วันที่ 22 กรกฎาคมปีนี้ นับเป็นวันครบรอบ 6 ปี ที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด’ ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
เธอนับเป็นนักโทษคดีการเมืองคนแรกๆ ที่ถูกคุมขังจากมาตรา 112
ย้อนความทรงจำคดี ดา ตอร์ปิโด
หลังการทำรัฐประหารในปี 2549 นำโดยพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน กลุ่มต่อต้านรัฐประหารเริ่มถือกำเนิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ก่อนที่จะก่อเกิดขบวนการอย่าง นปก. และต่อมาขยายตัวเป็น นปช. อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ในตอนนั้นชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นหลักเพื่อปราศรัยต่อต้านการรัฐประหาร ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นิยมชมชอบในพรรคไทยรักไทยผสมกับพวกหัวก้าวหน้าบางส่วน รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆ คนฟังไม่กี่สิบคน ดารณีก็นับเป็นดาวเด่นไฮด์ปาร์กด้วยเช่นกัน และด้วยการพูดที่ดุเดือดตรงไปตรงมาทำให้เธอได้รับฉายาว่า ดา ตอร์ปิโด
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนบริบททางสังคมในขณะนั้นที่เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกว้างขวางและทรงพลานุภาพ จนกระทั่งคณะทหารสามารถนำมาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารปี 2549 ได้ และยิ่งทำให้ประเด็นบทบาทของสถาบันถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักข้อขึ้นไปอีก
ในปี 2550 ดารณีถึงกับเคยถูกแม่ค้าปากคลองตลาดนำอุจจาระมาปาใส่หน้าจนเป็นข่าวใหญ่โต โดยแม่ค้าอ้างว่าสาเหตุมาจากทนฟังการปราศรัยของเธอถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ไหว
ปี 2551 คืนวันที่ 20 กรกฎาคม เรื่องราวการปราศรัยของเธอบนเวทีเล็กๆ ที่สนามหลวง เป็นที่รับรู้ในสังคมและกลายเป็นเรื่องใหญ่โต โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งอ้างว่าอัดเทปคำปราศรัยดารณีและนำมาอ่านบนเวทีมัฆวานฯ ที่มีการถ่ายทอดสดทางเคเบิลทีวีและเว็บไซต์ ตอนนั้นเป็นช่วงที่กลุ่มพันธมิตรฯ กำลังชุมนุมขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคพลังประชาชน
"อีนางนี่นอกจากจะต้องติดคุกแล้ว จะต้องเอามันให้ตาย ผมพูดจากตัวผมเอง สาบาน อย่าให้กูเจอมึงที่ไหนนะ กูจะตบให้คว่ำเลยอีห่า มันเลวที่สุดพี่น้อง อย่าไปฟัง เพราะมันหมิ่นยิ่งกว่าหมิ่น ไอ้จักรภพว่าหมิ่นแล้ว อีนี่คูณสิบเข้าไป"
"ผมไม่เคยเห็นใครเลวทรามต่ำช้า ชั่วช้ายิ่งกว่าเหี้ย เหี้ยเรียกแม่"
สนธิเกริ่นถึงดารณีบนเวทีก่อนจะอ่านบางส่วนของคำปราศรัยของดารณีแบบคำต่อคำ
วันรุ่งขึ้นกองทัพบกจึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า กองทัพบกขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบการปราศรัยของ น.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ถัดมาอีกวันศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับ และตำรวจก็เข้าจับกุมตัวดารณีที่ห้องพัก และเธอก็อยู่ในเรือนจำนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
เธอถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 15 ปีจากการกระทำผิด 3 กรรม (ปราศรัยบนเวทีเล็ก 3 ครั้ง) ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้ว และผู้ที่สนใจสามารถอ่านคำตัดสินของศาลชั้นต้นรวมทั้งสิ่งที่เธอกล่าวบนเวทีปราศรัยได้ในวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งตีพิมพ์คำพิพากษาทั้งหมดไว้ในฉบับ “ข้อมูลใหม่” ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2552
