วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รื้อคดีปี 53 จับเสื้อแดงอุบลคดีเผาโลงจำลองหน้าราชธานีอโศก




Published on Fri, 2017-11-17 17:25


          ดักจับดีเจเสื้อแดงขณะนัดเจรจาซื้อขายที่ดิน โดนข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ประกันหกหมื่น เจ้าตัวเผยทำหน้าที่ดูแลเครื่องปั่นไฟและเครื่องเสียงในที่ชุมนุม ไม่ได้ร่วมเผาโลงจำลอง ขณะถูกควบคุมตัวถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารและถูกขอพาสเวอร์ดเข้าไลน์และเฟสบุ๊ค


          มีรายงานว่าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.วารินชำราบ ได้เข้าทำการจับกุมนายพงษ์ศักดิ์ ตุ้มทอง (ดีเจอึ่งอ่าง) วัย 46 ปี ด้วยข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองมากกว่า 10 คนขึ้นไป และต่อมาได้ทราบว่า นายพงษ์ศักดิ์ได้รับการประกันตัวออกมาแล้วด้วยเงินสดจำนวน 60,000 บาท ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ระบุว่าเป็นเงินที่ญาติต้องขอกู้ยืมมาหลังจากที่ถูกจับ

           วันนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปที่ ผู้ถูกจับกุมจึงได้ทราบรายละเอียดการจับกุมว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2553 นายพงษ์ศักดิ์กับพวกซึ่งเป็นคนเสื้อแดงได้ไปชุมนุมที่ราชธานีอโศก ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์สาขาของสันติอโศกในจังหวัดอุบล โดยกิจกรรมที่ได้ทำวันนั้นนอกจากการกล่าวปราศัยแล้วได้มีกิจกรรมเผาโลงศพจำลอง เพื่อเป็นการประท้วงท่าทีทางการเมืองของสมณะโพธิรักษ์ และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง

        พงษ์ศักดิ์ได้เล่าถึงรายละเอียดการทำกิจกรรมในการชุมนุมวันนั้นว่า วันนั้นตนได้รับหน้าที่ดูแลเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟในงาน ไม่ได้ไปเป็นผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับการเผาโลงจำลองแต่อย่างใด สำหรับการเผาโลงก็ทำไปพอเป็นพิธีพอมีภาพโลงมีไฟลุกแล้วผู้ชุมนุมก็ดับไม่ได้ปล่อยให้ลุกไหมสร้างความเสียหายแต่อย่างใด

        พงษ์ศักดิ์เล่าต่อว่า หลังจากการชุมนุมในครั้งนั้นไม่นาน ได้เคยมีหมายเรียกเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ตนก็ได้ไปเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาโดยมิได้ขัดขืน และจากนั้นมาก็ไม่เคยมีการติดต่อจากทางเจ้าหน้าที่อีกเลยทั้งๆ ที่ก็ได้พักอยู่ในจังหวัดอุบลมาโดยตลอด ไม่ได้หลบหนีไปไหน แต่เรื่องก็เงียบหายไป ถ้ามีหมายเรียกมาก็จะไปพบเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ไม่รอให้ถูกหมายจับ

         ชายชาวอุบลวัย 46 ปี เล่าถึงเหตุที่ถูกจับกุมว่า ตนมีอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ ประกาศขายที่ดิในสื่อออนไลน์เช่นเฟสบุ๊คและไลน์ ก่อนการถูกจับกุม ได้มีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Tawan... ติดต่อแสดงความจำนงว่ต้องการที่จะซื้อที่ดินที่ตนเป็นผู้ประกาศขาย และเมื่อติดต่อโทรนัดหมายจนได้มายังสถานที่นัดพูดคุยก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุม เมื่อถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.วารินชำราบ ตนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล

         พงษ์ศักดิ์กล่าวต่อว่าการจับกุมไม่ได้มีความรุนแรงใดๆ มีการแสดงหมายจับเป็นที่เรียบร้อย แต่หลังจากถูกควบคุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต โดยได้ขอพาสเวอร์ดเปิดแท็บเล็ตที่ล็อกอินเฟสบุ๊ค ไลน์และแมสเซนเจอร์ไว้ โดยที่ในขณะนั้นไม่ได้มีทนายความหรือนักกฎหมายให้คำปรึกษา แต่ตนได้ให้ความร่วมมือด้วยดี และหลังจากได้ประกันตัวและได้รับมอบอุปกรณ์สื่อสารคืนในวันที่ 16 พฤศจิกายน แล้ว พบว่านอกจากที่จะได้มีการเข้าไปดูการสื่อสารในเฟสบุ๊ค แมสเซนเจอร์และไลน์แล้ว ยังได้มีการลบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Tawan... ออกจากโทรศัพท์ด้วย

พงษ์ศักดิ์กล่าวว่าไม่แน่ใจว่า การติดต่อซื้อขายที่ดินครั้งนี้จะเป็นการล่อซื้อหลอกมาจับหรือไม่
          สำหรับในกระบวนการต่อไป เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายพงษ์ศักดิ์ไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากเป็นวันครบกำหนดฝากขัง

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม




Published on Fri, 2017-11-17 19:46


เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา: สัมภาษณ์/เรียบเรียง/ภาพ
อิศเรศ เทวาหุดี: กราฟิกประกอบข่าว

          ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง GONGO (กองโก้) - เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน



           เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน

          รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสําเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียน นับตั้งแต่มี การก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน

        “เรา ประชาชน (We, the people)”
เป็นคำแรกของประโยคแรกในอารัมภบทหน้าแรกของกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รับรองกันเมื่อปี 2540 ท่ามกลางการรวมกลุ่มภายของสิบชาติในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปีนี้เป็นวาระดิถีครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งกรอบความร่วมมือภูมิภาคขึ้นมาตั้งแต่ปี 2510

ในเดือน พ.ย. ปีนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 ที่มีเวทีพูดคุยกับประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ รัสเซีย และองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีแคนาดา และสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของฟิลิปปินส์ผู้เป็นเจ้าภาพที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา ถึงแม้จะพบเจอกับการประท้วง ต่อต้านจากกลุ่มประชาชนจนถึงกับมีการปะทะกันระหว่ามวลชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงมะนิลาก็ตามที


              ภาพการจับมือในเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเมื่อวันที่ 13-14 พ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: flickr/The ASEAN Secretariat)

             ณ เมือง เกซอน ห่างจากกรุงมะนิลาไปราว 20 กม. ภาคประชาชนของอาเซียนก็มีการจัดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) เป็นการประชุมภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน คู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ






           ตลอด 50 ป่ีของการก่อตั้งอาเซียน การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการร่วมกำหนดชะตากรรมของภูมิภาคนั้นถือว่ามีน้อย นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายยังมีแนวโน้มเพิกเฉยต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของ “เรา ประชาชน” แห่งอาเซียนอยู่เป็นระยะ


           คำถามที่ตามมาคือ ภาคประชาชน ประชาสังคมของอาเซียนประสบกับความล้มเหลวในการส่งเสียงของประชาชนที่ถูกกดขี่และสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิต่างๆ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองทางสังคม ฯลฯ หรือไม่ อะไรเป็นปัญหาที่ทำให้ท้ายที่สุด อาเซียนกลับกลายเป็นของรัฐบาลไป

           อาเซียนไม่ใช่ของเรา ตอนที่ 1 พาผู้อ่านสำรวจภาพรวมพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเวทีอาเซียน สภาพการก่อตัวของประชาสังคมที่ก่อร่างช้ากว่าอาเซียนของรัฐ ข้อสังเกต บทบาทของภาคประชาสังคมที่สนับสนุนโดยรัฐบาลในเวทีภาคประชาชนที่ส่งผลให้เกิดคำถามต่อความทุลักทุเลของขบวนภาคประชาสังคม
ส่วนร่วมภาคประชาชนภาพรวมที่น้อยนิด ผลักดันประเด็นไม่ได้ และข้อสังเกตด้านพัฒนาการ

          ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์ จากมูลนิธิส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการอำนวยการภาคประชาชนอาเซียน (Regional Steering committee) จากประเทศไทย กล่าวว่าส่วนร่วมบทบาทภาคประชาชนอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก อันเป็นผลมาจากทัศนคติของประเทศสมาชิกที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม ต้นเหตุของปัญหามาจากโครงสร้างกระบวนการของอาเซียนในภาพรวมที่ไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจทิศทางในประเด็นต่างๆ และโครงสร้างการสื่อสารในอาเซียนยังไม่มีการพูดคุยกันที่ดีพอ และไม่มีพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุย


ศันสนีย์ สุทธิศันสนีย์

          “(ส่วนร่วมภาคประชาชน) น้อยมาก โดยเฉพาะอาเซียนโดยรวม เราก็รู้ว่า บางประเทศไม่เปิดรับอยู่แล้ว อาเซียนเวลามีส่วนร่วมใหญ่ๆ อย่างเช่นการพบกับผู้นำเพื่อหารือก็มีบางประเทศที่ไม่ยอมรับภาคประชาสังคม” ศันศนีย์ กล่าว

         “ในกระบวนการทำเอกสารต่างๆ ของอาเซียนไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาหรือข้อตกลงจะไม่ผ่านการหารือกับภาคประชาสังคม หรือบางครั้งมีการจัดบ้าง แต่เอกสารไม่มีการแชร์ เวลาร่างแล้วก็อาจจะมีการจัดบ้างบางประเทศ แต่ในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นได้น้อย จะมีก็แต่เมื่อตอนร่างกฎบัตรอาเซียนที่มีการพบปะ ปรึกษากับภาคประชาสังคม แต่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารรายย่อย รายเสานั้นไม่มี เขาก็บอกว่าไม่เปิดเผยเพราะเอกสารนั้นเป็นร่าง จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อลงนามแล้ว”

           กระบวนการของเวทีภาคประชาชนอาเซียนจะเริ่มต้นจากการหารือกันถึงประเด็นปัญหาต่างๆ จากประชาสังคมที่เข้าร่วม จากนั้นจะไปสู่การร่างแถลงการณ์ร่วมกัน และหาตัวแทนจากภาคประชาชนแต่ละประเทศไปแถลงในประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งเป็นที่ๆ พวกเขาจะได้พบกับผู้นำจากชาติสมาชิก กระนั้น ศันศนีย์ระบุว่า การแถลงถึงปัญหาต่างๆ ยังไม่นำไปสู่พูดคุยต่อยอด และติดตามแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไปในอนาคต การพบกันเพื่อแถลงจึงเป็นไปในลักษณะพิธีการเท่านั้น แต่ทางภาคประชาสังคมก็พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือให้เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่ก็มีความคืบหน้าเพราะอย่างน้อยในส่วนการแถลงการณ์ก็มีการขยายเวลาแถลงการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นระยะๆ

         กฤษกร ศิลารักษ์
ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ประเด็นเขื่อนปากมูล หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีภาคประชาชนอาเซียนครั้งนี้ให้ความเห็นว่าการก่อร่างสร้างตัวของภาคประชาชนในอาเซียนเกิดขึ้นช้ากว่าการรวมตัวของอาเซียนในระดับรัฐต่อรัฐเป็นสาเหตุที่ทำให้อำนาจต่อรองยังน้อย แต่หากมองจากมุมของประเทศไทยก็พบว่ารัฐบาลพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีภาคประชาชน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญ แต่กระนั้นภาคประชาชนยังไม่ถึงจุดที่จะผลักดันข้อเสนอให้อาเซียนทำตามได้




