วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เดินหน้าโหวตรธน.วาระ 3 “รัฐสภา”



เดินหน้าโหวตรธน.วาระ 3 “รัฐสภา” ย้ำไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ
อ้างแก้แค่ มาตรา 291 เพียงอย่างเดียว

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (17 ก.ค.) ที่อาคาร 2 รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้เรียกประชุมส.ส.และส.ว.เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหากรณีที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นถอดถอน ส.ส. ส.ว.416 คนที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ1 และวาระ2 รวมถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ถ้าจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ ควรให้ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน โดยมีส.ส.และส.ว.ประมาณ 50-60 คน เข้าร่วมหารือ

ภายหลังการหารือเป็นเวลา 2 ชั่วโมง นายนิคม รองประธานวุฒิสภา แถลงว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกันโดยเห็นเป็น 2 แนวทางคือ 1.กรณีการยื่นถอดถอนส.ส.-ส.ว. 416 คน ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงจากเดิม 15 วัน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 17 ก.ค. ออกไปอีก 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17 ส.ค. อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่า ควรรอคำวินิจฉัยส่วนตัว และคำวินิจฉัยกลางที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามาพิจารณาดูให้รอบคอบก่อน เพราะยังมีเวลาพิจารณาอีก ขณะนี้มีส.ส.และส.ว.มาให้ยื่นเรื่องให้สำนักกฎหมาย รัฐสภา มาเป็นผู้ดำเนินการแก้ข้อกล่าวหาให้แล้ว 300 คน

นายนิคม กล่าวว่า 2.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ 1.ให้เดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ทันที จากนั้นค่อยทำประชามติ ซึ่งสามารถทำได้ 2.ปฏิบัติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ไปทำประชามติก่อน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้นำเรื่องดังกล่าวหารือต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะดำเนินการอย่างไร หากที่ประชุมเห็นว่า ให้โหวตวาระ 3 ก็จะโหวตลงมติในวาระ 3 ด้วยการโหวตขานชื่อทีละคน จากนั้นจะเข้าสู่มาตรา 150 ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน หรือถ้าที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรเดินหน้าให้ไปทำประชามติก่อน ก็ต้องไปทำตามประชามติ โดยจะให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้เสนอทางออก

ด้านนายเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวว่า จะมีการบรรจุวาระเรื่องนี้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประธานรัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติเชื่อว่า เรื่องนี้ต้องไม่ล่าช้า คาดว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นวาระแรกในการเปิดประชุมสภาสามัญทั่วไป ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในวันนี้ที่เข้าร่วมประชุม แม้จะไม่ใช่สมาชิกทั้ง 416 คน แต่ก็ถือเป็นตัวแทนพรรค วิปรัฐบาล ส.ว.ที่จะนำมติในครั้งนี้ไปแจ้งให้สมาชิกทราบ ทั้งนี้ที่ประชุมได้วิเคราะห์กันแล้วเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพียงมาตราเดียว ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ เท่าที่ฟังดูแล้วส่วนใหญ่ที่ประชุม อยากให้โหวตลงมติวาระ 3 เลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การแก้ไขมาตรา 291 จะไม่เป็นจุดเริ่มต้นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายเจริญถามย้อนกลับว่า เราคงไปคิดแทนส.ส.ร.ไม่ได้ว่า จะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ แทนที่ประชุมยืนยันว่า เป็นการแก้ไขแค่มาตราเดียวคือ มาตรา 291 เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่า หากมีการเดินหน้าลงมติในวาระ 3 จะมีผู้นำไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญอีกว่า ผิดมาตรา 68 นายเจริญตอบว่า “ไม่กังวล คงไปห้ามไปไม่ได้ กลัวแค่ว่า จะไม่มีคนไปร้อง”

เมื่อถามว่า หากมีการโหวตผ่านวาระ 3 ไปแล้ว นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา จะทำอย่างไร นายเจริญ กล่าวว่า เรื่องนี้มีขั้นตอนอยู่ว่า ถ้าไม่มีการโปรดเกล้าฯลงมา ก็ให้นำเรื่องกลับมาให้รัฐสภาลงมติรับรองด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ ตามมาตรา 151 ซึ่งเชื่อว่าคงไม่ผ่านแน่นอนเพราะต้องใช้เสียงค่อนข้างมาก.

"ทักษิณ" โผล่อินโดฯ ร่วมเวทีเสวนาปรองดองอาเซียน-เรียกร้องทุกฝ่ายในไทยให้อภัยกัน

 ทักษิณ โผล่ที่อินโดฯ          วันที่ 17 ก.ค. เว็บไซต์ข่าวจาการ์ตาโพสต์ หนังสือพิมพ์ชื่อดังของประเทศอินโดนีเซีย รายงานว่า ในวันนี้นายสุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย รวมถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นแสดงทัศนะบนเวทีการเสวนาหัวข้อ "Peace and Reconciliation in Southeast Asia" (สันติภาพและการปรองดองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จัดโดยนิตยสารสตราเทจิก รีวิว ซึ่งมีนายฮัสซัน วิรายุท อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย นั่งแท่นเป็นบรรณาธิการบริหาร

สำหรับบุคคลสำคัญที่ร่วมการเสวนาบนเวทีดังกล่าว ประกอบด้วยนายรามอส ฮอร์ตา นายกรัฐมนตรีติมอร์เลสเต นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านและอดีตรองนายกฯ มาเลเซีย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไทย โดยการขึ้นเวทีกล่าวเสวนาต่อสาธารณะของพ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในชาติกลุ่มอาเซียนนับตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549
ทักษิณโผล่ที่อินโดฯ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมงานเสวนาได้กล่าวว่า ต้องการให้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดองอีกครั้ง และหัวใจสำคัญของการปรองดองคือการให้อภัย ซึ่งตนอยากให้ทุกฝักฝ่ายทางการเมืองในประเทศไทยให้อภัยกันได้แล้ว

"ทุกคนพูดเหมือนกันหมดเลยว่าการปรองดองต้องมีการนิรโทษกรรมด้วย ซึ่งกระบวนการปรองดองนี้ควรจะเริ่มมาตั้งนานแล้ว" พตท.ทักษิณกล่าว

นอกจากนี้ พตท.ทักษิณยังระบุว่า เหตุที่ตนเองต้องการกลับประเทศไทย ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งส่วนตัวอยากให้แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น

-------------------------------------
ข้อมูลที่มา ข่าวสดออนไลน์

เอียน ''''จริยธรรม'''' แต่ต้องยืนยันจริยธรรมประชาธิปไตย

เอียน ''''จริยธรรม'''' แต่ต้องยืนยันจริยธรรมประชาธิปไตย
Tue, 2012-07-17 21:18
 (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)
นักปรัชญาชายขอบ
         ระยะหลังนี้ สังเกตว่าผู้คนในแวดวงที่ติดตามการเมืองจะออกอาการเอียนสิ่งที่เรียกกันว่า “จริยธรรม” มาก เนื่องจากเบื่อหน่าย “มายาคติ” ของการใช้คำว่า “จริยธรรม” เพื่อกดเหยียดนักการเมืองและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เลวบริสุทธิ์เกินมนุษย์ปกติทั่วไป และอ้างจริยธรรมอวยเครือข่ายอำมาตย์ให้ดีงามสูงส่งเกินมนุษย์ปกติเช่นกัน 

