วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ทหารใช้ ม.44 รวบอดีต จนท.อิสราเอล ขณะสาธิตเครื่องดักฟังให้ตำรวจสันติบาล


ทหาร พล.ม.2 นั่งรถฮัมวี่ 3 คันจับอดีต จนท.อิสราเอล 9 รายขณะสาธิตเครื่องดักฟังให้กับตำรวจสันติบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบุว่าเป็นการควบคุมตัวตามมาตรา 44 และนำไปควบคุมตัวที่ พล.ม.2
8 พ.ค. 2558 - หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ มติชน รายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล(บช.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนจากประเทศอิสราเอลได้มาสาธิตการใช้เครื่องดักฟัง และการเช็คพิกัด โดยมาสาธิตที่ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจสันติบาลอยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) กว่า 10 นาย นั่งรถฮัมวี่ 3 คัน  พร้อมอาวุธครบมือได้บุกเข้ารวบตัวเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล ดังกล่าวจำนวน 9 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร - ตำรวจ ของประเทศอิสราเอล ทำให้ตำรวจสันติบาลที่อยู่ในห้องประชุมต่างตกใจและกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการชี้แจงว่าเป็นการควบคุมตัวตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ.2557 และได้นำเจ้าหน้าที่อิสราเอลทั้งหมดไปควบคุมไว้ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์
ทั้งนี้ ทหารชุดดังกล่าวได้มาเฝ้ารอตั้งแต่เวลา 08.00 น.ก่อนที่จะบุกเข้าจับกุมขณะที่มีการสาธิตในห้องประชุม โดยการบุกเข้าจับกุมไม่ได้มีการประสานกับกองบังคับการสันติบาล 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไปยังนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนายแต่ก็ได้รับการปฎิเสธที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว
อนึ่ง ในรายงานของไทยรัฐ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน
ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. และโฆษก ทบ. ระบุว่า เป็นการเชิญอดีตเจ้าหน้าที่อิสราเอลเข้าพบเพื่อรับคำแนะนำการนำเข้าอุปกรณ์ดักฟังให้เป็นไปตามขั้นตอนราชการกำหนด 

ถอดถอน 'บุญทรง-ภูมิ-มนัส' ตัดสิทธิการเมือง 5 ปี


8 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่ประชุม สนช. มีมติถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 180 ต่อ 6 ไม่ออกเสียง 4 เสียง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 182 ต่อ 5 คะแนน งดออกเสียง 2 บัตรเสีย 1 และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 158 ต่อ 25 คะแนน งดออกเสียง 6 บัตรเสีย 1 ออกจากตำแหน่ง กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว และส่งผลให้ทั้งสามถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

มติ ครม.ขึ้นเงินเดือน 2 ขั้นให้ทหาร 1,033 นาย ช่วยงาน คสช.


8 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์รายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมระบุว่า ในที่ประชุมมีการพิจารณาวาระการขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เสนอโดย พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ผ่านทางสำนักเลขาธิการคสช. ที่เสนอให้ ครม.พิจารณาสนับสนุนโควตาการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2 ขั้น กรณีพิเศษเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 ของจำนวน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน คสช. จำนวน 1,033 นาย โดยให้มีผลในปีงบประมาณ 2558 ซึ่ง ครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการ คสช.เสนอ
 
โดยสาระสำคัญของเรื่องสำนักเลขาธิการ คสช.รายงานว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านการเมืองอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการแก่งแย่งผลประโยชน์ทางการเมืองทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงที่มีมาต่อต่อเนื่องในห้วงปี 2556-2557 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสามัคคีของประชาชนจนไม่อาจปรองดองกันได้ และมีแนวโน้มขยายตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย คสช.จึงได้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา 
 
โดยปัจจุบันคสช.ได้มอบหมายภารกิจเพิ่มเติมให้หน่วยหรือส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. รัฐบาล และส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งคสช. ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจากส่วนราชการต่างๆ และบุคคลทั่วไป ร่วมปฏิบัติงานเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายที่ คสช.กำหนด โดยแยกเป็นสำนักงานผู้บังคับบัญชา สำนักเลขาธิการคสช.และหน่วยงานส่วนกลางจำนวน 2,348 นาย กับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจำนวน 35,414 นาย รวมทั้งสิ้น 37,762 นาย ซึ่งแยกเป็นข้าราชการประจำการซึ่งสามารถพิจารณาบำเหน็จประจำปีเพื่อตอบแทนผลการปฏิบัติงานได้จำนวน 34,421 นาย 
 