       กฤษกร ศิลารักษ์  ผมถือว่าภาคประชาชนรวมตัวกันค่อนข้างช้า เท่าที่รู้คือเพิ่งรวมกันไม่น่าจะเกินสิบปี ในขณะที่อาเซียนของรัฐรวมกันห้าสิบปีแล้ว การก่อรูปของภาคประชาชนที่จะสร้างอำนาจต่อรองต่อฝ่ายอาเซียนของรัฐย่อมน้อยเป็นธรรมดา ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าเอกภาพยังไม่เกิดขึ้น อำนาจต่อรองย่อมน้อยอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะไทย ที่หันหน้ามาจับตาการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ที่มาเข้าร่วมเวที ACSC/APF แทบทุกครั้งการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐก็ถือว่าเขาให้ความสำคัญ และกรณีอย่างเช่นการรับรองคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) กระทรวงการต่างประเทศก็เคยถามมาที่เวที ACSC/APF ว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าเหล่านี้คือการทีรัฐเริ่มให้ความสำคัญกับท่าทีของเวทีภาคประชาชนพอสมควร อย่างเช่นกรณีข้อเสนอปีที่แล้วที่ภาคประชาชนรับรองให้ติมอร์ เลสเตเป็นสมาชิกภาคประชาชนประเทศที่ 11 ก็ถูกนำไปถกเถียงในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผมก็คิดว่ามันเริ่มมีการตระหนักถึงบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนอยู่ระดับหนึ่ง เพียงแต่ข้อเสนอที่แหลมคมที่จะกระทุ้งให้อาเซียนทำตาม มันยังไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่มันก็เริ่มเป็นพัฒนาการที่รัฐก็จะนิ่งเฉยต่อเสียงทักท้วงเรียกร้องของประชาชนไม่ได้ ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพอยู่นะ” กฤษกรกล่าว

โครงสร้างอาเซียนไม่เอื้อการมีส่วนร่วม ชาติสมาชิกปิดประเด็นจากประชาชนเอง


           อีกหนึ่งปัญหาที่ถือเป็นจุดตั้งต้นการของความล้มเหลวของภาคประชาชนอาเซียนในการผลักดันให้รัฐบาลและภูมิภาคหันมารับฟังเสียงของพวกเขามาจากหลักการใหญ่ของอาเซียนสองหลักการ หนึ่ง หลักการที่ชาติสมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่น และหลักการตัดสินใจระดับภูมิภาคด้วยระบบฉันทามติ (ทุกชาติเห็นตรงกันหมด) ที่ให้อำนาจกับรัฐบาลชาติสมาชิกในการปกปิดปัญหาและเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนไว้ใต้หลักการดังกล่าว

         “สองหลักการว่าด้วยการไม่แทรกแซงเรื่องของประเทศอื่น (Non Inteference) และหลักการตัดสินใจแบบฉันทามติ (Consensus)
นี้ถือเป็นปัญหาในการทำงาน นอกไปจากเรื่องเจตจำนงทางการเมืองของประเทศต่างๆ เราเรียกร้องได้แต่ว่าการที่อาเซียนจะเอาไปทำได้มันไปขึ้นอยู่กับหลักการใหญ่ว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ถ้าถามว่าแล้วถ้าประชาสังคมในประเทศนั้นพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ภาคประชาสังคมไม่สามารถมีปากเสียงในระดับประเทศหรือเรียกร้องถึงรัฐบาลได้ แต่ถ้าจะเรียกร้องไปทางอาเซียนในเวทีอาเซียนก็ไม่ได้รับการตอบสนองเพราะหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในจึงให้แต่ละประเทศจัดการกันเอง” ศันศนีย์อธิบาย

         ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการเวทีภาคประชาชนจากประเทศไทยยังระบุว่า กระบวนการรับฟังข้อคิดเห็นและนำไปปฏิบัติของอาเซียนในภาพรวมนั้นไม่มี แต่อาจจะมีบางประเด็นย่อยๆ เช่นการคุ้มครองทางสังคม จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานส่วนมากมาจากชาติสมาชิกเป็นสำคัญแล้วจากนั้นจึงเข้าสู่ความเห็นร่วมในเวทีอาเซียนแล้วจึงมีการลงมติร่วมกัน “เราพยายามผลักดันเรื่องมาตรฐานคนทำงานในภาพรวมของอาเซียน เราก็พยายามผสานกับทางกระทรวงแรงงานเพื่อให้เขาผลักประเด็นนี้เข้าอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันเราก็ผลักดันจากข้างนอกให้ประเด็นมันเคลื่อนไปได้ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีการตอบรับ”

          ศันศนีย์ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาอาจมาจากความอ่อนแอของภาคประชาชนเองด้วยที่ตามประเด็นของภาครัฐบนกรอบความร่วมมืือของอาเซียนไม่ทันจนกลายเป็นฝั่งรัฐเป็นคนจัดตั้งประเด็นแล้วภาคประชาสังคมวิ่งตามอย่างเดียว “ถ้าถามว่ามีใครบ้างอ่านพิมพ์เขียวอาเซียน ถามว่ารู้ไหมว่าอาเซียนจะพัฒนาอะไร เมื่อไหร่ เราอาจจะไม่ได้ตามเอกสารเท่าใดนัก การเคลื่อนไหวของเรา เราก็มีความร่วมมือกันอยู่ เช่นประเด็นการสร้างเขื่อน ปัญหาที่ดิน ก็มีการพูดคุยร่วมกันบ้างอยู่ แต่ถ้าจะตามให้ทัน เราก็ต้องรู้ว่าเขาจะทำอะไรเมื่อไหร่ ตอนนี้เหมือนเราวิ่งตามแก้ปัญหา บางทีเราต้องศึกษาเพื่อไปดักหน้าว่า ถ้ามันจะมีจะทำให้เกิดอะไรก่อน เรียกว่าหยุดยั้งหรือชะลอมันก่อน”

GONGO (กองโก้):เอ็นจีโอปลอม (?) ตัวแทนรัฐในเวทีประชาชน ความท้าทายของประชาสังคมในการเดินหน้าไปด้วยกัน
          สภาวะการรวมตัวของภาคประชาสังคมเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ขบวนภาคประชาสังคมอาเซียนยังขยับไปได้ไม่ไกล สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาในเวทีภาคประชาชนคือภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอที่จัดตั้ง หรือได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ (Government Non Government Organization - GONGO - กองโก้) ที่หลายคนเรียกไปจนถึงขนาดว่าเป็น “เอ็นจีโอปลอม” การปรากฏตัวและปฏิบัติการของกองโก้มีผลกับบทบาทของเวทีภาคประชาชนอาเซียนมาก และยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไปว่าใครกันแน่คือกองโก้ และกลไกการตัดสินใจในเวทีภาคประชาชนอาเซียนที่จะใช้รวบรวมความเห็นที่แตกต่างออกมาทิศทางการดำเนินงานจะทำได้อย่างไร

           ศันสนีย์ กล่าวว่า GONGO คือเอ็นจีโอที่จัดตั้งโดยรัฐ หรือรัฐควบคุม ในเวที ACSC/APF จะเห็นได้ชัดเจนจากลาวและเวียดนาม จะมีปัญหาหน่อยหนึ่ง เพราะว่าพี่น้องที่ลาวที่ทำงานเรื่องทรัพยากร ที่ดิน แบบสมบัด สมพอน เขาก็ไม่สามารถมานำเสนออะไรได้เพราะกลัวว่ากลับไปแล้วจะมีผลกระทบอะไรกับเขาหรืออาจจะถูกจับตามอง เข้าประเทศไม่ได้ ทำให้ทำงานลำบาก

          “ปัญหาของลาวกับเวียดนามก็มีความซับซ้อนระดับหนึ่ง อย่างเช่นในการประชุมครั้งนี้ที่มี NOC ของเวียดนามที่เขาบอกว่าเป็น GONGO แล้วก็มีเวียดนามที่มาจากต่างประเทศ ก็จะมีข้อขัดแย้งบนเวทีนิดหน่อย อย่างประเด็นการร่างแถลงการณ์ก็มีเนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็คุยกับ NOC ของเวียดนามเขาบอกว่าคนเวียดนามกลุ่มมาจากต่างประเทศไม่ใช่คนสัญชาติเวียดนาม พี่ก็เลยถามว่า แล้วคุณยอมรับไหมว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นจริงในเวียดนาม เขาก็ยอมรับ แต่ก็บอกว่ามันไม่แฟร์ที่จะใส่เอาไว้ในแถลงการณ์”

        “ในการขับเคลื่อนของเราก็อยากให้เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สำหรับไทยเองก็ต้องมองดูว่า มูลนิธิสภาสังคมสงเคราะห์ หรือมูลนิธิใดๆ ที่ลงท้ายด้วยคำว่าในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นประชาสังคมหรือเปล่า แล้วเขาเป็น GONGO หรือเปล่า พี่คิดว่าเราอาจจะต้องกลับไปนั่งคุยกัน”

            กฤษกรเล่าประสบการณ์การพบเจอกับประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐว่า “ปีนี้การประชุม APF คนที่เข้าร่วมมีมาจาก 10+1 ประเทศ 1 คือติมอร์ เลสเต แต่ภาคประชาชนรับเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียนแล้ว แต่ทางการยังไม่มีการรับรอง ในกลุ่มคนที่มาจะมีอยู่สองส่วนภายใต้ความต่างระหว่างการทำงานและความเป็นอิสระของคนที่ทำงาน ภาคประชาชนในความหมายที่นิยามคือคนที่ทำงานพัฒนาที่ไม่ใช่รัฐ แต่เนื่องจากความหลากหลายของประเทศสมาชิกภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ต่างกันทำให้คนทำงานภาคประชาชนไม่ได้แยกขาดจากรัฐ เป็นเอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐ ในความต่างตรงนี้ก็ทำให้ข้อเสนอที่เป็นข้อเท็จจริงที่นำมาถกเถียงกันมันมีข้อขัดแย้งกัน เช่น เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่มีการคุยกลุ่มย่อยเรื่องเหมืองแร่และพลังงาน ครั้งนั้นก็จะมีเอ็นจีโอจากกัมพูชาที่ทำงานกับรัฐ นำเสนอว่าเขื่อนมีประโยชน์และบริหารจัดการได้ ภายหลังก็มีตัวแทนชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาตอบโต้ว่าข้อมูลที่คุณพูดมาไม่เป็นความจริง คนท้องถิ่นไม่เห็นเช่นนั้น”

