วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตำรวจแถลงข่าว ปืนหาย 800 กระบอกจากค่ายตชด.อุดรฯ ไม่เกี่ยว “ขอนแก่นโมเดล”


จับ 7 คน แจ้งข้อหา 4 ปล่อย 3 คดีครอบครองอาวุธไม่ได้รับอนุญาตหลังจากทหารเข้าตรวจค้นบ้านพัก ตำรวจแถลงคดีขโมยปืนจากค่ายตชด.เพื่อนำไปขายดำเนินคดีอาญาแล้ว ขณะนี้อยู่ใน ป.ป.ท. ยังไม่คืบหน้า ส่วนคดีนี้เป็นคดีครอบครองอาวุธ หนึ่งในผู้ต้องหาระบุ ขโมยปืนไม่เกี่ยวกับการเมือง

จากกรณีที่เว็บไซต์มติชนรายงานเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2560 อ้างแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงว่า มีการจับกุมและสอบสวนผู้ผู้ต้องหา 7 รายที่ก่อเหตุขโมยปืนจำนวน 885 กระบอกจากค่าย ตชด.24 จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่ปี 2555 อยู่ในค่าย มทบ.11 และจะมีการส่งมอบตัวผู้ต้องหาให้กองบังคับการปราบปรามในวันนี้ (15 ก.พ.) นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 17.30 น. ทหารนำตัว 7 ผู้ต้องหามายังกองบังคับการปราบปราม และตำรวจได้แถลงข่าวโดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เป็นประธาน โดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ระบุว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอดีตตำรวจตชด. คดีนี้เป็นการขโมยปืนออกจากค่ายตชด. ซึ่งผู้ต้องหารับว่าดำเนินการจริงอยู่ 20 กระบอก ปัจจุบันตามคืนมาได้ 1 กระบอก โดยตำรวจจากอุดรธานีเจ้าของพื้นที่จะรับตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีที่จังหวัดอุดรธานีในวันพรุ่งนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับ “ขอนแก่นโมเดล” หรือไม่ พล.อ.ศรีวราห์ให้หนึ่งในผู้ต้องหาเป็นผู้ตอบ เขายืนยัน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใดและรายละเอียดอื่นขอให้การในชั้นศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวท่ามกลางสื่อมวลชนที่สนใจทำข่าวจำนวนมากนั้น มี 4 คนที่มีหมายจับและถูกแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนอีก 3 คนนั้นจะได้รับการปล่อยตัวหลังการแถลงข่าว โดยการดำเนินคดีครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีขโมยปืนในค่ายไปจำหน่าย
ทั้งนี้ ขอนแก่นโมเดล หมายถึงคดีที่มีผู้ต้องหา 26 คนที่ถูกแจ้งข้อหาสบคบกันเพื่อก่อการร้าย ผู้ต้องหาถูกจับกุม 1 วันหลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557  ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 2 ราย ผู้ต้องหาส่วนใหญ่อายุ 50-60 ปี และอายุสูงสุดคือ 72 ปี โดยทหารแถลงข่าวว่าทั้งหมดวางแผนร่วมกันเตรียมดำเนินการในจังหวัดขอนแก่น 4 ขั้นตอน คือ 1.ระดมมวลชนให้มากที่สุด 2. เจรจาปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ 3. เจรจาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร 4. ทำลายสถาบันการเงินและนำเงินมาแจกจ่ายให้ประชาชน (ปฏิบัติการโรบินฮูด) “ทั่วปฐพีหนี้เป็นศูนย์” ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจำคุกเป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะได้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในศาลทหารขอนแก่น ปัจจุบันเสียชีวิต 2 ราย และมี 3 รายถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเนื่องจากถูกดำเนินคดีข้อหาเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad
พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช อธิบายเพิ่มเติมว่า การขโมยปืนกว่า 800 กระบอกนั้นผู้กระทำผิดค่อยๆ ทยอยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552-2557 กระทำการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่เป็นเจ้าหน้าที่คลังอาวุธและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปจำหน่าย รายละเอียดเส้นทางการขายหรือจะมีกี่คนที่ร่วมดำเนินการยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2554 มีการลงโทษทางวินัยกับเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งในการไล่ออกและปลดออกจากราชการ และยังมีการดำเนินคดีอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำนวน 5 คดี ขณะนี้คดีอยู่ที่สำนักงานป้องการและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 4 คดี และอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 1 คดี นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีแพ่งให้ตำรวจผู้เกี่ยวข้องจำนวน 10 นายชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 38 ล้านบาท
พล.ต.ต.ชยพล กล่าวว่า การจับกุมตัวและดำเนินคดีที่นำตัวมาแถลงข่าวในวันนี้เป็นคนละคดีกับกรณีปืนหาย 800 กระบอก แต่สืบเนื่องมาจากฝ่ายความมั่นคงเข้าตรวจค้นบ้านผู้กระทำผิดแล้วพบอาวุธปืนเครื่องกระสุนผิดกฎหมาย จึงร้องทุกข์กล่าวโทษที่สภ.เมืองอุดรธานี ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับ 4 ราย คือ 1.ด.ต.สุชาติ ใจตาง ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ร.ต.ท.จันทร์เพ็ชร บุญผ่องศรี ฐาน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครอง  3. ด.ต.กิตติชัย จุลเหลา ฐาน มีเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ในการสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 4.ด.ต.นิมิต สานก้อย ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจู่โจมตรวจค้นดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจาก ในการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2560 มีรายงานว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของ ตชด.สูญหาย ผบ.ตร.จึงสั่งการด้วยวาจาให้พล.ต.อ.ศรีวราห์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วรายงานให้ทราบและเร่งดำเนินการ

