นั้นสามารถวิจารณ์ได้ เพราะถ้าวิจารณ์ไม่ได้กษัตริย์ก็ไม่ใช่คน

          พระราชดำริเช่นนี้นับเป็นพระปรีชาสามารถโดยแท้ เพราะนี่คือกุศโลบายที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งในโลกประชาธิปไตย ที่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

          สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นสื่อมวลชนกระทั่งประชาชนธรรมดาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง ถ้าเป็นไปโดยสุจริต กระนั้นก็มิได้ทำให้สถาบันเสื่อมถอยลงแต่ประการใด เมื่อเจ้าชายวิลเลี่ยมทรงเสกสมรสกับ เคท มิดเดิลตัน สถานีโทรทัศน์แทบจะทั้งโลกพากันถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าว จนพิธีกรชื่อดังอย่าง ปิแอร์ส มอร์แกน แห่ง CNN ถึงกับเอ่ยปากในการบรรยายสดว่า "สถาบันกษัตริย์ได้กลับสู่ความนิยมอีกครั้ง"

            คุณอานันท์ ปันยารชุน เองได้ตอบโจทย์เรื่องราชวงศ์อังกฤษว่า มีคนสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ราวร้อยละ 65 ในขณะที่ที่เหลือมิเห็นความจำเป็นที่ราชวงศ์จะต้องดำรงอยู่ต่อไป นี่คือความแตกต่างทางความคิดที่อยู่ร่วมกันได้ โดยยึดถือเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็เคารพความเห็นของเสียงส่วนน้อย

          "ถ้าเผื่อว่าเขามีวิธีคิดที่จะเปลี่ยนแปลงให้สถาบันแข็งแกร่งมากขึ้น หรือมีวิธีคิดที่อยากจะให้สถาบันปรับตัวเอง อันนั้นพูดกันได้... ผมแน่ใจว่าตอนนี้บ้านช่องต่างๆ ก็เริ่มคุยกัน ในที่สาธารณะก็เริ่มคุยกันบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าออกมาพูดความไม่จริง โกหกพกลม แต่งเรื่อง ออกมาปลุกระดม อย่างนั้นผมรับไม่ได้" คุณอานันท์ตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปสถาบันในเบื้องต้น ก่อนจะไปถึงประเด็นร้อนในขณะนั้น และน่าจะยังคงเป็นประเด็นร้อนแม้ในขณะนี้ นั่นคือการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

         ซึ่งคุณอานันท์เห็นว่า บทลงโทษนั้นรุนแรงเกินไป และการเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศฟ้องร้องกันด้วยข้อหาดังกล่าวได้นั้น น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี  "ผมว่ามันต้องดูแลประเด็นนี้ว่าใครบ้างที่จะใช้กฎหมายนี้ได้ ใช่ว่า 65 ล้านคนสามารถฟ้องได้ทุกคน ผมไม่ชอบคุณนิดเดียว ผมแต่งเรื่องฟ้องคุณได้ จริงไม่จริงไปว่ากันทีหลัง ผมแต่งเรื่อง ตำรวจรับ เป็นข่าวแล้ว เสียชื่อเสียงด้วย...จุดนี้เป็นจุดโหว่ที่จะต้องมีการปิดประตู สรุปแล้วคือกฎหมายฉบับนี้ในตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องที่เดือดร้อน แต่เรื่องที่เดือดร้อนคือ หนึ่ง ใครไปแจ้งความก็ได้ และเจ้าหน้าที่ก็จะต้องนำเสนอเรื่องไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย พอถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครกล้าไปขัดขวางแล้ว อันที่สองคือ บทลงโทษค่อนข้างจะหนักแน่นไปหน่อย"

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า เมื่อมีการฟ้องร้องกันแล้ว คนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็คือกษัตริย์  แต่น่าเสียดายที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับไม่สามารถหยั่งถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ สังคมไทยจึงคล้ายเดินไปผิดทาง

          ดังที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวสรุปรวบยอดว่า คนไทยจำนวนหนึ่ง "ฟังไม่เป็น คิดไม่ออก พูดไม่จริง และทำไม่ถูก"  

และนี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องเกลียดชังกันอย่างรุนแรงเฉกเช่นทุกวันนี้
http://redusala.blogspot.com

