วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

ประวิตร มั่นใจ ผบ.ทบ.รู้อะไรควรไม่ควร ปมตั้งน้องเป็นแม่ทัพภาค 4 ดูงานชายแดนใต้



12 ก.ย. 2559 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ.สปท.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้ง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช น้องชาย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่มาดูงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คงไม่เป็นอะไร เรื่องการทำงานต่างๆ พล.ท.ปิยวัฒน์ก็ทราบดี เพราะเคยทำงานด้านการข่าวมาก่อน และทาง พล.อ.ธีรชัยรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร การแต่งตั้งครั้งนี้ได้พิจารณาแล้วโดยการเรียก พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพภาคที่ 4 มาช่วยกันดู ซึ่งไม่ใช่ พล.อ.ธีรชัย พิจารณาเพียงคนเดียว หรือตนเป็นคนเลือก มันไม่ใช่ แต่เป็นการพิจารณาตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นเชื่อว่า พล.ท.ปิยวัฒน์ทำงานได้ ถ้าทำงานไม่ได้ก็คงไม่ตั้งขึ้นมา ไม่ต้องเป็นห่วง
"ท่าน ผบ.ทบ. ท่านก็รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ท่านต้องดูอยู่แล้วนะครับ ท่านก็พิจารณาว่าทั้งหมด" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
"ไม่ใช่ท่าน ผบ.ทบ. จะมาเลือกเอง ว่าผมจะเลือกเอง ไม่ใช่ เขาพิจารณามาตามขั้นตอน เพราะฉะนั้นต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็คงไม่ได้ตั้งแล้ว ไม่ต้องห่วงนะครับ เขาทำได้อยู่แล้วครับ" พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
ต่อกรณีความคืบหน้าการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างภายหลังจากที่รัฐบาลพบกับ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าทางประเทศมาเลเซียให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้อยู่แล้ว ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยได้ขอให้มาเลเซียช่วยประสานกลุ่มผู้เห็นต่าง เพื่อทำให้เกิดความสงบในพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้ก่อนถึงจะเดินหน้าพูดคุย พร้อมกับกำหนดขอบเขตและรายละเอียดทีโออาร์ร่วมกันต่อไปในอนาคต หากยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้จะก็คุยไม่รู้เรื่อง อย่างไรก็ตาม ทางไทยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะให้เกิดความสงบเมื่อใด แต่จะพิจารณาเป็นเหตุการณ์ไป ส่วนทางมาเลเซียจะไปติดต่อกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างไรนั้นตนก็ไม่ทราบ
พล.อ.ประวิตรกล่าวกรณี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยกเลิกการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี เพราะยังเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นบ่อยว่า จะให้ไปพูดคุยกับใครขอให้บอกมา ซึ่งกลุ่มมาราปาตานีก็บอกว่ามาจากกลุ่มบีอาร์เอ็นทั้งนั้น และเขาก็รับข้อเสนอของเราไปทุกอย่าง ดังนั้น จะมาเปลี่ยนคงไม่ได้ ทางประเทศมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกรู้ว่าอะไรควรและไม่ควร ตนอยากให้ ไกรศักดิ์ไปทำเรื่องวิจัยมาให้ดีก่อนที่จะออกมาพูด เนื่องจากเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาหมดแล้ว เราไม่ได้ทำคนเดียว
พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และรัฐบาลส่วนหน้าว่าคปต.มีหน้าที่สนับสนุนงานทั้งหมด แต่รัฐบาลส่วนหน้ามีหน้าที่ดูแลภาพรวมของภาคใต้ทั้งหมดเพื่อรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะ ผอ.รมน.โดยตรง ซึ่งมี ผบ.ทบ.ในฐานะรอง ผอ.รมน.ดำเนินการอยู่แล้ว โดยให้มีผู้แทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาอยู่ในรัฐบาลส่วนหน้าจะได้รายงานการดำเนินการถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้ครม.รับทราบได้ในทันทีด้วย พร้อมทั้งจะทำให้ลดขั้นตอนต่างๆ ลงไปมาก และการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีก็จะทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการทำงานของรัฐบาลส่วนหน้าจะไม่ซ้ำซ้อนกับ คปต. เพราะคปต.ทำหน้าที่สนับสนุนด้านงบประมาณและการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ รวมถึงต้องประสานงานและพูดคุยกับรัฐบาลส่วนหน้าและ ครม.ด้วยเช่นกัน รัฐบาลส่วนหน้าเป็นตัวแทน ครม.ชุดเล็กๆ ลงไปประสานงาน ซึ่งไม่ได้เป็นทางการ ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลส่วนหน้าจะมีความชัดเจนในเดือนตุลาคมนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคาดหวังในการทำหน้าที่ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ซึ่งเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังอะไร และเชื่อว่า ผบ.ทบ.คนใหม่ทำงานได้อยู่แล้ว เพราะมีการพิจารณาตามลำดับขั้นตอน และ ผบ.ทบ.คนใหม่ก็เติบโตมาตามขั้นตอนตั้งแต่เป็นผู้หมวด ซึ่งคงรู้ว่าควรจะทำอย่างไร เห็นมาหมดแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง อีกทั้งตนเห็นว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