(ระหว่างถูกคุมขัง เธอถูกตัดสินให้มีความผิดในคดีหมิ่นประมาท สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วย ศาลสั่งลงโทษปรับ 50,000 บาท จากนั้นก็ถูกพิพากษาให้มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร อีกโดยศาลสั่งปรับ 50,000 บาท)
ขณะที่สนธิ ลิ้มทองกุล นั้นก็ถูกฟ้องตามมาตรา 112 เช่นกันจากการนำคำปราศรัยจากเวทีเล็กมาปราศรัยในเวทีมัฆวานฯ โดยศาลชั้นต้นยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำไปด้วยมีเจตนาให้ดำเนินคดีกับดารณี ไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ให้ความเห็นว่า "จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องนำเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะคนไทยบางส่วนไม่ทราบว่าเนื้อหาที่น.ส.ดารณี พูดเป็นอย่างไรบ้าง ก็ได้มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ"
พื้นเพอาชญากรทางความคิด
ดารณีเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ทันจบเพราะทะเลาะกับอาจารย์ จึงมาเรียนโทต่อที่มหาวิทยาลัยเกริก โดยเส้นทางที่ผ่านมาเธอล้วนเลือกเรียนเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ทั้งสิ้น
พี่ชายของดารณีเคยเล่าว่า น้องสาวเป็นหนอนหนังสือ ถึงกับต้องเช่าห้องพักไว้ 2 ห้อง ห้องหนึ่งเอาไว้พักและอีกห้องหนึ่งเอาไว้เก็บหนังสือ
“ชอบอ่านและชอบซื้อหนังสือ บางทีเห็นก็ซื้อไว้ก่อน มีเป็นพันเล่ม แต่ตอนนี้ไม่รู้มันไปไหนแล้ว” ดารณีเล่าหลังผ่านไป 6 ปีในเรือนจำ
“ชอบอ่านและชอบซื้อหนังสือ บางทีเห็นก็ซื้อไว้ก่อน มีเป็นพันเล่ม แต่ตอนนี้ไม่รู้มันไปไหนแล้ว” ดารณีเล่าหลังผ่านไป 6 ปีในเรือนจำ
“เมื่อก่อนชอบอ่านงานวิชาการทั่วไป เรื่องเกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่ช่วงหลังๆ ก่อนขึ้นเวที อ่านงานของสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่ได้อ่านทุกเล่ม อ่านแค่บางเล่ม” ดากล่าว
ในเรือนจำหญิง จากมนุษย์พันธุ์ฮาร์ดคอร์การเมือง ดารณีต้องกลายเป็นผู้ไม่รู้ข่าวสารบ้านเมือง ช่องทางในการรับรู้คือการได้รับฟังจากนักโทษที่เข้ามาใหม่หรือการพูดคุยกันของผู้คุม เนื่องจากเรือนจำหญิงมีกฎระเบียบห้ามนักโทษดูข่าว รับชมได้เพียงซีรี่ส์หนังเกาหลี หนังไทย ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนเธอเคยเล่าว่า ถูกทำโทษงดเยี่ยมญาติเป็นสัปดาห์เนื่องจากไปแอบจูนหาช่องข่าวในทีวีของเรือนจำ
ขณะเดียวกันหนังสือนิตยสารที่มีเรือนจำก็มีอย่างจำกัด เป็นนิตยสารผู้หญิงฉบับย้อนหลังไปหลายปี เหล่านี้คือเสียงสะท้อนที่เธอมักบอกกล่าวผู้ไปเยี่ยมเยียน ไม่รับรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากความแออัด ปัญหาการจัดการ กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป และปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ
เรื่องราวปัญหาเชิงระบบเป็นสิ่งที่มักได้ยินจากปากของนักเรียนรัฐศาสตร์คนนี้เสมอ ไม่เพียงปัญหาในเรือนจำ แต่รวมถึงปัญหาการเมืองของประเทศด้วย
ระยะเวลา 6 ปี มีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยนไปหลายอย่าง
สิ่งที่ไม่เปลี่ยน
