วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

'เรืองไกร' ยื่นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์


เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ตรวจสอบรายรับรายจ่ายของกองทุนสวัสดิการกองทัพบกบัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ธนาคารทหารไทย สาขาบก.ทบ. เกี่ยวกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า มีการปฏิบัติให้เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 หรือไม่
โดย 1.มีข้อเท็จจริงปรากฏทั่วไปว่า กองทัพบกได้มีการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีการระบุถึงพื้นที่และแนวคิดการจัดสร้าง กรอบระยะเวลาดำเนินการ และการเชิญชวนประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนโดยการโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขา บก.ทบ. ชื่อบัญชี “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” บัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 และมีการระบุว่า ทั้งนี้สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ กองกิจการพลเรือน สำนักกิจการพลเรือน กองกิจการพลเรือนทหารบก โทรศัทพ์ 0-2247-7581-4
2.มีภาพและข่าวข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า มีประชาชนหรือองค์กรทั่วไปร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก
3.การรับเงินบริจาคเข้าบัญชี “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงเป็นข่าวทั่วไปว่า มีการจ่ายเงินออกไปในลักษณะที่เป็นการไม่ชอบ เข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างแพงเกินจริง และมีการยอมรับจากอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพบกที่เกี่ยวข้อง จนกองทัพบกต้องเร่งตรวจสอบรายรับรายจ่ายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งน่าเชื่อว่าจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาหมายบทหลายกรรมตามมา
นายเรืองไกร ระบุว่า 4.ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 ข้อ 5 วรรคท้าย กำหนดว่า “ในกรณีที่มีผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้ทางราชการทุกกรณี ให้มีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ และให้ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของส่วนราชการ” และ ข้อ 11 กำหนดว่า “การปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชี วิธีการจ่าย และหลักฐานการรับจ่าย เงินบริจาคให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น และให้รวบรวมหลักฐานการรับจ่ายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นภูมิภาคแล้วแต่กรณีตรวจสอบได้ทุกขณะ” และสปช. ทบ. ได้มีบันทึกข้อความที่ กห 0406/778 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 48 เรื่อง การรับเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากพล.อ.ประวิตร์ วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 48 แล้วนั้น ทำให้เห็นได้ว่า การรับ-จ่ายเงินเพื่อจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของส่วนราชการ มีระเบียบทางราชการให้ปฏิบัติ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ทุกขณะ
5.เนื่องจากการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อยู่ภายใต้การดำเนินการโดยกองทัพบก ซึ่งเป็นส่วนราชการ จึงเป็นเรื่องของหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่อย่างใด และมีหลักฐานเป็นบัญชีกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ธนาคารทหารไทย สาขาบก.ทบ. ในชื่อ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ที่จะสามารถตรวจสอบถึงรายรับและรายจ่ายได้ว่ามีการปฏิบัติตามระเบียบทางราชการโดยถูกต้องหรือไม่ มีการใช้จ่ายเงินที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกขณะ และหากพบว่า มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ควรตรวจสอบเชิงลึกต่อไปว่า มีการกระทำที่ทำให้ทรัพย์สินที่ตกเป็นของราชการได้รับความเสียหายหรือไม่ ใครต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายนั้น และหากมีความผิดทางอาญาตามบทกฎหมายใด ๆ ก็ควรส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. สตช. หรือป.ป.ท. เป็นต้น
นายเรืองไกร ระบุอีกว่า 6.เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่า มีการจ่ายเงินจากบัญชี "กองทุนสวัสดิการกองทัพบก" ในการสร้างทรัพย์สินถาวรหลายรายการ ซึ่งต้องนำมาขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของทางราชการ แต่กลับมีการใช้จ่ายเงินไปในลักษณะที่แพงกว่าความเป็นจริง ซึ่งแม้จะมีการยอมรับว่าเป็นค่าหัวคิว และมีการคืนเป็นเงินบริจาคแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาว่า เงินที่รับบริจาคมาเป็นของส่วนราชการ การจ่ายเงินของส่วนราชการออกไปดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ มีลักษณะเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการบวกราคาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ซึ่งเงินดังกล่าวไม่อาจเรียกเป็นค่าหัวคิวหรือค่านายหน้าได้แต่อย่างใด แต่เป็นเงินที่สมคบกันทำสัญญาให้สูงกว่าค่างานที่ทำจริง จึงเป็นการทุจริตเงินของส่วนราชการที่ได้รับบริจาคมาโดยการสมรู้ร่วมคิดกันหลายฝ่าย
กรณีเช่นนี้ สตง.ควรขยายผลการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป โดยเฉพาะค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวที่อ้างนั้น ผู้จ่ายเงินลงบัญชีไว้อย่างไร มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หรือมีการใช้บิลอื่นมาหักเป็นรายจ่ายหรือไม่ บิลที่นำมาหักเป็ยรายจ่ายหรือต้นทุนใช้ได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดหรือไม่ และใครคือผู้รับเงินค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวต่อจากเซียนพระคนดังกล่าว ผู้รับเงินต่อจากเซียนพระเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ตร.เผยออก 5 หมายจับเลขาหมอหยอง ผิด ม.112 ด้านปมอุทยานราชภักดิ์ยังไม่มีร้องทุกข์กล่าวโทษ