        ดังคำว่า “ไร้จริยธรรม” ที่ขยายความครอบความชั่วร้ายทุกมิติ เช่นทุจริตคอรัปชัน โกงทั้งโคตรเผด็จการรัฐสภา โง่ ถูกสนตะพาย ขี้ข้าทักษิณ ล้มสถาบัน ฯลฯ ดูเหมือนจะเลือกใช้กับ “นักการเมือง” และฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ส่วนคำว่า “มีจริยธรรม” ซึ่งขยายความครอบคลุมความเป็นคนดี กตัญญูต่อแผ่นดิน ซื่อสัตย์ เสียสละ จงรักภักดี ฯลฯ ดูเหมือนจะสงวนไว้ใช้ยกย่อง “เครือข่ายอำมาตย์” และฝ่ายที่เห็นคล้อยตามเท่านั้น ที่คือการสร้าง “มายาคติทางจริยธรรม” ที่ทำให้สังคมเรามองนักการเมือง ฝักฝ่ายทางการเมือง และเครือข่ายอำมาตย์อย่างโรแมนติก ไม่สมจริง

ท่ามกลางภาวะเอียนจริยธรรมดังกล่าวนั้น หลายคนเสนอว่า ในทางการเมืองเราไม่ควรอ้างเรื่องจริยธรรม เพราะคำว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก ความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีทางเห็นตรงกันหรือหาข้อสรุปให้ตรงกันได้ เราควรอ้างอิงกฎหมายเท่านั้น เพราะเป็นกติกาที่ทุกคนเห็นสอดคล้องกันได้ ยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่เราก็เผชิญวิกฤตอีกกับปัญหาเรื่อง “สองมาตรฐาน” ในการบังคับใช้กฎหมาย การอ้างการหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่มีความหายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง การตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน (ดังล่าสุดคือกรณีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยตรงเพื่อวินิจฉัยหรือไม่) เป็นต้น
เป็นความจริงว่า เราอยู่ในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายคือหลักสำคัญในการจัดการปัญหาขัดแย้งที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของกันและกัน แต่ในโลกของความเป็นจริงมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างมีสวัสดิภาพไม่ใช่เพราะการยึดถือกฎหมายอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการยึดถือคุณค่าอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น คุณค่าทางจริยธรรม เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น กรณีอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกสื่อ ASTV ผู้จัดการแต่งภาพหน้าลิงขึ้นปกและใส่ข้อความว่า “วรเจี๊ยก” ถามว่าในทางกฎหมาย อาจารย์วรเจตน์สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ไหม ก็ฟ้องได้ แต่อาจารย์วรเจตน์ไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องในกรณีเช่นนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนความหมายของ “จริยธรรม” ที่เรียกกันว่ามี “สปิริต” ความมี “ใจเปิดกว้าง” หรือขันติธรรมทางการเมือง (tolerance)
หรือในประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า แม้จะมีกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ แต่เขาก็ไม่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของรัฐจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แม้กระทั่งล้อเลียนในการ์ตูนที่เขียน “ตัวเป็นหมา หน้าเป็นคน” หรือด่าหยาบๆ คายๆ (ดังที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยกมาเป็นตัวอย่างบ่อยๆ) แต่เขาก็ถือกันว่าเป็นไปได้ที่บุคคลสาธารณะอาจจะโดนแบบนั้น ฉะนั้น หากไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายในเรื่องส่วนตัวจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศอย่างร้ายแรง หรือไม่ใช่เรื่องหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันจริงๆ ก็จะไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่น ดังเราแทบจะไม่ได้ข่าวว่ามีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐกับประชาชนของเขา หรือชาวต่างชาติ เหมือนที่ใช้กันอย่างเกินพอเพียงเช่นประเทศไทย

หรือหากจะยึดถือกันว่า ปัญหาขัดแย้งทุกเรื่องต้องอ้างอิง หรือยุติด้วยการใช้กฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ต่อให้เป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย มีระบบยุติธรรมก้าวหน้ามาก ปัญหาก็ยังมีว่าสังคมที่ความขัดแย้งแทบทุกเรื่องต้องไปเคลียร์กันด้วยการขึ้นโรงขึ้นศาลเท่านั้น คือสังคมที่น่าอยู่จริงหรือ
สำหรับผมคิดว่า สังคมที่น่าอยู่ควรมีระบบกฎหมาย ระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณค่าอื่นๆ เช่น “คุณค่าทางจริยธรรม” มาทำหน้าที่เชื่อมประสานการอยู่รวมกันของสังคมให้สงบสุขด้วย บางเรื่องเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการใช้จริยธรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย (เช่นกรณีอาจารย์วรเจตน์เป็นต้นที่เลือกจะใช้ขันติธรรมมากว่าที่จะใช้กฎหมาย)

พุทธศาสนาเองก็ให้ความสำคัญมากกับการใช้จริยธรรมเชื่อมประสานการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเช่น ในยุคสังคมราชาธิปไตย พุทธศาสนาจะสอนให้ผู้ปกครองมีทศพิธราชธรรมข้อ “ขันติ” ความอดทนหนักแน่นต่อถ้อยคำว่ากล่าวเพ่งโทษต่างๆ จากราษฎร และ “อักโกธะ” ความไม่โกรธราษฎร เนื่องจากในยุคราชาธิปไตยผู้ปกครองคือกฎหมาย หากผู้ปกครองไร้ขันติธรรมและอักโกธะรัฐราชาธิปไตยก็คงจะหาความสงบสุขได้ยาก

แต่ยุคนี้เราอยู่ในรัฐประชาธิปไตยที่เป็นนิติรัฐปกครองโดยกฎหมาย จริยธรรมของผู้ปกครองอาจไม่จำเป็นเท่ากับการสร้าง “ระบบที่ดี” คือระบบสมสมดุลระหว่างการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงคือไม่ว่าระบบที่ดีอะไรก็ย่อมต้องการ “คุณค่า” ที่พึงประสงค์บางอย่าง คุณค่านี้แหละที่เราเรียกว่า “คุณค่าทางจริยธรรม” (moral values) เช่น คุณค่าทางจริยธรรมในระบบประชาธิปไตยก็คือ การมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเราเรียกคุณค่านี้ว่า คุณค่าเชิงหลักการ หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย
ฉะนั้น ความมีจริยธรรมพื้นฐานของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยก็คือ ความเคารพ ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ถ้าจะถามหา “คนดี” ของสังคมเช่นนี้ก็หมายถึงคนที่เคารพ ปกป้อง และ/หรือต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพในสังคมนั่นเอง

และด้วยหลักจริยธรรมพื้นฐานนี้เองที่เราใช้เป็น “มาตรฐาน” เพื่อตั้งคำถามถึง นักการเมืองที่ดี สื่อที่ดี นักวิชาการ ปัญญาชนที่ดี มวลชนที่ดี ตลอดถึงตุลาการ องคมนตรี ทหาร อำมาตย์ที่ดี ฯลฯ ความมีจริยธรรมของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียกร้องเสมอไป

แต่ “จริยธรรมมายาคติ” ดังที่พยายามตอกย้ำปลูกฝังกันเรื่องกตัญญูต่อแผ่นดินเป็นต้น ซึ่งมีความหมายที่คลุมเครือ ไม่ยึดโยงกับจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซ้ำยังมีอิทธิพลทางจิตวิทยาสังคมให้ประชาชนเชื่อถือศรัทธาคนบางคน บางกลุ่ม ที่ยกย่องกันว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ไม่คดโกง แต่ไม่ตั้งคำถามว่า เขาซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เคารพอำนาจของประชาชนหรือไม่ มีจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยหรือไม่

ซ้ำร้ายจริยธรรมมายาคติเช่นนั้นยังกลายเป็นฐานให้คนบางกลุ่มอ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมเพื่อทำรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า สังคมนี้ยอมให้อภิสิทธิ์แก่คนดีบางคน บางกลุ่มละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยได้ทุกเมื่อ และเมื่อเกิดการกระทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยโดยศาล สื่อ นักวิชาการ มวลชนบางฝ่ายที่อ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมในความหมายที่ไม่ได้สนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จึงทำให้เราเอียนคำว่า “จริยธรรม” เต็มที

แต่จะอย่างไรก็ตาม จริยธรรมประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพนั้นย่อมเป็นทั้ง “วิถี”และ “เป้าหมาย” ในตัวของมันเอง และมันคือมาตรฐานคัดสรรนักการเมืองที่ดี สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ ที่ดี ฉะนั้น มันจึงเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตั้งคำถามกับทุกฝ่าย

และหากใช้มาตรฐานนี้กันจริงๆ แน่นอนว่านักการเมือง นักวิชาการ มวลชน ฯลฯ ที่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหาร ย่อมเป็นผู้ไร้จริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย
ทว่าแม้แต่นักการเมืองฝ่ายที่อ้างว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขามีจริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย หากเมื่อพวกเขาเข้ามามีอำนาจรัฐแล้วไม่ได้ต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือเปลี่ยนโครงสร้างที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ฉะนั้น จริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยคือการเคารพ ปกป้อง และ/หรือต่อสู้เพื่อให้สังคมนี้มีระบบโครงสร้างที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างอารยประเทศ จึงถือเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตัดสินความเป็น “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น)

ซึ่งเวลานี้สังคมเรากำลังขาดแคลน “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น) ตามหลักจริยธรรมประชาธิปไตย หรือมาตรฐานสากลที่ว่ามานี้อยู่หรือไม่!