ดังนั้น หัวหน้าคสช.จึงอนุมัติขอให้สนับสนุนบำเหน็จประจำปี 2 ขั้น เพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในคสช.จำนวน 1,033 นาย เพราะสำนักเลขาธิการคสช. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีเหตุการณ์ต่างๆที่มีแนวโน้มขยายตัวที่อาจส่งผลกระทบความมั่นคงของชาติ จึงถือได้ว่าเป็นหน่วยงานพิเศษที่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงที่ต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและยากลำบากตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ
 
แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล ระบุด้วยว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนขั้นให้นั้นเนื่องจากโควต้าเลื่อนขั้นตามปกติ ให้กับคนที่ทำงานให้กับ คสช. เต็มแล้ว แต่เนื่องจากคนทำงานให้ คสช.มีจำนวนมาก จึงเหลือคนที่เป็นส่วนต่างที่มาขอ 2 ขั้นพิเศษ ส่วนเงินเดือน 2 ขั้นขึ้นเยอะหรือไม่ต้องดูที่ฐานเงินเดือน สมมติเป็นทหารชั้นผู้น้อย ได้ 1 ขั้นก็ขึ้นประมาณ 600 บาท 2 ขั้นก็ประมาณ 1,200 บาท โดยวาระดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 10เดือน-เงินคงคลัง ต่ำสุดรอบ 6ปี