19 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาร์ท เลขาคนสนิทของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง เพิ่มอีก 5 หมาย ใน 5 สำนวน ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หลังการสอบสวนพบความเกี่ยวพันกับคดีในลักษณะทำซ้ำพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด และคาดว่าจะมีการออกหมายจับผู้กระทำความผิดเพิ่มเติมได้เร็วๆ นี้
ขณะที่การสืบสวนสอบสวนขณะนี้ยังไม่พบข้าราชการกระทำความผิดเพิ่มเติม แต่หากหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครก็จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
สำหรับสำนวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงได้ส่งสำนวนที่มีความสมบูรณ์ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้ว 1 สำนวน อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะทำงานคดี 112 อีก 12 สำนวน และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานของกองบัญชาการสอบสวนกลางอีก 3 สำนวน
ส่วนการสอบสวนคดีทุจริตอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ระหว่างการสอบสวนของกองทัพบกและยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษแต่อย่างใด พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพบก หน่วยข่าวกรอง และส่งชุดติดตามตัว พันเอกคชาชาต บุญดี นายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 ยืนยันไม่มีการรับมอบตัวพันเอกคชาชาตแต่อย่างใด

เพื่อไทยร้องประยุทธ์สอบปมอุทยานราชภักดิ์ ชี้เงินบริจาคถือเป็นทรัพย์สินราชการ-เข้าข่ายผิดอาญา


เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้มีแถลงการณ์ฉบับลงวันที่ 13 พ.ย.เรียกร้องให้รัฐบาลแถลงรายละเอียดและมาตรการดำเนินการต่างๆ กรณีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในระดับต่างๆ แต่ปรากฏว่าบุคคลในระดับสูงของรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กลับหลีกเลี่ยงและปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องของกองทัพบกไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล การจัดสร้างไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐบาล แต่ใช้เงินบริจาคประชาชนและแม้จะพบการทุจริต รัฐบาลก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบนั้น พรรคเพื่อไทยขอแถลงในประเด็นดังกล่าว เพื่อความรับรู้ร่วมกันของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ สำหรับเงินงบประมาณให้ประสานความร่วมมือ และเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมบริจาค หากกระทรวงกลาโหมมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนการจัดสร้างจากเงินงบประมาณด้วย ก็ให้ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ปรากฏตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กห 0207/761 ลงวันที่ 30 พ.ค.58 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/19102 ลงวันที่ 3 มิ.ย.58 ดังนั้น โครงการอุทยานราชภักดิ์จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลมาแต่ต้นภายใต้ความเห็นชอบของ ครม.เมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 นายกฯ รมว.กลาโหม ยังได้ร่วมในพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ ดังนั้น การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้ลงนามนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอ้างว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล จึงฟังไม่ขึ้น เป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยแท้
2.กองทัพบกเจ้าของโครงการเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการก่อสร้างบนที่ดินของกองทัพบกอันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการของกองทัพบก กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน ใช้สถานที่และทรัพย์สินของทางราชการในการดำเนินโครงการ การรับบริจาคดำเนินการในนามกองกิจการพลเรือนทหารบก ใช้ชื่อบัญชีที่รับบริจาคว่า “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปขอหักลดหย่อนภาษีอันเป็นรายได้ของแผ่นดิน สำหรับเงินบริจาคดังกล่าว ตามข้อ 5 (4) วรรคสองของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ พ.ศ.2526 ให้ถือว่าเป็นการรับบริจาคในนามของทางราชการ เงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นอันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรัดหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หาใช่เป็นเรื่องของกองทัพบกซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่รองนายกฯและ รมว.กลาโหมพยายามชี้แจงเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบแต่อย่างใดไม่
3. การที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับสูงของรัฐบาล และ คสช.ออกมายอมรับว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการจริงแต่ได้นำเงินดังกล่าวไปบริจาคแล้ว เท่ากับเป็นการยอมรับว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาเกิดขึ้นในขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่งสำคัญ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ คสช.และเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ การทุจริตที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่ตัวผู้รับผิดชอบโครงการและผู้บังคับบัญชาในระดับที่เหนือขึ้นไปประกอบด้วยรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายกฯและประธาน คสช.ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง จะต้องแสดงความรับผิดชอบอันเป็นไปตาม ข้อ 10 และ ข้อ 29 ของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ดังนั้น การที่นายกฯ ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้แสดงความไม่รับผิดชอบจึงขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
4. พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์เป็นโครงการที่มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นและเกี่ยวพันถึงบุคคลในระดับสูงของรัฐบาล ชอบที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏและเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจด้วยการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยมีข้ออ้างหนึ่งคือ "เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง" ปรากฏตามประกาศ คสช ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยิ่งต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึงมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิรูปการเมืองที่ทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาลนี้เรียกร้องให้เกิดขึ้น
แถลงการณ์ ระบุอีกว่า ดังนั้นการที่นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลแสดงความไม่รับผิดชอบนอกจากจะขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังขัดกับแนวทางปฏิรูปการเมืองรวมถึงนโยบายการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ อันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลเองอีกด้วย
พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องมายังนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผย โปร่งใส และประกาศให้สาธารณชนทราบโดยด่วน

‘อรรถจักร์’ เผยยังไม่ได้รับหมายเรียก ‘ขัดคำสั่ง คสช.’ ยันมหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพ


19 พ.ย.2558 สืบเนื่องจากกรณีเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ลงหมายเรียกผู้ต้องหา ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลงวันที่ 11 พ.ย.2558 โดยนัดหมายให้เข้ารายงานตัวที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 9.00 น.
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่าหมายดังกล่าวถูกส่งไปยังนายคงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ตนเองยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด  
อรรถจักร์ กล่าวด้วยว่า หมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการจัดแถลงข่าวเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร  (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง) ร่วมกันจัดโดยคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ หลังจากนั้นนายทหารพระธรรมนูญได้เข้าแจ้งความต่อผู้ร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตาม คงกฤช อาจารย์ผู้ได้รับหมายเรียกฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้แต่อย่างใด ตนเองจึงได้โทรไปแจ้งตำรวจเจ้าของเรื่องแล้วเพื่อให้ถอนชื่อของคงกฤชออก และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการระบุด้วยว่า หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งนี้จะส่งถึงอาจารย์ทั้งหมด 8 ราย เบื้องต้นทราบเพียงว่ามีตนเอง และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. อีกคนหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง
“คงจะรออีกสักพัก หากได้หมายเรียกก็คงไปตามหมายเรียก และอาจมีการแถลงข่าวหน้าสถานีตำรวจอีกครั้งหนึ่ง” อรรถจักร์กล่าว
ด้านคงกฤช อาจารย์จากศิลปากร ได้โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กเรื่องที่เขาได้รับหมายเรียกว่า “อาจารย์อรรถจักร์โทรมาแจ้งว่าผมไม่ต้องไปให้ปากคำที่เชียงใหม่แล้ว อาจารย์ได้ไปเคลียร์ให้แล้วว่าผมไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมวันที่ 31 ต.ค. อาจารย์ยังขอโทษที่ทำให้ผมเดือดร้อน ผมตอบว่าอาจารย์ไม่ได้ทำผิด ที่ผิดคือทหารและตำรวจที่ทำแย่และยังชุ่ยอีกด้วย ผมขอบคุณอาจารย์และให้กำลังใจให้อาจารย์ อาจารย์อรรถจักร์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมากๆ ผมนับถือสปิริต อ.จริงๆ
คิดว่าถ้ามีโอกาสจะไปร่วมประชุมเรื่องชุมชนที่จะจัดสุดสัปดาห์นี้ที่ กทม. ตามที่อาจารย์ชวน”
เมื่อถามอรรถจักร์ว่ามีความกังวลใจหรือหนักใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่หนักใจอะไร เรามีหน้าที่ที่จะต้องพูด ต้องแสดงความคิดเห็นต่อสังคมก็ต้องทำกันต่อไป จริงๆ ก็เคลียร์บทบาทนี้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเชียงใหม่แล้วว่าจะไม่ให้ทำอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เราเป็นนักวิชาการก็มีหน้าที่ที่จะต้องพูดสิ่งที่เราคิดว่าควรต้องพูด”
“จริงๆ ผมก็ดีเฟนด์แทนมหาวิทยาลัยทั้งหมดทุกแห่งว่าไม่ใช่ค่ายทหาร ไม่ใช่ว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ค่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” อรรถจักร์กล่าว
เมื่อถามว่าคาดว่าคดีนี้มีแนวโน้มอย่างไร ต้องเตรียมการประกันตัวหรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่รู้ ถ้าจะจับเราข้อหานี้ จะต้องประกันตัวก็ประกัน จะจับติดคุกก็ติดคุก เพราะไม่รู้จะทำยังไง ถ้าจะเอาเรื่องกับเรื่องนี้ก็คงต้องสู้กันไป ศาลทหารก็ศาลทหาร”
เมื่อถามถึงการติดตามและพูดคุยของทหารในช่วงที่ผ่านมา อรรถจักร์กล่าวว่า ในช่วงหลังรัฐประหารและหลังการเขียนจดหมายถึงคณะรัฐประหารแล้ว มีตำรวจทหารมาที่บ้าน แต่เผอิญเขาได้รับทุนไปญี่ปุ่นก่อนแล้ว หลังกลับมาทหารชั้นผู้ใหญ่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ก็นัดคุยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ 2-3 ครั้ง โดยอรรจักรยืนยันว่าหากทหารต้องการพูดคุยก็ต้องมาที่มหาวิทยาลัยและเขาจะไม่ไปที่ค่ายทหาร
“คุยกันดี เขาขอให้เราไม่เคลื่อนไหว เราบอกไม่ได้ เราในฐานะนักวิชาการมีอะไรก็ต้องแสดงความคิดเห็น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ดูเข้าใจดี ทั้งคนเก่าคนใหม่ นายทหารฝ่ายข่าวกรองก็เข้าใจดีว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ กรณีนี้ผมจึงงงว่าทำไมถึงเกิด จริงๆ ข่าวก็ไม่ดัง แต่ถ้าคุณออกหมายเรียกแบบนี้มันจะทำให้เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นประเด็น” อรรจักรกล่าว
ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงข่าวของคณาจารย์กลุ่มนี้ ในวันที่ 27 ต.ค. พล.อ.ประยุทธร์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้กล่าวว่าจะสั่งการให้กระทรวงศึกษาไปทบทวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาไม่ให้สอนให้คนขัดแย้ง และต่อต้านคสช. จากนั้นในวันที่ 31 ต.ค. คณาจารย์หลายสถาบันนำโดยอรรถจักร์ได้จัดแถลงข่าวที่เชียงใหม่ ระบุว่า หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ขอบอกว่า "เสรีภาพ" เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น
 

