วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

ประวิตรสั่งฝ่ายกฎหมายเช็ค 'นปช.-สุเทพ' ผิดหรือไม่ หลังแสดงท่าทีต่อร่าง รธน.

นปช. ขอประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติ (อ่านรายละเอียด)

หลัง 'นปช.-สุเทพ' ออกมาแสดงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร อ้าง พ.ร.บ.ประชามติ ระบุไม่สามารถทำได้ สั่งฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ ระบุไม่จำเป็นให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตุการณ์ ขณะที่ กรธ.บอกซาบซึ้ง หลัง สุเทพประกาศรับร่าง รธน.
'สุเทพ' แถลงรับ รธน. ชี้เป็นทางออกประเทศ (อ่ายรายละเอียด)
25 เม.ย. 2559 จากกรณีที่วานนี้ (24 เม.ย.59) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่แถลงแสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงให้ชัดเจนถึงข้อห้ามเกี่ยวกับการทำประชามติว่าสิ่งไหนทำได้-ไม่ได้ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กรใดๆ ก็ตามในระดับนานาชาติมาสังเกตการณ์ในการลงประชามติอย่างเปิดเผย'ยูเอ็น-อียู' เข้าร่วมสังเกตการณ์ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติด้วย ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ให้สัมภาษณ์รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ล่าสุดวันนี้ (25 เม.ย.59) สำนักข่าวไทย  รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ นปช.และสุเทพว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้มีพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แล้ว และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามรณรงค์โฆษณาชัดเจน ดังนั้น ไม่ควรออกมาเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้เรื่องไม่จบ ขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ และขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง
ส่วนกรณีมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีความเข้มงวด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และตัวกฎหมายเองไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีข้อห้ามกับทุกฝ่าย สื่อมวลชนไม่ควรถามขยายประเด็น
เมื่อถามย้ำว่าการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเป็นการชี้นำหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใม่ใช่การชี้นำ เพราะเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่ได้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรธ.ไม่ได้ทำเพื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพราะร่างฯฉบับนี้กรธ.เป็นผู้ร่างและไม่ได้รับข้อเสนอทั้งหมดของคสช.
“ไม่ได้ห้ามการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ออกสู่สาธารณะ ส่วนการที่นปช.จะเสนอให้ต่างชาติมาสังเกตการณ์ลงประชามติเป็นเรื่องที่กกต.จะพิจารณา แต่เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ต่างชาติเข้ามา รอให้มีการเลือกตั้งส.ส. ค่อยว่ากันอีกที และการที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ออกมาคลื่อนไหวให้รับหรือไม่รับร่างฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุมเสียงของพรรคตัวเองได้หรือไม่” พล.อ.ประวิตร กล่าว

กรธ.บอกซาบซึ้ง หลัง สุเทพประกาศรับร่าง รธน.

ขณะที่วานนี้ (24 เม.ย.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวถึงท่าทีสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของ สุเทพ ว่า เราซาบซึ้งในความเมตตาเเรงหนุนของทุกฝ่าย กรธ.ยืนยันว่าลงมือร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มกำลัง เชื่อว่าถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิลงเสียงประชามติถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มการทำประชามติจะออกมาดี แต่การเเสดงความเห็นสนับสนุนของนายสุเทพจะมีส่วนช่วยให้ผ่านประชามติง่ายขึ้นหรือไม่ ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่มีผลในเเง่ให้กำลังใจ กรธ. ประชามติจะผ่านหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ส่วนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาท้าให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำประชามตินั้น ส่วนตัวไม่ขอตอบโต้ จะวิจารณ์อย่างไรรับได้ ไม่มีปัญหา น้อมรับคำวิจารณ์ ไม่ขอเเสดงความเห็นที่ทุกฝ่ายติติง เราไม่ว่ากัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้วิจารณ์ได้ แต่ห้ามรณรงค์ชี้นำไปในทางรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

คุยกับ‘สุณัย ผาสุข’ นัยยะคำสั่งที่13 ปราบผู้มีอิทธิพล ทำไมต่างประเทศประสานเสียงค้าน-กังวล

ภาพจากแฟ้มภาพ

ประชาไทคุยกับ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ถึงนัยยะของคำสั่งคสช.ที่ 13/2559 การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


