ตามที่ได้เกิดการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มการเมืองและประชาชนซึ่งเริ่มจากการชุมนุมโดยสงบตามกรอบแห่งรัฐธรรมนูญมาเป็นการชุมนุมที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายนั้น ประชาชนหลายภาคส่วนเป็นกังวลและห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่หลงเชื่อตามคำปลุกระดมและการบิดเบือนข้อเท็จจริงของบรรดาเหล่าแกนนำผู้ชุมนุมที่มุ่งหวังประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้งดังนั้นจึงสมควรที่ประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริง ดังนี้
1. การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของพี่น้องประชาชนที่ดำเนินการได้ภายในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญแต่การกระทำของนายสุเทพเทือกสุบรรณ กับพวกที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ที่กระทำการบุกยึด ปิดล้อมหน่วยงานราชการและบังคับข่มขู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้ปฏิบัติราชการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาหลายบทหลายมาตราด้วยกันและศาลก็ได้ออกหมายจับนายสุเทพฯกับพวกไว้แล้วด้วยโดยเฉพาะข้อหากบฎการกระทำของนายสุเทพฯจึงเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อมุ่งหวังล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68
2. สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่นายสุเทพ ฯ กับพวก และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ บางคนได้แอบอ้างนำสถาบันมาปลุกระดมประชาชนและบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่าตนเองได้ยึดอำนาจอธิปไตยมาเป็นของประชาชนแล้วและจะดำเนินการจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจนั้นในการกำหนดกติกาการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่กรณีดังกล่าว นอกจากเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นกบฎในราชอาณาจักรแล้วการกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจอย่างชัดแจ้งเนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนายสุเทพฯและพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3การที่นายสุเทพฯจะนำอำนาจอธิปไตยมาใช้เองหรือโดยสภาประชาชนที่ตนเองตั้งขึ้นย่อมถือเป็นการตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในส่วนนี้ออกไปซึ่งถือเป็นการกระทำที่บังอาจและกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรงเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
3. เมื่อเงื่อนไขแห่งการชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วโดยรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาได้ยอมรับฟังเสียงคัดค้านของประชาชน และได้ยุติผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่กลุ่ม ส.ส. และอดีต ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์กลับจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นใหม่เพื่อขับไล่รัฐบาล ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงและยกข้ออ้างต่างๆ นานา อันแสดงให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของบุคคลกลุ่มนี้ว่ากระทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยมิได้ยอมรับในกลไกแห่งระบบรัฐสภา อีกทั้งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วแทนที่นายสุเทพฯกับพวกจะน้อมรับพระบรมราชวินิจฉัยและยุติการชุมนุมเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตัดสินใจทางการเมืองบนหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยและวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ กลับแสดงความโอหังประกาศเงื่อนไขต่างๆให้รัฐบาลปฏิบัติอันแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลพวกนี้มิได้ยึดมั่นและศรัทธาในกฎกติกาของบ้านเมืองแต่อย่างใดเลย
4. การลาออกจากตำแหน่งของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าตามคำแนะนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุลเพียงแต่รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้นการกระทำเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เดียวกันกับที่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์เคยใช้มาแล้วเมื่ปี2549 ซึ่งทำให้เกิดการสร้างเงื่อนไขของการรัฐประหารหรือเรียกร้องอำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง นายสุเทพ ฯ กับพวก จึงควรยุติการชุมนุมและเข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้งซึ่งหากนายสุเทพฯเห็นว่าระบอบการปกครองที่ตนเองจะสถาปนาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดีก็ขอให้เสนอเป็นนโยบายให้ประชาชนทั้งประเทศได้ตัดสินอย่าเอาความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มของตนเองว่าเป็นความเห็นของคนทั้งประเทศ
5. ข้อเรียกร้องของนายสุเทพฯ กับพวกที่ต้องการตั้งสภาประชาชนเพื่อสร้างรูปแบบการปกครองใหม่นั้นเป็นการดำเนินที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยมีลักษณะของการนำฝ่ายของตนเองและผู้ที่สนับสนุนตนเองเข้ามาดำเนินการ เพื่อต้องการสร้างเงื่อนไขขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นมาจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆแท้จริงแล้วผู้มีอำนาจก็จำกัดเฉพาะกับกลุ่มของตนกรณีจึงไม่ต่างจากการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่างจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ให้โอกาสทุกคนได้มีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงออกและคัดเลือกผู้ปกครองประเทศ