ไอลอว์ เผย สนช. 89% เป็นทหาร-ข้าราชการ เห็นชอบกฎหมายทุกฉบับเกิน 90%


 
15 ก.พ. 2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์  แจ้งว่า จากการสำรวจของไอลอว์ พบว่า สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 89% เป็นทหารและข้าราชการ โดยอัตราการโหวตเห็นชอบกฎหมายทุกฉบับของสนช. เกิน 90% นอกจากนี้ สนช. ยังประกอบด้วยคนวัยเกษียณถึง 75% (มีอายุเฉลี่ย 64 ปี) และมีเพศชายคุมสภาสูงถึง 95% 
 

ที่มา 89% เป็นทหารและข้าราชการ

ไอลอว์ ระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 จะกำหนดให้หัวหน้าคสช. พิจารณาแต่งตั้ง สนช. จากบุคคล ที่มีความหลากหลายจากกลุ่มต่างๆ แต่ตลอดกว่าสองปีหกเดือน หัวหน้า คสช. ประกาศแต่งตั้งสมาชิก สนช. ทั้งสิ้นห้าครั้ง พบว่า สัดส่วนของบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่มียศเป็นทหาร 
 
นับถึง 2 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มีการแต่งตั้งครั้งล่าสุด สนช.มีจำนวนสมาชิกครบ 250 คน เป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%) ตำรวจ 12 คน (5%)  ข้าราชการ 66 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่น ๆ 8 คน (3%) หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด
 
จาก สนช. จำนวนทหาร 145 คน สามารถแบ่งเป็น ทหารประจำการ 90 คน และทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว 55 คน หากแบ่งตามเหล่าทัพ จะเป็น ทหารบก 93 คน ทหารเรือ 28 คน และทหารอากาศ 24 คน โดยจากจำนวน สนช. ทหารทั้งหมด ประกอบไปด้วยผู้นำกองทัพทั้งอดีตและปัจจุบัน 14 คน ดูจากช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในกองทัพของแต่ละคนทำให้เห็นว่า ทหารทุกคนที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็น สนช.ทุกคน ยกเว้น 6 คน ที่เป็นรัฐมนตรี

ผู้ออกกฎหมายส่วนใหญ่เป็นคน "วัยเกษียณ" และ "เพศชาย"

ไอลอว์ ระบุอีกว่า หากมาดูอายุของสมาชิกทั้งหมด (ยกเว้นพลโท ธนเกียรติ ชอบชื่นชม ค้นไม่พบวันเกิด) พบว่าค่าเฉลี่ยอายุทั้งสภาอยู่ที่ 64 ปี ขณะที่คนวัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 185 คน หรือคิดเป็น 75% ของทั้งสภา สมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุด คือ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อายุ 51 ปี ขณะเดียวกันคนที่อายุมากที่สุดคือ สมพร เทพสิทธา อดีตรองปลัดกระทรวงเศรษฐการ อายุ 92 ปี หากแบ่งตามเพศกำเนิด เป็นเพศชาย 238 คน และเพศหญิง 12 คน เรียกว่าผู้ชายครอบครองพื้นที่ของสภาถึง 95%

กว่า 36 คน เข้าสู่สภาจากการ "แต่งตั้ง" มากกว่าหนึ่งครั้ง

ในจำนวนสมาชิก สนช. ทั้งหมด 250 คน มีอย่างน้อย 36 คน ที่เข้าสู่ตำแหน่งนิติบัญญัติด้วยการแต่งตั้งมากกว่าหนึ่งครั้ง ย้อนกลับไปในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนิติบัญญัติ จำนวนสี่ครั้ง คือสนช. ปี 2549 ส.ว.แต่งตั้ง ปี 2551 ส.ว.แต่งตั้ง ปี 2554 และ สนช. ปี 2557 ชุดปัจจุบัน  โดยมีสองคนที่อยู่ในตำแหน่งครบทั้งสี่สมัย คือ ตวง อันทะไชย และ สมชาย แสวงการ
 

90% เห็นชอบ กม.ทุบฉบับ และข้าราชการยึดอำนาจออกกม.

ไอลอว์ รายงานอีกว่า ในด้านการพิจารณาร่างกฎหมาย นับถึงสิ้นปี 2559 สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.สำเร็จอย่างน้อย 214 ฉบับ คณะรัฐมนตรีเสนอร่างกฎหมายมากที่สุด 185 ฉบับ โดยร่างพ.ร.บ. ที่ ครม. เสนอส่วนใหญ่เป็นร่างพ.ร.บ.ที่หน่วยราชการต่างๆ เสนอมา ซึ่งพบว่าหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็น สนช. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น ร่าง พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ยังพบว่า นักธุรกิจที่ถูกแต่งตั้งเป็นสนช. ก็มีบทบาทในการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเอง เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประมง
 
ขณะที่ผลการลงมติในร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกิน 90% ทุกฉบับ เมื่อลงรายละเอียดการลงมติใน ร่างพ.ร.บ.ที่สังคมมีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย ก็พบว่าไม่มีร่างพ.ร.บ.ฉบับไหน ที่เสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบ หรือแม้แต่มีมติเห็นชอบอย่างเฉียดฉิวก็ไม่มี ตัวอย่าง ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีมติเห็นชอบถึง 97% จากผู้ลงมติทั้งหมด 173 เสียง เห็นชอบ 168 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง หรือ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่มีมติเห็นชอบ 97% จากผู้ลงมติทั้งหมด 163 เสียง 158 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
 

ประวิตร ขออย่าไปกดดันกองทัพเรือ ช็อปเรือดำน้ำจีน ระบุตั้งงบฯจัดซื้อไว้เรียบร้อย


พล.อ.ประวิตร เผยความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือ ระบุทุกอย่างมีการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อไว้เรียบร้อย หากถึงเวลาไม่อยากให้ไปกดดันกองทัพเรือ
15 ก.พ. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ เมื่อ เวลา10.00 น. ลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชประสงค์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือ หากไม่นำเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้จะไม่ทันปีงบประมาณ ว่า งบประมาณในการจัดซื้อมีอยู่แล้ว หากกองทัพเรือเสนอเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำเข้า ครม.ไม่ทันในสิ้นเดือนนี้ ก็ไม่เป็นไร ตนรับผิดชอบอยู่แล้ว ซึ่งทุกอย่างมีการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อไว้เรียบร้อย เป็นเรื่องของกองทัพเรือที่จะเสนอมา หากถึงเวลาไม่อยากให้ไปกดดันกองทัพเรือ ทั้งนี้ กองทัพเรือจะจัดซื้อเรือดำน้ำแน่นอน แต่ไม่ใช่ได้เรือดำน้ำในตอนนี้ เนื่องจากมีการทำแผนเอาไว้ประมาณ 6 ปี
 
