วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

7 ดาวดิน เปิดใจคุย “ถ้าจะติดคุก เพราะชูป้ายก็ให้มันรู้กันไป”




Thu, 2015-06-18 17:53


ทวีศักดิ์ เกิดโภคา : สัมภาษณ์/เรียบเรียง

          คุยกับ 7 ดาวดิน หลังประกาศเดินหน้าอารยะขัดขืน พร้อมโดนจับ ดีกว่ารู้สึกผิดกับสามัญสำนึกตัวเอง เหตุผลที่ไม่ไปรายงานตัว ปัญหาชาวบ้านกับต้านรัฐประหารเกี่ยวกันอย่างไร ทำไมถึงพร้อมโดนจับ และการถูกคุกคาม





         ในแวดวงนักเคลื่อนไหว และนักกิจกรรมรุ่นใหม่ กลุ่มดาวดิน เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง ไม่เพียงแต่ความกล้าที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหารเท่านั้น ทว่าสิ่งสำคัญคือการเข้าไปคลุกคลีกับประเด็นปัญหาชาวบ้านมาโดยตลอด จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำไมชาวบ้านราวสองถึงสามร้อยคนจึงออกมาให้กำลังใจ 7 ดาวดิน ที่ถูกเรียกให้รายงานตัวตามหมายศาล สืบเนื่องจากกรณีที่พวกเขาออกไปชูป้ายผ้าคัดค้านการรัฐประหาร และบอกเล่าเรื่องราวปัญหาของชาวบ้านอันเกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และทุน ในวันครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

         การชูป้ายครั้งนั้นอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย หากไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 5 ดาวดิน ออกไปชูสามนิ้วต้อนรับพลเอกประยุทธ์ มาแล้ว ขณะเดินทางมาจังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจราชการ ไม่เพียงเท่านั้นเสื้อยึดที่แต่ละคนใส่ในวันที่ชูสามนิ้ว มีสกีนคำว่า “ไม่ เอา รัฐ ประ หาร” แม้พลเอกประยุทธ์จะบอกว่าไม่โกรธ และพูดแซวเล่นว่า “นึกว่ากระตั้วแทงเสือ” ถึงอย่างนั้นก็ตามทั้ง 5 ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายศรีพัชรินทร เป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนเพื่อปรับทัศนคติก่อนปล่อยตัวออกมา และมีนายตำรวจ 5 นาย ถูกสั่งย้ายฟ้าแลบในอีก 4 วันถัดมา

         ในวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมานอกจากเป็นวันที่มีการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อให้กำลัง 7 ดาว ยังเป็นวันเดียวกันกับการประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายศาล คำถามสุดท้ายก่อนจบการพูดคุยเราถามพวกเขาว่า พร้อมที่จะถูกจับกุมอย่างนั้นหรือ? 1 ใน 7 ตอบขึ้นมาว่า “ถ้าจะติดคุก เพราะชูป้ายก็ให้มันรู้กันไป”

เคลื่อนไหวประเด็นปัญหาชาวบ้านอยู่ดีๆ ทำไมกลายมาเป็นการต้านรัฐประหาร


พายุ พายุ บุญโสภณ

         “ประเด็นปัญหาชาวบ้าน กับประเด็นการต้านรัฐประหาร มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ตั้งแต่มีการรัฐประหารขึ้นมา มันส่งผลกระทบต่อกระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านแน่นอน คือในยุคก่อนรัฐประหารชาวบ้านเขาก็จะมีการรวมตัวกันต่อต้านเรื่องเหมืองแร่ทองคำ เรื่องปิโตรเลียม ประเด็นปัญหาการพัฒนาของรัฐที่มีกระบวนการไม่ชอบธรรม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการฟังเสียงประชาชน แต่พอมีการรัฐประหารมันคือการตัดตอนกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไปเลย การรัฐประหารกลายเป็นการอำนวยความสะดวกให้กลุ่มนายทุน แต่ตัดเรื่องสิทธิชุมชนที่เคยมีตามรัฐธรรมนูญ” พายุ พายุ บุญโสภณ

          พายุ เล่าถึงผลพวงที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ได้รับหลังจากการทำรัฐประหาร โดยชี้ให้เห็นถึงรูปธรรมในกรณีของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์นามูล-ดูลสาด กรณีการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม เจ้าหน้าที่ทหารได้อ้างกฎอัยการศึก ห้ามชาวบ้านรวมตัวต่อต้านการขนย้ายอุปกรณ์สำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม และอำนวยความสะดวกให้บริษัทขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะเข้าไปในพื้นที่ ทั้งที่กระบวนการในการทำ EIA ไม่ชอบธรรม หรือกรณีการขนแร่ทองคำ ที่จังหวัดเลย ซึ่งมีชาวบ้านถูกทำร้าย แต่คดีความกลับไม่คืบหน้า ขณะเดียวกันมีการอ้างกฎอัยการศึก และมาตรา 44 เข้าห้ามการรวมตัวพูดคุยของชาวบ้าน

เมื่อไม่ฟังรัฐ รัฐจะทำให้คุณฟังและต้องทำตาม

         อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวของ ดาวดิน นับตั้งแต่การชูสามนิ้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2557 การชูป้ายต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 และการประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายศาล เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทั้ง 3 เหตุการณ์นับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐที่ชัดเจน แน่นอนทุกครั้งที่มีการไม่เชื่อฟังรัฐ รัฐก็ย่อมหาวิธีที่จะทำให้คนยอมฟังและทำตาม และก็เป็นเช่นนั้นพวกเขาทั้ง 7 คนถูกคุกคาม

          พายุ เล่าว่า หลังจากวันที่ 22 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมกับนายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ไปหาพ่อกับแม่ที่บ้าน มีการถามประวัติ เรียนที่ไหน จบอะไรมา มีแนวความคิดทางการเมืองอย่างไร ตอนนี้พักอยู่ที่ไหน มีเพื่อนสนิทที่ไหน มีกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง เป็นคนอย่างไร โดยคำถามทั้งหมดค่อนข้างจะเป็นการเจาะลงไปในด้านการเมือง ซึ่งก็ส่งผลทำให้ครอบครัววิตกกังวัลอยู่ช่วงหนึ่ง

         คล้ายๆ กันกับ โต้ง วสันต์ เสธสิทธิ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ 2 คันรถไปหาที่บ้าน แต่พ่อแม่ไม่อยู่ เลยกลายเป็นการสอบถามข้อมูลกับเพื่อนบ้าน และได้ฝากให้เพื่อนบ้านให้บอกกับครอบครัวว่า ให้ลูกหยุดเคลื่อนไหว แล้วกลับไปเรียนหนังสือเฉยๆ


น้อย อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์

         ในกรณีที่หนักกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นกรณีของ น้อย อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารไปหาพ่อที่โรงเรียน ซึ่งพ่อเป็นครูสอนอยู่ แล้วสั่งปิดห้องคุย พร้อมเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการทุกคนเข้าฟังด้วย คำถามหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ถามพ่อของน้อยคือ สั่งสอนลูกอย่างไร?

         ขณะที่ก่อนหน้าที่จะมีการออกไปเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เบส สุวิชชา ฑิพังกร ได้เล่าว่า ดาวดินได้ไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูลสาด และหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาขอประวัติที่บ้านดาวดิน ซึ่งเป็นบ้านเช่าที่กลุ่มดาวดินเช่าอยู่ โดยเข้ามาขอดูบัตรประชาชนของทุกคน ถ่ายรูปบ้าน และขับรถมาวนเวียนอีกหลายรอบ

        โต้ง บอกอีกว่า ช่วงหลังๆ ที่บ้านดาวดินมีการเข้ามาของคนแปลกหน้าหลายครั้ง และการเข้ามาแต่ละครั้งก็แปลกเช่นกัน อาทิ มาถามซื้อบ้าน มาขอให้ไปว่าความให้ มาขายข้าวโพด มาขายถั่วต้ม ฯลฯ

ดาวดินยังคาดหวังในพลังนักศึกษาอยู่อีกหรือ?


ไนท์ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์

        “การที่เราออกมาครั้งเดียวแล้วมันจะปลุกนักศึกษาทั้งประเทศมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่าอย่างน้อยเราก็ได้แสดงตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่กลัวต่ออำนาจต่างๆ แต่ก็หวังเล็กๆ ว่าจะเป็นการจุดประกายไฟในใจของใครสักคนหนึ่ง หรือสองคนก็ยังดีว่า เออไอ้พวกนี้ยังกล้าออกมา แต่กูไม่กล้าออกมา แต่ก็มีความคิดในทางเดียวกัน เราก็อยากเป็นไม้ขีดก้านเล็กๆ ที่ส่องไฟให้เขา” ไนท์ ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์

         ศุภชัย ภูครองพลอย หรือที่เพื่อนเรียกกันว่า อาตี้ บางครั้งก็ ชูศรี หนุ่มพูดน้อยที่สุดในกลุ่ม 7 คน บอกกับเราว่า ยังเชื่อมั่น และก็ยังคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลง แต่เข้าใจการทำให้เกิดภาพแบบ 14 ตุลา 16 คงเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบการศึกษาได้กีดกั้น และตัดตอนการเรียนรู้ชีวิต ความทุกข์ร้อนของชาวบ้านออกไปหมด แต่พลังที่เขายังเชื่อมั่นคือพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนิสิตนักศึกษาที่ยังใส่ชุดขาวอยู่ แต่กับคนรุ่นเก่า อาตี้ พูดสั้นๆว่า มันปีหนึ่งแล้ว พอได้แล้วล่ะ


อาตี้/ชูศรี ศุภชัย ภูครองพลอย

        เราเชื่อในพลังที่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักศึกษา ซึ่งก็เข้าใจได้ว่านักศึกษายุคนี้กับยุคก่อนมันแตกต่างกัน แต่ถ้าหากโดนกดมากก็อาจจะรอวันระเบิดออกมาก็ได้ โต้งอธิบายให้เราฟัง ก่อนจะพูดต่อไปว่า จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นประชาชนทุกคนที่ตื่นตัว ให้มันเป็นพลังของทุกคน ส่วนตัวพวกเราเองก็เชื่อในพลังของพวกเราทั้ง 7 คน แล้วก็ทำให้สิ่งที่คิดว่ามันถูกต้อง เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นพลังอะไรมากมาย เราทำในสิ่งที่ที่ความรู้สึกของเราบอกว่ามันไม่ผิด

ถ้าจะติดคุก เพราะชูป้ายก็ให้มันรู้กันไป!

       คำถามสุดท้ายก่อนจะหมดเรื่องคุยจริงๆจังๆ เราถามพวกเขาทั้ง 7 คน ว่า การประกาศอารยะขัดขืนไม่ยอมไปรายงานตัว เท่ากับจะยอมให้ถูกจับกุมอย่างนั้นหรือ และคำตอบที่ได้คือ “ถ้าจะติดคุก เพราะชูป้ายก็ให้มันรู้กันไป”


โต้ง วสันต์ เสธสิทธิ

       “แน่นอน เพราะมันเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เรื่องผิด การที่เราออกไปเคลื่อนไหวเราก็ไปพูดถึงปัญหาชาวบ้าน คือมันเป็นปัญหาจริงๆ และมันเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร การใช้อำนาจของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าให้เรารับโทษเราก็ยอมรับ ถ้ากฏหมายบอกว่าเราผิด เราก็ผิดตามกฏหมายบอก แต่เราจะไม่ยอมรู้สึกผิดต่อจิตสำนึกของเรา ข้างในเรามันไม่ได้สั่งให้เราต้องยอม ถ้ายอมเราคงไม่ไปทำอะไรอย่างนั้น เราตัดสินใจกันแล้ว และก็รู้ผลที่จะตามมา” โต้ง

      “ก่อนที่จะออกไปเคลื่อนไหวเราก็คุยกัน ว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เราจะเจอคืออะไร ก็คือการถูกจับติดคุก ตอนนี้ก็ไม่เครียดอะไรเพราะรู้ผลที่จะตามอยู่แล้ว” พายุ

      “กฏหมายที่เขาเอามาบังคับใช้กับเราก็ไม่ได้ออกมาด้วยกระบวนโดยชอบอยู่แล้ว ร่างกันเอง ออกกันเอง มันผิดกระบวนการ” เบส

       “เราอารยะขัดขืนกับทหารเท่านั้นยังไม่พอ ต้องอารยะขัดขืนกับครอบครัวอีก พ่อแม่นี่น่ากลัวกว่าทหารเยอะ (หัวเราะ) มีน้ำตาไหลกันเลยละ มันต้องสู้หลายอย่าง การสู้กับใจตัวเองสำคัญที่สุด” ไนท์

       ก่อนจบเราถามต่อว่า หลายคนสงสัยว่าทำไมไม่คิดว่าการสู้ต่อข้างนอก มันจะดีกว่าการยอมโดนจับแล้วเราทำอะไรอีกไม่ได้เลย


ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา
        ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา อธิบายให้เราฟังว่า ถ้าสู้ต่อข้างนอกแล้วจะเป็นอย่างไร มันก็จะวนเวียนมาเหมือนเดิมอย่างนี้ไม่มีวันจบ ถ้าเราไม่โดนจับเราก็จะเคลื่อนไหวอีก เขาก็จะจับเราอีก ถ้าสู้แบบไม่โดนจับ ถามหน่อยว่ามันทำอะไรได้บ้าง นี่แค่ชูป้ายผ้าเฉยๆ ยังโดนจับ ทุกคนคิดอย่างนี้ตลอดว่า เซฟตัวเองแล้วสู้ต่อข้างนอกดีกว่า จริงๆ เรารู้ว่ารัฐมีกฏหมาย มีอำนาจเต็มมือ แต่เราจะทำให้รัฐรู้สึกกระอักกระอวนในการใช้อำนาจ เพราะมันไม่มีความชอบธรรม ไม่มีความเป็นธรรม และถ้าเขาจับเราจริงๆ สิ่งที่ตามคือ คำถามจากทุกทิศทาง

         สอดคล้องกันกับ เบส ซึ่งเห็นว่า การโดนจับกุมเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น ในสถานการณ์แบบนี้ แม้จะออกมาพูดออกมาเคลื่อนไหวอย่างไงก็โดนจับอยู่ดี รัฐก็อ้างมาตรา 44 อยู่ดี


เบส สุวิชชา ฑิพังกร

       “เหมือนที่พูดทุกครั้งเราไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าจะจับก็จับ ถ้าไม่จับก็ไม่จับ เอาให้มันชัดเจนไปเลย จะขังก็สั่งขังไปเลย ให้มันรู้กันไปเลยว่าแค่ออกไปพูดปัญหาชาวบ้าน พูดความจริง แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารด้วยชูป้าย จะติดคุกก็ให้มันรู้กันไป” เบส

        “มันคงตลกน่าดูติดคุก แล้วคนที่อยู่ในคุกถามว่ามึงไปทำอะไรมา แล้วพวกผมตอบว่า กูชูป้ายผ้าว่ะ” โต้ง

00000

(ช่วงแถม) เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร เรียกว่า “ดาวดินนิสต์” ไปก่อนก็ได้ครับ

         ถ้าใครเคยเห็นรูปบ้านดาวดินหลายๆ มุม หรือเคยไปเยียมเยือน สำหรับคนที่ชอบการจัดประเภท ก็คงจะอดสงสัยไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วกลุ่มดาวดิน เขาชอบอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนกันแน่ ข้างฝาฝั่งหนึ่งพ่นสีสเปรย์เป็นสัญลักษณ์ของอนาธิปไตย ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมีรูป ‘เช กูวารา’ แปะอยู่ เราถือโอกาสถามพวกเขาตรงๆ และคำตอบที่ได้ก็คือ

“ผมยังไม่รู้ตัวเองเลย” ไผ่

“ไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร ก็ใช้คำว่า ดาวดินนิสต์ ไปก่อน” พายุ (หัวเราะกันทั้งวง)


        เมื่อพูดทีเล่นทีจริงกันเสร็จ โต้งก็เล่าให้ฟังจริงๆ ว่า ก็อ่านกันอยู่บ้างเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ยังไม่รู้อะไรมากมาย ที่พอจะอธิบายตัวเองได้ว่า ตัวเองเป็นมาร์กซิสต์ ตัวเองเป็นอนาธิปไตย ตัวเองเป็นสังคมนิยม แต่สิ่งที่เราเชื่อคือ ความเป็นมนุษย์ของคนเรา ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติวิธี

        ขณะที่ไผ่ก็เสริมขึ้นมาว่า อย่างการที่เราไปทำงานกับชาวบ้านเราก็ไม่ได้มองปัญหาแบบตายตัวด้วยทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่ง ปัญหามันหลากหลาย การลงไปเราก็ไม่ได้ไปนำความคิดความชาวบ้าน เพียงแต่ไปช่วยให้เขารวมกลุ่มกัน คิดเองได้ ทำเองได้ นี่คือสูงสุดของพวกเราแล้วคือ พี่น้องแข็งแกร่งด้วยตัวเอง ถึงที่สุดเราไม่ได้ต้องการยึดอำนาจรัฐอะไรเลย เราแค่ต้องการให้รัฐฟังเสียงประชาชน ทำตามประชาชน ไม่ใช่แค่มาสั่งการ


