วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

แผนสยบ ข่าวลือ


แผนสยบ ข่าวลือ 
เด้ง กิตติรัตน์ 
เด้ง สุกำพล ต้องฉับพลัน ทันใด

รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ 

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 
ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 8


           ทําไม นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จึงต้องออกมาชี้แจง 


"การบอกกล่าวหรือพูดถึงเป้าหมายตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็น "โกหกสีขาว" ที่เป็นเรื่องปกติของนักเศรษฐศาสตร์" 
ทั้งๆ ที่ตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง  เกี่ยวข้องกับการออกมา "โกหกสีขาว" ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 15  และตัวของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ออกมาย้ำยืนยันว่า ไม่เคยคิดที่จะลาออกจากกรณี "โกหกสีขาว"

          กระนั้น หากสังเกตกระแสการไหลเลื่อนของ "ข่าวสาร" 
การออกมาแถลงของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ย่อมมีความจำเป็นอย่างสูง เพราะบางกระแสข่าวไปไกลถึงขนาดมีการประสานพลังระหว่าง นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เพื่อเอา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีมูล


        เหมือนกับกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งย้าย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ไปช่วยราชการในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  
ก็มีข่าวในลักษณะ "เจ๊าะแจ๊ะ" ออกมาจากคนใกล้ชิดอ้างคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า 

"ไม่น่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" 


ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความแนบแน่นอย่างสูง

ข่าวที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไปนั่งว่าการกลาโหม ก็เสมอเป็นเพียงข่าวลือ  


           ยิ่งกว่านั้น การย้ายระนาบปลัดกระทรวงกลาโหม หาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ไม่หารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่หารือกับ "คนแดนไกล" ที่มหานครดูไบแล้ว ก็ยากเป็นอย่างยิ่งจะสามารถทำได้  


           ข่าวลือจึงเสมอเป็นเพียงข่าวลือ 
ไม่ว่าข่าวลือกรณี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ว่าข่าวลือกรณี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ยากที่ปรากฏได้ในทางเป็นจริง 

           เป็นข่าวประเภทชกลม  กระนั้น ก็มีความจำเป็นอย่างสูงที่บุคคลระดับ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และบุคคลระดับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองจักต้องออกมาสยบ 


           เพราะบทบาทของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั้นสูง  
เพราะบทบาทของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เท่ากับเป็นการรุกคืบเข้าไปในกองทัพเพื่อสานไมตรีในระยะยาวไกล

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ จึงต้องออกมายืนอยู่ข้างหลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
ขณะเดียวกัน จังหวะก้าวของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงต้องมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนเรียงอยู่เคียงข้างเพื่อให้เดินหน้าจัดระบบภายในกระทรวงกลาโหมได้อย่างราบรื่น 
เอกภาพเหนียวแน่น

ฝิ่น



โดย คำ ผกา 
http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 89 



"ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน" 
(เจตนารมณ์ของ ศปช.) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1346070082&grpid=01&catid=&subcatid=

"เราอาจรู้โดยไม่จำเป็นต้องพูดว่าในยุคสมัยใหม่ สังคมที่ "ดี" ที่สุดไม่ใช่สังคมที่ "พูด" ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน สังคมที่ "พูดไม่ได้" (แปลว่าพูดไม่ได้โดย "ปลอดภัย") ก็ไม่มีทางเป็นสังคมที่ดีได้ ในสังคมแบบนี้ การพูดในสิ่งที่ถูกห้ามนำไปสู่การถูกดำเนินคดี ปองร้าย กลั่นแกล้ง หรือประชาทัณฑ์ แทบไม่ต้องพูดเลยว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ดี" 


มุกหอม วงษ์เทศ, วารสาร อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 เมษายน-มิถุนายน 2555



           อาจเป็นเรื่องขมขื่นหากจะบอกว่าสังคมไทยคงต้องขอบคุณการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ได้ทำให้คนจำนวนมากและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไทย-หากนับตามเสียงที่ไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย-ได้ตระหนักถึงกะลายักษ์ (ตามสำนวนของ อ.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธุ์) ที่ครอบสังคมไทยอยู่และคนจำนวนมากเหล่านั้นได้พยายามจะพลิกกะลาให้หงายออกแล้วเราจะพากันเดินออกสู่โลกกว้างที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก 
มิใช่โลกในกะลาที่ความมืดและความสว่างถูกกำกับให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจของเจ้าของกะลา

            6 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในอัตราความเร็วที่สูงมาก ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับความเร็วของสัญญาณอินเตอร์เน็ต ดาวเทียม ความทันสมัยของเครื่องมือสื่อสาร อัตราการไหลเวียนของข้อมูลจากกรุงเทพฯ ไปอุดรฯ จากสกลนครไปเชียงใหม่ จากอุบลฯ ถึงลำปาง จากอยุธยาถึงสมุทรปราการ จากปัตตานีถึงเชียงรายนั้นใช้เวลาสั้นลงเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นชั่ว "คลิก" เดียว หรือช้าที่สุดเพียงชั่วข้ามวันของการเดินทางของหนังสือ สิ่งพิมพ์ และแผ่นซีดีรอม 


ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 6 ปีนี้จึงรุนแรงมากเมื่อเทียบกับความไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาของสังคมไทย

            รายงาน "ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553" ความยาวประมาณ 1,000 หน้ากระดาษกับการยืนยันว่ามีแต่ความจริงและความยุติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสังคม (ไทย) ใหม่ได้ เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังการรัฐประหารและหลังการอำมหิตอีกครั้งของรัฐไทย
นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ

             ในขนบของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมามีแต่การบันทึก "บุญคุณ" ของ "รัฐ" (ในความหมายกว้าง) ควบคู่ไปกับการประณามระบอบการปกครองประชาธิปไตยของตะวันตกว่าเป็น "ฝรั่ง" ซ้ำเติมด้วยการเลือกไฮไลต์ด้านเลวทรามของนักการเมืองหรือแม้กระทั่งเขียนประวัติศาสตร์ให้ผู้นำฝ่ายประชาชนกลายร่างเป็นเผด็จการฟาสซิสต์  ผสมปนเปไปกับเรื่องเล่าว่าด้วยนักการเมืองเลว ไร้คุณธรรม โลภ โกงกิน ตัวบั่นทอนสังคมไทยถูกทำให้เหลือเพียงคาถาว่าด้วยกลุ่มทุนบวกกลุ่มการเมือง ซึ่งถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเพราะกะลาใบนี้ไม่เปิดเผยหมดจดว่าใครครอบงำทั้งทุนทั้งการเมืองด้วยความสง่างาม ก่อนจะรวบยอดเป็นตะกอนความคิดให้ผู้มีการศึกษาและคุณธรรมในสังคมสรุปว่า สิ่งที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยคือ ธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย

             สังคมไทยอาจจะเคยมีความพยายามบันทึกประวัติศาสตร์ความอำมหิตของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชนผ่านการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ หรือความพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาคม แต่น่าเสียดายที่อาคารอนุสรณ์สถานในสายตาของฉันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการใช้สถาปัตยกรรมเพื่อเล่าและเตือนความทรงจำของสังคมให้ตะหนักว่า "รัฐแบบไทย ไทย" นั้นอำมหิตขนาดไหน เพราะตัวอาคารไม่สื่อสารทางอารมณ์ ความรู้สึกกับคนที่เข้าไปใช้อาคารนั้น ไม่เล่าเรื่อง นิทรรศการไม่ชัดเจน พร่าเลือน เหมือนอยากพูดแต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร


           เป็นนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ที่กรอบเกรียบโรยราที่สุดเท่าที่เคยเห็น


           ไม่นับว่าการผลักดันให้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของนักเรียนประถม และมัธยมก็น่าจะล้มเหลว


              เหตุที่เราไม่ตระหนักว่ารัฐไทยนอกจากจะไม่มีบุญคุณใดๆ กับราษฎร (ทั้งโดยหลักการแล้วรัฐสมัยใหม่พึงเห็นว่าราษฎรหรือประชาชนนั้นเป็นใหญ่ในรัฐ) แล้วยังเป็นรัฐที่โหดเหี้ยม อำมหิต เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเข่นฆ่าและใช้ความรุนแรงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐก่อนสมัยใหม่หรือเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ "หลอน" ตนว่าเป็นรัฐสมัยใหม่โดยมีวิญญาณของรัฐแบบจารีตสิงร่างอยู่

             เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ มิวเซียมที่น่าจะเป็นในประเทศไทยที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทยน่าจะได้เล่าและแสดงนิทรรศการให้ประชาชนชาวไทยและชาวโลกได้เห็นว่า สังคมไทยผ่านความรุนแรงเหล่านั้นมาอย่างไรในอดีต และแต่ละครั้งมีการจัดการกับความจริงและความทรงจำของประชาชนอย่างไรบ้าง  


             วัฒนธรรมว่าด้วยการนิรโทษกรรมของไทยส่งผลให้ผู้ก่อการความรุนแรงเห็นว่าการกระทำของตนคือความชอบธรรมและเป็น need ของสังคมไทยที่ต้องมี "รัฐประหาร" อยู่เนืองๆ เพื่อ "กำราบ" สังคมให้อยู่ในระเบียบแห่งประเพณี

              แต่เมื่อความรุนแรงนี้ถูกก่อขึ้นมาโดยรัฐ จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะแสดงนิทรรศการว่าด้วยการก่ออาชญากรรมของตนเอง และมิวเซียมเอกชนของไทย และมิวเซียมท้องถิ่นก็มุ่งให้ความสำคัญกับการจัดแสดง เครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้าน กระต่ายขูดมะพร้าว ครัวไฟ เสื้อผ้า ฯลฯ มากกว่าจะบันทึกความขื่นขมและการถูกกระทำ 


             หรือหากมีผู้ริจะทำเช่นนั้นก็เสียงที่จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกที่มุ่งสร้างความแตกแยกแตกสามัคคีแก่คนในชาติ เผลอๆ อาจโดนข้อหาทำลายความ "มั่นคง" ของชาติด้วย

             ทั้งนี้ เนื่องจากชีวิตอันยาวนานในกะลายักษ์ของสังคมไทยไม่ได้บ่มเพาะให้พลเมืองตระหนักว่า "ความมั่นคง" ของชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความ "ยุติธรรม"   


              สังคมใดก็ตามที่ปราศจากซึ่งความยุติธรรม สังคมนั้นไม่มีวันจะมั่นคงได้เลย  


              และยิ่งไม่มั่นคง สังคมนั้นก็ยิ่งต้องใช้อำนาจในการโฆษณาชวนเชื่อ ป่าวร้อง บังคับให้คนรู้รักสามัคคี


              ยิ่งไม่มั่นคงสังคมนั้นก็ยิ่งต้องใช้อำนาจในการจับกุม ลงโทษ ประชาชนที่ไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจของการโฆษณา


              ยิ่งลงโทษมาก การต่อต้านก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งมีการต่อต้านรัฐก็ยิ่งรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ยิ่งไม่มั่นคงการลงโทษก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ถี่ขึ้นเรื่อย ยิ่งการลงโทษหนัก การต่อต้านก็ไม่ลดราวาศอก 


              สังคมเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยความรุนแรงและความอำมหิตและยิ่งไกลจากคำว่า "มั่นคง"

              ยิ่งไปกว่านั้นสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ว่า "ความมั่นคงแห่งชาติ" นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการยอมรับคุณค่าของเสรีภาพทางการเมือง ศาสนา ความคิด ความเชื่อ และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งชาติคือการท่องคาถาแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างความหลากหลายของวัฒนธรรม มิใช่การบังคับให้มีความเป็นไทยทางการเมืองเหมือนกันและเฟ้นเลือกความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น ห้ามมีหน้าที่อื่น 


               ความมั่นคงของชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมและคนในชาติหลุดพ้นจากกะลาแห่งความลวง แล้วได้เผชิญหน้ากับข้อเท็จจริง ซึ่งแปลว่ามีสนามแห่งการแข่งขันอย่างเสรีของการเปิดเผยข้อมูลให้สังคมและประชาชนได้ใช้วิจารณญาณของตนเองในเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อหรือแม้กระทั่งพื้นที่ในการ "สร้าง" ชุดความจริงใหม่ๆ ขึ้นมาแข่งขันกันต่อไป

               ประวัติศาสตร์ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชาติ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยชัยชนะ วีรบุรุษ ความสามารถพิเศษ พิสดารพันลึกของมหาบุรุษ และความสามมัคคีศิโรราบของไพร่ แต่คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ความพ่ายแพ้ ความเจ็บปวด การลุกขึ้นสู้ของไพร่ การกบฏ การถูกกำราบปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า
และการยืนยันที่จะเรียกร้องความยุติธรรม-ประวัติศาสตร์เช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้ "ชาติ" มั่นคง มิใช่ประวัติศาสตร์แห่งการยกตนข่มเพื่อนบ้านและเหยียดไพร่ให้เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่คิดเองไม่เป็น

               รายงานของ ศปช. คือจุดเริ่มต้นแห่งการเขียนและแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชาติไทยและสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์การถูกกระทำของประชาชนและการยืนหยัดที่จะเรียกร้องสังคมใหม่ที่ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน 


ไม่ใช่ความสามัคคีอย่างหน้ามืดตามัวเป็นพื้นฐาน 


              แทนการรอคอยการทำงานของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล แทนการรอคอยความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากประชาชนได้ทำงานร่วมมือกับประชาชนผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาทำบันทึกให้เป็นที่ประจักษ์ว่า อำนาจรัฐที่ปฏิเสธประชาชนจะฆ่าและลงโทษประชาชนอย่างไร้ความเป็นธรรมที่สุดและทางเดียวที่จะประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมคือการยืนยันแสดงข้อเท็จจริงและไม่ปล่อยให้มีใครมาขโมยประวัติศาสตร์และความทรงจำนี้ไปจากสังคมโลกอีกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

              หากเราต้องการสังคมที่ดี เราต้องยืนยันการเขียนประวัติศาสตร์และอำนาจของสถาปนาความทรงจำของสังคมทั้งระวังมิให้เกิดการผูกขาดความทรงจำไม่ว่าจะจากฝ่ายใด
อำนาจของประชาชนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเริ่มจดจารความเจ็บปวดของตนเองและป่าวประกาศมันออกมา

มิใช่การนอนสูบฝิ่นเสพความทรงจำจอมปลอมอยู่ในกะลา

มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชน"