          “เอ็นจีโอที่ทำงานกับรัฐเราเลยเรียกว่าเป็นภาคประชาชนของรัฐ ไม่ใช่ภาคประชาชนที่บริสุทธิ์จริงๆ เลยเรียกขาน ตั้งสมญานามว่า GONGO ทีนี้ GONGO ที่เห็นเป็นปรากฏการณ์จะมีอยู่สามประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม อย่างกรณีเวียดนามชัดเจนมาก ตอนร่างแถลงการณ์ในห้องประชุมใหญ่ก็จะมีภาคประชาชนที่ได้รับผลจากการละเมิดสิทธิฯ จนครอบครัวเขาต้องลี้ภัยในต่างประเทศ เขาก็พยายามอธิบาย เรียกร้องสิทธิ ที่เขาถูกรัฐบาลละเมิดว่ารัฐบาลเวียดนามละเมิดสิทธิเขา แต่ในขณะเดียวกัน เอ็นจีโอที่มาจากเวียดนามเองก็มองว่าเขาเป็นคณะกรรมการตัวจริง คนที่พูดไม่ได้ฟังเสียงจากคนที่อยู่ในเวียดนาม ความต่างตรงนี้ทำให้เรามองว่าพวกนี้เป็นเอ็นจีโอที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งมันไม่ใช่บทบาทของเอ็นจีโอที่ทำกัน หน้าที่เอ็นจีโอคือการสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐเข้าไปละเมิดสิทธิของชุมชน คนที่ออกไปปกปิดข้อมูลส่วนนี้แล้วมองว่ารัฐบาลทำดีแล้ว สวยงามแล้ว คนเหล่านี้ก็ไม่น่าจะทำในฐานะที่เป็นเอ็นจีโอหรือประชาสังคมอย่างแท้จริง เราไม่ได้มาฟังคำชื่นชมรัฐบาล แต่เรามาพยายามที่จะสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมีผลกระทบอะไรกับชาวบ้านบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีความพยายามที่จะปกป้อง (รัฐบาล)”


(ยืน)ประชาสังคมจากเวียดนามจะบันทึกภาพและวิดีโอทุกครั้งที่มีสมาชิกคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นแสดงความเห็นในเวทีหารือเพื่อร่างแถลงการณ์ร่วมกัน


           กลุ่มประชาสังคมเวียดนามที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวทีประชาชนอาเซียนเพื่อตามหานักกิจกรรมที่ถูกรัฐจับไป ประชาสังคมเวียดนามที่ทำงานเหล่านี้บางคนก็กลับเข้าเวียดนามไม่ได้แล้ว

         “อย่างกรณีของลาว คนที่จะเป็นเอ็นจีโอหรือคนที่จะมาร่วมประชุมคือคนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาล จึงไม่มีโอกาสเลยที่ข้อมูลจะสะท้อนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ โดยรัฐ จะถูกนำมาเสนอในที่ประชุม ทุกข้อมูลที่นำเสนอก็จะพยายามบอกว่ารัฐบาล สปป. ลาว ทำนู่นนี่ดีตลอด การทำดีตลอดเป็นสิ่งที่เราควรต้องรับฟัง แต่เบื้องหลังการทำดีมันมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกนำมาเสนอ”

        “มันเป็นเรื่องน่าเบื่อ คือจริงๆ แล้วรากหญ้าไม่มีพื้นที่สะท้อนการถูกละเมิดโดยรัฐบาลอยู่แล้ว แต่คนที่เอาข้อมูลมานำเสนอกลับพยายามปกป้องรัฐบาล พยายามเสนอข้อมูลสวยหรู ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ว่าพื้นที่เลห่านั้นคือพื้นที่ของรัฐบาล ไม่ใช่พื้นที่ของภาคประชาชน คุณไม่พูดรัฐบาลก็พูดอยู่แล้ว น่าเสียดายโอกาสที่พวกเราจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงจากพื้นที่ของภาคประชาชนจากเวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมทั้งที่จะคิดค้นหาทางออกร่วมกันในฐานะพลเมืองอาเซียนมันก็ไม่เกิดขึ้น เป็นที่น่าเสียดายโอกาส”

          “ขณะนี้ผมยังไม่ได้อยากจะคิดไปว่าอันนี้คือการวางแผนมาเพื่อที่จะคว่ำบาตร แทรกแซงภาคประชาสังคม แต่พฤติกรรมหลายๆ อย่างก็ทำให้เราต้องคิดเหมือนกันว่า หรือสิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งใจมาเพื่อไม่ให้เกิดข้อสรุปในขบวนของภาคประชาชนหรือเปล่า ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากเพราะมันจะสร้างรอยปริในขบวนการภาคประชาชนเอง อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างซึ่งบางครั้งมันหาจุดร่วมยาก แต่ผมว่าตรงนี้เป็นพัฒนาการของการเรียนรู้จากความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงาน ในช่วง 2-3 ปีที่ได้เข้าร่วมขบวนการก็ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะกรรมการที่รับผิดชอบการจัดงานได้คิดค้นเครื่องมือในการหาจุดร่วมถึงข้อขัดแย้งของประเทศนั้นๆ แต่ทำให้มติเอกฉันท์ ฉันทานุมัติไม่เกิด มันมีความพยายามหาจุดจบของเรื่องนี้ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้อยู่ เพราะอย่างไรก็ตามแต่ ไม่น่าจะมีใครกล้าถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาคประชาชนอาเซียน การที่เขาไม่กล้าถอนตัวน่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ฝ่ายที่เป็น GONGO เองต้องเปลี่ยยนท่าที เพราะถ้าคุณหลุดขบวนไป การที่จะกอบกู้กลับเข้ามาอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นเรื่องยาก ผมคิดว่ายังมีโอกาสอยู่ว่าความเป็นเอกภาพอย่างพร้อมเพรียงกันจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะปีสองปี ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการของการรวมตัวภาคประชาชนที่คิดว่าไม่นานเกินไป”

         กฤษกรตั้งข้อสังเกตต่อเงื่อนไขและบริบทของไทยในฐานะเจ้าภาพเวทีภาคประชาชนอาเซียนในปี 2562 ว่าตอนนี้ไทยยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันจนกลายเป็นปฏิปักษ์กัน “แต่อาจเป็นรูปแบบขบวนที่เห็นต่างกันเวที ACSC/APF มีจุดยืนที่มีท่วงทำนองในการถนอมและประสานงานกับฝ่ายรัฐ เป็นหลัก ซึ่งในไทยเองก็มีกลุ่มที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างจะเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวมวลชน สองรูปแบบก็มีเป้าหมายเดียวกันคือปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนคนเล็กคนน้อย ความต่างของรูปแบบและวิธีการไม่น่าจะมีเหตุผลหรือปัจจัยเพียงพอที่จะทำให้เกิดการปะทะกันเอง แต่อาจจะมีความต่างของการแสดงออกในทางสัญลักษณ์ในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ยังไม่กังวลถึงขนาดทีี่จะมี GONGO ที่สนับสนุนรัฐบาลได้”

“เรามีเวลาสองปีในการเตรียมตัว สิ่งที่คณะกรรมการต้องคิดหนักคือไม่ควรที่จะใจดีเกินไปว่าไทยไม่มีปัญหาอะไร ควรที่จะสร้างความเข้าใจที่จะดึงทุกภาคส่วนมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ผมคิดว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน”

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา



ทวีศักดิ์ เกิดโภคา: เรียบเรียง

              พวงทองเปิดประเด็นจากบทเริ่มต้นงานวิจัยเรื่องกิจการพลเรือนของทหาร ชี้หลังสงครามเย็น กอ.รมน. ยังมีส่วนในการจัดตั้งมวลชนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้จัดตั้งเฉพาะมวลชนในต่างจังหวัด แต่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ไปจนถึงผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์-รถออฟโรด เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ราชาชาตินิยม


          สองวันก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่ชื่อว่า “กฎอัยการศึก” เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ในช่วงสองวันดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการเรียกตัวนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งแกนนำเสื้อแดง และแกนนำ กปปส. เข้าพูดคุยเจรจา โดยมีท่าทีเสมือนว่าเป็นการหาทางออกให้กับประเทศในภาวะวิกฤติที่ถูกดันจนมาถึงทางตันเพียงเท่านั้น หากแต่กลไกการทำงานของทหารยังกว้างขวางออกไปในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือด้วย

          ขณะที่มีการปิดห้องประชุมพูดคุยที่สโมสรกองทัพบกที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารหลายจังหวัดได้เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านสีแดง เพื่อที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ พร้อมกับเชิญตัวแกนนำเสื้อแดงหลายคนเข้าไปในค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร บางคนโชคดีได้นอนค้างคืนในค่ายทหาร แต่บางคนโชคร้ายไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว เพียงถูกเรียกไปพูดคุยและได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้าน พร้อมกับการติดตามสอดส่องอย่างใกล้ชิด

          ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคำถามสำคัญไว้ในงานเสวนาที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “กิจการพลเรือนของทหาร: จากยุคต้านคอมมิวนิสต์ สู่ยุคต้านประชาธิปไตย” คำถามที่ว่าคือ เจ้าหน้าที่ทหารรู้ได้อย่างไรว่าต้องไปยุติความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ไหนบ้าง และรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นแกนนำคนเสื้อแดงในระดับพื้นที่ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และหากเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือ เมื่อไหร่กันที่พวกเขาเริ่มต้นการทำงานในลักษณะนี้ และนี่คือภาพสะท้อนหรือไม่ว่า ทหารได้ทำกิจการพลเรือนอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

           งานดังกล่าวจัดในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางผู้ฟังทั้ง นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามารับฟัง พร้อมบันทึกภาพวิทยากร และผู้ร่วมฟังเสวนาตลอดงาน สำหรับงานนี้เป็นการนำเสนองานวิจัยชิ้นบทเริ่มต้นงานวิจัยของพวงทอง ซึ่งเป็นงานที่สืบเนื่องมาจากการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ICTS 2017 จัดขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่


สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง


          ความเป็นมาของกิจการพลเรือนมาจากอะไร บริบทความขัดแย้งทางการเมืองแบบไหนที่ทำให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในกิจการพลเรือน อะไรคือความชอบธรรมทางการเมือง และความชอบธรรมทางกฎหมายที่ถูกเอามาใช้เพื่อขยายอำนาจหน้าที่ของกองทัพ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นมาจนถึงปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวงทอง กำลังจะพาเราไปค้นหาคำตอบ

00000
จุดเริ่มต้นการขยายบทบาทในกิจการพลเรือนของทหาร

            พวงทองชี้ให้เห็นว่า กิจการพลเรือนของกองทัพนั้นเกิดขึ้นและเด่นชัดที่สุดในยุคสงครามเย็น หรือสงครามการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย โดยในช่วงเวลานั้นได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วความหมายของคำว่ากิจการพลเรือนของทัพนั้น หากจะจำกัดความก็พอจะให้ขอบเขตกับมันได้ว่าเป็น กิจการของทหารที่ไม่ใช่การต่อสู้โดยให้กำลังอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการแทรกซึมเข้าไปในชุมชน หมู่บ้าน ผ่านการจัดตั้งมวลชนให้กลายมาเป็นกลไกที่ทำงานให้กับรัฐ เช่น หมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน, ไทยอาสาป้องกันชาติ, กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ อาสาสมัครรักษาดินแดน รวมทั้งกลุ่มนวพล กระทิงแดง และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีข้อครหาว่า กอ.รมน. เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้ง