ประชาไท: คำสั่งที่ 13 มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดต่างชาติถึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างพร้อมเพรียง
สุณัย: หากเราดูปฏิกิริยาจากต่างประเทศ เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่เราไม่ได้พบเจอบ่อยนัก คือการที่ตัวแทนของรัฐบาลประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ รัฐบาลแคนนาดา OHCHR รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 6 องค์กร มีจุดยืนในเรื่องนี้ร่วมกันว่าคำสั่งที่ 13/2559 เป็นคำสั่งที่ขยายอำนาจของทหารเพิ่มเติมออกไปจากคำสั่งที่ 3/2558 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งสองคำสั่งออกมาด้วยอำนาจของมาตรา 44
อันที่จริงคำสั่งที่ 3 ก็แย่มากพออยู่แล้ว แต่คำสั่งที่ 13 ได้ขยายอำนาจของทหารมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารได้เลยในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย
เมื่อเราดูในรายละเอียดเราจะเห็นว่าคำสั่งที่ 13 เป็นการขยายอำนาจของคำสั่งที่ 3 โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารจับกุม สอบสวน คุมขังบุคคลใดๆ ก็ได้ โดยที่ไม่มีมาตราการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการหรือนิติบัญญัติ คำสั่งที่ 3 ยังพูดถึงแค่ความผิดด้านความมั่นคง การพกพาอาวุธ การหมิ่นสถาบันกษัตริย์ การขัดคำสั่ง คสช. ซึ่งก็มีการตีความอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นการอ้างคำสั่งดังกล่าวในการจับกุมผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่พอมาเป็นคำสั่งที่ 13 มันขยายขอบเขตไปถึงความผิดทางอาญาแทบทุกประเภท ทำให้ตอนนี้สภาพของรัฐไทยกลายเป็นรัฐทหารอย่างเข้มข้นมากขึ้น กลไกและกระบวนการยุติธรรมแบบปกติทั้งตำรวจ และตุลาการถูกแทนที่ด้วยกลไกของฝ่ายทหารมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุใดต่างชาติจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
สุณัย: จริงๆ ปฏิกิริยาจากต่างชาติมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การยกเลิกกฎอัยการศึกและแทนที่ด้วยคำสั่งที่ 3/2558 ซึ่งระบุว่าการขัดขวางการพัฒนาของประเทศถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อออกคำสั่งที่ 13 มาจึงเทียบเท่ากับว่าประเทศไทยกลับเข้าสู่กฎอัยการศึกอีกครั้งหนึ่ง ปฏิกิริยาจากต่างประเทศที่เขามีความกังวลอยู่แล้วจึงทวีความเข้มข้นขึ้น ด้วยกลัวว่ามันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีการตรวจสอบ
อันที่จริงกฎอัยการศึกก็ไม่ได้หายไปจากประเทศไทยเลย เพราะมันถูกแทนที่ด้วย คำสั่งที่ 3 ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นราก ส่วนคำสั่งที่ 13 เป็นส่วนต่อขยายลงไปอีกทีหนึ่ง
ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดที่ไหนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่ต่างชาติกังวลคือในอาคต หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะดูเหมือนกับว่าเขาใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด และขาดการตรวจสอบใดๆ
คิดอย่างไรกับข้ออ้างของ คสช. ที่ว่าคำสั่งที่ 13/2559 มีเป้าหมายเพื่อขจัดกลุ่มมาเฟีย และผู้มีอิทธิพล
สุณัย: ปัญหาเรื่องมาเฟียมันอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่โปร่งใสและไม่เคร่งครัด ซึ่งมันแก้ไขได้ด้วยโดยไม่จำเป็นต้องใช้กลไกของฝ่ายทหาร แม้แต่สถานการณ์แบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดเวลาเขายังไม่เคยใช้อำนาจศาลทหาร หรือเครื่องมือพิเศษแบบนี้เลย ในเมื่อมันเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกปกติ เหตุใดจึงต้องไปสร้างกลไกแบบพิเศษซึ่งเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาด้วย มันเหมือนการรักษาโรคด้วยยาที่ผิด และมันจะเป็นยาพิษที่ทำลายทั้งประเทศได้
ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบันก็มีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตมากพออยู่แล้ว การยิ่งเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ มันทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า กลไกตำรวจและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่มันล้มเหลวขนาดนั้นแล้วเชียวหรือ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่ มันจึงไม่แปลกที่สังคมและประชาคมระหว่างประเทศตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และความจริงใจในการทำงานของรัฐบาล คสช.
หาก คสช. มีอำนาจมากพออยู่แล้ว มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องออกคำสั่งที่ 13
สุณัย: มันนำไปสู่ความแคลงใจ ว่านี่คือการกระชับอำนาจ เป็นความพยายามที่จะสร้างระบอบใหม่ หรือ New Normal ให้กับระบบการเมือง ระบบยุติธรรม และระบบกฎหมายไทยโดยการโยกย้ายกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายพลเรือนมาอยู่กับฝ่ายทหารทั้งหมด ซึ่งมันสะท้อนถึงการหยั่งรากลึกของระบอบเผด็จการทหาร
นี่ไม่ใช่การปูทางสู่ประชาธิปไตย แต่มันคือการปูทางสู่ระบอบทหารที่นับวันจะยิ่งมีการกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น
ทาง HRW ได้ติดตามผลกระทบของประชาชนจากคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ และได้ผลเป็นอย่างไร