มีรายงานข่าวจากกองทัพเรือ ว่า ขณะนี้ทางกองทัพเรือเตรียมเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนจำนวน 1 ลำ 3 วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ต่อ พล.อ.ประวิตร หลังจากกองทัพเรือได้มีการจัดทำรายละเอียดและพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วและคาดว่าจะนำเสนอได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเข้าที่ประชุมสภากลาโหม หลังจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนนี้ต่อไป

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ยุ่งปม 7 สนช.ขาดประชุม ชี้เป็นเรื่องต้นสังกัดตรวจสอบ


ปมไอลอว์แฉ 7 สนช. ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก ผู้ตรวจการแผ่นดิน บอกไม่ยุ่ง ชี้เป็นเรื่องต้นสังกัดตรวจสอบ ด้าน ประธาน สนช. ยันว่าจะไม่มีการตั้งกรรมการสอบ มั่นใจไม่กระทบต่อภาพลักษณ์

15 ก.พ.2560 จากกรณีที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้ (15 ก.พ.60) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้หากมีผู้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินต้องรับเรื่องไว้แต่ขณะนี้ทราบว่า ทาง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และหากทางหน่วยงานต้นสังกัดได้ตรวจสอบทุกด้านอย่างรอบคอบ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบอีก เพราะการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ต้องนำทุกเรื่องมาตรวจสอบ 
 
ขณะที่ พรเพชร ยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีไอลอว์ เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิก สนช. ที่พบว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 คนที่ขาดประชุมเป็นประจำจนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก สนช. เว้นแต่ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา เนื่องจากมีการยื่นใบลาอย่างถูกต้อง ส่วนที่ไม่ได้ร่วมลงมตินั้นจะนับว่าเป็นการขาดประชุมไม่ได้ โดยเรื่องนี้ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของ สนช. เนี่องจากผู้ที่ไม่ได้ร่วมลงมติมีเหตุผลอธิบายได้ทุกกรณี ไม่ได้หายไปเฉยๆ หรือขาดการลงมติโดยไม่ได้ลา อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมประชุมและตนได้เข้มงวดกับการลาประชุมอยู่แล้ว โดยสมาชิกที่ลาต้องแสดงหลักฐานการไปปฏิบัติราชการที่ชัดเจน

ศรีสุวรรณ จ่อยื่นสอบจริยธรรม 7 สนช. จอมขาดประชุมสภา พรุ่งนี้


เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญฯ เผยเตรียมยื่นสอบจริยธรรม 7 สนช. ขาดการประชุมสภา เกินกว่า 1 ในสาม ชี้ขัดต่อ รธน. ประมวลจริยธรรมของ สนช. และยังขัดต่อค่านิยมหลัก 12 ประการเองอีกด้วย ซัดไม่ควรเป็นตัวอย่างแก่เยาวชนไทย
15 ก.พ.2560 จากกรณีที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้เปิดเผยผลสำรวจ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่พบสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันนี้ (15 ก.พ.60) ผู้สื่อข่าวได้ได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า กรณีดังกล่าวไม่ควรให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมไทย เยาวชนไทย ในยุคปฏิรูปนี้ จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ คณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านเลขาธิการสภา สนช. เพื่อไต่สวน สอบสวน และลงโทษ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับต่อไป 
โดย ศรีสุวรรณ แจ้งว่า จะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.พ. 2560 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 ชั้นล่าง
ศรีสุวรรณ ระบุว่า สนช. อย่างน้อย 7 มีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  มาตรา 9 (5) คือขาดการประชุมสภา สนช. เกินกว่า 1 ในสาม ตามข้อ 82 ของบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 ทั้งนี้แม้จะมีความพยายามช่วยเหลือเอื้อประโยชน์กันของประธาน สนช. ว่ามีการยื่นใบลาแล้วทุกคนนั้น แต่เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของ 7 สนช.หรือมากกว่านั้นที่ปรากฎเป็นการทั่วไปนั้นเข้าข่ายความผิดหรือขัดหรือแย้งต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ.2558 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 14 ข้อ 16 ข้อ 17 และข้อ 21 โดยชัดแจ้ง โดยเฉพาะ ข้อ 14 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า "สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน" นอกจากนั้นกรณีดังกล่าว ยังขัดต่อค่านิยมหลัก 12 ประการของ หน.คสช.ข้อ 12 อีกด้วย