6. รัฐบาลชุดนี้มิได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและพยายามจะแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ถูกขัดขวางจาก ส.ว.สรรหา และคนในพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดโดยคนในพรรคประชาธิปัตย์ได้ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแข็งขันแต่ภายหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคพลังประชาชน ต่อมาเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบและมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกี่ยวกับที่มาของส.ส. เพื่อให้ตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง แต่ที่สุดก็ต้องแพ้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี2554 มาวันนี้นายสุเทพฯ กับพวก ซึ่งเป็นคนในพรรคประชาธิปัตย์กลับเห็นว่ากติกาตามรัฐธรรมนูญที่ตนเคยปกป้องนั้นมีปัญหาและต้องการสร้างกติกาใหม่ในรูปของสภาประชาชนตามข้อเสนอของนายสุเทพฯ กรณีดังกล่าวแกนนำพรรคประชาธิปัตย์จึงควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่ายังคงเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่หรือไม่ถ้าเห็นด้วยก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยการไม่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนายสุเทพฯและส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. โดยหากพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยและต้องการสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ตามข้อเสนอของนายสุเทพฯก็ขอให้เสนอเป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยและถูกใจตัวเองให้มากที่สุด
7. ข้ออ้างของนายสุเทพฯ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมเพราะไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่บิดเบือนและไม่อาจรับฟังได้ ทั้งนี้เพราะการที่สมาชิกรัฐสภาประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเฉพาะกรณีที่ศาลรับวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะตาม มาตรา 291และไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ซึ่งการแถลงดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกและยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้นซึ่งการแสดงออกดังกล่าวได้ส่งเป็นจดหมายเปิดผนึกให้แก่ศาลทุกศาล หน่วยงานราชการองค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยแล้วและสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ไม่มีใครเข้าไปในคดีเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยเหตุผลแห่งการปฏิเสธการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้และไม่มีหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญจะไปวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของตนจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีอำนาจตามกฎหมายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติดังกล่าวก็ต้องมีความรับผิดชอบเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานในหน่วยงานอื่นๆ เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำผิดกฎหมายแล้วมีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษตุลาการเหล่านั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและประชาชนทั่วไปไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆทั้งสิ้น
นอกจากนี้การที่สมาชิกรัฐสภาปฏิเสธอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้มีผลทางกฎหมายไปเปลี่ยนแปลงผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอื่นใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพียงการยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นการที่นายสุเทพฯ และคนในพรรคประชาธิปัตย์นำเรื่องดังกล่าวไปผูกโยง บิดเบือนโดยนำสถาบันมาอ้างอิงด้วยนั้นจึงเป็นการกระทำที่มิบังควรและเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างน่าละอาย
8. การที่นายกรัฐมนตรีได้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ว่าต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว แม้ขณะนั้นมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องชะลอการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแต่อย่างใดแม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังและคำวินิจฉัยก็ไม่ได้มีคำสั่งห้ามนายกรัฐมนตรีปฏิบัติเกี่ยวกับการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแต่อย่างใดการที่นายสุเทพฯกล่าวหาว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการก้าวล่วงสถาบันจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและนำสถาบันไปหาประโยชน์ทางการเมือง
9. รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีที่มาโดยถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและได้รับฟังเสียงติติงทักท้วงของประชาชนภาคส่วนต่าง ๆมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีที่มีส.ส.เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และมีผู้ออกมาคัดค้าน นายกรัฐมนตรี ส.ส.