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย


เรื่อง เสรีภาพทางปัญญาของระบบการศึกษา
จากการที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมนั้น ในฐานะคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ขอแสดงปฏิกิริยาต่อคำวิจารณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
ประการแรก “เสรีภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง เพราะบทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งในสังคมไทยและสังคมอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าการปลูกฝังอุดมการณ์หรือ “ความเชื่อ” หนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมหมายถึงการทำให้คนในสังคมยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบใดแบบหนึ่งที่คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และอาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงหรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่าผู้คนร่วมสังคมที่ปฏิเสธโครงสร้างอำนาจดังกล่าว ดังนั้น คณาจารย์จำนวนมากจึงเห็นว่าการทำให้เกิดทัศนะวิพากษ์หรือมุมมองที่แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสังคม เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถคิดได้เอง และมีความเคารพตลอดจนความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจในผู้คนที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเองอย่างแท้จริง 
ประการที่สอง ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ที่ชีวิตและความคิดของผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การใช้อำนาจบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติไปในรูปแบบเดียวกันไม่ว่าจะโดยอำนาจจากปากกระบอกปืนหรืออำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะทำให้เกิดความสงบราบคาบขึ้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ภาวะแห่งสันติสุขได้อย่างแท้จริง การสร้างความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความชอบธรรมในการใช้อำนาจจำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการถกเถียงกันด้วยความรู้ เหตุผล และข้อเท็จจริง ในบรรยากาศของความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย 
พวกเราในฐานะคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาหลายสถาบัน มีความเห็นร่วมกันว่าการที่จะนำพาสังคมไทยให้พ้นจากความขัดแย้งเพื่อไปสู่สังคมที่มีสันติภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในระยะยาวได้นั้น หลักการพื้นฐานคือต้องสร้างสังคมที่สามารถยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เป็นธรรมและโปร่งใส มีระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ซึ่งสังคมในลักษณะดังกล่าวก็คือสังคมที่ปกครองในรูปแบบเสรีประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทุกระดับย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างสังคมแบบประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ มิใช่ทำให้ยอมรับการข่มขู่ด้วยอำนาจซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่ความมืดมนทางปัญญาและไม่อาจปรับตัวได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อสังคมไทย
เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย
31 ตุลาคม 2558

สนช. เห็นชอบ 5 รายชื่อเป็น กรรมการ ป.ป.ช. แทนตำแหน่งว่าง


สนช. เห็นชอบให้ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นายสุรศักดิ์ ศรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่าง
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า  การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 5 คน โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอน เปิดรับสมัครซึ่งมีผู้สมัครจำนวน 59 คน จากนั้นคณะกรรมการสรรหาได้ลงมติคัดเลือกเหลือ 5 คน และคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม โดยมี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบพร้อมประกาศให้ผู้มีข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับผู้ได้รับ การเสนอชื่อ ส่งข้อมูลเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในครั้งนี้
สำหรับการให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน เป็นการพิจารณาและลงคะแนนลับ ปรากฏผล
นายวิทยา อาคมพิทักษ์ อดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับความเห็นชอบให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยเสียงข้างมาก 164 ต่อ 11 เสียง งดออกเสียง 12
นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง 163 ต่อ 12 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง 154 ต่อ 24 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
นายสุรศักดิ์ ศรีวิเชียร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียง 173 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง
และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ประธานกรรมการติดตามและประเมินผลปฏิบัติงาน กสทช. และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ได้รับความเห็นชอบ 165 ต่อ 11 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง
ทั้งนี้ ประธาน สนช.จะนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN กังวลอย่างยิ่งไทยส่งกลับ 2 นักกิจกรรมจีน เรียกร้องเลิกส่งกลับผู้ลี้ภัย


20 พ.ย. 2558 จากกรณีรัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวจีน 2 รายเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด ราวินา ชามดาสนี (Ravina Shamdasani) โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) แถลงที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่ประเทศไทยส่งกลับนักกิจกรรมชาวจีนทั้ง 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกส่งกลับประเทศจีน
“เราขอแสดงความกังวลต่อรัฐบาลไทยกรณีการเนรเทศ ซึ่งเกิดขึ้น 4 เดือนหลังจากที่เราได้ส่งเสียงแสดงความกังวลต่อกรณีการเนรเทศชาวอุยกูร์ 109 รายกลับจีน” ชามาดาสนีระบุและว่า หลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งห้ามการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศซึ่งเขาหรือเธออาจจะเผชิญการประหัตประหารหรือทรมาน ถูกบรรจุอยู่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีด้วย
โฆษกสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์กรสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)  ระบุว่า ผู้ลี้ภัยทั้งสองนั้นอยู่ระหว่างการเดินทางไปประเทศที่สามเพื่อตั้งถิ่นฐานกับครอบครัว เหตุผลของการส่งกลับยังคงไม่ชัดเจน ทั้งนี้ หลังทั้งสองถูกเนรเทศไปแล้ว สมาชิกครอบครัวซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม
ชามดาสนี กล่าวอีกว่า เราขอเรียกร้องอย่างจริงจังต่อรัฐบาลไทยให้หยุดการส่งบุคคลซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum seekers) กลับประเทศ เพราะพวกเขาเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมถึงการทรมาน เราเรียกร้องให้รัฐบาลมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพก่อนการส่งกลับ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย เราเรียกร้องให้รัฐบาลจีนให้หลักประกันว่า ผู้ซึ่งถูกส่งกลับตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องได้รับการปฏิบัติสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา สถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) เปิดเผยว่าทางการไทยได้เนรเทศชาวจีน 5 คน ในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลจีน 2 รายที่เป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยด้วย คือนาย ตง กวงปิง (Dong Guangping) และเจียง เยเฟย (Jiang Yefei) นักกิจกรรมชาวจีนอีกคนหนึ่งเปิดเผยว่าเขาเพิ่งทราบหลังจากไปที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและพบว่าทั้ง 5 คนถูกส่งกลับประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.
ทั้งนี้ นายตง กวงปิง หนีออกจากประเทศจีนพร้อมครอบครัวมาตั้งแต่เดือนกันยายน หลังจากต้องโทษจำคุก 3 ปี ระหว่างปี 2544-2547 นอกจากนี้เขาถูก "ทำให้หายตัว" โดยเข้าไปอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวลับเป็นเวลา 8 เดือนในปี 2557 ส่วนเจียง เยเฟย เป็นนักวาดการ์ตูนซึ่งหนีมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2551 โดยก่อนที่เขาจะหนีมา เขาถูกทางการจีนควบคุมตัวและทรมาน หลังจากที่เขาวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องการแก้ปัญหาเหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน

ผลสอบ ‘ราชภักดิ์’ โดยกองทัพ ผบ.ทบ.ยันไร้ทุจริตกองทัพไม่ผิด ส่วนหัวคิวให้ไปถามพล.อ.อุดมเดช


20 พ.ย. 2558 เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงผลการสอบข้อเท็จจริง โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดย พล.อ.ธีรชัย  กล่าวว่า ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริตแต่อย่างใด การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ ไม่มีความจำเป็นที่องค์กรตรวจสอบต่างๆ จะต้องเข้าไปตรวจสอบ พร้อมกับย้ำว่ากองทัพไม่ได้ทำอะไรผิด สำหรับนายทหารที่หนีไปต่างประเทศหรือที่ลาออกจากราชการก็ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการ เป็นคนละเรื่องกัน แต่หลังจากนี้หากพบว่ามีผู้หาประโยชน์จากโครงการก็จะลงโทษโดยไม่ละเว้น
ทั้งนี้จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีนายทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่หากตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีการทุจริตจะสอบสวนต่อ ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยเรื่องนี้อย่างแน่นอน ส่วนนายทหารยศพลตรี ที่ยื่นลาออกจากราชการไปก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ขณะที่ พ.อ.คชาชาต บุญดี นายทหารกองทัพภาคที่3 ผบ.ทบ. ยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องเช่นกัน
แต่สำหรับเรื่องของการหักค่าหัวคิวโรงหล่อพระบรมรูปฯ ผบ.ทบ. กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้ต้องไปถามพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ.และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ผบ.ทบ. กล่าวเพิ่มเติมว่าควรใช้สติในการติดตามข่าวสอบทุจริตอุทยานแห่งชาติราชศักดิ์ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ปล่อยข่าวลือทำให้เกิดความวุ่นวาย
มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือบรรดาสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าวให้เข้าไปในห้องรับรอง 212 ภายในกองบัญชาการกองทัพบกและไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนรายงานสดถ่ายทอดระหว่างที่มีการแถลงของผู้บัญชาการทหารบก แต่อนุญาตให้เพียงการบันทึกเทปนำไปออกอากาศภายหลังเท่านั้น ทั้งนี้รูปแบบการแถลงข่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ เกิดขึ้นจากคำสั่งของผบ.ทบ.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีพล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ประธานคณะกรรมการฯ โดยกำหนดระเวลาการสอบสวนเบื้องต้น 7 วัน และครบกำหนดในวันนี้