8 พ.ค.58 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนเมษายน 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยอยู่ที่ระดับ 76.6 ลดจากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 77.7 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันก็ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 58.0 ลดจาก 58.8 ในเดือนมีนาคม และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 83.8 จากเดือนมีนาคมที่อยู่ที่ 84.9 โดยทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเช่นกัน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.0 ลดจาก 67.1 ในเดือนก่อนหน้า
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาจากการที่ 1.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2558 มาอยู่ที่ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่อยู่ที่ 3.9% การส่งออกขยายตัว 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.4% 2.ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.การส่งออกไตรมาสแรกทำได้เพียง 5.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.69% ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 5.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.43% ทำให้ไทยได้ดุลการค้ารวม 1.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ 4.ราคาผลผลิตทางการเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 6.ผู้บริโภคมีความกังวลว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นและความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
(ที่มา มติชนออนไลน์, 8 พ.ค.58)
กรุงเทพโพลล์ ชี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ระบุค่าใช้จ่ายการเรียนบุตรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
8 พ.ค.58 กรุงเทพโพลล์ ระบุว่า ช่วงใกล้เปิดเทอม นับเป็นช่วงเวลาที่แทบทุกครอบครัวต่างมีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของบุตร ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ตลอดจนค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “สภาพคล่องทางการเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษา ทั้งสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 1,183 คน พบว่า
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 70.8 ระบุว่าปีนี้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของบุตรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาร้อยละ 25.2 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้นที่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง โดยงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนให้ลูกเฉลี่ยประมาณ 4,000 บาท ต่อคน (ไม่รวมค่าเทอม)
สำหรับในช่วงเปิดเทอมนี้พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 53.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากได้แบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว ขณะที่ผู้ปกครองร้อยละ 47.0 ระบุว่ามีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นและสินค้าเกี่ยวกับการเรียนแพงขึ้น
ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายนั้น ผู้ปกครองร้อยละ 16.1 ใช้วิธีขอยืมเงินจากญาติ/ พี่น้อง /เพื่อน รองลงมาร้อยละ 15.0 ใช้วิธีให้ลูกใช้เสื้อผ้า /อุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้วไปก่อน และร้อยละ 12.7 ใช้วิธีลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้า / อุปกรณ์ต่างๆ                             
สำหรับความเห็นต่อโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของภาครัฐ ผู้ปกครองร้อยละ 32.0 ระบุว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก ขณะที่ ร้อยละ 30.5 ระบุว่า ช่วยไม่ค่อยได้
เมื่อถามต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 35.2 ระบุว่าได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์
สุดท้ายเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนที่สัมผัสได้จากลูกพบว่า ร้อยละ 50.4 พอใจค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 12.3 ไม่ค่อยพอใจ
พาณิชย์ขอดูขยายสาขาร้านสะดวกซื้อเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่
8 พ.ค.58 นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวถึง กรณีที่มีกระแสข่าวจากกลุ่มร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ เริ่มขยายสาขาร้านสะดวกซื้อไปยังจุดต่างๆ จนทำให้ขณะนี้ร้านค้ารายย่อยในพื้นที่นั้นๆไม่สามารถที่จะแข่งขันหรือดำเนินธุรกิจค้าปลีก หรือให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆได้ จนถึงขณะนี้มีการพูดถึงว่าเป็นขยายธุรกิจมากเกินไปทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยของไทยต้องปิดกิจการ  ซึ่งกรมการค้าภายใน ในฐานะกำกับดูแลกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ได้นิ่งนอนใจมีการติดตามตรวจสอบดูแลภาคธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมายการแข่งขันของภาคธุรกิจที่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ซึ่งกรณีร้านสะดวกซื้อดังกล่าวเบื้องต้น จะต้องศึกษารายละเอียดการทำธุรกิจเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ที่มีกฎหมายกำกับดูแลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายแข่งขันทางการค้ามีช่องโหว่ในการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นการสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายย่อย โดยกรมการค้าภายในได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว เบื้องต้นจะมีการเพิ่มเติมระเบียบ ข้อกฎหมาย เช่น 1.บริษัทในเครือ 2.รัฐวิสาหกิจจะต้องอยู่ในกฎหมายแข่งขันทางการค้า. 3.องค์ประกอบสัดส่วนของคณะกรรมการ 4.หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีอำนาจกำกับดูแลให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย. ซึ่งการแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ขณะนี้ กรมการค้าภายในได้จัดทำร่างเสร็จเรียบร้อยและในเร็วๆนี้เตรียมที่จะเสนอ พลเอกฉัตรชัย. สาริกัลยะ. รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงพาณิชย์พิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่จะมีการแก้ไขกฎหมายตามขั้นตอนต่างๆต่อไป
(ที่มา สำนักข่าวไทย, 8 พ.ค.58)
รมว.แรงงานชี้ภาวะเศรษฐกิจไม่กระทบการจ้างงาน
8 พ.ค.58 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ว่างงานในประเทศไทยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไม่ส่งผลกระทบกับอัตราการว่างงาน เนื่องจากมีอาชีพเสริมและมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยขณะนี้มีผู้ว่างงานประมาณ 300,000 คน อยู่ในสาขาอาชีพด้านบัญชีการเงินมากที่สุด วุฒิ ปวช.และ ปวส. ยังว่างงานสูงสุด โดยสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ว่างงานให้มีงานทำ และจัดระเบียบแรงงานนอกระบบ รวมทั้งช่วยเหลือผู้พิการให้สามารถปฏิบัติงานได้ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยในชุมชนด้วย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานเปิดงานมหกรรมนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ ประจำปี 2558 ซึ่งกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤษภาคม 2558 ลานกิจกรรมชั้น 3 ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับแรงงานไทยและรองรับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า พร้อมดูตำแหน่งที่สนใจผ่าน smartjob.doe.go.th/joboffice3.aspx หรือลงทะเบียนหน้างาน และเช้าสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทชั้นนำมากกว่า 50 บริษัท กว่า 8,000 อัตรา
(ที่มา สำนักข่าวไทย, 8 พ.ค.58)
ครม.เห็นชอบการแก้ไขกฎหมายด้านเศรษฐกิจ
7 พ.ค.58 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามการเสนอของกระทรวงการคลัง ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ในเรื่องราคาโอนระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดกับนิติบุคลที่มีความสัมพันธ์กันเป็นบริษัทลูก หรือถือหุ้นร่วมกัน  เพื่อเป็นมาตรการในการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน  โดยต้องกำหนดราคาซื้อขายเป็นราคาตลาดเพื่อสอดคล้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการสมยอมราคากัน เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และช่วยให้ภาคธุรกิจไม่ถูกจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบตามการเสนอของกระทรวงพลังงาน ในการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทย และกระทรวงพลังงานเมียนมาร์ ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยกับกระทรวงไฟฟ้าเมียนมาร์ว่าด้วยความร่วมมือ ด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยไม่ผูกมัดกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วน และเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยและสำนักงานพลังงานประเทศจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เพื่อประโยชน์ด้านวิชาการ และเพื่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ
(ที่มา สำนักข่าวไทย, 7 พ.ค.58)
รับทราบความคืบหน้าร่างกฎหมายสำคัญ 5 ฉบับ
พล.ต.สรรเสริญ เปิดเผยด้วยว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานความคืบหน้าร่างกฎหมายที่สำคัญ 5 ฉบับ ที่จะมีการผลักดันภายในรัฐบาลนี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีเวลาอีก 30 วันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ร่าง พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรรมการกฤษฎีกากำลังตรวจรายละเอียดอยู่ในขั้นสุดท้าย คาดว่าสัปดาห์หน้าจะนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ร่าง พ.ร.บ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ใน 1-2 สัปดาห์หน้า โดยขณะนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กำลังพิจารณาขั้นสุดท้ายก่อนจะนำเสนอ ครม.ต่อไป และร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยขณะนี้ ครม.อาจจะต้องออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก่อน แต่ตัวกฎหมายนั้นอาจจะมีการออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อช่วยประหยัดเวลาในขั้นตอนต่างๆ
(ที่มา สำนักข่าวไทย7 พ.ค.58)
เงินคงคลัง ต่ำสุดรอบ 6 ปี พิษเก็บภาษีต่ำเป้า-เร่งเบิกจ่ายอุ้ม ศก.
7 พ.ค.58 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ครึ่งปีงบประมาณ 2558 ผ่านไป ฐานะการคลังดูไม่ค่อยสวยหรูนัก โดยระดับเงินคงคลังลดลงมาเหลือแค่ 1 แสนล้านบาทต้น ๆ จากที่รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 969,950 ล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้ 1,461,719 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล จำนวน 491,769 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 1,757 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 490,012 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 115,362 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล 374,650 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2558 อยู่ที่ 121,097 ล้านบาท และคาดว่าเงินคงคลังปลายงวด (สิ้นเดือน ก.ย. 58) จะอยู่ที่ 357,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
(ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 7 พ.ค.58)
ครม.ขึ้นเงินเดือน2ขั้นเป็นกรณีพิเศษให้ทหารช่วยงานคสช.
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมระบุว่า ในที่ประชุมมีการพิจารณาวาระการขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เสนอโดยพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช. ผ่านทางสำนักเลขาธิการคสช. ที่เสนอให้ครม.พิจารณาสนับสนุนโควตาการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2 ขั้น กรณีพิเศษเพิ่มเติมอีกร้อยละ 3 ของจำนวน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในคสช. จำนวน 1,033 นาย โดยให้มีผลในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคสช.เสนอ