ประการแรก คือ ความคิดฐานรากของเธอ จากปีแรกที่เข้าเยี่ยมจนถึงปีที่ 6 ที่มีโอกาสพูดคุยสั้นๆ 15 นาทีอีกครั้ง เธอยังคงยืนยันว่าปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมไทยคือ ปัญหาความไม่เท่าเทียม ความถ่างกว้างของชนชั้น นั่นทำให้เธอชื่นชอบนโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม เนื่องจากสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ประชานิยม’ นั้นส่งผลต่อปากท้องของคนชั้นล่างโดยตรง แม้ว่าเธอจะผิดหวังกับพรรคนี้อย่างมากที่ไม่สามารถปกป้องช่วยเหลือประชาชนที่ลุกขึ้นสู้เพื่อทวงคืนสิ่งที่เธอเรียกว่า 'ประชาไธิปไตย' ได้ก็ตาม เธอคิดว่านโยบายด้านเศรษฐกิจนั้นสำคัญมาก และต้องเน้นทำให้ชนชั้นรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปาก
“พอคนมันเท่ากันทางเศรษฐกิจมันก็จะส่งผลให้มันเท่ากันทางการเมืองมากขึ้น” ดาเคยกล่าวไว้เช่นนั้น
ที่สำคัญคือ เธอมักแสดงความกังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เสมอเพราะกลัวไทยจะล้าหลังกว่าเพื่อนบ้าน
“เรื่องเออีซีไม่เป็นไรมั้ง เอาแค่เรื่องของเราเฉพาะหน้าก่อนดีกว่า” ผู้เข้าเยี่ยมรายหนึ่งเคยกล่าวติดตลกกับดา
ประการที่สอง คือ อาการกรามอักเสบยึดติดระหว่างบน-ล่าง ปัจจุบันเธอยังคงเจ็บปวดกับโรคนี้ อ้าปากได้ไม่เต็มที่เวลารับประทานอาหารหรือพูดคุย เธอเล่าว่าเธอไม่กล้ารับการผ่าตัดในเรือนจำเนื่องจากต้องผ่าตัดใหญ่ พักฟื้นเป็นเดือน โดยที่โดยระบบแล้วจะมีเพื่อนนักโทษด้วยกันดูแล ทำให้เธอไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเธอก็ทะเลาะกับเพื่อนนักโทษขาใหญ่อยู่หลายคน
ครั้งหนึ่งเธอเคยกล่าวติดตลกว่า เวลาปวดก็จะกินยาพาราเซตามอล บางทีกว่าจะได้พ้นโทษไปผ่าตัดก็อาจจะเป็นโรคตับเสียก่อน
สิ่งที่เปลี่ยน
ประการแรก ดารณีเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ครั้งต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นว่าจะต่อสู้คดีนี้ให้ถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาเพื่อให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังสามารถศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาได้ แต่ดูเหมือนความหวังนั้นจะถูกพับเก็บไป หลังจากการต่อสู้คดีที่ยาวนานและภายหลังศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษายืนจำคุกเธอถึง 15 ปี สิ่งนี้ทำให้เธอไม่มีความหวังในการต่อสู้คดี ประกอบกับผู้คนที่มาเยี่ยมเยียนก็ดูหายเหือดแทบไม่มีเหลือในปีหลังๆ รวมถึงพี่ชายของเธอที่ชะตากรรมชักพาให้เขาต้องอยู่ในคุกตารางเช่นกัน ไม่สามารถมาเยี่ยมน้องทุกสัปดาห์ได้อีก
“ตอนนี้มีกฎใหม่ ให้ผู้ต้องขังเขียนชื่อคนเข้าเยี่ยมแค่ 10 คน นอกเหนือจากนี้จะไม่ได้เยี่ยม” เธออุทธรณ์กับกฎใหม่ที่อาจส่งผลให้เธอได้พบปะกับคนน้อยลงไปอีก
ดารณีกล่าวว่า สำหรับคดีของเธอ เธอได้ถอนฎีกาไปเมื่อไรจำไม่ได้แต่มีผลทำให้คดีเป็นที่สิ้นสุดลงแล้วในชั้นอุทธรณ์ จากนั้นได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลไปเมื่อปลายปี 2556 และทราบมาว่าเรื่องถึงสำนักราชเลขาธิการแล้วในเดือนมกราคมปีนี้ หลังจากนี้คงได้แต่รอคอยพระเมตตา
ประการที่สอง ความใฝ่ฝันที่จะลงเล่นการเมือง เธอเคยกล่าวถึงมันเมื่อปีก่อนๆ ด้วยเห็นว่าการจะผลักดันนโยบายช่วยเหลือคนชั้นล่างได้เร็วที่สุดเห็นจะเป็นบทบาทในรัฐสภา แต่ปัจจุบันความใฝ่ฝันหลังการพ้นโทษของเธอคือการเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ และนำเงินส่วนหนึ่งมาตั้งศูนย์ฮอตไลน์ช่วยนักโทษผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี เช่น ไม่มีทนายความ มีปัญหาเอกสาร เป็นต้น
ยังไม่ทันได้มีใครสอบถามว่าความฝันในทางการเมืองนั้นหล่นหายไปเมื่อใด
บรรณารักษ์คนใหม่ในเรือนจำ
