ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ แถลงผลสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ระบุไม่พบการจ่ายค่าหัวคิว มีเพียงการจ่ายค่าที่ปรึกษา 20 ล้าน ซึ่งได้นำเงินมาคืนแล้ว ต้นไม้ไม่พบว่ามีการซื้อ เพราะมีผู้นำมาบริจาค แต่มีค่าขนส่ง 4 ล้าน
23 มี.ค. 2559
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) พร้อมด้วย ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และยงยุทธ์ มะลิทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยมีจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย(พท.) เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เรื่องการหักค่าหัวคิว 2.การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และ 3.การใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งใน 3 ประเด็นหลักก็จะมีประเด็นปลีกย่อย ซึ่งครอบคลุมใน 3 ประเด็นหลัก ตนเคยพูดเรื่องการหักค่าหัวคิวก่อนหน้านั้น แต่ก็ยังก็ยังไม่รู้ว่าการหักค่าหัวคิวเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร
ด้าน ประยงค์ กล่าวว่า ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบประเด็นการหักหัวคิว โดยได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสอบปากคำจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่า เป็นการให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจ ค่าชักนำงานมาให้ เป็นวงเงินร้อยละ 6-7 ของค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นราคาตามราคาท้องตลาด
ขณะที่ พิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สตง. ได้ตรวจสอบในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยตรวจสอบในประเด็นเรื่องเงินบริจาค จากการตรวจสอบไม่มีปัญหาอะไรและทางกองทัพได้เตรียมใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาค แต่ไม่มีใครเข้ามาขอรับ และปัจจุบันได้ปิดบัญชีเหลือเพียงแค่ 1 บัญชี จาก 6 บัญชี และเงินบริจาคจากทุกช่องทางทั้งผ่านสถานีโทรทัศน์ ตู้รับบริจาค ต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งหมด 733 ล้านบาท โดยมีการแบ่งใช้จ่ายไป 458 ล้านบาท เช่น ค่าองค์พระ และการยืมเพื่อไปจัดทำเหรียญให้ประชาชนบูชาเป็นเงิน 105 ล้านบาท
พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตัดยอดเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 เหลือเงิน 140 ล้าน และยังมีเงินที่เป็นงบกลางจากรัฐบาลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนอีก 63 ล้านบาท และเงินจากทางกองทัพบกเป็นงบที่ตั้งไว้ เพื่อทำรั้วโรงเรียนที่ตั้ง 27 ล้านบาท ส่วนเงินมูลนิธิที่ได้มาจากการรับบริจาคโดยตรงมียอดเงิน 108 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังไม่มีค่าใข้จ่ายเกิดขึ้น ส่วนประเด็นการเปลี่ยนชื่อบัญชีเงินกองทุนสวัสดิการกองทัพบก เป็นกองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์แล้ว จากการตรวจสอบพบเป็นการเปลี่ยนชื่อบัญชี เพื่อให้ตรงกับวัถุประสงค์ ส่วนข้อสงสัยถึงทรัพย์สินในอุทยานฯ นั้น ขณะนี้ยังคงเป็นการรับผิดชอบของราชการ ยังไม่มีการโอนให้มูลนิธิฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ยืนยันว่าจากการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ไม่พบการตกแต่งบัญชีหรือบิดเบือน ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการจ่ายเงิน