‘ประยุทธ์’ ใช้ ม.44 ต่ออายุ ‘ปานเทพ’ ประธาน ป.ป.ช.


8 พ.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 12/2558 เรื่องให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งต่อไป
โดยระบุว่า ตามที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2549 แต่งตั้งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในเดือน พ.ค. 2558  ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช.อีก 4 คน ได้แก่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยฉบับเดียวกัน ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 21 ก.ย. 2558  และเพื่อไม่ให้การสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการ 2 ครั้ง ซึ่งจะสิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น จึงให้ดำเนินการสรรหาบุคคลในคราวเดียวกัน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่งให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ต่อจนถึงวันที่ 21 ก.ย. 2558
รวมทั้ง หัวหน้า คสช.ยังมีคำสั่งที่ 13/2558 เรื่องการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.  โดยประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 เรื่องการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการ ป.ป.ช. หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างดำเนินการสรรหาตามเกณฑ์และวิธีการที่เคยดำเนินมาตามรัฐธรรมนูญ 2550 และหากการสรรหาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใดที่ต้องเป็นคณะกรรมการสรรหาให้ใช้คณะกรรมการเท่าที่มีอยู่
ทั้งนี้มาตรา 246 วารค 3 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา 5 คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน แต่ปรากฎว่าขณะนี้ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน อีกทั้งประธานศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากถูกพักราชการตามมติตุลาการศาลปกครอง ดังนั้นจึงต้องแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา โดยเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมการสรรหามีความหลากหลายสมดุล มีอำนาจจาก 3 ฝ่าย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย