วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุยกับ ‘หนุ่ย เสรีนนทรี’ หลังถูกลากเป็น ‘ม็อบถูพื้น’ พ่วงด้วยข้อหาหน้าหอศิลป์ฯ 1ปีรัฐประหาร

ภาพพวกเขานั่งอย่างสงบบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ก่อนถูกสลาย (ที่มาภาพ :Metha M

atkhao)
          หลังจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นักศึกษาและประชาชน ร่วมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสลายกิจกรรม พร้อมควบคุมตัวกว่า 30 คน ไปที่ สน.ปทุมวัน ข้ามคืน (อ่านรายละเอียด) รวมทั้งที่ขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ออกมาจัดกิจกรรม “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภอ.เมืองขอนแก่น พร้อมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงินคนละ 7,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยเงินดังกล่าวได้จากการระดมเงินกัน(อ่านรายละเอียด) นอกจากนี้ในช่วงสายของวันเดียวกันการจัดกิจกรรมเสวนา 1 ปี รัฐประหารของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยุติ พร้อมเชิญตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมาโดยไม่ตั้งข้อหา (อ่านรายละเอียด)
          อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กก็มีการนำรูปของนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมาเผยแพร่ พร้อมระบุชื่อรวมทั้งเฟซบุ๊กของแต่ละคน เช่น เพจ ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ นอกจากนี้เพจสนับสนุนรัฐบาลทหารหลายเพจ เช่น ทหารปฏิรูปประเทศ เพจรวมมิตรการเมือง ฯลฯ ยังมีการกล่าวหาเพื่อทำลายความชอบธรรมว่าบุคคลเหล่านั้นรับจ้างมาป่วน เป็นควายแดง รับเงินทักษิณ รวมไปถึงการตัดต่อภาพข้อความที่บุคคลเหล่านั้นถือในกิจกรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า เป็นต้น 
ภาพที่หนุ่ยถูกเพจ‘กบฏ 56 ต้านระบอบทักษิณ’ เสียบประจาน พร้อม urlเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันเพจดังกล่าวถูกระงับการเผยแพร่หลังถูกผู้ใช้เฟซบุ๊กรุมรีพอร์ต
และล่าสุด  สน.ปทุมวันออกหมายเรียกเบื้องต้นอย่างน้อย 7 คนเข้าพบ 8 มิ.ย.นี้(ภายหลังมีการเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย.นี้) หลังทำกิจกรรมดังกล่าวโดยตั้งข้อหาฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (อ่านรายละเอียด)
ภาพม็อบถูพื้น : เพจดังอย่าง โหดสัสV2 นำภาพหนุ่ย ขณะถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมและลากตัวเขาที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ มาล้อเลียน
          ทั้งนี้ผู้ถูกควบคุมตัววันนั้นหน้าหอศิลป์ฯ ไม่ได้มีเพียงนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนผู้ที่เรียนจบแล้ว รวมทั้งไม่ได้มีกลุ่มความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีความหลากหลายอยู่มาก ประชาไทจึงชวนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของการเข้าไปร่วมกิจกรรมเหล่านั้นกับ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หรือ ‘หนุ่ย’ หนุ่มวัย 29 ปี อดีตนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  ปัจจุบันทำงานสอนพิ   เศษ และอยู่กลุ่มเสรีนนทรี เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกทั้งนิสิตเก่าและปัจจุบันของม.เกษตรฯ ซึ่งหนุ่ย เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวในประเด็นทั้งสวัสดิการการศึกษา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สิ่งแวดล้อม โดยการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ สิทธิในที่ดินทำกินสิทธิชุมชน สิทธิของชาติพันธุ์และพลเมือง อย่างการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐกรณีการหายตัวไปของบิลลี่รักจงเจริญ จนกระทั่งมาถูกคุมตัวที่หน้าหอศิลป์ฯ ดังกล่าว
         ทั้งนี้ หนุ่ย เองวานนี้(5 มิ.ย.)พึ่งได้รับหมายเรียกจาก สน.ปทุมวัน เพื่อไปรายงานตัวในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ด้วยเช่นกัน
เอกสารหมายเรียกตัวหนุ่ย ของ สน.ปทุมวัน
00000
ประชาไท : ก่อนหน้าที่จะมาร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลป์ฯ ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง?
หนุ่ย : ก็ทำกิจกรรมชมรมออกค่ายอาสาต่างๆ และไปร่วมกับขบวนแรงงานเรียกร้องสวัสดิการและค่าแรงที่เป็นธรรม ร่วมกับชาวนาเรื่องปัญหาหนีสิน ที่ดินทำกิน ต่อมาก็เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่มีการผลักดันจากรัฐบาลมาโดยตลอด เรื่องเขื่อนแม่วงก์นี่ก็หลายรอบ ล่าสุดก็เมื่อปลายปีที่แล้ว เรื่องชาติพันธ์อย่างกรณีการหายตัวไปของพี่บิลลี่ ตอนน้ำท่วมใหญ่เราก็ทำโครงการดูแลหมาในมหาวิทยาลัย ชื่ออาสาสมัครช่วยเหลือสุนัขประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งลงไปศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย เราก็ทำกิจกรรมมาเรื่อยๆร่วมกับเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย
ภาพปฏิบัติการตามหาบิลลี่:หนุ่ยร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกรณีอุ้มหายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ (ภาพโดย ธัชพงศ์ แกดำ)
ทำไมถึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านั้น?
จุดเริ่มต้นก็มาจากการที่เราออกค่ายได้เห็นปัญหาต่างๆในสังคมที่เราเคยมองข้าม และช่วงนั้นมีรุ่นพี่ได้ชักชวนให้ออกมาเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัย ได้มาสัมผัสกับปัญหาชาวนา แรงงาน และเรื่องสิทธิชุมชนต่างๆ ทำให้เราคิดว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อนำประเด็นปัญหาเหล่านั้นมานำเสนอต่อสังคม และขยายต่อให้คนรุ่นใหม่ๆเหมือนเราได้มองเห็นว่าสังคมนี้มันมีคนเดือดร้อนอยู่มาก
โดยส่วนตัวก็สนใจในเรื่องของสิทธิชุมชน ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว กลุ่มเราตอนนั้นก็สนใจกันเลยลงมาทำ เพราะเราเชื่อว่าทรัพยากรในประเทศ คนในชุมชนมีสิทธิจัดการ มีสิทธิกำหนดตัวเองได้
เรื่องคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับน้องๆนักศึกษา ตอนนั้นก็ทำงานขบวนนักศึกษา ที่เป็นเครือข่ายนักศึกษาหลายๆมหาวิทยาลัยร่วมกัน เป็นเครือข่ายแนวร่วมนิสิตนักศึกษา คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กลุ่มสะพานสูง ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น รวมถึงจากม.รามคำแหง ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ก็ใกล้ตัวมากที่สุด ก็เลยเสนอให้ทำร่วมกัน
ภาพหนุ่ย(คนที่2ขากซ้าย)ปฏิบัติการหน้าศาลฎีกา หนุนชาวบ้าน คดีที่ดินลำพูน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.55 เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า "คนจนถูกกระทำเช่นไร?" (ที่มาภาพ :ธัชพงศ์ แกดำ)
มองยังไงเกี่ยวกับรัฐประหาร22พ.ค.2557?
เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ตั้งแต่วันแรกที่รู้ข่าวก็เริ่มเขียนป้ายต้านรัฐประหารและไปชูที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันรุ่งขึ้น บทเรียนในอดีตที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ปัญหาชาวบ้านยังเหมือนเดิม บางเรื่องกลับซ้ำหนักขึ้นอีกเช่นปัญหาที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ  ซึ่งมองว่ามันเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้ตอบโจทย์สังคม โดยเฉพาะปี49ทำให้ขบวนการประชาชนแตกแยก แล้วก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย
แล้วคิดว่าควรมีทางออกยังไงในช่วงนั้น?
ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่ค่อยๆเรียนรู้ ต้องไม่แก้ปัญหาแบบตัดตอนรวบรัด ตอนนั้นก็เชื่อว่าต้องให้มันเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยก่อน แล้วก็ค่อยๆสร้างการปฏิรูป ตอนนั้นก็เสนอว่าต้องมีการปฏิรูปภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไม่ต้องมีการขัดขวางการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร
ส่วนตัวไปร่วมชุมนุมต่อต้านนิรโทษกรรม ตั้งแต่ครั้งแรกก่อนเป็นกปปส. แล้วก็ในม.เกษตรฯ ไปร่วมในหลายเวที พอเริ่มมีกปปส.ขึ้นก็เริ่มถอนตัวออกมา เพราะไม่เห็นด้วยหลายๆอย่างโดยเฉพาะในตอนหลังๆที่ถูกโยงไปทางการเมืองเยอะมาก แล้วก็เรื่องประเด็นที่คัดค้านการเลือกตั้ง แต่ส่วนตัวก็ยังเห็นด้วยกับการปฏิรูปอยู่
แล้วทำไมถึงไปร่วมกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯ วันที 22 พ.ค.2558 ที่ผ่านมา?
ก่อนหน้าที่จะไปร่วมกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ฯ ทางกลุ่ม YPD ซึ่งผมเป็นกรรมการกลุ่มนี้ มีการจัดเวทีเสวนาในช่วงบ่ายที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ประเด็นที่จะเสวนากันคือเรื่อง สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา ในรอบ1ปีที่ผ่านมาว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร  โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่รัฐมันไม่ฟังเสียงของประชาชน อย่างกรณีเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งเป็นประเด็นที่เราค้านมาตลอดว่ามันจะส่งผลกระทบ กระบวนการของม.นอกระบบไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว มาจนถึงการเข้าพิจารณาของสนช. ซึ่งสนช.ก็มีอดีตอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็กลายเป็นว่าร่างเองเสนอเอง สุดท้ายก็มาโหวตเอง ซึ่งเรามองว่ามันไม่ชอบธรรม ก็พยายามคัดค้านมาโดยตลอด แต่รัฐก็ไม่สนใจ แอบยัดเข้าไปพิจารณา กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ4 แห่งในวันเดียว แต่กิจกรรมเสวนาดังกล่าวกลับถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามและเชิญตัวผู้เกี่ยวข้องไปที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัวในเวลาต่อมา
จากนั้นเราก็ทราบว่าจะมีกิจกรรมหน้าหอศิลป์จึงเดินทางไปร่วม เพราะเราอยากรำลึก 1 ปีที่ผ่านมา ที่เราถูกปิดหูปิดตา ถูกปิดกั้นเสรีภาพต่างๆ และรับไม่ได้ที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาทหารคุกคามชาวบ้านเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ไม่ฟังเสียงประชาชน เราจึงต้องแสดงออกให้เผด็จการได้รับรู้

 
คลิปจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าล็อคตัวหนุ่ย หลังจากเขาและนิสิตกลุ่มหนึ่งแสดงออกซึ่งการไม่เห็นด้วย ที่จะนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา
รายละเอียด : ตร.ล็อคตัว ขู่ลบคลิป แนะถ้าจะออกก็ต้องปล่อยให้ออก ขณะนิสิต ม.เกษตรฯ จัดค้าน ม.นอกระบบ http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58577
หน้าหอศิลป์ฯ  เหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง?
หลังจากถูกปล่อยตัวที่สน.ชนะสงคราม ก็ไปที่หอศิลป์ ไปถึงก่อนเวลาประมาณ 5 โมง พอไปถึงก็มีเพื่อนเรายืนอยู่ ซักพักก็มีตำรวจมาไล่รอบหนึ่ง พอเริ่มกิจกรรมตำรวจมาชาร์จตัวเพื่อนเราไปก่อน ซึ่งผมมองว่าทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยไม่มีการเจรจาก่อน ก็เลยเกิดการชุลมุนกัน สุดท้ายเราถูกบีบมาจนถึงสุดถนน เราก็เลยนั่งกันที่นอกเขตรั้ว 
จากนั้นตำรวจก็ใช้กำลังในการสลายและจับกุมตัวในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ระหว่างที่นั่งกันประมาณ10-20 คน ตำรวจก็มาชาร์จตัวทีละคน ผมอยู่ในรอบการจับจำนวน 11คน ดึงตัวไปขึ้นรถตู้ ระหว่างนั้นก็มีเพื่อนที่โดนทำร้าย  มีโดนล็อคคอ โดนเข่า และโยนขึ้นรถตู้ รวมทั้งการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีการแต่งตัวนอกเครื่องแบบไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ด้วย
มองวิธีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ
1. ก็คือมาชาร์จตัวในเวลากลางคืน
2. เราอยู่นอกเขตรั้ว แล้วก็ไม่ได้กระทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง เพราะแค่นั่งรอเพื่อนของเราที่จะปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่กลับเข้ามาเผชิหน้า และในการปะทะมีการยั่วยุจากเจ้าหน้าที่ พยายามสร้างให้พวกเราเป็นฝ่ายผิด รวมทั้งคนในเครื่องแบบปล่อยให้คนนอกเครื่องแบบเข้ามาลากตัว ไม่มีการแสดงตัวก่อน ไม่รู้ว่าเป็นใคร การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ถือว่าเกินกว่าเหตุ
3. มีการใช้กำลังทำร้ายด้วย
เมื่อขึ้นรถตู้ก็ถูกเอาไปส่งที่สน.ปทุมวัน ห้องผมมี11คน รอบหลังถูกจับมาอีกประมาณ5-6คน ในห้องก็มีตำรวจมาเฝ้าข้างหน้า มีคนมาเจรจาให้เรายอมรับเงื่อนไขในการปล่อยตัว โดยจะให้ลงชื่อว่าจะไม่เคลื่อนไหว แล้วจะปล่อยตัวแต่ก็จะมีคนโดนดำเนินคดี 9 คน ซึ่งพวกเราก็ไม่ยอม แล้วก็มีคนเจรจาว่าขอให้พวกเราอยู่ในห้องเดียวกัน เพราะพวกเราไม่มีแกนนำ การตัดสินใจต้องเป็นการตัดสินใจร่วมของทั้ง38คนที่โดนจับมา แต่ตำรวจก็ไม่ยอม
ทั้งนี้จุดยืนเราก็ชัดว่าต้องปล่อยต้องปล่อยทุกคนแบบไม่มีเงื่อนไข  เขาก็พยายามส่งคนมาเจรจา พยายามยื่นข้อเสนอใหม่ๆ ซึ่งต่อมาเราไม่รู้ว่า ข้อเสนอแต่ละห้องไม่เหมือนกัน ก็เหมือนเป็นจิตวิทยาให้เราเองไขว้เขวด้วย
ตอนที่โดนจับกุม ก็มีเพื่อนหลายคนมาให้กำลังใจ ส่วนในห้องควบคุมตัวก็มีคนหลายกลุ่มมาจากต่างที่ เราเพิ่งได้รู้จักกัน  เราทุกคนต่างยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ผิด
มาถึงข้อเสนอสุดท้ายซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาเกือบเช้าแล้ว เป็นข้อเสนอที่ให้เราบอกชื่อเฉยๆและรับสัญญาปากเปล่าว่าจะไม่เคลื่อนไหว แต่พอมาถึงห้องสอบสวนจริงเขาแยกมาเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ให้เราเซ็นในสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเหมือนกับกลับคำที่ตกลงกันไว้ แล้วก็ในห้องผู้สอบสวนก็มีการพูดเสียงดัง ข่มขู่ ว่าให้รีบยอมๆก็จบ เสียเวลา ไม่เช่นนั้นก็ขึ้นศาล แล้วสุดท้ายก็จำยอมเซ็นแล้วก็ปล่อยทีละกลุ่ม
โดยหลังจากปล่อยมายังไม่มีการดำเนินคดี ไม่มีการไปคุกคามที่บ้าน แต่ก็ยังไม่แน่เพราะวันรุ่งขึ้นก็มีคนบอกว่าอาจมีการดำเนินคดีย้อนหลัง

“ทุกคนเคลื่อนไหวเพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราอึดอัดกับการรัฐประหาร อึดอัดกับการคุกคามสิทธิเสรีภาพ และสิ่งที่เราทำก็คือเราแค่แสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามันไม่มีความชอบธรรม” หนุ่ย กล่าว


ภาพกระตั้วแทงเสือ : เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนิสิตและหนุ่ยที่เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊กอภิสิทธิ์ )
รายละเอียด นิสิต ม.เกษตรเพ้นท์ลายเสือค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ – ตำรวจสกัดไม่ให้รวมตัวhttp://www.prachatai.com/journal/2014/11/56543
มองอย่างไรกับเรื่องการเสียบประจานในเฟซบุ๊ก?
หลังจากวันนั้นผมก็พยายามไปดูในเพจ เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่โดนเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเท็จ ใช้การตัดต่อภาพ เชื่อมโยงเรื่องราวโดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริง ผมก็เห็นว่าหลายคนก็เชื่อแล้วก็ด่าพวกเราจริงๆ  ผมก็รู้สึกผิดหวัง ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำตลอดมาไม่ได้มีฝ่ายมีสี เราก็เอาประเด็นทางสังคมเป็นตัวตั้งในการทำงาน แล้วเรื่องรับเงินก็เชื่อมั่นว่าไม่มีใครในกลุ่มรับเงิน  แต่ทุกคนเคลื่อนไหวเพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราอึดอัดกับการรัฐประหาร อึดอัดกับการคุกคามสิทธิเสรีภาพ และสิ่งที่เราทำก็คือเราแค่แสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามันไม่มีความชอบธรรม
มีอะไรอยากฝากถึงคนที่ไล่เสียบไล่ประจานในเฟซบุ๊ก?
อยากให้กลั่นกรองข้อมูลหลายอย่างที่ออกมา ข้อมูลที่โจมตีเราเป็นข้อมูลเท็จ เป็นรูปที่ตัดต่อ เพราะทุกคนที่ออกมาออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีใครจ้าง ที่เราออกมาเพราะเราตระหนักในหน้าที่ของเรา และอยากบอกคนที่ทำว่า สิ่งที่คุณทำมันน่าเกลียดมาก มาเล่นลับหลัง ใส่ข้อมูลเท็จ เป็นสิ่งที่ทุเรศมาก
มองยังไงกับพลังของนักศึกษาที่มีต่อสังคม?
ส่วนตัวเชื่อมั่นในพลังของนักศึกษา พลังของคนรุ่นใหม่ เชื่อว่านักศึกษาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ พวกเขามีไฟ มีความหวังจะเห็นสังคมที่ดี แต่ต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ด้วย ไม่ใช่บั่นทอน
นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ล้วนมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ในสังคมกลับปิดกั้นพลังเหล่านั้น แล้วมาชี้ถูกชี้ผิดให้ มาพูดแต่คำว่า ทำไมไม่เอาเวลาไปร่ำเรียน ทั้งที่ความจริงการเรียนรู้ที่แท้จริง คือการออกเผชิญโลกภายนอก เรียนรู้ปัญหาต่างๆในสังคม และกำหนดอนาคตตัวเอง กำหนดอนาคตสังคมเอง

“บางเรื่องมันรอไม่ได้ มันต้องสื่อสารกับสาธารณะให้รู้  ก็อยากบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เจ้าหน้าที่ไม่ควรมาปิดกั้น หรือว่ามาคุกคาม” หนุ่ย กล่าว

ในฐานะที่เคลื่อนไหวแล้วโดนเจ้าหน้าที่สั่งห้ามตลอด มีอะไรอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่?
ก็เข้าใจว่าบางครั้งตำรวจก็ทำตามหน้าที่ แต่หลายครั้งก็ทำเกินกว่าเหตุ หลายประเด็นที่เคลื่อนไหวเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับไม่ให้เราแสดงออก กลับมาขัดขวาง จับกุม
เจ้าหน้าที่ก็มาบอกว่าภายใต้กฎหมายไม่ให้แสดงออก  ผมก็พยายามชี้ว่าประเด็นเหล่านี้ เช่นเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือชาวบ้านถูกไล่ที่ ถ้าปล่อยไปแล้วมันเกิดผลกระทบออกมาจะทำยังไง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ‘ถ้ามันจะออก ก็ต้องปล่อยให้มันออก เพราะตอนนี้มันมีกฎหมาย’  เราก็มองว่าจริงๆมันควรจะแยกกัน เพราะบางเรื่องมันรอไม่ได้ มันต้องสื่อสารกับสาธารณะให้รู้  ก็อยากบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เจ้าหน้าที่ไม่ควรมาปิดกั้น หรือว่ามาคุกคาม  
ถ้าจะบอกว่าการแสดงออกเหล่านั้นมันผิดคำสั่งคสช.?
ผมมองว่าคำสั่งก็คือคำสั่ง แต่สิ่งที่เหนือกว่าคำสั่งคือเสรีภาพของมนุษย์ในการแสดงออก ในการที่จะบอกถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐ นโยบายของรัฐ เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาไม่ว่าจะมาตรา44 ไม่สามารถคุกคามการแสดงออกได้ แล้วก็เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ที่เกิดจากการยึดอำนาจมา ก็คือคุณฉีกกฎหมายมาแล้วก็ตั้งกฎหมายใหม่ที่มาควบคุมให้เราไม่ได้แสดงออก
ภาพขณะที่เขาถูกคุมตัวที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งเขาสูญเสียรองเท้า (ภาพโดย Pradtana Nenyaem‎)
โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา หนุ่ย ได้เขียน ‘เรื่องสั้น ศุกร์ 22“รองเท้าที่หายไป”ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘หนุ่ย อภิสิทธิ์’ ด้วยดังนี้ :
....แค่รองเท้าคู่หนึ่งที่หายไป ในสถานการณ์ชุลมุนขณะถูกฉุดกระชากลากตัวจากบุรุษชุดสีกากีในช่วงเย็นของวันหนึ่ง ย้อนนึกถึงวันเดียวกันนี้ของปีก่อน ยังจดจำได้ดี เราผ่านเวลา 1 ปี มาด้วยความอึดอัด เราจึงต้องมาที่นี่ รองเท้าจึงหายไป พร้อมกับความวุ่นวายที่เหมือนจะจบลงในเช้าวันรุ่งขึ้น
“ผมแค่เชิญพวกคุณมาพูดคุย ไม่ได้แจ้งข้อหาอะไร การกระทำของพวกคุณมันสุ่มเสี่ยง” บุรุษชุดสีกากีพูดขึ้นขณะพวกเราอยู่ในสถานีตำรวจใกล้ๆถนนข้าวสาร พร้อมกล่าวต่อ “ผมขอแค่ชื่อที่อยู่พวกคุณแล้วจะปล่อยตัวไป” นี่เป็นเหตุการณ์ในช่วงบ่าย หลังจากที่พวกเราจะจัดงานเสวนา “22-22=44 สิทธิชุมชน เสรีภาพ การศึกษา” เพื่อสรุปสถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา ในประเด็นตามหัวข้อสนทนา สถานที่จัดงานอนุสรณ์สถาน 14 ต.ค. ถูกปิดลงด้วยคำสั่งของทหาร และแล้วงานเสวนาก็ต้องปิดตัวลง พร้อมกับความเงียบ ดังเช่น 1 ปีที่ผ่านมา
“1 ปีที่...” คือชื่อกิจกรรมที่นิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม จัดขึ้นหน้าหอศิลปวัฒนธรรม ในช่วงเย็นของวันนี้ คลาคล่ำไปด้วยตำรวจนับร้อยนายจากหลายสถานีตำรวจ แผงรั้วกั้นสีเหลืองครอบคลุมเกือบเต็มพื้นที่ ก่อนถึงเวลากิจกรรมมีกลุ่มคน 5-7 คน ยืนดูสถานการณ์อยู่ริมรั้ว แต่กลับถูกตำรวจไล่ออกไปทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไร ทุกคนต่างงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น
18.00 น. กิจกรรมแสดงสัญลักษณ์กำลังจะเริ่มขึ้น นิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม หลายสิบคน กำลังยืนดูนาฬิกาอยู่นอกรั้วติดกับถนน ทันใดนั้น เหล่าบุรุษชุดสีกากีผู้กล้าหาญก็เข้ามาจับตัวนักกิจกรรมเหล่านั้นไปบางส่วน ความชุลมุนจึงเริ่มขึ้นจากนาทีนี้
...................................................
ขณะเดินหาซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ซึ่งก็คงหาไม่ยากนักหรอกในเมืองใหญ่เช่นนี้ แต่กว่าจะได้ที่ถูกใจคงใช้เวลานานสักหน่อย ระหว่างทางก็เฝ้ามองผู้คนที่อยู่รายรอบ เดี๋ยวก็จ่ายเงินซื้อรองเท้าคู่ใหม่ แต่หากสิ่งที่หายไปมิใช่เพียงรองเท้าล่ะ มันจะมีขายบ้างมั้ยนะ โดยเฉพาะในสังคมที่สะสมความเกลียดชังกันไม่หยุดหย่อน พลันในหัวก็คิดถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
............................................
หลังจากชุดแรกถูกจับไป กลุ่มที่เหลือจึงคล้องแขนกันและประกาศให้ปล่อยตัวเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด การเผชิญหน้าจึงเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างดันกัน พวกเราถูกดันมาจนติดถนน ความพยายามในการเจรจาจากฝ่ายตำรวจมีมาตลอด แต่ยากจะเป็นจริงในเมื่อพวกเขาไม่ยอมแม้จะให้เรามีที่ยืนเพื่อพูดคุยกัน เราไม่มีแกนนำ การตัดสินใจย่อมต้องอาศัยการพูดคุยร่วม แต่เขาไม่ยอม การผลักดันและใช้กำลังจึงดำเนินต่อไป จนเมื่อมันเริ่มรุนแรงขึ้น พวกเราตัดสินใจนั่งลงอย่างสงบภายนอกรั้วสีเหลืองพร้อมกับเจรจาให้ปล่อยตัวเพื่อนเราที่นี่โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร แน่นอนการเจรจาไม่เป็นผล เราทำได้เพียงนั่งร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาและเพลงเพื่อมวลชน “พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้าเด่น...” พลันรั้วสีเหลืองถูกลากออก บุรุษชุดสีกากีกับพวกนอกเครื่องแบบเข้ามาจับตัวพวกเราไปทีละกลุ่มทีละคน แขนที่คล้องกันไว้หลุดออก ผมถูกลากตัวไปกับพื้นด้วยท่านั่งขัดสมาธิ “ลุกขึ้น มึงจะลุกมั้ย” เสียงชายคนลากตะโกนพร้อมเอาแขนล็อกคอดึงขึ้น แต่ผมเต็มใจที่จะนั่งแม้ว่าจะหายใจไม่ออกไปชั่วขณะก็ตาม ขณะที่รองเท้าข้างหนึ่งได้หลุดและสงบนิ่งกับที่ ผมได้แต่มองรองเท้าภายใต้ความคิดอันสงบเงียบ ผมเชื่อว่าผมไม่ผิด ไม่จำเป็นต้องไปไหนทั้งสิ้น พวกคุณไม่มีสิทธิ์สั่งให้ผมต้องทำตาม ยังคงนั่งท่าเดิมขณะถูกลากตัว เราจะไม่สยบยอมกับความป่าเถื่อนรุนแรง หากหวังจะคุมขังก็จงลากเราไปเถิด ลากกายเราไปด้วยกำลังพลังอำนาจที่ท่านมีเถิด แต่เราจะไม่สยบยอม ท่านมิอาจลากจิตใจเราไปไหนได้หรอก ร่างกายถูกลากต่อไป ถ้อยคำผรุสวาทหลุดจากปากพวกเขาไม่หยุดหย่อน ระหว่างทางรองเท้าอีกข้างหลุดกองนิ่งกับพื้น เหลือเพียงเท้าเปลือยเปล่าที่ถูกลากตามทางที่เขาพาไป ผมคงสงบนิ่ง เชิญท่านใช้กำลังกระทำต่อเราเถิด เราไม่มีอะไรไปสู้กับพวกท่านนับร้อยหรอก จนมาถึงหน้ารถตู้ตำรวจ “มึงเป็นง่อยรึไง ลุกได้แล้ว เดินเองไม่ได้รึไงวะ” เขาพูดพร้อมเอามือมาจับหัวด้วยความโมโห หากไม่มีอีกเสียงหนึ่งห้ามไว้ หัวกับมือคงสัมผัสกันดังก็เป็นได้ “มึงจะลุกมั้ย มึงเป็นง่อยรึไงไอ้สัตว์” เขายังไม่หยุดด่า ตัวผมลอยขึ้นพร้อมกับโดนเข่าเข้าที่ท้อง ก่อนจะถูกโยนเข้ารถตู้ “เยี่ยมๆ สุดยอด ทำหน้าที่ได้เยี่ยมมาก” ผมกล่าวพร้อมยกนิ้วโป้งให้เขา และแล้วตีนเปล่าเปลือยก็มาถึงสถานีตำรวจจนถึงเช้าวันใหม่ ภายในห้องกักตัว 12 ชั่วโมง
...........................................
ในวันที่เดินตีนเปล่าเปลือยบนถนนคอนกรีต ผมจึงเข้าใจความรู้สึกของผู้คนตีนเปล่า เฉกเช่นเดียวกัน คนผู้ไม่เคยทุกข์ลำบากหรือสัมผัสความยากเข็ญย่อมไม่เข้าใจความเดือดร้อน หากเปรียบกับนกที่เคยอยู่ในกรงทองตั้งแต่เกิด มีอาหารน้ำดื่มให้กินอยู่ตลอด ย่อมไม่ตระหนักถึงคำว่าเสรีภาพ ย่อมมิปรารถนาจะโบยบินชื่นชมฟ้างาม เพราะกรงมิเพียงขังร่างกายกลับคุมขังถึงระดับจิตใจ จิตวิญญาณแห่งเสรี ทำให้คุณรู้สึกถึงความปลอดภัยและกลัวที่จะโบยบินจากกรงทอง
หลังจากเหตุการณ์วันนั้นกระแสในโซเชียลมีเดียได้กระจายไปมากมาย สิ่งที่น่าเศร้าคือข่าวลวงและคำโกหก ใส่ร้ายป้ายสีโดยไม่มีมูลความจริง แต่กลับมีผู้คนมากมายที่หลงเชื่อ นิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมในวันนั้นถูกด่าด้วยถ้อยคำต่างๆนาๆ ด้วยอารมณ์อันไร้ซึงเหตุผลใดๆรองรับ กระบวนการล่าแม่มดจึงเกิดขึ้น หน้าตาและชื่อเฟซบุ๊กแต่ละคนถูกประจาน ฝูงชนผู้บ้าคลั่งไม่ลืมหูลืมตาต่างนั่งหน้าจอโทรศัพท์พิมพ์ถ้อยคำหยาบคาย บางคนถึงกับเสนอให้จัดการขั้นรุนแรง มันเป็นสังคมที่กระหายเลือดโดยแท้
.....................................................
คงเพียงรองเท้าคู่หนึ่งที่หายไป มิใช่เรื่องราวใหญ่โตอันใดในเมื่อมันมีขายกลาดเกลื่อน แต่หากบางสิ่งมันหายไป ศีลธรรมความเมตตาต่อกัน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน หากหายไปคงยากจะหาเจอ บนท้องถนนหรือแห่งหนใดไม่มีขาย วันนี้ฉันก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้หายไปจากใจของใครบ้าง
เช้าวันนั้นผมเดินเท้าเปล่าออกมา แสงแรกของวันใหม่เริ่มกลืนกินความมืดมิด เสียงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาถูกขับขานร่วมกันก่อนจากลา ความเหนื่อยล้าเริ่มก่อตัวตามร่างกาย แต่แววตาแต่ละคนคงเปล่งประกาย

ชีวิตผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดน: จรัล ดิษฐาอภิชัย ณ ฝรั่งเศส

         ตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันนี้ มีนักกิจกรรมหนีออกไปจากประเทศไทยประมาณร้อยคนแล้ว จำนวนมากเป็นนักกิจกรรมเสื้อแดง จำนวนมากในนั้นถูก คสช.เรียกรายตัว หลายๆ คนก็ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ยิ่งต้องตัดสินใจหนี เมื่อเห็นศาลทหารพิพากษาลงโทษจำเลยคดีหมิ่่นพระบรมเดชานุภาพอย่างหนัก โดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทิ้งชีวิตในประเทศไทย ทิ้งการศึกษา ทรัพย์สิน และคนที่พวกเขารัก และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 
 
      เหล่าผู้ลี้ภัยไปยังหลายประเทศ ส่วนใหญ่คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ยุโรป และ อเมริกา ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในนั้น ในตอนแรกของซีรียส์ผู้ลี้ภัยในต่างแดน ผู้สื่อข่าวประชาไทเล่าชีวิตของ จรัล ดิษฐาอภิชัย นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย แกนนำเสื้อแดง ผู้มีประสบการณ์ด้านกิจกรรมทางการเมืองกว่า 50 ปี นักข่าวประชาไทได้ไปเยี่ยมจรัลที่เมืองเมืองหนึ่งในฝรั่งเศส (จรัลขอไม่ให้เปิดเผยว่า เขาอาศัยอยู่ในเมืองใด เพื่อความปลอดภัย) ในช่วงเดือนเมษายน คุณสามารถชมวิดิโอสัมภาษณ์ได้ด้านล่าง 
 
 
------------------
 
 
 
       “สหายชัย” คือชื่อจัดตั้งของ จรัล ดิษฐาอภิชัย สมัยที่อยู่ในป่าทางภาคเหนือของประเทศไทยระหว่างปี 2519-2526 และยังคงเป็นชื่อที่เขาภูมิใจจนถึงทุกวันนี้  
 
        ชีวิตของจรัลนั้นเต็มไปด้วยสีสัน (เป็นสีแดงเสียส่วนใหญ่) นักกิจกรรมวัย 68 ปีผู้นี้เคยถูกจับและขังคุกถึงสามครั้งเพราะกิจกรรมทางการเมือง ครั้งแรก จรัลถูกจับหลังการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เขาหนีออกจากคุกไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แหงประเทศไทย (พคท.) ที่ป่าในจังหวัดน่าน และได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วย 61 ของ พคท. จรัลได้เพื่อนนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งหลายคนกลายเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ในเวลาต่อมา  
 
        หลังจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสื่อมความนิยมลง และเมื่อรัฐบาลไทยได้นิรโทษกรรมให้แก่เหล่านักศึกษา สมาชิก พคท. จรัลได้ออกจากป่าในปี 2526 และกลับมาอยู่กรุงเทพฯ รวมแล้วจรัลใช้ชีวิตอยู่ในป่าในเขาถึงเจ็ดปี
 
       กลับมาใช้ชีวิตคนมืองที่กรุงเทพฯ จรัลทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ไม่นาน ก็ไปปารีสเพื่อร่วมการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม หลังจากการอบรมสิ้นสุด ด้วยความที่ไม่อยากอยู่ไทยเพราะโดนสันติบาลติดตาม จรัลก็หาทุนการศึกษาเพื่อเรียนในระดับปริญญาโทและเอก จบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยปารีสเจ็ด และได้ประกาศนียบัตร DEA (สำเร็จปีแรกของปริญญาเอก) จากมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศส 
 
        ในขณะที่คนไทยที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ชอบพูดภาษาไทยผสมกับภาษาอังกฤษ ฝ่ายซ้ายชาวพัทลุงผู้นี้ ผู้ซึ่งผ่านการศึกษาที่ฝรั่งเศส ชอบพูดภาษาไทยผสมกับภาษาฝรั่งเศส 
 
         หลังจากอยู่ปารีสห้าปี จรัลก็กลับมากรุงเทพฯ และไปสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต จนได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อมาในปี 2541 จรัลถูกจับเเป็นครั้งที่สองที่ย่างกุ้ง เพราะไปแจกใบปลิวเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 8888 ที่ประชาชนพม่าเดินขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ. 1988 
 
          หลังจากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิตนานถึงสิบปี จรัลก็ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกในปี 2543
 
จรัล ดิษฐาอภิชัย (แฟ้มภาพ)
 
        ชีวิตนักเคลื่อนไหวของจรัลเริ่มต้นอีกครั้ง ในปี 2549 เมื่อรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถูกโค่นล้มโดยรัฐประหาร จรัลเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนต้านรัฐประหาร และร่วมกับนักการเมือง นักเคลื่อนไหวอีกหายคน เช่น จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และเหวง โตจิราการ ก่อตั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 
 
        “การเคลื่อนไหว มันเป็นวิถีชีวิตของผม เหมือนศิลปินเวลาได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง” จรัลกล่าว ในปี 2550 เขาถูกจับเป็นครั้งที่สามหลังเหตุการณ์ผู้สนับสนุน นปก. บุกบ้านป๋าเปรม  
 
       จรัลไม่ใช่ผู้นำที่บทบาทโดดเด่น และไม่ใช่นักปราศรัยที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้ฟัง ไม่มีแฟนคลับเหมือนจตุพร หรือ ณัฐวุฒิ จรัลไม่ปราศรัยวิจารณ์ใครด้วยวาทะเชือดเฉือน เผ็ดร้อน หรือทำให้หัวเราะจนน้ำตาไหล จรัลยังไม่วิจารณ์ฝ่ายของตัวเองออกสาธารณะอีกด้วย เมื่อฉันขอให้จรัลวิจารณ์ทักษิณกับพรรคเพื่อไทย จรัลก็ตอบว่า พวกเราไม่ควรคาดหวังจากทั้งสองสูงเกินไป ทั้งสองได้ทำดีที่สุดแล้ว และพวกเราต่างหาก ที่ควรเข้าใจข้อจำกัดของพวกเขา 
 
      อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของจรัลคือ การเป็นนักเคื่อนไหวที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติ ไม่วอกแวก และทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะกระแสต่ำหรือสูง ลักษณะประนีประนอมของจรัลอาจทำให้พูดได้ว่า จรัลนั้นเป็น ‘นักจัดตั้ง’ ที่มองข้ามปัญหาและความแตกต่างเพื่อเป้าประสงค์ระยะยาว ซึ่งคือ การปฏิวัติสังคมการเมืองไทยอย่างแท้จริง 
 
จรัลปราศรัยบนเวทีนปก. ในสมัยที่สีแดงยังไม่เป็นสีประจำการเคลื่อนไหว ภาพจากบล็อก OK Nation กฤษณะ ไชยรัตน์
 
       หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 57 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งเรียกจรัลให้มารายงานตัวในวันที่ 23 พ.ค. 57 จรัลไม่ไปรายงานตัว ตำรวจจึงออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในวันที่ 16 มิ.ย. 57 ตำรวจยังได้ออกหมายจับจรัลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ ในฐานะที่จรัลเป็นประธานการจัดงานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งก่อนหน้านี้ “กอล์ฟ” และ “แบงค์” ศิลปินสองคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกสองปี เพราะละครเรื่องนี้อีกด้วย 
 
        จรัลหนีออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 57 และบินไปฝรั่งเศสในเดือน มิ.ย.เมื่อพูดถึงการตัดสินใจลี้ภัย สำหรับหลายคนคงเป็นภาวะฉุกละหุก ที่ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนโดยมีอิสรภาพของตนเองเป็นเดิมพัน แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับจรัล นี่ไม่ใช่การลี้ภัยแบบฉุกละหุก เพราะจรัลได้ตระเตรียมตัวเองเพื่อการลี้ภัยครั้งนี้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 แล้ว
 
        ฟังดูเวอร์? จรัลเล่าให้ฉันฟังว่า เขาได้เล็งเห็นแล้ว ว่าสักวันหนึ่ง ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องถูก “เล่นงาน” อีกไม่ช้าก็เร็ว จรัลจึงทำวิซ่าหลายๆ ประเทศเอาไว้ และต่ออายุเรื่อยมา เพื่อที่จะหนีออกนอกประเทศได้สะดวก หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 จรัลก็หนีไปฝรั่งเศสมาแล้วครั้งหนึ่ง และกลับมาหลังจากเหตุการณ์สงบลง 
 
        จรัลไม่ใช่นักต่อสู้แบบโรแมนติก จรัลยึดหลักว่า เขาจะต้องไม่ถูกจับติดคุก หมดยุคแล้ว สำหรับความคิดที่ว่า ผู้นำถูกจับ แล้วประชาชนจะลุกฮือ ในทางตรงกันข้าม เขาต้องรักษาอิสรภาพเอาไว้ เพื่อที่จะต่อสู้ไปเรื่อยๆ จรัลบอกกับฉัน 
 
       สองสามเดือนแรกของการมาถึงฝรั่งเศส จรัลต้องจัดเตรียมเอกสาร เดินทางไปพบปะเจ้าหน้าที่ ทำการสัมภาษณ์ ผ่านขั้นตอนยุ่งยาก ก่อนจะได้สถานะผู้ลี้ภัยในเดือน พ.ย. 2557 จรัลบอกว่า เขาเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้สถานะนี้ ซึ่งคนแรกคือ ปรีดี พนมยงค์ หลังจากได้สถานะ จรัลก็มีสิทธิได้รับประกันสังคม ส่วนลดในการใช้ขนส่งมวลชน และขอที่อยู่อาศัยได้ เป็นต้น 
 
 
จรัลแปะรูปนักโทษมาตรา 112 ที่อนุสาวรีย์สาธารณรัฐ ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส วันที่ 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง             
 
         จรัลปรับตัวกับชีวิตที่ฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็ว นอกจากใช้เวลาส่วนหนึ่งในปรับปรุงหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งจรัลเขียนและตีพิมพ์ไว้นานมาแล้ว เพื่อจะตีพิมพ์ฉบับใหม่ จรัลยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานขององค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในยุโรปอีกด้วย และยังเป็นผู้มีเครือข่ายกว้างขวางที่คอยประสานระหว่างคนเสื้อแดง และผู้รักประชาธิปไตยในยุโรป 
 
         ที่ฝรั่งเศส จรัลจัดการพบปะสังสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง คนเสื้อแดง นักกิจกรรม และนักศึกษา ฝ่ายประชาธิปไตยอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่คนเสื้อแดงที่นั่นเป็นคนอีสาน เป็นเจ้าของร้านอาหาร และกิจการต่างๆ พวกเขารักชอบจรัล และไม่ลังเลเมื่อจรัลขอให้ช่วยจัดงานเลี้ยงอาหารให้ และเมื่อมีคนจากประเทศไทยมาเยี่ยมเหล่าผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส จรัลก็จะช่วยติดต่อประสานคนเสื้อแดงที่นั่นที่มีน้ำใจ ยินดีให้พวกเขามาพักฟรีๆ ฉันได้ไปกินข้าวกับเหล่าคนเสื้อแดง ซึ่งหลายคนก็เป็นผู้อ่านประชาไท อยู่หลายมื้อ จนกลายเป็นว่า ฉันกินส้มตำปลาร้าทุกวัน และยังได้ลองกินไข่มดแดงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฝรั่งเศสอีกด้วย    
 
        จรัลกล่าวว่า ชีวิตของเขาตอนนี้ อยู่ในโหมดเดียวกันกับตอนที่เขาต่อสู้กับพคท. อย่างไรก็ตาม แทนที่จะจับปืน และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ตอนนี้จรัลอยู่ในเมืองอันสะดวกสบาย และเปลี่ยนมาจับเมาส์ คีย์บอร์ด และสมาร์ทโฟนแทน เพื่อสื่อสารกับโลกเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญ ในวัย 68 ปี ถือได้ว่าจรัล "ไฮเทค" ไม่น้อยเลย
 
 
จรัล (ที่สามจากซ้าย) ร่วมชุมนุมในวาระครบรอบหนึ่งปี รัฐประหาร 22 พ.ค. ที่จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง
         งานประจำวันของจรัลคือ การส่งอีเมลอัพเดทสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในยุโรป รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรนานาชาติต่างๆ ล็อบบี้ให้องค์กรเหล่านี้แสดงท่าทีหรือมีมาตรการเกี่ยวกับประเทศไทย 
 
         จรัลยังทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการในการประสานกับคนเสื้อแดง และนักกิจกรรม นักศึกษาไทย ในการจัดการเดินขบวน หรือ ประท้วง ประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย และยังเข้าร่วมการเดินขบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เช่น การเดินขบวนเพื่อเฉลิมฉลองวันแรงงานสากล การชุมนุมครั้งล่าสุดที่จรัลร่วมจัด คืองานครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 58 จรัลและคนไทยและฝรั่งเศสอีกประมาณสิบคนได้ไปรวมตัวกันที่จตุรัสสาธารณรัฐ ที่ปารีส จตุรัสเดียวกันกับที่ชาวฝรั่งเศสเดินขบวนหลังการสังหารกองบรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอบโด 
 
        “ที่รู้สึกอยู่บ้าง คือ เรายังทำงานไม่เต็มที่ ยังทำงานต่างประเทศไม่ได้เต็มที่ เพราะที่ต่างประเทศ เขาไม่ได้สนใจประเทศไทยมาก” จรัลกล่าว และบ่นว่า มันเป็นการยากที่จะให้ต่างประเทศมาสนใจและออกแอคชั่นเกี่ยวกับไทย เพราะเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศแล้ว สถานการณ์ในไทยยังถือว่าไม่รุนแรงเท่าไหร่ นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์การเมืองเป็นสิ่งสำคัญเหมือนสมัยสงครามเย็นแล้ว หากแต่เป็นผลประโยชน์ทางการค้า การเมือง การทหาร อย่างไรก็ตาม จรัลบอกว่า เขาก็ยังต้องคอยให้ข้อมูล กับประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้ปัญหาของประเทศไทยไม่ถูกลืม  
 
        เมื่อถามว่า ความขัดแย้งทางการเมืงไทยจะจบอย่างไร จรัลว่า นี่จะเป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ในชีวิตของคนแก่อายุ 68 ปีคนนี้แล้ว แต่นี่จะไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ครั้งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะเรายังต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ   
 
จรัล เล่าถึงสถานการณ์การเมืองในไทยให้นักศึกษาฝรั่งเศสที่มาสังเกตการณ์การชุมนุม ที่ จตุรัสสาธารณรัฐ ปารีส 22 พ.ค. 58 ภาพโดย ดิน บัวแดง
 
       “ในเพลง แองเตอร์นาซิอองนาล ร้องว่า “นี่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ในความเป็นจริง มันไม่จริงและไม่มีหรอก มีแต่การต่อสู้ไปเรื่อยๆ เพื่อยกระดับ พัฒนา สิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น” 
 
         จรัลเชื่อว่า การรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นเพื่อยับยั้งแนวโน้มการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่ฝ่ายรักสถาบันมักเรียกว่า “ขบวนการล้มเจ้า”  “เพราะถ้ายังมีกระแสนี้อยู่ ถ้าเกิดเปลี่ยนรัชการขึ้นมา เขาอาจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ มันเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับฝ่ายกษัตริย์นิยม” จรัล กล่าว
 
         เพื่อที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จรัลกล่าวว่า การปฏิวัติเท่านั้น คือคำตอบ 
 
        เนื่องจากจรัลถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เขายิ่งไม่หวังจะกลับไทย “ผมอยู่ที่ไหนก็ได้” จรัลว่า อย่างไรก็ตาม “มีแค่อย่างเดียว ที่ผมคิดถึงในไทย คือ ภรรยาผม” 
 
 
จรัลกับอั้มไปร่วมเดินขบวนวันแรงงานที่กรุงปารีส 1 พ.ค. 2558 ป้ายของจรัล (ที่สองจากซ้าย) เขียนว่า "SOS โปรดช่วยคนงานในประเทศไทยจากเผด็จการทหาร" ส่วนป้ายของอั้ม (ขวาสุด) เขียนว่า "ปล่อย สมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักโทษข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" 
 
 
         ในคืนสุดท้ายที่ฝรั่งเศส จรัลพาฉันไปที่บาร์ฝ่ายซ้าย และเล่าให้ฉันฟังเกี่ยวกับชีวิตซ้ายๆ ในป่า เหมือนกับคนแก่เล่าเรื่องอดีตให้เด็กฟัง 
 
        ฉันถามจรัลว่า ทำไมเขาถึงดูมีความสุขในยามลี้ภัยเช่นนี้ จรัลว่า ก็เพราะเขาอุทิศชีวิตให้กับการปฏิวัติไปแล้ว “ความสุขของนักต่อสู้ อยู่ที่ได้ต่อสู้ ที่ได้ทำประโชน์เพื่อคนอื่น ไม่ได้มาจาก วัตถุ หรือการบริโภค หากอยู่ที่การได้ต่อสู้ ยิ่งถ้าต่อสู้สำเร็จชนะ ยิ่งมีความสุข” จรัลว่า ตอนอยู่ป่า พวกสหายนักศึกษาชอบถามว่า หลังต่อสู้เสร็จ "สหายชัยจะไปทำอะไรต่อ" สหายชัยในวัย 30 ต้นๆ ตอบว่า “ผมก็จะไปปฏิวัติประเทศอื่นต่อ” แต่ดูเหมือนสหายชัยจะติดกับดักการปฏิวัติในไทยมา 40 ปีแล้ว
 
        พูดมาถึงตรงนี้แล้ว คงเดาไม่ยากว่า ช่วงเวลาที่จรัลมีความสุขที่สุดในชีวิต คือเมื่อจรัลต่อสู้กับพคท. ในป่า
 
แต่ประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า 83 ปีแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้จะยาวนานไปถึงไหนกัน เมื่อไหร่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที เห็นความใจเย็นและอดทนในการต่อสู้ของจรัลแล้ว วัยรุ่นใจร้อนอย่างฉันจึงถามขึ้นมาว่า ทำไมจรัลจึงดูไม่หมดกำลังใจ หรือไม่หมดหวังในการต่อสู้บ้างเลย 
 
        “อย่างแรก การต่อสู้มีทั้งแพ้และชนะ มันเป็นสัจธรรมของการต่อสู้ โชคร้ายเราแพ้อยู่เรื่อยๆ สอง ตอนผมอยู่ป่า พวกสหายนักศึกษามักถามว่า “สหายชัยทำไมดูมีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่คิดถึงบ้าน ไม่คิดถึงพ่อแม่หรอ” ผมโดนถามอยู่เรื่อย ผมบอกวา ผมเชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวติ เชื่อมั่นต่อพรรค ผมจึงไม่ไขว้เขว แม้ว่ากระแสจะต่ำหรือเพลี่ยงพล้ำ  สอง ต้องอย่านับวันนับคืน” สหายชัย กล่าว