สุณัย: จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นผลของการใช้ตัวคำสั่งที่ 13 ชัดเจนนัก แต่การขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลตามคำสั่งฉบับนี้มันได้สร้างความกังวลว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของฝ่าย คสช. จะถูกจัดเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา เราจะเห็นแกนนำชุมชนชาวประมงท่านหนึ่งที่ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ กสม. ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้มีอิทธิพล คนที่เป็นตัวแทนของชุมชน หรือเป็นผู้เรียกร้องสิทธิทำกิน ก็ถูกขึ้นบัญชีด้วยเช่นกัน มันจึงน่าตั้งคำถามว่านี่อาจจะเป็นการเหวี่ยงแห และเหมารวมว่าผู้ที่เห็นต่างจากแนวทางของ คสช. ทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้มีอิทธิพล และถูกจัดการด้วยคำสั่งฉบับนี้
ผนวกกับการทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ก็ยิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อเนื่องว่า คำสั่งฉบับนี้จะถูกใช้เพื่อขจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองของ คสช. อีกหรือไม่
คิดว่ากระแสกดดันจากต่างประเทศจะทำให้ คสช. ปรับตัวไหม
สุณัย:  ผมอยากจะย้อนถามไปหา คสช. มากกว่า ว่า “จะฟังได้หรือยัง?” ทุกวันนี้มันชัดเจนแล้วว่า ยิ่ง คสช. อยู่นานเท่าไหร่ ประเทศไทยยิ่งออกห่างจากการเป็นประเทศที่เคารพกติกาด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ เราหวังว่าท่าทีที่ประสานเป็นเสียงเดียวกันขององค์กรสิทธิและรัฐบาลต่างชาติจะช่วยทำให้ คสช. ตระหนักได้ว่าตนควรทำอะไร ประเทศที่ออกมาแสดงความกังวลล้วนแต่เป็นมิตรประเทศกับไทยทั้งสิ้น ทั้งในมิติทางการเมือง การทูต และเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้นำของสหภาพยุโรป สหรัฐ หรือแคนาดา ประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับไทยมาเป็นร้อยปี เขายังเป็นห่วง แต่คำถามคือ คสช. จะฟังไหม
ท่าทีของ คสช. ทุกวันนี้คือมองว่าต่างชาติเข้าใจข้อมูลไม่ครบถ้วน มัวแต่ฟังลอบบี้ยิสต์ คสช. ไม่ยอมฟังเสียงท้วงติงของมิตรประเทศ ถ้ามีแค่ประเทศสองประเทศออกมาพูดก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ทุกประเทศออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันแบบนี้ แล้วแบบนี้ยังจะไม่ฟังกันอีกหรือ 
ไทยเราควรจะเรียนรู้จากพม่า เรามีบทเรียนแล้วว่าถ้าปล่อยให้เผด็จการถลำลึกไปเรื่อยๆ ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเราจะเป็นยังไง เราจะยอมให้ประเทศของเรายืนอยู่จุดเดียวกับที่พม่าเคยยืนคือถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติหรือ ในเมื่อทุกวันนี้เรายังไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น คสช. ก็ควรจะรีบคืนประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด นั่นน่าจะดีกว่าการรอให้ถูกลงโทษแบบพม่า
ต่างประเทศจะยกระดับการกดดันจากการออกแถลงการณ์ไปเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่
สุณัย: เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ไทยก็พลาดความร่วมมือระหว่างประเทศไปหลายเรื่องแล้วนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร เพราะต่างชาติเขาก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่ไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยเสียที เช่นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเมืองกับสหภาพยุโรปทั้งหมด กระบวนการเจรจาถูกพักไว้เลย รวมไปถึงกรอบความร่วมมือ TPP ที่ประเทศอาเซียนหลายประเทศเข้าร่วมไปแล้ว ไทยก็ตกรถไฟ อันนี้เห็นผลชัดเจนเลยว่าเราเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาลเพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งทอดเวลานานไปเรื่อยๆ โอกาสเหล่านี้ก็จะถูกแทนที่ด้วยประเทศอื่นๆ เราก็จะตกรถไฟและถูกประเทศอื่นทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ ยิ่งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ไทยยิ่งจำเป็นต้องรีบเข้าสู่กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่เรากลับยิ่งเอาตัวออกห่าง เพราะเราปฏิเสธประชาธิปไตย
แรงกดดันเหล่านี้มันมีมาตั้งนานแล้ว แต่ถามว่า คสช. ฟังไหม ยอมพูดความจริงกับประชาชนไหมว่าไทยต้องสูญเสียอะไรไปบ้างจากการทำรัฐประหาร ที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นคือรัฐบาลไม่ได้บอกความจริงกับประชาชน
HRW ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษย์ชนภายใต้ คสช. อย่างไร
สุณัย: HRW เคยมีรายงานออกมา โดยเราประเมินว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยถดถอยอย่างไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเป็นต้นมา คือมันตกไปเรื่อยๆ ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การทำประชามติ เราก็คาดว่าการละเมิดสิทธิจะยิ่งยกระดับมากขึ้น โดยมุ่งไปที่การคุกคามละเมิดผู้เห็นต่างทางการเมือง
แม้แต่ทาง HRW เองก็ถูกคุกคาม ที่ชัดเจนที่สุดคือเพจ Human Rights Watch Thailand ของเราถูกปิด โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง การเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปีของ HRW ที่เราทำเป็นประจำทุกปี ทุกรัฐบาลก็ถูกระงับการเผยแพร่ และไม่ใช่แค่เราคนเดียว องค์กรสิทธิ์อื่นๆ ก็ถูกคุกคุมในลักษณะเดียวกัน นี่หมายความว่ารัฐบาลกำลังมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นภัยคุกคาม ระบอบการปกครองอะไรกันที่มองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นภัยคุกคาม
คสช. กำลังทำลายหลักการสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทุกวันนี้เราไม่เห็นรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยหลงเหลืออยู่เลย เพราะนอกจาก คสช. จะไม่เปิดช่องให้กับประชาธิปไตยแล้ว ยังทำลายอย่างต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่สภาวะที่ประชาธิปไตยเป็น 0 แต่เป็นสภาวะที่ติดลบลงไปทุกวัน