         คำถามที่น่าสนใจซึ่งพวงทองชี้ชวนให้คิดต่อไปคือ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการสิ้นสุดลงของสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้จะมองเห็นว่าบทบาทของ กอ.รมน. และมวลชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะนวพล กับกระทิงแดง ค่อยๆ หายไป แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความการทำงานภายใต้โครงสร้างเดิมจะยุติไปด้วย พร้อมกับตั้งคำถามต่อไปว่าด้วยว่า หากไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะเท่ากับว่ากองทัพไม่ได้มีการทำงานในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงการเมืองหรือไม่

“ถ้าเรามองกองทัพเพียงในแง่ของการกุมกองกำลังอย่างเดียวเท่านั้นก็จะทำให้มองข้ามบทบาทของกองทัพในมิติอื่นๆ ในด้านการเมือง และด้านอุดมการณ์”
พวงทอง กล่าว

         พวงทอง อธิบายต่อไปว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่กระตือรือร้นที่สุดสำหรับการทำกิจการพลเรือนของทหาร แม้การเกิดขึ้นมาของ กอ.รมน. ในช่วงแรกจะมีภารกิจหลักเพียงอย่างเดียวคือการใช้กำลังเข้าปราบปรามคอมมิวนิสต์ ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นไม่ได้ทำให้สงครามสิ้นสุดลงได้ในเวลาอันสั้น จนถึงที่สุดรัฐไทยเริ่มตระหนักได้ว่าปัญหาที่ถูกเรียกว่า “ภัยคอมมิวนิสต์” ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยในยุคสงครามเย็นที่ส่งอิทธิพลเข้ามาในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดจากความคับแค้นของผู้คนในประเทศเอง ซึ่งถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างทางเศรษฐกิจ ประกอบการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมเป็นเวลานานต่างหากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คอมมิวนิสต์แผ่ขยายอย่างน่ากังวลสำหรับรัฐไทย

        “ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ได้ก็จะต้องมุ่งให้เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติ ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทหาร กลายเป็นการเพิ่มบทบาทให้กับทหารในด้านการพัฒนา และในเรื่องทางอุดมการณ์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในเวลานั้น” พวงทอง กล่าว

         ในช่วงที่ยังมีสงครามคอมมิวนิสต์ ทหารมีบทบาทในการสร้างถนนหนทาง ขุดลอกคูคลอง สร้างฝายในท้องถิ่นให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ทหารเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ ด้านหนึ่งเพราะกองทัพมีกองกำลังอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกแทรกซึมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมกันกับการเข้าไปเพื่อการพัฒนา กอ.รมน. เองก็ยังมีส่วนในการเข้าไปอบรมจัดตั้งมวลชน เป้าหมายนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประชาชนในท้องถิ่นให้มีความจงรักภักดีกับรัฐ พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการจับตามองของรัฐในพื้นที่ เปลี่ยนประชาชนให้เป็นดวงตาให้กับรัฐ

         “เมื่อเข้าไปดูเนื้อหาการอบรมพบว่ามีการตอกย้ำประชาชนเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลพื้นที่ และรายงานเรื่องราวผิดปกติให้กับรัฐ และบทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การส่งเสริม สนับสนุนอุดมการณ์ของรัฐ ซึ่งคือ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” พวงทอง กล่าว

           ความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญ และความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อต่อการขยายกิจการพลเรือนของทหาร

         พวงทองอธิบายต่อไปถึงความชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญที่มารองรับหน้าที่กว้างขวางออกไปของทหารโดยชี้ให้เห็นว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ระบุหน้าที่ของทหารไว้เพียงแต่ว่า รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราช และประโยชน์แห่งชาติ แต่ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2516 ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517 ได้มีการขยายบทบาทของกำลังเพิ่มขึ้นอีก โดยระบุให้ กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบ หรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามกบฏ การจราจล เพื่อรักษาความมั่นของรัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ และหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไม่ได้มีการแก้ไขบทบาทของทหารอีกเลย

ขณะที่ความชอบธรรมตามกฎหมายอื่นๆ นั้น พวงทองชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีการขยายบทบาทในด้านกิจการพลเรือนของทหารจาก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 และ 65/2526 ซึ่งแผนทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด มีการชูธงว่าจะมีใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งปลูกฝังความรักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ กำจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการใช้ปฏิบัติการด้านจิตวิทยาข่าวสารด้วย

         “นโยบายทั้งสองเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรม ซึ่งประกาศเป็นนโยบายแห่งชาติที่หน่วยงานรัฐทั้งหลายต้องนำไปปฏิบัติ โดยมี กอ.รมน. เป็นองค์กรประสานงาน ผลักดัน เสนอแนะแนวทางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ หรือสามารถที่จะเข้าไปทำงานในด้านอื่นๆ ได้” พวงทอง กล่าว

ต่อมาพวงทองได้ ระบุถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ. 2551 ซึ่งถูกผลักดันโดยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังจากรัฐประหารปี 2549 แม้ว่าจะมีชื่อเรียกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกว้างๆ แต่เนื้อหาที่ถึงเขียนนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. ทั้งหมด และเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจกับ กอ.รมน. อย่างมหาศาล จนถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ยืนยันการมีอยู่ของสภาวะรัฐซ้อนรัฐได้อย่างชัดเจน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกประกาศไม่กี่วันก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่

          ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แม้จะไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในเวลานั้นทำคือการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบังคับบัญชาภายใน กอ.รมน. โดยกำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดหันมาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่หลังจากมี พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ได้กำหนดให้ กอ.รมน. จังหวัดกลับไปขึ้นตรงต่อ กอ.รมน. ภาคเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่า ทหารมีอำนาจในการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดได้

กอ.รมน. และกิจการพลเรือนในยุคสมัยปัจุจบัน

           ที่ผ่านมานโยบาย 66/2523 และ 65/2526 ถูกขนานนามว่าเป็น การปักธงชัยยืนยันชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นศัตรูที่สำคัญของรัฐไทยภายใต้การปกครองของทหาร ล่าสุดช่วงต้นปี 2560 พลเอกประยุทธ์ ผู้นำคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเตรียมกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปว่าการหวนกลับมาพูดถึงนโยบายดังกล่าวอีกครั้งนั้นสื่อความหมายถึงอะไร

ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองเดินหน้าไปจนสิ้นสุด จนได้ผลลัพท์ออกมาเป็นสัญญาประชาคม 10 ข้อที่รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ในการนำเสนอสัญญาข้อตกลงเหล่านั้นกับประชาชน เมื่อย้อนกลับมามองกลไกพูดคุยเพื่อเตรียมสร้างความปรองดองอีกครั้ง พวงทองชี้ให้เห็นว่า กอ.รมน. ได้เป็นกลไกหลักในการดำเนินการดังกล่าว เช่นมีหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียก หรือเชิญตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนกลุ่มการเมือง มาให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายหน้าที่ให้ กอ.รมน. รับผิดชอบในการประสานงานผลักดันการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้วย

             นับได้ว่า กอ.รมน. เข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด พวงทองยังชี้ให้เห็นต่อไปว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 มีการรายงานข่าวว่าจะมีการระดมคนกว่า 5 แสนคน ภายใต้การจัดตั้งของ กอ.รมน. ให้ออกมาช่วยรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ







          นอกจากนี้ พวงทองพบว่าในช่วงเวลานับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา มีความพยายามรื้อฟื้นโครงการจัดตั้งมวลชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับขยายขอบเขตของมวลชนจัดตั้งที่เดิมเป็นประชาชนในต่างจังหวัด ไปสู่มวลชนที่อยู่ในเมือง และมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้นำทางศาสนา กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และรถออฟโรด ขณะที่ตัวอย่างซึ่งเห็นได้ชัดคือ การออกมายอมรับว่า เบส อรพิมพ์ เป็นนักพูดของ กอ.รมน. ซึ่งรับงานเดินสายพูดให้กับข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปทั่วประเทศฟัง



เบส อรพิมพ์ รักษาผล พูดสร้างแรงบันดาลในหัวข้อ “เกิดอีกกี่สิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล”

            ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลบางส่วน และกรอบการมองปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นใหม่ของพวงทอง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่า กระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยที่กระบวนการจัดตั้งมวลชนของ กอ.รมน. ยังคงทำงาน หรือถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในยุคสมัยปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ขณะเดียวกันหลังจากการนำเสนอจบลง ได้มีผู้ร่วมเสวนาตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดตั้งของ กอ.รมน. ว่าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะนำไปสู่อะไร พวงทองได้ให้ความเห็นว่า ยังไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือกระบวนการดังกล่าวคือ การสถาปนาและตอกย้ำค่านิยมหลักของสังคมไทย และอุดมการณ์ของรัฐ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่พูดได้ อะไรคือสิ่งที่ห้ามพูด

ไผ่ ดาวดิน เผยถูกผู้คุมเรือนจำตบหัว 3 ครั้ง และถูกชักอวัยวะเพศขึ้นลงเพื่อตรวจหายาเสพติด




Published on Fri, 2017-11-17 16:40


ศูนย์ทนายฯ เผยศาลจังหวัดภูเขียวนัดสืบพยาน คดีไผ่ ดาวดินและเพื่อนแจกเอกสารประชามติ เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ไผ่เปิดเผยระหว่างมาขึ้นศาลว่า หลังจากถูกย้ายตัวมาที่เรือนจำภูเขียวได้ถูกผู้คุมตบหัวอย่างรุนแรง 3 ครั้ง และถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจหายาเสพติด ถูกแหวกทวาร และชักอวัยวะเพศขึ้นลง 5 ครั้ง



เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดภูเขียวนัดพร้อมเพื่อหยิบยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่และนัดตรวจพยานหลักฐานคดีประชามติ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายวศิน พรหมณี นักศึกษาคณะวิศวกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรค 2, วรรค 3 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 จากกรณีที่ทั้งสองคนทำกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับการประชามติและร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนที่ตลาดสดภูเขียว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 59 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงก่อนวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยมาศาล โดยจตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำอำเภอภูเขียว หลังจากที่ถูกส่งตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาขังที่เรือนจำภูเขียว ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 60 เพื่อมาพิจารณาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดภูเขียว ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับการประกันตัว มาศาลตามนัด

ทนายจำเลยทั้งสองแถลงว่า จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย

โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารจำนวน 6 ฉบับ และมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 7 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท. อร่าม ประจิตร ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรภูเขียว ผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 3 ปาก, ผอ.กกต.จ.ชัยภูมิ และพนักงานสอบสวน 2 ปาก ส่วนจำเลยอ้างส่งพยานเอกสารจำนวน 9 ฉบับ และมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสอง รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติศาสตร์ และด้านรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ศาลให้คู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องเป็นคดีสามัญพิเศษ โดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13-16, 20 ก.พ. 61 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 21, 27-28 ก.พ. 61

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 มี.ค.60 ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวนัดตรวจพยานหลักฐาน จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล เนื่องจากถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ในคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลจังหวัดขอนแก่นปฏิเสธที่จะส่งตัวจตุภัทร์มาพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดภูเขียว จนกว่าศาลจังหวัดขอนแก่นจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ โจทก์และฝ่ายจำเลยจึงแถลงร่วมกัน ขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ชั่วคราว หากศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคดีแล้วเสร็จให้คู่ความแถลงต่อศาลเพื่อให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