คุก "โจ กอร์ดอน" คดีหมิ่นฯแปลหนังสือต้องห้าม 5 ปี
คุก "โจ กอร์ดอน" คดีหมิ่นฯแปลหนังสือต้องห้าม 5 ปี
นายโจ กอร์ดอน สัญชาติอเมริกัน
          พิพากษาจำคุก 5 ปี “โจ กอร์ดอน” คนไทยอายุ 54 ปี สัญชาติอเมริกัน หมิ่นสถาบัน แปลหนังสือ The King Never Smile ลงบล็อกบนอินเตอร์เน็ต รับสารภาพศาลลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ขณะที่เจ้าตัวไม่คิดอุทธรณ์อีก ทนายเตรียมทำเรื่องขออภัยโทษ

เวลา 09.30 น. วันที่ 8 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 812 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขคดีดำ อ.3328/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ หรือสิน แซ่จิ้ว หรือ โจ – กอร์ดอน ( Joe Wichai Commart Gordon ) อาชีพ 54 ปี สัญชาติไทย-อเมริกัน อาชีพเซลล์ขายรถ และจิตรกร เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ , กระทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และเป็นผู้นำเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ,116, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ,14

ตามฟ้องโจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 - 24 พฤษภาคม 2554 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้นำข้อความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในบล็อกแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ต ที่ชื่อบาทเดียวโดยจำเลยใช้นามแฝงว่า สิน แซ่จิ้ว และจำเลยอ้างตัวเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรชื่อ “The King Never Smile” เหตุเกิดที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา และทั่วราชอาณาจักร และนอกราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงสั่งสืบเสาะประวัติก่อนนัดพิพากษาคดี

ขณะที่วันนี้ศาลได้สอบถามจำเลยเกี่ยวกับคำให้การอีกครั้งตามที่จำเลยเคยให้การว่า ไม่เคยรู้เรื่องการเมืองไทย ไม่เกี่ยวข้องกับมวลชนสีเหลือง และสีแดง ไม่เคยโพสต์ข้อความดูหมิ่นสถาบันและไม่รู้จักกับบุคคลที่ใช้ชื่อสิน แซ่จิ้วนั้น จะเท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธใช่หรือไม่

นายเลอพงษ์ จำเลย และนายอานนท์ นำพา ทนายความ จึงแถลงต่อศาลยืนยันว่า จำเลยให้การรับสารภาพ และไม่เคยกล่าวพาดพิงหรือโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันในคดีอื่น

จากนั้นศาลจึงอ่านคำพิพากษา โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำรับสารภาพของจำเลย ประกอบรายงานการสืบเสาะประวัติแล้ว เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ฐานดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ฯ ให้จำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ เหตุควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายเลอพงษ์ หรือโจ กอร์ ดอน จำเลย กล่าวว่า ยอมรับโทษที่ศาลพิพากษา โดยจะไม่ยื่นอุทธรณ์คดี

ด้านนายอานนท์ นำพา ทนายความกล่าวว่า อัตราโทษที่ศาลพิพากษาลงโทษนายเลอพงษ์ 5 ปี ถือว่าเป็นอัตราโทษที่ต่ำกว่าคดีอื่นๆ ที่จะอยู่ระหว่าง 6-10 ปี ขณะที่รับสารภาพแล้วโทษลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน ซึ่งนายเลอพงษ์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ถูกจับกุมถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว คงเหลือเวลาอีก 2 ปี โดยเราจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่หลังจากนี้จะยื่นเรื่องขออภัยโทษผ่านกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมตามขั้นตอนซึ่งเราจะมีเวลาประมาณ 1 เดือนดำเนินการ
http://redusala.blogspot.com


"บอมบ์"ราชดำเนิน สัญญาณเตือนภัย"รัฐบาลปู"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323316138&grpid=01&catid=&subcatid=
 (ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2554)




          เหตุลอบวางระเบิดบริเวณ "หน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล" ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสรุปว่า "คนร้าย" ต้องการสร้างความปั่นป่วน เพราะต่อวงจรไม่สมบูรณ์และตั้งเวลาระเบิดในช่วงที่กิจกรรมย่านนั้นเลิกราไปแล้ว
          แต่ถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนที่เปี่ยมไปด้วยสัญญาณ "ทางการเมือง" สถานที่เกิดเหตุ วัน เวลา เป็นเรื่องน่าคิด ท้าทายให้‰ประเมินว่าเป็นการลองเชิง-ชิมลาง-หยั่งกระแส ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ 