        เมื่อถามเล่นๆ อีกครั้งว่า ถ้าพ้นไปจากเรื่องการเมือง ประเด็นปัญหาชาวบ้าน วันๆ หนึ่งได้ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นปกติทั่วไปกันบ้างไหม คำตอบที่ได้ประดังถั่งโถมมาไม่หยุดหย่อน พอจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า ไม่แตกต่างกับมนุษย์วัยรุ่นทั่วไปเท่าไหร่นัก ไม่แน่ว่าอาจะใช้ชีวิตหนักกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วงตะวันตกดิน นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากคำตอบเคล้าเสียงหัวเราะที่พอจะเขียนลงบทสัมภาษณ์ได้ ไปเที่ยว เล่นวินนิ่ง ออกกำลังกาย เล่นกล้าม ตั้งวงเบียร์สนทนา เห็นจะมีไนท์คนเดียวที่แตกต่างกว่าเพื่อน เขาบอกว่าช่วงนี้ติดละคร น้ำตากามเทพ…

วินธัย ชี้ ‘7ดาวดิน-9หน้าหอศิลป์’ ไม่มามอบตัวเจอหมายจับ ย้ำพ่อแม่โดนด้วย


Thu, 2015-06-18 19:50


โมษก คสช. ขีดเส้นตาย ‘7ดาวดิน-9กลุ่มหน้าหอศิลป์’ ไม่มอบตัว โดนหมายจับแน่ ย้ำพ่อแม่โดนด้วย เหมือนกรณีเด็กแว๊น แนะช่องทางแสดงความเห็นรัฐบาลเปิดช่องไว้มาก ไม่จำเป็นต้องละเมิดกฎหมาย



18 มิ.ย. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีในวันที่ 18 มิ.ย. เป็นวันสิ้นสุดการผ่อนผันเข้ารายงานของนักศึกษากลุ่มดาวดินตามหมายเรียก ของ สภ.เมืองขอนแก่น ในข้อกล่าวหา "ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป" หากไม่มารายงานตัว เป็นไปได้ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจำเป็นต้องเพิ่มระดับเป็นการออกหมายจับว่า การกระทำของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวที่ผ่านมา เป็นลักษณะพยายามทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เชิงยั่วยุสร้างความวุ่นวายในสังคม ละเมิดกฏหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้อะลุ่มอะหล่วยให้มาตลอด แต่หากไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฏหมายให้เป็นกฏหมาย ทั้งนี้หากต้องการแสดงความคิดเห็นใดๆ รัฐบาลก็เปิดช่องทางไว้จำนวนมากให้สามารถนำเสนอได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการละเมิดกฎหมาย

ดังนั้นหากวันนี้ยังไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดเงินประกันตัวจำนวน 50,000 บาท พร้อมทั้งออกหมายจับ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาเชิญผู้ปกครองของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมาเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย โดยเทียบเคียงกับกรณี เด็กแว้นที่เมื่อกระทำผิด ผู้ปกครองต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของลูกหลานด้วย

นอกจากนี้ในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ จะเป็นวันสุดท้ายของการผ่อนผัน ที่กลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ จำนวน 9 คน ซึ่งต้องเข้ามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน หากไม่มารายงานตัวก็จะใช้แนวทางเดียวกับที่จะดำเนินการกับนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มดาวดิน

"ทั้งนี้ผมอยากฝากไปถึงครอบครัวผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานของตนว่า ไม่ควรกระทำการที่ขัดต่อกฏหมายบ้านเมือง และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้โอกาสและลงโทษในสถานเบาที่สุดแล้ว แต่หลายคนยังมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำซาก ไม่เป็นไปตามที่เคยรับปากเจ้าหน้าที่ไว้เมื่อคราวที่ปล่อยตัวไป ครั้งนี้จึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าได้ให้โอกาสมามากพอแล้ว" พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มใดๆที่ได้เคลื่อนไหวด้วยการสนับสนุนการกระทำที่ละเมิดกฏหมาย ควรหยุดโดยทันที รวมไปถึงกลุ่มกิจกรรมที่กำลังจะรวมตัวขึ้นมาใหม่ด้วย. ขณะนี้เจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอด หากยังมีความพยายามจะฝ่าฝืนกฏหมาย ภาครัฐก็จำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเช่นกัน