พาชม! นิทรรศการน้ำ "มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชน"
      go6TV (31 สิงหาคม) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นรอบของสื่อมวลชน ที่ห้องบางกอกคอนเวนชัน ชั้น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง บุคคลในรัฐบาล คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก จะมีการจัดแสดงนิทรรศการไปถึงวันที่ ก.ย.นี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดนิทรรศการตอนหนึ่งว่า ในนามของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอต้อนรับเพื่อชมนิทรรศการฯ ซึ่งการจัดงานวันนี้เพื่อบรรยายถึงแผนการริหารจัดการและการเตรียมความพร้อมในปีนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คงทราบว่าวิกฤติอุทกภัยปีที่ผ่านมาที่มีความร่วมมือร่วมใจกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและสื่อมวลชน ที่รวมพลังกันทำให้ผ่านพ้นในปีที่ผ่านมา เราก็นำประสบการณ์มาปรับปรุงแก้ไขและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติทั้งระยะสั้นในปีนี้และการเตรียมแผนระยะยาว โดยคำนึงถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนต่างๆเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำและการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเอกภาพ
"รัฐบาลน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเป็นหลักในการทำงาน และทำให้เข้าใจธรรมชาติของน้ำ เพราะน้ำต้องมีที่ไป น้ำต้องมีที่อยู่ น้ำยังต้องมีที่ชะลอ ดังนั้นต้องทำให้น้ำมีทางออกและระบาย และสำคัญประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนการจัดการน้ำว่า แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ การป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟู โดยในส่วนของการป้องกันนั้นแบ่งตามพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเน้นทำอย่างไรให้ชะลอการไหลของน้ำโดยการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกหญ้าแฝก กลางน้ำก็จะบริหารน้ำในเขื่อนให้เหมาะสม รวมทั้งแก้ภัยแล้งด้วย โดยการรักษาระดับน้ำในเขื่อน ร้อยละ 50 และเตรียมพื้นที่รับน้ำนอง 2.1 ล้านไร่ และซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และปลายน้ำจะเน้นการขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เสริมถนน เสริมแนวคันกั้นน้ำจากหนึ่งชั้นเป็นสามขั้นเพื่อปกป้องพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม และแน่นอนจะไม่ลืมเพิ่มเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่เกิดน้ำนองในปีที่ผ่านมาด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นการเตรียมพร้อมมีการบูรณาการโดยมีการทำคลังข้อมูลแห่งชาติ ร่วมกับ 17 หน่วยงานเข้ามาในศูนย์เดียวกัน เพื่อประเมินและวิเคราะห์เป็นการสั่งการเดียวหรือซิงเกิลคอมมานด์ มีการทำแบบจำลอง การสั่งการ การจัดการ การเตือนภัยทั้งภาวะปกติและวิกฤติ ที่มีขั้นตอนต่างๆตามลำดับ มีผู้รับผิดชอบชัดเจนลงไปในชุมชุนทุกที่ส่วนการรับมือนั้นเมื่อเกิดอุทกภัยทุกระดับความรุนแร ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่รับผิดชอบจะบูรณาการอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อพร้อมในการเผชิญเหตุ และสุดท้ายการฟื้นฟูก็มีหลักเกณฑ์ สิทธิการช่วยเหลือเหลือผู้ประสบภัยทุกด้าน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ออกพระราชกำหนดฯกู้เงิน ในวงเงิน 3.5 แสนบ้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ มากำหนดแผนฯเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงของการเชิญชวนผู้สนใจยื่นคุณสมบัติในการยื่นแนวคิดที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและจะมีการคัดเลือกโดยเป็นธรรมและโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายโดยคำนึงประโยชน์ของประเทศ

การจัดงานครั้งนี้รัฐบาลหวังว่าข้อมูลที่นำมาจะทำให้ทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจความมุ่งมั่นในแผนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขน้ำอุทกภัย เพื่อความรู้ความเข้าใจร่วมกัน โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมานำเสนอและอธิบายในนิทรรศการเพื่อเข้าใจครบถ้วนทุกประเด็น ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันปรับปรุงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในการนำประสบการณ์มาเป็นแผนการเพื่อรองรับภัยธรรมชาติปีนี้และยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งนั่นในทำงานร่วมกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้นำสื่อมวลชนเข้าชมนิทรรศการตามจุดต่างๆที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยบรรยายในแต่ละจุด ได้แก่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในฐานะกรรมการ กยน. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สบอช. และนายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ภาพข่าว โดย เจเจ สาทร














































































ดูภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ Facebook go6TV Community https://www.facebook.com/media/set/?set=a.550200201660307.129015.173829542630710