วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หมายเหตุประเพทไทย

หมายเหตุประเพทไทย : บทบาทผู้นำไทยในเวทีสหประชาชาติ


หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ หยิบยกเรื่องราวการไปร่วมประชุมเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติของผู้นำไทย ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าวและมีการขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมในหัวข้อต่างๆ ถึงบทบาทและทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต
รายการในสัปดาห์นี้ จะชวนกันสนทนาถึงบทบาทและการทำหน้าที่ของผู้นำไทยในเวทีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ ย้อนไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งประเด็นที่นำเสนอในที่ประชุม และผลที่เกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงบทบาทของไทยในเวทีนานาชาติ พบกับคำ ผกา และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

ตั้ง 'ศรีวราห์' หัวหน้าชุดสืบสวนกลุ่มบุคคลแอบอ้างสถาบัน


ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งตั้ง "พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล" เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน กรณีมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงไปกระทำการที่มิบังควร
 
18 ต.ค. 2558 สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 578/2558 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยแต่งตั้งให้พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และพลตำรวจโทฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยให้สืบสวนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงไปกระทำการที่มิบังควร ซึ่งการกระทำของกลุ่มดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงให้คณะทำงานดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีผู้อื่นร่วมกระทำความผิด หรือมีการกระทำผิดเกี่ยวเนื่องกันให้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับความผิดนั้นๆ และรายงานผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2558

ประยุทธ์ ใช้ม.44 เปลี่ยนใจ เลิกตั้ง นัฑ ผาสุข เป็นเลขาฯ สภาผู้แทนฯ


ประยุทธ์ ใช้ม.44 เปลี่ยนใจ เลิกตั้ง นัฑ ผาสุข เป็นเลขาฯ สภาผู้แทนฯ แล้ว หลังข้าราชการสภาฯ นัดแต่งดำประท้วง ด้านพรเพชร รับเสนอชื่อ ‘นัฑ’ หวั่นกระเพื่อมขอหัวหน้า คสช. ยกเลิก ยัน ‘จเร’ ทำสภาใหม่ช้า
19 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ที่ 38/2558 ลงนามโดย พล.อ.ปะยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 มีเนื้อหาว่า
เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและการบริหารราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 โดยให้ถือว่า นายนัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาก่อน ทั้งนี้ ไม่เป็นการกระทบต่อการใดๆ ที่นายนัฑ ผาสุข ได้กระทำลงไปในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 2 ตามที่คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบให้นายนัฑ ผาสุข ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แล้วนั้น ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไปให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้าราชการสภาฯ นัดแต่งดำประท้วง หลังเด้งฟ้าผ่า ‘จเร’
โดยเมื่อวันที 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ย้าย นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้ นายนัฑ มาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้เกิดปฏิกิริยาจากข้าราชการ ฝั่งสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรบางส่วน
โดยได้เริ่มส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ไปในหมู่ข้าราชการด้วยกัน ให้แต่งกายชุดดำมาทำงานในวันจันทร์ที่ 19 ต.ค. นี้ เนื่องจากไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งคนจากทางฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แทนที่จะให้ลูกหม้อของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาดำรงตำแหน่ง
พรเพชร รับเสนอชื่อ ‘นัฑ’ หวั่นกระเพื่อมขอ บิ๊กตู่ ใช้ม.44 ยกเลิก ยันจเร ทำสภาใหม่ช้า
19 ต.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง กรณีพล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.แก้ไขคำสั่งวานนี้ดังกล่าวว่า ตนมองว่าการที่ให้นายจเร พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นเพราะดำเนินการล่าช้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ก่อสร้างได้เพียงร้อยละ15-16 เท่านั้น ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะครบกำหนดในการก่อสร้าง รวมถึงยังมีเรื่องการร้องเรียนการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง คสช. จึงมีความกังวลและได้ปรับเปลี่ยนการทำงานให้นายจเร ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีแทน
ทั้งนี้ นายพรเพชร ยอมรับว่า ตนได้เป็นคนเสนอชื่อ นายนัฑ ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนไม่ได้มองว่าจะเป็นการขัดหรือข้ามการทำงานระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพราะตนคิดว่าสองสภานี้ก็ต้องทำงานร่วมกัน อีกทั้งตนเห็นว่า เรื่องปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาหรือการแก้ปัญหาการทุจริต ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไข ตนยืนยันว่าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพูดถึงกรณีนี้กันมาก ทางนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วง ซึ่งตนก็ไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้น จึงได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ยกเลิกการแต่งตั้ง นายนัฑ ผาสุข นั่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับการแต่งตั้งตำแหน่งเลขาสภาผู้แทนราษฎร นายพรเพชร กล่าวว่า ต้องใช้เวลาในการพิจารณา โดยขณะนี้ก็จะใช้รักษาการแทนไปก่อน คือ นางจันทร์เพ็ญ อานามวัฒน์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอาวุโสสูงสุด และได้มีการพูดคุยกันแล้ว ซึ่งถ้ารับได้ในการทำงานก็จะดำเนินการนำเรื่องโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป อีกทั้งกล่าวว่า จะต้องหาคนที่จะมาแก้ปัญหาการดำเนินการล่าช้าในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ให้ได้
นอกจากนี้นายพรเพชร กล่าวถึง ประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. เพื่อลงมติเลือกกรรมการ ป.ป.ช. ให้เหลือ 5 คน (จากผู้สมัครจำนวน 59 คน) ว่า ตนประเมินตาม3ข้อ ซื่อสัตย์ ไม่มีตำหนิ ไม่เคยถูกฟ้องร้องหรือสอบสวนวินัย มีประวัติการทำงานดีเด่น ประประโยชน์แกประเทศชาติ มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ และเป็นที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบอาชีพใดๆไม่ได้ วันนี้เป็นการพิจารณาแต่จะยังไม่ได้ผลเลย เพราะขาดประธานศาลปกครองสูงสุดเข้าร่วมประชุม เกรงว่าคะแนนเสียงในการแต่งตั้งจะเท่ากันแล้วเกิดปัญหาขึ้น