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีสำหรับดารณีในรอบ 6 ปีก็มีอยู่บ้าง นั่นคือ การได้รับแต่งตั้งเป็นบรรณารักษ์ดูแลมุมห้องสมุดเล็กๆ ในแดนแรกรับ
เธอแจ้งว่า หากใครต้องการบริจาคหนังสือ สามารถบริจาคหนังสือได้ทุกประเภทยกเว้นเรื่องการเมือง และจะให้ดีควรบริจาคสองเล่ม เนื่องจากหากบริจาคเล่มดียวจะถูกส่งไปยังห้องสมุดในแดนนอกสำหรับผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด
ช่วงหนึ่งเธอเล่าถึงหนังสือดีๆ ที่พอมีอยู่บ้างในเรือนจำ และกล่าวถึงหนังสือรวมบทสัมภาษณ์นักวิชาการในวาระ 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ (ปรีดีเป็นชื่อที่เธอมักพูดถึงประจำเมื่อครั้งอยู่ในเรือนจำใหม่ๆ) โดยหยิบยกคำพูดของอาจารย์ฉันทนา ศิริบรรพโชติ หวันแก้ว ที่สร้างความประทับใจให้เธอว่า
“ความขัดแย้งจะเป็นตัวพิสูจน์ความเข้มแข็งของระดับประชาธิปไตย ความคิดขัดแย้งกันของคนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้” ดากล่าวและมันอาจเป็นคำถามที่ฝากถึงสังคมในวาระที่เธออยู่ในเรือนจำมาถึง 6 ปี
Time line คดีดารณี
เรียบเรียงจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์
22 ก.ค.51
|
ถูกจับกุมที่บ้านพัก ไม่ได้ประกันตัว
|
25 ก.ค.51
|
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ศาลอาญารับคำอุทธรณ์ไว้
|
1 ส.ค.51
|
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดร้ายแรง และกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน หากปล่อยตัวไปเกรงว่า ผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก
|
9 ต.ค.51
|
ศาลรับคำฟ้องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3959/2551
|
16 ต.ค.51
|
สุธาชัย ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องในวันเดียวกัน
|
1 ธ.ค.51
|
ศาลอาญานัดตรวจสอบหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย โดยสั่งให้เลื่อนการนัดไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. เนื่องจากจำเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายเมื่อปลายเดือนพ.ย. ประเวศ ประภานุกูล ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
|
4 ธ.ค.51
|
ทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยโต้แย้งว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้น ต้องเข้าข่ายผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนีจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ จะไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์
ต่อมาราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และยกคำร้อง
|
15 ธ.ค.51
|
ศาลนัดสืบพยาน สืบพยานโจทก์ 23-25 มิ.ย.52 สืบพยานจำเลย 26-30 มิ.ย.52
|
23 มิ.ย.52
|
ศาลอาญา โดยผู้พิพากษาพรหมาศ ภู่แสง มีคำสั่งให้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการลับ อาศัยอำนาจตามมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
|
24 มิ.ย.52
|
ดารณี เผยแพร่คำแถลงถึง 'สื่อมวลชนและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรม' โดยในคำแถลงดังกล่าว ดารณีได้ระบุว่า ตนตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตั้งแต่ 22 ก.ค. 51 และถูกขังมาเกือบ 1 ปี โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่ผู้ต้องคดีในข้อหาเดียวกันหลายคนได้รับการประกันตัว