บรรยากาศการพิจารณาคดีในนัดนี้ ไผ่ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยมีกุญแจเท้าล่ามข้อเท้าทั้งสองไว้ด้วยกัน แตกต่างไปจากเมื่อถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานฯ ขอนแก่น เป็นที่สนใจของประชาชนราว 20 คน ที่เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ไผ่ได้เล่าเหตุการณ์ในวันที่เขาย้ายมาเรือนจำอำเภอภูเขียววันแรกว่า เขาถูกผู้คุมคนหนึ่งตบหัวแรงๆ 3 ครั้ง และถามว่าเมื่อไหร่ญาติจะมาเอาของ ซึ่งหมายถึงของใช้ รวมถึงจดหมายและการ์ดที่ไผ่เอามาจากทัณฑสถานฯ ขอนแก่น ผู้คุมคนเดิมกล่าวอีกว่า ถ้าญาติไผ่ไม่มา เขาจะเอาของทิ้ง

ไผ่เล่าอีกว่า ในการตรวจรับเข้าเรือนจำภูเขียว เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นยาเสพติด โดยให้เขาถอดเสื้อผ้า แหวกทวาร ชักอวัยวะเพศขึ้นลง 5 ครั้ง และลุกนั่ง รวมทั้งเมื่อถูกเบิกตัวมาศาลเช่นในวันนี้ ก่อนออกจากเรือนจำเจ้าหน้าที่ก็ให้เขาถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจหายาเสพติด

ไผ่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องตรวจค้นร่างกายอย่างละเอียดเหมือนเขาเป็นนักโทษคดียาเสพติด และเขาก็ถูกย้ายมาจากอีกเรือนจำหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำใหม่ รวมทั้งในเวลาที่ถูกเบิกตัวมาศาลทำไมต้องตรวจหายาเสพติดอีก ในเมื่อเขาก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำตลอดเวลา

หลังพิจารณาคดีเสร็จ ศาลได้สั่งห้ามทุกคนไม่ให้ออกจากห้องพิจารณาคดี จนกว่าจตุภัทร์และตำรวจศาลจะเดินถึงห้องขังใต้ถุนศาล นอกจากนั้น เพื่อนและคนที่มาให้กำลังใจไม่สามารถเข้าเยี่ยมไผ่ที่ห้องขังใต้ถุนศาลได้ ทั้งนี้ ตำรวจศาลชี้แจงว่า ต้องยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตเข้าเยี่ยมก่อน จึงจะสามารถเข้าเยี่ยมได้

ป.ป.ช.ประเมินคุณธรรม 422 หน่วยงานรัฐ พบ 5 องค์กรอิสระ ป.ป.ช.คะแนนสูงสุด




Published on Fri, 2017-11-17 13:14


สำนักงาน ป.ป.ช. เผยผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส 422 หน่วยงานภาครัฐ พบส่วนองค์กรอิสระ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้คะแนนสูงสุด ขณะที่ ต่ำสุดคือ สำนักงานผู้ตรวจกำรแผ่นดิน ส่วนกองทัพบก ได้ 77.94 คะแนน

อ่านประกาศผลทั้งหมดได้ที่ https://www.nacc.go.th//images/article/freetemp/article_20171117092622.pdf

17 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 พ.ย.60) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(สำนักงาน ป.ป.ช.) ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ซึ่งจัดทำโดย ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อประเมินผลด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน และเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐจำนวน 422 หน่วยงาน

สำหรับการประเมินนี้ แบ่งออกเป็น 5 ดัชนี 1.ดัชนีความโปร่งใส 2.ดัชนีความพร้อมรับผิด 3.ดัชนีความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน 4.ดัชนีวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และ 5.ดัชนีคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน โดยคะแนนประเมินระหว่าง 80 – 100 ถือว่า อยู่ในเกณฑ์คุณธรรมและความโปร่งใสในระดับที่สูงมาก 60 – 79.99 อยู่ในระดับสูง 40 – 59.99 อยู่ในระดับปานกลาง 20 – 39.99 อยู่ในระดับต่ำ 0 – 19.99 อยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งไม่พบว่า มีหน่วยงานใดได้คะแนนในเกณฑ์ต่ำและต่ำมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงาน ศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) 3 หน่วยงาน นั้น สำนักงานศายุติธรรมได้คะแนนสูงสุดที่ 92.37 คะแนน ขณะที่องค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้คะแนนสูงสุด ที่ 90.44 คะแนน ต่ำสุดคือ สำนักงานผู้ตรวจกำรแผ่นดิน 71.20 คะแนน ส่วนอัยการพบว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ 78.98 คะแนน หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา 2 หน่วยงานคือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้คะแนนใกล้เคียงที่ 82.70 และ 82.94 ตามลำดับ ขณะที่รัฐวิสาหกิจ คะแนนสูงสุดตกเป็น ธนาคาราคารสงเคราะห์ 97.97 คะแนน
กองทัพบก ได้ 77.94 คะแนน กองทัพเรือได้ 88.91 คะแนน กองทัพอากาศได้ 83.99 คะแนน ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยได้ 86.12 คะแนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ 73.87 คะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อปีที่แล้ว 29 ก.ย. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลจากโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 115 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย สำนักงานศาล (เฉพาะหน่วยงานธุรการ) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานสังกัดรัฐสภา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน นั้น ซึ่งปรากฏว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในอันดับที่ 100 ได้เพียง 73.52 คะแนนเท่านั้น โดยขณะนั้น สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า สำหรับ สำนักงาน ป.ป.ช. สังคมอาจจะมองเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลทางคดีอันนี้จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้ได้คะแนนประเมินในปีนี้ไม่สูง แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช. มีความจำเป็นเนื่องจากข้อมูลทางคดีมีผลต่อการพิจารณา มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดี ทำให้บางครั้งไม่อาจให้ข้อมูลหรือเปิดเผยได้ซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

สกสส.ร้อง ป.ป.ช.สอบ 3 อัยการสูงสุด ปมไม่ดำเนินคดีสุเทพ-พวก ขวางเลือกตั้ง กว่า 3 ปีแล้ว




Published on Thu, 2017-11-16 22:47


สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิฯ ร้อง ป.ป.ช. สอบ 3 อัยการสูงสุด กรณีไม่สั่งฟ้องและดำเนินคดีกับ สุเทพ และพวก ขัดขวางการเลือกตั้ง ระบุล่าช้ากว่า 3 ปี 4 เดือนแล้ว ด้านอดีต อสส.ไม่กังวล หลังถูกร้อง


16 พ.ย. 2560 วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางเข้ายื่นเรื่องต่อประธาน ป.ป.ช. ร้อง อดีตอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ประกอบด้วย ตระกูล วินิจฉัยภาค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร และเข็มชัย ชุติวงศ์ เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลทั้ง 3 ที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ในกรณีไม่สั่งฟ้องและดำเนินคดีกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และพวก ในข้อหากบฏ กรณีขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 จนจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 แล้ว แต่มีเพียงการสั่งฟ้องผู้ต้องหาแค่ 4 ราย ที่เป็นผู้ร่วมการกระทำความผิดกับ สุเทพ

วิญญัติ กล่าวว่า การไม่เร่งดำเนินการนำตัวมาฟ้องคดี ปล่อยให้มีการร่วมฟังการพิจารณาคดีในศาล ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฏหมาย จนเกิดความล่าช้ากว่า 3 ปี 4 เดือน การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุดทั้ง 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และมีหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งได้กำหนดให้การปฎิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักนิติธรรม จึงไม่อาจปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ หรือบิดผันการใช้อำนาจ หรือใช้อำนาจนอกขอบเขตความชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม

วิญญัติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีการเลือกปฏิบัติที่จะดำเนินคดีเอากับบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ดำเนินคดีกับบุคคลอีกคนหนึ่งตามอำเภอใจ ซึ่งคดีนี้ศาลอาญา ได้รับเป็นคำฟ้องและดำเนินกระบวนการพิจารณาอยู่ในศาลแล้ว

เลขาธิการ สกสส. ยังกล่าวว่า การยื่นกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ ย่อมกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอัยการและกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้นจึงขอเรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้


อดีต อสส.ไม่กังวล หลังถูกร้อง

ด้าน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ วิญญัติ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ของ ตระกูล วินิจนัยภาค และ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ อดีต อสส. และเข็มชัย ชุติวงศ์ อสส. คนปัจจุบัน ที่ไม่เร่งสั่งคดีสุเทพ และแกนนำ กปปส. เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือไม่

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กล่าวว่า การขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบดังกล่าว ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่อัยการอาวุโสในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร จึงสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ ส่วนจะดำเนินการใดต่อกรณีดังกล่าว คงต้องรอฟังผลของ ป.ป.ช.ก่อน ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไร และว่า การทำหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่ง อสส. การพิจารณาสำนวน เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งอัยการที่รับผิดชอบดำเนินการต่อเนื่อง

ต่อกรณีคำถามว่า มีความกังวลอะไรหรือไม่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กล่าวว่า ไม่มีอะไร และว่า ที่มาที่ไปการร้องต่อ ป.ป.ช.เป็นอย่างไร ไม่ขอออกความเห็น

เรืองไกร ยื่น ป.ป.ช.สอบ รัฐบาล-สนช. ทำงบฯ ปี 61 ขัดรัฐธรรมนูญ




Published on Thu, 2017-11-16 21:16


เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. สอบ นายกฯ ครม. และ สนช. จัดทำงบประมาณปี 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ - พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ จี้สอบผู้ร่วมโหวตให้ความเห็นชอบโดยเร็ว ระบุขณะนี้ได้เกิดความเสียหายแล้ว


16 พ.ย. 2560 วันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. ผ่าน กชนนท์ สุขแก้ว รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จะต้องจัดทำตามยุุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ การกระทำนี้จึงอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 แต่จากการตรวจสอบพบว่า ในระหว่างการจัด ทำจนถึง พ.ร.บ.งบประมาณ มีผลบังคับใช้ ยังไม่มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ดังนั้น รัฐบาล และ สนช.จะทำงบประมาณไม่ได้ ต้องกลับไปใช้งบประมาณปี 2560

“ขณะนี้ได้เกิดความเสียหายแล้ว เพราะมีการใช้จ่ายงบประมาณตามกฎหมายฉบับนี้ ผมในฐานะเคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ก็ได้รับเงินจากกฎหมายดังกล่าว เป็นเงินทุนเลี้ยงชีพจากงบประมาณปี 2561 งวดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินับฉัยว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่” เรืองไกร กล่าว พร้อมขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำกฎหมายดังกล่าว รวมทั้ง ผู้ที่ร่วมโหวตให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพราะขณะนี้ได้มีการใช้จ่ายเงินไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากศาลวินิจฉัยเรื่องนี้แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับเงินดังกล่าวจะมีความผิดไปด้วย
 

'คดีซับซ้อน' เลื่อนพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 2 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ




เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ไป ม.ค.ปีหน้า เหตุคดีซับซ้อนและมีคนให้ความสนใจ พร้อมเปิด 6 ประเด็นอุทธรณ์คดีชี้ไม่ผิดเหตุ ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ประกาศ คสช.ไม่มีผลเป็นกฎหมาย