4องค์กรสื่อส่งจม.ถึงปธ.กรธ. ยก40,50เป็นแนว แนะใส่หลักประกันเสรีภาพสื่อ(มีเงื่อนไข)ในรธน.


19 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำจดหมายถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพื่อขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ
โดยจดมายระบุว่า รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อ
นอกจากนี้ ต้องมีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หากฝ่าฝืน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการครอบงำจากการเมืองและธุรกิจ และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และบุคคลผู้ด้อยโอกาสในทุกด้าน รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จัดให้ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ มีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
โดย จดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หลักการเหล่านี้ได้ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มาแล้ว เป็นหลักการสำคัญที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันและเป็นหลักที่ช่วยให้มีการพัฒนาการมาในทางที่ดีมาโดยตลอด
จดหมาย 4 องค์กรสื่อถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ :
เรื่อง     ​ขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ
เรียน​    ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ร่วมกันหารือกำหนดแนวทางและเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงหลักสากลของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เพื่อให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ......... ยังดำรงไว้ซึ่งการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ตลอดจนมาตรการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและกลไกการป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งการมีองค์กรจัดสรรและกำกับกิจการคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีความเป็นอิสระจากการเมืองและธุรกิจ องค์กรวิชาชีพสื่อฯ จึงขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมูญในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ยังควรมีบทบัญญัติในการป้องกันการแทรกแซงสื่อมวลชน อาทิ ห้ามการสั่งปิดกิจการสื่อมวลชน การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพนี้ รวมทั้งห้ามการให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในสื่อมวลชน เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อความมั่นคง
ขณะเดียวกัน ยังควรมีบทบัญญัติให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว รวมทั้งห้ามรัฐในการให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนสื่อมวลชนอื่นของเอกชน
2. รัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อ
นอกจากนี้ ต้องมีบทบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หากฝ่าฝืน ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
3. รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการครอบงำจากการเมืองและธุรกิจ และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และบุคคลผู้ด้อยโอกาสในทุกด้าน รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จัดให้ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ มีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาด และครอบงำข่าวสาร และการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
ทั้งนี้ โดยหลักการเหล่านี้ได้ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มาแล้ว เป็นหลักการสำคัญที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันและเป็นหลักที่ช่วยให้มีการพัฒนาการมาในทางที่ดีมาโดยตลอด
​จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ศาลทหารรอลงอาญา 3 ปี เนส คดีแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนาย และกฤษณ์ จำเลยในคดี