'ยิ่งลักษณ์' ถามหาความยุติธรรม หลัง 'วิษณุ' พร้อมลุยยึดทรัพย์ โดยไม่รอคำสั่งทุเลา


ยิ่งลักษณ์ โพสต์ถามหาหลักความยุติธรรมกับ 'วิษณุ'  หลังระบุว่าพร้อมที่จะยึดทรัพย์ตนทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากศาลในเรื่องการขอทุเลาคำสั่งการทางปกครองคดีจำนำข้าว
<--break- />
15 ก.พ.2560 วานนี้ (14 ก.พ.60) สื่อหลายสำนัก เช่น เดลินิวส์และโลกวันนี้รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับกรมบังคับคดี และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน กรณีทุจริตระบายข้าวแบบต่อรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ว่า นับแต่วันที่มีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งคดีมีอายุความ 10 ปี ระหว่างนี้หากพบมีทรัพย์สินที่ใดสามารถตามยึดหรืออายัดได้ เว้นแต่จะมีการร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือทุเลาการบังคับคดี  
สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมบังคับคดีจะเป็นผู้ยึดหรืออายัดทรัพย์ ส่วนกระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้นำสืบทรัพย์ เพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไป ซึ่งในคดีซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์นำสืบทรัพย์ เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหนี้ และหากพบว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินตามกฎหมายเรามีช่องทางดำเนินการ  ขณะเดียวกันถ้ามีทรัพย์ไม่พอก็ดำเนินการยึดเท่าที่มี
สำหรับกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น  วิษณุ ระบุว่า ผู้นำสืบทรัพย์ คือ กระทรวงการคลัง และกรมบังคับคดีจะเป็นผู้ยึดหรืออายัดทรัพย์
ต่อกรณีคำถามยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นขอทุเลาการบังคับคดีไว้ขณะนี้ ก่อนยึดทรัพย์ต้องรอคำสั่งศาลปกครองก่อนหรือไม่ นั้น วิษณุ กล่าวว่า ทราบว่ามีการยื่นเอาไว้ แต่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่ง ระหว่างนี้จึงสามารถดำเนินการยึดหรืออายัดได้ และหากกระบวนการยึดหรืออายัดทรัพย์ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ปรากฏว่าต่อมาศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทรัพย์สินที่ยึดไปแล้วไม่จำเป็นต้องคืน เพียงแต่ยึดเพิ่มเติมไม่ได้
 
ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra'  ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ตนไม่เข้าใจว่านักกฎหมายใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและไว้วางใจจะใช้ความคิดของตนเองในการให้ข่าวเรื่องการจะยึดทรัพย์สินของตน โดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนได้นำคดีไปอยู่ในระหว่างการขอทุเลาคำสั่งและรอผลการพิจารณาจากทางศาลปกครอง
 
ยิ่งลักษณ์ โพสต์ด้วยว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับดิตนวันนี้ ท่านกลับไม่ได้คำนึงถึงหลักความยุติธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้คำนึงว่า ศาลกำลังจะพิจารณาการร้องขอของตนอยู่แม้แต่น้อย แต่กลับให้ข่าวว่า พร้อมที่จะยึดทรัพย์ตนทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากศาลในเรื่องการขอทุเลาคำสั่งการทางปกครอง และหากศาลมีการทุเลาการบังคับคดีค่อยหยุดกระบวนยึดทรัพย์ แต่ทรัพย์ที่ยึดไปก่อนหน้านั้นก็จะไม่คืน
 
"ดิฉันจึงอยากจะถามอีกครั้งว่านี่หรือนักกฎหมายของรัฐที่เพียรพูดว่าจะคำนึงถึงความยุติธรรมและเป็นกลางกับทุกฝ่าย แล้วอย่างนี้จะหวังให้ผู้เป็นรัฐบาลยุติธรรมกับผู้อื่นในยามบ้านเมืองต้องการเห็นการปรองดองแบบนี้เหรอคะ ขอตั้งคำถามไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ" ยิ่งลักษณ์ โพสต์