16 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 'อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร' เป็นครั้งที่ 2 โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2561

คดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559) เป็นคดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ในข้อหาคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกและความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ 23 พ.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงวันเดียว



สำหรับคดีดังกล่าว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เป็นทนายให้ อภิชาต โดยผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม บัณฑิต หอมเกษ ผู้ประสานงานและรณรงค์ของ สนส. บัณฑิต เปิดเผยว่า ทางศาลไม่มีหนังสือแจงถึงเหตุผลที่เลื่อนอ่านคำพิพากษา ศาลเพียงนั่งบัลลังก์และบอกว่าเลื่อน พร้อมกล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีคนให้ความสนใจ รวมทั้งเป็นคดีที่มีประเด็นที่ซับซ้อน ศาลอุทธรณ์จึงแจ้งมายังศาลแขวงว่าพิจารณายังไม่แล้วเสร็จจึงต้องเลื่อนไปก่อน

บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ในตอนแรกศาลแขวงพิพากษายกฟ้องโดยยกเรื่องกองปราบไม่มีอำนาจสอบสวน อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงยกฟ้องด้วยเหตุนี้ จากนั้นอัยการได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงระบุว่ากองปราบฯ มีอำนาจสอบสวนอยู่ จึงย้อนสำนวนนี้ไปให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาคดีใหม่ เมื่อให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาคดีใหม่ จึงมีคำพิพากษาออกมาว่า อภิชาตทำผิดจริงตามฟ้องพร้อมลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และต่อมาทนายความของจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว

ผู้ประสานงานและรณรงค์ของ สนส. เปิดเผยว่า อภิชาตได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 6 ประเด็น ดังนี้


  • 1. ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย 
  • 2. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่นำมาฟ้องจำเลยจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้
  • 3. การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พ.ค.2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
  • 4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก
  • 5. ปากคำพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ และจำเลยมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรับรองไว้ 
  • 6. จำเลยไม่ได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ จำเลยต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย 

สุรชาติ บำรุงสุข: บทบาทที่ไม่หายไปของ กอ.รมน. และการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง



Published on Thu, 2017-11-16 14:45


สุรชาติไล่ไทม์ไลน์บทบาทกองทัพต่อเรื่องความมั่นคงจากยุคก่อนสงครามคอมมิวนิสต์จนถึงหลังสิ้นสุดสงคราม ชี้ปัจจุบันบทบาท กอ.รมน.ไม่เหมือนเดิม แปลงโฉมใหม่ พร้อมกับการเกิดขึ้นของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ที่เชื่อว่าทหารมีศีลธรรมทางการเมืองเหนือกว่าพลเรือน


เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ที่ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานรัฐศาสตร์เสวนาในหัวข้อเรื่อง “กิจการพลเรือนของทหาร: จากยุคต้านคอมมิวนิสต์ สู่ยุคต้านประชาธิปไตย” โดยมีวิทยากรคือ สุรชาติ บำรุงสุข และ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมสนใจฟังการเสวนาราว 40 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในชุดนอกเครื่องแบบเข้าร่วมฟังและถ่ายรูปวิทยากรและผู้เข้าร่วมงานเสวนาตลอดงาน


สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

สุรชาติ บำรุงสุข: โจทย์ความมั่นคงหลังสงครามเย็น เมื่อ กอ.รมน. แปลงโฉมใหม่

ผมคิดว่าลักษณะการขยายบทบาทของทหาร หรือที่เรียกว่า บทบาทที่ไม่ใช่บทบาททางทหารโดยตรง เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพียงแต่ความน่าตกใจของไทยคือ บทบาทที่ทหารขยายงานออกไปสู่ภาคพลเรือน โดยเหตุผลหรือบริบทมันเกิดในยุคสงครามเย็น แต่ปัญหาของไทยคือ สงครามที่จบไม่ได้ทำให้บทบาทตรงนี้จบ จะเห็นความต่างอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2516 ก็จะเริ่มเห็นบทบาทของ กอ.รมน. ที่ชัด ผมคิดว่าถ้าเราลองแบ่งกรอบเวลา จะได้สักประมาณ 3 ช่วงใหญ่ๆ คือช่วงก่อนสงครามคอมมิวนิสต์ สงครามคอมมิวนิสต์ และหลังสงครามคอมมิวนิสต์

ยุคก่อนสงครามคอมมิวนิสต์: ทหารกับการพัฒนา

ทหารจะไม่มีบทบาทอย่างที่เราเห็น ทหารมีหน้าที่อยู่กับการรบอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ผมคิดว่าถ้าเราอธิบายสักนิดหนึ่ง ต้นเรื่องทั้งหมดมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อรัฐประหารปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจโดยตรง ความน่าสนใจตรงนี้คือ เขาเป็นคนอีสาน แล้วในการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ทริปแรกที่จอมพลสฤษดิ์เดินทางออกต่างจังหวัดเป็นทริปที่ไปภาคอีสาน ผมล้อเล่นๆ ว่าเป็นทัวร์นกขมิ้น หรือ ครม.สัญจรชุดแรก ซึ่งออกยาวมากถ้าดูเวลา นึกไม่ออกเลยว่ารัฐบาลทิ้งงานกรุงเทพแล้วไปอยู่อีสาน

ด้วยความเป็นลูกอีสาน จอมพลสฤษดิ์เห็นอะไร คำตอบคือความยากจนของพี่น้อง ผมคิดว่าโครงการที่รัฐบาลมีต่อพี่น้องในต่างจังหวัดที่เป็นคนยากคนจน จริงๆ แล้วเกิดขึ้นก่อนสมัยนายกฯเปรม ติณสูลานนท์ แต่คนยุคหลังจะเห็นบทบาทตรงนี้สมัยนายกฯ เปรม มากกว่า แต่หากย้อนกลับไปเราจะเห็นบทบาทของจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้กำเนิดงานทหารที่เกี่ยวกับการพัฒนา ฉะนั้นเราอาจต้องทำความเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของการพัฒนาจริงๆ เพราะสงครามคอมมิวนิสต์ยังไม่เกิด แม้มี พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์จริง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญในการขยายบทบาทของทหารอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ยุคสงครามคอมมิวนิสต์: ทหารกับการจัดตั้งมวลชน และสงครามตัวแทน

จุดเริ่มต้นของสงครามคอมมิวนิสต์คือ วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 หลังจากเหตุการณ์นั้นมันเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลไทย กับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถ้าพูดแบบละเอียดก็คือ การปะทะที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นี่คือจุดเริ่มต้นของสงครามคอมมิวนิสต์ ทีนี้พอสงครามคอมมิวนิสต์เกิดถ้าเราย้อนกลับไปอ่านประวัติ รัฐบาลไทยก็ต้องคิดว่าจะเอาองค์กรอะไรขึ้นมาเสริมในการทำสงคราม องค์กรนี้ถูกสร้างประมาณเดือนธันวาคม โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นคนผลักดัน องค์กรที่ว่านี้คือ กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) เกิดขึ้นเพื่อรองรับภารกิจสงคราม ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางการทหารทั้งหมด แต่พยายามดึงหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่เรื่องทางการรบเข้าไปร่วม จนกระทั่งต่อมาก็ยกฐานะเป็น กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) โดยมีการบริหารงานแบบราชการ

ช่วงต้นมันเป็นความหวังของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เชื่อว่าสงครามคอมมิวนิสต์จะรบสั้น มีความเชื่อว่าหากทุ่มกำลังเต็มที่สงครามที่เป็นอยู่ในเวลานั้นจะไม่ยาว เราคิดว่าเราจะรบในสงครามคอมมิวนิสต์สักประมาณ 6 เดือน แล้วเราจะชนะ นั่นหมายความว่าจากสิงหาคมถ้าเราคิดเพียง 6 เดือน พูดง่ายๆ คือประมาณต้นปี 2509 หรือกลางปี 2509 เราจะชนะ วันนี้ท่านทั้งหลายจำได้ไหมครับว่าสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดเมื่อไหร่ ช่วงที่สงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยสิ้นสุดลงคือปี 2525-2526 ในรัฐบาลของพลเอกเปรม

การแปลงโฉมของ กอ.รมน. และการก่อเกิดสงครามตัวแทน หลัง 14 ตุลา 16

จะเห็นว่าสงครามคอมมิวนิสต์มันยาวกว่าที่ผู้นำทหารคิดไว้เยอะ เนื่องจากสถานการณ์สงครามคอมมิวนิสต์มันพัฒนา แต่มันซ้อนด้วยสถานการณ์การเมืองชุดหนึ่ง นั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ฉะนั้น หลัง 14 ตุลา เราเห็นอะไร เราเห็น กอ.ปค. แปลงโฉมเป็น กอ.รมน. คือเปลี่ยนชื่อแต่อยู่ภายใต้โครงสร้างเดิม พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนเครื่องทรงอีกแบบหนึ่ง ในสภาวะของการเกิด กอ.รมน. มันซ้อนกัน สงครามคอมมิวนิสต์ที่รัฐไทยเคยรบในชนบท มันกลายเป็นแนวรบหนึ่ง คือรัฐไทยเริ่มรู้สึกว่าพลทหารของคอมมิวนิสต์มันย้ายเข้ามาสู่พื้นที่เมือง ก็คือ ขบวนการนักศึกษา

กอ.รมน. ในช่วงหลัง 14 ตุลา จะเห็นบทบาทในส่วนของชนบทกับส่วนที่อยู่ในเมือง พูดง่ายๆ ก็คือบทบาทในการต่อต้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษา หรือของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงนี้เราก็จะได้เห็นการเกิดขึ้นของกลุ่มนวพล กระทิงแดง และอีกหลายกลุ่ม ผมว่าทั้งหมดที่เราเห็นเป็น proxy หรือสงครามตัวแทนของ กอ.รมน. ที่ไม่ใช้เครื่องมือทางการทหารตรงๆ แต่ใช้เครื่องมือที่เป็นองค์กรพลเรือน องค์กรจัดตั้งของทหาร เข้าทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้าย

ในสภาวะหลัง 14 ตุลา ผมว่ามันมาพีคที่สุดคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เราเห็นคนจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ชนบท ในช่วงเวลาใกล้กัน เราเห็นการล้มของโดมิโน 3 ตัวคือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ในปี 2518 โดยตัวเวลาก็คือกลางปี เราเห็นเวียดนาม กัมพูชา ล้มในเดือนเมษายน 2518 แล้วพอธันวาคมในปีเดียวกัน ลาวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
คำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่ในมิติความมั่นคงก็คือ ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4 หรือไม่ ถ้าไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 จะทำอย่างไร ผมคิดว่าบริบทแบบนี้ความน่าสนใจ คือ ทหารส่วนหนึ่งเริ่มตัดสินใจ และเชื่อว่าชุดวิธีเก่าในการสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์มันจะพาประเทศไม่รอด หรือเชื่อว่าในท้ายที่สุดถ้าจะสู้บนชุดความคิดเดิมหรือ แบบยุทธศาสตร์เดิม ไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 แน่ๆ