ถูกจับด้วยมาตรา 112 เพราะขายซีดีสารคดีสำนักข่าว ABC

รายงานการสืบคดีประวัติศาสตร์ ถูกจับด้วยมาตรา 112 เพราะขายซีดีสารคดีสำนักข่าว ABC
17 กรกฎาคม 2555
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์

Nithiwat Wannasiri

 สำหรับพี่น้องท่านใดที่สนใจด้านกฎหมาย หรือกำลังศึกษาเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ หากในวันพรุ่งนี้ท่านมีเวลาว่าง ก็ขอแนะนำให้มาร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานฝ่ายโจทก์(พนักงานสอบสวน)

ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่นายเอกชัย หงส์กังวาน เป็นจำเลย จากการขายเอกสารวิกิลีคส์และ CD สารคดีข่าวของออสเตรเลีย

ซึ่งเป็นคดีแรกของยุคนี้ที่สู้ในส่วนของ"เนื้อหา" ว่า"เป็นข้อเท็จจริงหรือหมิ่นประมาท" โดยทนาย"อานนท์ นำภา" และจบจากสืบพยานโจทก์ มาร่วมลุ้นกันว่าศาลจะยอมออกหมายเรียก 2 องคมนตรี (สิทธิ์ ,เปรม) และอานันท์ มาเป็นพยานให้กับจำเลยถึงข้อความที่พวกเขาวิพากษ์องค์รัชทายาทในเอกสารวิกิลีคส์หรือไม่!

พร้อมขอเชิญเข้าร่วมฟังการสืบพยานต่อในวันพรุ่งนี้ 18 กรกฎาคม เวลา 9.00 น. ห้อง 802 ศาลอาญารัชดา

คดี112 ประวัติศาสตร์ ไม่ควรพลาดครับ

สำหรับการสืบพยานวันนี้ ประชาไทรายงาน " สืบพยานวันนี้ คดี 112 ขายซีดีสารคดี ABC - วิกิลีกส์แปลไทย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ (17 ก.ค.55) จะมีการสืบพยานวันแรก ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจกท์ฟ้องนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดหมิ่นสถาบัน ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และขายซีดีโดยไม่มีใบอนุญาตจากนายทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

การสืบพยานดังกล่าวมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 17 -20 ก.ค.55 โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ 2 วันและสืบพยานจำเลย 2 วัน

เอกชัย เดิมมีอาชีพขายหวยบนดิน หลังรัฐประหารในปี 2549 เขาเริ่มสนใจการเมือง และเริ่มเข้าฟังการปราศรัยทางการเมืองเป็นระยะ เขาถูกจับกุมตัวในวันที่ 10 มี.ค.54 ที่บริเวณอนุสรณ์ทหารอาสา ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติซึ่งมีการปราศรัยของกลุ่มแดงสยาม เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าชื่นชอบแนวคิดของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จึงไปฟังปราศรัยแต่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มแดงสยามแต่อย่างใด

เขาถูกกล่าวหาว่าขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย ราคา 20 บาท ซึ่งมีเนื้อหาบางตอนพาดพิงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและพระวรชายา รวมทั้งขายเอกสารวิกิลีกส์ใน ฉบับแปลไทย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนทนาถึงเบื้องหลังของการเกิดรัฐประหารในปี 2549 ของบุคคล 3 คน คืออานันท์ ปันยารชุน ,สิทธิ เศวตศิลา, เปรม ติณสูลานนท์

เอกชัย รับสารภาพในชั้นสอบสวน และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ราว 8 วัน ในวันที่ 18 มี.ค.54 บิดาของเขา อายุ 82 ปีได้นำเงินสด 500,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ราวเดือนพฤษภาคม 2555 ฝ่ายจำเลยได้ร้องขอต่อศาลให้ออกหมายเรียก อานันท์ ปันยารชุน, สิทธิ เศวตศิลา, เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ออกหมายเรียกหรือไม่ในวันสืบพยานวัน แรก (17 ก.ค.) นี้ด้วย


ข้อความในการสืบพยานโจทก์ 
อ่านได้ที่่นี่.... http://thaienews.blogspot.com/ 
 (ขอสนับสนุนว่า ท่านต้องคลิ๊กเข้าไปอ่าน)

ขอบคุณ :: ข้อมูลที่มา ThaiEnews

ศึกสายเลือดคนดีเขย่า TPBS

ใบตองแห้ง ''''Media inside Out'''': ศึกสายเลือดคนดีเขย่า TPBS

Posted: 16 Jul 2012 02:31 AM PDT

        เผลอแป๊บเดียว TPBS หรือองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ก่อตั้งมาได้ 5 ปีแล้วนะครับ ซึ่งแปลว่าเราได้ใช้เงิน “ภาษีบาป” สร้างทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ ไปมากกว่า 10,000 ล้านบาท

       แต่แหม แค่ได้ดู ณาตยา แวววีรคุปต์ เอา NGO กับชาวบ้านมาออกเวทีสาธารณะวันละโหล ก็คุ้มแล้วครับ รายการอย่างนี้จะไปหาสปอนเซอร์ได้ที่ไหน เพราะจัดช่องไหนก็ไม่มีคนดู (อ้าว)

รายการดีๆ อย่างนี้ TPBS ทุ่มทุนสร้างอย่างคุ้มค่าภาษีบาป กระทั่งมีเสียงเล่าอ้างว่า เมื่อตอนน้ำท่วมภาคใต้ บังเอิ๊ญทีมช่างภาพขาด ไม่พอถ่ายทำ “เวทีสาธารณะ” ทางสถานีต้องเรียกทีมรายงานสดน้ำท่วมภาคใต้ขึ้นมา ยกเลิกรายงานสดไปเลย ภูมิปัญญาชาวบ้านสำคัญกว่า คริคริ

เผลอแป๊บเดียว เทพชัย หย่อง ก็จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ TPBS ครบวาระในวันที่ 9 ตุลาคม 2555 นี้ ซึ่งอันที่จริง “เฮียสิ่ว” แกรับตำแหน่งมาตั้งแต่ 15 มกราคม 2551 แต่ตอนนั้นแค่รักษาการ แล้วจึงได้รับเลือกให้เป็น ผอ.อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ตุลาคม.2551

ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลขิงแก่ยึดไอทีวีมาตั้ง TPBS ต้องสรรหา ผอ.ใหม่ พี่หมอพลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ออกประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ผอ.TPBS ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2555 โดยกำหนดระยะเวลารับสมัครตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งแปลว่าปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ TPBS จะยังไม่ประกาศเป็นทางการว่ามีใครสมัครบ้าง แต่ก็รู้กันแซ่ด ว่ามี 4 คน ได้แก่ เฮียสิ่วเจ้าเก่า, สมชัย สุวรรณบรรณ ณ BBC ผู้สร้างเซอร์ไพรส์ ลาออกจากกรรมการนโยบายมาสมัคร ผอ.ทั้งที่เหลือวาระดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี, วสันต์ ภัยหลีกลี้ รอง ผอ.ด้านปฏิบัติการ อดีต ผอ.อสมท.และ ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ ภาควิชาศิลปะการละคร อักษรศาสตร์ จุฬาฯ มือเขียนบทละครช่อง 3 เจ้าของรางวัลนับไม่ถ้วน หนึ่งในกรรมการบริหาร TPBS

คนในล้วนๆ เลยครับ จะเปรียบเป็น “ศึกสายเลือด” ก็ได้

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระดับแม่บ้าน TPBS ยังรู้ว่า ศึกครั้งนี้ชิงชัยกันระหว่างสมชัยกับเทพชัย BBC Vs Nation เท่านั้น โดยฝ่ายแรกต่อครึ่งควบลูก ไม่มีใครรอง ขณะที่วสันต์ ภัยหลีกลี้ ต้องหลีกลี้หนีภัยสถานเดียว วสันต์ได้เป็นรอง ผอ.เพราะเฮียสิ่วหิ้วมา ขณะที่สมชัยก็เป็นหัวหน้าเก่า ณ BBC เพียงแต่ตอนแรก ทั้งคู่กั๊ก ไม่บอกว่าจะสมัคร วสันต์ถามเฮียสิ่วครั้งแล้วครั้งเล่า ก็กบไต๋อยู่นั่นแหละ วสันต์จึงยื่นใบสมัครไปก่อน แต่พอสมชัยลาออกลงสมัคร เฮียสิ่วก็ประกาศ กรูอยู่เฉยไม่ได้แร้ว ขอลุย

เจอรุ่นใหญ่เขาดวลกันอย่างนี้ ก็น่าเสียดาย วสันต์ไม่ถอนตัวก็เหมือนถอน วสันต์เนี่ยถึงใครจะมองว่ารุ่งมณี เมฆโสภณ ส่งเข้าประกวด แต่เป็นมืออาชีพด้านข่าว ทัศนะส่วนตัวส่วนเมียอาจมีผลบ้าง แต่ไม่ถึงกับสุดขั้วสุดโต่ง แถมวสันต์ยังไม่เล่นการเมืองในสำนักงาน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่สร้างอาณาจักร

ส่วน ผศ.นลินี เจอ 2 บิ๊กประกบแบบนี้ก็เป็นแค่ไม้ประดับ คนในเล่าว่า TPBS อยากให้เธอเข้ามาช่วยงานละคร ที่ไหนได้ เธอกลับอยากคุมข่าว เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับนคร ชมพูชาติ ทนายความก๊วน สุวัตร อภัยภักดิ์, นิติธร ล้ำเหลือ (เคยเป็นทนายให้กบฏไอทีวี) เป็น 2 ตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของพี่น้องเอ๊ยฮาร์ดคอร์ในคณะกรรมการบริหาร

คนดีเขาเตะตัดขากัน

ถามว่าทำไมสมชัยต่อครึ่งควบลูก ก็ต้องย้อนไปดูว่า กรรมการนโยบายของ TPBS มี 9 คน ตามกฎหมายเมื่อครบ 2 ปีต้องจับสลากออก 2 คน โดยกรรมการชุดแรกตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2551 ได้แก่ อ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธาน, อ.จอน อึ๊งภากรณ์, สมชัย สุวรรณบรรณ, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, จินตนา พันธุฟัก, มัทนา หอมละออ , รศ.อรศรี งามวิทยาพงศ์ และกมล กมลตระกูล

เมื่อครบ 2 ปีวันที่ 2 สิงหาคม 2553 สี่คนแรกถูกหวยต้องออกไป แต่สมชัยได้รับเลือกเข้ามาใหม่ พร้อมกับ ผศ.จุมพล พูลภัทรชีวิน, รศ. มาลี บุญศิริพันธ์ และศิริชัย สาครรัตนกุล คราวนี้ หมอพลเดชเป็นประธาน ฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2555 ห้าคนที่เหลืออยู่จากชุดแรกก็ต้องครบวาระ และต้องสรรหาใหม่

ซึ่งตอนนี้ก็มีประกาศรับสมัครกรรมการนโยบายแล้ว คณะกรรมการสรรหาจาก 15 องค์กรที่กฎหมายกำหนด เลือก สัก กอแสงเรือง เป็นประธาน อ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เป็นเลขานุการ เปิดรับสมัครกรรมการนโยบาย ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม ปิดรับสมัครไปแล้วยังไม่รู้ผลว่ามีใครสมัครมั่ง

แต่มีตลกร้ายจะเล่าให้ฟัง คือมีคนไปสมัครวันที่ 7 กรกฎาคม ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับสมัคร เพราะเป็นวันเสาร์ วันที่ 8 เป็นวันอาทิตย์ พอพลิกไปดูประกาศก็บอกว่าให้สมัครได้ “ทุกวัน (เว้นวันหยุดราชการ)” เออ แล้วจะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 8 ทำไมให้ป่วยการ

คุณสักแกชอบนับวันผิดอย่างนี้ มิน่าเล่า ถึงโดน กกต.แจกใบแดง คริคริ

คณะกรรมการสรรหาจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งผู้ผ่านการพิจารณาจะต้องไปแสดงตนและวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ในวันที่ 27 กรกฎาคม

สังเกตอะไรไหมครับ คณะกรรมการนโยบายชุดใหม่จะเข้ามาวันที่ 2 สิงหาคม ขณะที่เฮียสิ่วจะครบวาระวันที่ 9 ตุลาคม เหลือเวลาอีกตั้ง 2 เดือน 7 วัน ทำไมคณะกรรมการนโยบายชุดเดิมจึงต้องรีบสรรหาผู้อำนวยการ ก่อนที่ตัวเองจะพ้นจากตำแหน่ง

มิหนำซ้ำ สมชัย สุวรรณบรรณ ยังลาออกจากคณะกรรมการนโยบายมาลงสมัครเอง ถามว่ากรรมการนโยบายที่เหลือ 8 คนจะเลือกใคร ระหว่างคนกันเองอย่างสมชัยกับเฮียสิ่ว ซึ่งแหล่งข่าวระดับแม่บ้านคนขับรถยังรู้ว่า กินเกาเหลากับกรรมการนโยบายอยู่เนืองๆ

นี่ถึงแม้แหล่งข่าวระดับสูงหน่อย 170 ซม.จะยืนยันว่า สมชัยนิสัยฝรั่ง BBC ไม่ได้ล็อบบี้ใครเลย ก็ยังต่อครึ่งควบลูกไม่มีคนกล้ารอง

ศึกครั้งนี้สนุกแน่ เพราะพนักงานระดับสูง ยกเว้นฝ่าย Admin ส่วนใหญ่เฮียสิ่วเอาเข้ามา ก็ถือหางเฮียสิ่ว แต่พวกพนักงานระดับล่าง ว่ากันว่าถ้าให้พนักงานโหวตเลือก ผอ.ได้ สมชัยเป็นต่อถึง 10-1 (แทง 10 จ่าย 1 ไม่รวมทุน) เพราะพนักงานระดับล่างอึดอัดเต็มแก่ อยากให้ใครก็ได้เข้ามา “ล้างบาง” พวก นขต.(หน่วยขึ้นตรง)

แต่แม้สมชัยจะเป็นต่อทุกด้าน ก็ใช่ว่าจะคล่องคอ เพราะอาการรุกลี้รุกลนไม่ยอมรอกรรมการชุดใหม่ของกรรมการนโยบายดังกล่าว ทำให้เฮียสิ่วลั่นวาจาไว้แล้วว่า แพ้เมื่อไหร่กรูฟ้องแน่