และพรรคเพื่อไทยก็ได้ยุติดำเนินการในเรื่องดังกล่าวซึ่งรัฐบาลก็ไม่เคยคิดใช้ความรุนแรงและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองกับผู้ที่ออกมาคัดค้านต่างกับรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพฯเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งประชาชนออกมาเรียกร้องให้ยุบสภา เพราะเห็นว่ามีที่มาไม่ถูกต้องบุคคลทั้งสองกลับประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสั่งการให้มีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนคนไทยด้วยกันล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งวันที่ 12 ธันวาคม 2556อัยการสูงสุดได้นัดให้นำตัวบุคคลทั้งสองเพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาในข้อหาฆาตกรรมประชาชน บุคคลทั้งสองจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐบาลได้ล้มลงก่อนวันดังกล่าวจึงขอให้ประชาชนได้ใช้วิจารณาญาณรับฟังข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านอย่าหลงเชื่อต่อการปลุกระดมและบิดเบือนข้อเท็จจริงของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้หลีกเลี่ยงความรุนแรงมาโดยตลอดแต่แกนนำผู้ชุมนุมพยายามยั่วยุ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง การดำเนินการของรัฐบาลแม้อาจจะเสียหน้าไปบ้างกับการบังคับใช้กฎหมายแต่เพื่อรักษาชีวิตของประชาชน รัฐบาลจำเป็นต้องทำ กรณีจึงเห็นได้ว่าแนวทางการปฏิบัติของรัฐบาลได้ดำเนินการมาถูกต้องแล้วและเมื่อเห็นว่าการชุมนุมส่อว่าจะมีความรุนแรงและเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้นการที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองย่อมถือเป็นการกระทำที่เสียสละ ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
10. กรณีที่นายสุเทพฯ กับพวก ไม่ยอมรับการยุบสภาและบีบบังคับให้นายกรัฐมนนตรีลาออกจากตำแหน่งโดยกล่าวอ้างว่าเลือกตั้งใหม่ก็แพ้พรรคเพื่อไทย เพราะมีการซื้อเสียงเข้ามานั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.มีหลักเกณฑ์ กติกาตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งกำหนดวิธีการเลือกตั้ง และการตรวจสอบการเลือกตั้งของ กกต.ไว้อย่างเข้มงวดและป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า กกต.ไม่ได้เข้าข้างพรรคเพื่อไทย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2554พรรคเพื่อไทยไม่เคยถูก กกต.และศาล ให้ใบแดง เพราะเหตุการณ์ซื้อเสียงเลือกตั้งต่างกับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เคยถูก กกต. และศาลให้ใบแดง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดราชบุรีโดยศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกด้วย จึงขอให้ประชาชนได้พิจารณาว่าข้ออ้างการซื้อเสียงนั้น เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ยอมรับกติกาที่มีอยู่ของนายสุเทพฯกับพวก เพื่อต้องการสร้างกติกาใหม่ที่เป็นประโยชน์กับตนเองและพวก และขอแนะนำพรรคประชาธิปัตย์ว่าถ้าจะเอาชนะการเลือกตั้งก็ต้องเอาชนะใจประชาชนให้ได้และการเอาชนะใจประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นได้ว่าเราได้ทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขาจริงๆ โดยการเสนอนโยบายแข่งขันกัน ไม่ใช่ดีแต่พูด
11. กรณีที่นายสุเทพ ฯ อ้างว่ารัฐบาลชุดนี้ทุจริต คอรัปชั่นมากเป็นประวัติการณ์นั้นจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดชัดเจนทั้งในสภาและนอกสภาว่าจะต่อต้านการคอรัปชั่นและพร้อมรับการตรวจสอบทุกอย่างซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีเรื่องใดอันเป็นที่ยุติว่า รัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนใดกระทำการทุจริต แต่หากย้อนกลับไปดูสมัยรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำมีข้อกล่าวหาการทุจริตมากมาย ดังเช่นกรณีการนำทรัพย์สินของสถาบันการเงินไปขายให้กองทุนต่างชาติในราคาถูกซึ่งรัฐเสียหายมากกว่าแปดแสนล้านบาท การถูกกล่าวหาว่าออกกฎหมายขายชาติ11 ฉบับ กรณีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่นายสุเทพฯสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนำเอาที่ดินชาวบ้านและที่หลวงไปให้กับพวกพ้องตนเองซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเรื่องดังกล่าวมีการอภิปรายในสภาจนเป็นเหตุให้นายชวน หลีกภัยนายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภา ต่อมาเมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีข้อกล่าวหาทุจริตมากมายทั้งโครงการชุมชนพอเพียงการก่อสร้างโรงพยาบาล ที่จังหวัดราชบุรีการนำปลากระป๋องและอาหารเน่าไปแจกประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรี2 คน ต้องลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องกล่าวหาการทุจริตอีกหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเช่น โครงการทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง เป็นต้น ดังนั้น การที่นายสุเทพฯ และคนในพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหารัฐบาลว่าทุจริต คอรัปชั่นจึงเป็นการเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นและขอให้ประชาชนได้ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องราวในอดีตด้วยว่าใครกันแน่ที่ทำให้ประเทศชาติต้องเสียหายมหาศาลและใครที่เป็นผู้กอบกู้ประเทศชาติให้พ้นจากการเป็นหนี้ต่างประเทศหลายแสนล้านบาท
เมื่อรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอทางออกเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองด้วยการประกาศยุบสภาแล้วแต่แกนนำผู้ชุมนุมกลับปฏิเสธ และมุ่งที่ล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างการปกครองและสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ เพื่อประโยชน์แก่กลุ่มตนเองและพวกพ้องที่สนับสนุนตนโดยมิได้คำนึงถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ จึงขอสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและบริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งและเพื่อสร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จึงขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับนายสุเทพฯกับพวก อย่างจริงจัง เพื่อเรียกความสงบเรียบร้อยกลับคืนมาโดยเร็วต่อไป