ในคำแถลงดังกล่าว ดารณีตั้งคำถามต่อการพิจารณาคดี ซึ่งศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้ารับฟังว่า เหตุใดในคดีอื่นๆ "ในข้อหาเดียวกันประเภทเดียวกัน" การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกรณีอื่นๆ จึงไม่มีการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้ ซึ่งตนเห็นว่าการพิจารณาคดีโดยลับเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงมิให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นการทำลายหลักการยุติธรรมของกฎหมายโดยสิ้นเชิง
|
25 มิ.ย.52
|
ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญา ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามมาตรา 211 ของรธน. โดยระบุว่าการที่ศาลอาญามีคำสั่งพิจารณาเป็นการลับ ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณา เป็นการใช้บทบัญญัติกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรธน.50 มาตรา40 (2) ที่ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา และขัดรธน.มาตรา 29 ที่บัญญัติเรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับรธน. และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรธน.มาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณายกคำร้องดังกล่าวของทนายจำเลย โดยระบุว่า การพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ทนายของดารณีแถลงต่อศาลขอยกเลิกการไต่สวนพยานจำเลยตามกำหนดเดิมคือวันที่ 26 และ 30 มิ.ย. โดยขอนัดไต่สวนในวันที่ 28 ก.ค. และ 5 ส.ค. 52 ซึ่งศาลอนุญาต
|
28 ส.ค.52
|
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม จำคุก 3 กระทงๆ ละ 6 ปีรวมจำคุก 18 ปี
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ที่ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณาคดีลับขัดหรือแย้งสิทธิการเข้าถึงกระบวนการ ยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40 หรือไม่ ซึ่งจำเลยเคยยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
|
9 ก.พ.54
|
ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจดูแล้ว พบว่าไม่เคยมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าวมาก่อน จึงชอบที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และที่ศาลชั้นต้นไม่รอการพิพากษาคดีไว้ก่อนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 18 ปี และให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่แล้วแต่กรณี
|
17 ต.ค.54
|
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.วิ อาญา มาตรา 177 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 29 และ 40(2) ศาลอาญาจึงได้นัดพิพากษาคดีใหม่
|
15 ธ.ค.54
|
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี (โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าเหตุใดจึงลดโทษลงจากครั้งแรกจำคุก 18 ปี)
|
16 มี.ค.54
|
ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวด้วยเงินสด 1.44 ล้านบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
|
12 มิ.ย.56
|
ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยไม่ได้อ่านทั้งหมดอ่านเพียงคำสั่งล
โทษ มีเนื้อหาว่า “ยังเชื่อว่าจำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ สมควรให้ลงโทษสถานหนักเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และที่จำเลยอุทธรณ์มาฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 15 ปี”
|
9 ก.ย.56
|
วันครบกำหนดเวลาที่ขอขยายระยะเวลาการยื่นฎีกา จำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ไม่สามารถฎีกาเป็นอย่างอื่นได้อีก
|