“ในสังคมไทยสถาบันศาลยุติธรรมมีระบบปิด ใกล้ชิดกับสถาบันจารีต ยอมรับระบบอำนาจนิยม  เพราะฉะนั้นเมื่อศาลยุติธรรมเข้าครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่  พอเหลาลงไปกลายเป็นตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’”
เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ
งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ
00000
การบรรยายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวข้อ "กำนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ"

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ผมใช้คำว่า ‘การเมืองเชิงตุลาการ’ ที่เราเรียกกันว่า 1 ทศวรรษของตุลาการภิวัตน์นี้ จุดตั้งต้นคือเมื่อมีพระราชดำรัสของในหลวงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 นี่เป็นหลักหมายที่สำคัญ หลังจากที่มีพระราชดำรัสเราก็ได้เห็นการขับเคลื่อน มีการประชุมร่วมกันของศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตีความกฎหมายตามกระแสพระราชดำรัส และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง นี่เป็นสิ่งที่นักวิชาการปักหมุดและเป็นหลักหมายที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจ ประเด็นที่จะชวนอภิปรายมี 3 เรื่องสั้นๆ  อันแรกคือตุลาการภิวัตน์กับการเมืองเชิงตุลาการ  อันที่สองคือความพลิกผันกับสิ่งที่เรียกว่าการเมืองเชิงตุลาการ และอันที่สามคือบทเรียนของสังคมไทย

เรียก 'การเมืองเชิงตุลาการ' แทน 'ตุลาการภิวัตน์'

เรื่องแรก สิ่งที่เราเรียกกันว่าตุลาการภิวัตน์ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Judicialization of Politic  คล้ายกับปรากฏการณ์ที่ศาลต้องขยายบทบาทเพิ่มมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เพราะว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในหลายประเทศพบกับปัญหาเผด็จการของผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ และในขณะเดียวกันการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญแผ่ขยายอย่างกว้างขวาง  หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีผลงานของฝรั่งจำนวนมากชี้ให้เห็นการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ  รวมถึงมีคำตัดสินของศาลที่ขยายประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นเรื่องชนพื้นเมือง ประเด็นเรื่องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะต่างๆ งานส่วนใหญ่จะใช้  Judicialization of Politic เท่าที่ได้ลองสำรวจ สำหรับในเมืองไทย คำที่คุ้นเคยก็คือตุลาการภิวัตน์ คนที่นำเสนอคือ ธีรยุทธ บุญมี ตอนแรกๆ ที่ธีรยุทธเสนอตุลาการภิวัตน์   กฎหมายภิวัตน์ นิติธรรมภิวัตน์ หมายถึงว่าศาลจะทำหน้าที่เหมือนกับตั้งระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยการมองอำนาจศาลอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเทศในแถบยุโรปเรียกว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ ซึ่งข้อเสนอของธีรยุทธนั้นติดตลาดเป็นอย่างมาก คำว่าตุลาการภิวัตน์เป็นคำที่เรารู้จักกันอย่างกว้างขวาง
คำว่าตุลาการภิวัตน์เป็นคำที่น่าสนใจ จริงๆ คำนี้น่าจะมาจากคำว่า ตุลาการ+อภิวัฒน์  คำว่าตุลาการก็เป็นที่เข้าใจกัน ส่วนคำว่าอภิวัฒน์นั้นถ้าเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์จะสนใจ เพราะเป็นคำที่ปรีดี พนมยงค์ นำมาใช้เรียกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  ปรีดีเสนอให้เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็นการอภิวัฒน์ โดยอธิบายว่าเป็นความงอกงามอย่างหนึ่ง อย่างยิ่ง หรืออย่างวิเศษ ถ้าเรานำคำว่าอภิวัฒน์มาบวกกับตุลาการ ก็ต้องแปลว่า ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษโดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งน่าจะเป็นความงอกงามอย่างไม่น่าเชื่อมากกว่า ผมคิดว่าถ้าเรามองปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ถ้าใครมองว่าเป็นความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษโดยฝ่ายตุลาการ ผมคิดว่ามันคงต้องมีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางแน่นอน เพราะฉะนั้นความหมายนี้จึงติดตลาด ผมเสนอว่าการแปลในที่นี้คงหมายถึงการเมืองเชิงตุลาการอันนี้เป็นคำที่ผมแปลมาจากภาษาฝรั่ง เขานิยามคำว่า Judicialization of Politic หมายถึงกระบวนการในการทำให้ประเด็นปัญหาทางการเมืองเข้าไปอยู่ในการตัดสินของฝ่ายตุลาการ พูดง่ายๆ ว่าประเด็นที่เคยเป็นปัญหาทางการเมืองในประเด็นที่ศาลไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยว บัดนี้ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า  Judicialization of Politic  ทำให้เรื่องต่างๆ เข้ามาอยู่ในการตัดสินผ่านอำนาจของศาลได้ และไม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจของศาลอะไรเลย  ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราสามารถเห็นได้หลายประเด็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเห็นบทบาทของศาลทั้งในยุโรปและนอกยุโรป ทำหน้าที่บทบาทเหล่านี้ มีบทบาทในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปกป้องเสียงข้างน้อย หรือคดีการเมืองที่สำคัญๆ  ศาลได้ขยายบทบาทเข้าไปตัดสินเรื่องต่างๆ อันนี้คือสิ่งที่ผมว่าอยากใช้ว่านี่คือเรื่องของการเมืองเชิงตุลาการ ไม่ได้อยากใช้คำว่าตุลาการภิวัฒน์สักเท่าไร อันนี้เป็นเหตุผลเรื่องถ้อยคำ