          เพราะการสร้างสถานการณ์จนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นสาเหตุที่ให้ "รัฐบาล" อยู่ไม่ได้มานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
          ซึ่งในอดีตปรากฏให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลที่มีความเกี่ยวข้องกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" มี "จุดอ่อน" อยู่ที่งาน "ด้านความมั่นคง" มักโดนเขย่าอำนาจด้วยการลอบวาง "ระเบิด" ก่อกวนมาเกือบทั้งหมด
           โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ยุค สมัคร สุนทรเวช มีการลอบวางระเบิดในช่วงการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ "คน เสื้อเหลือง" กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จนทำให้สถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายจนยากจะควบคุม จนกระทั่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยให้ "นายกฯสมัคร" สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีจากกรณีเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์แล้วได้รับค่าตอบแทน
           รัฐบาล "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดเหตุ "ระเบิด" และเกิดเหตุปะทะกันขึ้นมากมาย จนกระทั่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ออกมาทำหน้าที่ "ยุติเกมการเมือง" อีกครั้ง กับการอ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนเป็นเหตุให้ "สมชาย" สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี
           ขณะที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งที่เจอเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม "คนเสื้อแดง" กลางเมืองหลวง แต่ "อภิสิทธิ์" สามารถประคับประคองให้รัฐบาลอยู่ได้ ซึ่งปัจจัยด้าน "ความมั่นคง" ทั้งทหาร-ข่าวกรอง คือกลไกสำคัญที่่ เอื้ออำนวยและค้ำจุนตำแหน่งฝ่ายบริหาร ซึ่งนั่นอาจจะอธิบายได้จาก "ความสัมพันธ์" ระหว่างรัฐบาลและกองทัพมีความแนบแน่น
           สวนทางกับ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ทั้งที่เสมือนมี "ช่องว่าง" อันมีพื้นฐานมา จาก "คนเสื้อแดง" ที่เป็นมวลชนของ พรรคเพื่อไทยซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกองทัพ
          จึงทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถ "จูนความสัมพันธ์" กับกองทัพได้ .. แต่นั่นก็มีเหตุและปัจจัยอื่นที่เข้ามาแทรกซ้อนทำให้ไม่สามารถ "กำจัดจุดอ่อน" ได้สำเร็จ
          ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลมาเมื่อเดือนสิงหาคม "ยิ่งลักษณ์" ไม่เคยเรียกประชุม "หน่วยงานด้านความมั่นคง" อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้การประเมินและประมวลข่าวสารทางลับจากหน่วยงานต่างๆ แคบลง เพราะส่วนใหญ่รับรู้แค่ข่าวจาก "สันติบาล" อันเนื่องมาจากคนในรัฐบาลเต็มใจใช้บริการตำรวจมากกว่าทหาร
          ทำให้ข่าวลับจาก "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" (กอ.รมน.) "สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ" (สขช.) ถูกปิดตายเกือบทั้งหมด การรับรู้ ข้อมูลความเคลื่อนไหว "บนดิน-ใต้ดิน" ของฝ่ายตรงข้าม มีข้อจำกัดและด้อยประสิทธิภาพลงไป!!
          และหากหันไปตรวจแนวความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล "นิ่งเฉย" กับฝ่ายความมั่นคง ที่นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ มีการประชุมและมอบหมายงานกันแค่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่เกิดเหตุระเบิดทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์
           การลอบวางระเบิดแม้จะไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีความเกี่ยวพันกับปัญหาในภาคใต้ แต่ในภาวะที่เกิดความห่างเหินของรัฐบาลกับฝ่ายความมั่นคง ขณะที่ปรากฏการณ์นี้มองกันว่า "ลองของ" รัฐบาล
          แต่หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการทำงานและเตรียมรับมือ เหมือนที่เคย "ผิดพลาด" ในการบริหารจัดการน้ำมา เหตุการณ์ ระเบิดป่วนเมืองส่งท้ายปีเก่าต‰อนรับปีใหมˆเหมือนในอดีต อาจกลับมาเขย่าขวัญอีกครั้งก็ได้
http://redusala.blogspot.com