หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ล่าสุดวันนี้(5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และรั้วฝั่งงามวงศ์วาน บางเขน พบป้ายผ้าและป้ายกระดาษที่มีข้อความในลักษณะการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยในข้อความระบุชื่อกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังกลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา นิสิต ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ เคยมีเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อตอนที่มีกระแสคัดค้าน แต่เวทีเหล่านั้นก็มีธงตั้งไว้อยู่แล้ว สุดท้ายเป็นเพียงแค่เวทีให้ข้อมูล เหมือนการปรับทัศนคติ จัดเวทีให้เสร็จๆไป ว่ามีความชอบธรรมแล้ว
“การนำมหาลัยออกนอกระบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ออกตอนมีรัฐบาลไม่ปรกติทั้งนั้น หรือรัฐบาลเผด็จการ อธิการบดี หรือ สภามหาวิทยาลัยบางคนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สนช. ร่าง พ.ร.บ. เอง ชงร่างเอง และ โหวตเอง แสดงให้เห็นว่าเมื่อขั้นตอนเริ่มต้นไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ละเลยการรับความความคิดเห็น สุดท้ายก็จบลงด้วย การผ่านร่าง พ.ร.บ. ในสมัยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ
กลุ่มเสรีนนทรีฯ ยังระบุด้วยว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีข้อควรกังวลหลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด ที่ปราศจากการตรวจสอบ การทุจริตอาจทำได้ง่ายขึ้น จากกรณีสถาบันเทคโนโลยีฯแห่งหนึ่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว มีทุจริตโกงเงินกว่า 1500 ล้านบาท หรือความกังวลของนิสิตส่วนใหญ่คือเรื่อง ค่าเทอม จริงอยู่ที่ปัจจุบันค่าเทอมก็มีการขึ้นอยู่ตลอดเวลาบางก็อ้างว่าขึ้นตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออกก็มีการปรับอยู่ตลอด แต่การนำมหาวทิยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าเทอมถูกปรับขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วทางภาคตะวันออก ค่าเทอมคณะเภสัชฯ มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่ายที่สูงถึง 75,000 บาท จากเดิม เมื่อปี 53 มีการเรียกเก็บ 40,000 บาท ผ่านไป 2 ปี ขึ้นเกือบเท่าตัว กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเต็มในการออกระเบียบกำหนดค่าเทอม
“หัวใจหลักของการคัดค้านคือเรื่องของการนำมหาวิทยาลัยออกในสภาวะไม่ปรกติ ผู้บริหารเข้าไปนั่งเป็น สนช. อีกทั้ง ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าไปนั่งด้วย และกำลังจะมีการผลักดันมหาวิทยาลัยที่ตนดูเอง ออกนอกระบบ ถ้า ม.นอกระบบดีจริง ไม่ควรต้องใช้วิธีการแบบนี้” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