การศึกษาบทบาทตุลาการในเอเชีย ไทยอยู่ตรงไหน

ความพลิกผันทางการเมืองเชิงตุลาการ ปรากฏการณ์ที่เพิ่งพูดถึงไปนั้นเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ทั้งในยุโรปและนอกยุโรป ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ในทวีปยุโรป คือ ประเทศที่เพิ่งแยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต หรือประเทศในละตินอเมริกา ในขณะเดียวกันมีงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของตุลาการในประเทศนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างงานที่มีชื่อเสียง เช่นงานของ Tom Ginsburg เข้าใจว่าเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ถ้าแปลเป็นไทยชื่อว่า ‘มุ่งไปสู่ประชาธิปไตย’ มีงานของฝรั่งหลายงานเข้าไปศึกษาบทบาทตุลาการหลายๆ ประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือการทำให้สถาบันของตุลาการถูกพิจารณาในฐานะของ Political being หมายความว่าเป็นสิ่งมีตัวตนทางการเมืองแบบหนึ่ง การมีตัวตนทางการเมืองอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ ซึ่งจะต่างจากการใช้คำว่าตุลาการภิวัตน์ที่ตีความหมายไปในทางวิเศษอย่างยิ่ง งอกงามอย่างพิเศษ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ค่อยที่จะชอบคำนี้สักเท่าไร ในฐานที่เป็น Political being ผมคิดว่าเป็นงานที่ทำให้เราเห็นบทบาทของตุลาการที่แตกต่างกันออกไป
มีงานชิ้นหนึ่งที่ผมคิดว่าเขาทำให้เห็นถึงความพลิกผันของการเมืองเชิงตุลาการได้ดี อันนี้เป็นงานของคนที่ศึกษาในสิ่งที่เรียกว่าการเมืองเชิงตุลาการในเอเชีย และเขาก็แบ่งทำให้เห็นว่าเวลาแนวความคิดเรื่องบทบาททางตุลาการที่ขยายอย่างกว้างขวางมันสามารถพลิกผันไปได้หลายแบบ เขาทำให้เห็นเป็น 4 แบบด้วยกัน โดยเขาดูเงื่อนไขจากความเป็นอิสระของศาลเป็นแกนตั้งว่า มีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน ส่วนแกนนอนดูว่า ศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากน้อยขนาดไหน อันนี้เป็นการแบ่งที่คล้ายกับการจำแนกให้เห็นบทบาทของศาลที่ขยายตัวมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ สามารถสร้างอำนาจได้หลายแบบ อย่างน้อยเราจะเห็นได้ 4 แบบจากไดอะแกรมนี้ ถ้าจะเอาประเทศที่มีความเป็นอิสระสูงจะยกตัวอย่างคือญี่ปุ่นกับมาเลเซีย เกาหลี  อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่แสดงบทบาทแตกต่างกัน ในญี่ปุ่นกับมาเลเซียผู้เขียนเสนอว่าศาลไม่ค่อยแสดงบทบาทมากเท่าไร เรื่องการเมืองศาลจะไม่เข้าไปยุ่ง ในขณะที่ประเทศที่ศาลมีความเป็นอิสระอย่างสูงแล้วศาลแสดงการมีบทบาทอย่างมากเกิดขึ้นในเกาหลี  อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เราอาจจะเห็นว่าศาลเกาหลีตัดสินลงโทษอดีตผู้นำเผด็จการ ศาลของฟิลิปปินส์เด่นในเรื่อง Gender  ในขณะที่ประเทศที่ศาลมีความเป็นอิสระต่ำอย่างในกัมพูชา ศาลไม่แสดงบทบาทอะไรมาก ในส่วนของเมืองไทย ศาลมีความเป็นอิสระต่ำแต่มีบทบาททางการเมืองสูง นี่คือการที่ทำให้ผู้พิพากษาเข้าไปอยู่ในแวดวงทางการเมือง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเริ่มต้นด้วยการขยายพรมแดนการรับรู้ความเข้าใจเรื่องบทบาทของตุลาการในโลกสมัยใหม่ นี่คือพรมแดน 4 แบบซึ่งนักวิชาการได้เสนอมา แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่ก็เป็นต้นแบบที่จะทำความเข้าใจตุลาการได้กว้างขวางมากขึ้น เพราะว่าในบริบทปัจจุบันเวลาเขียนงานเกี่ยวข้องหรือวิวาทะเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามักถกเถียงเฉพาะคำพิพากษา เฉพาะประเด็นไป ถ้าเราศึกษาเชิงภาพรวม เราน่าจะเห็นบทบาทของศาลไทยในแบบที่ร่วมสมัยกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้
งานศึกษาแบบนี้ทำให้เราเห็นแนวคิดที่เรียกว่า Judicialization of Politic การเมืองเชิงตุลาการเป็นกระแสในระดับกว้าง แต่ไม่ได้ความว่าเวลาถูกถ่ายไปในสังคมต่างๆ จะมีความเหมือนกัน เพราะเราจะพบว่าในโลกนี้เราไม่ได้อยู่ในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด  เราอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแต่ไม่เสรี (illiberal democracy) หรือบางทีเราก็อยู่ในประเทศที่เป็นเสรีแต่ไม่ประชาธิปไตย (liberal autocracy) ตัวอย่างของประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตยไม่สู้จะเสรี ซึ่งประเทศนอกยุโรปจำนวนมากมีภาวะที่ไม่ใช่ประเทศเสรี เพราะฉะนั้นพออยู่ในสภาวะไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย และกระแสที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์พัดลงไปในพื้นที่ต่างๆ ก็สร้างให้เกิดปรากฎการณ์ที่แตกต่างกันขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราจะศึกษาตุลาการภิวัตน์หรือสิ่งที่ผมเสนอคือการเมืองเชิงตุลาการมันก็จะทำให้เราเห็นอะไรที่เห็นเงื่อนไขของการเมืองภายในที่จะส่งผลให้การเมืองเชิงตุลาการในไทยนั้นผันเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง

บทเรียนของสังคมไทย

วันนี้สังคมไทยเป็นอย่างไร อาจารย์สายชลและอาจารย์กฤษณ์พชรได้พูดรายละเอียดไป ผมจะลองขมวดปมที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ผมสนใจอยู่
เงื่อนไขใดของสถาบันตุลาการที่ทำให้เกิดสถานะตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดินที่ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์  มีเงื่อนไขใดบ้างที่สำคัญในห้วงเวลาปัจจุบัน อันที่หนึ่งคือการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันตุลาการกับสถาบันพระมหากษัตริย์  ผมคิดว่าสถาบันตุลาการกับสถาบันพระมหากษัตริย์การเชื่อมต่อเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในปรากฏการณ์เป็นจำนวนมาก ผมจะลองพูดถึงปรากฏการณ์ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ การแต่งตั้งตุลาการ ข้าราชการเวลารับตำแหน่งไม่จำเป็นต้องเข้าเฝ้า มีอาชีพตุลาการที่ต้องทำการเข้าเฝ้าจึงจะปฏิบัติงานได้ จึงจะถือว่าเป็นตุลาการโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากเทียบกับข้าราชการอื่นๆ ไม่มีข้าราชการคนไหนต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์เลย นี่เป็นเงื่อนไขพิเศษมาก การเข้าเฝ้าและการโปรดเกล้ากลายเป็นอัตลักษณ์อันหนึ่งซึ่งผู้พิพากษาภูมิใจในฐานะที่ตนเองเป็นอาชีพที่พิเศษกว่าข้าราชการอื่นๆ อันที่สองคือสัญลักษณ์ ผมคิดว่าสัญลักษณ์สามารถสะท้อนอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ สีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรม ส่วนอีกอันที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีสีสันสดใสมีดอกบัวบานเป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม อันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมซึ่งตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่สัญลักษณ์ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกอันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม ทั้งสองอันนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ปัจจุบันยังใช้อยู่ทั้งคู่เพราะใช้แยกกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมออกจากกัน อันสีน้ำเงินมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 เป็นดวงตราดุลภาค เป็นเครื่องมือสำหรับชั่งวัดให้เกิดความเที่ยงธรรมได้แก่เครื่องชั่งให้รู้หนักเบา แปลตามความนัยหมายถึงการรับผิดชอบให้ผดุงความยุติธรรมทำให้สถิตเสถียร สม่ำเสมอ ไม่เอนเอียงไปข้างใดด้วยอคติ ตรากระทรวงยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 6  ส่วนตราสำนักงานยุติธรรม พ.ศ.2543 หลังรัฐธรรมนูญ 2540 มีการแยกศาลยุติธรรมและประดิษฐ์ตรานี้ขึ้น ถ้าพูดโดยรวมทั้งหมด สำนักงานศาลยุติธรรม ความหมายมันคืออะไร?  ความหมายโดยรวมคือ รัชกาลที่ 9 ผู้พระราชทานความยุติธรรมทั่วแผ่นดิน เราจะเห็นความหมายของความยุติธรรมของหน่วยงานรัฐที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมผูกติดอยู่กับคติไทยแบบดั้งเดิม ที่ไม่ได้ผูกติดกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่ตราสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรมผูกติดอยู่กับพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดหนึ่งที่น่าสนใจคือสะท้อนให้เห็นว่าบัดนี้อำนาจทางศาลแสดงตนว่าเชื่อมต่อกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด อย่างที่ผมคิดว่าไม่น่าเคยปรากฏขึ้นมาก่อนในเชิงสัญลักษณ์
อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าน่าจะสะท้อน จากที่มองจากสัญลักษณ์ มองจากพิธีกรรม มีเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก ผมขอตั้งชื่อว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” (สมชายคัดลอกเรื่องเล่านี้มากจาก Facebook)   เมื่อปีที่แล้วที่ศาลจังหวัดปัตตานี มีผู้พิพากษากำลังจะเดินทางกลับบ้าน แต่เห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ ผู้พิพากษาท่านนี้จึงเดินเข้าไปถาม ผู้หญิงคนนี้จึงบอกว่าแม่กับน้องชายถูกจับ น่าจะเป็นคดีขายใบกระท่อม ต้องเอาเงินมาประกันแต่มาไม่ทันเวลาศาล แม่กับน้องชายเลยต้องติดคุก ผู้พิพากษาคนนี้เห็นผู้หญิงร้องไห้  จึงบอกให้ยื่นคำร้องขอประกันตัว เวลา 5 โมงขณะที่ศาลปิด เงิน 6,000 บาทเอามาเป็นค่าประกันก่อน “ผู้หญิงคนนี้บอกว่า ศาลปิดแล้ว ผมบอกว่ายังไม่ปิด เธอเถียงกลับมาว่าศาลปิดแล้วเพราะเจ้าหน้าที่บอก ผมบอกว่าเดี๋ยวผมสั่งเปิดให้ดู และหันไปบอกกับเจ้าหน้าที่ศาลให้จัดการเรื่องนี้ให้หน่อย คุณเล็กที่เป็นเจ้าหน้าที่ศาลจัดการเรื่องนี้ให้ เจ้าหน้าที่ศาลจึงจัดการปล่อยคุณแม่ผู้หญิงคนนั้นออกมา ผู้หญิงคนนี้ยกมือไหว้หลายครั้ง ผมก็บอกกับเธอว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว””
ข่าวนี้ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวางในอินเตอร์เน็ต ผมคิดว่านี่สะท้อนให้เห็นว่าผู้พิพากษามักจะอ้างว่าทำตามพระปรมาภิไธย แต่นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้พิพากษาท่านนี้เคยตัดสินคดีคุณจินตนา แก้วขาว เป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และคุณจินตนา แก้วขาว ถูกฟ้องที่ศาลประจวบ ตอนนั้นศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องให้คุณจินตนาไม่ผิด ผู้พิพากษาคนนี้คือคนที่ยกฟ้องให้คุณจินตนาไม่ผิด แต่คดีความนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศหลัง 2540 ผู้พิพากษาผู้นี้ยืนยันว่าการช่วยเหลือชาวบ้านที่ปกป้องทรัพยากรไม่ผิด แต่เมื่อมาถึง พ.ศ. 2558 จากผู้พิพากษาผู้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ กลับกลายมาเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนออกในสังคมของตุลาการได้เป็นอย่างดี  เราจะเห็นความเชื่อมต่อของสิ่งที่เรียกว่าสถาบันตุลาการ
อันที่สอง สถาบันตุลาการไม่เคยปฏิเสธผลทางกฎหมายของการรัฐประหาร เมื่อมีการรัฐประหาร สถาบันตุลาการก็พร้อมที่จะยอมรับว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจชั่วคราวสำเร็จและกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์  การประกาศใช้คำสั่งใดๆ ก็กลายเป็นกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้  ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 ที่น่าจะเป็นคำพิพากษาฎีกาแรกและหลังจากนั้นก็สืบเนื่องกันมา เราเห็นคำพิพากษาพวกนี้เป็นจำนวนมาก  เมื่อกลุ่มพลเมืองโต้กลับไปแย้งในเรื่องเขตอำนาจศาล เรื่องเสรีพลเรือนควรขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน ศาลอาญาก็มีความเห็นว่าคดีนี้มีคำสั่งของคสช.อยู่แล้วจึงต้องขึ้นศาลทหาร ถ้าพูดตามนัยยะก็คือสถาบันตุลาการของเรานั้นไม่เคยยืนอยู่ในแง่งของการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้ว เช่นสมัยจอมพลสฤษดิ์ สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ทำต่อคือ จัดให้ศาลเป็นอิสระต่อไป เพราะความเป็นอิสระของศาลเป็นการรับรองอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร นี่อาจเป็นจารีตอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังเป็นแนวโน้มหลักอยู่