ในสถานการณ์นี้เราเห็นบทบาทของทหารประชาธิปไตย อย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือทหารอีกส่วนหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นนักรบมากกว่านักคิดคือ กลุ่มยังเติร์ก ในสภาวะแบบนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือ มันมีความพยายามที่จะถอดสลักสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย พูดง่ายๆ คือ หาทางที่จะยุติเงื่อนไขสงครามคอมมิวนิสต์ไม่ให้ขยายตัวเป็นสงครามทางการเมือง
เราต้องยอมรับว่าการถอดสลักที่ใหญ่ที่สุดคือ การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถ้าพูดถึงช่วงนั้นสังเกตว่าหลังรัฐประหารปี 2520 เราจะเริ่มไม่ค่อยเห็นบทบาทของ กอ.รมน. บทบาทเริ่มค่อยๆ ซาลง บทบาทของตัวแทนของ กอ.รมน. ในการต่อสู้กับนักศึกษาพักหลัง ไม่ว่าจะเป็น นวพล กระทิงแดง จะเริ่มค่อยๆ หายไป จนผมเชื่อว่าคนรุ่นหลังไม่ค่อยคุ้นแล้ว ในสภาวะแบบนี้สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอีกชุดหนึ่ง

ในปี 2519 มีความรุนแรงในบริบทของปัญหาภายใน แต่พอถึงมกราคม 2521 เวียดนามยึดกัมพูชา พอกัมพูชาแตกไป ต้นปี 2521 โจทย์ใหญ่คราวนี้ มันใหญ่มากสำหรับไทยเพราะว่า ต้องคิดแบบคนยุคผมนะว่าเมื่อกัมพูชาแตก เท่ากับกองทัพกัมพูชาอยู่ใกล้ที่สุดคือ แถวอรัญประเทศ แถวสระแก้ว ระยะทางจากสระแก้วเข้ากรุงเทพบนเงื่อนไขถนนที่ประเทศไทยมี การเคลื่อนกำลังจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เราบอกเราไม่กลัว กองกำลังของเวียดนามที่เคลื่อนจะติดไฟแดงแถวประมาณเซียร์รังสิต คนยุคผมมีโจ๊กเพื่อให้สบายใจ (หัวเราะ)

ในสภาวะแบบนี้สิ่งที่อาจารย์พวงทองเปิดประเด็น มันนำไปสู่การจัดตั้งประชาชน การจัดตั้งประชาชนส่วนหนึ่ง ทำในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ แต่อีกส่วนหนึ่งมันไปรองรับบทบาทของการเตรียมรับกับสงครามจริงๆ สิ่งที่เราเห็นทั้งหมด มันมีสถานการณ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันถ้าสังเกตในปีต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 ปี ปี 2519 มีรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ปี 2520 มีการยึดอำนาจอีกครั้ง โดยกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจเข้ามากับความคิดแบบใหม่ และยุทธศาสตร์ชุดหนึ่ง เมื่อถึงเดือนปี 2522 กัมพูชาแตก พอถึงปี 2523 สิ่งที่ตามมาคือคำสั่งสำนักนายกรัฐนตรีฉบับที่ 66/2523

ถ้าเราเรียงปีตั้งแต่ 2519, 2520, 2522 และ 2523 เหตุการณ์มันเหมือนกับว่าปัญหาความมั่นคงภายนอกและภายในรวมอยู่ในเวลาเดียวกัน และมันท้าทายให้รัฐไทยต้องคิดเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนั้น ในบริบทดังกล่าว เราต้องยอมรับว่ารัฐไทยเป็นรัฐทหารที่คุมทิศทางยุทธศาสตร์ และทิศทางด้านความั่นคงโดยทหาร

เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เห็นก็คือ พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าต้องทำสงคราม การจัดตั้งประชาชนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากเรามองไปยาวอีกนิด หลังจากกัมพูชาแตกในปี 2522 และหลังจากมีการออกประกาศฉบับที่ 66/2523 ต้องยอมรับว่านโยบายพวกนี้สามารถผลักดันบทบาทของทหารที่เรารู้สึกว่าอยู่นอกเหนืองานของทหารจริงๆ แต่สำหรับทหารเขามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาสงครามภายใน หรือแม้กระทั่งเชื่อว่าหากมีความจำเป็นประเทศเราต้องอาศัยประชาชนเป็นกำลังที่จะรับมือการลุกของกองกำลังจากต่างชาติ หรือกองกำลังจากภายนอก

ยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์: กอ.รมน.4.0 VS ภัยคุกคามใหม่

แต่พอวันหนึ่ง เมื่อมาถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2532 เชื่อว่าวันนี้เราน่าจะลืมเหตุการณ์ตรงนั้นไปแล้ว เหตุการณ์นั้นคือการรวมเยอรมนีตะวันตก และตะวันออกเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นคือความทรงจำที่เราเรียกว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ เมื่อสัญญาณของการสิ้นสุดของสงครามเย็นเกิดขึ้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าสงครามในประเทศไทยสิ้นสุดก่อนการสิ้นสุดของสงครามในเวทีโลก เพราะเราสิ้นสุดไปในช่วงปี 2525-2526 แต่ในเวทีโลกเริ่มจบในช่วง 2532 ฉะนั้น หลังจากปี 2532 เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในยุโรป ขณะเดียวกัน เราเห็นการถอนตัวของเวียดนามออกจากกัมพูชา ในบริบทนี้การเมืองโลกเปลี่ยน การเมืองในภูมิภาคเปลี่ยน การเมืองในไทยก็เปลี่ยนด้วย ปัญหาใหญ่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงชุดนี้คือ อะไรคือภัยคุกคามด้านความมั่นคง

พูดง่ายๆ คือ โลกหลังสงครามเย็นเมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม อะไรคือปัญหาความมั่นคง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเฉพาะกองทัพไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลก ในสภาวะที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นภัยคุกคามหลักของกองทัพ หรือแม้กระทั่งของประเทศ สิ่งที่ตามมามันต้องการคำตอบ คำตอบที่วงวิชาการเรียกว่า Non-Traditional Security คือการแยกความมั่นคงและภัยคุกคามที่ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารออกมาเป็นภัยอีกชุดหนึ่ง เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ หรืออะไรก็ตามที่เราเห็น

สิ่งที่น่าสนใจคือ วิทยานิพนธ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เขียนเรื่อง "กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ Non-Traditional Threats" หากอยากจะเข้าใจความคิดของกองทัพไทย หรือความคิดของผู้นำเรื่องการมองภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ก็ต้องอ่านงานชิ้นนี้

ผมคิดว่างานของพลเอกประยุทธ์เป็นต้นร่างชุดหนึ่งของการมองภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ หากมองในยุคหลังสงครามเย็นสิ่งที่ตามมาในสมัยของรัฐบาลชวน หลีกภัย คือการยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นเพียงการยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ไม่ได้ยุติบทบาทของ กอ.รมน. สิ่งที่ตามมากลับไปสู่การขยายบทบาทของ กอ.รมน. หรือถึงที่สุดแล้วมันเป็นการขยายบทบาทของทหารผ่านโครงสร้างเดิม และจุดพลิกผันที่เห็นชัดที่สุดคือ รัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเราเห็นการกลับมาของ กอ.รมน. ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในยุคหลังสงครามเย็น สิ่งที่น่าสนใจคือ กองทัพนิยามภัยคุกคามอย่างไร ความน่ากังวลคือ เราเริ่มเห็นการปรากฏตัวของความคิดชุดหนึ่งในสังคมไทยด้วย ชุดความคิดชุดนี้อาจจะเรียกได้ว่า อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองชุดนี้ เป็นชุดความคิดหนึ่งที่เรากำลังเห็นในสังคมไทยหลังรัฐประหารปี 2549 มันแทบจะสวมทับซ้อนได้ชัดระหว่างประเทศเรา กับลาตินอเมริกา คือ การไม่เอาการเมืองแบบการเลือกตั้ง เกลียดกลัวนักการเมือง เมื่อถามว่าใครเป็นผู้บริสุทธิ์ คำตอบที่ได้ก็คือ กองทัพ หรือใช้คำในยุคนั้นของลาตินคือ เชื่อว่าผู้นำกองทัพมีศีลธรรมทางการเมืองสูงกว่าผู้นำพลเรือน ในลาตินอเมริกาในยุคหนึ่งคิดอย่างนั้น และมันเป็นชุดความคิดที่พาทหารเข้าสู่การทำรัฐประหารในทุกภูมิภาคของลาตินอเมริกา

สิ่งที่เราเห็นคือ หลังจากสงครามคอมมิวนิสต์จบ รัฐไทยไม่ได้ตัดบทบาทของ กอ.รมน. แต่เรากลับเห็นการแปลงโฉมของ กอ.รมน. และกลายเป็น กอ.รมน. ในยุค 4.0 คือมันเป็นอะไรใหม่อีกแบบหนึ่ง และยังมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถปรับบทบาทของทหารลดอย่างที่เราเห็นในหลายๆ ประเทศได้ ซึ่งสุดท้ายก็จะเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไร ตอนนี้ผมยังไม่มีคำตอบ 

ขอนแก่น: จำคุก 2 ปีครึ่ง ริบของกลาง คดีเตรียมการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติไม่รอลงอาญา



Published on Thu, 2017-11-16 14:35


ศาลจังหวัดพลอ่านคำพิพากษาคดี นายหนูพิณ และนายฉัตรชัย (สงวนนามสกุล) ให้จำคุกในคดี อั้งยี่ 1 ปี ในส่วนการเตรียมการวางเพลิงและ ม.112 นั้น ให้ตัดสินโทษในคดี 112 ซึ่งเป็นบทหนัก 4 ปี รวมทั้งสิ้น 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา



17 พ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดพล พิพากษาคดีก่อเหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในเขต อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ให้จำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดหลายกรรม ต่างกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เรียงกระทงความผิด ฐานเป็นอั้งยี่ ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา ให้ริบน้ำมัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถกระบะ ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด

สำหรับคดีนี้เป็นเหตุสืบเนื่องจากกรณีการก่อเหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในเขต อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ทหารและตำรวจได้เข้าทำการจับกุมนายฉัตรชัยกับนายหนูพิน และยังได้จับกุมเยาวชนและวัยรุ่นชาย (อายุ 14-20 ปี) 6 คน จากที่บ้านและโรงเรียนใน ต.บ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ทั้งหมดถูกนำตัวไปค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่นและถูกส่งไปควบคุมตัวที่ มทบ.11 กรุงเทพฯ โดยที่ไม่สามารถติดต่อกับญาติหรือทนายความได้เป็นเวลาประมาณ 6 วัน ก่อนถูกส่งกลับมาดำเนินคดีที่ สภ.ชนบท จ.ขอนแก่น

จากคำฟ้องระบุว่า เหตุเกิดในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 60 จำเลยทั้ง 2 กับพวก ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มุ่งประสงค์จะวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และได้ร่วมกันเตรียมวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในเขต อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น อันเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานคำบอกเล่าจากการสอบถามนายหนูพินว่า