มีอย่างที่ไหน กรรมการนโยบายจะพ้นวาระ 2 สิงหาคม ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหา 24 กรกฎาคม แต่ปิดรับสมัคร ผอ.วันที่ 4 กรกฎาคม จะประกาศชื่อ ผอ.คนใหม่ภายในวันไหนก็ไม่บอก งุบงิบงุบงิบ ตำแหน่งนี้เฮียสิ่วแกหวงของแกนะเออ เพราะเป็นเก้าอี้เทวดาประทาน พรบ.ที่ร่างโดยอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ณ TDRI ไม่ยักกำหนดคุณสมบัติ ผอ.ว่าต้องจบปริญญาตรี ทั้งที่ปกติ ผอ.องค์กรระดับนี้ต้องจบปริญญาตรี คนในวงการสื่อที่พอจะทำหน้าที่นี้ได้ ก็มีแต่เฮียสิ่วนี่แหละที่ไม่จบปริญญาตรี

อย่างว่า ความรู้ความสามารถไม่ได้วัดกันด้วยปริญญา ใบตองแห้งก็ไม่จบปริญญา สมัคร ผอ.TPBS ได้เหมือนกัน 555

จิ้งจกข้างตึก TPBS ทักว่า หลังจากพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดตึกในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้แล้ว หมดพิธีมงคล ก็จะเป็นวันดีเดย์ ลุยกันตึกระเบิดแน่ โดยพนักงานระดับล่างที่อึดอัด ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการแบ่งก๊กแบ่งเหล่ามา 4-5 ปี กำลังรอโอกาส รอสุญญากาศอำนาจ เพื่อเสนอปัญหาต่อสังคมเช่นกัน

(หมายเหตุประชาไท: เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ใหม่ ''''ประชาไท'''' ขอสงวนเนื้อหาบางช่วงให้ผู้อ่านติดตามและยลเว็บไซต์ใหม่ด้วยตัวเอง โปรดคลิกอ่านหัวข้อ ไม่มีที่ว่างให้คนนอก และ ช่องทางพิเศษคนดี)


“ตอบโจทย์” สาธารณะ


คำถามที่สาธารณชนจะต้องถามสื่อสาธารณะ TPBS คือ ทำไมกรรมการนโยบายจะต้องเร่งรีบคัดเลือก ผอ.ใหม่ และทำไมจึงมีคนสมัครแค่คนใน 4 คน ภาพลักษณ์ TPBS มันเป็นอย่างไรไปแล้วหรือ

กรรมการนโยบายควรยกเลิกการรับสมัคร ผอ. รอให้กรรมการนโยบายชุดใหม่เปิดรับสมัครใหม่ อย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และให้สาธารณชนมีส่วนร่วม อ้าว ก็สื่อสาธารณะนี่ครับ ไม่ใช่ของกรรมการนโยบาย 9 คน กรรมการสรรหา 15 องค์กร

ถ้าจะให้ดี ก็ TPBS Got Talent จัดให้ผู้สมัครทุกคนมาแสดงวิสัยทัศน์ประชันกัน ทางรายการของ TPBS เอง (แต่ไม่เอาเวทีสาธารณะ คนเยอะไป จับประเด็นไม่ถูก) สมมติเช่น “ตอบโจทย์” ให้คนดูช่วยกันโหวต ให้คนดูกด like ให้คนดูช่วยกันส่งคำถาม ถึงแม้คนตัดสินยังเป็นกรรมการ แต่ถ้าค้านสายตาชาวบ้าน ก็มีหวังถูกโห่

อันที่จริง ควรจะทำตั้งแต่การสรรหากรรมการนโยบายเลยครับ ถ่ายทอดสด แสดงวิสัยทัศน์กรรมการสรรหาไปด้วยในตัว (บลูสกายยินดีถ่ายทอดให้ฟรีๆ ฮิฮิ)

ทีวีสาธารณะ จะไปทำกระมิดกระเมี้ยนอยู่ทำไม จัดเรียลลิตี้โชว์เลยก็ได้ ให้ชาวบ้านส่ง SMS แพ้คัดออกสัปดาห์ละราย

เผลอๆ จะกลายเป็นรายการฮิตที่สุดนับแต่ก่อตั้ง TPBS มา

แล้วถ้าจะให้ดีนะครับ TPBS ก็ควรจะถือโอกาสนี้ สรุปปัญหา ทิศทาง แนวทาง นโยบาย การบริหาร ฯลฯ โดยให้พนักงานระดับล่างมีส่วนร่วม ให้โอกาสพวกเขาเสนอปัญหาระบายความอึดอัดใจอย่างเต็มที่ พูดถูกบ้าง พูดผิดบ้าง ก็ต้องฟัง เพราะที่ผ่านมามีแต่ปิดกั้น พนักงาน TPBS ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะมีระเบียบบังคับไว้ ก่อตั้งได้แต่สมาพันธ์พนักงาน TPBS ซึ่งพูดอะไรมากก็ไม่ได้อีก เพราะมีระเบียบกำหนดว่า ห้ามพนักงานเคลื่อนไหวให้ร้ายองค์กร

ปิดปากกันซะอย่างนี้ จะเป็นทีวีสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยได้ไงละครับ

ปล.ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้สำนักข่าวอิศรานำไปเผยแพร่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล
คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)

"เรืองไกร"ยื่น ป.ป.ช.สอบ"สุเทพ-สาธิต"แจ้งทรัพย์สินเท็จ

  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 หรือไม่    

โดยกรณีของนายสาธิต ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ในรายการที่ดินและอาคาร ดังนี้ โฉนดเลขที่ 89242 เนื้อที่ 1 ไร่ 53 ตารางวา ตอนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 มูลค่า 3.171 ล้านบาท แต่ต่อมาได้แจ้งที่ดินแปลงเดียวกันอีก 3 ครั้ง ด้วยราคา 906,000 บาท จึงมีข้อสังเกตว่าการแจ้งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 เป็นการแสดงราคาที่ดินอันเป็นเท็จหรือไม่ เพราะปกติที่ดินไม่ควรมีราคาลดลง ยังมีที่ดิน น.ส.3 ก. หรือ ก.ส.น. 5 เลขที่ 3705 ต่อมาเปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ 3167 โดยแจ้งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 มูลค่า 3 ล้านบาท เนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา ต่อมาแจ้งเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2554 แต่ไม่แสดงมูลค่า แต่มาแจ้งอีกครั้งวันที่ 2 ส.ค.2554 แสดงมูลค่า 1 ล้านบาท แต่มีเนื้อที่ 89 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา และต่อมาแจ้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2555 โดยแสดงมูลค่า 1 ล้านบาท เนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา เห็นว่ามีการแจ้งไม่สอดคล้องกัน จึงอาจเข้าลักษณะการแจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังไม่ได้แจ้งที่ดินอีก 2 แปลง คือโฉนดเลขที่ 16324 และโฉนดเลขที่ 16321 ที่ได้มาเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2534 จึงอาจเข้าลักษณะปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และยังตรวจสอบพบว่ามีการแจ้งราคาบ้านที่ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 125539 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 ราคา 7 แสนบาท แต่ต่อมาได้แจ้งบ้านหลังเดียวกันอีก 3 ครั้ง ด้วยราคา 300,000 บาท และมีการแจ้งราคาบ้านที่ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 3167 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 ด้วยราคา 8 แสนบาท แต่ต่อมาได้แจ้งบ้านหลังเดียวกันอีก 3 ครั้ง ด้วยราคา 4 แสนบาท จึงมีข้อสังเกตว่าการแจ้งราคาบ้านบนที่ดินทั้ง 2 ผืน ซึ่งมีราคาส่วนต่างหลังละ 4 แสนบาท เป็นการแสดงราคาอันเป็นเท็จหรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ส่วนนายสุเทพได้ยื่นบัญชีเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 ว่ามีทรัพย์สิน-สุทธิ 93,848,808.27 บาท และยื่นบัญชีเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2555 ว่ามีหนี้สิน-สุทธิ (ทรัพย์สินรวมน้อยกว่าหนี้สินรวม) 56,969,485.57 บาท เมื่อเปรียบเทียบบัญชีทั้งสองครั้งซึ่งห่างกันประมาณ 9 เดือน แสดงว่านายสุเทพมีหนี้สิน-สุทธิเพิ่มขึ้น 150,818,293.84 บาท ทั้งที่แสดงรายได้ไว้ 42,552,891 บาท แสดงรายจ่ายไว้ 42,078,083 บาท มีรายได้สูงกว่ารายจ่ายเล็กน้อย จึงมีข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 150 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อไปตรวจสอบในบัญชีด้านหนี้สิน พบว่านายสุเทพมีเงินกู้จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นยอดเงินต้นคงค้างอยู่ 224,580,162.74 บาท มีที่ดินที่แจ้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2555 รวม 149 แปลง มูลค่า 164,379,400 บาท และมีที่ดินที่แจ้งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 รวม 59 แปลง มูลค่า 98,088,050 บาท แสดงว่า มีที่ดินเพิ่มขึ้น 90 แปลง มูลค่า 66,291,350 บาท ดังนั้น หากนำหนี้สินที่เป็นเงินกู้จากธนาคารอิสลาม หักด้วยมูลค่าที่ดิน 90 แปลง 66,291,350 บาท จึงมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่าหนี้สินที่ยังหาที่มาที่ไปไม่ได้ มีอยู่ประมาณ 158,288,812.74 บาท

นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามหลักการบัญชีทั่วไป หนี้สินที่เพิ่มขึ้นควรคู่กับรายการทรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนั้น การแจ้งบัญชีทรัพย์สินอาจมีการจงใจยื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อเปรียบเทียบบัญชีที่ดินเป็นรายแปลง พบว่ามีการแจ้งราคาที่ดินบางรายการไม่ตรงกัน เช่น โฉนดที่ดิน เลขที่ 24563 เนื้อที่ 38 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา แสดงราคาเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2554 มูลค่า 8,156,400 บาท อีก 4 เดือนต่อมา แสดงราคามูลค่า 38,436,600 บาท ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 30,280,200 บาท จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ว่า นายสาธิตและนายสุเทพ จงใจยื่นแสดงบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคหนึ่งหรือไม่

ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ


ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
จากเวบไซต์ นิติราษฎร์ www.enlightened-jurists.com/blog/66 . . 15 July 2012

ข้อเสนอ


แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ
และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

         ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเพื่อให้ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ เพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจหน้าที่นั้นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐธรรมนูญและหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจซึ่งมีผลเป็นการเพิ่มถ้อยคำที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าเข้าเป็นฝ่ายทางการเมืองเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง การใช้อำนาจที่มีผลขยายเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การใช้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างแจ้งชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่มีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ไม่ว่าจะในขั้นตอนใด

            จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง

            ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญก็เพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่วัตถุประสงค์และภารกิจดังกล่าวกลับไม่บรรลุผลและถูกทำลายไปโดยศาลรัฐธรรมนูญเอง นอกจากนี้ การได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะไม่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อันเป็นลักษณะสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ และหากเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการปฏิรูปองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

          จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนั้น คณะนิติราษฎร์จึงมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญและหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้...


  1. ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในหมวด ๑๐ ศาล ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
  2. ให้เพิ่มความในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
  3. คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ
  4. คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ๘ คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน วุฒิสภา ๒ คน และคณะรัฐมนตรี ๓ คน โดยที่ ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย ๑ คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกของวุฒิสภาอย่างน้อย ๑ คนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
  5. บุคคลผู้ซึ่งจะได้รับเลือกเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักนิติรัฐประชาธิปไตย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ โดยต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใด และต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๔๙ หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  6. ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
  7. ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพประจำอื่นใด
  8. องค์คณะของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า ๕ คน โดยคำวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้คำร้องนั้นตกไป
  9. คำวินิจฉัยของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญให้มีผลทั่วไปและเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานทั้งปวงของรัฐ
  10. วิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
  11. ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕.
http://redusala.blogspot.com

ในสนามรบทางกฎหมาย


ในสนามรบทางกฎหมาย

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:30:50 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทรรศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 16 กรกฎาคม 2555 )

             คงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำถึงความไม่ชอบมาพากลที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง และขัดต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีมาก่อน ไปจนถึงการให้สัมภาษณ์ของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ส่ออคติก่อนการสอบสวน

           ยิ่งกว่านี้ สองในตุลาการเคยให้สัมภาษณ์มาก่อนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยการตั้ง ส.ส.ร.อาจทำได้ ซึ่งขัดกับการตัดสินใจรับคำร้องในครั้งนี้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า มันมีอะไรที่ใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าประเด็นทางกฎหมายหรือวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ พลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างน้อยก็ยังแก้ไม่ได้ในช่วงนี้

รัฐธรรมนูญนั้นไม่ค่อยมีความหมายมากนักแก่ฝ่ายผู้ถืออำนาจในเมืองไทย (มิฉะนั้นเราคงไม่มีรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับหรอก) เพราะอาจตีความอย่างไรก็ได้ นอกจากนี้ฝ่ายผู้ถืออำนาจยังมีส่วนกำกับการร่างรัฐธรรมนูญเสมอ อย่างน้อยก็นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา โดยการต่อรองร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ถืออำนาจร่วมกัน หรือหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาการนำในกลุ่มผู้ถืออำนาจได้ ก็อาศัยการต่อรองผ่านกลุ่มดังกล่าวอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้นถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่น่าจะเป็นที่หวั่นวิตกอย่างไร
แต่ในร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบการแก้ไข สถานการณ์ปัจจุบันทำให้เห็นได้ว่า เป็นการยากที่ฝ่ายผู้ถืออำนาจจะเข้ามากำกับได้ เพราะ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง (เป็นส่วนใหญ่) แม้แต่ผู้ทรงคุณวุฒิก็ยังถูกเลือกมาจากรัฐสภา ซึ่งอำนาจกำกับของฝ่ายผู้ถืออำนาจเบาบางลงมาก

รัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถืออำนาจกำกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้หลายทาง แม้ต้องทำโดยไม่ค่อยตรงกับหลักการประชาธิปไตยเท่าไรนัก แต่ก็ยังเป็นอำนาจกำกับที่ขาดไม่ได้ ฉะนั้นในช่วงนี้เป็นอย่างน้อย ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปแก่ฝ่ายผู้ถืออำนาจ จึงต้องขัดขวาง

แม้กระนั้น วิธีที่ใช้ในการขัดขวางก็ไม่ค่อยจะ "เนียน" เท่าไรนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการขัดขวางร่าง พ.ร.บ. หรือคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งไม่ต้องการให้บรรลุผล เท่าที่ผ่านมาในอดีต หากไม่นับการรัฐประหารแล้ว ประสบการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมานานของฝ่ายผู้ถืออำนาจ จะรู้วิธีขัดขวางฝ่ายที่ไม่ร่วมอยู่ในผู้ถืออำนาจได้แนบเนียนกว่านี้มาก

แต่วิธีที่ไม่ "เนียน" นี้อาจเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ เพราะอย่างน้อยในช่วงระยะเวลานี้และอนาคตอันใกล้ การรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ ขาดการยอมรับของชาติมหาอำนาจ (อย่างที่ศาสตราจารย์ลิขิต ธีรเวคิน กล่าวว่า ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตก คือให้การยอมรับและต้อนรับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอย่างเห็นได้ชัด) และก่อให้เกิดความวุ่นวายถึงขั้นจลาจลทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยภายใต้การนำของฝ่ายผู้ถืออำนาจตกในสถานการณ์ย่ำแย่ลง

หลายคนเรียกการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า "ตุลาการรัฐประหาร" ซึ่งก็จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการรัฐประหารอย่างหนึ่ง คือการประหารรัฐด้วยการอ้างอำนาจที่ไม่มีในกฎหมาย แต่อย่างน้อย ก็ต้องอ้างกฎหมาย แม้จะอ้างอย่างข้างๆ คูๆ ก็ตาม แต่ก็ต้องอ้าง

ย้อนกลับไปคิดถึง พ.ศ.2476 เมื่อกำลังทหารฝ่ายคณะราษฎรยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เนื่องจากรัฐบาลนั้นได้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่ไม่มีกฎหมายใดรับรองให้ทำได้ ฝ่ายคณะราษฎรก็อ้างเหตุนี้ในการยึดอำนาจ กล่าวคือเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเอาไว้

คณะราษฎรในขณะนั้น มิได้มีอำนาจเด็ดขาดไม่ว่าในทางทหารหรือทางการเมือง การอ้างกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมพลังอำนาจของฝ่ายตน
เช่นเดียวกับการทำรัฐประหารตุลาการในครั้งนี้ ที่ต้องอ้างกฎหมายก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่น แสดงให้เห็นอำนาจอันจำกัดลงของฝ่ายผู้ถืออำนาจ

สภาพอำนาจที่ถูกจำกัดลงนี้ จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ และนานเท่าไร คงเถียงกันได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อว่าจะกลับมามีอำนาจกำกับการเมืองเหมือนเดิมได้อีก หากฝ่ายผู้ถืออำนาจมีสำนึกอย่างเดียวกันเช่นนี้

สิ่งที่ต้องปรับตัวคือต้องอาศัยกฎหมาย (แต่เพียงความหมายเผินๆ ทางอักษรศาสตร์ หรือบิดเบี้ยวในเชิงกระบวนการก็ตาม) เท่านั้น ในอันที่จะเข้ามากำกับการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
ฉะนั้น "สนามรบ" ข้างหน้า คือกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมาย สิ่งที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยควรทำ หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้ชัดเจนว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตเพียงไหน จะระบุลงไปให้ได้อายด้วยก็ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราหรือทั้งฉบับ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองของประเทศ

จากนั้น ทางเลือกก็เป็นสองอย่าง หนึ่งคือนำการแก้ไขมาตรา 291 กลับมาพิจารณาใหม่ และผ่านสามวาระมาให้ได้โดยเร็ว

หรือสอง แก้ไขทีละมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโดยตรง เช่น ส.ว.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง, องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ไม่มีองค์กรใดๆ สามารถ "ส่ง" ตัวแทนของตนมานั่งในตำแหน่ง โดยปราศจากการตรวจสอบและอนุมัติของประชาชน หรือองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชน, ทำให้ผลพวงของการรัฐประหารเป็นหมันลงทั้งหมด แต่ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องบุคคลใดๆ ตามกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ประชาชนไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะต่อสู้ใน "สนามรบ" ทางกฎหมายเลย ยกเว้นแต่พรรคเพื่อไทย ในขณะที่ก็เห็นแล้วว่าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเป็นเครื่องมือให้ประชาชน เท่ากับเป็นเครื่องมือให้พี่ชายนายกฯ และบริษัทบริวาร ฉะนั้นก่อนจะเข้าสู่ "สนามรบ" ทางกฎหมาย ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ต้องช่วยกันคิดหาวิธีที่จะควบคุมพรรคเพื่อไทยให้ได้ และเท่าที่ผมคิดได้เวลานี้ เราควรมุ่งพยายามไปในทิศทางต่อไปนี้


  • 1.ต้องสร้างสื่อขึ้นมาแข่งกับพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันพรรค พท.อุดหนุนและกำกับควบคุมวิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียมได้หลายสถานี ส่วนสื่อออนไลน์ยังค่อนข้างเป็นอิสระกว่ากันมาก ฉะนั้นต้องหาทางลดอิทธิพลของสื่อเพื่อไทยลง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความเป็นศัตรูกัน แต่ต้องถ่วงดุลเนื้อหาที่ใช้บิดเบือนความประสงค์ทางการเมืองของประชาชนลงเสียบ้าง (เช่นต้องเอาทักษิณกลับบ้านโดยเร็ว แม้ต้องข้ามศพประชาชนไปอย่างเลือดเย็น เพราะการทำสงครามต้องมีแม่ทัพ เป็นต้น) ฉะนั้นต้องมีทุนบ้าง แม้ไม่มากถึงขนาดจะสร้างสถานีทีวีดาวเทียมแข่งขัน แต่เราอาจเปิดเว็บไซต์เพิ่มเนื้อหาที่เป็นอิสระให้มากขึ้น และอาจเปิดวิทยุชุมชนหรือแบ่งเวลาของวิทยุชุมชนมาจัดเองได้บ้าง ตามแต่กรณี นโยบายว่าต้องไม่แตกกับพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องไม่หมายถึงว่า ประชาชนจะควบคุมพรรคการเมืองของตนเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้พรรคทำเละเทะไปตามใจชอบ เพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกเท่านั้น
  • 2. หากจะมีการเลือกตั้งซ่อมครั้งใด ประชาชนควรกดดันให้พรรคเพื่อไทยจัด "ไพรมารี่" หรือให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดผู้สมัคร หากพรรคไม่ทำ ประชาชนจะลงคะแนนเสียงไม่ประสงค์ใช้สิทธิ พรรคเพื่อไทยอาจเสีย ส.ส.ในสภาไปหนึ่งเสียง แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังปลอดภัยในทางการเมืองอยู่ ในขณะที่เราสามารถให้บทเรียนแก่พรรคได้ ซึ่งสำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมด
  • 3. ประชาชนควรระแวงแกนนำเดิมให้มาก เพราะแต่ละคนล้วนได้ประโยชน์ทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วย หรือที่ปรึกษา คนเหล่านี้ย่อมมองประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนและประชาธิปไตย คงจำได้ว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้การในศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดงแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


ผมเสนอให้ช่วยกันคิดให้ตลอดลุล่วงยิ่งๆ ขึ้นไป  
http://redusala.blogspot.com

"กนก" เลิกอาย! เปิดหน้าท้าล้ม "นิติราษฏร์"


"กนก" เลิกอาย! เปิดหน้าท้าล้ม "นิติราษฏร์"

             วันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ออกมาแถลงเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดมีสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กนำข้อความสมัยที่นายกนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรเล่าข่าวในเครือเนชั่น โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Kanok Ratwongsakul Fan Page เมื่อเดือนม.ค.2555 ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์กลับมาโพสต์ตามหน้าเฟซบุ๊กอีกครั้ง กระทั่งมีคนกดไลค์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง

          นายกนก เขียนเฟซบุ๊กในขณะนั้นระบุว่า "ผมเป็นลูกแม่โดมคนหนึ่ง คนที่จบออกมาด้วยการรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ในหลวง เหมือนลูกแม่โดมอีกมากมาย

           จะอย่างไรผมก็ยืนอยู่ข้าง ′วารสารฯต้านนิติราษฎร์′ ผมและเพื่อนพ้องน้องพี่วารสารศาสตร์ทุกรุ่น ไม่อยากให้คนที่บังอาจ คิดริดรอนพระราชอำนาจของในหลวง..อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์! พวกนี้อาศัยคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ แสดงความเห็นโดยไม่แยแสหัวใจคนไทย รวมหัวกันย่ำยีความรู้สึกของสังคม ผมขอเรียกร้องให้ลูกแม่โดมทุกคน บัณฑิตจากสถาบันอื่น ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันปกป้องศูนย์รวมจิตใจของไทย ด้วยการคว่ำบาตรทางสังคมทุกๆด้านต่อ ′นิติราษฎร์′ กลุ่มนี้"

http://redusala.blogspot.com

"ทักษิณ" ฮา! "แมลงสาบ&สลิ่ม" ของต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน?