ศาลรัฐธรรมนูญหลัง 2549 การขยายพื้นที่อำนาจของศาลยุติธรรม

อันที่สามคือ บทบาทของตุลาการที่พลิกผันเป็นอย่างมาก เวลาพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ผมอยากเสนอว่าศาลรัฐธรรมนูญในเมืองไทยควรต้องพิจารณา 2 ช่วงเวลา คือหลังรัฐธรรมนูญ 2540 กับหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้ง 2 ช่วงเวลานี้มีอะไรที่แตกต่างกันอยู่ทั้งในแง่ขององค์ประกอบคำพิพากษา หรืออะไรก็ตาม องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยทั้งรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาจากศาลฎีกา ศาลปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒินิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีสัดส่วนมากน้อยแล้วแต่ยุคสมัย แต่ที่น่าสนใจคือประธานศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 กับ รัฐธรรมนูญปี 2550 มีความแตกต่างกัน ประธานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้นมีอยู่ 10 คน หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ก่อนรัฐประหารปี 2549 ประธานศาลรัฐธรรมนูญกระจัดกระจายไป แต่พอหลังรัฐประหาร 49 ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีแต่ที่มาจากศาลฎีกา สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการขยายอำนาจของศาลยุติธรรมเข้าไปเหนือศาลอื่น หลังปี 49 เป็นต้นมานี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ข้อวิจารณ์ที่มีกับศาลรัฐธรรมนูญในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มักพุ่งเป้าไปที่ตัวศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แง่หนึ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมด้วย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ประธานศาลรัฐธรรมนูญมาจากที่หลากหลายไม่ได้ผูกติดไว้กับใคร แต่หลังรัฐธรรมนูญหลังปี 2549 ประธานศาลมาจากผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นแล้วความคิด อุดมการณ์และตำแหน่งแห่งที่จึงอยู่ภายใต้ศาลยุติธรรม
โดยสรุปแล้วตุลาการภิวัตน์ในโลกปัจจุบันเป็นอิทธิพลที่มาจากภายนอก แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง มันจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน หรือถ้าพูดให้เฉพาะก็คือตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันตุลาการ และบริบทการเมืองภายใน มีส่วนต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไป กระแสที่เกิดนั้นเกิดในระดับโลก แต่เวลากระจายเงื่อนไขภายในมีส่วนอย่างสำคัญ ในสังคมไทยสถาบันศาลยุติธรรมมีระบบปิด ใกล้ชิดกับสถาบันจารีต ยอมรับระบบอำนาจนิยม ในเมืองไทยสถาบันตุลาการที่เป็นอยู่อย่างยาวนานมีลักษณะเด่นๆ เช่นนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อศาลยุติธรรมเข้าครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่  พอเหลาลงไปกลายเป็นตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