 

ต่อกรณีคำถามถึงโต๊ะจีนจำหน่ายที่นั่งละล้านจริงหรือไม่นั้น พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า จริง โดยเงินตอนนี้เข้ากองทุน
ส่วนคำถามที่ว่าต้อนไม้ต้นละแสนจริงหรือไม่นั้น พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า ไม่จริง 3 แสน ต้นไม่มีองค์กร สวนนงนุช เขาเอามาบริจาคให้อยู่แล้ว เขามาทำส่วนให้อยู่แล้ว แต่ผู้ที่มาบริจาคก็บอกว่ามีกิจกรรมแล้วกัน เอาต้นไม่ไปปลูกคนละต้นแล้วกัน ที่ให้มา 3 แสนนี้เอาป้ายชื่อไปปักให้
สำหรับการดำเนินการของอุทยานต่อไปนั้น พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่ายังเหลือพิพิธภัณฑ์อยู่ จะทำให้ดีที่สุด
"เอาให้ตายไหม จะเอาขนาดประหารชีวิต 7 ชั่วโคตรไหม ถามอย่างนี้ คือดูบ้าง ดูเจตนาคนบ้าง ครับ จะอยู่กันยังไง มันจะมีความสุขกันยังไง เล่นกันเอาขนาดนี้ เขาไม่มีอะไร เขาไม่ได้ทำอะไรก็จะให้เขาผิดให้ได้ เขาอยู่เฉยๆ เขาเจตนาดีก็จะให้ผิดให้ได้ สังคมไทยมันเป็นอะไรกันตอนนี้" พล.อ.ธีรชัย กล่าว
ต่อกรณีคำถามที่ให้ ผบ.ทบ.ประกาศผ่านสื่อได้ไหมว่าขอให้ประชาชนที่มีเบาะแสเปิดเผยข้อมูลออกมาโดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้นนั้น พล.อ.ธีรชัย กล่าว่า "คงไม่ต้องบอกมั้ง ถ้ามีก็มาสิ"
ต่อคำถามที่ว่าสุดท้ายแล้วจะมีการรายงานเรื่องทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่นั้น พล.อ.ธีรชัยกล่าว่า ไม่ต้อง เรื่องภายในกองทัพบก

พล.อ.สุรเชษฐ แจ้งความคนโพสต์ปมราชภักดิ์ หลัง ผบ.ทบ ยันกองทัพไม่เกี่ยวข้อง


พล.อ.สุรเชษฐ ชัยวงศ์ เผยแจ้งความแล้ว กรณีมีคนโพสต์เฟซบุ๊กปมอุทยานราชภักดิ์ ทำตนเสียชื่อเสียง หลัง ผบ.ทบ. ยันการตรวจสอบทุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
20 พ.ย. 2558 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แถลงผลตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่ามีความโปร่งใส ไม่พบการทุจริต
พล.อ.สุรเชษฐ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ อดีตหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ยุค พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.เปิดเผยว่า ตนเองได้เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดี กับผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กซึ่งทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยหลังแจ้งความดังกล่าว การดำเนินการอย่างไรนั้นคงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทำตามขั้นตอนต่อไป