"ทักษิณ" ฮา! "แมลงสาบ&สลิ่ม" ของต้องห้ามขึ้นเครื่องบิน?

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะชมเฟรซบุ๊คของบุตรชาย
(go6tv) นายพานทองแท้ ชินวัตร ได้โพสท์ข้อความบนเฟรซบุ๊คส่วนตัวว่าได้นำรายละเอียดโครงการ "เยี่ยมคนแดนไกล แบบไม่มีอภิสิทธิ์ชนกับพานทองแท้" ไปให้คุณพ่อชม โดยที่คุณพ่อทักษิณ "งง" สงสัยว่าทำไมจึงมี "แมลงสาบและสลิ่ม" เป็นของต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน โดยมีรายละเอียดข้อความดังนี้




            "ทีมงานของผมได้ขึ้นไปเรียนคุณพ่อ เพื่อคอนเฟิร์มโปรแกรมทัวร์ เรียบร้อยแล้วครับ กับโครงการ "เยี่ยมคนแดนไกล แบบไม่มีอภิสิทธิ์ชน กับพานทองแท้" เที่ยวบิน NASA No.1  (Neither Abhisit-chon nor Salim are Acepted) เคลียร์-ฟอ-เทคออฟ ครับผม

            คุณพ่อท่านดูโปรแกรมแล้วก็งง ๆ กับ สลิ่มและแมลงสาบ ว่าทำไมจึงเป็นของต้องห้ามขึ้นเครื่องบินในทริปนี้ ผมจึงคิดว่าแฟนเพจบางท่านอาจจะยังไม่ทราบและสงสัยว่า ทั้ง "สลิ่ม" และก็ "แมลงสาบ" ที่จริงมันก็เป็นของคู่บ้านคู่เมือง ของไทยเรามานาน ทำไมทีมงานผมถึงได้ใจจืดใจดำ ไม่ยอมให้ขึ้นเครื่องไปด้วย ทีมงานผมได้อธิบายไว้ดังนี้ครับ"

            สลิ่มและแมลงสาบเป็นคำจำกัดความในโลกไชเบอร์ หมายถึงกลุ่มคนบางจำพวกที่ ชอบกลับไปกลับมาและ พวกที่อยู่ในบ้านเมืองนี้มานาน แต่หาประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้

            สลิ่ม หมายถึงพวก "หลากสี" สามารถแปรเปลี่ยนสีไปมาได้ตามแต่จะปรุงแต่งเช่น วันปฏิวัติสลิ่มทั้งถ้วยสีก็จะออกเขียวๆ พอจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแกก็จะออกฟ้าๆ พอเผลอลืมตัว สีก็จะหนักไปทางเหลือง รู้ตัวอีกทีก็จะทำเนียนกลับไปเป็นส่วนผสมหลากสีอีก แต่พอดูหน้าตา, อุปกรณ์, หรือแม้กระทั่งรถรา ที่ใช้ก็จะเห็นว่าเป็นของเดิมๆ คนก็กลุ่มเดิมๆทั้งนั้น เห็นที่ไหน ตะโกนเรียกได้เลยครับ "สลิ่ม" รับรองหันมากันให้ควั่กครับ

            ส่วนแมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานครับ(ผมวินิจฉัยแล้วว่าไม่ต่ำกว่า60ปี) หาประโยชน์อะไรที่ทำไว้กับบ้านที่อยู่อาศัยไม่ค่อยจะได้ ชอบแทะเล็มข้าวของสร้างความเสียหาย กินกระดาษ, กินปลากระป๋องเน่า, แทะเอกสารสิทธิ์, แทะรถดับเพลิง อะไรที่มีอยู่ในบ้านแทะเรียบ พอจะตีก็ไปหลบใต้ตู้รองเท้าบู้ท พอวันรุ่งขึ้นก็ออกมาเดินข้างนอกใหม่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

          แล้วแมลงสาบพวกนี้ตายยากครับ บางครั้งกระทืบไส้แตกเห็นๆ พอเอาทิชชู่หยิบไปทิ้งถังขยะแป๊บเดียวเดินลากไส้กลับรังไปแล้ว แถมวันรุ่งขึ้นยังเดินกลับมากินปลากระป๋องเน่าๆในถังขยะที่เล็งไว้ตั้งกะเมื่อวานได้อีก ตายยากจริงๆครับ ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ...เอ้ย!!...คนที่อยู่อาศัยในบ้านที่มีแมลงสาบ ต้องเป็นฝ่ายปรับตัวที่จะอยู่ร่วมชายคากับแมลงสาบให้ได้

          ก็เป็นคำแนะนำจากทีมงานผมนะครับ เวลาเดินทางไปด้วยกันที่ฮ่องกงจะได้สื่อสารกันได้อรรถรสมากขึ้นครับ วันนี้เอารูปคุณพ่อด้านข้างๆกำลังนั่งดูแคมเปญของพวกเราในเฟสบุ๊คผมอยู่ อีกไม่กี่วันไปเจอตัวเป็นๆ คงได้ถ่ายรูปมาอวดกันเยอะ ขอให้ทุกท่านโชคดี แล้วเจอกันครับ
http://redusala.blogspot.com

"นาซ่า" ยันน้ำท่วมไทยปีก่อนเพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ "กักน้ำ"


"นาซ่า" ยันน้ำท่วมไทยปีก่อนเพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ "กักน้ำ"


             นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณ 21 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อต้นกล้าเพิ่มเติมเพื่อใช้ปลูกป่าต้นน้ำใน 10 จังหวัดตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ถึง จ.อุตรดิตถ์ โดยเป็นการใช้เงินจากงบประมาณเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่เหลืออยู่ ทั้งนี้เป็นการเสริมในส่วนที่ขาดอยู่ของโครงการที่กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการ เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการปลูกให้ได้ 8 ล้านกล้าในวันที่ 8 ส.ค.นี้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงานที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และจะให้ได้ครบ 20 ล้านกล้าภายในเดือน ส.ค.นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้ล่าช้าตามที่เป็นข่าว เพียงแต่มีความไม่ชัดเจนในบางขั้นตอนเท่านั้น แต่ถึงตอนนี้มีแผนงานที่ชัดเจนทั้งหมดแล้ว

            นายปลอดประสพกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการฟ้องร้องนายปลอดประสพ ฐานใส่ร้ายรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นต้นเหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 เพราะบริหารจัดการน้ำผิดพลาดว่า อยากให้ผู้ที่ต้องการฟ้องร้องรีบดำเนินการ เพื่อที่จะได้นำข้อเท็จจริงมาชี้แจง เพราะล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ก็ได้ออกมายืนยันผลการศึกษาว่าสาเหตุที่น้ำท่วมประเทศไทยเมื่อปีก่อน เป็นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้วบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ผิดพลาด ซึ่งตรงตามข้อมูลที่ตนได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลก่อนมีความตั้งใจบางอย่างจึงไม่ปล่อยน้ำในเขื่อนใหญ่

             “เรื่องนี้ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงขัดขวางไม่ให้นาซาเข้ามาทำงานในไทย เพราะโกรธที่เขาที่มาหาว่าตัวเองไม่ปล่อยน้ำ เพราะฉะนั้นใครจะฟ้องผมให้รีบๆ ทำเลย อยากเป็นจำเลยจะได้ชี้แจง และขอให้ฟ้องนักวิทยาศาสตร์ของนาซาด้วย ไม่ใช่มาขู่ๆ ว่าจะฟ้องเรื่อยไป”

              ส่วนความคืบหน้าการขอรับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ของกับบริษัทบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น นายปลอดประสพเปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตนจะชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับทีโออาร์ดังกล่าวทั้งหมด จึงขอเชิญทางพรรคฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนมาร่วมซักถามได้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังราว 600-700 คน โดยในวันนั้นจะเปิดโอกาสให้ซักถามเต็มที่
http://redusala.blogspot.com