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องการซื้อต้นไม้นั้น จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการซื้อ เพราะต้นไม้ได้มาจากการบริจาค แต่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมด 4 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังได้เข้าไปตรวจสอบความสมบูรณ์ของเนื้องาน พบว่ามีความเรียบร้อยร้อยละ 95 ส่วน และได้ตัดวัสดุจากองค์พระไปทำการตรวจสอบพบว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่ กำหนดตามสัญญาที่กำหนดให้ใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับประเด็นของเซียนอุ๊ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงหล่อสยามปุระ ที่ปรึกษาการก่อสร้างองค์พระของ 5 โรงหล่อ ที่มีการรับเงินค่าคิว 20 ล้านบาท เพราะเป็นบุคคลที่มีโรงหล่อที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และผลงานสร้างหลวงปู่ทวด หน้าตัก 24 นิ้ว ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งเซียนอุ๊ และ 5 โรงหล่อ ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายโดยสมัครใจ และต่อมาได้นำเงินดังกล่าวมาคืนครบจำนวนให้กับกองทัพบก และมีการออกใบเสร็จชัดเจน ซึ่งก็ไม่พบข้อทุจริต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้ที่มาร่วมรับฟังการแถลงข่าวได้สักถามใน ประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยจตุพร ได้ลุกขึ้นถามพล.อ.ไพบูลย์ ว่า กรณีที่แถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการทำข้อสอบรั่วหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ดุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ. ออกมาระบุว่าไม่พบการทุจริต ต่อมาผู้ว่าฯสตง.ออกมาการันตรีว่าไม่มีการทุจริต ประเด็นต่อมาคำว่าที่ปรึกษาเกิดขึ้นหลังจากมีประเด็นค่าหัวคิวใช่หรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งเซียนอุ๊เป็นนายก อบต. ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นการรับเงินถือเป็นเรื่องที่ผิด
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์เป็นการชี้แจงสื่อมวลชน เพราะตนมีหน้าที่ตอบคำถาม และได้ไปพบ พล.อ.ดุดมเดช ไม่ได้ไปรายงาน แต่ไปหาข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สังคมจะเข้าใจยังไงก็แล้วแต่
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ พล.อ.อุดมเดช ยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด และเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าคำถามของจตุพรว่าต้องการสื่ออะไร จากข้อสรุปที่ไปสอบถามพล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว ตนไม่พูดกับท่านมานานมาก จนการตรวจสอบจบลงจึงไปเรียนให้ทราบว่า ป.ป.ท.ก็ไปสอบถามท่าน เพราะท่านพูดคำนี้ออกมา ที่ท่านพูดว่าหัวคิว มันผิด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา แต่เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถามและมีการตอบคำถามกันไปมา จึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ ส่วนเรื่องเซียนอุ๊ที่เป็นข้าราชการก็ส่งให้ ปปท.ตรวจสอบไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วยืนยันว่าโครงการนี้ไม่มีการทุจริต แล้วจะกระทบต่อภาพลักษณ์ คสช.หรือไม่ เพราะสังคมจับตามองว่า คสช.จะคลีคลายไปในทางที่ดี พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และการสอบไม่สร้างศรัทธาสังคม ตนไม่มีขีดความสามารถที่จะทำให้ชาวบ้านเชื่อหรือไม่เชื่อได้ ใครมีข้อมูลเพิ่มก็ให้ส่งมา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ตรวจสอบหากไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงก็จะโดนตรวจสอบเหมือนกัน ก็ขอขอบคุณจตุพรที่ห่วงใยบ้านเมือง หากมีข้อมูลอะไรก็ส่งมา การตรวจสอบเรื่องนี้ยังไม่เสร็จ ยังมีหน่วยงานรัฐตรวจสอบประเด็นอื่นๆต่อไปอีก
จากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรืองไกร และวรัญชัย โชคชนะ พยายามซักถามประเด็นหัวคิว โดยเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ ทำให้พล.อ.ไพบูลย์ ถามย้อนกลับว่า ตนไม่ได้โง่ขอให้ถามตรงประเด็น อย่าใช้คำถามขยายวงไปเรื่อยๆ เพราะตนตรวจสอบใน 5 ประเด็น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นต้องตรวจสอบต่อ เช่น ป.ป.ช. กรมสรรพากร ส่วนโลหะจากองค์พระที่ตัดมาพิสูจน์โลหะจะส่งเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ให้เป็น ประวัติศาสตร์ หากข้องใจเรื่องราคากลางขอให้ส่งหลักฐานมาให้ตรวจสอบ อย่าพูดไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ระหว่างการแถลงข่าวถ่ายทอดสดทีวีหลายช่อง พล.อ.อุดมเดช พยายามติดต่อทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์และผู้สื่อข่าวเพื่อขอโฟนอิน ชี้แจงประเด็นที่จตุพรกล่าวพาดพิง เรื่องการรู้ข้อมูลล่วงหน้า แต่ทีมงาน พล.อ.ไพบูลย์ ไม่ได้ให้โฟนอิน
ภายหลังการแถลงข่าว จตุพร เปิดเผยว่า การชี้แจงในครั้งนี้เป็นผลการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ทางพล.อ.อุดมเดช และผู้ว่าฯสตง. ที่ได้ออกมาให้ข่าวผลการตรวจสอบการแถลง ซึ่งพล.อ.อุดมเดช ในฐานะผู้ถูกตรวจสอบ ไม่ควรรู้ผลก่อนเป็นเดือนๆ จึงมองว่าเป็นเหมือนการลักลั่น ข้อสอบรั่ว และวันนี้ตนจึงมาฟังการแถลงข่าวว่าผลสอบจะตรงกับสองหน่วยงานแรกหรือไม่ ซึ่งเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ในการตรวจสอบยังไม่ยุติ หลังจากนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของ ปปช. ซึ่งเป็นกรรมการชุดที่ 4 ในการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่จะรับไปดำเนินการ โดยเห็นว่า ยังมีช่องว่าง ที่ ปปช. จะไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นผลต่อเนื่องจากการแอบอ้างเบื้องสูง ทั้งนี้หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะส่งมอบให้กับปปช.ต่อไป
จตุพร กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ ยังติดใจกับคำว่า หัวคิว ที่เปลี่ยนเป็นคำว่า ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นวาทกรรมใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นหลังคำว่า ค่าหัวคิว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจผิด เพราะการเสนอราคาต้องมีการบวกค่าหัวคิวหรือค่าที่ปรึกษามาตั้งแต่ต้นแล้ว หรือไม่ ดังนั้น ขั้นตอนที่ลักลั่นและโยงใยหลายอย่างก็คงไม่หลุดมาตั้งแต่ต้น และการมาคืนเงินก็เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นมาภายหลังที่เกิดเรื่อง พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาหรือติดใจอะไรกับ พล.อ.อุดมเดช เป็นการส่วนตัว
ด้าน ยงยุทธ กล่าวว่า ป.ป.ช. จะขอเอกสารจาก สตง. เพื่อตรวจสอบในส่วนของประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อไป โดย ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ ในประเด็นเจ้าหน้าที่พบความผิดปกติ และมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และอีกประเด็นคือ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้เพราะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่อยู่ ระหว่างการตรวจสอบ โดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน
มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว. ยุติธรรม ระบุถึงผลการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ไม่พบการทุจริตว่า สิ่งที่พล.อ.ไพบูลย์พูดในเรื่องที่ว่าตนเคยยอมรับเกี่ยวกับประเด็น เรื่องค่าหัวคิว ตนอยากตอบว่าตนไม่เคยยอมรับ ครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลมีสื่อมวลชนได้สอบถามก่อนที่ตนจะเข้าประชุมคณะ รัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือว่ามีเวลาน้อยจึงได้ตอบเพียงสั้นๆ ว่าอาจจะมีความจริงบางส่วน คำนี้อาจจะผิดพลาดไปหน่อย แต่ความจริงแล้วตนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนไปหาคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงหล่อ เสร็จแล้วหลังจากนั้นก็มีการจ่ายค่าปรึกษาหารือกัน ส่วนจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เรียกว่าค่าตอบแทนที่ปรึกษา ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะไม่ใช่เรื่องหักค่าหัวคิว
“ผมอยากถามพล.อ.ไพบูลย์ว่า ไปเอาเทปมาดูว่าผมยอมรับอะไร เพียงแต่พลาดไปนิดหนึ่ง ว่ามีความจริงบางส่วน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ผมยอมรับหรือ เพราะหลังจากนั้นผมก็ได้อธิบายไปชัดเจนแล้ว ผมรังเกียจกับคำว่าหักหัวคิว ซึ่งยังงมงายอยู่ในคำเดิม ไม่ยอมฟังอะไร แต่จะด้วยอะไรหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ผมเห็นว่าสตง.เป็นองค์กรที่มีมาตรฐาน ในเมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด ยังจะเอาอะไรอีก แต่มาบอกว่าผมยอมรับว่ามีหักหัวคิว ซึ่งผมไม่เคยยอมรับ ผมรังเกียจมากกับคำนี้ และแปลกใจเหมือนกันว่าเมื่อแถลงแล้วทำไมยังไม่จบ หรือว่าไม่ตรงใจจึงไม่จบ ผมก็ไม่ทราบ ผมรักและเคารพทุกคน ไม่ได้มีปัญหากับใคร แต่ความจริงเป็นอย่างไร ขอให้ฟังบ้าง” พล.อ.อุดมเดช กล่าว และว่าสตง.ถือเป็นองค์กรอิสระ ที่มีมาตรฐานสูงสุด และไม่มีเข้าใครออกใคร เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่มีก็ต้องไม่มี กองทัพบกได้ดำเนินการรับเงินบริจาค จึงยอมให้มีการตรวจสอบทั้งที่บางหน่วยไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ แต่ยังให้เข้ามาพูดคุยเพราะไม่ได้ถือสาอะไร ดังนั้นอยากให้เข้าใจ สตง.ได้พูดออกมาแล้วว่าปกติ ตนพอใจแล้ว
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะทำ อย่างไรต่อไป พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า อีกระยะหนึ่งจะเดินหน้าโครงการอุทยานราชภักดิ์ต่อ หลังจากที่ชะลอมา 5-6 เดือน โดยเฉพาะการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องมีห้องประวัติศาสตร์และจัดนิทรรศการ เพื่อเชิดชูบูรพกษัตริย์ และคนที่บริจาคเงินก็เรียกร้องอยากให้ดำเนินการต่อให้สมบูรณ์ คนที่มีใจจะทำคงรู้สึกเบื่อแล้ว เพราะมัวแต่ถูกเล่นงานแบบไร้เหตุผลอย่างนี้ คนที่พยายามไม่เข้าใจ ก็จะติดลบกันไปเอง เรื่องทั้งหมดจบตั้งแต่การตรวจสอบของสตง. เพราะเคลียร์หมดทุกอย่าง ว่าไม่มีสิ่งผิดปกติและไม่มีหักหัวคิว เพียงแต่ใช้คำว่า ค่าตอบแทนที่ปรึกษา
“เรื่อง ไม่เป็นเรื่องก็พยายามทำให้เป็นเรื่อง ผมพอใจกับสิ่งที่ สตง. ตรวจสอบ แต่ถ้ายังปรักปรำกันอีกก็อาจจะฟ้องดำเนินคดีสำหรับคนที่กล่าวให้ร้าย เพราะเรื่องนี้เชื่อมั่นว่า ต้องถึงกระบวนการยุติธรรมโดยแท้จริง ไม่เกี่ยวกับการหักค่าหัวคิวแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่ใช่” พล.อ.อุดมเดช กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีปัญหาการทำงานกับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่มีอะไร เพราะเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ต่างคนต่างทำงาน ทำตามหน้าที่ไม่มีปัญหา พล.อ.ไพบูลย์ก็ดีกับตนในเรื่องทั่วไป เจอกันก็คุยกัน ยืนยันไม่มีอะไรกับใคร เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาช่องว่างในการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้คิดว่านายกรัฐมนตรี ก็อยากให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง และไม่ได้หนักใจอะไร พร้อมกันนี้ในวันที่ 24 มีนาคม เวลา 08.30 น. จะชี้แจงกับสื่ออีกครั้ง และตอบคำถามกับสื่อทุกประเด็น