คำสั่งหัวหน้า คสช. 55/2559 ยกเลิกดำเนินคดีพลเรือนที่ศาลทหาร เหตุบ้านเมืองสงบ




คำสั่งหัวหน้า คสช. 55/2559 ระบุ สถานการณ์บ้านเมือง 2 ปีมานี้ สงบเรียบร้อยเป็นลำดับ ประชาชนให้ความร่วมมือ ประชามติผ่าน สมควรผ่อนคลายมาตรการ จึงให้คดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์-ความมั่นคง ม.107 - 118 คดีขัดคำสั่ง คสช. รวมทั้งคดีอาวุธปืน ระเบิด ให้เลิกขึ้นศาลทหาร กลับไปขึ้นศาลยุติธรรม แต่ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. 3/2558 และ 13/2559 ต่อไป
แฟ้มภาพเจ้าหน้าที่ทหารและสารวัตรทหารปฏิบัติหน้าที่บริเวณ หน้าประตูทางเข้ากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2.รอ.) สนามเป้า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557
12 ก.ย. 2559 - วันนี้ใน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีการเผยแพร่ "คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 55/2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร" โดยตั้งแต่วันนี้ไป ให้ยกเลิกการพิจารณาคดีศาลทหารในคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไปนี้
"ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร" ประกาศวันที่ 25 พฤษภาคม 2557
ซึ่งมีผลให้คดีต่อไปนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร 1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 (2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 (ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทําผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548)
2. ความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
"ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทําหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอํานาจของศาลทหาร" ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557
"ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2557" เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม
อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวต่อไป
000
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 55/2559
เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
ตามที่มีประกาศกองทัพบกและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้การกระทำความผิดบางประเภทที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร นั้น เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวมาแล้วระยะหนึ่ง ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบแห่งชาติตามกฎอัยการศึกจึงควรผ่อนคลายลง ประกอบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาเห็นว่าในช่วงเวลานั้น อยู่ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพให้กว้างขวาง จึงได้มีประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2558 ให้เลิกใช้ กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แต่ไม่กระทบต่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ส่วนการกระทำความผิดบางประเภทตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารต่อไป
โดยที่บัดนี้ปรากฏว่าสถานการณ์บ้านเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมามีความสงบเรียบร้อยเป็นลำดับ ประชาชนต่างมีเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือที่ดีในการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูปประเทศตามขั้นตอน และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ถูกต้องเป็นธรรม ดังเห็นได้จากกระบวนการลงประชามติที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยมติท่วมท้น จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตนและได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บรรดาการกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม  ซึ่งได้กระทำตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
บรรดาการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามวรรคหนึ่ง ไม่หมายความรวมถึงการกระทำความผิดที่กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารบัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยให้การกระทำความผิดดังกล่าวยังคงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารต่อไป
ข้อ 2 ให้เจ้าพนักงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวต่อไป
ข้อ 3 ในกรณีเห็นสมควร ให้นายกรัฐมนตรีเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 4 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 12 กันยายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