นายหนูพิน (อายุ 64 ปี อาชีพ ขายเฉาก๊วยรถเร่ ) ได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ เขากับภรรยาทำงานอยู่ที่ จ.ชลบุรี เพิ่งกลับมาเยี่ยมบ้านและลูกชายที่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ช่วงสงกรานต์ปี 2560 ก่อนได้รับการแนะนำจากนายสาโรจน์ (ช่างแอร์) ให้รู้จักกับนายปรีชา และได้รับการว่าจ้างให้ทำงาน พร้อมทั้งให้หาเด็กวัยรุ่นมาทำงานด้วย นายหนูพินไม่รู้จักใคร แต่เคยพบลูกชายของเพื่อน (นายฉัตรชัย อายุ 25 ปี) ที่บ้านเพื่อนในอำเภอโนนศิลา วันเกิดเหตุ นายหนูพินจึงขับรถกระบะไปชวนฉัตรชัย โดยมีถุงบรรจุน้ำมันขนาดกำมือหลายถุงที่ได้รับจากนายปรีชาอยู่ในรถ หลังจากไปถึงจุดที่นายปรีชาบอก และพบว่า สิ่งที่ต้องเผาเป็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.9 ทั้งสองจึงเปลี่ยนใจ และขับรถกลับโดยไม่ได้ลงมือเผา หลังจากนั้น นายหนูพินได้นำถุงน้ำมันไปทิ้งที่ในพงหญ้าไม่ไกลจากหมู่บ้าน

ในส่วนจำเลยวัยรุ่นชาย 6 คน พนักงานอัยการจังหวัดพลฟ้องเป็น 2 คดี และทั้งหมดรับสารภาพเฉพาะข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ ปฏิเสธข้อหาอั้งยี่, ซ่องโจร และ ม.112 ขณะนี้อยู่ในกระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีโดยจำเลยทั้ง 6 ถูกกักขังอยู่ที่เรือนจำ อ.พล จ.ขอนแก่น โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในชั้นศาล ส่วนคดีของเด็กชายวัย 14 ปี ที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่สามารถติดตามความคืบหน้าได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นการนัดพร้อมและสอบคำให้การ จำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะความประพฤติของจำเลยทั้งสองรายงานต่อศาล

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มั่นใจ ผบ.ทบ.จะนำกองทัพบกขึ้นสู่กองทัพชั้นนำของภูมิภาค



Published on Wed, 2017-11-15 23:56


พล.อ.ธารไชยยันต์ มอบนโยบายให้กับกองทัพบก เน้นเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ หนุนกิจกรรมหน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา เชื่อมั่น พล.อ.เฉลิมชัย นำกองทัพบกไปสู่ความเป็นกองทัพบกชั้นนำของภูมิภาค และเป็นที่ศรัทธาของประชาชน



15 พ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (15 พ.ย.) เมื่อเวลา 8.30 น. ที่ กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับกองทัพบก มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ กองทัพบกให้การต้อนรับ นับเป็นการตรวจเยี่ยมอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.ทสส.

ผบ.ทสส. มอบนโยบายให้กองทัพบก เน้นการพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการจัดกิจกรรมโครงการหน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” รวมทั้ง การปฏิบัติตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างเต็มขีดความสามารถ และสมพระเกียรติ นอกจากนี้ ให้ยึดถือนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงกลาโหม และนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นแนวทาง

พล.อ.ธารไชยยันต์ ยังชื่นชมผลการปฏิบัติงานของกองทัพบก ทั้งด้านการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน การแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ และการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังรบ การพัฒนาคุณลักษณะผู้นำของผู้บังคับหน่วยทหารในทุกระดับ และการพัฒนาระบบการฝึกต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพไทยมีความพร้อม และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เชื่อมั่นว่า กองทัพบกภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารบก จะสามารถปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาของชาติ ให้ลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำกองทัพบกไปสู่ความเป็นกองทัพบกชั้นนำของภูมิภาค และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนตลอดไป” พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หลังเสร็จสิ้นการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับกองทัพบก ผบ.ทสส. จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงาน ให้กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จากนั้น สัปดาห์หน้า จะตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้กับกองทัพอากาศและกองทัพเรือต่อไป

พยานโจทก์ไม่มา ศาลทหารเลื่อนสืบคดี ม.112 ‘รุ่งศิลา’ ทนายเผยไม่ได้ประกันมา 3 ปี 4 เดือนแล้ว




Published on Wed, 2017-11-15 17:53


ศาลทหารเลื่อนสืบพยาน คดี ม.112 ‘รุ่งศิลา' ไป 28 พ.ย.นี้ เหตุพยานโจทก์ซึ่งเป็นประชาชนที่ไปให้ความเห็นไม่มาศาล ทนายเผยจำเลยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว-คุมขังมา 3 ปี 4 เดือนแล้ว ชี้เหมือนบีบให้รับสารภาพ แถมหาพยานหลักฐานสู้คดีลำบาก

15 พ.ย. 2560 วันนี้ ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานโจทก์ ในคดีที่ สิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ รุ่งศิลา (นามปากกา) ตกเป็นจำเลย จากการถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ เหตุเขียนบทกวีและเผยแพร่บทความในเว็บไซต์

อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับผิดชอบในดคีนี้ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า คดีนี้สืบพยานโจทก์เสร็จไปเพียงปากเดียว คือ ตำรวจผู้กล่าวหา ส่วนปากที่ 2 ซึ่งเป็นประชาชนที่ไปให้ความเห็นนั้นยังค้างคาอยู่ และเลื่อนมา ซึ่งวันนี้ เขาก็ไม่มา ศาลจึงเลือนสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 28 พ.ย.นี้ ซึ่ง สิรภพ โดนฟ้องคดี ม.112 จำนวน 3 กระทง โดยที่กระทงหนึ่งมาจากการโพสต์ถึงทายาทและรากเหง้าของกบฎบวรเดช


อานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิรภพไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและอยู่ในเรือนจำกว่า 3 ปี 4 เดือนแล้ว ตั้งแต่หลังรัฐประหารไม่นาน และเพิ่งสืบพยานไปได้แค่เพียงปากครึ่งเท่านั้นเอง จากพยานของโจทก์ราว 6-7 ปากซึ่งอีกนานกว่าจะเสร็จ ขณะที่พยานจำเลย คือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) ที่ยังไม่ได้เบิกความเลยก็เพิ่งเสียชีวิตไปแล้ว
สำหรับการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อานนท์ ในฐานะทนายจำเลย กล่าวว่า สภาพในเรือนจำตอนนี้ก็เหมือนการบีบบังคับ เมื่อจำเลยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวก็เหมือนบีบให้รับสารภาพ แต่สำหรับคดีนี้จำเลยใจแข็ง พยายามสู้คดีว่าไม่ได้ทำผิด นอกจากนี้ ยังทำให้โอกาสที่จำเลยจะหาพยานหลักฐานในการสู้คดีก็ลำบาก เพราะบางเรื่องบอกผ่านทนาย ทนายเองก็อาจไม่ทราบเรื่อง การสอบข้อเท็จจริงของทนายกับจำเลยที่อยู่ในเรือนจำก็ลำบาก

อานนท์ กล่าวด้วยว่า คดีนี้เคยยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้ว โดยวางหลักทรัพย์ถึง 5 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากสิรภพถูกดำเนินคดีนี้แล้ว เขายังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 44/2557 ไม่ไปรายงานตัวด้วย โดยในคดีนั้น เมื่อ พ.ย. 2559 ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่มีเหตุให้ลดโทษเนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่เคยจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี

เลื่อนสืบพยานปีหน้า คดีฟ้อง ทบ. เรียกค่าเสียหาย เหตุทหารมหาดเล็กเสียชีวิตระหว่างฝึก

ร.ต.สนาน ทองดีนอก


Published on Wed, 2017-11-15 16:03


คดีญาติฟ้องกองทัพบกเรียกค่าเสียหาย เหตุ ร.ต.สนาน จมน้ำเสียชีวิตระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ศาลแพ่งเลื่อนสืบพยาน 2 นัดไปปีหน้า เหตุพยานไม่มาตามนัด




15 พ.ย.2560 ความคืบหน้าล่าสุดคดีมารดาและภรรยา ร.ต.สนาน ทองดีนอก ฟ้องกองทัพบก เรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ ร.ต.สนาน เสียชีวิต ในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2558 
 

วันนี้ (15 พ.ย.60) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ โดยมีมารดาและภรรยา ของ ร.ต.สนานฯ พร้อมทนายมาศาล ส่วนทางด้านจำเลยมีพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายจำเลยมาศาล ทางด้านพยานที่โจทก์แถลงว่ายังคงติดใจอยู่อีก 3 ปาก และโจทก์ได้ดำเนินการออกหมายเรียกแล้วนั้น ปรากฏไม่มีพยานคนใดมาเบิกความต่อศาลตามนัด มีเพียงบิดาของพยานคนหนึ่งมาชี้แจงต่อศาลว่าบุตรชายของตนนั้นติดราชการไม่สามารถมาเบิกความเป็นพยานตามวันนัดได้พร้อมทั้งแสดงหนังสือจากหน่วยงานของบุตรชายต่อศาล เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและมีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถมาศาลได้


ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้พิพากษาจึงได้สอบถามคู่ความทั้งสองว่าประสงค์จะเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้หรือไม่ ด้านโจทก์แถลงต่อศาลประสงค์ขอเลื่อนนัดเพื่อติดตามพยานทั้งสามปากนี้มาเบิกความต่อศาลให้ได้เนื่องด้วยยังคงติดใจพยานทั้งสามปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ ส่วนทางด้านทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน

ผู้พิพากษาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานทั้งสามปากเป็นประจักษ์พยานคนสำคัญในคดี จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ไปอีกเป็น 2 นัด เป็นวันที่ 19 ก.พ. และ 12 มิ.ย. 2561 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 มิ.ย. 2560 ผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ กรณีมารดา และภรรยา ร.ต.สนาน ทองดีนอก เรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์เสียชีวิตในระหว่างฝึก โดยในระหว่างวันดังกล่าวโจทก์ และทนายโจทก์ยังคงติดใจสืบพยานอีก 3 ปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์วันเกิดเหตุ ด้วยเหตุนี้ผู้พิพากษาศาลแพ่งจึงนัดสืบพยานที่โจทก์ยังคงติดใจอยู่นั้น ในวันที่ 14 และ 15 พ.ย. และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 16 พ.ย. 2560 ก่อนศาลจะอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว


มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ร.ต.สนาน เข้ารับการฝึกในหลักสูตรมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 ในหน่วยฝึกกรมทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ หลักสูตรดังกล่าวกำหนดเวลาการฝึกระหว่างวันที่ 17 พ.ค. - 27 ก.ค. 2558 และจัดให้มีช่วงที่ผู้เข้ารับการฝึกต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการว่ายน้ำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกเป็นครูฝึกและมีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการฝึก โดยวันเกิดเหตุ 6 มิ.ย. 2558 ในระหว่างการฝึกว่ายน้ำตามหลักสูตร ร.ต.สนาน ได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ ร.ต.สนานจมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ โดยที่ครูฝึกไม่ดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ในคำฟ้องคดีแพ่งดังกล่าวระบุว่า การเสียชีวิตของร้อยตรีสนานเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของครูฝึก ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่