ส่งตัว 5 จำเลยคดีนั่งรถไฟส่องราชภักดิ์ไปเรือนจำ ศาลทหารให้ประกันแต่มีเงื่อนไข


ภาพจากทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวลาประมาณ 14.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้อัยการทหารสั่งฟ้องคดี ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งมีผู้ตกเป็นผู้ต้องหา 11 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2258 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน โดยในวันนี้อัยการสั่งฟ้องทั้งหมด มีผู้มารับฟังคำสั่ง 6 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, กิตติธัช สุมาลย์ หรือแชมป์ 1984, วิศรุต อนุกุลการย์, กรกนก คำตา และ วิจิตร หันหาบุญ หลังศาลรับฟ้อง จำเลยทั้ง 6 รายถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยเตรียมใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 40,000 บาท ขณะนี้กำลังรอให้ศาลแจ้งว่าต้องใช้หลักทรัพย์เท่าใด และจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลในช่วงเย็นนี้
ขณะที่อีก 5 รายไม่มาฟังคำสั่งในวันนี้ คือ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด, ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ หรือหนุ่ย, กรกช แสงเย็นพันธุ์ หรือปอ และ ธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน
ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน โดยสารไปกับขบวนรถไฟสายธนบุรี-หลังสวน ในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ และถูกตัดตู้ขบวนที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ก่อนถึงจุดหมายปลายทางที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนจำนวน 36 คน เพื่อสอบสวนกว่า 3 ชั่วโมง โดยปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบ ภายใต้การควบคุมตัวของทหารจนพลบค่ำ ผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนตัดสินใจลงชื่อในเอกสารที่ทหารและตำรวจจัดเตรียมมายอมรับเงื่อนไขในการปล่อยตัวว่า จะไม่เคลื่อนไหว หรือให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ขณะที่อีก 11 คนยืนกรานไม่ลงชื่อในเอกสารใด ๆ ก่อนทั้งหมดจะปล่อยตัว ต่อมามี หมาย 11 คนที่ไม่ยอมเซ็นเอกสารให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี โดยมีการแจ้งข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีโทษจำคุกถึง 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ต้องหาทั้งสี่ ได้แก่ นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาที่ 2, นายกิตติธัช สุมาลย์ ผู้ต้องหาที่ 6, นายวิศรุต อนุกุลการย์ ผู้ต้องหาที่ 7, และนางสาวกรกนก คำตา ผู้ต้องหาที่ 10 เดินทางมายังสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ตามนัดของพนักงานสอบสวนเพื่อยื่นคำให้การเพิ่มเติม ในคดีนี้ ส่วนนายวิจิตร หันหาบุญ ผู้ต้องหาที่ 11 ในคดีเดียวกันได้มาที่สถานีตำรวจเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติม จากนั้นทนายได้ยื่นคำให้การของผู้ต้องหาที่ 2, 6, 7, 10 แก่พนักงานสอบสวน เนื้อความในคำให้การยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้คำให้การระบุว่า องค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลกได้แสดงความเห็นว่าการนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ของผู้ต้องหาทั้ง 11 คนนั้นไม่เป็นความผิดฐานการชุมนุมทางการเมือง และให้ยุติการดำเนินคดีเสีย ส่วนคำให้การของกรกนกระบุเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ถึงเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ อันเป็นสิทธิของประชาชนที่พึงกระทำ

ทนายความยังยื่นขอให้มีการสอบคำให้การพยานเพิ่มเติม โดยทนายจะติดต่อพยานให้มาให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า การส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารนั้น จำเป็นจะต้องส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง 11 คนพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นอัยการจะไม่รับฟ้อง จึงจะออกหมายเรียกนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, น.ส.ชนกนันท์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์ และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ผู้ต้องหาอีก5ราย ให้มารายงานตัวในวันที่ 11 ก.พ.นี้ เพื่อยื่นสำนวนและส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดแก่ศาลทหารกรุงเทพพร้อมกัน หากไม่มารายงานตัวจะดำเนินการออกหมายจับต่อไป
ระหว่างการพูดคุยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งคอยถ่ายรูปผู้ต้องหาและทนายเป็นระยะ ในภายหลังมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบนายหนึ่งและนอกเครื่องแบบนายหนึ่งเข้ามาร่วมฟังด้วย ส่วนบริเวณใกล้สถานีตำรวจมีรถฮัมวีมาจอดหนึ่งคัน และเจ้าหน้าที่ทหารสี่นาย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 นายสิรวิชญ์ ซึ่งถูกทหารจับกุมกลางดึกวันที่20ม.ค. , น.ส.ชลธิชา , น.ส.ชนกนันท์ , และนายกรกช ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันซึ่งถูกออกหมายจับเนื่องจากปฏิเสธไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จึงถูกควบคุมตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารยกคำร้องขอฝากขัง และมีการเพิกถอนหมายจับทั้งสี่คน ในวันเดียวกันอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นักกิจกรรมอีกคนที่ถูกออกหมายจับก็ถูกควบคุมตัวข้ามคืนที่ สน. รถไฟธนบุรี และถูกควบคุมตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังในวันที่ 22 มกราคม แต่ศาลทหารยกคำร้องเช่นกัน