19 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลทหารกรุงเทพ พิพากษา คดีที่ กฤษณ์ (สงวนนามสกุล) หรือ เนส จำเลยในความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีถูกกล่าวหาเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังซึ่งเป็นของปลอม
โดยกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน(กนส.) รายงานด้วยว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และจำเลยได้ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ เพื่อขอความเมตตาจากศาลพิจารณารอการลงโทษแก่จำเลย ซึ่งศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาลงโทษ จำคุก 5 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ไว้ 2 ปี 6 เดือน ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา เป็นเวลา 3 ปี
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มกนส. ทนายความในคดีนี้ เปิดเผยว่า ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา เป็นเวลา 3 ปี
 
สำหรับคดีนี้ กฤษณ์ ถูกจับกุมหลัง ส่งต่อแถลงการณ์ปลอมสำนักพระราชวัง ฉบับที่ 13 และมีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 58 โดยในวันนี้ จำเลย ได้มีการถอนคำให้การเดิมที่เคยให้การปฏิเสธไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา จากให้การปฏิเสธ วันนี้กลับคำให้การ เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และโดยศาลได้พิเคราะห์จากคำร้อง และคำแถลง ประกอบกับคำรับสารภาพ จึงพิจารณาพิพากษณ์ดังกล่าว
นัดสอบคำให้การ คดีแหวนถูกกล่าวหาเอี่ยวปาระเบิดศาล ทนายจ่อยื่นประกันอีก
นอกจากนี้ วิญญัติ ยังเป็นทนายความให้แหวน หรือ ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสา พยานปากเอกคดี 6 ศพวัดปทุม ที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากกรณีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญาเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในคดีดำที่ 168ก./25558 และวันนี้ศาลทหารได้นัดสอบคำให้การและจะมีการสืบพยานโจทก์อีกทีในวันที่ 20 ม.ค. 2559
วิญญัติ กล่าวด้วยว่า ในชุดที่สองของคดีนี้มีจำเลย 6 คน โดยคนที่ 6 ได้ประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์แค่ 4 แสน แต่ แหวน ขณะที่ลูกความตนเคยยื่นประกันไปหนึ่งล้าน หลายครั้งแต่ไม่ได้ เหตุผลที่ศาลให้ประกันตัวจำเลยที่ 6 เพราะว่าศาลเชื่อว่าจะไม่หลบหนี ดังนั้นตนก็เห็นว่าณัฏฐธิดา ก็ได้วางเงินประกันในจำนวนที่สูงแล้วก็จะไม่หลบหนี ทำไมศาลไม่พิจารณาให้เหมือนกัน วันนี้ตนก็ได้โต้แย้งกับทางศาลไป รวมทั้งอัยการด้วยที่ฟ้องข้อหาแรงเกินจริง
วิญญัติ กล่าวกล่าวต่อว่า ตนได้เตรียมของยื่นประกันณัฏฐธิดา กล่าวอีกรอบ และได้ขอศาลพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ โดยจะมีการยกกรณีคนที่ได้ประกันตัว ข้อหาและหลักฐาน กระบวนการที่ทำให้การประกันตัวยากลำบากจากการตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้